fbpx

เลือกผู้กำกับยังไงให้หนังปัง (หรือพัง) ไขแนวคิดการเลือกผู้กำกับฉบับจักรวาลมาร์เวล

หากเราจะพูดถึงแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก ณ เวลานี้ นึกง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็คงหนีไม่พ้นแฟรนไชส์ที่ชื่อว่า Marvel Cinematic Universe (MCU) หรือเรียกกันสั้น ๆ ติดปากคนทั่วไปว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล ด้วยรายได้นับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากหนังกว่า 28 เรื่อง (นับถึง 23 มิถุนายน 2565) ได้การันตีสถานะของแฟรนไชส์ที่หากจะพูดว่าประสบความสำเร็จที่สุดในวงการภาพยนตร์โลก ก็คงไม่เกินเลยไปนัก 

แต่แน่นอนว่าความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เพราะโชคช่วยหรือเป็นเรื่องบังเอิญ สิ่งที่ Marvel Studios ได้ทำลงไปก็ไม่ใช่การสุ่มทำไปมั่ว ๆ และดันประสบความสำเร็จ หากแต่มันคือการวางแผนในระยะยาวอย่างรัดกุม ผ่านการควบคุมโดยละเอียดในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเรื่องราว โทนของภาพยนตร์ แม้แต่ประเภท (Genre) ของภาพยนตร์ โดยทีมงานที่มีหัวเรือใหญ่คือ เควิน ไฟกี ผู้เป็นบอสใหญ่ของสตูดิโอ ที่คอยวางทิศทางและกำหนดภาพรวมของหนังทุกเรื่องในแฟรนไชส์ 

จากความสำเร็จอย่างมหาศาลทำให้ เควิน ไฟกี กลายเป็นโปรดิวเซอร์มือทองผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูด ณ เวลานี้ และมันทำให้เขาตัวใหญ่มาก ๆ เมื่อเดินเข้าไปในออฟฟิศของบริษัทแม่อย่าง Disney เพื่อนำเสนอหรือขายงานอะไรสักอย่าง 

Kevin Feige – Courtsey of 24talker

แต่เรากำลังพูดถึงภาพยนตร์ และตำแหน่งโปรดิวเซอร์มิใช่ตำแหน่งที่เป็นผู้ที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายและเป็นผู้เล่าเรื่องหนังเรื่องนั้น หากแต่มันคือตำแหน่งผู้กำกับที่ทำหน้าที่นั้น ซึ่งเรื่องที่ถือเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาภายใต้แบรนด์มาร์เวล ก็คือการเลือกผู้กำกับให้มารับผิดชอบหนังแต่ละเรื่องได้อย่างถูกต้องเกือบทุกงาน ที่น่าแปลกกว่านั้น คือผู้กำกับแต่ละคนนั้นส่วนมากเป็นผู้กำกับสายหนังอินดี้ บ้างก็เป็นผู้กำกับธรรมดาที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เคยจับงานฟอร์มใหญ่มาก่อน และหนำซ้ำบางคนเป็นเพียงคนทำหนังตลกธรรมดาคนหนึ่งด้วยซ้ำไป

แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาร์เวลจะเลือกผู้กำกับได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะกับหนังบางเรื่อง เรากลับรู้สึกว่าผู้กำกับก็ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากนักจนถูกความเป็นมาร์เวลกลืนกินไปหมด จนเราไม่รู้สึกถึงตัวตนผู้กำกับเลยแม้แต่น้อย อาทิเช่นงานอย่าง Captain Marvel (2019), Black Widow (2021) เป็นต้น แต่ยังดีที่หากวัดจากสัดส่วนหนังทั้งหมด ก็ถือว่าถูกต้องมากกว่าผิด

ชื่อผู้กำกับอย่าง จอสส์ วีดอน, โจ และ แอนโธนี รุสโซ, เจมส์ กันน์, จอน แฟฟโร, จอน วัตต์ส และ ไทก้า ไวติตี ล้วนแล้วแต่เป็นผู้กำกับที่เมื่อทางมาร์เวลประกาศออกมาแล้ว แฟนหนังได้แต่ทำหน้าฉงนเมื่อเห็นรายชื่อ บางรายอาจผ่านตามาบ้าง แต่นึกไม่ออกว่ามันเหมาะสมกับหนังมาร์เวลยังไง จนถึงตอนนี้ไม่มีใครมีคำครหากับผู้กำกับเหล่านี้อีก และทั้งหมดล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูง

ในขณะที่สตูดิโออื่น ๆ มักจะเลือกผู้กำกับชื่อดังที่มีผลงานฮิตการันตีในฝีมือมากำกับหนังฟอร์มใหญ่ให้ตัวเอง แต่มาร์เวลกลับเลือกใช้ผู้กำกับหน้าใหม่มีแนวทางหลากหลาย แต่กลับประสบความสำเร็จมากกว่า … และอะไรคือแนวคิดการเลือกผู้กำกับของมาร์เวล? 

