fbpx

24 กันยายน 2533 : โศกนาฏกรรมรถแก๊สระเบิด ถ.เพชรบุรีตัดใหม่

คืนวันที่ 24 กันยายน 2533 ระหว่างที่หลายๆ คนกำลังกลับบ้านไปพักผ่อน ก่อนเริ่มต้นทำงานในวันต่อไป แต่สำหรับผู้พักอาศัยและสัญจรบริเวณ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ คืนดังกล่าวเป็นเหมือนฝันร้ายของทุกคน เมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงขึ้น

เหตุการณ์เริ่มขึ้นจากการที่รถขนส่งแก๊ส LPG ที่ลงจากทางด่วน เข้า ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เกิดพลิกคว่ำ และทำให้ถังแก๊สที่อยู่ด้านหลังรถหลุดออกจากตัวรถและทำให้แก๊สที่บรรจุมา จำนวน 2 ถัง ปริมาณรวมมากถึง 4 หมื่นลิตร เกิดการรั่วไหลออกมา กระจายเป็นรัศมีวงกว้าง และในเวลาเพียงไม่นานก็เกิดประกายไฟ กระจายไปตามบริเวณที่ LPG รั่วไหลไป และถังแก๊สทั้ง 2 ถัง ก็เกิดการระเบิดขึ้นในเวลาต่อมา ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นทะเลเพลิง เผารถและอาคารบ้านเรือนบริเวณนั้นจนวอดวาย

ขณะที่การดับเพลิง มีการระดมทีมดับเพลิงและอาสาสมัครกู้ภัยเป็นจำนวนมาก แต่การควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ทำได้ยาก เนื่องจากการฟุ้งกระจายของแก๊ส ทำให้การดับเพลิงใช้เวลานานข้ามวัน และสถานการณ์เพลิงไหม้ก็คลี่คลายลง ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันต่อมา (25 กันยายน 2533) และเริ่มจัดการความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หลังจากเพลิงสงบลง ก็ปรากฎภาพความเสียหายชัดเจน ทั้งรถที่ถูกเผาวอดทั้งคัน เหลีอเพียงโครงเหล็กของรถให้เห็นต่างหน้า อาคารโดยรอบบริเวณที่เกิดเหตุ ถูกเผาทั้งตึก และศพของผู้เสียชีวิตจำนานมากในบริเวณที่เกิดเหตุที่ดำเป็นตอตะโก ไม่สามารถพิสูจน์จากอัตลักษณ์ภายนอกได้ รวมถึง ‘หอพักสตรีเพชร’ ซึ่งอยู่ใกล้จุดที่รถขนส่งแก๊สพลิกคว่ำมากที่สุด ที่อาคารถูกเผาทั้งหมดและผู้พักอาศัยในหอพักไม่มีใครที่รอดชีวิตออกมาได้

จากการตรวจสอบรถคันเกิดเหตุ เป็นของ บริษัท อุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด โดยมีนายสุทัน ฝักแคเล็ก เป็นผู้ขับ ซึ่งเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุจากการถูกไฟคลอก และเมื่อตรวจสอบรถคันดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาตรฐานการขนส่งเชื้อเพลิงตามที่ กรมโยธาธิการ กำหนด (หน่วยงานปัจจุบันที่ดูแลการขนส่งคือ กรมธุรกิจพลังงาน) เนื่องจากถังแก๊สที่ใช้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการขนส่ง ไม่มีตัวเชื่อมถังกับรถ ไม่มีสายรัดถัง และไม่มีลิ้นควบคุมการไหลของแก๊ส

ในแง่ของความเสียหาย จากคำพิพากษา ศาลฎีกา คดีที่ 3446/2537 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2537 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 88 ราย บาดเจ็บสาหัส 24 ราย รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายรวม 67 คัน และอาคารที่อยู่ทั้งสองฝั่งของ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เสียหายรวม 51 หลัง และมีบ้านเรือนที่อยู่ในชุมชนแออัดบริเวณดังกล่าวเสียหายอีกนับร้อยหลัง

นายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุสาหกรรมแก๊สสยาม ณ ขณะนั้น ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบรถคันเกิดเหตุ ระบุว่า รถคันดังกล่าวได้ทำการโอนลอยไว้แล้ว คนขับก็ไล่ออกไปนานแล้ว แต่เรื่องการมีโลโก้ของบริษัทฯ อยู่ที่ตัวถังแก๊ส นายวรวิทย์ ตอบอย่างเดียวว่า “เรื่องนี้ไม่ทราบ”

ขณะเดียวกัน นายวรวิทย์ ต้องเข้าต่อสู้คดีในชั้นศาลทั้ง 3 ศาล จนในที่สุด ศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี และปรับ 2 หมื่นบาท และนายวรวิทย์ ก็ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาผู้สูญเสียทุกคน

ขณะที่กรมโยธาธิการ เริ่มปรับมาตรฐานรถขนส่งเชื้อเพลิงต่างๆ ให้เข้มงวด และมีความปลอดภัยมากขึ้น

เหตุการณ์นี้ ถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญของความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยบนท้องถนนที่เราทุกคนผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ควรมองข้าม เพราะเราทุกคนคงไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย จากความประมาทและไม่รักษากฎหมาย เหมือนกรณีนี้ และกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน และการมีสติ ระมัดระวังและรอบคอบทุกครั้ง ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถหยุดความเสียหายและความสูญเสียบนท้องถนนได้

ที่มา:

https://www.voicetv.co.th/read/34545

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_20520

https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-44425

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000097987

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า