fbpx

ลำดับเหตุการณ์: จากการเปิดโปงโดยสื่อ สู่การถูกแบนของ ‘แมนเชสเตอร์ซิตี’

สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ถูกแบนจากการแข่งขันทุกรายการในระดับทวีปที่จัดโดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เป็นเวลา 2 ฤดูกาล (2020-21 และ 2021-22) พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 30 ล้านยูโร หลังพบว่าสโมสรละเมิดกฎทางการเงินหรือ “Financial Fair Play”

ทางด้านแมนเชสเตอร์ซิตีระบุว่า “พวกเขาผิดหวัง แต่ไม่รู้สึกแปลกใจ” ในคำตัดสินครั้งนี้ และเตรียมที่จะยื่นอุธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาในเร็ว ๆ นี้

ลำดับเหตุการณ์

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วจากการถูกเปิดโปงโดยนิตยสารรายสัปดาห์ของเยอรมนี และนี่คือลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่การถูกแฉโดยสื่อจนนำไปสู่การถูกแบนในครั้งนี้:

พฤศจิกายน 2018
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ Der Spiegel นิตยสารรายสัปดาห์ของเยอรมนีได้ออกมาเปิดเผยว่าแมนเชสเตอร์ซิตีและกลุ่มผู้สนับสนุนจงใจหลีกเลี่ยงกฎทางการเงิน หรือ “Financial Fair Play” (FFP) ของยูฟ่า โดยในข่าวระบุว่า Sheikh Mansour เจ้าของสโมสรได้จ่ายเงินของตัวเองไปยังสโมสรโดยตรงผ่านกลุ่มผู้สนับสนุน

มีนาคม 2019
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เปิดฉากสอบสวนสโมสร จากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎทางการเงิน (FFP) โดยยูฟ่าแถลงว่า “ในการสอบสวนจะมุ่งเน้นไปที่การละเมิดกฎ FFP จากการที่สื่อหลายสำนักออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้”

พฤษภาคม 2019
New York Times รายงานว่าคณะกรรมการสอบสวนของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปเตรียมเสนอให้ลงโทษ โดยห้ามลงแข่งขันที่จัดโดยยูฟ่าเป็นเวลา 1 ฤดูกาล ต่อมา แมนเชสเตอร์ซิตีออกแถลงการณ์ว่าพวกเขา “รู้สึกผิดหวัง แต่ไม่แปลกใจกับคำตัดสิน”

มิถุนายน 2019
แมนเชสเตอร์ซิตียื่นอุธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) เพื่อชะลอคำตัดสินของยูฟ่า

พฤศจิกายน 2019
ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ปฏิเสธคำร้องอุธรณ์ของแมนเชสเตอร์ซิตี

14 กุมภาพันธ์ 2020
แมนเชสเตอร์ซิตี ถูกแบนจากการแข่งขันทุกรายการในระดับทวีป เป็นเวลา 2 ฤดูกาล พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 30 ล้านยูโร ซึ่งหลังจากนี้แมนเชสเตอร์ซิตีเตรียมจะยื่นอุทธรณ์โทษแบนดังกล่าวต่อไป

กฎ Financial Fair Play (FFP) คืออะไร?

กฎ Financial Fair Play เป็นกฎที่ออกโดยยูฟ่า เพื่อให้สโมสรที่เข้าแข่งขันในรายการที่จัดโดยยูฟ่าปฏิบัติตาม กฎนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อคู่แข่ง และป้องกันไม่ให้สโมสรในยุโรปใช้จ่ายเกินความจำเป็น

กฎนี้ถือเป็นภาระของสโมสรที่จะต้องรักษาสมดุลค่าใช้จ่ายฟุตบอล เช่น การซื้อขายผู้เล่นและค่าจ้าง, ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ตั๋วเข้าชมสนาม และค่าโฆษณา หรือสินค้า ยกเว้นในส่วนของเงินที่สโมสรใช้จ่ายสำหรับการปรับปรุงสนามกีฬาหรือสนามซ้อม โครงการพัฒนาชุมชน และพัฒนาโครงสร้างอื่น ๆ

สโมสรที่ละเมิดกฎของ FFP จะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดคือการห้ามสโมสรลงการแข่งขันในระดับทวีปที่จัดโดยยูฟ่า อย่างที่แมนเชสเตอร์ได้รับบทลงโทษในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีบทลงโทษอื่น ๆ ที่อาจถูกลงโทษเพิ่มด้วย เช่น ปรับเงิน, หักเงินรางวัล, ห้ามซื้อขายนักเตะ, ตัดแต้มในลีก,  ห้ามลงทะเบียนผู้เล่นใหม่และจำกัดจำนวนผู้เล่นที่จะลงแข่งขันในรายการของยูฟ่า

เกิดอะไรขึ้นต่อไป?

เมื่อแมนเชสเตอร์ซิตียื่นอุธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาแล้ว ต้องรอผลการพิจารณาอุธรณ์ ซึ่งบอกเป็นวันเวลาที่ชัดเจนไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหากศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาปฏิเสธคำร้อง สโมสรจะมีแผนรับมืออย่างไร ซึ่งพวกเขาจะมีผลกระทบอย่างมากทั้งการสูญเสียทั้งรายได้ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และอาจมีผลกระทบไปถึงการซื้อผู้เล่น ที่พวกเขาอาจไม่มีชื่อในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 ฤดูกาลหน้า


อ้างอิง
https://www.bbc.com/sport/football/51510284
https://www.bbc.com/sport/football/51511036
https://www.bbc.com/sport/football/29361839
https://www.nytimes.com/2019/05/13/sports/manchester-city-champions-league-uefa.html
https://www.skysports.com/football/news/11679/11934337/man-citys-european-ban-explained

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า