Thor: Love & Thunder – Courtsey of Marvel

ไอเดียสดใหม่กับความเป็นมาร์เวล ต้องไปด้วยกัน

ต้องบอกก่อนว่ามาร์เวลไม่ได้ใช้ผู้กำกับโนเนมมากำกับทุกคน เพราะกับบางเรื่องมาร์เวลก็เลือกผู้กำกับที่มีชื่อเสียงมากำกับ ไม่ว่าจะเป็น เคนเนธ บรานาห์ ใน Thor (2011) โจ จอห์นสตัน ใน Captain America: The First Avenger (2011) หรือรายล่าสุดอย่าง แซม ไรมี ใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) แต่มันคงมีเหตุผลว่าทำไมส่วนใหญ่มาร์เวลถึงไม่เลือกผู้กำกับเบอร์ใหญ่มากำกับหนังให้ นั่นก็เพราะมาร์เวลต้องการไอเดียที่สดใหม่จากผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับคนนั้นก็ต้องเปิดรับแนวทางของมาร์เวลด้วย

ลองคิดดูว่าหากมาร์เวลเลือกผู้กำกับชื่อดังที่มีผลงานคุณภาพการันตีอยู่แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น? มาร์เวลคงไม่สามารถจะควบคุมทิศทางของหนังและวิสัยทัศน์ของหนังได้มากพอ เพราะผู้กำกับเบอร์ใหญ่ทั้งหลายก็จะมาพร้อมกับไอเดียและวิสัยทัศน์ของตนเอง และแน่นอนว่าเขาต้องมาพร้อมกับอีโก้จากความสำเร็จที่ผ่านมาของตัวเอง 

ลองนึกภาพว่า ไมเคิล เบย์ มากำกับ Captain America: The Winter Soldier หรือ สตีเวน สปีลเบิร์ก มากำกับ Spider-Man: Homecoming การทำงานของมาร์เวลกับผู้กำกับเหล่านี้ก็คงไม่ราบรื่นเท่าไหร่นักหรอก ซึ่งเคยมีกรณีที่มาร์เวลได้ติดต่อและวางตัวผู้กำกับฝีมือจัดจ้านที่มีตัวตนชัดเจนอย่าง เอ็ดการ์ ไรท์ ที่มีงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์อย่าง Shaun of the Dead (2004) และ Scott Pilgrim vs. the world (2010) ให้มากำกับ Ant-Man มาแล้ว แต่ก็ต้องแยกทางกันเนื่องจากความคิดเห็นของวิสัยทัศน์ของหนังที่ไม่ตรงกัน และสุดท้าย Ant-Man ก็มาลงเอยที่ผู้กำกับสายหนังตลกอย่าง เพย์ตัน รีด แทน

Peyton Reed – Courtsey of Yahoo!

ซึ่งที่กล่าวมา ไม่ใช่ว่าทางมาร์เวลนั้นต้องการจะควบคุมหนังด้วยตัวเองแบบ 100 % โดยให้ผู้กำกับเป็นแค่ร่างทรงหรือมือปืนรับจ้างที่ทำงานตามใบสั่งอย่างเดียว แต่มันเป็นการทำงานที่พบกันครึ่งทาง ที่ผู้กำกับต้องเข้าใจและเปิดรับรูปแบบของความเป็นมาร์เวล เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถใส่ความเป็นตัวเองได้ตามที่เห็นสมควรได้เลย โดยประเด็นนี้ทางเจมส์ กันน์ ผู้กำกับ Guardians of the Galaxy ทั้งสองภาค (และภาคสามกำลังจะตามมาในปีหน้า) ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าทางมาร์เวลให้อิสระในการทำงานของเขาอย่างมาก ปล่อยให้เขาได้ใส่ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ ภายใต้ความเหมาะสมและเรตติ้งของหนัง 

