หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง กลิ่นความเจริญได้อบอวลอยู่ในบรรยากาศของสังคมไทย ด้วยความหวังที่เราจะได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ เสียที ทว่ากลิ่นความเจริญนี้กลับคงอยู่ได้เพียงเดือนสองเดือนเท่านั้นก็จางหายไป กลายเป็นสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวาย พลิกขั้วกันไปมา เรียกได้ว่าการเมืองไทยก็ยังเป็นการเมืองไทยอยู่วันยังค่ำ
ถ้าเสียงประชาชนไม่ยอมเอียงชัดเจนหนักไปทางใดทางหนึ่งให้เสียงชนะขาดลอย เราก็คงจะได้เห็นบรรยากาศโต้กันไป ระแวงกันมา แขวะกันไม่เลือกหน้าตั้งแต่ต้นเกมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อีกทั้งกระแสข่าว ท่าทีของนักการเมืองคนนั้นคนนี้ หรือเสียงนักวิชาการจริงบ้างเก๊บ้างที่คอยเป่าหูจูงหัวเราไปได้ทุกทิศทางตลอดเวลา ล้วนทำให้บรรยากาศทางการเมืองในทุกฝั่งฝ่ายดูจะยิ่งคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา และคงจะเป็นต่อไปแบบนี้หากไม่มีใครยอมลงรอยกัน
นับตั้งแต่วันชี้ชะตายกแรกเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่แสนสำคัญของว่าที่นายกฯ ลำดับที่ 1 ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ผลไม่เป็นดังที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ และคาดหวังไว้ ว่าเขาจะได้เป็นนายกฯ สมใจ นำมาซึ่งความเศร้าแกมโมโห โกรธแกมเสียใจของประชาชนมากมาย
หนึ่งในนั้นเลยคือ ‘TangBadVoice’ ศิลปินชื่อดังที่สร้างสรรค์ผลงานทั้งภาพถ่ายสตรีท และเพลงแร็ป เขาใช้เวลาเพียง 1 วัน สร้างเพลงสั้น ๆ จากความอัดอั้นตันใจ จนกลายมาเป็นเพลง ‘จารไม่ฟัง’ ผลงานอันฉุกละหุก แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมบ้างไม่มากก็น้อย วันนี้เราเลยอยากย้อนกลับไปฟังน้ำเสียง ความเห็น หรือมุมมองของตั้งที่สอดแทรกอยู่ในเพลงนี้กัน ก่อนที่เราจะได้เห็นบรรยากาศการเลือกนายกฯ อีกครั้งจากแกนนำคนใหม่อย่างพรรคเพื่อไทย
‘จารไม่ฟัง’ เป็นเพลงลำดับที่ 33 ของ TangBadVoice นับตั้งแต่เขาเพิ่มงานอดิเรกจากการถ่ายภาพ มาเป็นแร็ปเปอร์มือสมัครเล่น ที่ฝีไม้ลายมือในผลงานแต่ละชิ้นล้วนเป็นที่โจษจัน และน่าจับตามองทั้งสิ้น นับตั้งแต่เพลงเซ็ตแรกอย่าง ‘ตั้งอะไร’, ‘เปรตป่ะ’ และ ‘ล้านนึง’ ปล่อยออกมาพร้อมกัน ทำให้เราได้เห็นรูปแบบเพลงแร็ปแนวใหม่ที่เชื่อเลยว่ามาแน่ มีกลิ่นอายของเพลงพูดยุค ‘เพลิน พรหมแดน’ ผสมกับลีลาการใช้ภาษาที่ดิ้นได้ไม่สิ้นสุดของวงการแร็ปในเมืองไทยที่กำลังเฟื่องฟู และกลายเป็นแนวดนตรีกระแสหลักไปแล้วเรียบร้อย
