fbpx

LUSS: การเป็นตัวเอง ความไร้กรอบ ความท้าทาย และความสมดุลในการทำเพลง

หากพูดถึงศิลปินหน้าใหม่ ที่ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเพลงให้แฟนๆ ได้ฟังผลงานดีๆ มาหลายครั้ง คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจากวง LUSS (ลัสส์) จากค่าย Wayfer Records โดยมีปั้น-นลพรรณ อัมพุช นักร้องนำผู้แต่งเนื้อร้อง เมโลดี้ด้วยตนเอง และเบน-ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์ ที่ทำงานในด้านดนตรีทั้งหมด 

LUSS มีเพลงฮิตติดหูอย่าง 247 หรือ หยอก หยอก และมาในวันนี้ เขาทั้งสองทั้งมีซิงเกิลใหม่อย่าง Locker ที่พร้อมให้แฟนคลับได้ฟังกันให้หายคิดถึง

พวกเขาทำงานเบื้องหลังให้ศิลปินคนอื่นๆ อย่าง จำเลยรัก ของ F.HERO Ft. Txrbo ก็ได้ เบนร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ หรือเพลงของเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง 4EVE นั้น LUSS ก็ได้มีส่วนช่วยในการทำงานเบื้องหลังมามากมายแทบทุกเพลง นี่แค่ตัวอย่างด้วยซ้ำไป

ซึ่งก่อนปั้นและเบนจะเป็น LUSS ได้ถึงทุกวันนี้ พวกเขาได้ทบทวนตัวตน และความเป็นตัวเองในฐานะศิลปินมาเสมอ ทั้งสองมองว่าอดีตของตนเอง มีความเขินอายติดอยู่ในผลงานที่เคยทำออกมา 

ทำไม LUSS ถึงคิดเช่นนั้น เรามาร่วมเดินทางสู่การเป็นตัวเอง ความไร้กรอบ ท้าทาย และความสมดุลของ LUSS กันเลย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนเองเข้ามาสู่เส้นทางดนตรีจริงๆ ของแต่ละคน

เบน: ไม่รู้เหมือนกันว่าเข้ามาตอนไหน แต่พอเราเรียนดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้สนใจเรื่องเนื้อหาการเรียนเลยนะ แต่ว่าสภาพแวดล้อมคือคนดนตรี เราอยู่กับเสียงดนตรี อยู่กับคนที่ทุกวันพูดแต่เรื่องดนตรีมาตลอดตั้งแต่ปี 1 ก่อนหน้านั้นเราก็เริ่มแบบเด็กผู้ชายวัยรุ่น ทำวงกับเพื่อน ประกวดต่างๆ สุดท้ายรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราถนัด แล้วเราชอบจริงๆ มันเริ่มจริงจังตอนที่แบบ โอเค เราเข้ามหาวิทยาลัยแล้วแหละ เอกที่เลือกเรียนคือเบสครับ เครื่องหลักคือเล่นเบส แขนงคือ Entertainment หรือดนตรีสมัยนิยม

ปั้น: ปั้นไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับดนตรีมาเลยค่ะ แต่อยู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ที่จะต้องเข้าโบสถ์ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าบ่อยๆ จะอยู่คณะ Chorus (หัวเราะ) หลังจากนั้นคือแยกตัวออกมา (จากเส้นทางดนตรี) แล้วไปเข้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีเลย เสร็จแล้วก็มีเพื่อนชวนมาเข้าวง ได้เริ่มออกไปร้องเพลงตั้งแต่ที่อยู่วงเก่า สุดท้ายก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกลายออกมาเป็นวง LUSS ค่ะ

ทำไมถึงชื่อวง LUSS

เบน: ช่วยกันคิดครับ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นยังแบบ ชื่อวงอะไรดีวะ (หัวเราะ) คิดไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆ เราเคยพยายามหาคำตอบที่มันสวยหรูมามากมาย เช่น เราแปลงจากคำว่า Lust ที่มันแปลว่าตัณหา เราหลงใหลในแบบดนตรี จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่เอาจริงๆ มันเป็นคำที่รู้สึกว่าเข้าปากเฉยๆ แค่นั้นเองครับ

ขอคำนิยามของการเป็นวง LUSS ของแต่ละคน รวมถึงบุคลิกของวงว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้

