fbpx

MyWaWa จากกงสีโรงพิมพ์สู่ B2B ครบวงจรที่เติบโตหลักพันล้านภายใน 8 เดือน

เราเดินทางมาที่นิวไวเต็ก โรงพิมพ์อายุ 65 ปีย่านสี่พระยา ตามคำเทียบเชิญของกร เธียรนุกุล ทายาทรุ่นสามของโรงพิมพ์แห่งนี้

แต่เราไม่ได้มาคุยกับเขาเรื่องโรงพิมพ์ หากว่าหัวเรื่องหลักคือเรื่องธุรกิจใหม่ที่ถูก Trasformation จากโรงพิมพ์สู่บริษัทเต็มรูปแบบอย่าง MyWaWa และ Business-to-Business เต็มตัว ซึ่งเริ่มต้นจากการ “บีบ”​ ให้เปลี่ยนจากฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไปของธุรกิจสิ่งพิมพ์

กรบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการ “รับน้องโหด” หลังจากที่เขามานั่งแท่นบริหารงานในฐานะทายาทได้เพียงไม่นาน

จากนั้นสารพัดไอเดียเพื่อเปลี่ยนทิศทางลมให้ธุรกิจ 3 รุ่นยังอยู่รอดได้จึงเกิดขึ้น กรศึกษา เรียนรู้ และลองผิดลองถูกผ่านการลงมือทำหลายๆ ไอเดียที่ต่อยอดจากธุรกิจโรงพิมพ์ที่เป็นสารตั้งต้นและรากเหง้าของเขา ตั้งแต่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เขาปิ๊งไอเดียต่อยอดเป็น Business-to-Business Marketplace และนำไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และการเงินเต็มรูปแบบ ที่มีเป้าหมายคือ การทำให้ MyWaWa เป็นที่รู้จักไปสู่ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรบอกเราอีกว่า มันคือวิถีของการเปลี่ยนธุรกิจเดิมสู่บริษัทเทคโนโลยีเต็มตัว

และเชื่อมั้ยว่า ต้นทางการพัฒนาธุรกิจจริงๆ เริ่มตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว

เท่ากับว่า MyWaWa ใช้เวลาไม่ถึงปีเท่านั้น และตัวแพลตฟอร์ม MyWaWa มียอดการซื้อขายผ่านหลัก 1,500 ล้านบาทไปแล้ว!

ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในโรงพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้

การรับน้องโหดที่ทำให้อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม

จากชีวิตของเด็กหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย และกำลังจะเตรียมตัวไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ธุรกิจโรงพิมพ์ต้องเปลี่ยนมือกะทันหัน กรจึงต้องมาช่วยที่บ้านบริหารโรงพิมพ์ต่อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ลมของการเปลี่ยนแปลงค่อยๆ พัดพาให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลงจนทำให้คู่ค้าค่อยๆ ลดความสำคัญของธุรกิจโรงพิมพ์ลง

“วันแรกที่ผมเข้ามาก็เจอกับลูกค้ารายใหญ่ท่านหนึ่ง ก็ไปแนะนำตัวว่ามาแทนคุณน้าที่เสียชีวิตไป ก็โดนรับน้องเลย เขาเป็นคนต่างชาติ บอกว่าเรามีข่าวร้ายจะบอก ก็คืองบประมาณการตลาดไม่ได้ลดลงแต่ว่างาน Commercial เนี่ยงบลดลงเลย เหลือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้ว 80 เปอร์เซ็นต์เทไปที่ออนไลน์เลย ตอนนั้นเราก็รู้เลยว่าธุรกิจที่เป็น Commercial Printing ไปไม่รอด แล้วก็แบบนี้ทุกรายที่เราไปเจอในช่วงปีนั้น ที่ได้กลับเข้ามาทำธุรกิจที่บ้าน” 

กรเห็นท่าไม่ดีจึงเริ่มหาทางหนีทีไล่ในการประยุกต์และต่อยอดธุรกิจออกไป โดยยังคงพื้นฐานของการทำงานในโรงพิมพ์ ซึ่งในใจของกรมี 3 ตัวเลือกอยู่ในมือคือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ที่เน้นด้านความปลอดภัยหรือ Security Printing

