fbpx

ขึ้นมาเร็วนังบ้านนอก! เมื่อ Mean Girls บอกอะไรมากกว่าหนังวัยรุ่น

บทความเปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์

ไม่ใช่เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของแอดมินเพจ Meme Girls Thailand มาอย่างอย่างนาน แต่การได้เริ่มต้นเขียนบทความกับ Modernist ว่ามี Pop Culture อะไรบ้างที่มีผลต่อสังคม การเมือง และเป็น Pop แบบจับต้องได้จริงๆ สิ่งแรกที่เข้ามาในความคิด ก็คือ Mean Girls กับบรรดา Meme ต่างๆที่กลายเป็นปรากฎการณ์ทางโซเชี่ยลในรอบหลายปีมานี้

ยอมรับว่าเป็นความสำเร็จส่วนตัวก็ว่าได้ กับการหยิบยืม Niche Culture ตัวนี้มาแปลงเป็นเวอร์ชั่นไทย แม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls ต้นฉบับของ Meme จะยาวนานมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว และต่างประเทศก็เล่น Meme จากภาพยนตร์เรื่องนี้มาจนช้ำแล้วก็ว่าได้ แต่ที่ไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก มีความเฉพาะกลุ่มจำกัดอยู่ เช่น กลุ่ม “กะเทย” ในภาพเหมารวมเท่านั้นเอง 

คือถ้าดูแบบผิวเผิน Mean Girls จะเป็นหนังวัยรุ่นอเมริกันที่ไร้สาระมาก แต่ถ้าตั้งใจดู และถอดไดอะล็อก รวมถึงซีนต่างๆออกมา จะพบว่าเรื่องนี้กำลังบอกเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ที่ต้องดำรงอยู่ในโลกของกฎเกณฑ์ร่วมกับผู้อื่นอย่างละเอียดมาก โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์ชายขอบ ที่ต้องงัดทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อยู่โลก (ที่อย่างน้อยถูกเชื่อว่า) เป็นของผู้ชาย

และด้วยสาเหตุนั้น เมื่อมันถูกนำมาวางทาบให้กลายเป็น Meme ทางการเมือง หรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม มันก็เลยแนบสนิท ประหนึ่งว่าผู้กำกับได้เขียนมาเพื่อเรื่องราวของประเทศสารขันธ์นี้เฉยเลย Meme Girls Thailand ถึงกลายเป็นเพจที่มีคอนเทนต์ติดอันดับต้นๆ ของโลกโซเชี่ยลได้อย่างไม่ยากเย็น

ฉันมาจากแอฟริกา

ทฤษฎีกำเนิดมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง คือ มนุษย์ Homo Sapiens ในลักษณะที่พัฒนามาจากลิง แล้วเดินสองขาได้นั้น มาจากแอฟริกา (ตัวร้ายในหนัง Black Panther ก็ใช้ข้ออ้างนี้เช่นกัน) แต่ทว่าด้วยสาเหตุที่คลุมเครือ มนุษย์ละทิ้งดินแดนสะวันนา แล้วออกเดินทางหาอารยธรรมอื่น “เคดี้ เฮรอน” จึงเป็นตัวละครที่แสดงสัญลักษณ์นี้ เธอมาจากแอฟริกา และถูกเลี้ยงดูมาแบบ Home School คือคุณแม่ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคนสอนหนังสือให้กับเธอ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของมนุษย์มานับพันๆปีเลยก็ว่าได้ ที่ว่า “มนุษย์แม่” เป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้ของลูกแต่เพียงคนเดียว

ความเด๋อด๋า ไม่ทันโลกของเคที่ที่ติดตัวมาจากแอฟริกา ไม่ใช่แค่การเติบโตมาจากครอบครัวที่ค่อนข้าง Collectivism (ซึ่งในโลกตะวันออกยังเป็นอยู่) แต่มันมาจากศาสนา หรือธรรมเนียมบางอย่างที่มนุษย์ใช้ขัดเกลาความกลัว ยุคที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ 