เบน: ทุกวันนี้จะให้ตอบว่าเป็นอะไร เราตอบไม่ได้ แต่เราแค่รู้สึกว่าเราชอบอะไรในช่วงนั้น เราก็ไม่ได้ไปปิดกั้นมัน คำว่า หยอก หยอก เราอาจจะไม่คิดว่าเราจะเอามาใส่ในเพลงได้สำหรับบางคน แต่เรารู้สึกว่าทำไมมันจะใส่ไม่ได้ เราจะใส่อะไรก็ใส่ได้แหละ ในอนาคตทิศทางของ LUSS ก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เราไม่ได้ Fix มันไว้ เพลงร็อกอาจจะมาในเพลงของ LUSS ก็ได้ ถ้าเกิดจะนิยามสั้นๆ ก็คือความที่เราไม่ได้มีกรอบ

ปั้น: นิยามของ LUSS สำหรับปั้นกับเบน น่าจะความไม่มีกรอบ ความไม่เพอร์เฟกต์ ก็โอเค 

มีแรงบันดาลใจในการทำเพลงอย่างไรบ้าง 

ปั้น: จริงๆ แรงบันดาลใจในการทำเพลงของปั้น ส่วนหนึ่งคือแฟนๆ และก็ผู้ฟังค่ะ ปั้นรู้สึกว่าการเป็นศิลปิน คือต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะว่าผลงานเรามันไปที่ไหนก็ได้ ช่วงนี้เลยพยายามทำเพลงด้านบวก ให้กำลังใจ และ Empower ความเป็น Feminine การที่ผู้หญิงจีบผู้ชายได้เหมือนกัน ไม่ต้องผู้หญิงก็ได้ แต่เอาความแสบๆ ความน่ารักๆ ของความ Feminine มาเล่นในเนื้อเพลงเยอะๆ การเป็นตัวของตัวเอง แต่มันเป็นในมุมที่ขี้เล่นหน่อย เป็นความกวนๆ ตามสไตล์ของ LUSS ค่ะ

เบน: เบนโตมากับดนตรีเลยครับ เราเรียนดนตรีด้วย รู้สึกว่าดนตรีมันคือศิลปะอย่างหนึ่ง การที่เราจะสร้างสรรค์งานศิลปะออกมา คำว่าศิลปินมันค่อนข้างที่จะลึกครับ ถ้าพูดผ่านๆ ก็แค่แบบ เอ้อ ศิลปินนะ แต่ว่าจริงๆ ศิลปินคือผู้สร้างงานศิลปะ มันไม่ได้มีขอบเขตอะไร สังเกตจากงาน LUSS เราไม่เคยปิดกั้นความคิดที่มันจะ Flow ไป คืออยู่ดีๆ เอาแนวแซมบา มารวมแนวป็อปได้ หรือว่าเอาเนื้อเพลงที่คนคงไม่คิดว่าจะเอามาใส่ในเพลง อย่างเช่น “แปบนึงแม่โทรตามอ่ะ (หยอกๆ)” (เนื้อเพลงหยอก หยอก) มาใส่ในเพลงได้ เราอยากนำเสนอสิ่งนี้ให้ทุกคนเห็นในมุมที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องแบบตามกรอบที่ใครวาดเอาไว้ การไม่มีขอบเขตในการทำงานศิลปะ คือแรงบันดาลใจครับ

กระบวนการทำงานเพลงของ LUSS เป็นยังไงบ้าง

เบน: หลักๆ คือการที่เราคุยกันก่อน ว่าทิศทางหรือคอนเซ็ปต์ของเพลงนี้มันคืออะไร แต่ว่าเราไม่ได้วางไว้ตายตัวว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร หรือดนตรีต้องเป็นแนวไหน สมมติว่าขอเป็นเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงที่ไม่ต้องง้อผู้ชาย อันนี้ก็คือคอนเซ็ปต์ละ แค่นี้เลยครับ ง่ายๆ บางเพลงอาจจะมีหลายเดโม่ เหมือนกันนะ พอจบในวันนั้นแล้วเราก็มานั่งเลือกกันว่าอันไหนเวิร์กค และก็เป็นโครงคร่าวๆ ให้ปั้นนำไปแต่งใส่เนื้อร้อง ใส่เมโลดี้ ใส่อะไรก็ว่าไป จนเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเบนค่อยกลับมาเวิร์คในพาร์ทของดนตรีอีกที เป็นบีทขึ้นมาก่อนคร่าวๆ และก็เมโลดี้ เนื้อร้อง แล้วค่อยมาตบบีทให้มันเหมาะสม สนับสนุนกับเสียงร้องของปั้น ซึ่งไม่ตายตัวว่าอะไรจะมาก่อนหลัง

