Monday Blues : ทำงานทุกวันแต่ทำไมเกลียดแค่ “วันจันทร์” ?

ถ้าแค่นึกถึงประโยคที่ว่า “พรุ่งนี้วันจันทร์” แล้วก็หดหู่ขึ้นมา โปรดรู้ไว้ว่า คุณอาจจะกำลังอยู่ในภาวะ Monday Blues ภาวะทางจิตใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะยาว

หลายคนน่าจะเคยรู้สึกหรือมีอาการไม่อยากไปทำงานโดยเฉพาะวันจันทร์ วันเริ่มต้นการทำงานวันแรกของสัปดาห์ ซึ่งอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้ มีชื่อเรียกว่า ภาวะ “Monday Blues” หรือ โรคเกลียดวันจันทร์ เป็นอาการของเหล่ามนุษย์เงินเดือน คนวัยทำงาน และวัยกลางคน สะท้อนถึงความเครียด ที่ต้องใช้ชีวิตวนลูปจำเจ ไม่รู้สึกอยากไปทำงานเพราะไม่อยากไปเจองานที่น่าเบื่อ

อาการเหล่านี้สามารถพบได้ในเหล่ามนุษย์เงินเดือน หรือ มนุษย์ออฟฟิศ ที่จะเจอกับอาการนี้เป็นพิเศษมากกว่าคนที่ทำงานในรูปแบบอื่นๆ ชื่ออาการถึงจะดูไม่ร้ายแรงอะไร แต่อาการ Monday Blues นั้นสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายและการทำงานมากกว่าที่คิด

Monday Blues คืออะไร ?

Monday Blues หรือ โรคเกลียดวันจันทร์ เป็นอาการด้านลบของคนที่ไม่มีความสุขกับวันจันทร์ รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากตื่นไปทำงานในวันจันทร์ที่จะมาถึง แค่นึกถึงวันจันทร์ก็จะรู้สึกเศร้า เหนื่อยล้า เพราะทำให้ไปนึกถึงงานกองโตที่รออยู่หลังหยุดพักร่างกายในวันหยุดที่ผ่านมา จนนำไปสู่การหมดไฟ ขาดความมั่นใจ และการเบื่อหน่ายในการใช้ชีวิต

The Monday Blues เป็นความรู้สึกร่วมที่แพร่ระบาดไปทั่วสังคมการทำงาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่หลายๆคนก็จะต้องเจอกับอาการเหล่านี้ ถึงขนาดที่นิตยสารระดับโลกอย่าง Forbes ยกให้เป็น ปรากฏการณ์วัฒนธรรมระดับโลก (Cultural Phenomenon) เลยทีเดียว

แม้ว่าอาการ Monday Blues อาจไม่ใช่อาการป่วยทางการแพทย์ แต่ความรู้สึกหวาดกลัววันจันทร์สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องจริง ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการไม่มีความสุขในชีวิตของใครบางคน

ผลกระทบของอาการ Monday Blues มีอะไรบ้าง ?

Monday Blues ดูแล้วก็เป็นเหมือนแค่ความรู้สึกเกลียดวันจันทร์ แต่จริงๆแล้ว ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจได้ ดังนี้

  • ไม่สนุก ไม่มีความสุขในการทำงาน รู้สึกเบื่อหน่ายทุกครั้งเมื่อถึงวันจันทร์
  • ไม่มีแรงทำงาน จนนำไปสู่ความผิดพลาดในการทำงานแต่ละชิ้น
  • เริ่มรู้สึกไม่อยากคุย หรือ สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า จนไม่มีสังคมในที่ทำงาน
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะจิตใจไม่อยู่กับงาน
  • เฝ้ารอแต่วันหยุดหรือเวลาเลิกงาน มองนาฬิกาทั้งวัน 
  • นอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์ หรือไม่ยอมนอน เพราะอยากใช้เวลาวันอาทิตย์ให้ได้นานที่สุด
  • จิตใจเปราะบางขึ้น รู้สึกอ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ร้องไห้คนเดียว
  • เริ่มหงุดหงิดง่ายขึ้น อารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา
  • รู้สึกหมดไฟในการทำงาน ต้นเหตุสำคัญของการลาออก

นักจิตวิทยากล่าวว่า คนทำงานจะรู้สึกเครียดมากขึ้นในวันจันทร์ เพราะจิตใจเชื่อมโยงว่าวันจันทร์คือวันที่ต้องกลับไปทำงาน หลังจากได้หยุดพักผ่อนในวันหยุดที่ผ่านมา สอดคล้องกับผลการวิจัยของอังกฤษที่พบว่า การเข้าไปนั่งทำงานในออฟฟิศทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น (ฮอร์โมนแห่งความเครียด) ซึ่งการที่ฮอร์โมนนี้หลั่งออกมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น อาการนอนไม่หลับ หลับยากกว่าปกติ, มีอาการปวดเมื่อยตามตัว, ปวดหัวบ่อยขึ้น ซึ่งในระยะยาวอาการเหล่านี้อาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงร้ายแรงที่เกี่ยวกับร่างกายและจิตใจ

การรับมือกับ Monday Blues อาจช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตามหากความรู้สึกเหล่านี้เป็นสัญญาณของความทุกข์และความไม่พอใจ วิธีการเหล่านี้อาจใช้ได้ไม่นาน

