fbpx

เปิดยอดคนใช้รถไฟฟ้า MRT ทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

รถไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เชื่อมการเดินทางระหว่างใจกลางเมืองไปยังพื้นที่ชานเมืองที่สำคัญๆ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางและลดเวลาในการเดินทางได้มากขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในรถไฟฟ้าสายสำคัญของคนกรุงเทพและปริมณฑลนั่นก็คือ “รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” ที่เจ้าของสัมปทานคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และผู้ได้รับสิทธิ์ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) นั่นเอง

ในช่วงที่ผ่านมาจากสถานการณ์การปิดเมือง หรือ Lockdown และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างที่หลายคนทราบกัน ส่วนหนึ่งทำให้ประชาชนจำเป็นต้องอยู่บ้านทำงานหรือเรียนหนังสือเป็นหลัก อันส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งวันนี้ทีมข่าว Modernist มีรายละเอียดของข้อมูลมาฝากกัน

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยอดต่ำสุดที่ 78,000 คน/วัน!

จากรูปภาพ หากเราเปรียบเทียบระหว่างปี 2562-2564 จะพบว่าผู้โดยสารที่ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในช่วง 6 เดือนแรกของแต่ละปีโดยเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่หลัก 300,000 คน/วันในช่วงปี 2562 ซึ่งบางเดือนสามารถแตะปริมาณสูงสุดต่อวันอยู่ที่ 330,000 คน/วันเลยทีเดียว จนมาถึงช่วงเดือนมกราคมของปี 2563 ยังทำสถิติสูงสุดของ 6 เดือนแรกในปีนั้นอยู่ที่เกือบ 400,000 คน/วัน

หากแต่การเริ่มมาตรการ Lockdown ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กลับทำให้สถิติผู้ใช้รถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันลดลง จากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่จำนวน 367,300 คน/วัน ลดฮวบเป็น 237,955 คน/วัน เท่ากับลดลงเกือบ 100,000 คน/วันเลยทีเดียว และส่งผลต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายนที่ลดลงเหลือเพียง 78,489 คน/วัน ถือได้ว่าลดลงมากกว่า 150,000 คน/วันเลยทีเดียว จนค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาในเดือนมิถุนายน 2563

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ กลับพบว่าจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันในช่วงเดือนเมษายน 2564 ยังคงลดลงต่อเนื่องจาก 272,601 คน/วัน ในเดือนมีนาคม 2564 เหลือเพียง 146,869 คน/วันในเดือนเมษายน 2564 หรือลดลงถึงเกือบ 130,000 คน/วัน และลดลงสูงสุดของปีที่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่เหลือเพียง 90,346 คน/วัน ก่อนที่จะฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน 2564 ที่จำนวนกลับมาที่ 120,934 คน/วัน

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ยอดลดต่ำสุดเหลือเพียง 14,640 คน/วัน!

รถไฟฟ้าอีกเส้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการเชื่อมต่อจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเข้าสู่รถไฟฟ้าอีกเส้นหนึ่งที่สำคัญดั่งที่เรารายงานกันไปแล้ว นั่นก็คือรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และจ้างวานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ในการเดินรถไฟฟ้า

ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ยังส่งผลทำให้คนไทยงดเดินทางออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้จำนวนผู้เดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฉลี่ยต่อวันลดลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าดูจำนวนผู้เดินทางในรอบ 6 เดือนแรกของแต่ละปีจะพบว่าจำนวนผู้โดยสารได้ลดลงตามมาตรการการปิดเมืองหรือการ Lockdown ของภาครัฐนั่นเอง

โดยจากเดิมในปี 2562 พบว่า 3 เดือนแรกของปีจะพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันในแต่ละเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 คน/วัน และจะลดลงในเดือนเมษายนเล็กน้อย เนื่องจากคนออกไปท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ปริมาณเฉลี่ยต่อวันลดลงเล็กน้อย และกลับมาอยู่ที่ปริมาณระดับ 50,000 คน/วันในเดือนพฤษภาคม 2562

ในขณะที่ปี 2563 จะพบว่ายอดผู้ใช้บริการที่มากที่สุดจะอยู่ในเดือนมกราคม อยู่ที่ 58,961 คน/วัน ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลังจากการปิดเมืองหรือการ Lockdown ในเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลทำให้เดือนเมษายน 2563 มีผู้คนใช้รถไฟฟ้าโดยเฉลี่ยต่อวันลดลงจากเดิม 39,601 คน/วัน เหลือเพียง 14,640 คน/วันเท่านั้น ลดลงมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว และยอดเริ่มกลับมาในเดือนพฤษภาคม 2563

ในขณะที่ปี 2564 ยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มกลับมาอยู่ที่ระดับ 30,000 คน/วัน แต่เมื่อมีการ Lockdown ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้เดือนพฤษภาคม 2564 ยอดผู้ใช้บริการลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 16,832 คน/วันเท่านั้น และเดือนมิถุนายน 2564 เริ่มกลับมาที่ยอด 22,000 คน/วัน

แน่นอนว่าตัวเลขนี้นอกจากสะท้อนการเดินทางโดยรถไฟฟ้าของคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังคงให้ความร่วมมือในการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ในทุกๆ ครั้งที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เพราะคำกล่าวอ้างหรือคำขู่ของรัฐ เพียงแต่เราทุกคนต่างไม่มีใครอยากติดเชื้อโควิด-19 นั่นเอง ในอีกแง่หนึ่งการปิดเมืองหรือการ Lockdown ยังสะท้อนให้เห็นว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืนของรัฐบาล ซึ่งการปิดเมืองนอกจากจะต้องคำนึงเรื่องสุขภาพแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้นและยาวตามลำดับด้วยเช่นกัน

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า