fbpx

ถอดบทเรียนนโยบายเพื่อคนเพศหลากหลายของ LINE MAN Wongnai กับอานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์

Respect Everyone

เป็นหนึ่งใน Core Value สำคัญที่นำมาสู่นโยบายเพิ่มสวัสดิการแก่พนักงานชาว LGBTQ ของบริษัทเดลิเวอรีชื่อดังอย่าง LINE MAN Wongnai เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและเท่าเทียมในองค์กร และแสดงถึงความพร้อมในการเป็นบริษัทนำร่องสวัสดิการพนักงาน LGBTQ ในประเทศไทย

โดยในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ที่ผ่านมานี้ LINE MAN Wongnai ได้ประกาศเพิ่มสวัสดิการเพื่อพนักงานกลุ่มเพศหลากหลาย ได้แก่ มอบเงินช่วยเหลืองานแต่งจำนวน 20,000 บาทแก่คู่แต่งงาน ซึ่งคู่ LGBTQ ไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนสมรสตามกฏหมาย แค่ใช้รูปถ่ายในงานแต่งเพื่อยืนยันเท่านั้น สิทธิวันลาสำหรับกรณีที่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง ลาได้สูงสุด 10 วัน และสิทธิลาผ่าตัดแปลงเพศนานสูงสุด 30 วัน

วันนี้ The Modernist ได้ชวนคุณรุตม์-อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People มาพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว พร้อมเจาะลึกไปถึงความเชื่อขององค์กรเกี่ยวกับประเด็น ‘ความหลากหลาย’ และ Core Values ต่างๆ ที่ LINE MAN Wongnai ยึดถือในการทำงาน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ภาพรวมการบริหาร “คน” ของ LINE MAN Wongnai เป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งต้นจากการตั้งชื่อทีมว่า “ทีม People” คือดูแลผู้คน ชื่อเดิมคือ HR หรือ Human Resources ที่มองว่าคนคือทรัพยากรมนุษย์เหมือนทรัพยากรเครื่องจักรที่พอใช้เสร็จก็สามารถถูกแทนที่ได้ แต่ในยุคใหม่เราต้องมองว่าองค์กรคือคนที่อยู่ด้วยกัน ทำทุกอย่างร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มองแค่คนเป็นทรัพยากรแต่มองว่าคนมีจิตใจ การตั้งชื่อ People เท่ากับมีหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในบริษัทนี้ ไม่ใช่แค่มาบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร ซึ่งทีม People จะมีทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกันคือ การสรรหาคนดีๆ (Recruitment) แล้วก็รักษาเขาให้ได้ (Engagement) แล้วก็พัฒนาเขาให้ดีขึ้นไปอีก (Development) 

หน้าที่ของทีม People ส่วนหนึ่งคือคุยกับ CEO เพื่อดูว่าอะไรคือคุณค่าที่เราจะยึดถือเป็นค่านิยมหลัก (Core Values) จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ หนึ่ง Innovate Faster คือเรามีทีมเทคโนโลยีประมาณสามร้อยชีวิตที่เป็นโปรแกรมเมอร์ช่วยคิดค้นแอพและฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์คนไทย ต่อมา Go Deeper คือเป็นคนที่ขยัน รู้ลึกรู้จริง ลงไปลุยหน้างานจริงไม่ใช่แค่สั่งงานบนหอคอย

สุดท้ายที่เราภูมิใจมากคือ Respect Everyone เพราะในธุรกิจ LINE MAN Wongnai มันมีอยู่ 4 ขาด้วยกันคือ LINE MAN ที่เป็นตรงกลาง, User ที่สั่ง Food Delivery, ร้านอาหาร และ Rider ทุกคนก็มาตรงนี้เพื่อที่จะมีรายได้เสริมหรือมีโอกาสในการทำมาหากิน แต่ว่าสิ่งที่เขาต้องการมันขัดกันหมดเลย Rider ต้องการค่าส่งแพงๆ ส่วน User ไม่อยากจ่ายค่าส่งเลย ร้านอาหารก็ไม่อยากโดนเก็บค่า GP เราคือคนตรงกลางที่โดนถล่มว่าทำไมให้ค่า Rider ต่ำ ทำไมถึงเก็บค่า GP แพง ทำไมค่าส่งแพงจัง เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็น LINE MAN Wongnai เราไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ แล้วเราจะหาทางไหนที่ตั้งต้นได้ว่าเรา Respect Everyone มาก ทุกการตัดสินใจของเราคิดมาอย่างดีว่าอันนี้คือทิศทางที่จะไปแล้วพาเราโตไปด้วยกันได้ทั้งหมด

