“มหาดไทย” สำคัญไฉน ทำไมนักการเมืองไทยต่างหมายปอง

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับมหกรรมแบ่งเค้กกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาล “นิด 1” เศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงเกรด A อย่างมหาดไทยตกอยู่ใต้เงาของพรรคภูมิใจไทย เรียกว่าเดินไปไหน มท.1 – มท.3 ล้วนเดินคับกระทรวงคลองหลอด กลายเป็นที่แน่นอกแน่นใจของคนเพื่อไทยไม่ใช่น้อยที่ยอมปล่อยกระทรวงนี้ไป และเป็นไปได้ว่า อิทธิพลบารมีของภูมิใจเที่ยวนี้จะส่งผลระยะยาวในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า รวมถึงการบริหาร เสถียรภาพของรัฐบาลตลอดสมัยรัฐบาลนายเศรษฐาอย่างแน่นอน

กระทรวงมหาดไทยสำคัญขนาดไหนถึงกลายเป็นกระทรวงเกรด A ที่ไม่ว่าข้าราชการตั้งแต่อธิบดีกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักการเมืองไทยต่างหมายปอง

The Modernist จะพาไปชมข้อมูลฉบับกระชับของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่จุดกำเนิด และหน้าที่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงวันที่นักการเมืองเข้าไปมีบทบาท กลายเป็นกระทรวงชิ้นปลามันที่คนการเมืองจดจ้องรอครอบครองเก้าอี้

มหาดไทย 101

กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงสำคัญที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน การก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี พ.ศ. 2435 กล่าวได้ว่าเป็นการรวบรวมงานมหาดไทยมาอยู่ในที่เดียวกันอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สะท้อนถึงการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของประเทศสยาม ซึ่งเดิมกระจายอยู่ถึง ๓ กระทรวง ให้มาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงแห่งเดียว เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นภาพลักษณ์ของกระทรวงนี้จึงเป็นภาพของการกระจุกตัวของอำนาจที่สั่งการจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่คอยควบคุม สั่งการข้าราชการพลเรือนเกือบทั้งหมดในประเทศไทยเรื่อยมา

กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมือง การปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและการพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัยและการพัฒนาเมือง และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย เรียกได้ว่าเป็นกระทรวงที่ดูแลกิจการภายในเกือบทั้งหมดของประเทศ

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย บทบาทของกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้ลดลงจากการรวมศูนย์อำนาจเลย เห็นได้จากปัจจุบันราชการไทยแบ่งออกเป็นราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแรก มักให้อำนาจกับข้าราชการที่มาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด คอยบริหารราชการ ขณะที่ท้องที่รวมถึงท้องถิ่นเองก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมจากราชการส่วนกลาง จากทั้งกรม ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่คอยควบคุมสั่งการมีอำนาจเหนือท้องถิ่นมาโดยตลอด

เปรียบเสมือนชิ้นปลามัน

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงเปรียบเสมือนชิ้นปลามันที่นักการเมืองต่างหมายปอง เพราะหากได้ไปนั่งเก้าอี้ราชสีห์มหาดไทยเมื่อไหร่ ก็เสมือนมีองคาพยพราชการไทยทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นมือไม้และแขนขา แถมมีอำนาจอิทธิพล การเอื้อประโยชน์ลงไปสู่ท้องถิ่นในการสร้างฐานเสียง รวมถึงเครือข่ายของตนเแองได้อีกด้วย เห็นได้จากกรมภายใต้กระทรวงมหาดไทย เช่น กรมการปกครองที่เปรียบเสมือนกรมที่สร้างเครือข่ายให้กับเจ้ากระทรวงคลองหลอด เพราะดำเนินงานเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน การบริหารการปกครองท้องที่ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน การดำเนินการและพัฒนาระบบงานทะเบียนราษฎร และการขออนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย เรียกได้ว่าคุมหน่วยงานที่ให้คุณให้โทษกับประชาชน ผู้ประกอบการในหน่วยย่อยตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงอำเภอมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขออนุญาตดำเนินกิจการต่างๆ ที่ต้องผ่านการขออนุญาตจากกรมดังกล่าว และยังมีข้อมูลมหาศาลอย่างทะเบียนราษฎร ที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องข้อมูลจำนวนประชากรที่สามารถดูข้อมูลการแบ่งเขต รวมถึงการคำนวณรคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้งได้อีกด้วย หรือจะเป็นในแง่การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอิทธิพลในการควบคุมทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้อยู่ในมือ นั่นหมายความว่าจะมีหัวคะแนนที่เกิดการจากการปกครองส่วนท้องที่ในระดับย่อยที่จะหวังผลต่อการเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไปได้อีกด้วย