ในช่วงต้นของภาพยนตร์ เคที่ใช้คำว่า 

“เหมือนเราเคร่งศาสนาอะไรซักอย่าง พระเจ้าสร้างไรเฟิลแบบกระบอกสั้น เพื่อให้เราใช้สู้กับไดโนเสาร์และพวก Homosexual …. เอเมน”

เป็นตลกร้ายที่จิกกัดศาสนาดั้งเดิมและอธิบายพื้นหลังโลกของเคที่ก่อนจะเข้าโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เธอก็เลย “ลาแล้วแอฟริกา” แล้วก้าวเข้าสู่โรงเรียนมัธยม

ยินดีต้อนรับสู่นอร์ธชอร์

จากโลกที่ทุกอย่างหมุนรอบอาณาจักรในบ้านของเธอ อำนาจเบ็ดเสร็จมีเพียงแค่พ่อและแม่ ที่เข้าใจทุกอย่างในผืนป่าแอฟริกาได้ แต่เมื่อเคดี้ต้องเข้ามาเรียนที่นอร์ธชอร์ (ฝั่งทางเหนือ หรือการเดินทางขึ้นเหนือไปขึ้นฝั่งจากแอฟริกา ไปอเมริกา) โดยเฉพาะในช่วงที่เธอเข้าสู่ “วัยเจริญพันธุ์” นั้น เธอต้องเรียนรู้ “กฎเกณฑ์” หลายอย่างที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้อยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่มีใครสนใจว่าชื่อของเธอจะสะกดยังไง หรืออ่านว่าอะไร ทุกคนแค่จำได้แค่ว่าเธอมาจากแอฟริกา แต่ทำไมตัวถึงไม่ดำนะ

กฎนั้นไม่ใช่กฎของโรงเรียนหลักๆ ที่ทุกคนต่างรู้ร่วมกันอย่าง “เสียงกระดิ่งหมดคาบ” ที่ปรากฎอยู่ทั่วไปทั้งเรื่อง แต่เป็นกฎรายละเอียดยิบย่อย ที่เธอไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้เลยว่า เธอต้องสมาทานกฎไหนกันแน่

เคดี้ใช้คำว่า “ฉันไม่เคยอยู่ในโลกที่ผู้ใหญ่ไม่ไว้ใจฉัน”

และการที่เธอทำอะไรในก็ดูจะผิดไปหมด ห้ามคุยในห้องเรียน ห้ามลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่การเลือกที่นั่งในห้องก็ผิดไปหมด ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังต้องเผชิญอาวุธตัวร้ายกาจอย่างการ Stereotype หรือการเหมารวม ที่เกิดขึ้นได้แม้กับคนที่ดีที่สุดอย่างครูนอเบอรี่ ที่คิดว่าสาวผิวดำจากมิชิแกน คือเด็กใหม่ที่มาจากแอฟริกา แทนที่จะเป็นเคดี้เอง 

หากเคดี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก “เจนิส เอียน” เธอคงต้องเผชิญกับวิชาเพศศึกษาที่ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็ต้องสอนกันอย่างอีหลั่กอีเหลื่อ เพื่อไม่ให้เป็นพิษต่อการปกครอง “ห้ามมีเซ็กส์ ไม่งั้นเธอจะตาย” แต่ “เอาถุงยางไป” หรือแม้แต่ที่นั่งในโรงอาหาร ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เธอต้องเลือกให้ถูก ว่าตัวเธอเหมาะกับการนั่งอยู่ใน “หมวด” ไหน แม้ว่าจะต้องเป็นการ Stereotype ตัวเธอเองก็ตาม

ปีศาจในร่างมนุษย์ เรจิน่า จอร์จ

กลุ่มพลาสติก นั่งอยู่ใจกลางของโรงอาหาร เป็นที่สนใจของเด็กนอร์ธชอร์ทุกคน ไม่มีใครไม่รู้จักเรจิน่า จอร์จ “เพราะถ้านอร์ธชอร์เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ เรจิน่าจะได้ขึ้นปกตลอดกาล” กลุ่มพลาสติก คือจุดศูนย์กลางของการปกครองในโลก “วัยทีน”