ปั้น: ช่วยกันดูภาพรวมว่ามันไปในทางที่เราอยากได้หรือเปล่า มาตบๆ อีกทีตอนสุดท้าย

ตอนทำเพลง Locker เริ่มอย่างไร

เบน: คุยกันก่อนว่าต้องการอะไร อาจจะเป็นความแบบป็อปง่ายๆ แล้วเบนก็มาขึ้นบีทครับ เป็นโครงคร่าวๆ เป็นเปียโนง่ายๆ แล้วก็มีจังหวะกลองนิดๆ หน่อยๆ แล้วปั้นก็นำไปแต่งอยู่สักพักนึงครับ Locker ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ก็อัดเสียง ใช้เดโม่ที่อัด อาจจะมีอัดบางท่อนแก้นิดหน่อย เอกลักษณ์ของ LUSS มันคือเรื่องของแบบ Vocal Design ด้วยครับ หมายถึงการร้องที่เป็นแบบของปั้นครับ บางทีอัดใหม่อาจจะไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ บางอย่างที่ฟังแล้วแบบ เฮ้ยอารมณ์ได้ เอาอันนี้เลย กับบางอันที่มันไม่ได้จริงๆ เราอัดใหม่ก็มีครับ

ปั้น: แต่เพลงนี้ถือว่าเร็วนะ 2 อาทิตย์

ช่วงเพลง 247 ตอนที่ได้รับการตอบที่รับดี รู้สึกอย่างไร

เบน: เป็นเพลงแรกที่เราประสบความสำเร็จครับ มันเกินความคาดหมายเรามาก เพราะมันคือความใหม่มากๆ ตอนนั้นเป็นจุดที่เรา Rebranding ใหม่ว่า LUSS คืออะไร แล้วเราเริ่มทำเพลงลักษณะแบบว่าซองแคมป์ครับ เอาทีมมาทำ มือกีต้าร์ มือเบส มือคีย์บอร์ด มาอยู่กันทั้งวัน ทำบีทมาประมาณ 5 บีทได้วันนั้น หนึ่งในนั้นคือเพลง 247 ที่มีแต่กีตาร์อย่างเดียวครับ เราทำโดยที่เราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไง ไม่คิดว่าคนจะชอบ แต่สุดท้ายทุกคนคือตื่นเต้น ทำให้เห็นว่า อ๋อ LUSS เริ่มให้คนมีภาพจำก่อนว่า เฮ้ย มันหลุดๆ แบบนี้นะ นั่นคือจุดแรกที่เราใส่ความเป็นตัวเองที่สุดลงไปในเพลงครับ 

ปั้น: ณ ตอนแรกที่เราเริ่มที่จะช่างแม่ง เป็นตัวเองเถอะ คือปั้นรู้สึกว่ามันมีความเปราะบางอยู่ในนั้น ว่าสุดท้ายแล้วคนจะรับได้มั้ยกับความเนื้อเพลงที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) เวลามีคำ Random ใส่เข้ามา ก็จับความเปราะบางนั้น พอได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้น และมีคนคอยเชียร์มากขึ้น ก็รู้สึกว่า เฮ้ย เหมือนมันเพิ่มความมั่นใจว่าจริงๆ แล้วคือการเป็นตัวเอง มันก็ไม่แย่นี่หว่า

เบน: เลยเอาใหญ่เลยครับ กลายเป็นเพลง หยอก หยอก เราใส่ให้สุดเลย ไม่เห็นเป็นอะไรเลยหนิ มันคือจุดเปลี่ยนพอดี เบนรู้สึกว่ามันอาจจะถูกที่ ถูกเวลาด้วยครับ ในยุคนี้ที่เด็กยุคใหม่มีความเป็นตัวเองสูงมาก กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นเขาก็มองหาศิลปินที่มีความเป็นตัวเอง เราเชื่อว่าเราเป็นแบบนี้ แล้วเราก็ถ่ายทอดมันออกมา เบนรู้สึกว่าคนเขาสัมผัสถึงความเรียลได้ครับ ถ้าเกิดสมมติว่าโดนปล่อย 10 ปีที่แล้ว มันก็อาจจะงงว่าทำอะไร หลุดจัดเลย

มีกลับไปฟังเพลงเก่าๆ ของตัวเองและอยากกลับไปแก้บ้างมั้ย

ปั้น: อยากจะกลับไปลบเลยค่ะ (หัวเราะ) อยากให้เอามันออกมาจาก Youtube (หัวเราะ)

