fbpx

ตั๊ก-ฉันทนา กับหน่าฮ่านเดอะซีรีส์ ที่ยังคงม่วนซึ่นอีหลีและเล่าภาพวัยรุ่นอีสานได้ดีคั่กๆ

แม้การม่วนหน่าฮ่านของยุพินและผองเพื่อนวัยรั่วฉบับภาพยนตร์จะถึงบทสรุปแล้ว แต่ใช่ว่าทำนองเพลงหมอลำบนเวทีจะสิ้นสุดไปพร้อมกับตลาดที่วายผู้คน ดนตรีหมอลำได้กระหึ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับหน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ ที่ออกาอากศทุกคืนวันจันทร์ทางช่อง 3 และออนไลน์บน AIS Play

Modernist จึงแวะมาคุยหลังบ้านกับ ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์หน่าฮ่าน และกำกับหน่าฮ่านในแบบซีรีส์ ซึ่งการเล่าเรื่องของหน่าฮ่านบนหน้าจอโทรทัศน์ในครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงและการตีความที่หลากหลายในมิติของวัยรุ่นหน้าฮ่านมากขึ้น

แต่ยังตอกย้ำและสะท้อนภาพ “อีสาน” ออกมาได้แจ่มชัดผ่านเรื่องราวของวัยรุ่นกลุ่มนี้ และย้ำจุดตั้งต้นสำคัญของหน่าฮ่านได้

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

แรงบันดาลใจแรกของหน่าฮ่านมาจากอะไร

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ที่ยังเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและทำงานในวงการภาพยนตร์ ตอนนั้นไป Film Residentcy ที่สิงคโปร์ด้วยหนังเรื่องแรกที่ไม่ใช่หน่าฮ่าน เป็นหนังยาวเรื่องแรกที่ยังไม่เคยได้ออกฉาย คอนเทนต์พูดเรื่องเกี่ยวกับที่บ้านแต่เป็นเรื่องผีปอบ และก็มีพี่ อ้วน-นคร โพธิ์ไพโรจน์ เขาเห็นว่าเราทำคอนเทนต์เกี่ยวกับบ้านของตัวเองในอีสาน และมีพี่ หมู- สุภาพ หริมเทพาธิป ที่ทำ Documentary Club และทำงานอยู่กับพี่อ้วน  พี่หมูเขารู้จักกับนายทุนเจ้าหนึ่งที่เป็นสายหนังในภาคอีสาน เขาทำโรงหนังอยู่แล้ว และอยากทำคอนเทนต์หนังอีสานเป็นของตัวเอง คืออยากทำสตูดิโอเล็กๆ เป็นของตัวเองนั่นแหละ เขาก็เลยมาชวนพี่หมูกับพี่อ้วนทำ และพี่หมูเขาก็มีไอเดียที่เกี่ยวกับวัยรุ่นที่เป็นการเต้นหน่าฮ่านอยู่แล้ว ซึ่งประจวบเหมาะกับตอนนั้นที่เรามีหนังที่พูดเกี่ยวกับภาคอีสาน เขาก็เลยคิดว่าเราน่าจะอินและทำได้จึงมาชวน ก็ตอบแบบไม่คิดเลยว่าอยากทำ เพราะเราก็อยากทำหนังยาวที่ฉายในโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว ก็เลยเอาไอเดียตั้งต้นเหล่านั้นมาทำงาน มาคุยกันว่าจะเล่าเรื่องแบบไหน เริ่มเขียนบท และก็กลายมาเป็นหน่าฮ่านที่ฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

การฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก ผลตอบรับเป็นอย่างไร

ก็แอบเงียบ เพราะมันเป็นหนังเล็กๆ ดาราก็ไม่มี ทุนสร้างต่ำ และก็หน้าหนังมันดูคล้ายๆ กับหนังอีสาน หนังรักวัยรุ่นทั่วไป แต่ในด้านฝั่งคนวิจารณ์หนัง นักดูหนัง เขาจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ มันก็เลยถูกพูดถึงบ้าง บางสื่อที่เขาให้ความสนใจกับประเด็นที่พูดถึงปัญหาสังคม หรือเรื่องที่ยังไม่เคยถูกพูดถึง เขาก็จะเชิญเราไป คล้ายๆ สัมภาษณ์แบบนี้แหละ และพี่ นุ้ย-จารุพร กำธรนพคุณ หรือพี่ๆ ทีมทีวีธันเดอร์เขาก็คงเห็นเลยมาชวนทำ

