fbpx

ละครคือชีวิต ชีวิตคือละคร : ละครส่องหรือสะท้อนอาชีพ LGBTIQN+ อยู่ไหม?

ละครคือสื่อสะท้อนสังคม แต่การสะท้อนภาพกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) เพียงมุมเดียวซ้ำซากนั้นเป็นการสร้างภาพตายตัว (Stereotype) ชี้นำคนดูให้จดจำว่าตัวละคร LGBTIQN+ มีอุปนิสัยอย่างไรและต้องประกอบอาชีพอะไร โดยตัวละครกลุ่มดังกล่าวมักแสดงอารมณ์อันอ่อนไหวและการใช้อารมณ์นำเหตุผล แต่ด้วยการกล้าแสดงออกและมีความสร้างสรรค์เป็นเลิศ ตัวละครฯ จึงทำมาหาเลี้ยงชีพในวงการศิลปะบันเทิงและไม่ข้องแวะกับงานวิชาการ เป็นผู้นำหรือการบริหารโครงสร้างใหญ่อย่างรัฐและไม่สามารถประสบความสำเร็จทางการเมือง

ละครเรื่องแล้วเรื่องเล่าร่วมจำกัดอาชีพ LGBTIQN+ ผ่านตัวละครภาพตายตัว โดยมีผู้ประพันธ์ ทีมผู้สร้างละคร กลุ่มผู้ชม และสังคมเป็นผู้รับส่ง สืบสาน และปลูกฝังค่านิยมให้สังคมชายหญิงและ LGBTIQN+ เองได้ก่อกำแพงทางความคิดและนโยบายอันกีดกัน LGBTIQN+ จากสายงานที่ละครส่องไม่ถึง สารที่ละครเลือกที่จะสื่อและเลือกไม่สื่อล้วนทลายถล่มความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองของ LGBTIQN+ ให้สั่นคลอนจนถนัดกดทับตนเอง จนสมาทานอัตลักษณ์และจำนนในอาชีพที่สังคมและละครดาด ๆ จัดสรรให้อย่างอัตคัด อย่างอีหลักอีเหลื่อใต้เพดานแก้ว เว้นเสียว่าละครจะเป็นฮีโร่หยุดคัดลอกแก่นคิดเดิมและมอบอาชีพใหม่ ๆ ให้ตัวละคร  LGBTIQN+ อย่างต่อเนื่องเพื่อส่อง สะท้อนและสอนสังคมว่าคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะหลากหลายสร้างผลลัพธ์ได้ไม่ต่างจากชายหญิง

ปี 2562 ผู้จัดละครได้เติมสีสันแปลกใหม่ให้ละครไทยโดยโยนตัวละคร LGBTIQN+ เข้าไปในตลาดงานแห่งใหม่อันผาดโผน เช่น ให้เป็นมือปืน เป็นนักทวงหนี้ นักสร้างแรงบันดาลใจ นักเขียน โฮสต์ และตำรวจ เป็นต้น และในปี 2563 นี่เอง ละครได้ทลายกำแพงอาชีพให้ตัวละคร LGBTIQN+ ได้กระจายภาพลักษณ์เป็นข้าวโพดคั่วตกทั่วตลาดแรงงาน รวมถึงสายงานที่ใช้เหตุผลนำ จากการสำรวจละครที่ลงผังออกอากาศปี 2563 ทั้งที่เตรียมลงจอ กำลังออกอากาศ และจบแล้วโดยไม่นับรีรัน พบว่าตัวละคร LGBTIQN+ ทำงานอยู่ครบทุกภาคส่วน และเนื่องจากละครวายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนลงจอหลายเรื่อง ทั้งแต่ละเรื่องคับแน่นไปด้วยตัวละครกลุ่มดังกล่าว จึงส่งผลให้ประชากรตัวละครส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นนักศึกษา

ละคร “คุณหมีปาฏิหารย์” ของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่เพิ่งบวงสรวงไป

