fbpx

พัฒนาการของคนรักเพศเดียวกันในโลกตะวันตกก่อนการสถาปนาศาสนาคริสต์

ตั้งแต่สังคมในยุคดึกดำบรรพ์ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (homophile) เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งมีลักษณะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนซึ่งผูกพันอยู่กับระบบเครือข่ายทางอำนาจและสังคม (hierarchy) ในลักษณะต่างๆ ดังจะได้กล่าวกันต่อไป

มิเชล ฟูโกต์ (Michael Foucault) ได้กล่าวในหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์เพศวิถี (History of Sexuality) ว่า คำว่า “คนรักเพศเดียวกัน” (Homosexual) เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 แม้ว่าในหลายๆ วัฒนธรรมพบว่าผู้ชายอาจมีเพศสัมพันธ์กับเด็กชายหรือชายหนุ่ม แต่ว่าสังคมก็ไม่ได้จำแนกคนเหล่านั้นในฐานะรักร่วมเพศ ผลงานประวัติศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ทางเพศได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้ชายว่าไม่สามารถที่จะจัดให้เป็น “คนรักเพศเดียวกัน” ได้เสมอไป เพราะในสังคมโบราณ เช่น กรีกโบราณ “แกน” (Axis) ของความสัมพันธ์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินนั้นไม่ได้อยู่ที่เพศและการประเมินการกระทำทางเพศว่า “ผิด” หรือ “ถูก” จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นชายหรือหญิง แต่อยู่ที่ “อายุ” และ “ชนชั้น”

โดยจากงานเขียนของ K. JJ. Dover Eva Cantarella กล่าวกันว่าในความคิดแบบนี้ ถ้าคนที่อยู่ในสถานะสูงกว่าก็จะต้องเล่นบทของผู้กระทำ (active) ส่วนผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าก็จะต้องเล่นบทบาทของผู้ถูกกระทำ (passive)  กล่าวคือ ผู้ที่เป็นทาสไม่ว่าชายหรือหญิงจะต้องเป็นผู้ถูกกระทำ ถ้าเป็นเด็กผู้ชายแล้วเป็นผู้สอดใส่ผู้ใหญ่ชนชั้นสูง ถือว่าเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง เพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องจะต้องเป็นผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจสอดใส่เข้าไป และจะต้องไม่ใช่คนอายุเท่ากันด้วย  ดังนั้นเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ตายตัวของชาวคริสเตียนผิวขาวแล้ว ความสัมพันธ์ทางเพศของคนพื้นเมืองในละตินอเมริกาจะไม่มีการจัดระเบียบแบ่งประเภทของ “คนรักต่างเพศ” “คนรักเพศเดียวกัน” และ “คนรักทั้งสองเพศ” ที่ตายตัว เพราะสิ่งที่ผู้ชายเหล่านี้เป็นก็คือ “แพนเซ็กช้วล” ที่ร่วมเพศได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง สูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วน ผอม แก่ เด็ก เพราะจะไม่มีอะไรที่ถือว่าชอบหรือไม่ชอบ ตรงกับมาตรฐานหรือไม่ตรง เพราะการแสดงให้เห็นว่าร่วมเพศได้หมดสื่อให้เห็นถึงความเป็นชายที่แท้จริง (macho)

ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายที่ดำเนินไปตามเงื่อนไขของความแตกต่างทางอายุ ดังที่เรียกกันว่า “Piderasty” จะเป็นความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายที่โตเต็มวัยและเด็กหนุ่มแรกรุ่น  โดยมักจะเริ่มความสัมพันธ์ตอนที่เริ่มวัยรุ่น ดังที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมช่วงก่อนสมัยใหม่มากมาย นักวิชาการเรียกกันว่า “ความรักในเพศเดียวกันในเชิงโครงสร้างทางอายุ” ในแง่นี้ pederasty จึงเปรียบเสมือนสถาบันทางการศึกษาในสมัยโบราณ เพราะสมัยนั้นไม่มีระบบการศึกษาแบบในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสั่งสอนศีลธรรมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวว่า pederastic มักจะมาจากผู้ชายชนชั้นสูงและเด็กหนุ่มชนชั้นล่าง ในกรณีนี้จึงเปรียบเสมือนการแสดงสัญลักษณ์ในเชิงอำนาจของความรักที่ส่งต่อไปยังชนชั้น โดยผู้ที่เป็นพี่เลี้ยงจะสอนและให้การศึกษาแก่เด็กหนุ่ม บางครั้งความสัมพันธ์เกิดในบริบททางการทหาร