เบน: อาจจะเป็นเพลงของ LUSS ในยุคแรกๆ ครับ กลับไปดูแล้วแบบ จะดึงไปไหนวะ พูดเล่นๆ สุดท้ายคือช่วงนั้นเราก็รู้สึกได้ว่าเราชอบมาก เราภูมิใจเหมือนกัน แค่กลับไปดูแล้วเขินเฉยๆ ครับ

ปั้น: (หัวเราะ) ไม่กล้าดู ไม่ไหวอะ

พวกคุณเข้ามาทำงานในส่วนเบื้องหลังกับศิลปินคนอื่นๆ ได้อย่างไร

ปั้น: ก็จริงๆ ปั้นและเบนเข้าทำเบื้องหลังพร้อมกันเลยเนาะ กับพี่กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก)

เบน: ตอนแรกเหมือนไปทำเพลงอื่นด้วยซ้ำ แล้วอยู่ดีๆ ใน Session ของพี่กอล์ฟ เขาจะเป็นลักษณะที่เอาโปรดิวเซอร์หลาบๆ คนมารวมตัวกัน เช่าสตูดิโอใหญ่ๆ 4 ห้อง โปรดิวเซอร์ 4 คน วันนี้เพลงต้องเสร็จ 4 เพลง เราก็เรียนรู้ว่า อ๋อ เขาทำงานกันแบบนี้นะ สุดท้ายจุดเริ่มต้นคือเริ่มทำเพลงจำเลยรัก ที่เหมือนทำให้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นศิลปิน เป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำเบื้องหลังด้วย หลังจากนั้นก็มีงานมาเรื่อยๆ ครับ

ที่ผ่านมามีผลงานการทำงานเบื้องหลังเพลงไหน ที่แต่ละคนรู้สึกว่าชอบหรือใจฟู

ปั้น: ทุกงานเลยนะ ด้วยความที่เราเป็นศิลปินด้วย เวลาเราไปทำเพลงให้คนอื่น เราจะมองในมุมที่ว่าเขาต้องอยู่กับเพลงนี้ไปอีกหลายๆ ปี เราก็อยากจะแต่งให้มันเป็นตัวเขามากที่สุด แต่ละครั้งที่มันได้อะไรมา คือได้เรียนรู้ชีวิตของทุกคนและในแง่มุมการเป็นศิลปินด้วย รู้สึกว่าทุกๆ เพลงมันทำให้เราพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ นะ

เบน: เพลงที่รู้สึกว่าแบบว่าดีใจที่ได้ทำคือเพลง It’s Okay Not To Be Alright ของน้องพีพี (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) อันนั้นคือเขาปล่อยเพลงที่ไม่เกี่ยวกับซีรีส์หรือหนังเรื่องไหนเลยครับ เขาอยากใส่ความเป็นตัวเองลงไปในเพลงให้มากที่สุด ซึ่งเพลงนั้นเบนกับปั้น ปั้นจะคุยสนิทกับน้องมาก จนถึงขั้นที่ว่าต้องรู้จักชีวิตเขา เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราจะนำเรื่องไหนมาใช้ได้ คือรู้สึกว่าเป็นเพลงซิงเกิลเดบิวต์ที่เราได้มีส่วนร่วมในการทำให้มันสำเร็จออกมาครับ

ปั้น: แล้วก็มี แปะหัวใจ ของน้องเจ้านาย (จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) กับน้องจูเน่ (เพลินพิชญา โกมลารชุน) ด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นรู้สึกว่าตอนที่เราทำ ไม่คิดว่ามันจะออกมามีคนรู้จักเยอะขนาดนี้ เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ภูมิใจ มีหลายเพลงนะ น้อง 4EVE ด้วย

เบน: ใช่ๆ 4EVE ทำเกือบทุกเพลงครับ ถ้าอัลบั้มล่าสุดก็ Booty Bomb, Trick or Treat เราก็ได้ทำหลายแบบ มันเหมือนเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์เราไปด้วย ทำกับเกิร์ลกรุปแบบนึง ทำกับศิลปินเดี่ยวคนละแบบกัน

การทำงานเบื้องหลังเพลงให้กับศิลปินคนอื่นๆ มีเพลงไหนอยากกลับไปแก้ หรือเพิ่มเติมอะไรบางอย่างมั้ย

