fbpx

หมาน คิทเช่น ร้านอาหารเอเชียนทวิสต์ส่งตรงจากเชียงใหม่ที่คุณจะโชคดีเมื่อได้กิน

หมาน คิทเช่น คือร้านอาหารจานเดียวสไตล์เอเชียนทวิสต์ที่เปิดหน้าร้านอยู่ที่เชียงใหม่

ความโดดเด่นคือรสชาติที่จัดจ้าน เมนูที่หลากหลายทั้งเส้น ข้าว ของทานเล่นซึ่งทุกอย่างอร่อยอย่างลงตัว และการครีเอทเมนูซึ่งสนุกชะมัด ทำให้หมาน คิทเช่น กลายเป็นหนึ่งในร้านที่หลายๆ คนต้องแวะไปกิน เราจึงได้เห็นเมนูของหมาน คิทเช่น ในหน้าฟีดเฟซบุ๊กหรือติดร้านที่ได้รับอันดับที่ดีจากการรีวิวของชาวเน็ต

และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ร้านอาหารจากเชียงใหม่จะลงมาสร้างความอร่อยด้วยรสชาติเดียวกันจึงเกิดขึ้น หมาน สะพานควาย ซึ่งเป็นสาขาที่สองของหมาน คิทเช่น จึงเปิดให้บริการไปเมื่อไม่นานมานี้

ก้ามปู-พิชญ์ รตนะมโน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหมาน คิทเช่นมาตั้งแต่ต้น เปิดร้านต้อนรับเราในบรรยากาศที่ผู้คนยังคงคลาคล่ำ กลิ่นอาหารหอมๆ โชยมาเตะจมูกเราตลอดการสนทนา และนั่นคือหนึ่งในส่วนสำคัญที่ชูรสให้เรื่องเล่าของหมาน คิทเช่น อร่อยและเข้มข้นขึ้น 

จากความพยายามของวัยรุ่นแห่งนครพิงค์ที่ฝันอยากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง ที่ทั้งหมดไม่เพียงแต่ใช้การวางแผนอย่างรอบคอบ การทำการบ้านอย่างหนัก การฝ่าฝันอุปสรรคและการแก้ปัญหาอย่างที่คนเริ่มทำธุรกิจพึงจะเจอ

แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้หมาน คิทเช่น อยู่ในใจลูกค้าได้ ก็คือความ “หมาน” หรือความโชคดีราวจักรวาลจัดสรร สมกับชื่อร้านของพวกเขาด้วย 

จึงจะเป็นหมาน คิทเช่น ที่ประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้

แรงบันดาลใจจากความรักในงานขาย

สูตรสำเร็จของช่วงชีวิตมัธยมปลายจะมีอยู่ไม่กี่อย่าง ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนและเพื่อนๆ ให้ถึงที่สุด หรืออ่านหนังสือสอบเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ แต่กับก้ามปูแล้ว หนึ่งในสิ่งที่เขาเลือกทำนอกจากสองสิ่งข้างบนคือ การรับสินค้าจากประเทศจีนมาขาย ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่เขาเริ่มทำตั้งแต่เล็กแต่น้อยเพราะการรักในงานขาย แต่ก็ไม่มากมายไปกว่านั้น

จนถึงวันที่ก้ามปูได้ทำการบ้านเกี่ยวกับการทดลองทำอาชีพต่างๆ ในปีสุดท้ายของชีวิตมัธยม นั่นเหมือนทำให้เขาได้พบกับความเป็นไปได้ใหม่ นั่นคือการทำงานเกี่ยวกับอาหาร

“ตอนนั้นที่โรงเรียนเหมือนมีวิชาแนะแนว แล้วมันมีโครงการชื่อว่าหนึ่งคนหนึ่งอาชีพ ตอนนั้นเราก็เลยได้ไปทำที่ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง แล้วก็สนุกดี รู้สึกว่าทำร้านอาหารมันดูมี Dynamic ที่มันวุ่นวายดี ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าอาจจะมี First Impression ที่ดีกับธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพอจบม.6 ที่มีช่วงหยุดก่อนเข้ามหาลัยก็ลองไปทำไอติมผัด (ครีมรสชาติต่างๆ ผัดบนกะทะไนโตรเจนเหลว ตกแต่งด้วยท็อปปิ้งหน้าต่างๆ เป็นที่นิยมในจังหวัดเชียงใหม่-บรรณาธิการ) ไปทำงานเกี่ยวกับร้านอาหาร” ก้ามปูเล่าถึงความประทับใจแรกในงานร้านอาหาร

