fbpx

รวดเดียว 9 ช่อง! กสทช. เตือนนำเสนอข่าว กรณีตำรวจใช้ความรุนแรงผู้ต้องหา

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำเสนอรายงานการประชุมครั้งที่ 24/2564 ที่ได้จัดประชุมไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.

รวดเดียว 9 ช่องทีวี! กสทช. เตือนการนำเสนอข่าวกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงผู้ต้องหา

โดยในวาระที่ 5.1.49 เป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากมีการร้องเรียนกรณีการออกอากาศรายการข่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งอาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ในเหตุการณ์ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด อาจเข้าข่ายเป็นเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง อันต้องห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

ส่งผลทำให้ที่ประชุมเสียงข้างมาก อันได้แก่ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พันเอก ดร. นที สกุลรัตน์, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้กำหนดโทษปรับทางปกครองแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล รายละ 50,000 บาท โดยสั่งปรับจำนวน 3 สถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องไทยรัฐทีวี (หมายเลข 32) ออกอากาศในรายการ “ไทยรัฐนิวส์โชว์”, ช่องอมรินทร์ ทีวี เอชดี (หมายเลข 34) ออกอากาศในรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” และช่อง 8 (หมายเลข 27) ออกอากาศรายการ “เกาะติดข่าว 8”

และได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังอีก 6 สถานีโทรทัศน์ให้ระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยหลีกเลี่ยงการฉายภาพความรุนแรงซ้ำ การอธิบายขั้นตอนการกระทำความรุนแรงต่อตนเองและบุคคลอื่น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพของสื่อสารมวลชน โดย 6 ช่องโทรทัศน์ที่ถูกตักเตือนได้แก่ JKN18 ออกอากาศรายการ “เรื่องร้อนรายวัน”, Nation TV (หมายเลข 22) ออกอากาศรายการ “NATION กรองข่าว”, เวิร์คพอยท์ทีวี (หมายเลข 23) ออกอากาศรายการ “บรรจงชงข่าว”, ช่อง 3HD (หมายเลข 33) ออกอากาศรายการ “ข่าว 3 มิติ”, ช่อง 7HD (หมายเลข 35) ออกอากาศรายการ “ประเด็นเด็ด 7 สี” และช่อง PPTV (หมายเลข 36) ออกอากาศรายการ “เข้มข่าวค่ำ”

ที่ประชุมเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ขอสงวนความเห็น โดยเห็นชอบในส่วนของการมีหนังสือขอความร่วมมือ ตามมติที่ประชุมข้อ 2. แต่ไม่เห็นชอบด้วยในส่วนของมติที่ประชุมข้อ 1. ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงของเรื่องที่เป็นข่าวมีความสะเทือนขวัญและเป็นเนื้อหาสาระที่อาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอยู่ในตัวเอง มิใช่เรื่องที่ทางรายการหรือผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำขึ้น ส่วนที่ว่าในการนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจมีความไม่เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ จึงเป็นกรณีที่ กสทช. จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 (18) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ ก็กำหนดให้ กสทช. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพและควบคุมการประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพที่จะใช้เป็นเกณฑ์ได้ และ กสทช. ก็ไม่อาจที่จะตั้งเกณฑ์วินิจฉัยเองได้ ทั้งนี้ เห็นควรที่ กสทช. จะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้

ThaiPBS ขอจัดสรรคลื่นวิทยุ FM

นอกเหนือจากนี้ ในวาระที่ 5.1.61 ยังเป็นวาระที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็ม เพื่อใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยคณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งตอบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อทราบแนวทางการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับให้บริการกระจายเสียงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายและ กสทช. กำหนด และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องตามแผนการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พันธกิจ และอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ท. ที่กฎหมายกำหนด ตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งกำหนดให้ส.ส.ท. แจ้งความประสงค์กลับมายังสำนักงาน กสทช. อีกครั้ง เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีข้อสังเกตว่า ในเบื้องต้นเหตุเกิดจากการที่ไม่นำคลื่นความถี่ทั้งหมดมา Refarm เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงทำให้ผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้ ดังนั้น ถ้าหากดำเนินการเรียกคืนและวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธคำขอในครั้งนี้