ปั้น: คิดว่าไม่มีค่ะ เพราะรู้สึกว่า ณ ตอนนั้น มันดีในแบบของมัน

เบน: ของเบนไม่มีเหมือนกันนะ เบนกลับไปฟังงานของตัวเองบ่อยอยู่เหมือนกัน บางทีมีรู้สึกว่าแบบ เฮ้ย Vibes นี้มันแอบเก่า แต่ว่าเป็นเรื่องของช่วงเวลา แม้กระทั่งเพลง จำเลยรัก เพลงที่ทำแล้วยอดวิวเยอะที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุดในมุมของคนฟังอะครับ ล่าสุดก็เพิ่งเข้าไปดู 130 ล้านกว่าวิวแล้ว พอเราฟังมันก็ดีในแบบของมันแหละ ถึงแม้บางอย่างทักษะเราถูกพัฒนามาแล้วในตอนนี้ ถ้าเป็นตอนนี้เราอาจจะเพิ่มอะไรบางอย่างไป แต่ถ้าเพิ่มเข้าไป บางทีมันอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบนี้ก็ได้นะ มันคือความลงตัวในแบบของมันครับ

งานเบื้องหลังที่ชอบมากที่สุดคืออะไร

ปั้น: งานโปรดิวเซอร์ค่ะ จริงๆ มันมีจุดที่ชอบ (หัวเราะ) แต่พอจุดที่ทำเยอะๆ แล้วเริ่มเครียด จนบางทีมันมาตันของเราเองมาก เพราะว่าเราใช้ไอเดียของเราไปให้คนอื่นเยอะ จนเราลืมอัปเดตตัวเอง เพราะไม่มีเวลาอะไรแบบนี้ค่ะ

เบน: ของเบนตำแหน่งเดียวกัน คือโปรดิวเซอร์ เราดูการควบคุมการผลิตทั้งหมด แล้วทำบีทขึ้นมา เบนก็ชอบ จริงๆ เบนมีความสุขกับการทำสิ่งนี้เหมือนกันครับ ทั้งของเราเองและทำให้คนอื่น แต่แค่ต้องจัดเวลาดีๆ แค่นั้นเอง 

ปั้น: จริงๆ มันสนุก แล้วมันได้เรียนรู้เยอะมาก มากกว่าอะไรที่เราไปงมเอง ถ้าเราทำงานของตัวเองอย่างเดียว

เบน: อย่างที่ปั้นบอกว่า บางทีทำเยอะเกินไปมันก็ไม่ดี  

ปั้น: มันจะทำให้แรงบันดาลใจของเราเริ่มถดถอย เพราะเราไม่ได้ออกไปเจอ ไม่ได้มีช่องว่าง

เบน: มันมีบางจุดเหมือนกัน ช่วงแรกที่งานมาเยอะ แบบ มาเลยๆ พอหลังๆ มันเป็นเพลงแนวเดิมๆ บางทีเรามีความรู้สึกเบื่อเหมือนกันที่ต้องทำแบบเดิม แต่ว่าเราพยายามแก้ความเบื่อของเรา โดยการใส่ความใหม่เข้าไปในงานนั้น ที่เข้ามา เฮ้ย ขอเพลงแบบง่ายๆ บางทีเราก็แบบ (คิด)  แต่ว่าแก้ปัญหาด้วยการที่ไม่ได้ไม่ทำนะ เราทำ แต่แนะนำให้เขาฟังว่าแบบนี้มันอาจจะเก่านะ เพราะฉะนั้นในมุมโปรดิวเซอร์ เรารู้สึกว่ามันควรใส่สิ่งนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มความใหม่ ในจุดแรกมันอาจจะมีความเบื่อ แต่พอเราทำจริงๆ สุดท้ายมันก็เจอความสนุกของมันอยู่เหมือนกันครับ

มีวันที่ทำเพลง ทำงานจนรู้สึก Overload บ้างมั้ย แล้วคุณแก้ความรู้สึกและสุขภาพใจอย่างไร

ปั้น: เหมือนความรู้สึกเพิ่งพังไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าปั้นเริ่มให้ความสำคัญเรื่องตารางมากขึ้น สมมติเราใส่ในปฏิทินงานว่าเราให้เวลามันถึงแค่นี้ แล้วเราจะพอแล้ว ทำไม่เสร็จช่างมัน ต้องเลิกที่จะเอาใจไปอยู่กับงานตลอดเวลา เพราะว่าเวลาปั้นแต่งเพลง เบนจะบอกตลอดเลยว่าตอนนี้กินข้าวอยู่ เลิกคิดเรื่องเนื้อเพลงได้แล้ว 

มีอยู่วันนึงคิดเพลงไม่ออก ทำเพลงอันนึงกับ Session ของพี่กอล์ฟจนคิดออกแล้ววิ่งหัวชนกระจก หัวโนไปออกรายการ T-POP Stage เลย อันนั้นเกินไป (หัวเราะ) 