ยิ่งพอที่ก้ามปูเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ต่อให้เขาจะเรียนคณะรัฐศาสตร์แบบดิบๆ แต่วิชาโทที่เขาเลือกคือวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะครึ่งใจของเขาสนใจในธุรกิจและการเงิน

“เรามีความสนใจในธุรกิจอยู่แล้ว เราชอบเงิน เรารู้สึกว่าวิชาที่เราเรียนมันไม่ใช่เครื่องมือหาเงินที่ต่อยอดได้ อาจจะต้องหาอะไรที่มันเป็นชิ้นเป็นอันเป็นธุรกิจ แล้วเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เพราะโควต้านักกีฬา ก็คือแทบจะไม่ได้ใช้ความสามารถในการเรียนเท่าไหร่เลย มันก็เลยเป็นอีกบทพิสูจน์นึงด้วยว่าจากคนเขาอาจจะดูถูกกันว่าโควต้านักกีฬาจะเรียนไหวไหม เราก็เหมือนเข้าปี 1 ไปแล้วก็ขยันเป็นพิเศษแล้วก็หาความรู้เยอะจนเหมือนจะได้ความรู้มามากกว่าที่ในห้องเรียนสอน มันก็เหมือนเปิดโลกเรามากขึ้นเราก็เริ่มศึกษา อ่านหนังสือมากขึ้น” ก้ามปูเล่า

นอกจากการขวนขวายหาความรู้ที่เข้มข้นแล้ว ในช่วงชีวิตปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย ก้ามปูได้ลองไปทำงานร้านอาหารในหมวดที่ต่างออกไป จนนำไปสู่ความฝันที่เหมือนๆ กับวัยรุ่นหลายๆ คน

นั่นคือการเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง

จักรวาลจัดสรรให้คนหมานๆ และเรื่องหมานๆ มาเจอกัน

ช่วงเวลาก่อนเรียนจบที่ก้ามปูได้เข้าไปทำงานในร้านไวน์แห่งหนึ่ง เขาได้คุยกับเชฟและคนหลังครัวมากมาย ได้เห็นระบบการจัดการร้านอาหารแบบมืออาชีพและมีการจัดการที่เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น  จนเขาเห็นความเป็นไปได้ในการทำร้านอาหารที่ไม่ใช่แค่ฝัน เพราะเขาได้เข้าร่วมโครงการๆ หนึ่งที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับทีมๆ หนึ่งจนได้ร้านไก่ทอดเล็กๆ บนถนนนิมมานเหมินทร์ขึ้นมาหนึ่งร้าน

แต่สุดท้ายความฝันนั้นก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะร้านไก่ทอดนั้นไปต่อไม่ได้หลังจากเปิดให้บริการไปในช่วงเวลาหนึ่ง จนก้ามปูตัดสินใจกลับไปทำงานประจำ

เรื่องเหมือนจะจบอยู่แค่นี้ แต่อย่างที่เปรยไปในช่วงต้น ก้ามปูก็กลับมามีความ “หมาน” ในการทำร้านอาหาร เพราะจักรวาลได้จัดสรรให้ได้เจอกับกลุ่มเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ฝันอยากทำร้านอาหาร โดยมีชื่อ “หมาน” เป็นธงอยู่ในใจ

“ตอนนั้นเราเต็มที่กับงานประจำ เราเริ่มอิ่มตัว เราอยากมีธุรกิจส่วนตัวแล้ว แล้วก็ไปนึกออกว่าเพื่อนเราคนนึงเค้าก็มีร้านอาหารอยู่แล้ว แล้วเราก็มองเห็นแบรนด์นั้นน่าเอามาต่อยอดนะ เราก็เลยทักเขาไป ปรากฏว่าเขาชวนเราทำโปรเจคใหม่ซึ่งเขาก็บอกว่าตอนเริ่มมีแต่ชื่อนะ ยังไม่มีแนวอาหารเลยแต่ว่า มีรูป Reference บ้างว่าอยากได้อาหารแนวแบบ Asian ซึ่งพอเราตอบตกลง เข้าทีมปุ๊บเราก็เริ่มวาดเป็น Business Model ขึ้นมา วาดแนวทาง เล่าภาพในหัวให้เพื่อนฟังจนไปเจอกับทีมนั่นแหละ ความเป็นไปได้ในการทำร้านอาหารมันเลยมากขึ้น เพราะสิ่งที่เราได้มาตอนนั้นก็คือคนทำอาหารเป็น บวกกับเราที่มีแนวคิดธุรกิจ” ก้ามปูขยายความ

