fbpx

เมื่อมาสเตอร์เชฟ 5 เอาผู้แข่งขันที่ติดโควิดกลับมา กับการสะท้อนภาพโควิดในสังคมไทย

มาสเตอร์เชฟประเทศไทยซีซั่น 5 กำลังคุกรุ่นไปด้วยการแข่งขันที่วัดกันด้วยฝีมือของ Home Cook อย่างที่รายการย้ำนักย้ำหนา และดราม่าในสนามที่ร้อนฉ่าแซบซี๊ดได้อยู่ทุกตอน

สิ่งที่ผู้คนกำลังพูดถึงในรายการตอนที่เพิ่งออกอากาศไป (และหาว่าเราสปอยล์ไม่ได้ด้วยนะ) คือการปรากฎตัวของผู้แข่งขันที่ได้ผ้ากันเปื้อน (เข้ารอบ) เป็นกลุ่มแรก ได้แก่อังกฤษ, แหม่ม, เจค, เริญ, เท็น และหมู แต่พวกเขาทั้งหมดดันใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 จนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวตามมาตรการของรัฐ จนได้กลับมาแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งพวกเขาต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะกลุ่มผู้แข่งขันที่กำลังอยู่ในบททดสอบ Skill Test จากตอนที่แล้ว ที่ประกอบไปด้วยยุพ, ข้าวทิพย์, นุ, หยก, อาร์ท และเบล โดยหลายคนเข้าใจว่าผู้แข่งขัน 6 คนนั้นถูกตัดสิทธิ์จากรายการไปแล้ว ผู้แข่งขันบางคนจึงเกิดท่าทีที่ไม่พอใจขึ้นมาในทันที โดยเฉพาะนุที่ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์เดี่ยวหรือการแสดงออกในรายการ ก็ย้ำเสมอว่า “เขาไม่ดูแลตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องมาแข่งขัน” และ “จะมาโทษโรคระบาดไม่ได้ มันเป็นความผิดของเขาที่เขาไม่ดูแลตัวเอง”

นอกจากวิธีคิดของนุจะ “ไม่สมเหตุสมผล” อย่างมากทั้งในการตัดสินผู้ที่ต้องกักตัวจากโควิดว่าเป็นคนที่ “ไม่รับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “ไม่ดูแลและป้องกันตนเอง” สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ฉายภาพความน่ากลัวของผู้คนในสังคมที่มีต่อโรคโควิด-19 อย่างมาก

ยังมีผู้คนอีกมากที่ถูกตีตราและถูกรังเกียจจากสังคมเมื่อติดเชื้อโควิด หรือต้องกักตัวจากการใช้ชีวิตปกติไม่ว่าจะจากการทำงาน การพบเจอกลุ่มเสี่ยง หรือการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ยังพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน หอพัก หรือคอนโดมิเนียมจากกลุ่มนิติบุคคลเมื่อลูกบ้านมีความเสี่ยง การถูกกีดกันจากสถานประกอบการเมื่อติดเชื้อ การถูกติฉินนินทาจากผู้คนรอบข้าง และการถูกคอมเมนต์ด่าเสียหายจากชาวเน็ตเมื่อเราประกาศไทม์ไลน์ย้อนหลัง 14 วัน

การเถียงกันระหว่างผู้แข่งขันที่กำลังจะเสี่ยงตกรอบ ผู้แข่งขันที่เพิ่งได้โอกาสกลับมาแข่ง และคณะกรรมการ จึงกลายเป็นภาพจำลองที่ทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้นถึงความคิดของผู้คนที่มีต่อการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ดังที่เชฟป้อม-หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ย้ำในช่วงเวลาของการถกเถียงว่า

“คนที่เขากักตัว เขารับผิดชอบต่อสังคม เขาผิดด้วยเหรอคะ คุณจะไม่ให้โอกาสเขาเลยเหรอ?”

ซึ่งเป็นจังหวะที่พอดีกับการตัดสลับให้ผู้ชมได้เห็นว่า ผู้แข่งขันบางคนที่ยืนอยู่ในการแข่งขัน แท้จริงเขาเคย “ตกรอบ” และได้รับ “โอกาสที่สอง” ​มาก่อน ทั้งจากคณะกรรมการ หรือการที่เพื่อนเลือกให้เข้ารอบ (ซึ่งนุก็คือคนที่เคยได้รับโอกาสที่ว่านั้นนั่นแหละ)

ฉากนี้ของมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย แจ่มชัดในการแสดงออกถึงการ “เข้าใจ” ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผู้คนยังคงหวาดกลัวจากการผลิตซ้ำของสื่อ ที่ตอกย้ำให้ประชาชนยัง “กลัว” การออกมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ รวมถึงการตอกย้ำถึงคุณค่าของ “โอกาส” ที่ไม่ว่าคุณจะมีโอกาสครั้งสุดท้ายจากความพยายาม หรือได้รับมันเพราะความโชคดี

เราไม่ควรปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป และต้องทำทุกฉากในชีวิตให้ดีที่สุด

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า