fbpx

คุยกับ ‘มิ้งค์-ไหม’ สองนักจัดนิทรรศการจาก River City Bangkok

เวลาดูงานศิลปะ คุณเห็นอะไร?

เห็นความสวยงามและเรื่องราวที่ศิลปินพยายามถ่ายทอด

เห็นฝีมือที่ผ่านการเคี่ยวกรำฝึกฝน ผ่านฝีแปรงที่ปัดไปมาบนผืนผ้าใบ

หรือเห็นฉากหลังอันสวยงาม ที่ควรค่าต่อการบันทึกภาพเอาไว้

แต่ไม่ว่ามุมมองของคุณจะเป็นแบบไหน หรือความเข้าใจของคุณจะเป็นอย่างไร เราเชื่ออย่างยิ่งว่างานศิลปะแต่ละชิ้นมีคุณค่า และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสเรื่องราวของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งมันอาจเข้าถึงยาก บางครั้งมันอาจสร้างความสงสัย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์อันดีที่คุณได้รับเวลาดูงานศิลปะ 

แต่จะดีกว่าไหม หากมีสถานที่และกลุ่มคนซึ่งทำให้ศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ภายใต้แนวคิดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ซึ่งเป็นความพยายามของทีมงาน River City Bangkok กับการพาทุกคนท่องไปในโลกของศิลปะและประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ตามองเห็น

มิ้งค์ พรินทรา – Project Coordinator และ ไหม มนัญชยา Event and Exhibition Supervisor จาก River City Bangkok จะพาเราไปทำความเข้าใจบทบาท จนถึงขั้นตอนการทำงานกับศิลปิน ภายใต้แนวคิดนี้

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

การสร้างสรรค์ผลงาน โดยปราศจากฝีมือและไร้จิตวิญญาณ ไม่เรียกว่าศิลปะ
– เลโอนาร์โด ดา วินชี 

“พวกเราเป็นหอศิลป์แบบ Contemporary Art เน้นการซัพพอร์ตศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติ” คือคำจำกัดความคร่าวๆ ที่พี่ไหมอธิบายแนวคิดและการทำงานของหอศิลป์ให้เราฟัง 

เดิมทีศูนย์การค้า River City Bangkok เกิดขึ้นจากความสนใจในศิลปะและโบราณวัตถุของ คุณอดิศร จรณะจิตต์ อดีตซีอีโอแห่งกลุ่มบริษัทอิตัลไทย ครั้งไปเที่ยวดูตลาดค้าของเก่าในกรุงปารีสขณะเดินทางในยุโรป โดยแรกเริ่มมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ พร้อมทั้งจัดการประมูลแลกเปลี่ยนของสะสมภายใต้ชื่อ RCB Auctions ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 36 ในปีนี้ เรียกว่าเป็นมิตรแท้ในวงการนักสะสมไทยมาอย่างยาวนาน 

แต่ความชอบของคุณอดิศร ไม่ได้หยุดที่ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุเพียงอย่างเดียว River City Bangkok จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นหอศิลป์ภายใต้การดูแลของ คุณยุทธชัย จรณะจิตต์ ที่มีพื้นที่ในการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยและมัลติมีเดีย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น นอกจากแนวคิดในการเพิ่มพื้นที่ศิลปะเพื่อตอบโจทย์คนอายุน้อยลงแล้ว แนวทางในการทำงานของ ที่นี่ยังแตกต่างจากการจัดนิทรรศการศิลปะที่อื่นอีกด้วย 

มิ้งค์: เราพยายามทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ทำให้คนดูมีส่วนร่วม คือโดยปกติเวลาที่เราไปดูนิทรรศการที่อื่น บางที่เขาจะมีแค่ภาพเฉยๆ แต่เราน่ะนอกจากจะเป็นคนทำงานแกลเลอรีแล้ว ยังเป็นคนที่ชอบดูหนัง ดูสื่อต่างๆ ด้วย เราเลยรู้สึกว่าจะทำยังไงให้คนที่มาดูนิทรรศการ มีประสบการณ์ในการมาชมงานที่ดีที่สุด 