เรจิน่า จอร์จ เป็นผู้หญิงที่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา กลายเป็นภาพสะท้อนต่อโลกที่การปกครองเป็นของผู้ชายได้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอคือสาวผมบลอนด์ ที่ในสังคมอเมริกัน (ผู้ชาย) ก็มักจะตีตราว่า ผู้หญิงผมบลอนด์คือพวกไม่มีสมอง

จะจริงหรือไม่ก็ตาม เรจิน่า ก็ใช้ความผมบลอนด์ และความสวยของเธอทำให้คนทุกคนในนอร์ธชอว์ตกเป็นเหยื่อของเธอได้ทั้งหมด เธอคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้แต่ผู้ชายก็ต้องยอมศิโรราบให้เธอ หรือแม้แต่ไล่เจสันที่ทำตัวไม่ดีใส่ลูกสมุนของเธอ เธอก็สามารถไล่เขาให้กลับไปทางที่เขามาได้อย่างง่ายดาย

กฎเกณฑ์ต่างๆ ในกลุ่มพลาสติกที่เคที่ได้เข้าไปเผชิญ ถือเป็นเรื่องใหม่ และเป็นกฏการปกครองที่ผู้หญิงทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกัน

“หากสนใจใคร หรือจะใส่อะไรต้องปรึกษาเพื่อนๆก่อน”

“ฉันเสียเวอร์จิ้นไปแค่ครึ่งเดียวตอนที่คบกับเขา”

“ห้ามคบกับแฟนเก่าเพื่อน มันเป็นกฎของเฟมินิสต์”

“ทุกวันพุธเราใส่สีชมพู”

สปริงฟลิง คิงและควีน

เรจิน่า จอร์จ ไม่ใช่แค่ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จกับชีวิตนอกห้องเรียน แต่ในระบบของโรงเรียนเธอก็ผูกขาดเช่นกัน เพราะเธอ “ชนะตำแหน่งสปริงฟลิงควีน” เสมอ และเดเมี่ยนกล่าวว่า “หากใครได้รับเลือกให้เป็นสปริงฟลิงคิงหรือควีน ก็จะได้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการนักเรียนไปโดยปริยาย”

แต่แน่นอน ถึงเดเมี่ยนจะอยากเป็นหัวหน้าคณะกรรมการแค่ไหน แต่เขาเป็นเกย์ เขาจึงไม่สามารถที่จะได้ตำแหน่งนั้น เพราะตำแหน่งนี้มันได้มาจากการโหวตหรือเลือกตั้ง และเขา “เกย์เกินกว่าจะฟังค์ชั่น” หรือมีประโยชน์ นั่นเป็นคำที่เพื่อนสนิทของเขายังเรียกเลย

ฉะนั้นการจะ “ล้ม” การปกครองของเรจิน่า จึงมีผลกับคนทั้งโรงเรียน การปกครองแบบเบ็ดเสร็จของเธอจึงไม่มีทางที่จะไม่สร้างบาดแผลให้ใครเลย เจนิส เอียน เธอคือคนชายขอบผู้ได้รับผลกระทบคนแรกๆ จากเรจิน่า เธอจึงใช้เคดี้เป็นเครื่องมือ เพื่อทำลายพรรค “พลาสติก” ลงซะ ก่อนที่เรจิน่า จะเถลิงอำนาจไปมากกว่านี้

เคดี้ ไม่เห็นด้วยกับเจนิสเท่าไหร่นัก แต่เธอทำไปเพราะกลัวเสียเพื่อน เธอยังคงมองว่าเรจิน่า เป็นคนที่น่ารัก เป็นเหมือนบาร์บี้ที่เธอไม่เคยมี และต่อให้เธอร้ายกาจต่อหน้าเธอกี่ครั้งก็ตาม เธอก็ยังไม่รู้สึกอะไร