เบน: สุดท้ายกลับมาเรื่องเดิมว่าเราต้องจัดการมันดีๆ บาลานซ์มันดีๆ แค่นั่นเองเลยครับ 

นอกจากแนวเพลงที่อยากทำ อยากพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างไรต่อบ้าง

เบน: อยากครับ หลายอย่างเลย ความที่ตอนนี้เราทำทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลังของคนอื่นและเราด้วย อันนี้แชร์กันจริงๆ เลย ว่าเบนไม่ได้มีเวลามาอัปเดตตัวเองเท่าไหร่ครับ ในมุมของเครื่องมือที่เราใช้ด้วย หรือว่า Plug-in ซาวนด์ต่างๆ แต่ก่อนพอเราว่างๆ จะมีเวลาเปิดคอมฯ ขึ้นมา แล้วอยากทำบีทไร้สาระอะไรก็ทำ ตอนนี้ทุกครั้งที่จะเปิดคอมฯ ขึ้นมาหนึ่งที มันจะต้องมีจุดหมาย คือรู้ว่าจะทำอะไร มันไม่ค่อยมีเวลาผ่อนคลาย หรือว่าอัปเดตตัวเอง อยากกลับมาอัปเดตตัวเองบ้างครับ แค่นั้นเอง

ปั้น: เรื่องประมาณเดียวกันค่ะ ด้วยความที่จริงๆ แทบไม่มีวันหยุดเลย เพราะนอกจากเพลงของเราเองแล้ว ก็ต้องทำให้คนอื่นเยอะแยะมากมาย เลยอยากจะมีวันที่เป็น Session ของ LUSS ที่แจมกันในทุกอาทิตย์ แล้วอาจจะมาดูอีกทีว่ามันเป็นไปในทางไหนได้บ้าง

เบน: อยากมีมากเลยครับว่าวันแบบนี้ 

ปั้น: จริง เซตไว้ในปฏิทินทุกสัปดาห์นะ ไม่เคยได้ทำ (หัวเราะ)

เบน: เวลาต่างๆ ไม่ค่อยลงตัวกัน 

หลังจากนี้เรามองภาพ LUSS เอาไว้จากวินาทีตรงนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ปั้น: สำหรับปั้น เรายังไม่ได้ปูทางว่ามันจะต้องแหวกแนวหรืออะไร แต่คิดว่ารอบนี้อาจเป็นโอกาสที่จะนำเสนอซาวนด์ที่ต่างไปจากตอนแรก แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนค่ะ เพราะรู้สึกว่าก็คงคอนเซ็ปต์ความไร้กรอบเหมือนเดิม

เบน: มีคิดไว้เหมือนกันครับในพาร์ทของดนตรี เบนพูดกับปั้นมาตลอด มันอาจจะดูเหมือนเล่นๆ ว่าอยากทำร็อก จริงๆ เบนอยากทำร็อกครับ

ปั้น: อยากทำเหมือนกันค่ะ

เบน: อาจจะไม่ได้ร็อกแบบโหดจัดๆ อยู่แล้ว แต่ว่าเราเป็นคนดนตรี อยากใส่ความกีต้าร์ กลองจริงเข้าไปในเพลง อยากลองอะไรที่มันใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนกันครับ 

จากการทำเพลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรียนรู้ เติบโตอย่างไร จากการอยู่ในเส้นทางสายดนตรี

เบน: เรื่องแรกที่เห็นผลสุด คือเรื่องวิธีการทำงานครับ เหมือนเราซึมซับจากรุ่นพี่ หรือว่าคนรุ่นใหญ่ๆ ในวงการ เขาทำงานแบบนี้ เราเอามาประยุกต์ใช้ในแบบของเรา สอง พอทำงานเยอะ มันมีเรื่องแบบว่าเราทำถูกบ้าง ผิดบ้าง ตกหล่นบ้าง การที่เราไม่ไปทำหน้าที่ของเรา อะไรแบบนี้สำคัญเหมือนกัน เมื่อก่อนเคยคิดว่า เราจะทำอะไรตอนไหนก็เรื่องของเรา พอเราต้องทำร่วมกันคนอื่น บางทีเราอาจจะคิดน้อยไป หรือคิดเยอะไป คิดแทนเขา เคยมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้างเหมือนกัน สุดท้ายกลับมาที่เรื่องวิธีการทำงานครับ ว่าเราควรวางตัวยังไง เราควรทำอะไร อย่างไร ในจุดไหนครับ