ไหม: คนปกติชอบคิดว่าศิลปะเป็นอะไรที่เข้าถึงยาก แต่ที่นี่เราพยายามย่อยความยากนั้นให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนั้นถ้าคุณมาดูงานที่ River City Bangkok คุณก็จะเข้าใจนิทรรศการที่นี่มากกว่าที่อื่น 

เพราะศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน พี่มิ้งค์และพี่ไหมเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการการคิด เพื่อจัดนิทรรศการแต่ละชิ้น ว่าทีมงานพยายามให้ผู้ชมมีส่วมร่วมด้วยการใช้สื่อแบบมัลติมีเดีย บนความรู้สึกว่านิทรรศการของพวกเขาต้องไม่ใช่แค่สวย แต่จับต้องได้ 

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ River City Bangkok มีนิทรรศการที่โดดเด่นดึงใจผู้ชมทุกเพศทุกวัยที่ชอบเสพงานศิลปะ คือ Van Gogh Life and Art และ From Monet to Kandinsky ด้วยการสร้างประสบการณ์ร่วมในการชมงาน พร้อม แสง สี เสียง ที่สอดแทรกข้อมูลและความเข้าใจในตัวศิลปินเอาไว้เต็มเปี่ยม เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้แง่ลึกเบื้องหลังการทำงาน ทั้งยังสามารถสนุกกับการถ่ายภาพ และมีความสุขกับการชมนิทรรศการไปพร้อมกัน

ไหม: เพราะเราเน้นข้อมูลเป็นสำคัญ เราอยากให้คุณได้อะไรที่มากกว่าความสวยงาม อยากให้เข้าใจความเป็นตัวตนของเขา การทำงาน แง่มุมของชีวิต ไปจนถึงเบื้องหลังความคิดในการสร้างงานแต่ละชิ้น ในแง่ของเทคนิคมันอาจจะไม่ได้ดูน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ในแง่ประสบการณ์ที่คุณได้สัมผัส เราเชื่อว่าที่นี่ให้คุณได้ทั้งความสนุกและความเข้าใจจริงๆ

หากผู้คนรับรู้ว่าผมทำงานหนักแค่ไหน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเชี่ยวชาญ มันคงไม่วิเศษอีกต่อไป 
– มิเกลันเจโล 

อย่างที่พี่ๆ บอกเราว่าพวกเขาพยายามอย่างยิ่ง เพื่อให้นิทรรศการออกมาเข้าถึงคนดูมากที่สุด เบื้องหลังนิทรรศการแสนสวยที่สร้างความสุขนี้ คือการทำงานและการค้นข้อมูลอย่างหนักของทีมงาน แต่ความยากยิ่งกว่าการจัดงานคือการตัดสินใจเลือกศิลปิน 

ไหม: ต้องดูว่าศิลปินคนไหนเข้าตาเราที่สุด ทั้งด้านผลงานและแฟนคลับ เราเลือกกันเยอะมาก พอเลือกแล้วต้องมาคิดต่อด้วยนะ ว่าผลงานที่จะจัดแสดงต้องไปในทิศทางไหนต่อ

เพราะคนดูคือหลักสำคัญ การเลือกศิลปินภายใต้ข้อกำหนดและความสนใจของคนดูเป็นเสมือนความท้าทาย รวมทั้งกระแสของสังคมและความสนใจในช่วงนั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จและทิศทางของนิทรรศการ 

พอฟังมาถึงตรงนี้เราก็เริ่มเห็นความซับซ้อนในกระบวนการคิดของทีมงาน

ความลำบากของการเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความต้องการของศิลปิน ไปยังผู้ชมซึ่งอาจจะมีหรือไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจมากนัก ทั้งยังต้องทำออกมาให้เข้าใจง่าย ความยากนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ระยะเวลาการทำงานของทั้งคู่เพิ่มขึ้นไม่รู้จบ ‘ทำงานวนไป’ คงไม่ใช่คำที่เกินจริงนัก 

ศิลปินไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ดีที่สุดคือให้เขาทำงานตามสัญชาตญาณ และวาดภาพอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต่างจากการเดินหรือหายใจ 
– เอมิล นอลเดอ

“พี่ต้องคิดเรื่องคอนเซปต์ร่วมกับศิลปินนะ” เราค่อนข้างตกใจกับการทำงานของพี่มิ้งค์ ในขณะที่อธิบายกระบวนการทำงานให้ฟัง เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเข้าใจเหมือนเราว่า ‘ผู้สร้างสรรค์งานย่อมเข้าใจงานของตนเองมากที่สุด’ แต่สิ่งที่พี่มิ้งค์อธิบายเหนือความคาดหมายของเราไปมาก 

มิ้งค์: บางทีศิลปินอาจจะเรียบเรียงไม่ค่อยเก่ง เขามีจุดเด่น มีงานที่ต้องการนำเสนอ เขาจะเล่าให้เราฟังว่างานของเขาเป็นแบบไหน เราในฐานะคนที่อยู่ฝั่งคนดู ก็จะเสนอจุดเด่นของศิลปินที่คิดว่าน่าสนใจ คุณเอาประเด็นนี้ขึ้นมามั้ย แล้วเอามาผสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ถ้าเสนอแนวทางนี้น่าจะถูกใจทั้งคนดูและสื่อนะ เหมือนทำงานร่วมกันนั่นแหละ แต่เราคิดในแง่นี้แทนเพื่อช่วยพัฒนาสิ่งที่เขามีให้ดีขึ้น คือเราหาตรงกลางให้กับศิลปิน ส่วนศิลปินก็จะทำหน้าที่ผลิตงานที่ดีที่สุดออกมา

ไหม: นอกจากคอนเซปต์แล้วเราก็ช่วยตรงส่วนเทคนิคในการติดตั้งงานด้วย เช่น แขวนภาพยังไงให้ไม่แน่น สบายตา แสงสีที่ผนังกับรูปก็มีความเกี่ยวข้องกัน หรือบาง Artwork ที่หนักมากต้องความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษเราก็จัดการให้ เรียกว่าเป็นการทำงานเพื่อความพอใจของทั้งสองฝ่าย แต่บางทีก็งานหนักมากเลย (หัวเราะ) แถมระยะเวลายังยาวนานมาก เราต้องเผื่อเวลาให้ศิลปินได้สร้างผลงานด้วย 

พี่ๆ ยกตัวอย่างการทำงานกับ คุณพีระ โองาวา (Pira Ogawa)  ศิลปินผู้ชนะ popular vote ของงาน Bangkok Illustration Fair ในวัย 75 ปี ซึ่งไม่เคยมีผลงานจัดแสดงเป็นนิทรรศการมาก่อน 

ทีมงาน River City Bangkok รู้สึกประทับใจในเรื่องราวเบื้องหลังการวาดรูปของคุณพีระที่เริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะภาพเป็นเครื่องมือสร้างความสุขแม้ในวันที่ทุกข์ คอนเซปต์ของนิทรรศการจึงออกมาเป็น Around the Clock –  24 ชั่วโมงที่ทำงานไม่เคยหยุดพัก เพื่อสื่อให้ผู้ชมได้เห็นความพยายามของศิลปินท่านหนึ่ง ที่ใช้เวลานานหลายปี ในการทำสิ่งที่ตนรัก ด้วยแรงสนับสนุนของครอบครัวและคนรอบข้างทำให้เขาประสบความสำเร็จ 

มิ้งค์: เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่หมดไฟ บางคนทำงานมา 10 ปี ยังไม่มีอะไรเป็นอย่างที่หวัง แต่พอทุกคนได้ดูนิทรรศการของคุณพีระ รู้เรื่องราวความพยายามและการต่อสู้ของเขา เราเชื่อว่าบางคนจะมีความหวังในการทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงต่อไป คุณพีระมีนิทรรศการเป็นของตัวเองครั้งแรกในวัย 75 เราเชื่อว่าแค่คุณพยายาม ไม่ว่าอะไรก็เป็นไปได้แล้วล่ะ 