ตกใจไหมที่ทีวีธันเดอร์อยากคุยเกี่ยวกับหนังของเราหรืออยากชวนเรามาทำต่อ

เป็นความรู้สึกประหลาดใจมากกว่า ไม่ได้ตกใจ ยังคุยกับพี่อ้วนอยู่เลยว่าติดต่อผิดรึเปล่า เขาจะติดต่อทีมไทยบ้านเดอะซีรีส์รึเปล่า แต่พอคุยกันไปคุยกันมา ก็รู้ว่าเขามาติดต่อเรื่องหน่าฮ่านนี่แหละ ก็มีการนัดพูดคุยกัน นัดดูตัวกัน (หัวเราะ) จนมาถึงช่วงที่ตัดสินใจว่าจะทำด้วยกัน

อะไรที่ทำให้คุณและทีวีธันเดอร์ตัดสินใจที่จะทำซีรีส์ร่วมกัน

คือหนังมันทุนต่ำ รายได้มันก็น้อย กระแสก็ไม่ค่อยดี พูดง่ายๆ ก็คือมันเจ๊ง แต่ทำไมพี่เขาถึงมีความกล้าที่จะชวนเราไปทำ เพราะว่ามันแอบเสี่ยงมากๆ ก็เลยรู้สึกเคารพ และนับถือในความใจนั้น รู้สึกประทับใจ ถ้าทำงานด้วยก็คงสบายใจก็เลยตัดสินใจที่จะทำ

การได้รับคำชวนจากทีวีธันเดอร์มันมีความหมายต่อคุณอย่างไร

จริงๆ ก็ไม่ใช่คำว่าตัวเองมีความหมายหรอก เราไม่ได้เป็นคนที่คิดว่าจะต้องได้รับการยอมรับแบบนั้นด้วย มันเป็นเรื่องที่ ‘ชั้นอยากจะพูดสิ่งนี้ แล้วเขา Respect เรา’ มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่าต่ออะไรสักอย่างนึง เหมือนเราทำเรื่อง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เพื่อที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนกลุ่มนึงที่เราเป็นอยู่ ที่เราจากมา เราอยากจะพูดสิ่งนี้ เพราะว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้พูด หรือพูดแล้วก็ไม่มีคนได้ยินเขา เรารู้สึกมันหาไม่ได้แล้วกับการที่เจอคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่ออะไรสักอย่าง ต้องรักษาไว้นะคะทุกคนอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

สิ่งสำคัญในการกำกับหน่าฮ่านของคุณคืออะไร

(คิด) อย่างแรกเลยคือเราจะไม่โกหกคนดูเด็ดขาด ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหตการณ์นั้นเหตุการณ์นี้มันเป็นยังไง ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เป็นยังไง อย่างวันก่อนเราคุยกับคนนึงซึ่งเป็น Subject ในงานชิ้นถัดไปของเรา เราจำคำพูดเขาได้ขึ้นใจเลยว่า ‘เราไม่ควรเขียนอะไรที่เรามโนไปแค่คนเดียว’ ซึ่งมันก็โครตจริงเลยและเราก็กำลังทำงานอยู่บนประโยคนี้เหมือนกัน ถ้าสมมุติเรากับพี่อ้วนนั่งเทียนเขียนอยู่ในห้องเขียนบท มันจะไม่เข้าใจไปสู่ใจกลางความรู้สึกของคนตรงนั้นจริงๆ คนดูก็จะดูออก ซึ่งเราเป็นคนไม่ยอมนั่งเทียนเขียนอยู่แล้วแหละ