แน่นอนว่าปัญหาเรื่องการหาทุนเป็นเรื่องหลักๆ ของคนรุ่นใหม่ที่มีไฟอยากเปิดธุรกิจ และด้วยความทะเล่อทะล่าที่ยิงโปรโมทร้านล่วงหน้า 4 เดือนโดยที่เริ่มมีผู้ติดตามบนโซเชียลประมาณหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวข้องทำร้านอาหารเลยด้วยซ้ำ! หมายเลยเกือบจะต้องพับโปรเจคต์ไปเพราะหาแหล่งทุนไม่ได้ กู้ธนาคารก็ไม่ผ่านเพราะไม่มีเครดิตมาก่อน เพราะพื้นที่ทำเลในใจของก้ามปูและเพื่อนๆ ก็ยังเป็นถนนนิมมานเหมินทร์ที่เป็นเส้นเลือดหลักของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งราคาเช่าต่อเดือนแพงมาก

โชคดีที่จุดเปลี่ยนของเรื่องมันอยู่ที่การเจอห้องเช่าในราคาที่น่ารักมากๆ แต่ก็ดันอยู่ไกลถึงหลังมหาวิทยาลัยพายัพในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใช่ทำเลที่มีผู้คนพลุกพล่านเลย

“เราไปกินข้าวที่ร้านอาหารอีสานของรุ่นพี่ที่รู้จักหลังโครงการเชียงใหม่บิสสิเนส พาร์ค แล้วเราก็รู้สึกว่าที่ตรงนี้มันก็ได้นะ ตรงนี้มันก็มีคนเยอะของมันนะ พอเห็นปุ๊บเราก็โทรเรียกทีมเลย แล้วก็บอกทีมว่า เราทำร้านจากที่เล็กๆ ก่อนก็ได้ เราทำ Ghost Kitchen ทำ Cloud Kitchen ก่อนก็ได้ เพราะเราไม่อยากให้โปรเจคต์ที่เราระดมสมองคุยกันมันหายไป ก็เลยเอาที่ตรงนี้แหละ ค่าเช่าแค่ 4,000-5,000 เอง

“พอมาดูที่จริงๆ ไหนๆ เราก็ทำแล้ว เราก็เลยเอาห้องข้างๆ อีกห้องนึง ค่าเช่าก็เลยรวมเป็น 9,000 บาท ก็ทำโต๊ะนั่งกินได้อีัก มี 4 โต๊ะ ถึงเงินเราไม่มีกันเยอะ แต่ว่าตอนนั้นเราใช้เงินคนละ 60,000 บาท ก็รวมกันเป็น 300,000 บาท ก็เปิดร้านได้ มันก็เลยทำให้อุปสรรคตรงนั้นหายไปเพราะว่าเราเปิดได้แล้ว” ก้ามปูเล่าถึงช่วงเวลานั้น

ขึ้นร้านและคิดเมนูให้หมานถูกใจลูกค้า

เมื่อทุกอย่างลงตัว ไอเดียทุกสิ่งอย่างที่เคยพัฒนาร่วมกันจึงได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

หมาน คิทเช่น มีธงในใจว่าลูกค้าจะต้องเป็นวัยทำงานกว่า 70 เปอร์เซนต์ เพราะนอกจากจะมีกำลังซื้อแล้ว คนเหล่านี้เล่นโซเชียลมีเดียซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการทำให้คนรู้จักอาหารของร้านมากขึ้น และมีความถี่ในการซื้อซ้ำสูงเพราะว่าต้องใช้ชีวิตอยู่ตลอดทั้งปีปฏิทิน ไม่มีการเว้นวรรคใช้บริการเหมือนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพราะช่วงปิดเทอม

พอมีกลุ่มเป้าหมายในใจแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือเมนูอาหารที่ต้องแข็งแรงมากๆ โดยหนึ่งในไอเดียที่ก้ามปูและเพื่อนปักธงร่วมกันคือ หมานจะขายอาหารในสไตล์ Asian Street Food ซึ่งมีแกนสำคัญคือเมนูบะหมี่ผัดของสมาชิกคนหนึ่งจากร้านอาหารที่เขาเคยทำ