ก็เพราะมาร์เวลก็ต้องการไอเดียที่สดใหม่และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้กำกับมาผสมด้วย และเพราะแบบนั้นแหละ หนังแต่ละเรื่องของมาร์เวลถึงมีรสชาติที่แตกต่างกันและไม่ได้ซ้ำรอยเดิมมากเกินไปนัก

James Gunn – Courtsey of This is Game Thailand

เคยมีประสบการณ์ทำหนังใหญ่มาก่อน ไม่สำคัญเท่าเข้าใจเรื่องราวของหนังแค่ไหน

มีผู้กำกับหลายคนในลิสต์ ที่ก่อนมากำกับหนังหนังมาร์เวล พวกเขายังไม่เคยจับงานกำกับหนังใหญ่มาก่อนเลย บางคนเคยเขียนบทหนังฮิต บางคนแค่เคยกำกับหนังฟอร์มเล็ก ๆ เท่านั้น แต่สำหรับมาร์เวล สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ประสบการณ์ แต่มันอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องที่จะเล่าแค่ไหนต่างหาก 

รายของ จอสส์ วีดอน เป็นหนึ่งตัวอย่างที่บอกว่ามาร์เวลเลือกเขาเพราะวีดอนคือเด็กเนิร์ดตัวยงที่บ้ามาร์เวลคอมิคเข้าไส้ และมีผลงานกำกับหนังฟอร์มกลาง ๆ อย่าง Serenity (2005) ที่ได้รับกล่าวถึงในฐานะหนังคุณภาพอีกเรื่องที่ผู้คนมักมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝีมือการเล่าเรื่องตัวละครเยอะ ๆ ได้อย่างลงตัว ซึ่งมาร์เวลก็เลือกเขามากำกับหนังที่ได้รับความคาดหวังสูงลิบลิ่วอย่าง The Avengers (2012) ในฐานะหนังรวมทีมฮีโร่มาร์เวลอย่างเป็นทางการเรื่องแรกของสตูดิโอ และผลลัพธ์ของหนังเรื่องนี้ มันก็ถูกยกย่องในฐานะหนังรวมทีมฮีโร่ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นหนังมาร์เวลเรื่องแรกที่ทำรายได้ผ่านหลักพันล้านเหรียญได้สำเร็จ ปักหมุดหมายที่วางรากฐานจักรวาลมาร์เวลจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่ชื่อเสียงของเขาจะค่อย ๆ แผ่วลงเพราะข่าวที่ไม่สู้ดีนักจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการไปทำงานใน Justice League (2017)

Joss Wheedon – Courtsey of Indiewire

รายของเจมส์ กันน์ กับการมารับหน้าที่ผู้กำกับในหนังรวมแก๊งผู้พิทักษ์กาแลคซี ที่มีตัวละครนำเป็นแก๊งเพี้ยน ๆ เช่น ตัวแรคคูนพูดได้ สิ่งมีชีวิตต้นไม้ที่พูดได้แค่ ‘I Am Groot’ แค่ดูแคแรกเตอร์ตัวละครก็เพี้ยนแล้ว มาร์เวลจึงหันไปเลือกผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนและมีความเพี้ยนที่ส่งผ่านผลงานอยู่ในตัวเกือบทุกเรื่องอย่างเจมส์ กันน์ ซึ่งผลลัพธ์ก็เห็นอยู่ว่าแก๊งพิทักษ์กาแลคซีแก๊งนี้ก็ทั้งได้ใจคนดูไปเต็ม ๆ พร้อมกับความบ้า ๆ บอ ๆ ที่ออกมากำลังดี ที่สำคัญ หัวใจ หรือพาร์ทดราม่าก็ทำงานต่อความรู้สึกคนดูได้เต็มที่

อีกกรณีของมาร์เวล คือในตอนแรกที่เรารู้ว่าทางมาร์เวลกำลังจะสร้างหนังไอ้แมงมุมอีกครั้ง ซึ่งจะเป็น ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ฉบับเด็กไฮสคูล จอน วัตตส์ ก็กลายเป็นตัวเลือก ทั้งที่เขาก็ไม่เคยทำหนังใหญ่มาก่อน แต่ฝีมือจากการทำหนังดราม่าเล็ก ๆ เกี่ยวกับเด็กในโลกอาชญากรรมอย่าง Cop Car (2015) ก็กลายเป็นใบเบิกทางชั้นดีที่ทำให้เขาถูกเลือกให้มากำกับหนังไอ้แมงมุม เพราะเขาเคยพิสูจน์มาแล้วว่าอย่างน้อย เขาก็คือผู้กำกับที่เล่าเรื่องของเด็กกำลังโตได้ดี 