จนกว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเธอเอง เมื่อเรจิน่าคิดว่าผู้ชายอย่าง แอรอน เป็นสมบัติของเธอ แม้ว่าเธอจะเลิกกับเขาไปแล้ว เขาก็ไม่มีสิทธิคบกับเคดี้ หรือใครๆทั้งนั้น

เคดี้จึงใช้ความแค้นนี้ ร่วมมือกับเจนิส เพื่อหวังชิงแอรอนคืน แต่เจนิสและเดเมี่ยนกลับคิดการใหญ่กว่านั้น 

ทำไมซีซาร์ยังเยื้องย่างได้อย่างราชา ขณะที่เราต้องระแวงไม่ให้โดนขยี้

ในวิชาวรรณกรรมวิพากษ์ เป็นสัญลักษณ์ที่หนังใส่ให้เรา เกร็ทเช่นและเคดี้ เข้าเรียนวิชานี้ และอาจารย์ก็ใช้เรื่องกษัตริย์อย่างซีซาร์เป็นสัญลักษณ์แทนการล้มเรจิน่า เมื่อเกร็ทเช่นสติแตก จากการโดนแย่งตำแหน่งเพื่อนรัก ความลับทั้งหมดจึงรั่วไหล เคที่จึงแค่รอว่าจะต้องใช้อันไหน

การล้มเรจิน่าใช้หลักใหญ่ๆ อยู่แค่สองอย่าง คือ หนึ่ง ทำลายจุดเด่นหรือข้อดีเดียวของเธอ ซึ่งก็คืดความสวย เคดี้จึงทำลายหุ่นของเธอซะ เพื่อให้หนุ่มๆ เลิกหลงใหลเธอ รวมถึงแอรอนด้วย สอง ผู้ติดตามที่ภักดี อย่างเกร็ทเช่นและแคเรน เคที่ก็แค่ต้องทำให้กลุ่มนี้แตกกัน

แต่การล้มเรจิน่านั้น เคดี้ก็ไม่ใช่แค่คนเดียวที่เล่นเกมนี้ เดเมี่ยนก็ใช้กำลังของเขาเล่นนอกเกมเหมือนกัน เขาเป็นคนคุมกล่องการเลือกตั้งตำแหน่งคิงและควีน เขาก็เลยใช้วิธีสอดไส้ผลโหวตให้มีชื่อของเจนิสเข้าไปเสนอชิง ทำให้เห็นว่าในโลกของเกย์หรือมนุษย์ชายขอบ เขาต้องทำอะไรมากกว่าคนอื่น หรือต้องเล่นนอกเกมเพื่อให้ได้เข้าสู่สนามปกครอง

เคดี้เดินตามแผนไปทีละขั้นตอนจนสามารถทำลายเรจิน่าได้สำเร็จ ทั้งแผนนินทา ซึมซับความเป็นพลาสติกเข้ามาตีเนียน เอาความลับของเธอไปขาย แต่ทว่าเมื่อลงมือกบฎแล้ว ก็ต้องมีผู้ปกครองคนต่อไป และคนที่ได้ตำแหน่งควีนบีมาได้แทนเรจิน่า ก็คือตัว “เคดี้” เอง โดยที่เธอไม่รู้ตัว

เบิร์นบุ๊ค

สมุดเก็บความลับ และเรื่องฉาวของคนทั้งโรงเรียน เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ต่อเสริมเติมแต่งกันไปเรื่อย แล้วแต่อารมณ์ของพลาสติกทั้งสี่คน มันเป็นเหมือนโลกกึ่งส่วนตัวของชนชั้นปกครองอย่างแกงค์พลาสติก เทียบได้กับแชทลับ หรือโซเชี่ยลมีเดียในยุคปัจจุบัน กฎเหล็กของเบิร์นบุ๊คคือ ใครจะเห็นสมุดเล่มนี้ไม่ได้ “ก็หวังว่าจะไม่มีใครเห็นสมุดเล่มนี้นะคะ” แคเรนกล่าวเอาไว้ เพราะแม้แต่คนที่โง่ที่สุดอย่างเธอ ก็รู้ว่าเบิร์นบุ๊คมันสามารถทำลายการระบบทั้งหมดของสังคมได้เลย