แต่กรตัดสินใจเลือกตัวเลือกสุดท้ายที่เขามองเห็นการต่อยอดจากสองตัวเลือกแรก

“ตอนนั้นก็ไปเจอเพื่อนหลายๆ คนที่กำลังจบมาเหมือนกัน แล้วช่วงนั้นคาเฟ่ฮิต จะเปิดร้านกาแฟ ร้านเค้ก เขาก็ติดต่อมาถามเรื่องพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ซึ่งตอนนั้นเราก็เลยรู้ว่า เฮ้ย หลายๆ คนที่อยู่ข้างนอกเขาไม่เข้าใจว่าโรงพิมพ์มันมีหลายแบบ แล้วก็การค้นหาโรงงานพวกนี้สมัยก่อนไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ หลายๆ โรงพิมพ์ยังไม่มีเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ว่าคนรุ่นใหม่เขาเลือกที่จะใช้โลกออนไลน์ในการค้นหา ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าที่อาจจะใช้วิธีถามคนรู้จัก ตอนนั้นก็เลยปิ๊งไอเดียว่าเราน่าจะทำเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมอุตสาหกรรมไว้ในที่เดียวกัน”

ทำเรื่องใหม่ที่ใครก็ไม่เข้าใจ (แม้กระทั่งคนที่บ้าน)

เมื่อได้ไอเดียมาแล้ว กรเลยวางแผนและต่อยอดมันจนเป็นแพลตฟอร์ม B2B e-Marketplace ในชื่อ Wawa Pack ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งรวมเอาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดมาอยู่ในหน้าเว็บไซต์เดียว โดยกรมีแต้มต่อจากการอยู่ในสมาคมการพิมพ์ไทย ที่รวมผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ในที่เดียว จึงก่อให้เกิดการรวมตัวได้ง่ายขึ้น บวกกับคุณพ่อของกรที่กว้างขวางในวงการนี้ จึงทำให้สินค้าใน Wawa Pack หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว

แต่ปัญหาสำคัญคือ ด้วยความที่กรอยู่ในธุรกิจกงสี การเปลี่ยนทิศทางทำเงินที่คนรุ่นเก่าไม่เข้าใจ ทำให้ที่บ้านไม่กล้าลงทุนอะไรกับ Wawa Pack เลย

และไม่เข้าใจเลยด้วยว่ากรกำลังทำอะไรอยู่

“เขาไม่รู้จักว่าคืออะไร แล้วก็ถามว่า จะทำได้จริงเหรอ จะสำเร็จไหม แถมลงทุนเนี่ยลงทุนเป็นอากาศ คือสำหรับคนรุ่นเก่า การลงทุนกับเครื่องจักรมันจับต้องได้ เขารู้ว่ามันมีเครื่องจักรขายออกได้ ขายเป็นเศษเหล็กได้ แต่พอเป็นแพลตฟอร์มมันไม่เหมือนกัน แพลตฟอร์มมันสามารถหายไปได้เลย แล้วถ้าเกิดเราต้องการเปลี่ยนทีเดียว มันเปลี่ยนทั้งหมดเลย มันไม่มีอันเดิมที่เอาไว้ขายได้ เพราะงั้นเราเลยได้เงินลงทุนมาไม่เยอะ” กรพูดถึงปัญหาที่ต้องเผชิญเมื่ออธิบายความเป็น Wawa Pack ให้ที่บ้านฟัง

เมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่ให้เงิน กรเลยหาทางพิสูจน์โมเดลธุรกิจนี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น กรจึงเริ่มพาโปรเจคต์ในมือเข้าโครงการ Pitching เพื่อหาเงินทุนและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

“โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้คนเชื่อถือเรา เชื่อว่าไอเดียของเรามันเป็นอะไรที่จับต้องได้นะ ตอนนั้นก็เลยแอบไป Pitching ไอเดีย Wawa Pack ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ตอนนั้นเว็บไซต์ก็ยังไม่เลิศหรูขนาดนั้น และยังมีสินค้าไม่เยอะมาก แต่เราอยากลองไอเดียเราว่าวิสัยทัศน์เราเนี่ยจะมีคนยอมรับไหม ก็ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมา ก็เอาแผ่นป้ายรางวัลนั้นกลับมาที่บ้าน เพราะคิดว่า คิดว่า เฮ้ย พอเราเป็นลูกหลานเนี่ย เขาอาจจะไม่เชื่อเรา แต่พอมีคนข้างนอกยอมรับเนี่ยเขาก็เริ่มเชื่อถือมากขึ้น ตอนนั้นก็ไปล่ารางวัลเหมือน Startup เลย เวทีไหนเราก็ไปเพื่อจะเรียนรู้ว่า Startup มันทำอย่างไร ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีและได้รับรางวัลมาบ้าง รางวัลเหล่านั้นเนี่ยเป็นตัวที่บอกว่าไอเดียเรามีคนเชื่อถือ”

นอกจากรางวัลแล้ว เครื่องการันตีไอเดียของกรและ Wawa Pack อีกอย่างคือ ยอดสินค้าในแพลตฟอร์มพุ่งสูงถึง 3,000 ชิ้น นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เป้าหมายไกลๆ จากกระดาษแผ่นเดียว

ในช่วงของการ Pitching และเวิร์กช็อปเพื่อทำความเข้าใจโมเดลธุรกิจ ย่อมมีกระดาษแผ่นหนึ่งที่ผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และรุ่นเก๋าต้องได้เขียน นั่นคือ Business Model Canvas (BMC) หรือแผนธุรกิจ ซึ่งกรได้เขียนมันครั้งแรกในงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เขาบอกเราว่า มันมีประโยชน์กับการก่อร่างสร้างธุรกิจนี้มากๆ

“ตอนที่รู้จัก BMC ครั้งแรก ผมรู้จักที่ผมไปกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนี่แหละ 3 วันนั้นเขาสอนเลยว่าต้องทำ ขนาดผมจบ BBA จุฬาฯ (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเวิร์ก แต่สำคัญที่สุดคือ มันจะช่วยเป็นตัวเริ่มต้นว่าสิ่งที่เราจะไปคือทางไหน แล้วเรามีอะไรอยู่ในมือบ้าง หรือความสามารถเหนือคู่แข่งของเราคืออะไร อันนั้นคือสิ่งที่เราเรียนรู้ แต่ว่าตัวตั้งต้นมันก็เป็นการบอกว่าวิสัยทัศน์คือเราคืออะไร ใน 3-5 ปีข้างหน้า มันบอกโร้ดแมปเรา แต่ว่าในตอนที่เราเดินจริงๆ มันก็ต้องมีซ้ายขวา ขึ้นลงบ้าง มันต้องยืดหยุ่นได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมเรียนตอนที่เราทำแล้วก็เดินมาถึงจุดนี้”

“แล้วปลายทางของการเขียนแผนธุรกิจ คุณเห็นอะไรบ้าง” เราถามต่อ

“เราเห็นโอกาส เพราะที่อเมริกา ยุโรป จีนมีแพลตฟอร์ม E-Commerce แบบนี้หมดแล้ว แต่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มี แล้วตลาดมันใหญ่มาก แล้วต้องบอกว่าเราเป็นประเทศพัฒนาในมุมมองนี้ แต่ว่า E-commerce ตอนนั้นที่ผมเห็นคือ โครงสร้างพื้นฐานที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันยังไม่มีเท่าไหร่ เราก็ต้องรีบจับจองก่อน 

“สิ่งที่ผมเจอคือ Food Safety กับ Power Safety ในสมัยก่อนผมมองว่าเป็นตัวบ่งบอกเศรษฐกิจของประเทศเลย เพราะถ้าเกิดขาดสองตัวนี้ไปเศรษฐกิจพังแน่ๆ แต่ปัจจุบันมันมีอันที่สามคือ Data Safety สิ่งที่เราเห็นคือว่าแพลตฟอร์มมือถือแต่ละแพลตฟอร์ม ถ้าไม่ใช่ของธนาคาร ที่เหลือจะเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศทั้งนั้นเลย 