จาก ‘หนัง’ สู่ ‘ซีรีส์’ มันมีอุปสรรคอะไรไหม

จริงๆ ก็เป็นเรื่องเทคนิคและโปรดักชั่น พอเวลาทำงานมันน้อย โปรดักชั่น หรืออุปกรณ์มันไม่ค่อยเอื้ออำนวย เพราะเราถ่ายต่างจังหวัดและก็ต้องพาทีมงานจากกรุงเทพไป และเราก็ถ่ายในช่วงโควิด ทำให้ Production Value มันผิดไป เราก็ต้องแก้ปัญหามัน บางอย่างที่เราอยากได้ก็ต้องแก้เป็นอย่างอื่น อยากถ่าย Establish Long Shot เอาบรรยากาศนี้ Vibes นี้ แต่ก็ไม่ได้ เพราะคนเราไม่ค่อยมี พอมีโควิดก็ทำงานยาก เราจะทำยังไงให้เรายังได้บรรยากาศนี้ ให้ได้ไวป์นี้ใน ก็คิดอะไรแบบนี้เยอะมากเหมือนกัน ด้วยงบประมาณ ระยะเวลา รวมถึงคิวนักแสดงและทีมงาน มันก็ต้องเวิร์คกับ Process จริงๆ มันก็ทุกกองถ่ายแหละที่จะต้องมีปัญหาแบบนี้ แต่ของเราจะยากกว่าหน่อย เพราะอันนี้เป็นงานซีรีส์และงานขนาดยาวงานแรกของเราด้วย

แล้วในแง่คนทำงานจากผู้กำกับหนังมาทำซีรีส์ยากง่ายอย่างไร

(คิด) มันเป็นเรื่องการปรับตัว ปรับวิธีคิดจากหนังให้กลายเป็นซีรีส์นั่นแหละค่ะ หนังมันก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซีรีส์ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ต้องใช้เวลาปรับตัวมาก แต่ก่อนเราดูซีรีส์น้อยมาก พอรู้ว่าจะต้องทำ ภายในปีนึงเราก็ไล่ดูซีรีส์เยอะมากเลย เพราะจะดูโครงสร้าง วิธีการเล่า เพรสซิ่ง การตัดต่อ การถ่ายทำ สไตล์ ว่ามันทำงานกับคนดูยังไง ทำไมเขาถึงชอบ ทำไมเขาถึงติด ตอนที่เป็นหนังมันฉายเป็นโรงภาพยนตร์ คนไม่ได้ลุกไปไหนและอยู่กับจอภาพยนตร์ตลอดเวลา อาจจะมีหลับบ้าง แต่ว่าเขาก็ยังอยู่กับมนต์สะกดของภาพยนตร์ มันเลยจะมีวิธีการเล่าที่อิสระประมาณนึง แต่พอมันเป็นซีรีส์มันทำงานกับคนหมู่มาก มันเป็น Mass Media เราเลยต้องหาวิธีว่าเราจะเล่ายังไงให้คนอยู่กับหน้าจอให้ได้มากที่สุด โดยที่เขาไม่ Skip ไม่ลุกไปไหน หรือถ้าเขาหลุดนิดนึงก็ยังจับใจความได้อยู่ว่ากำลังเล่าอะไร ก็เป็นเรื่องเทคนิคซะส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องวิธีคิดมันก็เป็นความโชคดีของเรา ที่ทางผู้จัดเขาให้อิสระกับการเล่าของเรามาก

เมื่อมันอิสระมากๆ คุณมีการใส่มุมมองหรือทัศนคติลงไปในงานอย่างไร หรือมุมมองต่างๆ นั้นมาจากใครบ้าง

จริงๆ มุมมองและทัศนคติมันมาจากการคลุกคลีและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนที่เราใช้ชีวิตด้วย ลงไปรีเสิร์ชและพูดคุยด้วย มากกว่าการคุยกับผู้ช่วยผู้กำกับหรือผู้สร้าง บางอย่างที่ตัวละครมันทำเราเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ว่าเราเชื่อว่าคนจะทำแบบนี้จริงๆ คือมันเริ่มจากการคุย การเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าทางออกของเขาเป็นแบบนี้ วิธีคิดของเขาเป็นแบบนี้ แม้เราจะสงสัยว่าชีวิตจริงเขาทำแบบนั้นจริงรึเปล่า แต่เราก็ต้องเคารพในสิ่งนั้นและสร้างมันออกมา