ศิลปะไม่ได้สร้างจากสิ่งที่เรามองเห็น แต่เป็นศิลปะต่างหากที่เปิดมุมมองของเราต่อโลก 
– พอล คลี 

ในแต่ละปี River City Bangkok จะมีการจัดนิทรรศการแบบ Major Exhibition ที่เป็นงานใหญ่ประจำปี โดยย้อนกลับไปปีที่แล้ว (2020) คือนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art นิทรรศการระดับโลกที่จัดแสดงผลงานออริจินัลของศิลปินถึง 128 ชิ้น ภายใต้การวางแผนงานมากกว่า 2 ปี

และในปี 2021 นี้ นิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดรวมทั้งเป็น Major Exhibition ของหอศิลป์ คือ นิทรรศการภาพถ่าย 365° ของศิลปินและช่างภาพชื่อดังอย่างคุณ Eugenio Recuenco ภายใต้การนำเสนอเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จากทุกวงการของทุกที่รอบโลก ตลอดระยะเวลา 50 ปี 

มิ้งค์: เป็นนิทรรศการที่เข้าไปแล้วเหมือนได้เห็นโลกทั้งใบ เป็นนิทรรศการที่ไม่ว่าคุณจะสนใจ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ กีฬา หนัง คุณก็สามารถสนุกกับนิทรรศการนี้ได้ เพราะแต่ละภาพคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งในวงการศิลปะและเหตุการณ์สำคัญของโลก ตั้งแต่การเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของ Apollo 11 ไปจนถึงภาพ Bedroom in Arles ของ Van Gogh เล่าผ่านมุมมองของศิลปินที่แปลกใหม่ เรียกว่าเป็นนิทรรศการที่เปิดโลกทัศน์มากๆ ค่ะ ที่สำคัญผู้ชมสามารถถ่ายรูปและมีส่วนร่วมได้ 

ภาพถ่าย 369 ภาพ กับการจัดองค์ประกอบด้านในเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง ทำให้ทีมงานรู้สึกตื่นเต้นเสมอ พี่มิ้งค์และพี่ไหมอธิบายให้เราฟังว่า การวางแผนจัดนิทรรศการนี้ใช้เวลามากกว่านิทรรศการอื่นๆ เพราะทีมงานต้องทำการบ้านและหาข้อมูลเบื้องหลังแนวความคิดในแต่ละภาพ ก่อนจะย่อยมาเป็นข้อมูลสั้นๆเพื่อให้ผู้ชมอ่านได้สนุกและรู้เรื่องราวอย่างถูกต้อง นอกจากส่วนของรีเสิร์ชที่ว่าหนักมากแล้ว โครงสร้างและการติดตั้งก็เป็นปัญหาไม่แพ้กัน

ไหม: ถ้าคุณมาเดินที่นิทรรศการนะ คุณจะเห็นว่าเราทำ Installation เพื่อให้ผู้เข้าชมมีส่วนรวมและมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพที่สนุกมากขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ที่นิทรรศการนี้ไปจัดแสดง (จีน,ปารีส, ไต้หวัน, ลอนดอน) ไม่ได้ทำแบบเราเลย ส่วนนี้ก็มาจากการหาข้อมูลแล้วมากางคุยกันนั่นแหละ ว่าภาพไหนน่าสนใจ ที่สำคัญจะสร้างได้จริงมั้ย จะปลอดภัยหรือเปล่า ก็ต้องคิดทั้งหมด

การขนส่งภาพจำนวน 369 ภาพข้ามทวีปจากประเทศสเปนมาสู่ไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขั้นตอนการติดตั้ง lightbox ด้วยขนาด 1.2 x 1.3 เมตร นั้นสร้างความลำบากกว่า พี่ไหมเล่าว่าแต่ละห้องจะต้องมีการดีไซน์การวางกล่องเพื่อให้คนดูมองแล้วสบายตามากที่สุด ไฟจะต้องไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป ระยะเวลาในการติดตั้งต่อกล่องอยู่ที่ 10 – 20 นาที กว่าจะครบทั้งหมดก็ใช้เวลาไปมากแล้ว 

