ถอดวิธีบริหารคน ของ ผอ.กูวอน จาก “King The Land” 

เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างหวังผลกำไรที่สูงทะลุเพดาน ให้ความสนใจในการสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจทรงอิทธิพลในแวดวงธุรกิจนั้นๆ จนอาจจะลืมไปว่าการทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ปลายทางสู่ความสำเร็จ เพราะยังมีเป้าหมายที่สำคัญกว่า คือ ‘การบริหารคน’ ซึ่งเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ 

ประเด็นเรื่องการบริหารคนนั้น ปรากฏอย่างชัดเจนในซีรีส์สุดฮิตในขณะนี้ อย่าง ‘King the Land’ ซีรีส์สัญชาติเกาหลีว่าด้วยเรื่องการบริหารธุรกิจของผู้บริหารระดับสูง และเรื่องราวชีวิตของพนักงานที่ต้องเผชิญหน้ากับรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นธรรม จากอำนาจของผู้บริหารที่มุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียว

ตัวละครหลักของเรื่องคือ ‘กูวอน’ ลูกชายทายาทตระกูลมหาเศรษฐี ดำเนินธุรกิจกลุ่มแชโบลขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจดิวตี้ฟรี พ่อของกูวอนได้ฝากฝังให้กูวอนเข้ามาเรียนรู้การบริหารธุรกิจในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงแรม ทำให้เขาต้องเผชิญกับการต่อสู้แย่งชิงมรดกกับ ‘กูฮวารัน’ พี่สาวต่างแม่ ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ก่อนหน้า

เดิมทีกูวอนไม่ได้มีความสนใจเรื่องธุรกิจของครอบครัวไปซะทีเดียว แต่หลังจากที่เขาได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงแรมทำให้เขาได้พบกับ ‘ชอนซารัง’ พนักงานดีเด่น ที่ต้องฝ่าฟันกับอคติในที่ทำงานด้วยจิตใจที่รักในงานโรงแรม เมื่อทั้งคู่ได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง ทำให้กูวอนได้เห็นว่าชอนซารังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยกฎระเบียบและคำสั่งของเหล่าผู้บริหารระดับสูง ความผิดเพี้ยนเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในงานโรงแรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ในเครือด้วยเช่นกัน จุดที่สร้างความเจ็บปวดให้พนักงานมานักต่อนัก คือการที่บริษัทให้ความสำคัญเรื่องกำไรและภาพลักษณ์ขององค์กรโดยไม่สนว่าพนักงานจะเป็นหรือตาย

ลูกค้าคือพระราชา

เริ่มแรกชอนซารังทำหน้าที่เป็นพนักงานฝึกหัด ช่วงที่มีการฝึกอบรมผู้จัดการฝ่ายได้มีการบอกถึงกฎระเบียบและคติประจำใจว่า การเป็นพนักงานโรงแรมต้องรับใช้แขกอย่างพระราชา ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหนต้องยิ้มรับพร้อมพูดคำว่า “แอร์เมส” ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับชอนซารังอยู่ไม่น้อย เมื่อเธอต้องเจอกับลูกค้าหลายประเภท ทำให้ภาพที่กูวอนเห็นอยู่บ่อยครั้งคือการที่ชอนซารังไม่สามารถจัดการกับแขกที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้อย่างตรงไปตรงมา และเมื่อกูวอนได้ถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากซอนซารัง ก็พบว่ามาจากกฎระเบียบที่มีนั้นไม่ได้เป็นเกราะกำบังปกป้องพนักงานเมื่อเจอปัญหา แต่กลับกลายเป็นการเสริมอำนาจให้แขก และหากแขกไม่พอใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนพนักงานก็ต้องก้มหัวขอโทษอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร ชอนซารังก็มุ่งมั่นตั้งใจทำงานที่รักอย่างเต็มที่ ทำให้เธอได้รับการยกย่องให้เป็นพนักงานดีเด่นถึง 2 ปีซ้อน กลายเป็นพนักงานที่เชิดหน้าชูตาให้กับบริษัท อีกทั้งได้รับมอบหมายงานสำคัญนอกเหนือจากหน้าที่หลักของตัวเองบ่อยครั้ง ด้วยทักษะที่หลากหลายของเธอทำให้ได้รับโอกาสใหม่จากผู้บริหารระดับสูงในการก้าวขึ้นไปทำงานที่ King the Land เลานจ์ในโรงแรมที่ต้อนรับเฉพาะแขกผู้มั่งคั่งในแวดวงธุรกิจ ภายใต้การบริหารของ The King Group ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันมาโดยตลอด เพราะนี่คือจุดสูงสุดของพนักงานโรงแรม ที่จะได้ขึ้นมาดูแลแขกในระดับวีวีไอพี 