ปั้น: อีกอย่างหนึ่ง คือรู้สึกว่ามันสำคัญมากกับการที่ทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ แล้วมีคนมาร่วมงานกับเราเยอะ บางทีอาจต้องรู้จักการ Delegate งานให้คนอื่นช่วยทำในส่วนที่เราไม่ถนัด เราไม่จำเป็นต้องมาแบกทั้งหมดเองคนเดียว ไม่งั้นเราจะลืมโฟกัสในเรื่องหน้าที่การเป็นศิลปินไป มันมีเส้นบางๆ ระหว่างการเป็นศิลปิน กับการเป็นศิลปินที่ต้องมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้คนอื่น สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือน่าจะเป็นความชัดเจนของหน้าที่ในแต่ละบทบาทที่ต้องไปทำ 

เบน: อีกสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้คือความเป็นตัวเอง เราต้องตั้งไว้เป็นแบบจุดยึดมั่นครับ แล้วสิ่งอื่นๆ คอนเทนต์อื่นๆ ค่อยแยกทีหลัง อย่างเพลงแบบ KUNGFU ที่หลายๆ คนอาจจะเห็นว่า เฮ้ย มันมีท่าเต้นเหมือนดู TikTok ใน MV เลย แต่จริงๆ คือเราไม่ได้แคร์เรื่องนั้นเท่ากับความที่เพลงเราคือเบอร์หนึ่ง ศิลปิน นักร้อง เพลง มันคืออุปกรณ์ชิ้นแรกที่จะต้องให้เป็นตัวหนึ่งครับ แล้วเรื่องภาพ ท่าเต้น คอสตูม มันค่อยมาสนับสนุนเพลงทีหลัง สิ่งที่เรียนรู้มา คือเราต้องเป็นตัวเรา แล้วก็เชื่อมัน ไม่ลืมมันครับ

ก็คือคุณได้เปลี่ยนตัวเองเป็นตัวเองจริงๆ ในช่วงการทำเพลงในวง

ปั้น: ถูกค่ะ เมื่อก่อนปั้นถ้าอยู่ในวงเก่า หลายๆ คนก็จะทักว่าแบบ “ทำไมเปลี่ยนไปขนาดนี้” วงเก่าชื่อ Jelly Rocket อันนั้นมันจะออกแนวอินดี้หน่อย ผู้หญิง 3 คนที่มีความเซอร์ คือตอนนี้ปั้นยังเห็นในคอมเมนต์อยู่เลยนะว่า “ทำไมเปลี่ยนไปขนาดนี้ อยากแมสหรอ? ” แล้วปั้นก็รู้สึกว่า เนี่ยแหละคือตัวเรา ทำไมไม่มีใครรู้ ทำไมทุกคนถึงคิดว่าตอนนั้นมันตัวเรามากกว่า ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้รู้เรื่องเราขนาดนั้น รู้สึกว่าปั้นได้ Crack ตัวเองระหว่างทางของ LUSS เหมือนกัน อย่างปีที่แล้ว LUSS จะเป็นเพลงเศร้าๆ อยู่เลย อันนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่ว่าปีนี้จะเห็นว่ามันมีความสดใสมากขึ้น ซึ่งมันคือตัวเรา 100 เปอร์เซ็นต์ มันผ่านกระบวนการคิดที่ว่าทำไมเราต้องมานั่งเก๊ก นั่งดึง เพราะว่าตัวเราก็เป็นอย่างนี้

เบน: มันเคยมีช่วงก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ปีนี้ครับ LUSS เคยทำอัลบั้มที่จริงๆ ก็เป็นความชอบของเราเหมือนกัน ดนตรีลึกๆ แนวแบบ Lofi จัดๆ R&B อิเล็กทรอนิกส์ มีความ Sci-Fi ครับ แล้วภาพที่เรานำเสนอตัวเองออกไปก็คือใส่ชุดหนัง ใส่โซ่ ดึงๆ และความจริงเราไม่ได้เป็นแบบนั้น การเดินทางที่เราไปเจอมา มันทำให้เรารู้ว่าเราจะฝืนทำไม เราเป็นคนตลก คนกวน เราคิดอะไรพูดเลย เพราะฉะนั้นเราควรที่จะนำเสนอสิ่งนี้แหละ เราเคยอยู่ในจุดที่พยายามเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา สุดท้ายมันคือการฝืน จะมาดึงทำไม เก๊กทำไม เราเป็นคนตลกๆ เฮฮา