เมื่อพินิจถึงอาชีพหลังจบการศึกษาของตัวละครวายจะยังพบว่า วิศวกร นักดนตรี และแพทย์เป็นอาชีพยอดฮิตที่ขายได้เสมอ แต่อาชีพปรากฏที่เพิ่มก็เติมภาพลักษณ์ความเป็นนักตรรกศาสตร์และนักวิชาการลงในภาพจำ LGBTIQN+ ได้มาก ตัวอย่างอาชีพ อาทิ นิติกร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักชีววิทยา นักฟิสิกส์ นักบริหาร และนักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ จนอดพาลตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรเป็นปัจจัยให้ LGBTIQN+ ในละครวายได้ทำงานหลากหลายกว่าตัวในละครผู้ชายผู้หญิงอย่างมาก คำตอบนั้นมีเพียงเพราะ “คนดูละคร” สองกลุ่มนั้นเปิดความหลากหลายทางเพศไม่เท่ากัน เท่านั้นหรือ ?

หรือเพราะตัวละคร LGBTIQN+ ในละครวายแสดงออกถึงความเป็นชาย จึงได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่งานของเพศชาย ตรงข้ามกับละครชายหญิงที่ตัวละคร LGBTIQ+ ต้องแสดงออกให้ตรงข้ามกับเพศกำเนิดอย่างชัดเจน จึงหมดสิทธิทำงานที่เชื่อว่าสงวนไว้ให้เฉพาะเพศวิถีที่พวกเขาละทิ้งมา ตัวอย่างเช่น ตัวละครเพศกำเนิดชายที่ละทิ้งความเป็นชายมากเท่าไหร่ก็จะหมดโอกาสได้ทำงานที่อาศัยความน่าเชื่อถือและงานช่างใช้แรงงานหนัก ตรงกันข้ามกับตัวละครเพศกำเนิดหญิงก็ถูกนำเสอว่าทำงานที่เชื่อว่าสงวนไว้ให้ผู้ชาย แต่ไม่ค่อยปรากฏว่าได้ทำงานที่เชื่อว่าสงวนไว้ให้ผู้หญิง เช่น งานที่อาศัยความละเอียด ความพิถีพิถัน เป็นต้น

อาชีพใหม่ของตัวละคร LGBTIQN+ ที่พบในปี 2563 ได้แก่ ติวเตอร์ แพทย์นิติเวช วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักบัญชี นักกฎหมาย สัตวแพทย์ เจ้าของกิจการโรงแรม และเจ้าหน้าราชการฝั่งพลเรือน เช่น เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศ และ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานอันแสดงความเปิดกว้าง เปิดรับ และความเป็นมิตรของรัฐ เป็นต้น ท่ามกลางอาชีพใหม่ ๆ นี้ ได้ปรากฏข้อสังเกตอันชัดเจนและน่าสนใจประการหนึ่ง คือ อาชีพของตัวละคร LGBTIQN+ ที่ออกอากาศทางช่องสัญญาณโทรทัศน์ (broadcasting) โดยเฉพาะสถานีบุกเบิกมักกระจุกตัวแคบในอุตสาหกรรมบันเทิง เมื่อเทียบกับตัวละครในช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต (streaming) อาชีพในช่องสัญญาณโทรทัศน์ยังยึดโยงกับศิลปะอยู่แน่น เช่น นักร้อง นักดนตรี และผู้จัดการของพวกเขา ฯลฯ ช่างแต่งหน้า มัณฑนากร สถาปนิก ผู้จัดการแผนกศิลปกรรม ผู้ช่วยนักออกแบบอัญมณี บาริสต้า บาร์เทนเดอร์ ช่างแต่งมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น คำถามชวนสำรวจคืออาชีพเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนสังคมถึงอาชีพที่เป็นมิตรต่อ LGBTIQN+ ได้ตรงตามความเป็นจริงและครบถ้วนหรือไม่

ภาพจากละคร “เล่ห์เกมรัก” ออกอากาศทางช่อง PPTV HD 36 โดยนางเอกในเรื่องแต่งตัวเลียนแบบผู้ชาย เพื่อสืบหาความลับบางอย่าง