Pederasty ในสังคมกรีกมีพื้นฐานมาจากเทวตำนาน นักวิชาการชื่อ “เบอร์นาร์ต เซอร์เจน” (Bernard Sergent) กล่าวว่าความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มีพื้นฐานมาจากพิธีกรรมโบราณของชาวอินโดยูโรเปียน โดยเป็นวัฒนธรรมพ่อมดหมอผีในสมัยยุคหินใหม่ มีนักวิชาการชื่อ “วิลเลี่ยม เพอร์ซิ่” (William Percy) กล่าวว่าประเพณีนี้มีนัยยะของการควบคุมจำนวนประชากร โดยขยายเวลาให้ผู้ชายแต่งงานในอายุเกิน 30 ปี นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่กล่าวถึงประเพณีดังกล่าวว่าเนื่องจากชาวกรีกคิดว่าตัวเองเป็นชนชาติที่มีภูมิธรรมซึ่งผู้หญิงไม่ได้รวมอยู่ในความหมายดังกล่าวด้วย ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ช่วงแรกเริ่มไม่ได้เป็นแค่การระงับการแสดงออกทางเพศ แต่เป็นการแสดงออกซึ่งความรักในลักษณะของนามธรรม เพราะการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหนุ่มถือเป็นการแสดงออกที่น่าละอาย

ประเพณี Pederasty มักจะได้รับการอนุญาตจากบิดามารดาของเด็กหนุ่ม 600 ปีก่อนคริสตกาล มีการริเริ่มกฎหมายยอมรับให้มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ได้รับการปฏิบัติในหมู่คนหลายกลุ่ม อาทิเช่น ชาวทราเชียน (Thracians)  ชาวเคลท์(celts) และชนเผ่าเยอรมันหลายกลุ่ม เช่น พวกเฮอรูรี่ (Heruli) และไทฟาลี่ (Taifali) มีนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อเซ็กทัส เอ็มพิริคัส (Sextus Empiricus) กล่าวว่ากฎหมายของชาวเปอร์เซียได้ยอมรับการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อเฮโรตัสกล่าวว่าพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องนี้มาจากชาวกรีก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าสังคมกรีกโบราณจะยอมรับความสัมพันธ์ในลักษณะ Pederasty ทั้งหมด เพราะบางเมือง เช่น สปาร์ตามีกฎหมายห้ามความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้เพลโตดังได้โจมตีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหนุ่มและกล่าวว่าทางที่ดีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ควรจะถูกควบคุมไม่ให้มีความสัมพันธ์ทางเพศกัน แต่เป็นเพียงความสัมพันธ์ในเชิงจิตวิญญาณเท่านั้น

ต่อมาในสมัยโรมันความสัมพันธ์แบบ pederasty ได้สูญเสียสถานภาพในลักษณะที่เป็นพิธีกรรมของการศึกษา เริ่มเข้าสู่การเป็นสิ่งที่ซับซ้อนของกรีก แทนที่จะเป็นแค่กิจกรรมที่เริ่มต้นจากความต้องการทางเพศ การยอมรับในความสัมพันธ์ดังกล่าวจากสังคมได้ถูกต่อต้านมาตลอดในช่วงหลายศตวรรษ นักคิดอนุรักษ์นิยมประณามความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ เช่น เท็คซิทัส (Tacitus) เห็นว่า pederasty เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายสำหรับพวกชนชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian, 76-138)  ผู้หลงรักแอนทินอส (Antinous, 111-130) หนุ่มชาวกรีกที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพราะจมน้ำตาย หลังจากแอนทินอสเสียชีวิตลงจักรพรรดิเฮเดรียนทรงเสียพระทัยมาก พระองค์ทรงสั่งให้สร้างรูปปั้นของเขาไว้หลายๆ ที่ในจักรวรรดิ

