fbpx

Nativity still dying return back I exist หนังสือที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่ไร้ความทรงจำ 23 ปีที่ผ่านมา

หนังสือปกหนาๆ ที่มีภาพของหนุ่มเสื้อขาวยืนจับรถเข็นห้างสรรพสินค้า ไม่มีกระทั่งชื่อผู้เขียนหนังสือ มีเพียงประโยคสั้นๆ เดียวที่พอเล่าเรื่องได้บ้าง ดูเผินๆ คล้ายสมุดภาพ หนังสือรวมภาพเทือกนั้น

แต่ไม่ใช่ มันคือหนังสือ หรืออาจเป็นไดอารี่ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวบางอย่างของตัวผู้เขียนเอง

และโลกก็กลมเหลือหลาย ผู้เขียนหนังสือนั้นก็คืออดีตทีมงานอาสาสมัครของ Modernist นี่เอง

หาวันชาตะ มรณะ ผมเสีย พวกคุณอาจจะได้มาวันฌาปนกิจศพผม

คือคำโปรยบนหน้าปกที่ทำเอาผู้เขียนชะงักไปครู่หนึ่ง เพราะตกใจในเนื้อหาว่ามันคืออะไรกัน (วะ) กำลังพูดถึงเรื่องอะไร หรือเราควรโทรหรือส่งข้อความไปหาเขาหน่อยดีไหมว่าสบายดีรึเปล่า

แต่เมื่ออ่านจบเล่มก็ทำเอาโล่งใจไปเปราะหนึ่ง เพราะมันเป็นเพียงตัวละครที่สร้างขึ้น แต่หากมองผ่านชื่อภาษาอังกฤษ (Nativity still dying return back I exist) ของหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นจั่วหัวที่ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะนอกจากการเกิดกับการตายที่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว ‘การมีตัวตน’ ก็เป็นข้อขัดแย้งที่เริ่มมีตัวตนขึ้นมาในสังคมปัจจุบันเช่นกัน

ตัวตนถูกหยุดไว้ที่อายุ 24 ปี และ 23 ปีที่ผ่านไม่เคยมีอยู่

อาจเพราะผู้เขียนมีอายุใกล้เคียงกับตัวละครในหนังสือ จึงทำให้สามารถเข้าใจภาวะทางอารมณ์ (ที่นามธรรมมาก) ได้ประมาณหนึ่ง ทั้งความฝันที่หล่นหาย จินตนาการที่ถูกจำกัด กระทั่งการถูกจดจ้องจากอะไรบางอย่างจนสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไป เพียงแต่อารมณ์ของตัวละครในหนังสือนั้นรุนแรงและบาดลึกยิ่งกว่า

เพราะขณะที่สังคมบั่นทอนเขาจากภายนอก ผีห่าซาตานที่มาในรูปแบบ ‘ความเจ็บป่วย’ ก็กำลังกัดกินเขาอยู่ภายใน และ ‘ยา’ ที่จะสามารถบรรเทาเขาได้ กลับทวีคูณความเลวร้ายขึ้นอีก ในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ ผู้เขียนพบเจอบุคคลที่มีภาวะดังกล่าวประมาณหนึ่ง จะในโซเชียลมีเดียก็ดี หรือชีวิตจริงก็ดี ซึ่งล้วนแล้วเป็นคนหนุ่มสาว ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน หรือที่หลายคนกล่าวว่ามันคือ ‘โลกความจริง’ 

24 คืออายุที่ตัวละครในหนังสือก้าวไปถึง การเกิด Culture Shock ฉับพลันจนตั้งตัวไม่ถูก ซึ่งเขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าจะทำอย่างไรกับโลกความจริง และเลข 24 ที่พาดอยู่บนหน้ากระดาษ

ในมุมหนึ่ง ‘การมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า’ ก็เป็นเรื่องปกติที่ใครหลายคนต้องเจอ แต่ในมุมที่สองก็เหมือนว่า 23 ปีที่ผ่านมา เราไม่อาจรับรู้ถึง ‘ตัวตน’ หรือความ ‘อยากจะเป็น’ ของตนเองได้เลย ยิ่งในช่วงเวลาที่การมี ‘ตัวตน’ คือสิ่งสำคัญที่จะนำเสนอบางอย่างของคุณได้ แต่เมื่อคุณหรือใครสักคนไม่มีมัน จึงดูจะเป็นบาปมหันต์เลยทีเดียวแหละ

