การจดบันทึกอยู่คู่กับมนุษยชาติมาช้านาน ก่อนที่กระดาษจะถือกำเนิดขึ้นมาบนพื้นพิภพด้วยซ้ำ นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) อย่างพวกเรา ต่างหลงใหลในเรื่องการจดบันทึกเรื่องราวมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ภาพวาดบนผนังถ้ำ เรื่อยมาจนถึงการสลักเสลาอักษร-สัญลักษณ์ลงบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์ และแปรเปลี่ยนมายังกระดาษ แฟลตฟอร์มบนโลกโซเชียล รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นและระบบคลาวด์ การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยของมนุษยชาติในหลายระลอกที่ควบคู่มากับวิวัฒนาการของการบันทึก มนุษย์เราไม่เคยห่างจากการบันทึก เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้บันทึกเท่านั้น
แม้เราจะหันมานิยมบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ หรือขีดเขียนข้อความมากมายกันบนโลกออนไลน์ แต่การจดบันทึกด้วยปากกาและสมุดโน้ตก็ยังคงมีเสน่ห์เฉพาะตัว มีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าการเขียนบันทึกด้วยปากกาและสมุดโน้ตช่วยเพิ่มศักยภาพในการจดจำ เพราะการจดด้วยมือทำให้เราค่อย ๆ ทบทวนสิ่งที่เขียนออกมาอย่างช้า ๆ นัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดระเบียบความคิดที่พรั่งพรูอยู่ในหัวให้เป็นระบบมากขึ้น
หลาย ๆ ครั้งการเขียนบันทึกยังเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยเยียวยาบางสิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจ อีกทั้งยังช่วยบ่มเพาะไอเดียที่กระจัดกระจาย ให้นำไปสู่การต่อยอดออกมาเป็นสิ่งต่าง ๆ โดยศิลปินระดับโลกและบุคคลมีชื่อเสียงหมายคนมักจะใช้สมุดบันทึกเป็นเครื่องมือที่สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็น เลดี้ กาก้า (Lady Gaga), แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol), ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) เช่นเดียวกับฟากมหาเศรษฐีอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) และ บิล เกตส์ (Bill Gates) ที่ต่างก็ใช้สมุดโน้ตบันทึกห้วงความคิดที่ล่องลอยให้ออกมาเป็นรูปธรรม
หากเราก้าวเข้าไปในร้านเครื่องเขียน เพื่อที่จะซื้อสมุดบันทึกสักเล่ม ณ มุมหนึ่งของร้าน จะพบสมุดบันทึกมากมายที่ถูกจัดเรียงอยู่บนชั้นให้เลือกสรร หลากดีไซน์ หลายยี่ห้อ เป็นดั่งสวรรค์ของเหล่าคนรักการจดบันทึก
ท่ามกลางสมุดโน้ตเรียงรายเหล่านี้ Moleskine (โมเลสกิน) แบรนด์สมุดโน้ตสุดคลาสสิกจากอิตาลี เป็นอีกแบรนด์ที่โดดเด่น แม้จะมีราคาแตะหลักพัน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายนับแต่เปิดตัวแบรนด์มาในปี 1997 ด้วยดีไซน์ปกแข็งสุดคลาสสิก มุมโค้งมน มีเฉดสีเรียบง่าย มาพร้อมสายรัดอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ข้างในสมุดมีลูกเล่นที่ออกแบบมาให้มีความพิเศษ และด้านหลังจะมีช่องใส่กระดาษโน้ตเล็ก ๆ หรือเอกสารเอาไว้ให้ ใช้การเย็บกระดาษเข้าด้วยกัน แทนการใช้กาวเหมือนสมุดโน้ตทั่วไป
แต่ความพิถีพิถันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้สมุดบันทึก Moleskine กลายเป็นที่นิยมของผู้คน แต่การกระโดดลงมาเล่นกับวัฒนธรรมป็อปอย่าง ภาพยนตร์ และการ์ตูน และนำเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับสมุดบันทึกเพื่อก้าวเป็นส่วนหนึ่งของโลกดิจิทัล ทำให้แบรนด์ Moleskine มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