คนเพศหลากหลายใน LINE MAN Wongnai มีวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในองค์กรอย่างไรบ้าง

ประเด็นนี้ผมคิดว่าผมตอบได้ยากเพราะว่าเราไม่เจอหน้ากันมา 2 ปี แล้วองค์กรเราก็โตมากพอสมควรในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา แต่เอาเท่าที่ผมสัมผัสกับคนที่เป็น LGBTQ คนที่ผมเคยทำงานด้วยเป็นคนที่ละเอียดอ่อน เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น แล้วก็เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี อย่างเราเคยเป็นคนนอกมาก่อนก็ทำให้เรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ทำให้คนที่เป็น LGBTQ มีความรู้สึกว่าเขาก็พยายามที่จะโอบรับทุกคน ผมเคยไปอยู่นิวซีแลนด์ ฝรั่งจับกลุ่มกันแล้วเราเป็นเด็กวงนอกที่เขาไม่คุยกับเรา รู้สึกเจ็บปวดนะ พอกลับมาเมืองไทยเลยมีความรู้สึกว่าถ้ามีใครคนไหนที่เราเจอแล้วเขาอยู่วงนอกเราจะเอามาคุยด้วย ให้ทุกคนเป็นเพื่อนกัน 

ความรู้สึกแบบนี้คน LGBTQ จะมีเยอะกว่าคนทั่วไป คนที่เป็น LGBTQ จะทำให้คนรู้สึกว่ามีความครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไม่ข้างหลัง อันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าชาว LGBTQ ใน LINE MAN Wongnai มีคือความละเอียดอ่อนและความคิดสร้างสรรค์ที่ดีครับ

ช่วยอธิบายถึงนโยบายแก่เพศหลากหลายในองค์กร LINE MAN Wongnai หน่อย

ผมว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่ดีนะ ผมคิดว่าการที่บ้านเราเป็นทั้งพุทธ คริสต์ และพราหมณ์ทำให้มีความเปิดกว้างเยอะมาก คนไทยเจออะไรก็เอามาหมดเลย วันวาเลนไทน์ก็ฉลอง ตรุษจีนก็ฉลอง ฮาโลวีนก็ฉลอง พอเราเปิดกว้างมาก การเป็นเพศทางเลือกในเมืองไทยก็ไม่ได้โดนบูลลี่เท่าคนที่อยู่ต่างประเทศหรือชุดความคิดอื่นๆ ที่คิดว่าการเป็นเพศหลากหลายมันผิดธรรมชาติ พอมันเป็นอย่างนี้ เรามองว่าคนเหล่านี้เขาไม่ได้ผิดแปลกไปจากเรา เราก็เลยปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากันหมดเลย เราดูคนที่ 4 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่ง-Skill ต้องดี เป็นตากล้องต้องถ่ายรูปสวย เป็นโปรแกรมเมอร์ต้องเขียนโค้ดเก่ง สอง-Potential ตาเป็นประกายหรือเปล่า ถามคำถามฉลาดหรือเปล่า มีความทะเยอทะยานหรือเปล่า อันที่สามคือดู Cultural Fit ตาม Core Value หรือเปล่า สุดท้ายคือดูว่าเป็นคนมี Mindset ใช้ได้หรือเปล่า เป็นคนที่ดีหรือเปล่า ดูแค่นั้น ไม่มีเรื่องของการเป็นเพศไหนเข้ามา เราไม่เคยดูประเด็นนี้เลย

