fbpx

Localalike การท่องเที่ยว ชุมชน และความยั่งยืน

หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้นหลายคนก็คงมองมันว่าหาทางออกไม่เจอในอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่นัก เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวในประเทศตนเอง และนั่นเป็นโจทย์ที่ยากมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในกลุ่มนักพัฒนาการท่องเที่ยวไทยว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยวหันกลับมาท่องเที่ยวในประเทศกันได้จริงๆ สักที

แน่นอนว่าการท่องเที่ยวย่อมมีหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในรูปแบบที่เราอยากชวนทำความรู้จักคือ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชน” ซึ่งในระยะหลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งจากการพัฒนาชุมชน และการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้พวกเขาเป็นชาวบ้านสี่ชาวบ้านห้า แต่ให้พวกเขามีส่วนร่วมและพัฒนาไปด้วยกัน

Modernist Growth เลยเชิญชวน “ไผ – สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้ง Localalike มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวการเติบโตจากวันนั้นจนถึงวันนี้ รวมไปถึงการเรียนรู้และปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เขายอมรับว่ายากลำบากมากเช่นกัน ร่วมเรียนรู้ที่มาที่ไปที่ทำให้วิศวกรกลับมาทำงานชุมชนในรูปแบบ Social Enterprise พร้อมเข้าใจธุรกิจมากขึ้นกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

คุณไผได้ทำอะไรมาก่อนและมีอะไรที่ได้เรียนรู้และนำมาทำ Localalike ได้บ้าง

ตอนเด็กๆ พี่โตในหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่งที่ร้อยเอ็ด พี่ก็ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ว่า “ชุมชนยังรอโอกาส” ไม่ว่าจะจากภาครัฐหรือเอกชน ถ้าคนไหนที่ไม่รอโอกาสก็คือพยายามไขวคว้าโอกาสของตัวเองไม่ว่าจะเรียนเพื่อให้มีการศึกษาที่ดี หรือ ขายแรงงานเพื่อหาเงินก็ตาม มันก็ทำให้วงจรความยากจนก็วนอยู่ไม่ไปไหน พี่ก็อยู่ในสถานะการณ์นั้นมาเรารู้ว่ามันยากลำบากแค่ไหนในสถานการณ์นั้น พอเราได้เรียนได้ศึกษาจนจบก็เห็นว่าใครหลายคนยังมองว่าคนในชุมชนเป็นคนที่ด้อยโอกาส เลยว่าอยากเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ว่าคนในชุมชนก็มีโอกาส และ ศักยภาพในการทำเรื่องนี้ได้ 

หลังเรียนจบพี่ก็ได้ไปเป็นวิศวกรที่เยอรมันก็ได้ทำงาน ได้เงินเยอะ พอได้เงินเยอะก็ได้เห็นว่าเราสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ แต่ยังมีคนในชุมชนอีกเยอะที่มีศักยภาพเราจะทำยังไงให้คนอื่นเห็นว่าเขามีศักยภาพ ไม่ใช่มองชุมชนเป็นผู้ด้อยโอกาส พี่จึงเปลี่ยนตัวเองไปจากวิศวกร ไปเรียนการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนที่อเมริกา พอหันไปเรียนการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนที่อเมริกาก็ทำให้พี่ได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ การทำธุรกิจไม่ได้มีแค่ธุรกิจที่แสวงหากำไรสูงสุด แต่ยังมีธุรกิจที่แสวงหากำไรและพัฒนาชุมชนไปด้วย ก็คือ Social Enterprise เราเลยว่าธุรกิจแบบนี้น่าจะตอบโจทย์เราและชุมชนได้ด้วย หลังจากเรียนจบ 2 ปีที่สหรัฐอเมริกาพี่ก็กลับมาขอทำงานกับคนที่ดอยตุง เพราะเมื่อพูดถึงดอยตุงก็คือตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีคำถามว่า Social Enterprise จะทำสำเร็จหรือเปล่า 

