‘เธอกับฉันกับฉัน’ – มรสุมชีวิต ‘วัยแรกแย้ม’ ยุค Y2K

ครั้งแรกที่ได้รู้จัก ‘เธอกับฉันกับฉัน’ เราคาดหวังว่ามันคงจะเป็นเรื่องราวที่อบอวลไปด้วยความรัก รสชาติที่ได้คงจะหวานๆ นุ่มๆ ทานง่าย ไม่เลี่ยน ตามสไตล์หนังวัยรุ่นปั๊ปปี้เลิฟทั่วๆ ไป ซึ่งไทม์ไลน์ของเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในช่วงยุค Y2K ที่กำลังกลับมาเป็นกระแสนิยมอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่หลังจากเราได้เข้าไปชมเนื้อหาเต็มๆ เรากลับพบว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเดียว และด้านเดียวของหนังจากตัวอย่างที่เราได้เห็นๆ กัน

‘เธอกับฉันกับฉัน’ เล่าเรื่องผ่านแว่นชีวิต ‘ยู’ และ ‘มี’ ฝาแฝดหญิงชั้น ม.3 ที่กำลังเจอมรสุมชีวิตมากมายในเวลาเดียวกันช่วงปิดเทอม และจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ด้วยกัน

จริงๆ ตัวหนังมันก็แค่นี้เลย หากแต่มรสุมชีวิตมากมายในระยะเวลาปิดเทอมของพวกเธอนั้นมากมายเกินจะคาดเดา และหากเกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆ ในวัยราวๆ 14-15 ปี เราคงจะทำอารมณ์กับตัวเองไม่ทันเหมือนกัน

ครอบครัวร้านฉาน, ขวบปีที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ปี 2000 แห่งความไม่แน่นอนของอนาคตอันใกล้, ประจำเดือนมาครั้งแรกในชีวิต, ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว, ชีวิตแฝดที่ตัวติดกันตลอดเวลา แต่ต้องค่อยๆ ห่างออกจากกันเพราะมีผู้ชายเข้ามาในชีวิต

ความไม่เหมือนเดิมในชีวิตตัวละครผู้หญิง 2 คน ซึ่งถูกกำกับผ่านมุมมองของผู้กำกับหญิงแฝด 2 คนอีกเช่นกัน ยิ่งทำให้รายละเอียดรายทางเต็มไปด้วยความเป็นผู้หญิง ความยิบย่อย ความอิจฉาเล็กๆ น้อยๆ หรือความว้าวุ่นภายในใจตัวละครที่ส่งออกมาผ่านคำว่า ‘ไม่รู้’ ของตัวละคร ที่กำลังเจอกับหลายสิ่งที่รับรู้แหละว่าต้องเผชิญหน้า แต่ก็หาวิธีจัดการ หรือหาหนทางการตัดสินใจกับสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นความ ‘แน่นอน’ ภายในจิตใจไม่ได้สักที

ทำให้ตลอดเรื่องราวเราต้องค่อยๆ ไล่ตามอารมณ์ของยู มี และหมากให้ทัน แม้ว่าจะมีบางช่วงที่ดรามากระชากอารมณ์ไวไปหน่อย มุมหนึ่งก็เข้าใจได้ อาจเป็นเพราะอารมณ์วัยรุ่นมันสวิงไปสวิงมาอย่างนั้น เลยเอามาสะท้อนถึงความสวิงของเนื้อหาการเล่า (แซว) ซึ่งก็มีบางมุมที่ทำให้เราสงสัยได้ไม่ต่างกันตัวละคร แทนที่จะเข้าใจในทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ซึ่งเรามองว่าความคลุมเครือของเรื่องตรงนี้ถูกสะท้อนออกมาหาผู้ชมได้อย่างชัดเจน จะเป็นเพราะยูกับมี มีกับหมาก หรือยูกับหมาก ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น

จนถึงเวลาที่ตัวละครต้องตัดสินใจ เราก็เลือกมองได้ในฐานะเด็กหญิงวัย 14-15 ปี ดังที่กล่าวไปข้างต้น ว่าพวกเขาจะเลือกเส้นทางแบบนี้ได้ก็ไม่แปลก และก็อาจจะเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดที่ตัวละครเลือกแล้วก็ได้

ตั้งแต่ต้นจนจบ มุมภาพขนาดกว้างทำให้เรามีอะไรให้เลือกมองเต็มไปหมด แม้ว่าจุดสนใจจริงๆ จะอยู่แค่บางส่วนของภาพ แต่ใจความจริงๆ ที่ครบถ้วนอาจจะเป็นบริบทรอบข้างที่กำลังปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันเสียมากกว่า

ซึ่งเรามองว่าเนื้อหาระหว่างทางก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เรื่องราวสอดแทรกไปด้วยหลากหลายประเด็นที่ประเดประดังมาพร้อมๆ กัน และมันอาจจะส่งผลกับความรู้สึกของเราในฐานะผู้ชมจริงๆ เมื่อหลังจากหนังจบแล้วเรากลับมาตกผลึกกับตัวเองถึงบริบทรอบข้างทั้งหมดภายในหนัง นอกเหนือจากประเด็นหลักที่ตัวหนังสื่อสารออกมา

จังหวะนี้แหละเราถึงจะได้คิดจริงๆ ว่า ‘เธอกับฉันกับฉัน’ กับ ‘เรา’ รู้สึกอย่างไรต่อกัน

(เพิ่มเติม)

ในฐานะคนชอบดูโทรทัศน์ และชื่นชอบการค้นคว้าโลกยุคนั้น ฉากไดโดมอน ตู้ไอศกรีมวอลล์เก่า และเสียงรายการทไวไลท์โชว์ทำเรารู้สึกว้าว และอิ่มเอมได้จริงๆ

Content Creator