แต่ 2 ปีที่ผ่านมาในความเป็น Pride Month เปิดกว้างมากขึ้น เลยมีความคึกคักมากขึ้นในเรื่อง LGBTQ ก็เลยเริ่มมีกิจกรรม Pride Month ขึ้นมา อย่างรอบนี้เราก็มีการพูดคุยกับชาว LGBTQ ว่าถ้าเกิดปีนี้จะจัด Pride Month อยากให้มีอะไรพิเศษบ้างหรือเปล่า ก็มี 3 อย่างที่เราคิดว่าทำได้เลย อย่างแรกคือการที่สมรสแล้วมีเงินก้นถุงให้สองหมื่นบาททุกคู่ แต่ก่อนเรามีตรงนี้อยู่แล้วให้กับคนที่แต่งงานจดทะเบียนสมรส แต่เมืองไทยไม่มีการจดทะเบียนสมรสให้กับคนเพศหลากหลาย เราคิดว่าถ้าคุณแค่แต่งงานแล้วโชว์รูป มีการ์ดแต่งงานเราก็เชื่อแล้วว่าคุณแต่งงานกันจริง คุณก็นำมาเป็นหลักฐานแล้วได้เงินก้นถุงไปสองหมื่นบาท อันที่สองคือเรื่องของการลาไปรับบุตรบุญธรรม เหมือนการลาคลอดที่คุณลาได้ 14 วัน ลาไปเตรียมตัวเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่ต้องรับชีวิตเล็กๆ คนหนึ่งเข้ามาดูแล ก็ให้ลาได้ 14 วันเหมือนกัน อันที่สามคือเรื่องของการลาไปผ่าตัดแปลงเพศ ให้พักฟื้นหนึ่งเดือนเต็มแล้วเราจ่ายให้ครึ่งหนึ่งจะได้ไม่ต้องรีบกลับมาทำงาน อันนี้คือ 3 อย่างที่ได้มาจากการพูดคุยกับชาว LGBTQ ที่นี่แล้วก็กลายมาเป็นนโยบายที่ผมคุยในห้อง CEO กันแค่ 10 นาทีก็ผ่านแล้ว คือทุกคนซัพพอร์ตหมด แล้ว CEO อาจถามว่าเรามีคนเยอะแค่ไหน มีคำตอบตัวเลขหรือเปล่า แต่ความจริงคือถ้าเกิดเขาเป็นคนที่เป็น Straight มันก็ไม่ต่างกันอยู่แล้วในการที่ว่าจะได้หรือไม่ได้ เราให้ทุกคน Respect Everyone เรา Respect คุณ ไม่ต้องมีหลักฐานใบสมรสก็ได้เพราะว่ากฎหมายไทยยังไม่ผ่าน แต่มันเริ่มมีกระบวนการแล้ว นี่เป็น 3 อย่างที่เราประกาศไปแล้วเพื่อนร่วมงานเขาก็มีความสุขกัน ก็รู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณดีที่องค์กรมีการเปิดกว้างและมีการตอบรับตรงจุดนี้ขึ้นมาครับ

นโยบายสนับสนุน LGBTQ มีความสำคัญอย่างไร

ผมว่าความหลากหลายมันดีนะ เช่น ความหลากหลายทางมุมมอง ทางความคิดเห็น ทำให้องค์กรมีโอกาสมากขึ้น ถ้าองค์กรไม่มีความหลากหลาย มีแต่ผู้ชายจบวิศวกรรมมาทำด้วยกันมันก็ไม่มีความ Creative หรือความละเอียดอ่อนอะไรเลย แต่ความหลากหลายที่มาจากคนทำงาน ทั้งหญิงหรือ LGBTQ มาอยู่ด้วยกันมันทำให้เราเข้าใจตลาดมากขึ้นเพราะเมืองไทยไม่ได้มีแค่เพศเดียว เพราะฉะนั้นการทำงานที่มีมุมมองความหลากหลายมันช่วยโอบทำให้ธุรกิจมันตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากกว่า 

ซึ่งความหลากหลายทำให้องค์กรเติบโตได้ดีกว่าองค์กรที่มีแต่เพศเดียวกันหมดอย่างหัวหน้าชายล้วนคงไม่ดีเท่าองค์กรที่มีผู้หญิงกับ LGBTQ เป็นหัวหน้าด้วย การขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าได้เราไม่มองเรื่องเพศแต่เป็นที่ความสามารถกับทัศนคติล้วนๆ