หลังจากที่พี่ได้ไปทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงโครงการพัฒนาดอยตุง ได้เห็นชุมชนเขาอยากทำท่องเที่ยวแล้วเขาไม่รู้ว่าต้องมีองค์ความอย่างไรในการจัดการท่องเที่ยว เพราะเขาอยู่ใกล้เเหล่งท่องเที่ยว ดอยตุง แม่สะรอง แต่เขาไม่มีองค์ความรู้ผลที่ออกมาก็คือก็มีบริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวเขาไป แต่เขาไม่ได้ประโยชน์อะไร เราก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่มีการจัดการท่องเที่ยวตรงนี้ให้ดีขึ้นก็อาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต หลังจากศึกษาต่อก็ได้รู้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใหญ่แค่ไหนของประเทศไทย และมีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนมากน้อยแค่ไหน มีช่องว่างระหว่างชุมชนกับรายได้ทำให้ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจึงอยากจัดการเรื่องนี้ นอกจากการศึกษายังพบว่ามีปัญหามากมายทั้งการที่ชุมชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากการท่องเที่ยว และทางภาครัฐก็ยังไม่มีการจัดให้ชุมชนกลายเป็นเเหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น จึงอยากทำ localalike ขึ้นมา

ประสบการณ์ในช่วงวัยเด็กมีการนำมาปรับใช้กับการทำงานในตอนนี้บ้างไหม

คิดว่าสกิลการทำงานจำเป็นต้องมีความต้องการส่วนบุคคลที่มาก และบางทีทักษะพวกนี้ไม่สามารถสอนกัน ทีมงาน Localalike ตอนสัมภาษณ์พี่จะดูว่าเขาสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้จริงหรือไม่ เขามีอะไรที่ทำให้ชุมชนรักและทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งพี่ก็เติบโตมาในชุมชนทำให้พี่ได้รู้ในส่วนของตรงนี้ และอีกสิ่งที่ได้เรียนรู้ทำให้เราเข้าใจส่วนไหนที่เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร อาหารจานนึงจะมีมูลค่ามากขึ้นอย่างไร

Localalike มีกระบวนการอะไรบ้างในการเตรียมตัวก่อนที่จะเข้าไปทำงานกับชุมชน

อย่างแรกต้องดูว่าชุมชนเหมาะสำหรับการทำท่องเที่ยวหรือไม่ ดูความน่าสนใจในทั้งเชิงวิถีชีวิต และวัฒธรรมของเขา พอเราเห็นจุดเด่น อัตลักษณ์ แล้วก็ต้องมาดูด้วยว่าชุมชนเขามีผู้นำไหม และมีประสบการณ์ในการทำการท่องเที่ยว สินค้าotop มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจประสบการณ์และตัวชุมชนให้มากขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงว่ามีมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายต้องดูว่าเขาสามารถทำงานร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน 

ความยากง่ายของ Social Enterprise กับ Startup แตกต่างกันไหม

ค่อนข้างต่าง Startup อาจจะเริ่มจากปัญหาที่ลูกค้าเจอและต้องการ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้พร้อมขยายตัวธุรกิจ แต่ Social Enterprise นั้นเริ่มจากปัญหาทางสังคม และตอบโจทย์การแก้ปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่ง

วิธีการจัดการองค์กรของคุณเป็นอย่างไร 

ในช่วงแรกของ Localalike ก็จะเป็น Family ซะส่วนใหญ่ แต่พอโตวัฒนธรรมองกรค์แบบ Family ก็มีส่วนในการกันไม่ให้เติบโต เพราะก็ต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองกรค์ด้วยเพื่อให้สามารถเติบโตต่อไปได้ เพราะงั้นตอนนี้ถือว่าวัฒนธรรมองกรค์เปลี่ยนไปเยอะมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน Localalike มี Product อะไรบ้าง

เริ่มต้น Localalike เราเริ่มจากการเป็นนักพัฒนาเป็นที่ปรึกษาให้กับทางภาครัฐและเอกชนเพื่อไปพัฒนาชุมชน ผลของการเป็นนักพัฒนาเราได้ผลออกเป็น 3 อย่างก็คือ Localalike เป็นแพคเกจทัวร์สำหรับคนที่อยากไปท่องเที่ยวตามแนววิถีชุมชุน Local aroi อาหาร วัตถุดิบ ชุมชนและอื่นๆ และสุดท้าย Local alot สินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์ อุปโภค บริโภค เป็นต้นครับ

Business Model ของ Localalike เป็นอย่างไรบ้างครับ มีการแบ่งรายได้กับทางชุมชนอย่างไร