Jon Watts – Courtsey of Indiewire

ต้องการให้แนวหนังเป็นแบบไหน ก็เลือกคนที่ถนัดทางนั้นเข้ามา

แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีบางคนที่เบื่อหนังมาร์เวล จากความซ้ำเดิมที่เริ่มเป็นรูปแบบที่ไม่เกินความคาดหมายใด ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องราวที่หนังมาร์เวลบางเรื่องไม่ได้สื่อสารหรือมีใจความสำคัญอะไรที่ชัดเจนหรือดีพอ แต่เลือกทำเพื่อ Fan Service เพียงอย่างเดียว หรือในอีกแง่ ก็อาจกล่าวในเชิงที่ว่าความเป็นภาพยนตร์ที่ลดน้อยถอยลงจนเป็นแค่สวนสนุกอย่างที่บรรดาผู้กำกับเบอร์ใหญ่อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี เคยว่าไว้  

ไม่ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไร แต่อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับกันตามตรง คือมาร์เวลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่ได้คิดจะเล่นเพลย์เซฟด้วยการทำหนังรูปแบบเดิม ๆ อย่างเดียวโดยที่ไม่คิดจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้กับแฟรนไชส์ของตนเองเลย ไม่เช่นนั้น เราจะไม่ได้รับชมงานอย่าง Eternals (2021) หรือแม้แต่ Doctor Strange in the Multiverse of Madness เลย

โคลอี้ เจา ดูจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ห่างไกลจากความนึกคิดของแฟน ๆ ว่าเธอจะเป็นผู้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่หนังมาร์เวลได้ แม้ว่าช่วงตอนใกล้เข้าฉายเราจะได้รู้จักเธอมากขึ้น เพราะเธอคือผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Nomadland (2020) ซึ่งมาร์เวลไม่ได้เลือกเธอเพราะเธอชนะออสการ์ เพราะ Eternals มันถ่ายทำก่อนที่เธอจะชนะออสการ์ แต่เพราะอะไรกัน ผู้กำกับหญิงสายดราม่าที่เน้นความละเอียดในเรื่องอารมณ์ถึงกลายเป็นตัวเลือกให้มากำกับ Eternals 

Chloé Zhao – Courtsey of South China Morning Post

หากคนที่ดู Eternals แล้ว จะรู้คำตอบของคำถามนี้ เพราะตัวหนังนั้นแตกต่างกับหนังมาร์เวลปกติโดยสิ้นเชิง มันทั้งดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป อุดมไปด้วยงานภาพระดับสูงที่ทั้งสวยและสื่อความหมายในเชิงภาพยนตร์ที่แฝงอยู่ทุกอณู และการลงลึกของปมปัญหาเรื่องราวความเป็นมนุษย์ของตัวละครมากกว่าเรื่องไหน ๆ หรือว่ากันง่าย ๆ มันคือหนังมาร์เวลที่ใช้รูปแบบหนังดราม่าหวังรางวัลมาดำเนินเรื่อง นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมต้องเป็นโคลอี้ เจา 

โดยเฉพาะรายของแซม ไรมี นี่ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่ามาร์เวลต้องการอะไรจากเขา นี่คือผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากหนังสยองขวัญในตำนานแห่งยุค 80 อย่าง The Evil Dead (1981) ที่หากใครเคยดูจะรู้ว่ามันช่างเป็นหนังสยองขวัญที่มีทั้งความ โหด บ้าคลั่ง ดิบเถื่อน และไม่ประนีประนอมต่อความรุนแรงที่บางฉากเข้าขั้นวิตถาร แต่ก็นั่นแหละ นี่คือตัวตนของไรมีในวัยหนุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์แบบบ้าพลัง ที่แม้ว่าเวลาผ่านไปเขาจะมีงานกำกับหนังฟอร์มใหญ่อย่าง Spider-Man ฉบับ โทบี้ แม็กไกวร์ ทั้งสามภาคมาแล้ว แต่เราก็ยังแอบเห็นเขาใส่ Moment ที่มีกลิ่นหนังสยองขวัญนิด ๆ เจือปนอยู่เสมอ เสมือนว่าแนวหนังสยองขวัญมันฝังอยู่ในสายเลือดของเขา 