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางเพศในแบบ Pederasty นอกจากจะถูกกล่าวถึงโดยวัฒนธรรมกรีก-โรมันแล้ว แม้แต่ในวัฒนธรรมของชาวเคลท์ (Celts) ก็ยังมีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว นักเขียนหลายคน เช่น อริสโตเติ้ล (Aristotle) ใน Politics สตราโบ (Strabo) และ ดิโอรัสซิลูลัส (DIO มีการกล่าวถึงชายหนุ่มที่นอนบนหนังสัตว์ร่วมกับคนรัก

แต่ในศาสนายิว-คริสเตียนได้ต่อต้านความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว โดยวิธีคิดดังกล่าวถูกสืบทอดต่อมายังศาสนาอิสลามและบาไฮ ในบรรดาข้อห้ามเรื่องโซโดมี่ ความสัมพันธ์แบบ pederasty ถือเป็นเป้าหมายของการโจมตี ในศตวรรษที่ 2 นักเทศน์ Clement แห่ง Alenxandria กล่าวว่าความสัมพันธ์แบบ pederasty ถือเป็นความมัวหมองในศาสนากรีก “เพราะพระเจ้าของท่านก็ยังไม่สามารถละเว้นจากเด็กหนุ่ม คนหนึ่งรัก Hylas คนหนึ่งรัก Hyacinthus คนหนึ่งรัก Pelop คนหนึ่งรัก Chrysippus คนหนึ่งรัก Ganymedes นี่คือพระเจ้าที่ภรรยาของท่านบูชา ดังนั้นกษัตริย์ในยุคคริสเตียนแรกๆ แห่งอาณาจักรโรมัน จึงพยายามกำจัดพฤติกรรม pederasty รวมทั้งความต้องการทางเพศที่ล้นหลามในศาสนากรีก-โรมันเดิม การสร้างศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาประจำชาติ ในช่วงนี้จึงมีการออกกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน เช่น กฎหมายของกษัตริย์แห่งวิซิกอธ (Visigoth) พระเจ้าชินดาชุน (Chindasuinth) ที่มีโทษให้ตอนและส่งตัวให้กับเจ้าคณะแขวง (bishop) ในฐานะนักโทษ และหลังจากรัชสมัยของพระเจ้า Theodosis ที่ 1 (390) บทลงโทษคือการเผาทั้งเป็น ทำให้ต่อมาถึงกับมีสุภาษิตว่า “ด้วยเมรัยและเด็กหนุ่ม เหล่านักบวชถึงกับไม่สนใจการล่อลวงจากพวกเขา” ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวได้ถูกบันทึกโดยนักประวัติศาสตร์ของขาวมัวร์ในสเปนและอิตาลี