นโยบายนี้ประกาศใช้นานหรือยัง

ประกาศช่วงเดือนพฤษภาคม เราประกาศในองค์กรก่อน 2-3 วัน ถึงจะประกาศก่อนที่จะขึ้น Pride Month คือใช้โอกาสว่าจะมี Pride Month แล้วพนักงานอยากเสนออะไรหรือเปล่า คุณจะทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย เหมือนที่เขาผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราเลยใช้จุดนี้ในการทำ

ผลตอบรับในองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง 

ทุกคนโอเคนะ ไม่มีเสียงคัดค้านอะไร ทุกคนแฮปปี้หมด ด้วยพื้นฐานของ Gen Z ที่เปิดกว้างมากอยู่แล้ว ไม่มีใครออกมาบอกว่าไม่แฟร์ ไม่มีคำถามนี้เกิดขึ้นเลย แล้วถ้าถามว่าคน LGBTQ เขาแฮปปี้แค่ไหน ผมว่าโอเคเลย ผมไม่ได้ลงไปถามเขา แต่เชื่อว่าเขารู้สึกอุ่นใจที่องค์กรคิดถึงเขาก่อนที่จะมีกฎหมายแต่งงาน แต่อนาคตก็ไม่แน่ ถึงตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายให้ใช้ทันทีแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราคิดถึงสิ่งเหล่านี้โดยมีคนเหล่านี้เป็นตัวตั้ง เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้คิดเลย ถ้าอนาคตมีกฎหมายตรงนี้ก็คงทำให้เราละเอียดอ่อนกับตรงนี้มากขึ้น มีความ Customize มากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกคนในองค์กร

มีพนักงานขอใช้สวัสดิการส่วนนี้แล้วหรือยัง

ตอนนี้เท่าที่ทราบยังไม่มี อาจจะเพราะอายุของพนักงานจะประมาณ 28-29 ปี แต่คิดว่าปีสองปีก็น่าจะมีคนได้ใช้แล้วนะ เสียดายคือมีคนที่เป็น Transgender มาอยู่เมื่อสองปีที่แล้ว เขาผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ก็เลยไม่ได้ใช้สวัสดิการตรงนี้

บรรยากาศของการทำงานที่สนับสนุนให้พนักงานได้เป็นตัวเขาอย่างเต็มที่มันส่งผลต่อการทำงานอย่างไร

ผมว่ามันดีตรงที่เขาไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ถ้าเราคอยจัดการเรื่องที่มันกวนใจ เขาก็สามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้ มันเลยทำให้งานออกมาดีครับ 

การประกาศเรื่องนี้ออกไปในพื้นที่สื่อของ LINE MAN Wongnai ได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง และสิ่งนี้ช่วยตอกย้ำหรือส่งเสริมความหลากหลายในองค์กรอย่างไรบ้าง ในภาพที่เราจะสื่ออกไป

จริงๆ ผมไม่ทราบครับ เพราะจุดหมายหลักไม่ใช่การ PR จุดหมายคือการทำให้คนในองค์กรมากกว่า สิ่งที่ผมจะย้ำตลอดคือทุกอย่างที่เราทำ สิ่งที่พูดข้างนอกกับข้างในมันต้องสัมพันธ์กันเสมอ ไม่ใช่ทำเพื่อ PR แต่ทำเพื่อคนของเราจริงๆ ส่วนคนข้างนอกเขาจะสรรเสริญ เขาจะก่นด่า มันก็เรื่องของเขา เลยไม่ได้ไปตามผลตอบรับอื่นๆ ซึ่งเท่าที่ดูคนที่มาสัมภาษณ์ คนที่สมัครงานหรือมาเป็นเลขาผมก็มีหลายคนที่เป็น LGBTQ คนกลุ่มนี้เขาก็จะมีความคล่องแคล่ว มีวาทะศิลป์ที่ดี มีความเข้าอกเข้าใจ