การจัดการความเครียดสามารถช่วยลดการรับรู้ถึงความเครียดจากงานในวันจันทร์ได้ นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มอารมณ์ของแต่ละคนอาจช่วยจัดการกับ Monday Blues ได้

5 วิธีทำให้ตัวเองหายจาก “Monday Blues”

1.ปรับเวลาการเข้านอนให้เร็วขึ้น

“นกที่ตื่นเช้า สามารถจับได้มากกว่าแค่หนอน” เพื่อให้การตื่นเช้าเจ็บปวดน้อยลง ต้องเข้านอนก่อนเที่ยงคืน การนอนหลับ 8 ชั่วโมงถือเป็นการนอนหลับแบบมาตรฐาน ดังนั้นให้จดเวลาที่จำเป็นต้องตื่นนอนและลบแปดชั่วโมงเพื่อให้ได้เวลาที่คุณจำเป็นต้องนอนหลับ ตั้งนาฬิกาปลุกสำหรับเวลานอนและทำตามแผนที่วางไว้ แล้วจะเพลิดเพลินไปกับความรู้สึกที่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอทุกคืน

2.วางแผนรับมือกับวันจันทร์

เตรียมตัวรับมือกับวันจันทร์ด้วย “การวางแผนการทำงาน” หาปัญหาให้พบและจัดการวางแผน จะได้มีเวลาในการผ่อนคลายอารมณ์ ไม่เครียดจนเกินไป ควรจัดการงานที่อยู่ในแผนของอาทิตย์ถัดไปให้เสร็จเรียบร้อยภายในเย็นวันศุกร์ การจัดเวลาตารางงานให้ลงตัว จะช่วยสร้างระเบียบวินัยการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อเลี่ยงการที่ต้องนำงานกลับไปทำที่บ้าน หรือผลัดวันประวันพรุ่ง การที่รู้ว่ามีภาระงานรออยู่ในตอนเช้าวันจันทร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกลียดวันจันทร์

3.พักผ่อนให้มากในวันอาทิตย์

บางครั้งการพักผ่อนที่สุดเหวี่ยงเกินไป อาจจะยิ่งทำให้เหนื่อยมากกว่าเดิม การไปเที่ยวพักผ่อนนั้นดี แต่ควรวางแผนไว้บ้าง หากเป็นไปได้วันอาทิตย์ควรหยุดพักจริงๆ หรือหากิจกรรมที่ เบาๆ สบายๆ อยู่กับบ้าน เช่น ดูหนัง นอนพักผ่อน ไม่ต้องใช้ทั้งกายและสมองเลยดีที่สุด หากจำเป็นต้องไปข้างนอกให้เหลือช่วงเวลาพักผ่อน อย่ากลับดึกเกินไป

4.เขียนระบายออกมา

ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการเขียนระบาย ลองใช้เวลาก่อนมาทำงาน ตอนระหว่างนั่งรถ หรือก่อนนอนก็ได้ ลิสต์ปัญหาออกมา ว่าไม่ชอบวันจันทร์หรือวันที่ต้องไปทำงานเพราะอะไรบ้าง ลิสต์ปัญหาแล้วลองเขียนระบายความรู้สึกออกมา อาจจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น แล้วอย่าลืมเขียนทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราต้องไปต่อยังไง การเขียนระบายและหาทางแก้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและมีสติกับปัญหาที่จะถาโถมเข้ามาในวันทำงานมากขึ้นด้วย เรียกว่ารับมือได้อย่างมืออาชีพเลยทีเดียว

5.สร้างวันจันทร์ให้เป็นวันพิเศษ

เช่น วันจันทร์หลังเลิกงานจะเป็นวันชิว ๆ ของเรา คือการได้ไปเดินห้าง ช้อปปิ้ง หรือนัดแฟน นัดเพื่อนว่าทุกวันจันทร์เราจะได้กินชาบูหม้อใหญ่ ๆ  เดินตลาดเพื่อหาซื้อของกินแบบจัดเต็ม หรือ เป็นวันที่เราจะได้ทำบางสิ่งที่เราอยากทำก็ได้ สร้างความตื่นเต้นให้ตัวเอง อาจจะช่วยสะกดจิตใจตัวเองให้รักวันจันทร์ขึ้นมาบ้าง

Monday Blues เป็นเพียงภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หรือปัจจัยอย่างอื่นอีกมากมาย ภาวะนี้จะเกิดขึ้นน้อยลงถ้ารู้จักปรับทัศนคติ วิธีการคิดของตัวเราเอง พยายามคิดบวกเข้าไว้ การที่เรานึกถึงแต่เรื่องดี สามารถช่วยเป็นแรงผลักดันให้อยากมาทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ทางเราได้แนะนำไป ไม่สำคัญว่าจะทำตามทุกวิธีหรือเปล่า แต่สิ่งแรกคือการที่เราเริ่มสำรวจปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ลองดูว่าปัญหานั้นต้นเหตุมันเกิดมาจากอะไร และแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงบวกอยู่เสมอ

หวังว่าทุกท่านที่อ่านบทความนี้ หมดภาวะ Monday Blues นี้ไปไวๆ แล้วเริ่มต้นทำงานอย่างมีความสุขในทุกต้นสัปดาห์

อ้างอิง : medicalnewstoday / forbes / namely / thegrowthmaster / Future Trends / innnews

Content Creator