เพลงนี้เล่าเรื่องเสมือนตัวเอกเป็นนักเรียนในห้องเรียนอันแสนกว้างใหญ่ ที่กำลังแอบนินทาอาจารย์อย่างออกรส ซึ่งก็มีทั้งแอบนินทา แขวะต่อหน้า หรือบ่นคนเดียวผสมปนเปกันไปในวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งเต็มไปด้วยความอัดอั้นมากมายที่พร้อมพรั่งพรูออกมาอีกครั้ง เพราะตะโกนดังๆ ออกไปตั้งแต่ต้น แต่จารไม่ยอมฟังกันดี ๆ
“จารไม่ฟัง จารแค่ถามไปงั้นแหละ
เพื่อนทั้งห้อง จารบอกไม่มีนํ้าหนัก
ซํ้าชั้น จารจะให้ไปซํ้าอะ
คนดี จารกินนํ้าส้มคั้นแหละ”
เพลงนี้ใช้เวลาเพียง 1 วัน ในการแต่งเนื้อเพลง เพราะปล่อยในวันถัดมาทันทีหลังการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก ฉะนั้นจุดที่สำคัญในการมองเพลงนี้ คือการมองสถานการณ์การเมืองไทยผ่านอารมณ์ หรือชุดความคิดบางอย่างเพียงชั่วขณะเท่านั้น เพราะเราก็เชื่อว่าเวลาเพียงหนึ่งวันอาจทำให้เราตกผลึกทุกอย่างไม่ได้เร็วขนาดนั้น
“ผมไม่แค้น ผมไม่แค้น แต่ว่ากูจะจำ
ผมแค่แซ๊ด ผมแค่แซ๊ด จารก็ควรระวัง
เหมือนกับแย้ เหมือนกับแย้ ที่อาจารได้ทำ อ่า
เสียงผมแบ๊ด เสียงผมแบ๊ด เพราะอาจารไม่ฟัง ง่ะ”
ความรู้สึกส่วนใหญ่ของผู้คนในวันนั้นเต็มไปด้วยความโมโห โกรธ และเคียดแค้นกับเกมการเมืองที่ถูกวางแผนมาอย่างครบถ้วน ที่เพียงพอต่อการสกัดกั้นการเมืองใหม่หลังจากการเมืองเก่าที่ผู้คนไม่อยากยอมรับหมดอำนาจลง
เนื้อเพลงชุดแรก ๆ จึงเต็มไปด้วยการล้อเลียนเสียดสีจากทั้งชุดคำที่เลือก และรูปแบบภาษาที่ใช้อย่างผิดหลักไวยากรณ์ (เสมือนกับคำว่า ‘จาร’ ในรีวิวนี้ที่เราจะพิมพ์แบบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน) น้ำเสียงที่ใช้ในเนื้อเพลงที่ออกแบบให้ดูต่ำวรรณะกว่าบุคคลที่ 2 หรือ 3 ที่ต้องการพูดด้วย ดุดันบ้างบางจังหวะที่ต้องการเปล่งเสียงให้ดังมากกว่าเดิม ทั้งในแง่ความหมายจริงและความหมายแฝง ที่ถือเป็นวิธีการออกแบบการเล่าที่น่าสนใจจากระยะเวลาที่มีเพียงวันเดียว หรืออาจจะไม่ถึงวันด้วยซ้ำ
“โคดงงให้ เลือกไปทำไม
ให้เลือกไปเพื่อ อาจารไม่เอาไทย
ทีนี้เลยก้าว แล้วไปไม่ได้ไกล
จารใช้โมเดลถุงยาง อนามัย”
อีกจุดที่น่าสนใจในการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่าน Pop Culture แบบนี้ คือเป็นการบันทึกเหตุการณ์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สมัยก่อนการแต่งเนื้อเพลงให้เข้ากับยุคสมัย อาจจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ แต่ด้วยโลกยุคนี้ที่กระแสมาไวไปไว ทำให้เรื่องราวที่ถูกบรรจุไว้ในงานเหล่านี้ ช่วยให้เรานึกถึงช่วงเวลาของเรื่องราวนั้นได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ดูง่าย ๆ อย่างเนื้อเพลงท่อนนี้ ที่ยังมีคำว่า ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ อยู่ในชุดสมการเดียวกัน โดยหารู้ไม่ว่าในอีกไม่กี่วันถัดมาแนวคิดสมการทางการเมืองของผู้คนที่คาดเดาไว้จะดูแตกต่างจากตอนนั้นมากน้อยขนาดไหน