ปั้น: มันคือความไม่เพอร์เฟกต์ค่ะ แต่ว่ามันก็เป็นตัวเรา

อยากขอบคุณอะไรช่วง 1 ปีนี้ที่ผ่านมามั้ย

เบน: LUSS ในพาร์ทดนตรีคือของเบน เนื้อร้อง ทำนองคือของปั้น ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป มันก็ไม่ใช่ LUSS เพราะฉะนั้นก็คือ… ไม่รู้ เขินอะ ขอบคุณอะไร (หัวเราะ) 

ปั้น: ปั้นอยากขอบคุณเบนในเวลาที่ปั้นเครียดมากอะ คือเบนเป็นคนที่ดึงปั้นกลับมาเร็วมาก เพราะว่าปั้นเป็นคนกดดันตัวเอง เมื่อก่อนเป็น Perfectionist จะต้องทำให้มันดี โดยเฉพาะงานคนอื่น จะต้องทำยังไงก็ได้ให้มันเพอร์เฟกต์ มันดีที่สุด เบนก็จะเสริมความมั่นใจปั้น เฮ้ย จะแก้อีกทำไมหลายรอบ มันดีแล้ว จนทำให้ปั้นมั่นใจตัวเองมากขึ้นในเรื่องของการแต่งเนื้อร้องและทำนองที่ต้องทำเพื่อคนอื่น งานแรกๆ มันจะมีความรู้สึกแบบ เฮ้ย แบบนี้เขาจะชอบมั้ย จนเบนบอกว่า พอแล้ว มั่นใจในตัวเองได้แล้ว ปั้นว่าอันนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปั้นเลิกกดดันตัวเองด้วย

เบน: พอเราเป็นคนดนตรี เราจะคิดเยอะ ทฤษฎีดนตรีมันจะเยอะครับ เบนกับเพื่อนคนนึง ก็คือจะเป็นเนิร์ดดนตรีเหมือนกัน คุยกันเป็นภาษาดนตรี ซึ่งมันยากอะ ทำให้นักดนตรีฟัง คือปั้นจะคอยลดทอนความเนิร์ด ความคิดเยอะ ตอนแรกเบนอิงทฤษฎีเยอะ สุดท้ายสิ่งที่เรียนรู้มาคือ เฮ้ย ไม่ต้องเยอะ บางเพลงมันแบบง่ายๆ มันก็ลงตัวในแบบของมัน แต่ก่อนพอเรานั่งทำงานอยู่ แล้วมันจะโดนดูดเข้าไปครับ กลายเป็นเราลืมถอยออกมามองภาพรวมกว้างๆ พอบางทีหยุดพักแป๊บนึงปุ๊บ กลับมาฟังใหม่แล้วแบบ ทำอะไรไปวะ (หัวเราะ) แล้วก็รื้อใหม่ แต่พอหลังๆ นี้มา เหมือนเราได้พบประสบการณ์ มันสอนให้เรารู้ว่า เฮ้ย อย่าเพิ่งลงรายละเอียดเยอะมาก เรามองภาพรวมเยอะๆ ก่อน ปั้นทำให้เบนรู้สึกว่าไม่ต้องคิดเยอะขนาดนั้น มองภาพรวมใช่ก็คือใช่

อยากขอบคุณอะไรแฟนคลับบ้างมั้ย

ปั้น: ขอบคุณที่อยู่ด้วยกันมานานจริงๆ เราคิดว่าพูดขอบคุณบ่อยเหมือนกัน เพราะว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เราอยากที่จะท้าทาย Challenge ตัวเองมากขึ้นในทุกๆ เพลง ในทุกๆ อย่างที่ปล่อยออกไปค่ะ

เบน: แฟนคลับของเรา เขาจะไม่ได้มาคอมเมนต์แค่กับเพลงของ LUSS ครับ คือทุกเพลงที่เราทำออกไป เขาจะมาคอมเมนต์หมดเลย อย่างเพลงนึงของ 4EVE ที่ถูกปล่อยเป็น Teaser ออกมา ก่อนที่จะบอกว่าใครเป็นคนโปรดิวซ์ คือเขารู้แล้วว่าเป็นเบนกับปั้นทำ คือเหมือนเขาฟัง รู้ว่าลายเซ็นเรามันคืออะไร อะไรคือความนิยามของคำว่า LUSS ขอบคุณที่เขาใส่ใจ เขารู้ว่าคือเรา

ปั้น: ใช่ ดีใจมากเลย ไม่คิดว่าวันนึงจะมีวันนี้ จากที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองมาเยอะมาก จนถ้าไม่มีพวกเขาอยู่ ปั้นคิดว่าเราคงไม่ได้มีความมั่นใจในการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าขนาดนี้ค่ะ กำลังใจสำคัญมาก

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า