และตัวละครกำลังเผชิญกับมุมมองที่สองอย่างโดดเดี่ยว และความว่างเปล่าที่เขาเผชิญตอนก้าวเข้าสู่อายุที่ 24 นั้นหนักหน่วง จนพาเขาเข้าสู่ภาวะแห่งความ ‘อยากจะตาย’ พรรณนาถึงอารมณ์ แวดล้อม และภาชนะที่จะใส่ร่างไร้ชีวิตของเขา และภาวะที่ว่าก็คือเนื้อหาทั้งหมดที่เหลือในหนังสือ โดยแทรกฉากหรือตอนเล็กๆ (Sequence) ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ, การทำงานหาเงิน, หรือการเข้าโรงพยาบาล ไว้อย่างร่วนๆ ไม่เป็นระเบียบ

ซึ่งความไม่เป็นระเบียบในการเล่าเรื่องนี้ คือสิ่งที่อยากจะเขียนถึงต่อไป 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าผู้เขียนก็ไม่ได้อ่านหนังสือมากมายนัก แต่ก็อ่านเนื้อความที่มีรูปแบบ (Form) คล้ายเรื่องสั้นเยอะอยู่พอสมควร ซึ่งสำหรับ Nativity still dying return back I exist ผู้เขียนก็มองว่ามันจัดอยู่ในหมวดเรื่องสั้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้และต่างจากเรื่องสั้นอื่นๆ คือการเล่าเรื่อง (Narrative) หากเรื่องสั้นอื่นเล่าถึงคนดื่มน้ำ ก็คงไม่มากไปกว่า ‘ผู้หญิง-ดื่ม-น้ำ’ แต่จุฑาพิชญ์ (ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้) สามารถขยายความได้ถึงขนาดว่า ‘ผู้หญิงผมสั้นสีทองเครื่องหน้าได้ที่สวมชุดสีเหลืองลายดอกพุทธรักษา-ใช้มือซ้ายเอื้อมไปหยิบ แก้วน้ำทรงองคชาตเปื้อนรอยขีดข่วน-ขึ้นมาดื่มน้ำเปล่าขึ้นตะกอนสีเขียวผะอืดผะอมคล้ายทิ้งไว้ 10 ปี’

ในฐานะผู้ทำงานเขียน การพรรณนาเอาภาวะอารมณ์ รายละเอียดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ออกมา ก็เป็นสิ่งที่ยากเหมือนกันถ้าไม่ใช่พื้นที่จริง หรือบริบทที่เราเคยประสบพบเจอมา แม้แต่จะจินตการบางอย่างขึ้นมาก็หัวแทบระเบิด แต่จุฑาพิชญ์สามารถดึงเอาอารมณ์หลากลาย ทั้งรูปธรรมและนามธรรมออกมาได้อย่างแปลกใหม่และน่าสนใจ (อาจจะหัวระเบิดเหมือนกัน) แต่ขณะเดียวกัน เพราะด้วยอารมณ์ที่หลากหลายผสมกับภาษาไทยที่ดิ้นได้ ทำให้ความรู้สึกบางอย่างที่แสดงออกมาค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ความรู้สึก ประสบการณ์ร่วม ร่วมกับจุฑาพิชญ์มากเลยทีเดียว หรือพูดได้ว่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้อ่านมากนัก

แม้บางส่วนในหนังสือจะยากเกินที่จะเข้าใจ (สำหรับผู้เขียน) แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ‘ความเฉพาะตัว’ (Nique) ที่มีสูงมากในหนังสือเล่มนี้ หากเทียบเป็นภาพยนตร์ ก็คงเป็นภาพยนตร์ทดลองที่มีวัตถุดิบที่น่าสนใจ การเล่าเรื่องที่ชวนขมวดคิ้ว แต่อย่างไรก็ดี ความหดหู่ที่เกิดขึ้นระหว่างชม ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จนแสงไฟของโรงภาพยนตร์สว่างขึ้นอีกครั้งได้รึเปล่า

สุดท้ายนี้ หากมองแบบทิ้งทุกเงื่อนไข ทุกฟอร์ม ทุกการเล่าเรื่องออกไป แม้ผู้เขียนจะบอกว่าเป็นเพียงแค่ตัวละคร แต่อย่างไรมันก็คือการพรั่งพรูความรู้สึกต่างๆ ทั้งด้านลบและบวกของผู้เขียน ออกมาผ่านตัวละครในเรื่อง ผ่านสภาพแวดล้อม ซึ่งมันน่าเศร้ามากๆ นะ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าผู้เขียนเจอเรื่องแบบนี้ต้องทำอย่างไร ต้องรู้สึกอย่างไร มันเลยเป็นเหมือนการโอดครวญ แสดงออกถึงความบอบช้ำที่เกิดขึ้นทั้งจากสังคมและผู้คน เลวร้ายถึงขั้นต้องการความตายเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ผู้เขียนไม่มีอะไรจะกล่าวต่อ มากกว่าขอจับมือแน่นๆ นานๆ แล้วกัน

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า