ไหม: ติดตั้งยากแล้ว แต่ installation ทั้ง 11 อันที่อยู่ในนิทรรศการคือเปลี่ยนเยอะกว่า เราแก้กันเยอะมากกว่าจะได้ทั้ง 11 ภาพนั้นออกมา โดยเฉพาะอันที่ได้รับความนิยมและทำยากที่สุดอย่าง Morning Sun ออกแบบมุมแสงเพื่อให้เหมือนภาพจริงนานมาก แต่นั่นแหละค่ะเพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการถ่ายรูป ทำค่ะ ยากแค่ไหนก็จะทำ (หัวเราะ) 

‘พูดถึงภาพ Morning Sun ภาพในงานไม่ค่อยเหมือนภาพจริงเท่าไหร่นะคะ’ เราถามพี่ๆ ทั้งสองคนออกไป 

มิ้งค์: เพราะภาพต้นฉบับผู้หญิงในรูปไม่ได้ถือโทรศัพท์ไว้เซลฟี่น่ะ แต่ศิลปินเพิ่มตรงจุดนี้เข้าไปเพื่อให้มันเหมาะกับบริบทสังคมปัจจุบัน มันคือวัฒนธรรมการเซลฟี่และความเหงาในโลกของโซเชียล เราว่าจุดนี้แหละคือจุดเด่นมากๆ ของนิทรรศการ 

 เรามองว่าภาพวาดหรืองานศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ออกมาแล้ว ไม่ได้เป็นงานของเขาคนเดียว คนดูมีสิทธิ์ที่จะตีความเพิ่มเติม interpretation ของคนดู เป็นมุมมองที่อยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แม้แต่คุณยูจินิโอเองก็ตีความในมุมมองของเขา นี่ต่างหากคืองานศิลปะ

ไหม: ทุกครั้งที่คุณดูงานของศิลปิน คุณจะได้อะไรบางอย่างกลับไปเสมอ ตัวศิลปินอาจจะตีความหลายๆ อย่างไม่เหมือนกับเราเลย แต่ไม่มีใครมาตัดสินหรอกว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันผิด นี่ล่ะคือสเน่ห์ของงานศิลปะ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ศิลปะยังมีอยู่ในทุกวันนี้ บางงานที่มีการเสียดสีความจริงของสังคมในช่วงนั้น เรามองว่าเป็นการลดช่องว่างและขับเคลื่อนให้ศิลปะไปแทรกอยู่ในชีวิตคนด้วยซ้ำ

ถ้าคำพูดสามารถถ่ายทอดทุกความรู้สึก คงไม่มีเหตุผลที่ผมจะวาดภาพ
– เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์

เพราะการเปิดโอกาสให้ศิลปินได้ทำสิ่งที่ถนัด คือหัวใจหลักในการสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ แต่ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้คนเข้าใจเนื้อหาของนิทรรศการโดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ River City Bangkok จึงพยายามคิดหาวิธีถ่ายทอดในรูปแบบของคำพูดจนเกิดเป็นโครงการ Call for Volunteer ขึ้นมา 

จากการสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้ง 40 คน เพื่อให้ได้ 10 คนสุดท้าย ซึ่งมีความรู้ในทุกวงการและมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่แง่มุมของศิลปะไปจนถึงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากผู้ชม 

มิ้งค์: จริงๆ แนวคิดนี้เราทำมานานแล้วนะ ตั้งแต่ช่วงนิทรรศการ The Impressionists คือเรารู้สึกว่าอ่านยังไงก็ไม่เท่ามีคนเล่าให้ฟังหรอก ยิ่งพอเป็นนิทรรศการ 365 ที่เนื้อหาต่อรูปมันเยอะมาก คนไม่มีทางอ่านหมดแน่ เราเลยลองประกาศหาคนที่อยากมาทำตรงนี้ดู พอเขาได้มาทำแล้วเขามีความสุข เราก็ดีใจที่เจอคนมีความชอบเหมือนเรา แถมมีมุมมองต่องานที่ทำให้เราว้าวด้วย แบบไม่เคยคิดถึงมุมนี้มาก่อน