“จารงับ เพื่อนเขาแอบด่าจาร เขาว่าจารหน้าด้าน หน้าหนา หน้าผี
แต่ว่าผมนะจาร คิดว่าจาร น่าเอ็นดูหน้าเหมือนหมา เหมือนกับม้า ปลาร้า หน้าหมี
บางทีจารก็เหมือนกิ้งก่า เพราะว่าหันไปอีกทาง ตกใจเพราะอาจารเปลี่ยนสี
สีเงินสีทองเหมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าอาจารลอยไป แล้วไม่กลับ ก็ดี”
หลังจากบ่น แล้วก่นด่าลอย ๆ อยู่ครึ่งเพลง วิธีการเล่าเรื่องท่อนหลังของตั้งเลือกใช้วิธีการเขียนแบบพูดซึ่งหน้า แต่ก็ยังแฝงความด้อยกว่าในฐานะผู้พูด โดยอาจมองว่าจารเป็นผู้ใหญ่กว่า แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการด่าอ้อม ๆ ต่อหน้าตรง ๆ อยู่ดี ซึ่งคงเป็นสิ่งที่ประชาชนที่รู้สึกแบบเดียวกับตั้ง อยากจะทำเช่นเดียวกัน
“ดีเยี่ยม ลอยไปจาร เหมือนกะฮีเลี่ยม
อีเหี้ย เอ้ยโทดที พอดีมันเครียด
ซีเรียส ไม่เอาจารไม่ต้องซีเรียล
ผมแค่คิดอะไรเพลิน ๆ แล้ว อีเหี้ย เอ้ย”
มาถึงท่อนท้าย ๆ ของเพลง ที่ไต่ระดับรูปแบบการเล่าหลังจากตะโกนจนคอจะแตกแต่จารไม่ยอมฟัง จนต้องเปลี่ยนมาค่อย ๆ บ่นคนเดียว ขยายเป็นการก่นด่ากับเพื่อน อาจจะวงไม่ใหญ่มาก จนสุดท้ายยอมเดินไปพูดกึ่งแขวะกึ่งด่าต่อหน้า ด้วยท่าทีที่รู้ตัวว่าตัวเองด้อยกว่า
แรก ๆ ก็เชิงฟ้องว่าคนนู้นคนนี้ว่าจาร เพื่ออ้อมมาบอกว่าตัวเองก็อยากด่าจารด้วยเหมือนกัน แล้วก็ก้มหน้าแอบด่า “อีเหี้ย” ด้วยอารามกึ่งแอบนินทา และอยากด่าต่อหน้าแหละแต่ใจไม่กล้าพอ
ตั้งสอดแทรกความไม่พอใจของประชาชนไว้อย่างน่าสนใจ เพราะบางคนก็พร้อมออกมาตะโกนด่าได้อย่างเผ็ดมันอยู่เสมอเวลาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กล้าทำแบบนั้น บางคนก็อยากด่า แต่ก็ไม่กล้าออกหน้ามาด่า หรือพอใจที่จะด่าอยู่ข้างหลังแบบไม่ออกหน้ามากกว่า เพราะเหนื่อยที่จะด่าแล้ว
มองให้ง่ายกว่านั้น คือมวลชนหรือแกนนำในม็อบที่ลงถนนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แข็งแรงและมั่นคงมากกว่าม็อบสมัยนี้ ที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจเหนื่อยที่จะด่า หรืออยากด่าผ่านช่องทางอื่นมากกว่าการลงถนนแบบเดิม
เพราะ ‘จาร’ ในชีวิตจริงไม่ได้ฟังนักเรียนในห้องเรียนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งคงทำให้นักเรียนก่อหวอดแบบเงียบ ๆ แบบนี้อยู่อีกเรื่อย ๆ ในอนาคต และรอวันระเบิดกลายเป็นม็อบใหญ่ที่ปีกกล้าขาแข็งขึ้นมากกว่าเดิม