fbpx

“ผู้ชายอ่อนโยน” จากความแข็งกร้าวสู่ความเป็นชายแบบใหม่

ในซีรีย์เกาหลีคุณสมบัติความอ่อนโยน เอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจผู้คนรอบข้าง หรือร้องไห้เมื่อเจอกับสถานการณ์เจ็บปวด เป็นคุณสมบัติของพระเอก หรือตัวแสดงนำหลายเรื่อง การเน้นแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจนของผู้ชายที่รับบทนำในซีรีย์ แสดงให้เห็นค่านิยมความเป็นชายแบบใหม่ที่ได้รับการเชิดชูยอมรับ เป็นค่านิยมของความเป็นชายแบบอ่อนโยน มากกว่าความแข็งกร้าวรุนแรงของผู้ชายแบบ hegemonic masculinity ที่ค่อย ๆ เลือนหายไป

ค่านิยมความเป็นชายแบบอ่อนโยนของผู้ชายที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่คนรอบข้าง เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น หรือที่เรียกว่า caring masculinity เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากการเพิ่มขึ้นของพ่อบ้านที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบงานในบ้านหรือทำหน้าที่ในบ้านเป็นหลัก สู่การเป็นพ่อและผู้ชายแบบใหม่ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของความเป็นชายในสังคม

คำศัพท์คำว่า caring masculinity เสนอว่า ผู้ชายและความเป็นชาย สามารถทำสิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็นคุณสมบัติผู้หญิงและความเป็นหญิงได้ เช่น การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีการตัดสินใจร่วมกัน ฯลฯ โดยไม่ต้องถูกมองว่าอยู่นอกบรรทัดฐานของความเป็นชายหรือ “ไม่เป็นผู้ชาย” “ไม่แมนพอ”

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมและความเข้าใจต่อความเป็นชายนั้น ไม่ได้ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงตามบริบททางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ เพราะสังคมปัจจุบันหลาย ๆ ครอบครัว ผู้ชายไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้หาเลี้ยงหลัก หากแต่ได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมากขึ้น พื้นฐานตัวตนของผู้ชายและความเป็นชาย ที่ผูกโยงอยู่กับงานที่ได้รับค่าจ้าง (ที่สูงกว่าผู้หญิง) และผู้หาเลี้ยงครอบครัวอันเป็นคุณค่าทางสังคม หรือที่เรียกว่า hegemonic masculinity ซึ่งเป็นอุดมคติแบบดั้งเดิม ที่ผูกโยงงานกับเงินไว้กับสถานะและอำนาจของผู้ชาย ผ่านการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก อันเป็นคุณสมบัติของลูกผู้ชาย จึงค่อย ๆ ลดและเปลี่ยนลง

สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดให้แก่ผู้ชายที่ไม่สามารถบรรลุอุดมคติความเป็นชายจำนวนมาก การไม่ถูกจำกัดอยู่ “โลกภายในบ้าน” พร้อมกับการค่อย ๆ ก้าวขึ้นมามีสถานะที่เท่าเทียมกับผู้ชายของผู้หญิงในสังคม ได้ทำให้ผู้ชายหลายคนรู้เสียหน้า เสียอำนาจ ศักดิ์ศรีของความเป็นชาย และพยายามต่อรองความเป็นชายรูปแบบอื่น ๆ ที่ต่างออกไป

การเปลี่ยนแปลงของความเป็นชาย

แม้ว่าความเป็นชายจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ แต่สำนึกของของความเป็นชายแบบ hegemonic masculinity ของผู้ชายยังคงอยู่ อีกทั้งความคาดหวังต่อผู้ชายและความเป็นชายแบบที่มีส่วนผสมของ hegemonic masculinity กับ caring masculinity ยังคงเป็นที่ต้องการ