ThaiPBS ขอขยายระยะเวลาทดลองออกอากาศ ALTV อีก 6 เดือน – จบ 30 มิถุนายน 2565

และในวาระที่ 5.1.74 ซึ่งเป็นวาระการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ Active Learning TV (ALTV) ทีวีเรียนสนุก ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กสทช. เสียงข้างมาก ได้แก่ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พันเอก ดร. นที สกุลรัตน์, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ Active Learning TV (ALTV) ทีวีเรียนสนุก ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดการอนุญาต (31 ธันวาคม 2564) โดยให้จัดส่งรายงานผลการทดสอบโดยละเอียดให้สำนักงาน กสทช. ทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว และเงื่อนไขการอนุญาตอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีข้อสังเกตเรื่องความชัดเจนของการอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพราะรายการอื่นที่ได้รับการอนุญาตภายหลัง อาทิเช่น ช่องรายการสำหรับกีฬา ช่องรายการสำหรับประชาธิปไตย ซึ่งมีการทดลองออกอากาศน้อยกว่า แต่กลับได้รับการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสำหรับความเห็นที่ระบุว่า ในส่วนเนื้อหารายการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นกว่าด้านการศึกษานั้น ตามข้อเท็จจริงรายการที่ กสทช. จัดสรรเป็นช่องบริการสาธารณะนั้นมีรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวอยู่ กล่าวคือ กสทช. ได้จัดสรรอย่างกว้างขวางไปแล้ว จึงไม่ควรเป็นประเด็นที่อ้างว่าเป็นการออกอากาศเนื้อหารายการที่กว้างกว่าด้านการศึกษา

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ยังกล่าวในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า “ผมมีความเห็นว่ากระบวนการพิจารณาอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะ ควรที่จะต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ที่ได้รับอนุญาตที่มีเปิดเผย โปร่งใส มีมาตรฐานและมีความเป็นสากลสอดคล้องกับการดำเนินการในลักษณะเดียวกันของประเทศใหญ่ ๆ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับ เช่น ในยุโรปหรืออเมริกา เพื่อมิให้เกิดข้อครหาได้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำช่องรายการ พร้อมทั้งมีความพร้อมทางด้านการเงิน การบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงดังที่ผมได้ให้ความเห็นก่อนหน้านี้ไปแล้ว

กระบวนการพิจารณาและให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. ในข้างต้น รวมถึงของช่องทีวีของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีการอนุมัติไปเมื่อการประชุม กสทช. ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นั้น มีลักษณะเจาะจงแต่ก็ไม่มีกระบวนการพิจารณาที่ชัดเจนโปร่งใสโดยต่างไม่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานที่เป็นหลักสากล ไม่ได้มีการเปิดให้มีการยื่นอย่างเป็นทางการเพื่อเปรียบเทียบแข่งขันกันและไม่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นความพิเศษแตกต่างของกระบวนการขอและให้ใบอนุญาตแก่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จึงขอยกรายละเอียดลำดับขั้นตอนในการทดลองทดสอบและการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. มาให้เห็น ดังนี้

  • วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2563 มีมติอนุญาตให้ทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2563 มีมติให้ขยายระยะเวลาทดลองฯ อีก 6 เดือน
  • วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2564 มีมติให้ขยายระยะเวลาทดลองฯ อีก 6 เดือน
  • วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส.ส.ท. นำส่งรายงานผลการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ ALTV
  • วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ พิจารณาการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ประเภทที่ 1 ของ ส.ส.ท. โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการยังไม่มีมติให้อนุญาต และเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการทดลองฯ ออกไปอีก 6 เดือน ทั้งนี้ เป็นวาระที่ กสทช. ยังไม่ได้พิจารณามีมติ
  • วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ส.ส.ท. มีหนังสือยื่นขอขยายระยะเวลาทดลองฯ ต่อไปอีก 6 เดือน

ลำดับขั้นตอนในการทดลองทดสอบและการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. ในข้างต้น จึงไม่สะท้อนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล บริการสาธารณะ ที่มีความโปร่งใสและมีมาตรฐานที่เป็นสากล

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า