ขั้นตอนการทำหนังของคุณเป็นอย่างไร แตกต่างกับคนอื่นไหม

จริงๆ ก็ไม่ค่อยต่างค่ะ อย่างแรกเลยคือต้องเลือกพาร์ทเนอร์ ดูว่าพาร์ทเนอร์เป็นยังไง แล้วก็เลือกมาทำด้วย ไม่ได้หมายถึงพี่ๆ ทีวีธันเดอร์นะ อันนี้เราไม่ได้เลือกแต่เขามาชวนเรา (หัวเราะ) แต่ถ้าทำหนังเราก็ต้องเลือกว่าจะทำกับโปรดิวเซอร์คนไหน ตากล้อง ผู้ช่วยเป็นใคร คนที่จะอยู่กับเรา24ชั่วโมงต่อจากนี้ เหมือนต้องหาให้เจอเหมือนกัน ก็จะมีคนที่ทำงานแล้วเป็น Professional กัน และที่สำคัญที่สุดคือ ‘การรีเสิร์ช’ นั่นแหละ.

บททั้งในการทำหนังหรือซีรีส์มันเป็นประสบการณ์ของคุณเองหมดเลยรึเปล่า

แชร์ๆ กันกับพี่อ้วนน่ะค่ะ คือมันเป็นประมาณว่า ถ้าเป็นเรื่องอินไซท์ เรื่องหลักๆ ตัวละคร นิสัยใจคอ วิธีคิดวิธีการตัดสินใจก็จะมาจากเรา แต่จริงๆ พี่อ้วนกับเราก็จะเห็นพ้องกันว่า ‘เด็กที่ไหนก็จะเป็นประมาณนี้เหมือนกันนั่นแหละ’ มันจะมีความเหมือนกันบางอย่าง ที่คาบเกี่ยวกับเด็กในพื้นที่ต่างๆ เด็กวัยรุ่นภาคเหนือ ภาคใต้ ที่ไหนก็คิดและตัดสินใจทำแบบนี้กันทั้งนั้น ถ้าจะแตกต่างออกไปหน่อยก็จะเป็น ‘ถ้าทำแบบนี้ทำด้วยอารมณ์ไหน’ ‘กิริยาท่าทางแบบไหน’ มากกว่า และส่วนรายละเอียดปลีกย่อยเราก็จะดูแล ส่วนเรื่องขึ้นเหตุการณ์ต่างๆ พี่อ้วนก็จะเป็นคนสร้างขึ้นมาแล้วก็มาแชร์กันว่าประมาณนี้ดีไหม

‘การรีเสิร์ช’ สำคัญต่อการทำหนังหรือทำซีรีส์อย่างไรบ้าง

โครตจะมีความหมายเลยนะ แต่ว่าการรีเสิร์ชมันก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเวลามากแค่ไหนด้วย สมมุตถ้าให้เราไปทำเรื่องการเมือง แต่มีเวลาให้เราแค่เดือนเดียวก่อนเปิดกล้องเราก็ไม่ทำนะ เราก็ไม่ได้เจนจัดสันทัดเรื่องการเมืองขนาดนั้น เราก็มีความรู้พอๆ กับในทวิตเตอร์นั่นแหละ

ฟีดแบคของมันเป็นอย่างไรบ้าง

ก็เกินคาด ไม่คิดว่าจะขนาดนี้ เพราะว่าจริงๆ ก็แอบกังวลว่ามันจะเงียบ มันฉายห้าทุ่มด้วย ดาราดังๆ ก็ไม่มี แม้ว่าจะมีนักแสดงที่พอจะพยุงกระแสไปได้ประมาณนึงอยู่ แต่ก็ความกังวลอยู่ดีเพราะมันฉายดึกมาก แม้จะเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ชาวบ้านเขาจะโหลดแพลตฟอร์มมาดูมั้ย จะเข้าใจรึเปล่า แต่พอกระแสตอนแรกออกไปเราก็รู้สึกโล่งแล้ว อย่างน้อยก็ไม่โดนด่า บางคนอาจจะรู้สึกผิดหวังที่จากหนังมาเป็นซีรีส์ ความรู้สึกมันอาจจะต่างกันบ้าง แต่เขาก็ไม่ได้ด่า เขาก็ยังเข้าใจว่ามันต่างเพราะอะไร แต่เขาอาจจะชอบเวอร์ชันหนังมากกว่า