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

คนรักเพศเดียวกันในสมัยกรีกและยิว

จากหลักฐานทางโบราณคดีกล่าวว่าความคิดรูปแบบดังกล่าวในสังคมกรีกได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมไมโนอันบนเกาะครีต มีการค้นพบภาพวาดที่ฝาผนังถ้ำเป็นรูปผู้ชาย แต่แต่งกายในชุดของสตรีซึ่งเป็นพิธีกรรมที่โสเภณีผู้ชายปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของสตราโบ (Strabo) แห่งอมาเซีย (Amaseia) ที่กล่าวถึงการลักพาตัวเด็กหนุ่ม โดยครอบครัวของเด็กหนุ่มจะแสดงเครื่องหมายถึงการต่อต้านและการชักชวนผู้ลักพาตัว ในงานเขียนนี้กล่าวว่าถ้าครอบครัวไหนที่ไม่สามารถหาผู้ชายมาลักพาตัวเด็กหนุ่มได้จะถือว่าเป็นความน่าอับอายอย่างหนึ่ง ตามจารีตของชาวครีตเด็กหนุ่มที่ได้รับความสนใจมากมักจะเป็นเด็กหนุ่มที่ฉลาดและมีสติปัญญาดี ไม่ใช่เด็กหนุ่มหน้าตาดี โดยคนรักจะให้ของขวัญเด็กหนุ่มและพาเข้าไปในป่า และอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 2 เดือน มีการสอนเด็กหนุ่มล่าสัตว์ แต่บางครั้งเขาก็จะไม่ได้อยู่ร่วมกันตามลำพัง จะมีเพื่อนๆ ของเด็กหนุ่มอยู่ร่วมกับเขาด้วย และจะร่วมกันล่าสัตว์ร่วมงานเลี้ยงด้วยกัน

2 เดือนผ่านไป เด็กหนุ่มจะได้กลับบ้านพร้อมของขวัญ 3 อย่างซึ่งมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ คือ วัว เสื้อเกราะและแก้วเหล้า เมื่อกลับบ้านเด็กหนุ่มจะสักการะเทพเจ้าซุส (Zeus) ด้วยวัว และนั่นก็เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่ม มีงานฉลองที่ได้รับความนิยม ในงานจะมีการสูบยาสมุนไพร และยังมีการดื่มไวน์ ส่วนของรางวัลที่เป็นแก้วเหล้านั้น มีความหมายถึงสิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงซึ่งผู้หญิงและเด็กจะไม่ได้รับสิทธิในการดื่มไวน์  ส่วนของขวัญที่เป็นเสื้อเกราะก็หมายถึงว่าชายคนนั้นจะได้รับการเลื่อนสถานภาพขึ้นเป็นนักรบและผู้ปกป้องรัฐ โดยในวัฒนธรรมดังกล่าวมีรากมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

นอกจากนี้วัฒนธรรมของคนรักเพศเดียวกันในสมัยกรีกโบราณยังปรากฏอยู่ในบทกวีของโฮเมอร์เรื่องอีเลียต เป็นความรักระหว่าง อคิลิส (Achilles) และพาโทรคัส (Patolus) ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่าในมหากาพย์เรื่องนี้มีการตัดทอนข้อความที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงคนรักเพศเดียวกัน ในเล่มที่ 16 ของอีเลียต อาคิลิสขอร้องพระเจ้าให้กำจัดมนุษย์ในโลกนี้ให้หมดยกเว้นแต่พาโตคลัสและตัวเขา ซึ่งบรรทัดดังกล่าวถูกตัดทอนโดยอลิสตาคัส และยังมีหนังสือเล่มที่ 19 ที่อคิลิสเศร้าโศกต่อการจากไปของคนรักอย่างโหยหวน ในงานเขียนของแอสไซรัส (Aeschylus) ได้กล่าวถึงช่วงหลังจากความตายของพาโตคลัส อาคิลิสได้มองลงไปยังร่างของพาโตคลัสเพื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วย

ถึงกระนั้นในบทกวีของกรีกจำนวนมากที่เป็นบทกวีที่กล่าวถึงคนรักเพศเดียวกัน เช่น บทกวีของอนาครีออน (Anacreon) ที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคลุ้มคลั่งคลีโอบุลัส ข้าพเจ้ามองแต่คลีโอบุลัส” นักกวีถามตัวเองว่าทำไมเขาจึงบรรจงแต่งกวีขึ้นเพื่อเด็กหนุ่ม ไม่ใช่เพื่อพระเจ้า เขาตอบว่า เพราะเด็กหนุ่มก็คือพระเจ้าของเขา ส่วนใหญ่ในบทกวีมักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ซึ่งเป็นความรักบนเส้นทางของเกียรติยศและคุณธรรม ดังนั้นความสัมพันธ์จะไม่ใช่เรื่องของเซ็กส์ ถ้าความสัมพันธ์นั้นถูกแปรเปลี่ยนเป็นความใคร่ นักกวีจะมองความสัมพันธ์นั้นด้วยความดูถูก ดังนั้นในแง่นี้ความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันจึงถูกมองว่าสูงส่งกว่าความสัมพันธ์แบบต่างเพศ