ไหม: มันเหมือนการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานหลัก คุณนึกภาพว่าคุณได้มาเจอกับคนที่มีความชอบร่วมกัน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีแต่พลังงานดีๆ ให้แก่กัน มันดีต่อใจเรามากจริงๆ อีกอย่างคือมุมมองของอาสาสมัครบางคนต่องานก็ช่วยเปิดโลกทางความคิดของเรานะ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย พวกเราเองก็ต้องพัฒนาต่อเหมือนกัน

ศิลปะเป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้าย เพื่อคงไว้ซึ่งความรู้สึกก่อนแตกสลาย
– โดโรเธีย แทนนิง

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเลวร้ายสำหรับหอศิลป์และแกลเลอรีทั่วโลก ทุกที่ถูกบังคับให้ปรับตัวเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด แต่ในวันที่ความแน่นอนและการจัดการยังไม่ชัดเจน River City Bangkok สามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้

ไหม: จริงๆ มันยากมากเพราะเราจัดการอะไรไม่ได้เลย เราต้องตามข่าวตลอด 

มิ้งค์: เป็นข้อดีของพวกเราที่เลือกจะปรับตัวตลอดเวลา เรียนรู้ที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ เราทำรีเสิร์ชตลอดเวลาว่าต่างประเทศเขาทำอะไร ปรับตัวกันยังไง แล้วศักยภาพเราทำได้มั้ย ถ้าทำได้ก็ทำเลย

จากการหาข้อมูลการปรับตัวของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในต่างประเทศ พี่มิ้งค์และพี่ไหมเล่าว่า วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการทำ Virtual Event แบบออนไลน์ เพราะคนไม่สามารถออกมาดูงานในสถานที่จริงได้ การทำให้เขามีส่วนร่วมในงานศิลปะ แม้เป็นเพียงแค่ตาเห็นก็อาจช่วยให้คนมีความสุขขึ้น

ไหม: ถามว่าทดแทนของจริงได้มั้ย มันไม่ได้หรอก ยังไงของจริงก็ดีที่สุด เวลาคุณมายืนดูงานจริงๆ คุณไม่ได้ดูแค่รูป คุณเห็นเทคนิค เห็นฝีแปรงของเขา ได้เห็นบรรยากาศรายล้อมตัวคุณ มันไม่เหมือนกันเลย ความสวยงามนี่อาจจะใกล้เคียงกันนะ แต่ในแง่การจับต้องยังไงก็เทียบกันไม่ได้ แต่เราเลือกทำแบบนี้เพราะนอกจากมันจะช่วยให้คนได้เสพงานศิลปะบ้างแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงบางอย่างที่หอศิลป์ต้องแบกรับ

มิ้งค์: เรามีการทำ รายการศิลปะ 365° องศา ส่วนหนึ่งเพื่อหล่อเลี้ยงกระแสของนิทรรศการเอาไว้ และอีกส่วนคือ เราอยากให้อาสาสมัครทุกคนได้ใช้ความสามารถที่เขามีอย่างเต็มที่ ถ้าคุณอยู่บ้านคุณหดหู่ไม่รู้จะทำอะไร คุณมาฟังรายการเรา มาดูนิทรรศการของเรา นอกจากช่วยให้ทุกคนได้ทำสิ่งที่อยากทำแล้ว ยังหล่อเลี้ยงนิทรรศการได้อีกด้วย

ในอดีตการทำงานศิลปะในไทย เป็นเหมือนการแบกความเสี่ยงที่ทีมงานและ Art Exhibitors ทั่วประเทศต่างเห็นตรงกัน เพราะนอกจากคุณจะต้องสนับสนุนศิลปิน เพื่อให้เขาสามารถขับเคลื่อนวงการศิลปะไปข้างหน้าแล้ว เหล่าทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังยังต้องหล่อเลี้ยงกระแสเพื่อให้คนภายนอกสนใจ และอยากส่งเสริมงานนั้นๆ ด้วย