แรงบันดาลใจจากนักเขียน สู่สมุดบันทึกระดับพรีเมียม
หากจะกล่าวถึงสมุดบันทึก Moleskine คงต้องเท้าความไปถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้สมุดโน้ตแบรนด์นี้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สมุดบันทึกปกหนัง ถูกผลิตและจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมากลายเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินและนักเขียนชื่อดัง ได้แก่ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh), พาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) สมุดบันทึกดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบรรดานักคิดนักเขียนเป็นอย่างมาก แม้กาลเวลาจะผ่านมายังปลายศตวรรษที่ 20
บรูซ แชตวิน (Bruce Chatwin) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งหลงใหลในสมุดบันทึกที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับสมุดบันทึกของเหล่าศิลปินนักเขียนก่อนหน้า ถึงขนาดเขียนบรรยายความรักที่มีต่อสมุดโน้ตลงไปในหนังสือเรื่อง The Songlines ในปี 1987 เอาไว้ว่าทุกครั้งที่มีโอกาสกลับไปปารีส เขาจะซื้อสมุดบันทึกปกหุ้มด้วยผ้าเคลือบน้ำมันทุกครั้ง จากร้านค้าที่ถนน Rue de l’Ancienne Comédie ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อเล่นให้กับสมุดโน้ตนี้ว่า Moleskine สมุดที่ บรูซ แชตวิน ชื่นชอบนี้ถูกผลิตโดยกิจการเล็ก ๆ ของครอบครัวหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองตูร์ ประเทศฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้นกิจการแห่งนี้ก็ได้ปิดตัวลง เนื่องจากเจ้าของได้เสียชีวิต ทำให้ บรูซ แชตวิน เสียใจเป็นอย่างมาก
ในปี 1994 เรื่องราวสมุดบันทึกที่ชื่อว่า Moleskine ของบรูซ แชตวิน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ มาเรีย เซเบรกอนดิ (Maria Sebregondi) หลังจากเธอได้รับโจทย์จากบริษัทออกแบบของอิตาลี Modo & Modo ให้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับนักเดินทางรุ่นใหม่ในขณะนั้น ที่นิยมออกเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศ หลังจากยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง

ที่มาภาพ: businessmagazin
เบื้องต้นบริษัทเสนอให้ มาเรีย ออกแบบเสื้อยืดโดยมีวรรคทองจากงานวรรณกรรมมาใช้เป็นสโลแกน แต่เธอปฏิเสธ เพราะมองว่าสินค้าที่ออกมาใหม่นั้นต้องมีความพิเศษมากกว่านั้น ต่อมาเมื่อเธอได้อ่านหนังสือของ บรูซ แชตวิน และไปสะดุดเข้าให้กับข้อความที่ บรูซ เขียนบรรยายความรักที่มีต่อสมุดบันทึก มาเรีย จึงฉุกคิดได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อเธอไปปารีสในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เธอเองก็เคยซื้อสมุดเล่มเดียวกันกับที่ บรูซ แชตวิน เคยซื้อ
“สมุดโน้ตเล่มเดียวกับที่ บรูซ แชตวิน ใช้ มีความแตกต่างจากสมุดบันทึกเล่มอื่น ๆ มีความเรียบง่าย ที่ผสมผสานไปด้วยกลิ่นอายลึกลับ มันมีสุนทรียะบางอย่างที่ทำให้ฉันนึกถึงอดีต และเสริมจินตนาการให้รู้สึกเหมือนฉันกำลังนั่งเขียนบทกวีลงบนสมุดบันทึกเล่มนี้บนท้องถนนของปารีส” มาเรีย เซเบรกอนดิ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ Financial Times