“เราเห็นโอกาสของเมนูนั้นเลยเปลี่ยน Presentation แล้วก็เห็นโอกาสว่าตัวนี้อะไรแสดงออกถึงความเป็นเรา ตอนนั้นเราเริ่มตบความคิดได้แล้วว่าเราอยากได้เป็น Asian Street Food แล้วก็เลยคิดว่าความเป็น Asian คืออะไร สมมติเวลาเราเดินไปเมืองนอก เราก็จะเห็นร้าน Asian ก็จะเป็นบะหมี่กล่อง แล้วก็เห็นว่านั่นแหละเป็นการแสดงออกถึงความเป็น Asian Street Food  เราก็เลยเห็นจุดนั้นแล้วเราก็เอามาพัฒนาต่อว่าแบบ บะหมี่ผัดนะ ข้าวนะ ก็เลยเห็นมาเป็นจุดนั้น” ก้ามปูอธิบาย

ด้วยความ “อร่อย” และความพอใจในรสชาติของลูกค้าแทบจะไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักของการขึ้นเมนูให้อร่อยถูกใจลูกค้า การรับฟังคอมเมนต์อย่างตรงไปตรงมาจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งคือการหาจุดตรงกลางของอาหารจานหนึ่งๆ ที่ทำให้ทุกคนบนโต๊ะอาหารกินได้ แต่ก้ามปูบอกอีกว่า เมนูโดยรวมจะต้องไม่หลากหลายเกินไป จึงต้องหาความเชื่อมโยงทั้งจากสต๊อกของสดที่มีอยู่แล้วเพื่อลดการซื้อซ้ำ และเชื่อมโยงอาหารให้มีจุดร่วมเดียวกันคือ ความเป็น Asian Street Food ที่หมาน คิทเช่น ยึดโยงมาตลอด

ก้ามปูแอบบอกเราอีกว่า การอ่านคอมเมนต์หรือสังเกตผลตอบรับจากภาพที่ลูกค้าอัพโหลดลงโซเชียลมีเดีย นั่นก็สามารถวัดผลของเมนูต่างๆ ได้โดยไม่ต้องทำแบบสอบถามหรือปิดห้องทำ Focus Group เลยด้วยซ้ำ

กลยุทธ์ที่ทำให้หมานอยู่ในใจลูกค้า

ก้ามปูบอกว่า นอกจากที่ลูกค้าจะบอกว่าอาหารอร่อย ราคาเป็นมิตร หน้าร้านถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วสวย ทุกคนต่างชอบชื่อ “หมาน” เพราะในภาษาถิ่น 2 ภูมิภาคทั้งเหนือและอีสานต่างแปลตรงกันคือ โชคดี, ร่ำรวย รวมถึงภาษาจีนที่แปลว่าเติมเต็ม นั่นจึงเป็นการส่งข้อความแฝงและพลังงานดีๆ กลับไปให้ลูกค้าอีกด้วย

“เราเป็นร้านที่พยายามส่งมอบความหมายดีๆ ซึ่งเราดีใจที่ลูกค้าเข้าใจในแมสเซจตรงนั้น บวกกับอาหาร ซึ่งเราบอกพนักงานเลยว่า จัดจานสวยๆ นะ เขาจะได้ถ่ายลง Instagram ได้ ซึ่งฟีดแบคมันก็ดี คนก็ชอบ ก็แชร์ต่อกันเยอะ”

ซึ่งรวมถึงหนึ่งในกลยุทธ์ที่อาจธรรมดา แต่สามารถดึงลูกค้าให้เป็นแฟนประจำได้ นั่นคือการออกเมนูตามฤดูกาลหรือ Seasonal Menu โดยขายในเวลาจำกัดและสามารถวัดความนิยมเพื่อต่อยอดสู่การนำไปบรรจุเป็นเมนูประจำได้

“ถ้าเราอยากเทสต์ว่าเมนูตัวนี้เวิร์กไหม เราก็แค่ยิง Ads ขึ้นในเพจโดยที่ไม่ต้องเอาเมนูนี้เข้าไปใส่ในเมนูหลัก แล้วก็ขาย พร้อมกับดูว่า Feedback เป็นยังไง ถ้าดีเราก็ใส่ไปในเมนูหลัก ถ้าไม่ดีเราก็แค่บอกว่าหมดซีซั่น มันก็เป็นการที่เราแบบจบสวยด้วย นี่เป็นวิธีที่ลองใช้”

กรุงเทพฯ ก็กรุงเทพฯ วะ!

ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะอ่านแล้วคิดว่าหมาน คิทเช่น เปิดบริการมาสักพักใหญ่ๆ ในหลัก 3-4 ปีแล้ว แต่จริงๆ คือร้านอาหารเล็กๆ นี้ก่อการขึ้นในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดครั้งแรกในช่วงปี 2020 เลยด้วยซ้ำ!

ความสำเร็จของหมาน คิทเช่น สาขาแรกทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่สาขาที่สอง แต่เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองรองทำให้ทีมหมานฯ นำความคิดแรกกลับขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง

นั่นคือการไปเปิดร้านที่กรุงเทพมหานคร

“​​ตอนนั้นที่จะเปิดสาขาสองเชียงใหม่อาจจะยังไม่ใช่ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราต้องขยายสาขาแล้ว เราก็ไม่รู้จะไปที่ไหน จนกระทั่งเพื่อนก็บอกว่ากรุงเทพฯ ไหม ก็เคยคุยกันไว้ว่าจะไปเปิดที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นยังเป็นเหมือนความฝันอยู่เลย พูดเล่นๆ แต่สุดท้ายก็บอกกันว่า กรุงเทพฯก็กรุงเทพฯวะ ก็บินลงมาดูที่ในกรุงเทพฯ เลย ว่าแบบจะเปิดที่ไหนดี”

ในความคิดของคนที่ไม่เคยมาอยู่กรุงเทพฯ แบบเป็นเรื่องเป็นราว ทำเลที่ก้ามปูและเพื่อนๆ มีในใจหนีไม่พ้นสุขุมวิท ทองหล่อ อารีย์ สยาม ซึ่งค่าเช่าที่ขึ้นชื่อว่าแพงมากๆ ยังไม่นับถึงอุปสรรคในการต่อสู้กับเจ้าถิ่นและปัจจัยรอบด้าน จนเกือบทำให้ทุกคนยอมแพ้

แต่เมื่อนั่งรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทถัดจากสถานีอารีย์มาหนึ่งป้าย เราก็จะถึงสถานีสะพานควาย ซึ่งในเขตสะพานควายนี้แหละทำให้ก้ามปูเจอตึกแห่งหนึ่งที่เขาเบรครถทันที

“ตอนนั้นชอบชื่อมาก สะพานอะไรมาควาย (หัวเราะ) ก็ขับรถมาจนเห็นตรงนี้ คือเบรคเอี๊ยดเลย รถคันข้างหลังบีบแตรใส่เลย (หัวเราะ) เราเจอตึกที่มันว่างให้เช่าพอดี มันเป็นที่ๆ เปิดมาก ก็เลยโทรหาเจ้าของ เจ้าของเดินมาอีก 5 นาทีถึงเลยเพราะอยู่แถวนั้นอยู่แล้ว พอเข้าตึกมาปุ๊บตรงนี้โล่งหมดเลยนะ เราก็แค่ Renovate ไปเลย เราก็ต่อราคาจนพอใจทั้งสองฝ่ายแล้วก็เอา เพราะเรารู้สึกว่ายังไงเปิดเชียงใหม่ที่นิมมานฯ วันหนึ่งเราไปแน่ๆ แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้ เพราะค่าเช่าพอๆ กันเลยนะ ก็เลยเลือกเปิดที่กรุงเทพเลย” 

แต่ก็ใช่ว่าการเจอตึกที่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ก้ามปูและเพื่อนๆ ตัดสินใจเปิดร้านสาขาใหม่ในทันที เพราะคราวนี้มีการทำรีเสิร์ชอย่างชัดเจนถึงความถี่ในการสัญจรผ่านทำเลใหม่ การลงไปคุยกับผู้คนในละแวกนั้น และการสุมหัวคิดที่เป็นกิจจะลักษณะมากกว่าเดิม จนนำไปสู่การเสาะหานักลงทุนที่พร้อมจะลงทุนในร้านอาหารสาขาใหม่

