fbpx

ไม่ใช้ช้อนกลางก็โดน! ผู้หญิงยกกำลังแจ๋วโดน กสทช. เตือน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยในระเบียบวาระที่ 5.1.5 มีข้อร้องเรียนกรณีการออกอากาศละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ทางช่อง 3 เอชดี (ช่อง 33) อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. พิจารณาแล้วมีมติให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง 3 เอชดี โดยให้ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” โดยจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กรหรือหน่วยงานที่ปรากฏในละคร โดยเฉพาะหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมให้มีความถูกต้องครบถ้วน เพื่อไม่ให้ผู้รับชมเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้

ในขณะที่ระเบียบวาระที่ 5.1.6 เกี่ยวกับข้อร้องเรียนกรณีการออกอากาศรายการ “ผู้หญิงยกกำลังแจ๋ว” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ทางช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง 3 HD (ช่อง 33) อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กสทช. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช. ,กสทช. พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ,กสทช. พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ ,กสทช. รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ กสทช. ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์) มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยให้มีคาสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง 3 HD (ช่อง 33) ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต

โดยดำเนินการแก้ไขการออกอากาศรายการต่าง ๆ ทางช่อง 3 HD (ช่อง 33) ให้เป็นไปตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดในกฎหมาย ระเบียบ และเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามข้อ 19 ประกอบกับ ข้อ 14 (10) ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เนื่องจากกรณีการออกอากาศรายการ “ผู้หญิงยกกำลังแจ๋ว” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) โดยมีการถอดหน้ากาก ชิมอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง และไม่มีการรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) ขอสงวนความเห็นแตกต่างจากมติ ที่ประชุมเสียงข้างมาก โดยเห็นว่า การใช้ฐานความผิดเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ อาจเป็นเรื่องที่ กสทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาได้ เนื่องจากมาตรา 27 (18) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ ในขณะที่ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ มาตรา 39 กำหนดให้ กสทช. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพและควบคุมการประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกัน ดังนั้น โดยหลักการตามกฎหมายจึงหมายความว่า คนในวิชาชีพคือฝ่ายที่จะต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและเป็นผู้พิจารณาว่าพฤติกรรมใดผิดหรือไม่ผิด ไม่ใช่บทบาทหน้าที่หรืออำนาจของ กสทช. และเมื่อยังไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวและไม่มีกระบวนการพิจารณาทางวิชาชีพอย่างชัดแจ้ง อำนาจของ กสทช. ที่จะตักเตือนหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมจึงไม่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ยังเห็นควรที่สำนักงาน กสทช. จะเร่งรัดเรื่องการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพและกำกับดูแลกันเอง ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อได้อย่างชัดเจนและเคร่งครัดต่อไป

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า