และนั่นเองคือความคิดที่จะทำสินค้าเป็นสมุดโน้ตที่ใกล้เคียงกับสมุดที่บรรดานักเขียนและศิลปินเคยใช้ ให้กับบริษัทที่ต้องการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักอิสรภาพในการเดินทาง ให้พวกเขาได้บันทึกประสบการณ์และความประทับใจระหว่างออกไปท่องโลก และตัดสินใจที่จะนำชื่อ Moleskine มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ เนื่องจากตอบโจทย์บริษัทที่ต้องการให้สินค้ามีกลิ่นอายของความเป็นวรรณกรรมแฝงอยู่ จากนั้นสมุดโน้ต Moleskine ก็ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขึ้นในปี 1996 และวางจำหน่ายในปีถัดมา
สมุดบันทึกเล่มแรกของ Moleskine เป็นสมุดปกดำเรียบง่าย ตัดมุมให้โค้งมน เสริมที่คั่นด้วยริบบิ้น ด้านหลังปกมีช่องกระดาษใส่เอกสาร วางขายครั้งแรกที่ร้านหนังสือในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบริษัท ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างแบรนด์ระดับตำนาน ด้วยการมุ่งพัฒนาและทำการตลาดสมุดโน้ตให้มีความสอดคล้องไปกับ ‘วัฒนธรรม’ ‘จินตนาการ’ ‘ความทรงจำ’ ‘การเดินทาง’ และ ‘อัตลักษณ์ส่วนบุคคล’

กระโจนใส่วัฒนธรรมป็อป ด้วย Collaboration Marketing
การทำให้สินค้าธรรมดา ๆ อย่างสมุดบันทึก กลายเป็นของที่มีราคาแพงขึ้นมาและมีกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้ออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แน่นอนว่าการใช้วัสดุคุณภาพในการผลิตและการดีไซน์รูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกให้โดดเด่นเป็นสิ่งที่ยืนพื้นอยู่แล้ว แต่สิ่งทำให้ Moleskine มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือการกระโดดลงมาเล่นกับวัฒนธรรมป็อปอย่างภาพยนตร์ และการ์ตูน เช่น ในปี 2010 มีการร่วมมือกับบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูน Peanuts หรือที่เรารู้จักกันดีคือเจ้า Snoopy และผองเพื่อน ในวาระครบรอบ 60 ปีของการ์ตูน Peanuts โดยไม่เพียงแต่นำตัวละครมาขึ้นปกเฉย ๆ แต่ภายในสมุดบันทึกจะมีคำคมที่สร้างแรงบันดาลใจจากตัวละคร มีภาพแผนภูมิตัวละครในจักรวาล Peanuts พร้อม ๆ ไปกับสอดแทรกเรื่องราวของแบรนด์ Moleskine ทำให้ Moleskine ได้ฐานลูกค้าเพิ่มจากแฟนพันธุ์แท้ของการ์ตูน Peanuts ซึ่งมีฐานลูกค้าแข็งแกร่งอยู่แล้วจากการที่การ์ตูนเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์มากกว่า 2,200 ฉบับใน 75 ประเทศ และ 21 ภาษา อีกทั้งยังถูกผลิตเป็นการ์ตูนและปรากฏตามสิ่อต่าง ๆ อีกมากมาย

นอกจาก Peanuts แล้ว Moleskine ยังทำ Collaboration Marketing ร่วมกับตัวการ์ตูนอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Hello Kitty, Doraemon, Moomin ภาพยนตร์อย่าง Star Wars, The Wizard of Oz, Harry Potter ไปจนถึงวงดนตรีคลาสสิกอย่าง The Beatles และวรรณกรรมที่คนรักกันค่อนโลกอย่างเจ้าชายน้อย หรือ Le Pettit Prince โดยออกมาเป็นสมุดบันทึกฉบับ Themed limited edition

การจับมือร่วมกับแบรนด์เหล่านี้ของ Moleskine เป็นสิ่งที่ชาญฉลาดอย่างมาก เพราะตัวละครเหล่านี้ล้วนเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของผู้คนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปอยู่แล้ว การเปิดตัว Themed limited edition แต่ละครั้งจึงได้รับความสนใจไปโดยปริยาย และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ไปในตัว สำหรับกรณีของ Moleskine ถือเป็นการตอกย้ำถึงตัวตนของแบรนด์ในการเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ซึ่งโมเดลการทำ Collaboration Marketing ลักษณะนี้เป็นยังคงเป็นที่นิยมของแบรนด์ดังหลายแบรนด์ เช่น บริษัทของเล่นอย่าง Lego และ Mattel
