fbpx

โลกคือละคร – ดูละคร แล้วเลือกเรียนรู้

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


โลกคือละคร ทุกคนต้องแสดง ทุกคนทนไป อย่าอาลัย ยิ้มกันสู้ไป จะได้สบาย 

เนื้อเพลงบางส่วนจากบทเพลง “สุขกันเถอะเรา – ศรีสุดา รัชตะวรรณ” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อร้องเพลงดังกล่าวโด่งดังจนติดหูคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ต่างก็ต้องเคยได้ยินได้ฟังเพลงนี้กันมาบ้าง เพลงนี้สร้างมายาคติที่ติดอยู่ในความคิดของคนว่า “โลกคือละคร” และเมื่อเราดูละคร เราก็ต่างเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดในละครไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริง

พูดถึงละครโทรทัศน์ ทำให้ย้อนหนึ่งถึงหนังสือเรื่อง อ่านทีวี: การเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์ โดย สมสุข หินวิมาน (2558) ได้พูดถึงการดูโทรทัศน์ โดยกล่าวถึงนักทฤษฎีกลุ่มหน้าที่นิยม (functionalism) พยายามอธิบายว่าคนดูโทรทัศน์ก็เพื่อเสพข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง หรือยังประโยชน์แก่การตัดสินใจ โดยพื้นฐานแล้ว คนดูใช้สื่อโทรทัศน์ในลักษณะของการหลบหนี (escapism) นั้นหมายความว่า ผู้ชมดูโทรทัศน์ก็เพื่อหลบหนีไปจากโลกของความเป็นจริง (the real world) ภายใต้บริบทของห้องนั่งเล่นในแต่ละครัวเรือน อาจมองได้ว่าการบริโภคโทรทัศน์เป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม (reproduction of culture and social relations)

เช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง คน ระคน ละคร โดย สมสุข หินวิมาน (2561) ได้กล่าวว่าละครโทรทัศน์เป็น “โลกสัญลักษณ์” (symbolic world) ที่ผูกเรื่องราวซึ่งเป็นเรื่องแต่งและจินตนาการ (fiction and imagination) เพื่อป้อนให้มวลชนได้ทบทวนความเป็นจริงหลายอย่างที่ล้อมรอบชีวิตของเธอและเขาที่กำลังเสพความรื่นรมย์นั้นอยู่เหมือนกับวลีที่พูดติดหูกันอยู่เสมอว่า “ดูละครแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูตัว” ดังนั้น เมื่อผู้ชมนั่งดูละครโทรทัศน์ ก็ชวนให้หลาย ๆ คนได้สะท้อนย้อนคิดถึงเรื่องราวชีวิตครอบครัวในโลกความจริงของตนเองด้วยเช่นกัน บทบาทหน้าที่ของละครโทรทัศน์จึงมิใช่แค่ความบันเทิงเริงรมย์แบบง่าย ๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่เบื้องลึกเบื้องหลังสื่อบันเทิงดังกล่าว ละครโทรทัศน์ก็มีพลังอำนาจบันดาลสร้างความเป็นจริงในโลกไปพร้อม ๆกัน 

เมื่อย้อนดูตัวเองแล้ววิเคราะห์ ก็พบผลสำรวจของนิด้าโพล (2557) เรื่อง “พฤติกรรมการเลียนแบบจากการดูละคร/ภาพยนตร์” จัดทำโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ “ไนน์เอ็นเตอร์เทน” พบการศึกษาพบว่า ผู้ชมละคร/ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเลียนแบบ คำพูดวลียอดฮิต มุขตลก, การแต่งกายแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า ทรงผม, ตามรอยไปเที่ยว / กิน ตามสถานที่ต่าง ๆ และการกระทำ หรือท่าทางต่าง ๆ ตามลำดับ เห็นได้ว่าคนดูละครมักจะทำตามและเลียนแบบ

ในขณะที่บทความเรื่อง ดูหนังดูละครย้อนดูตัว ‘เลียนแบบ?’ เรื่องเก่า..กลัวกันใหม่! โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (2554) ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา บอกไว้ว่า ในทางจิตวิทยา กับเด็ก ๆ นั้น โดยทั่ว ๆ ไปเด็กจะมีการเรียนรู้ หากเด็กได้รับรู้ ได้เห็นความรุนแรง หรือสะเทือนขวัญ หรือเสียขวัญ เรื่องเหล่านี้จะฝังอยู่ในสมองส่วนลึกของเด็ก และเมื่อเด็กได้ดูละคร ดูหนัง ดูฉากที่มีความรุนแรง หรือฉากฆ่าตัวตาย ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นสิ่งที่ติดอยู่ในสมอง กระตุ้นจิตใต้สำนึก จนอาจทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามฉากในละครหรือหนังที่ได้ดู 