‘ความเป็นอีสาน’ มันส่งผลในเรื่อง Soft Power ของไทยอย่างไรบ้าง 

(คิด) จริงๆ เห็นชัดสุดก็เป็นวัฒนธรรมทางดนตรีแหละ ที่พอมัน Unique มาก มันก็ถูก Adapt ไปใช้เยอะมาก บางคนเล่นกีตาร์สไตล์สำเนียงพิณ อย่างวันก่อนพี่นุ้ยเล่าให้ฟังถึงพี่ พรศักดิ์ – ส่องแสง ที่เขาไปทัวร์ทั่วโลกและก็เป็นที่นิยมของศิลปินต่างชาติมากๆ วันก่อนเราก็ดูเบิ้ล – ปทุมราช เขาก็ไปทัวร์ต่างประเทศมาเยอะมากเหมือนกัน หรืออย่างพี่บอย – ศิริชัย วงหมอลำใจเกินร้อย ที่เราใช้เป็นวงหมอลำในเรื่องเขาก็ไปทัวร์มาทั่วโลกเหมือนกัน และเขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนเขาไปก็มีคนมาดูวงเขาเยอะมาก ไม่ใช่แค่คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ มีฝรั่งมาดูเยอะ เราก็พูดได้เต็มปากเหมือนกันว่า ‘หมอลำเป็นวัฒนธรรมของคนอีสาน’ มันก็ทำงานกับคนทั่วโลกเพราะว่ามันเป็นศิลปะดนตรีด้วยแหละ มันเข้าถึง เชื่อมโยงกับสากลได้ง่าย

แล้วเมื่อไหร่ Soft Power ไทยจะขายได้สักที

มันขายได้นะแค่ไม่ได้เป็นที่นิยม อย่างพี่ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ Memoria มีทุนสร้าง 10 ประเทศรวมกัน ได้ Jury Prize จากคานส์อีก มันเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากนะ หรือทำไม หว่องกาไว ถึงมาเลือกพี่ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ทำไมไม่ไปเลือก ฮองซางซู หรือ บองจุนโฮ ทำไม นาฮงจิน ถึงมาเลือกพี่ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ทำไมถึงไม่ไปเลือกผู้กำกับมาเลเซียหรือฟิลิปปินส์ที่ทำหนังผีได้แบบน่ากลัวโครตๆ เราว่ามันเป็นเรื่องที่เห็นความว้าวในรอบหลายปีนะ นานๆ ทีกว่าคนระดับโลกอย่างนั้นจะมาโปรดิวซ์ให้ผู้กำกับไทย หรืออย่าง Netflix ก็เริ่มสนใจที่จะทำ Original Content ในไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีแรกที่เข้ามา เพราะว่ามันมีตัวเลข มีคนดู คนเอเชียเขาก็ดูคอนเทนต์ไทยกันนะ แค่มันต้องค่อยๆ ไป ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่แหละ

คุณคิดว่าวันนี้เป็นความสำเร็จในฐานะผู้กำกับแล้วรึยัง

ก็ยังนะคะ มันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปต่อไปเรื่อยๆ แหละ เรารู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้เข้าใกล้ความสำเร็จแบบนั้นหรอก ยังไม่เข้าใกล้คำนั้น และก็ไม่รู้ด้วยว่าตรงไหนเรียกว่า ‘สำเร็จ’ คือมันมีความชื่นใจหรืออิ่มเอมใจอะไรบางอย่าง แต่มันไม่ใช่การร้องแรกแหกกระเชอว่า ‘เฮ้ กูทำได้แล้ว’ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันเป็นความรู้สึกยิ้มๆ ว่ารู้สึกดีนะในช่วงนึงมากกว่า และเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาตัวเองต่อไป เพราะว่ามันบางอย่างมันก็ยังไม่ได้ดีหรือแหลมคมสวยงามขนาดนั้น 

ในฐานะผู้กำกับมีเป้าหมายการทำงานในอนาคตอย่างไรบ้าง

(คิด) อยากมีพื้นที่ในการทำงานประมาณนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกลิดรอนจากสิ่งไหน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการกำกับซีรีส์หนึ่งเรื่องคืออะไร