ต่อมาคือกรมพัฒนาชุมชน มีหน้าที่ที่น่าสนใจที่ยกมาให้เห็นคือ การพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การอาชีพ การออม และการบริหารจัดการเงินทุนของชุมชน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน ชุมชน ผู้นำชุมชน องค์การชุมชน และเครือข่ายองค์การชุมชน แน่นอนว่าเป็นกรมที่เหมือนจะมีอำนาจน้อยแต่อันที่จริงแล้วคือกรมที่สามารถส่งต่อนโยบายของเจ้ากระทรวงในแง่ของการผันเงินลงไปสู่พื้นที่ชุมชน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ และยังสามารถสร้างเครือข่ายชุมชน ที่ต่อไปจะกลายเป็นพื้นฐานของการต่อยอดในการสร้างเครือข่ายของเจ้ากระทรวงสู่ระดับชุมชนได้อีกด้วย

ต่อมาคือกรมที่ดิน เป็นกรมที่ชื่อบอกชัดที่สุดในการดูแลการออกโฉนด แบ่งโฉนดที่ดิน ให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น รังวัด ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์และในที่ราชพัสดุ การรังวัดและทำแผนที่ จัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน เรียกได้ว่าใครมีที่ดินในมือ หรือต้องการที่ดินทำกิน กรมนี้จะเป็นกรมสำคัญในการดำเนินการให้กับประชาชนที่ต้องการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์กับตนเอง เป็นกรมที่ค่อนข้างมีอิทธิพลและสามารถตอบสนองผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ เพราะหากสามารถจัดสรรประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ได้ที่ดินไปใช้ประโยชน์ ย่อมได้ฐานเสียงจากคนกลุ่มนั้น รวมถึงการจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มก้อนของพวกตนเองอีกด้วย

ต่อมาคือกรมโยธาธิการและผังเมือง มีภารกิจเกี่ยวกับงานด้านการผังเมือง การโยธาธิการ การออกแบบ การก่อสร้างและการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ดำเนินการและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการพัฒนาเมือง พื้นที่ และชนบท โดยการกำหนดและกำกับดูแลนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการตั้งถิ่นฐานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานการก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการผังเมือง เรียกได้ว่าเป็นกรมที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาต้องวิ่งเข้าหา เพราะสามารถให้คุณให้โทษทางด้ก้านการกำหนดมาตรฐานสิ่งก่อสร้างทั้งในเมือง ชนบทและในระดับท้องถิ่นได้อีกด้วย ถือเป็นกรมที่มีผลประโยชน์เต็มไปหมดในแง่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศก็ว่าได้

ต่อมาคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันบรรเทาและฟื้นฟูจากสาธารณภัย โดยกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย สร้างระบบป้องกัน เตือนภัย ฟื้นฟูหลังเกิดภัย และการติดตามประเมินผล เพื่อให้หลักประกันในด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

และกรมสุดท้ายคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นกรมที่ให้คุณให้โทษกับท้องถิ่นได้มากที่สุด เพราะมีอำนาจดำเนินการจัดทำ แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกได้ว่าท้องถิ่นจะทำอะไรก็ยังถูกกำกับจากกระทรวงมหาดไทยผ่านกรมนี้

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การพัสดุ การจัดเก็บรายได้ และการประกอบกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งวางระบบตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี และการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกได้ว่าเงินๆ ทองๆ ของท้องถิ่นจะของบจะทำอะไร ย่อมต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมนี้ทั้งสิ้น

สุดท้ายยังสร้างตัวชี้วัดเพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ถ้าท้องถิ่นทำอะไรไม่เข้าตา ขัดใจเจ้ากระทรวงสะหน่อย เจ้ากระทรวงก็สามารถใช้อำนาจในมือตรวจสอบหรือเพ่งเล็งเป็นพิเศษว่าท้องถิ่นนั้นๆ ได้มาตรฐานหรือเปล่า หากขัดใจมากๆ เผลอๆ โดนเล่นงานให้ไม่ผ่านตัวชี้วัดเอาได้ด้วย

ยังไม่นับรวมรัฐวิสาหกิจที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย

เพราะฉะนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงเป็นกระทรวงที่อำนาจจัดเต็มทั้งในราชการส่วนกลาง มีอิทธิพลต่อข้าราชการพลเรือนต่างๆแถมยังมีอำนาจล้นพ้นกับท้องถิ่นอีกด้วย กระทรวงนี้จึงเป็นกระทรวงที่เปรียบเสมือนชิ้นปลามันที่นักการเมืองต่างหมายปรอง เพราะหากได้กระทรวงนี้ย่อมหมายความว่า ทั้งงานราชการ งานเอื้อประโยชน์ทั้งในแง่ที่ดิน การขอใบอนุญาต ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในระดับท้องถิ่นให้เป็นฐานเสียงให้ในอนาคต ล้วนอยู่ในมือของเจ้ากระทรวงทั้งนั้นเลย ใครได้ไปเรียกได้ว่าเรียบร้อยโรงเรียนมหาดไทย ทำดีๆ ฟาดหมดทุกพื้นที่ตั้งแต่ส่วนกลางยันส่วนท้องถิ่นให้ล้วนหนาวสั่นไปตามๆ กัน