Doctor Strange in the Multiverse of Madness จึงนับเป็นอีกความใจกล้าและเป็นการเลือกผู้กำกับอย่างถูกต้อง เมื่อมาร์เวลต้องการให้เรื่องนี้มีกลิ่นหนังสยองขวัญ เพราะว่ากันตามตรง แม้หนังจะมีเรื่องราวที่ไม่ค่อยจะมีแก่นสารใด ๆ นอกจากการท่องโลกพหุจักรวาลไปพบเจอเรื่องราวต่าง ๆ แต่มันปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนที่ทำให้หนังสนุกขึ้นเยอะ คือพาร์ทความสยองขวัญจากตัวตนของไรมีนั่นแหละ 

Doctor Strange in the Multiverse of Madness – Courtsey of Marvel

และรายล่าสุดอย่างไทก้า ไวติตี ผู้กำกับชาวนิวซีแลนด์ที่ก่อนได้รับเลือกให้มากำกับหนังเทพเจ้าสายฟ้าอย่าง Thor: Ragnarok (2017) และล่าสุดกับ Thor: Love and Thunder (2022) เขาเป็นเพียงผู้กำกับหนังตลกที่เริ่มมีชื่อเสียงจากหนังตลกที่ได้รับคำชมไปหนาหูอย่าง What We Do in the Shodows (2014) ซึ่งลายเซ็นความตลกเฉพาะตัวของเขา คงไปเข้าตาทางมาร์เวลที่เล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วตัวละครเทพเจ้าสายฟ้าอย่าง ธอร์ เป็นตัวละครตลก เพราะด้วยแคแรกเตอร์ที่ดูเด๋อด๋าไม่ทันโลก ทำให้สตูดิโอตัดสินใจเปลี่ยนแนวหนังเทพเจ้าสายฟ้าให้มีโทนตลกมากขึ้น โดยไวติตีก็คือตัวเลือกนั้น และมันก็ออกมายอดเยี่ยมจนกลายเป็นหนังเดี่ยวของเทพเจ้าสายฟ้าที่ได้รับคะแนนรีวิวดีที่สุด และในเวลาต่อมาฝีมือของเขาก็สำแดงเดชอย่างเด่นชัดขึ้น ในการทำหนังดราม่า-ตลกคุณภาพอย่าง Jojo Rabbit (2019) จนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว

ซึ่งวิธีการนี้ของมาร์เวล ส่งผลต่อวิธีการเลือกผู้กำกับของฮอลลีวูดอย่างไม่มากก็น้อย ดังที่เราได้เห็นว่ามีผู้กำกับหน้าใหม่จากสายอินดี้หรือผู้กำกับจากหนังสายคอมเมดี้ ได้โอกาสมากำกับหนังฟอร์มใหญ่มากมาย และทำออกมาได้ดีเสียด้วย เช่น โคลิน เทรโวรโรว์ ที่ได้โอกาสมากำกับหนังอย่าง Jurassic World (2015), ไรอัน จอห์นสัน ที่ได้โอกาสกำกับ Star Wars: The Last Jedi (2017) หรือผู้กำกับสายหนังตลกผู้ใหญ่อย่าง ท็อดด์ ฟิลลิปป์ ที่ได้โอกาสเปลี่ยนแนวมากำกับหนังอาชญากรรมดราม่าจากคอมิคอย่าง Joker (2019) จนทำรายได้ถล่มทลายและได้รับคำชมไปมหาศาล

แน่นอนว่านอกจากความสำเร็จส่วนตัวแล้ว มาร์เวลได้ทำสิ่งหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือการเปิดเทรนด์การเลือกผู้กำกับหน้าใหม่ของสตูดิโอให้มีโอกาสแสดงศักยภาพและมีพื้นที่เติบโตในวงการ โดยดูที่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในตอนนี้หนังฟอร์มใหญ่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เฉพาะกับผู้กำกับชื่อดังอีกต่อไปแล้ว และมันเป็นการกระตุ้นในทางอ้อมว่าผู้กำกับชื่อดังทั้งหลายจำเป็นต้องพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานตัวเอง มิเช่นนั้นอาจโดนพวกผู้กำกับรุ่นใหม่เข้าไปแทนที่ในสักวัน 

Thor: Love & Thunder – Courtsey of Marvel

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า