ไหม: แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ยากขนาดนั้นแล้วล่ะ เพราะทิศทางของศิลปะในไทยมันก้าวไปข้างหน้าเยอะมาก ทั้งในแง่คนที่สนใจและตัวศิลปินเอง ยกตัวอย่างงาน Portrait Prize เป็นงานแข่งวาดภาพที่เราได้เห็นข้อดีของวงการศิลปะไทยในหลายด้านเลย เห็นการทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเจ้าของทั้ง 178 ภาพที่ส่งเข้ามา เห็นอายุของนักสะสมที่น้อยลงแต่เห็นคุณค่าของงานมากขึ้น ดังนั้นทิศทางของศิลปะในไทยต้องดีขึ้นแน่นอนตามลำดับ

เพราะทิศทางของศิลปะที่มีการพัฒนา ทำให้ศิลปะอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น พี่มิ้งค์มองว่าโดยปกติศิลปะเป็นเสมือนเครื่องเยียวยาจิตใจของคนอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ซึ่งส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ ศิลปะยิ่งมีบทบาทในการช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้คนเพื่อสู้กับความเจ็บป่วยไม่ว่ากายหรือใจ 

มิ้งค์: ยิ่งช่วงโควิด คนยิ่งสนใจอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจิตใจ ของนอกกายมันกลายเป็นวัตถุจริงๆ ไปเลย จิตใจสำคัญกว่า ศิลปินบางคนที่ไม่มีโอกาสได้สร้างงานเลยในสถานการณ์ปกติ ช่วงนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำสิ่งที่เขารัก หรือแม้แต่คุณทุกคนเอง ถ้าอยากลดความเครียดลองมาทำงานศิลปะดูสักชิ้นนะคะ เชื่อเถอะว่ามัน heal our soul จริงๆ 

สุดท้ายนี้ทางหอศิลป์ได้ฝากนิทรรศการและกิจกรรมดีๆ เพื่อเยียวยาจิตใจของทุกคนในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ โดยหวังว่ามันจะช่วยให้ทุกคนให้มีความสุขและได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ 

“นอกจากนิทรรศการที่สร้างแรงบันดาลใจอย่าง Around the Clock ของคุณ พีระ โองาวา แล้ว ช่วงนี้เรายังมี Portrait Prize ด้วยนะคะ มาช่วยกันซัพพอร์ตศิลปินที่คุณชอบด้วยการอุดหนุนผลงานของเขากัน แต่ที่สำคัญที่สุด ขอฝากนิทรรศการ  365° เอาไว้ ทีมงาน River City Bangkok ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ใช้ทุกอย่างในการทำนิทรรศการชิ้นนี้แล้ว เราเองก็ตอบไม่ได้ว่านิทรรศการแบบนี้จะมีมาอีกเมื่อไหร่ แต่เราพามันเดินทางไกลมาจากสเปนถึงไทย มาอยู่ที่ River City Bangkok แล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้มาดูกันค่ะ งานจัดถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้ พร้อมราคาบัตรถูกแสนถูกและโปรโมชันสุดพิเศษ เพราะเราอยากให้ทุกคนได้มาดูจริงๆ ค่ะ ไม่ว่าคุณจะชอบอะไร คุณจะหาสิ่งที่ชอบร่วมกันกับคนอื่นในนิทรรศการนี้ได้แน่นอน อย่าลืมมาร่วม #unboxing365 กันเยอะๆ นะคะ” 

– มิ้งค์ พรินทรา, ไหม มนัญชยา River City Bangkok –

ติดตามอัพเดทนิทรรศการศิลปะและอีเว้นต์ที่น่าสนใจได้ที่
www.rivercitybangkok.com
Facebook: River City Bangkok
Instagram: rivercitycontemporary
#rivercitycontemporary #rivercitybangkok

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า