(คิด) สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดเลยก็จะเป็นเรื่องเทคนิคทางโปรดักชั่นว่าต่างจากหนังยังไง ต่างจากเอ็มวียังไง การบริหารจัดการ การคิดและการตัดสินใจ เรารู้สึกว่าเรารักตัวละครทุกตัวเลย กระทั่งตัวละครซัพพอร์ตย่อยๆ ตัวที่เป็นตัวรายล้อม เอ็กซ์ตร้าที่ราคา 500 บาทเรายังรักเลย เรารู้สึกว่าทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเองหมด แต่เราจะอธิบายยังไงให้มันรอบด้าน ให้มันครบ มีเวลาแปดตอน ตอนละหนึ่งชั่วโมง เราอยากจะให้ทุกคนสำคัญในชีวิตตัวเอง ถึงแม้เขาจะออกมาฉากเดียว แต่เราก็อยากจะอธิบายเขาในฉากเดียวให้ได้ด้วยเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เราก็ไม่รู้ว่าพอไปทำหนังมันจะสลัดสิ่งนี้ไปได้รึเปล่า 

จากหนังเรื่องแรกถึงหน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ คุณเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง

ตัวเลขอายุแหละที่มากขึ้น (หัวเราะ) เราไม่ได้รู้สึกว่าการคิดแบบนี้จะทำให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น หรือการคิดแบบนี้จะทำให้ดูเด็กหรืองี่เง่าลง เราว่ามันเป็น Coming of Age คนเราจะอายุ 40 ก็งี่เง่าได้ เป็นเด็กได้ มันไม่เห็นมีอะไรผิดเลย เราไม่ได้รู้สึกว่าความคิดแบบไหนมันจะ Represent ความเติบโต แต่เราว่าสิ่งที่มันสั่งสมมาเรื่อยๆ มันจะเป็นแง่มุมและความหมายอะไรหลายๆ อย่าง ว่าเราไม่ได้มีช้อยส์เดียว หรือไม่ได้มีมุมมองต่อสิ่งนี้เพียงแค่มุมมองเดียว

คนรุ่นใหม่อยากฝากอะไรถึงวงการภาพยนตร์บ้าง

(หัวเราะ) มันก็มีหลายๆ ฝ่ายเนอะ (คิด) เหมือนแต่ละคนก็จะมีความคิดเป็นของตัวเอง และก็จะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดน่ะมันถูก แต่ว่าก็ไม่เคยมานั่งฟังความคิดของคนอื่น ที่เขาก็คิดว่าความคิดเขาถูกเหมือนกัน จริงๆ ก็เป็นกันทุกวงการแหละไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์ ต่างคนต่างทำ ไม่เคยเอามา Merge กัน ไม่เอามาแชร์กัน มันก็เลยทะเลาะกัน ย่ำยีอยู่กับที่ ไม่มาข้างหน้าไม่ไปข้างหลัง วนอยู่ในอ่าง คนที่ทำก็ก้มหน้าก้มตาทำแต่ก็ไม่ไปถึงคำว่า Success สักที แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใกล้นะ มันก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่มันก็ช้าเอามากๆ ทั้งในแง่ความเติบโตของอุตสาหกรรมและแง่คุณภาพของอุตสาหกรรม แต่มันก็เห็นความพยายามและความหวังนะ แต่มันก็ไปอย่างช้าๆ มันต้องอาศัยเรี่ยวแรงจากทุกคนแหละทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า มานั่งฟังกันดีกว่า

‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ สอนอะไรให้คนดู

ไม่กล้าไม่สอนคนดูหรอกค่ะ (หัวเราะ) 

งั้นคนดูจะได้อะไรจาก ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’

ก็ได้ผ่อนคลาย ได้หย่อนตัวหย่อนใจไปกับซีรีส์เรื่องนึงที่เป็นชีวิตเด็กวัยรุ่น ที่บางคนอาจจะเคยสัมผัสหรือไม่เคยสัมผัส เป็นประสบการณ์ของคนอื่นที่เราจะได้ดู หรืออาจเป็นประสบการณ์ในอดีตของเราที่เราก็มีส่วนร่วมในประสบการณ์นั้นเหมือนกัน เราไม่เคยคิดเรื่องการสั่งสอนคนดูเลย ก็ให้เป็นที่หย่อนตัวหย่อนใจแล้วกันค่ะ เหมือนดูตลกคาเฟ่

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า