แล้วเรื่องนี้บอกอะไร

“เราก็รู้สึกว่าแบรนด์เราก็เข้าตาคนอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าแบรนด์มันขายได้ เพราะว่าถ้าเกิดมันขายไม่ได้เขาก็คงไม่มาลงทุน และด้วยผู้ลงทุนที่มันหลากหลาย ก็เหมือนเป็นตัวแทนที่สื่อสารออกมาว่าลูกค้าที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นแสดงว่าคนที่หลากหลายเห็นว่าแบรนด์เราน่าจะไปได้ เราก็น่าจะไปได้ เราก็เลยมั่นใจในแบรนด์เรามากขึ้น ก็แสดงว่ามันไหว” ก้ามปูตอบฉัน

สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ที่บอกว่าหมาน กรุงเทพฯ มาถูกทางแล้ว คือร้านที่ดึงดูดสายตาลูกค้า การให้บริการ การจัดจานอาหารให้เหมาะกับการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย

และที่สำคัญ อาหารอร่อย

ขอให้โชคดี

ถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่า หมาน คิทเช่น ที่ประสบความสำเร็จได้ถึงทุกวันนี้ ก้ามปูและเพื่อนๆ น่าจะผ่านการเตรียมการมาอย่างดี และเปิดให้บริการมาหลายปีแล้ว แต่ความจริงแล้วหมาน คิทเช่น สาขาเชียงใหม่ เปิดให้บริการในช่วงที่โควิด-19 ระบาดครั้งแรก และผ่านอุปสรรคการเตรียมการและเปิดร้านในช่วงเวลาโรคระบาดมาอย่างหนักหน่วง 

ซึ่งหนึ่งในวิธีคิดสำคัญของก้ามปูและเพื่อนๆ ขับเคลื่อนหมาน คิทเช่น นั่นคือ Now or Never

“แต่มันต้องมีพื้นฐานของความรู้นะ” ก้ามปูบอกฉัน

“คุณต้องมีความรู้ คุณต้องมีการทำการบ้านไม่ใช่ Now or Never แบบตายเอาดาบหน้า คือหมานเราเป็นที่เราว่าวาดไว้ในกระดาษอยู่แล้ว คิดรายได้ รายจ่ายเท่านี้ว่าเป็นไปได้ ขาดแค่ว่าทำของจริง ก็คือว่าถ้ามึงไม่เอาไปทำของจริง กระดาษแผ่นนี้มันก็จะอยู่ตรงนั้น ถ้าเกิดว่าคุณไม่ทำเลย ความคิดที่มันยัง Fresh อยู่ ความสดใหม่ แพสชั่นไฟในตัวมันจะมอดไป แล้วอีกวันคุณเอามารื้อมาทำใหม่ มันอาจจะไม่ดีเหมือนตอนที่คุณกำลังมีไฟก็ได้ เราก็เลยคิดว่าถ้าทำก็ทำเลย แล้วก็ทำให้มันดี” ก้ามปูอธิบายเพิ่ม

ก้ามปูมองอนาคตของหมาน คิทเช่น ไว้ว่าอยากให้เป็นเชนร้านอาหารที่มีหลายสาขา และสามารถต่อยอดสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายทั่วไปเช่น สแน๊ค ของว่าง รวมถึงความฝันใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ การเปิดร้านที่ต่างประเทศ

สุดท้ายแล้วนอกจากอนาคตที่หมาน คิทเช่น วางไว้ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารจากนครพิงค์มีวันนี้ได้คือ ทีมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ก้ามปูย้ำตลอดการสนทนา

“การมีทีมที่ดี มันก็จะทำให้ธุรกิจเราโตเร็ว เพราะถ้าทุกคนสามารถดึงศักยภาพที่ทุกคนมีออกมาได้ ถ้าเรามี 4 องค์ประกอบ 5 องค์ประกอบที่มารวมกันแล้วมันทำให้เราเดินไปหาเป้าหมายเราได้เร็วขึ้น อันนี้คือสิ่งที่ทีมที่ดีมันตอบโจทย์ได้ 

“เราขอยกตัวอย่างเคสนี้ ทีมที่ดีคือทีมที่เหมือนทีมฟุตบอล ทุกคนมีหน้าที่เป็นของตัวเอง กองหน้า กองหลัง โกล คุณมีหน้าที่หลักของคุณ แต่ในสนามมันไม่มี Boundary ที่จะบอกว่าห้ามคุณข้ามมาช่วยคนอื่น เช่นเราทำ Marketing อยู่ เราอาจจะต้องการคน เราข้ามไปดูได้ ข้ามไปช่วยในมุมมองของเราได้ ก็เลยมองว่าทีมที่ดีมันจะพาเราไปไกลกว่า” ก้ามปูส่งท้าย

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า