และมันก็เป็นแบบนั้น

เมื่อเรจิน่ารู้ตัวว่าถูกแทงข้างหลัง เหมือนที่ซีซาร์ถูกบรูตัสกบฎ เธอจึงใช้อาวุธไม้ตายที่อันตรายที่สุด ซึ่งก็คือ “ความลับ” เบิร์นบุ๊คทั้งเล่มมันถูกกระจายไปทั่วทั้งโรงเรียน โดยเธอไม่สนว่าใครหน้าไหนจะได้รับความเจ็บปวด

“นักเรียนกลายเป็นสัตว์ป่าไปแล้วค่ะ”

เมื่อความลับ และความโกรธระหว่างกันไม่เหลือกฎเกณฑ์อะไรควบคุมอีก มนุษย์เราก็ไม่ต่างจากสัตว์ป่า หรืออารยธรรมเดิมที่เคที่เรียนรู้มาจากแอฟริกา หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็น “The Purge” ในโลกวัยรุ่นได้อย่างน่ากลัวและป่าเถื่อนผ่านความตลบขบขัน

หนังยังมีซีนที่สองสาวเพื่อนซี้ทะเลาะกัน และล้มไปทับ “กล่องเลือกตั้ง” อีกด้วย

และเรจิน่ายังคงสถานะนักกุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น เธอไม่สะทกสะท้านในการเขย่าระบบสังคมทั้งหมด และไม่มีความสัมพันธ์ใดที่เธอจะใช้ประโยชน์ไม่ได้ เธอได้แค่ยืนมองระบบสังคมล่มสลายไปต่อหน้าอย่างพอใจเท่านั้น 

ลักษณะตัวร้ายแบบเดียวกับ Joker แต่ เรจิน่าโดยไม่ต้องใช้สีทาหน้า ปลอมตัว หรือสวมหน้ากาก

มงกุฎนี้ มันต้องเป็นของทุกคนสิ

การแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ ครูนอเบอรี่เลือกใช้ “การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์” หรือ Creativity เข้ามาแก้ปัญหา เธอให้ทุกคนเปิดใจ ขอโทษ และกระโจนตัวใส่กัน แม้ว่ามันไม่ได้ผลกับทุกคน เพราะเรจิน่าไม่ยอมรับผิด ส่วนเกร็ทเช่นไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิด

“เพราะฉันป๊อปปูล่าไปเอง”

ซึ่งก็จริงของเธอ เธอแค่สวยและเป็นที่สนใจของทุกๆ คน เช่นเดียวกับเรจิน่า ซึ่งวิธีของครูนอเบอรี่นั้น แท้จริงแล้วมันอาจแก้ไขนิสัยของทุกคนไม่ได้ แต่ทว่า Creativity ของเธอ ขุดไปให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา เจนิสยอมรับว่าตัวเองเป็นคนคิดแผนการทั้งหมดขึ้นมา และใช้เคที่เป็นเครื่องมือ

แต่เคดี้ก็กลายเป็นพลาสติกคนต่อไปเสียแล้ว เธอก็เหมือนกับเรจิน่า ต่างกันเพียงแค่เรจิน่าไม่แคร์ว่าใครจะเกลียดเธอบ้าง เพราะเธอรู้ว่าข้อดีของเธอคืออะไร ผิดกับเคดี้ที่เธอแคร์ทุกคนว่าจะไม่ชอบเธอ เพราะเธอไม่รู้และไม่ยอมรับว่าข้อดีของเธอนั้นไม่ใช่การเป็นพลาสติก แต่เป็นนักแคลคูลัสที่เก่งกาจ เก้าอี้ของเธอไม่ใช่ที่นั่งศูนย์กลางของโรงอาหาร แต่เป็นเวทีการแข่งขันตอบปัญหาคณิตศาสตร์