นอกจากนี้ จากปรัชญาของพวกสุขนิยม (Hedonisim) ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยกรีกโบราณมีการกล่าวถึงเรื่องทางเพศ โดยกล่าวว่าอวัยวะเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการเฉลิมฉลองของพวกสุขนิยมก็เน้นเรื่องของการแสดงออกในเรื่องทางเพศ นอกจากนี้ยังไม่มีการงดเว้นเรื่องทางเพศในช่วงที่สตรีมีระดูอีกด้วย ในหมู่สตรีก็มีการใช้องคชาติปลอมกันอย่างแพร่หลายซึ่งเรียกกันว่า olisbo Aristophanes กล่าวถึงสิ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงสวยงามว่า ประกอบด้วย olisbo นอกเหนือไปจากเครื่องสำอาง เพชรพลอย และเครื่องทำผม

ในสังคมกรีกโบราณมีวัฒนธรรมของคนรัก 2 เพศ ซึ่งมีความซับซ้อน ตามปกติผู้ชายจะเป็นคนรัก 2 เพศ ดังเช่นที่นักกวี Maleager กล่าวว่า สตรีได้จุดไฟภายในร่างกายเขาอย่างไร ในขณะที่เด็กหนุ่มได้ครอบครองชิ้นส่วนของความปรารถนาเขา

ส่วนความคิดทางจริยศาสตร์ของชาวกรีกนั้นปรากฏให้เห็นในหนังสือของเพลโต้เรื่อง Symposium โดยพลัวซาเนีย (Pausanias) อธิบายว่าความรักมี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการได้รับแรงบันดาลใจจากเทพแอฟโฟรไดท์ อันเป็นความรักทั่วๆ ไปซึ่งแสดงถึงความปรารถนา โดยไม่ได้แบ่งแยกผู้หญิงหรือเด็กหนุ่ม ผู้ชายจะมีความรักในร่างกายมากกว่าจิตใจ ส่วนความรักประเภทที่ 2 ได้รับแรงบันดาลใจจาก แอฟโฟรไดท์  อูราเนีย (Aphrodite Urania) อันเป็นสวรรค์แห่งความรักสำหรับเด็กหนุ่ม ซึ่งถูกแบ่งแยกด้วยความห่วงใยและความรู้สึกที่ผูกพันตัวเองไว้กับเด็กหนุ่มด้วยความเป็นอยู่และการศึกษา งานของเพลโต้ได้อธิบายว่าความรักของเด็กหนุ่มคือการแสวงหาความรู้  ซึ่งเป็นกฎสำหรับความรักประเภทที่ 2 นี้ เด็กหนุ่มไม่ควรกลัวอะไรง่ายๆ เพราะจะสูญเสียชื่อเสียงหรือเกียรติยศ

บรรณานุกรม

  • แคทเธอลีน แบลซีย์ ,2549, หลังโครงสร้างนิยมฉบับย่อ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
  • ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2551, เพศ: จากธรรมชาติสู่จริยธรรมจนถึงสุนทรียะ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
  • Avarible to <en.wikipedia.org/law of homosexuality of the world>สืบค้นวันที่ 10 ตุลาคม 2563
  • Avarible to < en.wikipedia.org/pederasty> สืบค้นวันที่ 10 ตุลาคม 2564.
  • Nigel Brake and other (2000) Educations in the Age of Nihilism London: Falmer Press.
  • Spenser, Collin (1996) Homosexuality : a History, London: Fourth.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า