ความหลากหลายมันมีผลกับตัวงานหรือบริการที่ออกไปสู่ผู้บริโภคบ้างไหม

เท่าที่ดู Campaign ต่างๆ ก็มีความหลากหลายในการเอา Influencer มาใช้ การมีความหลากหลายทำให้เรากล้าลองอะไรหลายๆ แหวกขนบบ้าง ซึ่งคนที่เป็นเพศหลากหลายเขาจะมีความแหวกขนบอยู่แล้วประมาณหนึ่ง พอเขาช่วยทดลองก็ช่วยให้องค์กรมี Innovative มีความกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น แต่ในแง่ Product ออกไปผมไม่กล้าบอกว่ามันดีไม่ดียังไงเพราะว่าผมไม่ได้ศึกษาขนาดนั้น แต่ผมเชื่อว่ามันมีดีกว่าไม่มีแน่ๆ 

ด้วยความเป็น Startup มีวิธีการโน้มน้าวผู้บริหารระดับสูงอย่างไรให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับนโยบายของ LGBTQ และนโยบายของผู้หญิง

ผมว่าคำว่า Respect Everyone มันตอบทุกอย่างนะ สิ่งที่เราทำคือการ Respect Everyone มันก็ทำได้แล้วก็รับได้ มันไม่ใช่การขอเยอะเกินไป หรือเป็นอภิสิทธิ์ชนทุกคนได้ในสิ่งที่ควรจะได้ มันก็เลยกลับมาที่พื้นฐานเลยว่า Respect Everyone จริงหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ทำมันแปลว่าคุณไม่ Respect หรือเปล่ามันก็ถกเถียงกันได้ ที่ผ่านมา Core Value ทั้งสามข้อมาจากทีมผู้บริหาร ไม่ต้องพูดเยอะเพราะมันเป็นตัวตนของเราที่เราคิดเองขึ้นมา ถ้าเกิดคุณคิดมาแล้วคุณไม่ทำ คุณก็เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก

นโยบายและการ Respect Everyone ในองค์กร สำคัญอย่างไร

สำคัญมากเลยนะ เวลาผมทำสัมภาษณ์ ถ้ามีใครถามว่าใน 3 ข้อชอบอะไรมากที่สุด ผมจะตอบว่า Respect Everyone เพราะผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่มองหา ทุกคนถูกปฏิบัติเท่ากัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็น CEO พนักงาน หรือแม่บ้านก็แล้วแต่ มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยทำ Engagement Survey ถามความเห็น ก็มีคนหนึ่งเขียนมาว่า ‘ดีมากเลย ช่วงก่อนโควิดจะมีการเลี้ยงข้าวเที่ยงข้าวเช้า เราก็เห็น CEO ไปยืนต่อคิวแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนคนธรรมดาทั่วไป’ เขาก็คงคิดว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ที่เรา Respect Eveyone โดยไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ ต่อให้คุณเป็น CEO แต่ถ้าคุณมาสายคุณก็ต้องไปต่อแถวหลังสุดอยู่ดี

อย่างห้องประชุม ถ้า CEO ไม่อยู่ออฟฟิศคุณก็ไปใช้ห้อง CEO ได้ ของแบบนี้ต้องทำให้เป็นตัวตน เป็นเรื่องธรรมชาติที่แผ่กระจายกันไปในองค์กรจนเขาได้เห็นมันด้วยตาตัวเอง มันก็เลยทำให้ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติ คนที่อยู่ที่นี่แล้วเขาเชื่อว่าสิ่งที่ CEO พูดมันจริง เพราะว่าทุกอย่างที่เราทำออกไป นโยบายที่เราพยายามแสดงออกไป ทุกคนได้รับเท่ากัน ดังนั้นถ้าเขาเชื่อเขาจะไม่มาพะวงเรื่องนี้ เขาก็จะทำงานของเขาได้เต็มที่ พองานมันออกมาคุณภาพดี บริษัทมันก็เติบโต สิ่งนี้แหละมาจากการที่เรา Respect ทุกคน มันแสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทาง แล้วทุกอย่างมันก็จะง่ายขึ้น  

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า