คำศัพท์คำว่า “พ่อบ้านใจกล้า” ในสังคมไทย กลายเป็นคำที่ผู้ชายใช้เรียกตัวเอง (หรือถูกเรียก) เมื่อผู้ชายคนดังกล่าวมีส่วนร่วมรับผิดชอบงานในบ้านที่ถูกเข้าใจว่าเป็นของฝ่ายหญิง ภายในคำเรียกเหล่านี้ มักมีน้ำเสียงของการชื่นชมฝ่ายชายจากฝ่ายหญิง ที่เข้ามาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระหน้าที่ในบ้านของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเลี้ยงลูก ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน ทำกับข้าว ซึ่งล้วนแต่เป็นงานบ้าน อันเป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้ชายที่ดี ผู้ชายที่เป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งได้รับการเชิดชูจากสังคม โดยที่คนรอบข้างมักมองว่า พวกเธอโชคดีที่ได้สามีดี

เช่นเดียวเพจเฟชบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า พ่อบ้านใจกล้า ที่บอกเล่าเรื่องราวชายผู้เกรงใจและยอมตามคำสั่งของภรรยาในการทำงานบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความแมนและความเท่แบบผู้ชายอยู่ คำศัพท์คำว่า “พ่อบ้านใจกล้า” นี้จึงเป็นส่วนผสมของความเป็นชายแบบ caring masculinity และ hegemonic masculinity ที่แม้ว่ารู้ว่าหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวเป็นของผู้หญิง? แต่ก็ยอมเข้ามาช่วยเหลือแบ่งเบาสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้ชายแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี

ตรงกันข้าม หากผู้ชายเข้ามารับทบาทการเป็นพ่อบ้านแบบเต็มเวลา (stay-at-home dads) ที่มีฝ่ายหญิงทำหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว นำเงินมาจัดสรรดูแลสมาชิกในบ้าน พวกเขาจะไม่ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นชายแบบ caring masculinity แต่กลับจะถูกตั้งคำถามจากคนในสังคมว่า เพราะเหตุใดพวกเขาจึงไม่ทำหน้าที่ผู้ชายในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัวในแบบที่ควรจะเป็น นิยามผู้ชายและความเป็นชายที่ดีแบบใหม่ จึงไม่ใช่การเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นผู้ชายที่ให้เงินและดูแลเอาใจใส่สมาชิกครอบครัวเป็นอย่างดี

แต่ท่ามกลางอุดมการณ์ความเป็นชายแบบใหม่ ก็ยังคงมีหลาย ๆ ครอบครัว ที่ผู้ชายไม่สามารถเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว และไม่สามารถบรรลุอุดมคติของความเป็นชายได้ ทำให้ฝ่ายหญิงต้องรับหน้าที่เป็นผู้หาเลี้ยง พร้อมกับดูแลเอาใจใส่สมาชิกด้วยตนเอง และแม้ว่าความเป็นจริงผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ด้วยบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมที่มีต่อผู้ชาย ได้ทำให้พวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจที่มากกว่าในหลาย ๆ กรณี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ caring masculinity
ภาพโดย CNN

อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ

ในซีรีย์เกาหลีแม้พระเอกหรือตัวแสดงนำหลายเรื่อง จะมีความอ่อนโยน เข้าใจถึงความรู้สึกคนรอบข้าง อันเป็นคุณสมบัติที่ถูกบอกว่าเป็นของผู้หญิง แต่เมื่อสังเกตจะพบว่า ผู้ชายเหล่านั้นไม่มีเพียงแต่ความอ่อนโยน ใจดี รักสัตว์ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นชายแบบ hegemonic masculinity ในฐานะผู้ชายที่แข็งแกร่งสามารถปกป้องผู้หญิงที่ถูกเข้าใจว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ เมื่อพวกเธอเผชิญกับภัยอันตรายจากศัตรู ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ชายที่คอยปลอบประโลมรับฟังความทุกข์ยากยามเจ็บปวด (caregivers) ผู้ชายที่มีคุณสมบัติดังกล่าว จึงถูกบอกว่าเป็นผู้ชายและความเป็นชายที่สมบูรณ์

อ้างอิง
เพจ พ่อบ้านใจกล้า
Sarah C. Hunter, Damien W.Riggs and Martha. (2017) masculinity vs. a caring masculinity: Implications for understanding primary caregiving fathers Shalene Werth. (2011) Survival of the Male Breadwinner

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า