ล่าสุดกระทรวงนี้ยังเสร็จพรรคภูมิใจไทย เรียกได้ว่าภูมิใจไทยครองกระทรวง แทบไม่มีพื้นที่ให้พรรคเพื่อไทยเลย คงเป็นกระทรวงมหาดไทยที่มี มท.หนู นั่งบัลลังก์คุมเกมในกระทรวงได้อย่างมั่นคงได้ไม่ใช่น้อย

ไปดูกันดีกว่าว่าหลังจากแบ่งหน้าที่ดูแลแต่ละกรมในกระทรวงมหาดไทยของรัฐมนตรีว่าการ 1 คน รัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 3 คน ใครคุมอะไร เพื่อจะมองต่อไปว่าภายใต้พระอาทิตย์ดวงนี้พรรคไหนคนไหนคุมมหาดไทยกันแน่

มหาดไทยใต้เงาภูมิใจไทย

เรียกชื่อนี้ ณ เวลานี้ สถานการณ์แบบนี้ ถือได้ว่าถูกต้องที่สุด เพราะหากดูจากการแบ่งโควตากรมรวมถึงผู้มีอำนาจเต็มคือเจ้ากระทรวงคลองหลอด นั่นหมายถึ อนุทิน ชาญวีรกูล มีทั้งอำนาจเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอธิบดีกรมและผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถโยกย้าย สั่งการข้าราชการ กำหนดนโยบาย และอนุมัติโครงการต่างๆ เต็มๆ ไหนจะคุม กรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง การประสานงานส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียกได้ว่าคุมกรมสำคัญถึง 2 กรมที่สามารถคุมข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องที่ได้ แถมยังให้คุณให้โทษเรื่องอสังหาริมทรัพย์ได้อีก ยังไม่นับการไฟฟ้าที่คุมทั้งนครหลวงและภูมิภาค นำธงเรื่องพลังงานค่าไฟของประเทศ มท.1 หรือ มท.หนู ใหญ่โตคับกระทรวง

ขณะที่ ทรงศักดิ์ ทองศรี คนหน้าใหญ่ในภูมิใจไทยสามารถรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อีกสมัยหนึ่งหลังจากที่เคยนั่งเก้าอี้นี้ตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ เที่ยวนี้ผงาดเป็น มท.2 มีอำนาจเต็มที่ใครๆ ก็รู้ว่าสามารถแอคชั่นได้มากกว่าสมัยรัฐบาลทหารกึ่งพลเรือน ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ควบคุมมหาดไทยอยู่ แต่วันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ไปพ้นหน้าพ้นตาแล้ว จึงได้ฟาดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกำกับดูแลการประปานครหลวงไปดูแล ผิดจากสมัยรัฐบาลลุงตู่ ที่เป็นเพียง มท.3 อยู่ใต้ มท.2 ของพรรคประชาธิปัตย์

ด้าน ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งและปฏิบัติราชการกรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค คุมทั้งกระเป๋าเงินงบลงชุมชนอย่างกรมพัฒนาชุมชน กุมการจัดสรรที่ดินเอื้อการผูกนโยบายเอาใจประชาชน แถมยังมีรัฐวิสาหกิจอย่างการประปาส่วนภูมิภาคในมือ ทิ้งให้คนจากพรรคเพื่อไทยอย่าง เกรียง กัลป์ป์ตินันท์ เป็น มท.4 สั่งและปฏิบัติราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และกำกับดูแลองค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย ได้เพียงกรมและรัฐวิสาหกิจระดับรองๆ อยู่ในมือเท่านั้นเอง

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ มหาดไทยภายใต้เงาภูมิใจไทย แบบไม่ต้องสงสัย ทั้งเจ้ากระทรวง รัฐมนตรีช่วย อำนาจลดหลั่นลงมาล้วนอยู่ในมือภูมิใจไทยทั้งสิ้น กรมสำคัญที่สามารถผลักดันนโยบาย กรมที่กุมหัวใจหลักและงบประมาณอย่างกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจล้วนอยู่ในกระเป๋าภูมิใจไทย ขณะที่คนจากพรรคเพื่อไทยได้แต่มองชิ้นปลามันตาปริบๆ

ไหนจะเป็นเรื่องการปราบผู้มีอิทธิพลที่ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คือ อนุทินและชาดา นั่นหมายความว่าวิธีการปราบย่อมได้มาซึ่งการสลายขั้ว รวมถึงการดึงมาเป็นพวกภายใต้นโยบาย วิธีการ รวมถึงเครื่องมือเครื่องไม้ในกระทรวงมหาดดาไทยที่อยู่ในมือของพรรคภูมิใจไทยอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง : moi.go.th 1 / stabundamrong / matichon 1 / commandcenter / wiki.kpi.ac.th / the101 / liff.line.me / dla.go.th