fbpx

เข้าใจและปรับเปลี่ยนการใช้คำในข่าวต่อกลุ่ม LGBTIQ+

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


หากเราจะพูดถึงความหลากหลายทางเพศกับสื่อ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็คงจะเป็นไม้เบื่อไม้เบากันไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือการสร้างภาพจำจากละครที่ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นตัวประหลาด เป็นตัวตลก ทั้งหมดนี้ฝังเป็นค่านิยมจนทำให้ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาทัศนคติและมุมมองของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นถูกฝังกับสิ่งเหล่านี้ และรากนั้นฝังลึกไปจนถึงการเป็นถ้อยคำเพื่อกลั่นแกล้งกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จนนำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด

วันนี้ส่องสื่อ มีเดีย แลป และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงพาทุกคนไปติดตามและนำเสนอเรื่องราวที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ คือการส่องสื่อ ส่องคำในพาดหัวข่าว เพื่อพัฒนาและปรับความเข้าใจ รวมถึงในอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนการใช้คำในข่าวต่อกลุ่ม LGBTIQ+ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ในที่สุด ผ่านคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่จัดทำโดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ดำเนินการผลิตมาเมื่อเดือนเมษายน 2563

LGBTIQ+ คืออะไร?

คำย่อต่างๆ ที่เราพูดถึงในบทความนี้นั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า LGBTIQ+ แท้ที่จริงแล้วมีความหมายในตัวของศัพท์คำนี้อยู่ โดยแบ่งคำออกมาได้เป็นดังต่อไปนี้

L – Lesbian
บุคคลที่เป็นผู้หญิง และมีรสนิยมทางเพศที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิง

G – Gay
บุคคลที่ชื่นชอบในบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศตรงกับตนเอง โดยในบริบทของสังคมไทยจะเข้าใจว่าเกย์คือบุคคลที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองว่าเป็นชาย และมีความชื่นชอบ และรสนิยมทางเพศกับชาย

B – Bisexual
บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศทั้งที่ชอบเพศเดียวกัน และเพศตรงกันข้ามกับตนเอง

T – Transgender
บุคคลที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้าม และแตกต่างไปจากเพศกำเนิดของตนเอง

I – Intersex
บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือแบบโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์

Q – Queer
เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตนเอง ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องเพศ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคำที่นำมาใช้กัน โดยปกติจึงเติมเครื่องหมายบวก (+) ไปหลังคำย่อรวมเหล่านี้ เพื่อรวมกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้นิยามตามหลักนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

เปิดคำที่สร้างรอยแผลให้กับ LGBTIQ+

ที่ผ่านมานับตั้งแต่การเก็บข้อมูลในปี 2541-2562 พบการใช้คำหลักๆ ที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด หรือส่งผลลบต่อกลุ่ม LGBTIQ+ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็มักจะเกิดจากข่าวอาชญากรรม หรือข่าวความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยทางมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูล พบคำสำคัญๆ เช่น ตุ๋ย ซึ่งจะใช้กับกรณีการข่มขืน, อัดถั่วดำ ซึ่งจะใช้ในกรณีการข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์, ชายจริงหญิงแท้ หรือชายปกติ/หญิงปกติ ซึ่งคำนี้เป็นคำตีตราเพศอื่นๆ ว่าเป็นของเทียม ของปลอม มีนัยยะว่าเพศอื่นๆ เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แปลกประหลาด

นอกเหนือจากนี้ยังมีคำว่า เบี่ยงเบนทางเพศ หรือวิปริตทางเพศ ซึ่งหมายความถึงการเป็นเพศอื่นที่ไม่ใช่ชายหญิงนั้นไม่ใช่ความปกติ รวมถึงคำว่าเพศที่สาม หรือสาวประเภทสอง ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสำคัญของเพศ แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ, รักร่วมเพศ ที่หลายถึงการหมกหมุ่นในกามรมณ์ และคำว่าผู้ชายนะยะ, ผู้หญิงมีงู, ไม้ป่าเดียวกัน, ชาวดอกไม้, ประเทือง, แต๋ว, ตุ๊ดซี่, ตุ๊ดตู่ หรือน้องเตย ซึ่งเป็นคำใช้เรียกเพศในเชิงล้อเลียนให้ตลกขบขัน นอกเหนือจากนี้ยังมีคำอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนสร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่ม LGBTIQ+ ไม่ว่าจะเป็น เสียดายของ, ฉิ่งฉับ, ตีฉิ่ง, เล่นดนตรีไทย, ฟันดาบ, หัวโปก และรักร่วมเพศ ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดจุดด่างพร้อยต่อกลุ่ม LGBTIQ+ ได้อีกด้วย