“สิ่งที่ผมเห็นคือสมัยก่อนที่มีแอป E-Commerce เริ่มมา สินค้าของคนไทยเต็มเลย แต่ตอนนี้เริ่มเห็นว่ามันมีสินค้าของจีนมา กลายเป็นว่าพอค้นหาคำว่า กล่องกระดาษ ขึ้นมาอันดับหนึ่งเลยคือสินค้าจากจีน ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าไม่ได้ เราต้องทำ Data Safety ของประเทศไทย ก็เลยเริ่มศึกษาว่าในต่างประเทศเนี่ย เทคโนโลยีทำให้เศรษฐกิจมันโต เพราะฉะนั้นเราต้องมีของเราบ้างในการที่จะปกป้องเศรษฐกิจและข้อมูลของคนไทย และสุดท้าย ทำอย่างไรให้ SME คนไทยสามารถในแพลตฟอร์มเราแล้วไปโตที่ต่างประเทศได้ เราก็มองแล้วไปหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ว่าอยากให้ SME ไทยโตด้วยแพลตฟอร์มเราบ้าง เราก็รวมทีมคนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันแล้วมาทำตรงนี้” กรเล่า

เรื่องท้าทายที่กรขยายความให้เราฟังเพิ่มคือ คนยังไม่คุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม E-Marketplace แบบ Business-to-Business มากนัก เพราะมีการแข่งขันที่สูง มีความซับซ้อน ความน่าเชื่อถือเลยกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับกร แต่ข้อสำคัญที่ทำให้อุปสรรคลดน้อยถอยลงคือแบรนด์ Wawa Pack ที่เป็นประวัติการันตีว่าแพลตฟอร์ม E-Marketplace จะทำให้ธุรกิจง่ายขึ้นกว่าเดิม

ฟอร์มทีมเพื่อการเปลี่ยนแปลง

หลังจากสำรวจความเป็นไปได้และลู่ทางของธุรกิจแล้ว สิ่งที่กรทำต่อคือ การขยายทีมและหาผู้ร่วมก่อตั้งหรือ Co-Founder ซึ่งใช้เวลาอยู่นานกว่าจะหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ “คลิก” กันพอดี โดยกรบอกว่า พาร์ทเนอร์ที่เขาต้องการ ฝีมือกับวิสัยทัศน์ต้องไปด้วยกัน

และเมื่อเห็นความเป็นไปได้ที่มากขึ้น กรเลยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโรงพิมพ์ให้กลายเป็น Holding Company เต็มรูปแบบ โดยแกนสำคัญยังอยู่บนพื้นฐานของระบบ E-Marketplace ที่มีความท้าทายอย่างมาก

“เพราะคนที่เป็นรุ่นเก่าเขาคิดว่าการลงแพลตฟอร์มออนไลน์มีดาบสองคม ข้อดีคือเราสามารถเข้าถึงทุกคนได้ ข้อเสียคือเราต้องแก้ผ้า คือทุกคนเห็นหมดเลย เราไม่สามารถตรวจสอบคนที่มาดูได้ว่าเป็นคู่แข่งเราไหม เขาสามารถมาเจาะได้เลยว่าคุณมีอะไร ทำอะไรอยู่ นี่คือความท้าทายที่เราเจอ เมื่อเราเปิดตัวแล้วเราต้องวิ่งออกไปให้เร็วที่สุด เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะไม่ก๊อปปี้เรา พูดตรงๆ เราเองยังไปศึกษาจากต่างประเทศเลย ฉะนั้นการที่ผมมาสัมภาษณ์ตรงนี้ก็เป็นการแก้ผ้าเหมือนกัน แต่เราก็ต้องมั่นใจว่าเราวิ่งได้ไกลว่าคนอื่นเขา ความเร็วคือปัจจัยสำคัญ”