แน่นอน การเป็นนักคณิตศาสตร์เป็นเรื่องชวนอ้วกสำหรับคนอื่นๆ มาตั้งแต่เริ่ม เคลวิน จี เองที่เป็นหัวหน้าทีมแข่ง ยังคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น และคณิตศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชาย เหมือนในเพลงที่เขาแร๊พ หรือแม้แต่เดเมี่ยนกับเรจิน่าก็ยังบอกเหมือนกันอีกว่า การเข้าชมรมคณิตศาสตร์เป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย แต่ใครสน เคดี้พาทีมชนะเลิศ การแข่งขันรางวัลคณิตศาสตร์ระหว่างรัฐ

“คนสุดท้าย เราขอเลือกผู้หญิงมาตอบ”

“เราก็เลือกผู้หญิงบ้าง”

ทั้งสองทีม เลือกผู้หญิงมาตอบข้อสุดท้าย เพราะหวังจะเฉือนกันที่ความโง่ของสาวบลอนด์ และสาวเนิร์ด แต่ที่ไหนบ้างที่ไม่มีการเหยียด เคที่จึงรู้ว่าในที่สุด หากเธอไม่เลือกจะยอมรับการเหยียดและหลบหลีกมาตั้งแต่แรก เธอก็จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเกลียดโดยทุกคนอยู่ดี

เคดี้จึงเลือกทางออกอย่างสร้างสรรค์ตามที่เธอตอบครูนอเบอรี่

“เธอไม่ได้เขียนทั้งหมดนั่นเองนะ”

“หนูกำลังลองทำสิ่งใหม่ๆดูค่ะ คือเลิกโทษคนอื่น”

สุดท้ายผลของคนที่ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งก็ไม่ได้ผิดคาด การทำลายชีวิตเรจิน่า ไม่ได้ทำให้เธอเลิกเป็นที่นิยม เธอร้ายกาจยังไงเธอก็ถูกเลือก ถูกสนใจอยู่ดี เจนิส และเดเมี่ยนเล่นนอกกฎจนได้เสนอชื่อมาอยู่บนเวทียังไง คนที่ได้รับเลือกสุดท้ายก็ไม่ใช่เจนิส แต่เป็นเคดี้

เธอใช้คำว่า “ทุกคนในคืนนี้ดูเหมือนราชนิกูล เพราะงั้น เรามาแบ่งกันนะ” เธอ “หักมงกุฎทิ้ง” และแจกมันให้กับทุกคน หลังจากนี้ ทุกคนมีอำนาจเท่ากัน

วิธีสร้างสรรค์ นำพามนุษย์จากแอฟริกา ให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับระบบที่อำนาจ จะไม่ผูกเบ็ดเสร็จกับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่มีใครเพอร์เฟคไปทั้งหมด 

“การว่าคนอื่นอ้วน ก็ไม่ได้ทำให้คุณดูผอมลงไป การว่าคนอื่นว่าโง่ ก็ไม่ได้ทำให้คุณดูฉลาดขึ้น การทำลายชีวิตเรจิน่า จอร์จ ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น”

เพราะงั้นสิ่งที่ควรทำไม่ใช่มานั่งเจ็บปวดกับคำพูดเหล่านั้่น เราต้องพัฒนาตัวเอง ไปสู่เวทีการแข่งขันในที่ของตัวเอง และไปสู้กันในสนามเลือกตั้งในท้ายที่สุด

เครื่องมือสุดสร้างสรรค์นี้เราเรียกว่า “ประชาธิปไตย”

ระบบที่อนุญาติให้คุณเกลียดใคร ไม่พอใจก็ได้ แต่เราสู้กันในจุดที่ไม่มีใครต้องกลับไปเป็นสัตว์ป่า

แน่นอนหนังเรื่องนี้ถูกเกลาให้เหลือเพียงภาพของหนังวัยรุ่นจิกกัดคอมมาดี้ แต่ทว่านี่คือภาพสะท้อนของมนุษย์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เรื่องหนึ่งนั่นเอง

เพราะฉะนั้น มาเร็วนังบ้านนอก

เรามาดูระบบสังคม ผ่าน Pop-Culture กัน

ภาพประกอบ: Paramount Pictures

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า