Localalike ก็มีทั้ง B2G (เอกชนกับรัฐบาล), B2C (เอกชนกับลูกค้า), B2B (เอกชนกับเอกชน) แต่ละช่องทางก็จะมีรายได้ที่ต่างกันถ้าเป็น B2G ก็เป็นงานที่ทางภาครัฐจ้างเราให้เป็นที่ปรึกษาให้ ส่วนถ้าเป็น B2B ก็จะเป็นงานที่ทั้งจ้างให้เป็นที่ปรึกษาและการท่องเที่ยวด้วย แต่ถ้าเป็น B2C ก็จะต้องมีการตกลงราคา และ MOU ที่ชัดเจน

ในช่วง Covid – 19 ที่ผ่านมามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

ก็ได้เห็นแล้วว่าในช่วง Covid – 19 เราต้องปรับตัว ทั้งตัว Localalike และตัวชุมชน เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ในช่วง Covid -19 เนื่องจาก Revenue ของ Localalike เป็นรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวหลัก และอีกในการปรับตัวคือการลดค่าใช้จ่ายก็คือการที่พี่ต้องคืน office ก็คือเรื่องของต้นทุน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ใหญ่มากที่สุดของ Localalike ก็คือตึก office ก็จึงต้องมีการตัดออกไป เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูพนักงาน คนของเราได้เพื่อให้สายป่านยาวขึ้นและโอกาสใหม่ๆ 

คิดว่าการที่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้นส่งผลดีต่อ Localalike ไหม

พี่คิดว่าเป็นเรื่องดีนะ พี่อยากเห็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยเติบโตได้ ซึ่งมันก็ดีกับประเทศด้วย เมื่อเรามี Product เยอะเราก็ต้องหาแพลตฟอร์มเพื่อขายของ เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคู่แข่งแต่เป็นพาร์ทเนอร์มากกว่า ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็มีตลาดของเขาเอง

ในช่วงเริ่มต้นทำ Startup มีการหาเงินลงุทนอย่างไร

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่เเล้วการหาเงินจากนักลงทุนเป็นเรื่องที่ยากมาก พี่เลยเดินสายประกวดแผนธุรกิจ ซึ่งได้เงินฟรีพอเริ่มทำไปสักระยะ 4-5 ปีก็เริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น เราก็เลือกได้มากขึ้นว่าคนที่จะสามารถไปด้วยกันกับ Localalike ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากพูดถึงนักลงุทนเขาก็ต้องมองถึงรายได้ที่จะได้กลับไปยังตัวเขา เริ่มด้วยการสร้างรายได้ไปด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะค่อยๆโตแต่ก็จะยั่งยืนมากกว่า

ถ้ามองเรื่องทุน อะไรคือทุน

หนึ่งในนั้นก็คือ คน ต้องเป็นคนที่พร้อมจะทำ Startup หรือ Social Enterprise เพราะว่าในด้านของเงินเดือนอาจจะไม่ได้จ่ายให้เยอะได้เท่ากับองกรค์อื่น ต้องอาศัยความชอบและพยายามอย่างมาก 

Startup ในยุคปัจจุบันยังมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง

ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็คงเป็นเรื่องของเงินทุนที่ต่างกัน อาจจะด้วยการขาดเงินทุน หรือ Ecosystem ของประเทศเรายังไม่ใหญ่พอหรือเปล่า แต่ถ้าในด้านของการทำธุรกิจ Startup เราต้องพยายามไม่ยอมแพ้ เพราะถ้าหากเรายอมแพ้ไปตั้งแต่ 3 ปีแรกคงไม่เห็น Localalike ในตอนนี้

เห็นการเติบโตอะไรบ้าง

เราเห็นชุมชนเติบโตมากขึ้นทั้งในด้านรายได้ การพัฒนาชุมชน มีคนรุ่นใหม่ทำมากขึ้นมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านตัวเองกันมากขึ้น ในฝั่งตัวองกรค์เราเองเราก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้นโดยชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่มีอะไรที่จำกัดตายตัว ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนมีบริบทที่ต่างกัน ซึ่งเราต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย

เปิดประเทศในตอนนี้มองเห็นเป็นโอกาสไหม

แน่นอนว่าการเปิดประเทศก็ดี แต่มันคงยังไม่กลับภายใน 2-3 ปีนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ปรับตัวและยังรอแค่ทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ ก็อาจจะไม่ได้เกิดเร็วๆ นี้ การเปิดประเทศก็กระเศรษฐกิจ แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง Covid -19 ทำให้เรารู้แล้วว่าเราพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศเยอะมาก ธุรกิจอะไรหลายๆ อย่างในประเทศก็พังไปด้วย เราจะต้องผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศกันเองให้มากขึ้น 

อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรบ้าง เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในตอนนี้

ถ้านโยบายใหญ่ของประเทศยังคงเป็นเรื่องการท่องเที่ยวอยู่ ก็เป็นโอกาสดีให้ภาครัฐหันกลับมามองว่าที่ผ่านมาเรากินบุญเก่าของประเทศอยู่หรือเปล่า เราขายทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงามพวกนี้เป็นบุญเก่าของประเทศทั้งหมดเลย แต่เราเคยได้ใส่เงินเข้าไปเพื่อฟื้นฟู บำรุงรักษาอยู่บ้างหรือเปล่า เพื่อให้ชายหาดๆ นึงไม่มีขยะ ตอนปิดประเทศชายหาดสะอาดไม่มีขยะ แต่พอเปิดประเทศก็กลับมาขยะเต็มอีก แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เราอยู่ในโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม และมีอยู่จำกัด ถ้าเราไม่เติมเต็มและคอยดูแลอยู่เสมอสักวันหนึ่งมันก็จะหมดไป 

“จะเอาแต่เศรษฐกิจนำอย่างเดียวไม่ได้ต้องเอาสิ่งแวดล้อมและสังคมมาด้วย”

มองการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่ปริมาณ ต้องมีการบาลานซ์ระหว่างการท่องเที่ยว เพื่อให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางนี้แน่ๆ เพราะทางภาครัฐก็ผลักดันอยู่ แต่ไม่ใช่แค่นั้นทางภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ก็ต้องช่วยๆ กันด้วยถ้าหากวงการภาคเอกชนไม่ตาม ก็จะไปได้ช้า ซึ่งการสนับสนุนต่างๆ ก็มีออกมาพพอสมควร อย่างทางภาครัฐก็มีการออกโครงการเที่ยวด้วยกัน หรือ โครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น ก็สามารถช่วยได้ในระดับนึงแต่ก็ยังคงมีช่องโหว่ในบางส่วน 

ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยยังมีที่ว่างให้กับ Startup หรือ Social Enterprise รายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดอยู่อีกไหม

พี่คิดว่ายังมีอยู่นะ ในทางฝั่งชุมชนยังมีโอกาสอีกเยอะมากในการลงมาทำงานกับชุมชน ต้องลองมาทำความเข้าใจในฝั่งของปัญหาของชุมชน เพื่อให้เข้าใจตัวชุมชนจริงๆ ในอีกฝั่งนึงตอนนี้ Startup ของต่างประเทศก็ถูกชะลอมาไม่ได้ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนา Startup ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักก็สามารถทำได้

เป้าสูงสุดของ Localalike คืออะไร และตอนนี้เข้าใกล้จุดนั้นมากน้อยแค่ไหน

เป้าหมายของ Localalike ก็คือการเป็นธุรกิจคู่ชุมชน ในปัจจุบันก็มีชุมชนที่ทำงานกับเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ซึ่งพูดได้ว่ายังมีโอกาสในการเติบโตขึ้นอีก เพราะยังมีชุมชนที่รอ Solutions อีกเยอะ การเป็นธุรกิจคู่ชุมชนเรามองถึงการที่ชุมชนเติบโตขึ้นทั้งในด้านรายได้ การจัดการที่ดีและการที่มีคนรุ่นใหม่มาทำธุรกิจที่บ้านให้เติบโตมากขึ้น

Localalike ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะไปอยู่ในจุดๆ ไหนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

อย่างที่เราบอกคือเราไม่ได้สร้างธุรกิจเรามาเพื่อขายออกไปให้กับนักลงทุน เราต้องการที่จะสร้างให้อยู่กับชุมชน ถ้าหากมันยั่งยืนเราก็คงจะสามารถทำธุรกิจกันไปต่อได้และสามารถส่งต่อธุรกิจไปให้คนรุ่นต่อไปได้

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากทำ Social Enterprise

เราต้องเข้าใจปัญหาของเขาจริงๆ ต้องลองเข้าไปอยู่ในจุดๆ ที่เข้าอยู่ มันอาจต้องใช้เวลาอย่างมากในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งในการทำสิ่งเหล่านี้เราต้องใช้แพชชั่นใช้ความพยายามมากพอสมควรเลย การทำ Social Enterprise อาจไม่ได้โตเร็ว แต่จะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ และสวยงาม

ภาพ : Localalike

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า