เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคคุ้นหูที่ว่า “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” แนวคิดการทำงานที่ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นแนวคิดที่สามารถใช้ได้จริง เพราะเชื่อว่าความขยันตั้งใจทำงานจะทำพาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ ทว่าในโลกยุคปัจจุบันที่ไม่มีความแน่นอน เราไม่สามารถรู้ได้อย่างแม่นยำว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง ทำให้คนบางกลุ่มเกิดคำถามกับแนวคิดดังกล่าวว่า “ลำบากวันนี้ สบายวันไหนกันแน่?”

อย่างไรก็ตาม ความขยันอาจไม่ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการไปสู่เป้าหมายในการทำงานอีกต่อไป เมื่อ Gabrielle Judge คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังบน TikTok ได้ทำคลิปวิดีโอพูดถึงความคาดหวังใหม่ในการทำงานของคน Gen Z ยุคปัจจุบัน ผ่านเทรนด์การทำงานที่เรียกว่า “Lazy Girl Job” หรือเรียกว่า การทำงานแบบสาวขี้เกียจ โดยต้องบอกก่อนว่า ความขี้เกียจที่ปรากฏในเทรนด์นี้ ไม่ใช่การเกี่ยงงานหรือขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่เป็นการเลือกทำงานอย่างชาญฉลาด โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงเยอะแต่ได้ค่าจ้างที่คุ้มค่า
หลังจากที่ Gabrielle Judge ปล่อยคลิปวิดีโอพูดถึงการทำงานแบบ Lazy Girl Job ออกไปได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งพวกเธอได้แสดงตนว่าเป็น Lazy Girl Job ด้วยการถ่ายคลิปตัวเองพร้อมเล่าเรื่องราวการทำงานสบายๆ แบบที่ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างดุเดือด ทำให้มีผู้รับชมคลิปวิดีโอผ่านแฮชแท็ก #Lazygirljob มากกว่า 20 ล้านวิว บน TikTok
หากย้อนไปช่วงการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 คนทำงานกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งและตั้งความคาดหวังต่อองค์กรในการมอบสิ่งที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ชีวิตมากกว่าการทำงานที่มั่นคง ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะลาออก หากบริษัทหรือนายจ้างไม่สามารถให้สิ่งที่ต้องการได้ จึงมีช่วงหนึ่งที่กระแส The Great Resignation หรือ การลาออกครั้งใหญ่ของพนักงานเกิดขึ้น ทำให้หลายบริษัทสูญเสียพนักงานไปเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
นอกจากนั้น การ Work from Home ยังทำให้คนทำงานเรียนรู้ว่า เขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดสถานที่หรือเวลาทำงานที่เข้มงวดอีกต่อไป แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะซาลงแต่พนักงานจำนวนไม่น้อยยังมีความต้องการที่จะทำงานแบบ Work from Home มากกว่าการเข้าออฟฟิศทุกวัน ที่สำคัญ Work from Home ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการเลือกบริษัทเข้าทำงานอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าคนทำงานเริ่มมองหางานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา
Gabrielle Judge ได้อธิบายว่า Lazy Girl Job เป็นเทรนด์การทำงานของคนที่รักสบาย โดยมีความคล้ายกับการทำงานแบบ Quiet Quitting หรือการที่พนักงานทำงานเฉพาะหน้าที่ของตัวเอง โดยไม่มีแพชชั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นแต่อย่างใดและไม่มีความเชื่อว่าการทำงานหนักจะส่งผลดีต่อชีวิต จึงให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองเป็นอันดับแรก และเธอยังได้อธิบายต่อว่าปัจจุบันมีงานหลายแบบที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยนิด สามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินและมีอิสระในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
ผู้พิพากษาในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เธอเคยมีประสบการณ์ทำงาน 50 ถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตารางงานที่แน่นในแต่ละวันเป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จะคาดหวังการทำงานแบบ Lazy Girl Job ซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้พนักงานสามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้ โดยมี 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย (2) ทำงานที่ไหนก็ได้ (3) เงินเดือนที่คุ้มค่า และ (4) ความสมดุลในชีวิต
Eliana Goldstein โค้ชอาชีพ มองว่าเทรนด์ Lazy Girl Job เป็นเทรนด์ที่มาลบล้างวัฒนธรรมการทำงานหนักเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต ที่ครอบงำสังคมการทำงานมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เป็นบรรทัดฐานในสังคมและสร้างความกดดันให้กับคนรุ่นใหม่
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในสหรัฐอเมริกามองว่า Lazy Girl Job ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่ขี้เกียจเสมอไป แต่เป็นเทรนด์การทำงานที่สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มองหางานที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าด้วยเงื่อนไขการทำงานที่มีความยืดหยุ่น นอกจากนั้นยังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อหักล้างความเชื่อที่ว่า การทำงานหนักจะทำให้คนประสบความสำเร็จ หรือตามที่วลีข้างต้นว่า “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” นั่นเอง
ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานและแนวคิดการทำงานหนัก ครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้าสำหรับใครหลายคน ทว่าการ disruption ของโลกปัจจุบันส่งผลให้เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ และเมื่อชีวิตแขวนไว้บนความไม่แน่นอน ความสมดุลและความสุขในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานมองหา อย่างไรก็ตาม คำว่า Lazy Girl Job อาจไม่ใช่ป้ายกำกับไว้สำหรับเรียกคนขี้เกียจ แต่อาจจะเป็นหนึ่งในสัญญาณที่คนทำงานคาดหวังให้บริษัทหันมาให้ความสนใจไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้