ค่าจูงใจมีน้อย คอยแต่ผลลัพธ์ที่ดี

อย่างไรก็ตาม การทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ความรับผิดชอบยิ่งมีมากและยากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ชอนซารังเป็นน้องใหม่ในการทำงานที่ King the Land ก็ต้องเผชิญกับงานหินร่วมกับคนในทีม นั่นคือการเพิ่มยอดขายของโรงแรม ด้วยการเสนอขายเครื่องดื่มและอาหารพรีเมียมให้กับแขกวีวีไอพี ด้านกูวอนจึงนัดประชุมพนักงานทั้งหมด รวมทั้งชอนซารัง เพื่อหากลยุทธ์ร่วมกัน ปัญหาที่กูวอนพบจากการประชุมนี้คือ การเพิ่มยอดขายไม่สอดคล้องกับค่าแรงจูงใจของพนักงาน เมื่อผู้จัดการที่ดูแล King the Land อธิบายว่า พนักงานเคยช่วยดันยอดขายสูงถึง 40 ล้านวอน แต่ได้ค่าแรงจูงใจกลับมาแค่ 30,000 วอนเท่านั้น สิ่งที่กูวอนแก้ไขคือการเพิ่มค่าจูงใจให้กับพนักงานทุกคนเพื่อกระตุ้นให้พนักงานช่วยเพิ่มยอดขายให้กับโรงแรม

ยิ่งเรื่องราวผ่านไป สงครามในตระกูลยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อกูฮวารัน ผู้กุมอำนาจสูงสุดในโรงแรม ได้มีการออกคำสั่งให้พนักงานแต่ละฝ่ายไปเยี่ยมเหล่าคู่ค้าตามพื้นที่ต่างๆ ที่เป็น Super Farmer เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีในการทำธุรกิจร่วมกัน ในส่วนของ King the Land ชอนซารัง พนักงานแสนดีที่เป็นทุกอย่างให้บริษัท ก็ถูกส่งตัวไปเช่นกัน ระหว่างเดินทางเธอได้เผชิญกับอุปสรรคมากมาย ด้านกูวอนไม่อยู่นิ่งรีบรุดไปขอกำลังช่วยเหลือจากกูฮวารันแต่กลับไม่ได้รับความสนใจไยดี จนทำให้กูวอนออกปากว่า “บริษัทมุ่งแต่จะระดมเงิน พนักงานจะเป็นจะตายก็ไม่สน กล้าหวังที่จะเป็นแบรนด์ระดับโลกอีกเหรอ” สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของพนักงานคนหนึ่งเป็นเหมือนหมากหนึ่งตัวในเกมอำนาจของกูฮวารันที่มองตัวเองว่าไม่ได้เป็นแค่เจ้าของบริษัทแต่ยังเป็นเจ้าของชีวิตพนักงานที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแบบไหนก็ได้

ทำดีแค่ไหน สุดท้ายถูกปล่อยเบลอ

ยิ่งกว่านั้น ในวันครบรอบ 100 ปีของโรงแรมคิง กูวอนและกูฮวารันเปิดศึกอำนาจกันอีกครั้งเพื่อแย่งชิงการเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ กูวอนได้ขอออกตัวกับพ่อว่าจะเป็นผู้ดูแลงานครั้งนี้เอง พ่อจึงวางใจให้กูวอนเป็นคนดูแลงานนี้ทั้งหมด ด้านกูฮวารันตั้งใจเชิญแขกคนใหญ่คนโตมาร่วมงานในครั้งนี้เพื่อสร้างคอนเน็กชั่นร่วมกันในการดำเนินธุรกิจ เช่น การเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา เพื่อหวังอำนาจให้ช่วยจัดการการนำเข้าสินค้าปลอดภาษีในธุรกิจดิวตี้ฟรี 

กลับมาทางด้านกูวอน เขาไม่ได้มีความสนใจถึงเรื่องเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เขาตั้งใจจะทำ คือจะทำยังไงให้พนักงานได้ถูกมองเห็นมากที่สุด เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโตมาไกลถึง 100 ปี ล้วนเป็นพนักงานทั้งสิ้น โดยมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะให้พนักงานเหล่านี้ได้รับการมองเห็นจากแขกที่มาร่วมงาน ผู้บริหารระดับสูง และเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง เขาต้องการที่จะยกย่องพนักงานเหล่านี้ให้เป็นดาวเด่นในงาน จึงเชิญพนักงานปฏิบัติการระดับล่าง อย่าง พนักงานต้อนรับที่ยืนต้อนรับหน้าโรงแรมมานานกว่า 30 ปี พนักงานทำความสะอาด พนักงานดูแลสวน และพนักงานช่างไฟฟ้า เป็นตัวแทนผู้บริหารกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อบริษัท

จะเห็นได้ว่าหัวใจหลักของเรื่องนี้คือการที่กูวอนพยายามต่อสู้กับความผิดเพี้ยนในการบริหารทรัพยากรบุคคลในธุรกิจแชโบลของตระกูลตัวเอง ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีเพื่อก้าวเป็นที่ 1 ในธุรกิจสายนั้นๆ โดยให้ความสำคัญการสร้างผลกำไรมากกว่าการใส่ใจพนักงาน แม้พนักงานจะทำงานถวายหัวแต่บริษัทกลับไม่เห็นหัว พนักงานไม่ได้รับการมองเห็นโดยเฉพาะพนักงานปฏิบัติการระดับล่าง

จากที่กูวอนใช้อำนาจสร้างความยุติธรรมให้กับพนักงานถือว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงศักยภาพของผู้นำได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือการสร้าง Visibility ในองค์กรด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับได้รับการมองเห็นทั้งกับเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่าและเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร ทำให้ผู้อำนวยการกูวอนได้กลายเป็นต้นแบบของผู้บริหารที่ซื้อใจคนดูซีรีส์เรื่องนี้ได้มากเลยทีเดียว เพราะนี่คือภาพของการบริหารธุรกิจที่อินกับความเป็นมนุษย์มากกว่ากำไรของบริษัท 

Content Creator