เสริมความแข็งแกร่งด้วยนวัตกรรม และก้าวต่อไปของ Moleskine
ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจสิ่งพิมพ์กับโลกดิจิทัล ดูเหมือนจะเป็นลิ้นกับฟันที่มักจะกระทบกันตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงแรกที่โลกโซเชียลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แฟลตฟอร์มมากมายผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ผู้คนหันไปสร้างบทสนทนาและบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงบนโลกเสมือน เรื่องนี้ มาเรีย เซเบรกอนดิ ผู้ก่อตั้ง Moleskine ได้เปิดเผยเอาไว้ว่า ช่วงที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล อุตสาหกรรมกระดาษได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ห้วงเวลานั้นทุกคนครุ่นคิดกันอย่างหนักถึงทางรอดของแบรนด์ จนกระทั่งในปี 2011 Moleskine ได้ร่วมมือกับ Evernote นำเทคโนโลยีมาใช้ ที่เปลี่ยนให้การจดบันทึกบนสมุดโน้ต การสเก็ตช์ภาพ แปลงขึ้นไปอยู่บนแอปพลิเคชั่น Evernote จากนั้นในปี 2016 Moleskine เล่นใหญ่อีกครั้ง คราวนี้เพิ่มฟังก์ชั่นปากกา Pen+ เป็นนวัตกรรมที่เมื่อเขียนลงบนสมุดของ Moleskine ตัวอักษรและรูปภาพจะไปปรากฏบนแท็บเล็ต บนแอปพลิเคชั่น MOLSEKINE NOTES ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ได้สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมากในการจับโลกออฟไลน์และออนไลน์มาชนกัน
อย่างไรก็ตามการที่โลกก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ Moleskine ยังคงเชื่อมั่นในพลังของกระดาษ โดยดาเนียลา ริกคาร์ดี (Daniela Riccardi) CEO Moleskine เปิดเผยกับเว็บไซต์ Retaildive ว่ากระดาษจะไม่มีวันหายไปไหนทั้งนั้น
“ฉันมองว่าสมุดโน้ตเปรียบเสมือกับเพื่อนของโลกดิจิทัล สามารถใช้ควบคู่กันไปได้ ซึ่งการเขียนผ่านสมุดโน้ตด้วยลายมือ การสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอ การทดความคิดเราเอาไว้ผ่านปากกาผ่านลายเส้นขยุกขยิก เป็นสิ่งที่สะท้อนความอัจฉริยะและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้มากที่สุด” ดาเนียลา กล่าว

ที่มาภาพ: vanityfair
ดาเนียลายังกล่าวต่อว่า ลูกค้าปัจจุบันของ Moleskine ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรุ่น Millennials ก้าวต่อไปของแบรนด์ก็คือต้องพยายามดึงคนกลุ่มรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล ให้เห็นคุณค่าของการจดบันทึกลงบนสมุดโน้ต ดังที่คนรุ่นก่อนหน้าให้ความสำคัญ ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจมากขึ้น ใน 3 ด้านคือ ศิลปิน, พิพิธภัณฑ์ และแบรนด์ชื่อดัง เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ต่าง ๆ ให้เข้ากับตัวตนของ Moleskine ซึ่งเปิดโอกาสให้ Moleskine นำไปสู่การขยายแบรนด์สินค้าให้นอกเหนือไปจากสมุดโน้ต และในอนาคต Moleskine จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้การเชื่อมโยงระหว่างการจดบันทึกภาพสมุดโน้ตสอดประสานกับแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างแนบสนิทมากขึ้น ซึ่งดาเนียลาเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตของคน Gen Z
ขอบคุณข้อมูล : notedinstyle / THE FINANCIAL TIMES / retaildive / hrnote.asia / forbes / downthetubes