“แล้วคุณเห็นอะไรจากการที่ต่างคนต่างโป๊” เราถามต่อ

“เห็นว่าธุรกิจนี้เร็วกว่าที่คิด (หัวเราะ) มันไม่เหมือนกับทำโรงพิมพ์ที่มันต้องมีเครื่องจักร มีพื้นที่ แล้วผมเชื่อว่าทุกคนใช้หลักการเดียวกันหมดคือ Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward มันคือหลักการที่ผมเรียนรู้เลย Fail Fast คือ ล้มให้เร็ว เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำผิดตรงไหน Fail Cheap คือ ล้มให้ราคาถูก ลองก็ลองแต่การทดลองทุกอย่างต้อง Cheap (ราคาถูก) ไม่ใช่ว่าลงทุนหมดหน้าตักแล้วมันเจ๊ง สุดท้ายคือ Fail Forward แปลว่า ล้มไปข้างหน้า หรือเอาสิ่งที่ล้มเหลวมาเป็นบทเรียนแล้วพัฒนาฟังก์ชั่นหรือ Feature ใหม่เรื่อยๆ คิดว่าทุกคนใช้หลักการนี้ อยู่ที่ว่าใครเร็วกว่ากัน”

ความท้าทายอีกเรื่องที่กรต้องเผชิญคือ การค้นหาผู้ประกอบการมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กรเลือกเป็นธงหลักคือ ทัพยากรต้องพร้อม มีวิสัยทัศน์ และต้องมั่นใจว่า E-Commerce จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้จริงๆ 

“เราต้องทำให้เขาเห็นว่าการที่เขาขึ้นแพลตฟอร์มเรามันสร้างโอกาสการขายให้คุณจริง มาพร้อมเรื่องของการตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อเข้ามาแล้วติดต่อผู้ขายได้จริง ปิดการขายได้จริง เพราะฉะนั้นต้องมาพร้อมกับตัวเลขว่าปิดการขายได้จริงไหม มันเปิดตลาดให้ Supplier จริงไหม คุณใช้แพลตฟอร์มของเราได้เลยเพราะเราเป็นดิจิทัล ถ้าเกิดลูกค้ามีมือถือและอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเห็นสินค้าได้เลยผ่านช่องทางออนไลน์ อันนี้คือสิ่งที่เราทำแล้วทำได้จริง เพราะเขาสามารถเปิดตลาดใหม่ได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราทำ เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์พูดได้หมด แต่สิ่งที่สำคัญคือผลลัพธ์ที่คุณบอกลูกค้าไว้ คุณทำได้จริงหรือเปล่า” กรอธิบาย

ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 ปี

อย่างที่เราเกริ่นไปในช่วงต้นว่ากรทำ MyWaWaในเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปี แต่มียอดขายรวมแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท และการที่กรเห็นตัวเลขที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น นั่นก็ค่อยๆ สะท้อนถึงการวางแผนและความพยายามที่มีต่อ MyWaWa

กรจึงต่อยอดบริการอื่นๆ ที่จะสอดรับกับ MyWaWa ที่เป็น e-Marketplace ที่เป็นเรือธงสำคัญทั้งบริการชำระเงินของตัวเองอย่าง WawaPay และระบบขนส่ง เพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในร่ม Wawa Group เดียวกัน

เพราะกรเห็นว่าการที่ MyWaWa จะครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยให้ได้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำ

“มันเติบโตเร็วกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ แต่เราจะพยายามไม่ให้โตเร็วมาก อันนี้คือสิ่งที่เรากังวลเพราะสำหรับ B2B แล้วการที่โตเร็วไป ความปลอดภัยมันอาจจะตกลง ในโร้ดแมป 3-5 ปีข้างหน้าก็ยังเป็นตามต้องการ ตอนนี้ยังขาดในส่วนของการขนส่ง ตรงที่ว่ามีการซื้อขายก็จริงแต่การขนส่งมันไปไม่ถึงทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เราก็เลยมาทุ่มในส่วนของโลจิสติกส์ ภายใน 3 ปีเราต้องครอบคลุมทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราจะไป” 