“ยิ่งได้ดูมาก ๆ ก็ยิ่งเป็นการสะสม จนอาจทำให้เด็กรู้สึกอยากเลียนแบบ มีการทำตาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำไปโดยไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร และก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย”

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม (2554) ยังระบุไว้ถึงบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่มีการสะท้อนไว้ในละคร โดยบอกประมาณว่า การจะให้พ่อแม่ผู้ปกครองคอยชี้แนะบุตรหลานอย่างใกล้ชิดนั้น ตรงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจจะแย้งว่าไม่มีเวลาจะมานั่งตอบคำถามหรือนั่งอธิบายให้ลูกหลานฟังได้ตลอดเวลา หรือถึงจะอธิบายไปเด็กเองก็อาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะแยกแยะได้ ดังนั้น ผู้ผลิตละครหรือผู้จัดรายการทีวีก็จะต้องระมัดระวังด้วย

แม้ว่าจะมีผลการศึกษาในเรื่องของการเลียนแบบละคร/ภาพยนตร์ ในแง่ลบมากแค่ไหนก็ตาม แต่ละคร/ภาพยนตร์นั้นก็สามารถนำเสนอด้านดี ๆ และทำให้ผู้ชมเลือกที่จะเรียนรู้ได้เช่นกัน ในงานศึกษาเรื่อง ความพึงพอใจของผู้ชมและแนวโน้มของละครโทรทัศน์หลังข่าวของช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร ของ ทิพาภัสสร์ คล้ายจันทร์ และธีรเดช ชื่นประภานุสรณ์ (2560) ด้านคุณค่าของละคร ละครจะมีแนวที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และจะต้องมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร ส่งเสริมด้านคุณธรรม การปลูกฝัง ความสามัคคี การให้อภัยกัน หรือ อีกอย่างที่เรียกว่า ทำละครรับใช้สังคมให้เพิ่มมากขึ้น (Media Alert, 2022)

ข้อสรุปของบทความ เรื่อง ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ดูละครโทรทัศน์? ของ Media Alert (2022) สรุปไว้ว่า จากการศึกษาทบทวนงานวิจัยทั้งหมด ส่วนใหญ่มุ่งไปที่ความสำคัญของเนื้อหาของละคร หรือบทละครเป็นสำคัญ เพราะในช่วง 45 ปีที่ผ่านมานั้น ละครโทรทัศน์ไทยยังคงวนเวียนกับละครแนวชีวิตที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว และยังขาดการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร รวมถึงการที่ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ไทยรายใหญ่ยังไม่ตื่นตัวหรือตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่เริ่มเข้ามาพัฒนาเนื้อหาของละครโทรทัศน์ที่มีหลากหลายและเน้นไปที่กลุ่มเฉพาะเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ผู้ผลิตสื่อเดิมไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ทั้งยังมีการหยิบละครที่ได้รับความนิยมสูงในต่างประเทศมานำเสนอใหม่โดยผู้ผลิตชาวไทย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ละคร/ภาพยนตร์ไทย จะเปลี่ยนทิศทางการนำเสนอเรื่องราวใหม่ มากกว่าการสะท้อนแง่มุมความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว โดยเสริมเพิ่มเติมคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร นอกจากละครจะให้ความบันเทิง แต่ควรเพิ่มข้อคิดในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่ผู้ชมควรได้รับจากการรับชมละคร

เช่นเดียวกัน ผู้ชมเมื่อชมละครแล้วมีสิทธิ์ที่จะเลือกรับ หรือเรียนรู้ข้อคิดที่ดีจากละครเหล่านั้น นอกจากการเสพความบันเทิงแล้ว การได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างในละครจะทำให้ผู้ชมได้คุณภาพที่ดีจากละครด้วยเช่นกัน แม้ว่าในละครบางเรื่องอาจจะไม่ได้ปลอดภัยเท่าที่คิด แต่ว่าผู้ชมมีสิทธิในมือที่จะเลือกชมต่อหรือปิดทีวีที่จะไม่ดูละครเรื่องนั้น ๆ

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า