ตัวอย่างพาดหัวที่สร้างความเข้าใจผิด

สีสันวันเกณฑ์ทหาร! ผู้ชายนะยะ-พระ-พ่อลูกอ่อน (บ้านเมือง, 4 เมษายน 2562)
เปล่าตีฉิ่ง!! เกรซ แจงควงสาวหล่อ แค่ทีมงาน (mthai, 28 เมษายน 2558)
ชุมชน LGBT หรือกลุ่มรักร่วมเพศแห่หนีออกจากบรูไน ก่อนที่กฎหมายชารีอะห์ที่มีบทลงโทษขั้นรุนแรงจะมีผลบังคับใช้วันพรุ่งนี้ (ช่อง 3, 2 เมษายน 2562.)
นางเอกชื่อดัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสละครที่หลายคนชื่นชอบและชมว่าเล่นเหมือนมากจนไม่แน่ใจว่าเป็นผู้หญิงแท้หรือเปล่า (ข่าวสด, 15 ธันวาคม 2560.)

เข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างไรเมื่อนำเสนอข่าว

มาถึงช่วงเวลานี้ หลายคนก็คงจะสงสัยแล้วว่าถ้าเราจะนำเสนอข่าวที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือมีกลุ่มบุคคล LGBTIQ+ แล้วเราควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง? แน่นอนว่าเมื่อมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแล้ว เราต้องเข้าใจในประเด็นที่จะนำเสนอออกไปให้ได้มากที่สุด วิธีการนำเสนอมีทั้งหมด 5 วิธีด้วยกัน คือ

  1. สอบถามแหล่งข่าวว่าสะดวกใจใช้คำแทนนามว่าอะไร
    หากไม่ทราบมาก่อนว่าแหล่งข่าวที่เราดำเนินการสัมภาษณ์ต้องการให้แทนนามหรือพาดหัวว่าอะไร ให้สอบถามไว้ก่อน ซึ่งในกรณีบางครั้งเขาอาจจะสะดวกใจให้แทนว่า ผม คุณ หรือฉันก็ได้ และเราควรให้เกียรติแหล่งข่าวด้วยการเรียกตามความสะดวกใจของเขาเป็นหลักด้วยเช่นเดียวกัน
  2. ศึกษาหาข้อมูลและการแบ่งอัตลักษณ์ทางเพศ
    วิธีการที่จะทำให้เข้าใจง่ายที่สุดในการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ คือการศึกษาการแบ่งอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละกลุ่ม ซึ่งในปัจจุบันแบ่งได้หลากหลายมาก และถ้าเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ อาจจะทำให้เราเข้าใจประเด็นที่จะส่งสารไปยังแหล่งข่าวหรือผู้รับสารมากขึ้นก็เป็นไปได้
  3. พาดหัวข่าวให้คำนึงถึงแหล่งข่าวเป็นหลัก
    อย่าลืมว่าแหล่งข่าวคือคนให้ข้อมูลที่จะทำให้ข่าวๆ นั้นเติมเต็มไปด้วยข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ฉะนั้นอย่าลืมว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเขียนพาดหัวข่าว ให้นึกถึงพวกเขาด้วยทุกครั้ง ทั้งการรักษาสิทธิของแหล่งข่าว การเปิดเผยตัวตน และผลกระทบจากการพาดหัวข่าวซึ่งอาจจะรุนแรงไปจนถึงการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และส่งผลไปยังการฆ่าตัวตายก็เป็นไปได้เช่นกัน
  4. ถ้าเนื้อข่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ต้องเชื่อมโยง
    ลองสำรวจเนื้อหาข่าวที่เราจะทำดีๆ ว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ไม่ต้องใส่ เช่น ประเด็นอาชญากรรม เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ทุกคนย่อมต้องได้รับการคุ้มครองอยู่เสมอๆ
  5. งดใส่อคติทางเพศลงไปในเนื้อข่าว
    อีกหนึ่งข้อสำคัญคือ ในบางครั้งเราอาจจะไม่พอใจใครแล้วไปเชื่อมโยงกับเพศไหนก็แล้วแต่ แต่ในฐานะที่เราส่งสารไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก การไม่ใส่อคติลงไปในการนำเสนอหรือแปะป้ายคือสิ่งสำคัญ หากไม่มีข้อมูลมารองรับก็จงอย่างใส่อคติของตนเองลงไปจะดีกว่า

แท้ที่จริงแล้วบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ ก็ไม่ต่างจากบุคคลกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่เราต้องเรียนรู้และให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะในฐานะใดก็แล้วแต่ เราก็ควรที่จะไม่กลั่นแกล้งหรือสาดความรุนแรงทั้งจากการพิมพ์ การพูด หรือการกระทำลงไปเด็ดขาด ที่สำคัญสำหรับสื่อมวลชนคนรุ่นใหม่ก็ควรที่จะเข้าใจและเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศไปด้วยกัน เพราะเขาอาจจะอยู่ใกล้ตัวเราก็ได้

Content Creator

Graphic Designer

Host

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า