โร้ดแมปของกรไปสุดถึงขนาดที่เขาอยากเป็นแพลตฟอร์ม B2B แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากให้ Wawa Group สร้างยอดการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มมูลค่าเท่ากับ 1 เปอร์เซนต์ของ GDP รวมของประเทศไทย

บทเรียนจากการเปลี่ยนแปลง

เมื่อกลับมาพูดถึงครอบครัวที่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงธุรกิจที่เคยหล่อเลี้ยงตระกูลมาถึง 3 รุ่น ถึงแม้กรจะโดนที่บ้านบ่นหรือตั้งคำถามในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่กรสรุปถึงผลของการขับเคลื่อน MyWaWa จากครอบครัวว่า ถ้าไม่โดนด่าถือว่าใช้ได้ (ฮา)

“แต่ว่าเสียดายนะ จริงๆ เราก็มีที่ดิน 16 ไร่อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ เรามีที่ตรงนั้นอยู่ ก็เคยวาดฝันว่าจะไปทำที่นู่น ให้มันเป็นอาณาจักรแบบที่คนอื่นเขาทำ แต่พอมาทางนี้แล้วมันก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเติบโตเหมือนกัน 

“ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Infinite Game ของคุณ Simon Sinek เขาพูดถึงการที่เราจะอยู่ในเกมต่อไปได้ เราต้องยืดหยุ่นในตัวตนของเรา คือชื่อนิวไวเต็กของเราก็ยังคงอยู่ WaWa Group เองก็เป็นตัวแทนของนิวไวเต็กเหมือนกัน แต่ตัวเราเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้ทำงานพิมพ์แล้ว แต่มาทำบริษัทเทคโนโลยี ชื่อยังอยู่แค่ตัวตนมันเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง” 

เคสของกรและ MyWaWa จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่คงเค้าเดิมของธุรกิจแรกไว้ จากการที่กรได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายๆ สำนักรวมถึง Modernist จึงเป็นโอกาสดีที่กรได้ถอดบทเรียนของตัวเอง เพื่อส่งต่อให้กับทายาทธุรกิจคนอื่นๆ ด้วย

“ผมรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น ตอนที่ไปสัมภาษณ์ออกสื่อผ่านเว็บไซต์หรือเพจต่างๆ ก็มีคนไปเจอ เขามาขอบคุณเราที่มาเล่าเรื่องราวให้ฟัง มันเหมือนเราได้สร้างความดีอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เจอปัญหานี้เยอะมากคือ อยากช่วยที่บ้านนะแต่ว่าธุรกิจอาจจะไปยาก อยากจะเปลี่ยนแปลงที่บ้านแต่ก็ทำไม่ได้ ผมก็เอาประสบการณ์นี้มาเล่าว่าคุณทำได้ มันมีวิธี แต่ว่าการสื่อสารสำคัญที่สุด ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าเราจะทำอะไร แต่มันก็ต้องมีผลลัพธ์ให้เขาดูด้วย อาจจะเริ่มจากความสำเร็จเล็กๆ ก่อน แล้วเขาก็จะเห็นเอง”

กรเสริมว่า การทำธุรกิจไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องตั้งโร้ดแมปให้ชัดเจน และรู้จักยืดหยุ่นพร้อมกับรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ก่อนจากกันเราถามคำถามสุดท้ายกับคู่สนทนาตรงหน้าว่า MyWaWa มีวันนี้ได้เพราะอะไร

“มันมีประโยคที่ผมชอบพูดแล้วคนชอบ คือ MyWaWa ไม่ได้มาจากโรงรถ แต่มาจากโรงพิมพ์ แล้วผมมาจากประวัติศาสตร์ 65 ปีที่เราเอาประสบการณ์ทั้งหมดใช้ เกิดเป็นธุรกิจใหม่ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์เหมือนสตาร์ทอัพหลายๆ คน แต่เรามาจากราก 65 ปี มาเปลี่ยนตัวเองเป็นธุรกิจนี้” กรตอบคำถามของเรา

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า