คำตอบคือ เป็นจริงแต่ไม่ครบถ้วนนัก โดยปี 2557 เว็บไซต์ infographic.in.th นำเสนอบทความ สังคมไทยยอมรับ LGBT แค่เพียงลมปาก?? ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าสายอาชีพที่เป็นมิตรกับ LGBTIQN+ มากที่สุดสี่ลำดับแรกได้แก่ เกษตรกรรม การค้าปลีก การท่องเที่ยว และงานบันเทิง ซึ่งตัวละครประกอบอาชีพในวงการบันเทิงชัดเจนในละครชายหญิง ตัวละครเป็นเจ้าของหรือลูกจ้างร้านค้าปลีกทอนเงินตามซิทคอมอยู่เนือง ๆ ส่วนการท่องเที่ยวนานทีจะโผล่มาสักตัวละคร แต่อาชีพเกษตรกรนั้น แม้ละครสังคมเกษตรกรรมจะเป็นที่นิยมจนได้ผลัดเวียนมาฉายสลับช่องไม่ร้างลา แต่เกษตรกร LGBTIQN+ กลับไม่ค่อยปรากฏบนจอละคร ขณะที่อาชีพที่ปฏิเสธ LGBTIQN+ สี่อันดับแรกได้แก่ ตำรวจ ทหาร องค์กรทางศาสนา และข้าราชการ ทั้งนี้ปี 2562 – 2563 ปรากฏตัวละครตำรวจและรับราชการ แต่ตัวละครทหารและองค์กรทางศาสนาในละครโทรทัศน์นี่ นึกหัวแตกอย่างไรก็ไม่ออก สรุปได้ว่าละครในปัจจุบันสะท้อนและฉายภาพชีวิตกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยมุมที่กว้างขึ้นแต่หักเหเลี้ยวเบนไม่เหมือนสังคมจริงนัก เสมือนจริงแต่ไม่จริง

จริงอยู่ละครเป็นบันเทิงคดี ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงความเป็นจริง และไม่ได้มีหน้าที่รายงานสังคมทุกรายละเอียด ไม่ได้แย่งหน้าที่ข่าวร้องทุกข์ที่สะท้อนปัญหาการกีดกัน LGBTIQN+ จนเกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นโครงเรื่องใดในบทประพันธ์ที่ไม่ต้องการตัวละครเปลืองก็อย่าหายัดเยียดตัวละครที่ประกอบอาชีพไม่ส่งเสริมให้ละครดำเนินไปถึงจุดจบ ออกมายิ้มแห้งกับคนดู แต่ในทางตรงข้ามในบทประพันธ์ปรากฏตัวละคร LGBTIQN+ อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายหากทีมบทโทรทัศน์จะลบการมีตัวตนหรือเปลี่ยนอาชีพของพวกเขา อันเป็นการตัดโอกาสให้ผู้ชมได้สำรวจตัวละคร LGBTIQN+ ที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ในหัวข้อสนทนากับเพื่อนร่วมงานช่วงพักเที่ยงวันถัดไปและทำลายภาพจำว่า LGBTIQN+ ไม่เหมาะกับอาชีพตามบัญชีหางว่าว

ตามข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอไปแล้วนั้นยืนยันว่าปัจจุบันตัวละคร LGBTIQN+เข้าไปทำอาชีพในบัญชีต้องห้ามหางว่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ละครช่วยพล่าเลือนภาพจำศักยภาพ LGBTIQN+ เพียงมุมเก่า ๆ ของสังคมให้กว้างขึ้น แม้ละครไม่ได้นำเสนออุปสรรคในอาชีพเหนือการปิดบังมากนัก แต่ก็ช่วยเติมการมีตัวตนของพวกเขาในอาชีพนั้น ๆ ลงในภาพจำของสังคม จนสามารถเปิดรับ สร้างบทสนทนาอันสร้างการเรียนรู้และเข้าใจระดับนึง แต่สุดท้ายมันจะมีอาชีพอยู่อย่างน้อยกลุ่มนึงเสมอที่ดับไฟ LGBTIQN+ ทั้งในละครและชีวิตจริง ให้ก้มหน้าทำงานในที่มืดเป็นหลุมดำไม่ให้ละครได้สะท้อนและส่องการเลือกปฏิบัติในอาชีพได้ ซึ่งต้องอาศัยทุกท่านไม่ว่าในฐานะอะไรช่วยสะท้อนให้ LGBTIQN+ ในอาชีพอันหลากหลายปรากฏได้ในละคร สื่อที่เราทุกคนเสพเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการพักผ่อน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า