fbpx

จากกะเทยในเพลงไทย สู่การเคลื่อนไหวเพื่อศักดิ์ศรี LGBTQ+

ในยุคสมัยใหม่ที่สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีความสำคัญมากขึ้น LGBTQ+ ในหลายประเทศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากเพศชายและหญิง สังคมไทยที่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่เอง ก็ค่อยๆ เติบโตจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ การใช้คำสแลงอย่าง “สายเหลือง” “ระเบิดถังขี้” หรือการเหมารวม ตีตรา LGBTQ+ กลายเป็นพฤติกรรมที่สมควรถูกตำหนิ และมีการสร้างค่านิยมที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์มากขึ้นด้วย

แต่กว่าสิทธิเสรีภาพของ LGBTQ+ ไทยจะเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างวันนี้ พวกเขาต้องต่อสู้อย่างหนัก เพียงเพื่อจะยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าเพศชายและเพศหญิง สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนอยู่ในสื่อบันเทิงที่มีมาอย่างยาวนาน The Modernist จึงอยากลองสำรวจดูหน่อยว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี มุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ ในสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดบ้าง ผ่านเพลงไทย 6 เพลง ดังนี้

เพลงสุดท้าย – สุดา ชื่นบาน (2530)

“…อยากให้เขารู้ ว่ามันเจ็บ เจ็บเพียงไหน
ตอบฉันได้ไหม ว่าฉันผิด ผิดอย่างไร…”

ท่อนฮุคที่ถูกถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงร้าวราน ถึงความรักที่ไม่สมหวัง เป็นเสียงร้องของสุดา ชื่นบาน ดีว่ารุ่นใหญ่แห่งวงการเพลงไทย เพลงนี้มีชื่อว่า “เพลงสุดท้าย” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยชื่อเดียวกัน ซึ่งฉายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 นำแสดงโดย “สมหญิง ดาวราย” นักแสดงหญิงข้ามเพศ ดาวเด่นจากทิฟฟานีโชว์ พัทยา เนื้อหาของภาพยนตร์ว่าด้วยนางโชว์หญิงข้ามเพศ ที่ผิดหวังจากความรัก และเลือกจบชีวิตตัวเองบนเวทีการแสดง ด้วยบทเพลงสุดท้ายของชีวิต

“แสงตะวัน แสงจันทร์ แสงดาว
พร่างพราว เป็นประกาย
แต่ตัวฉัน เป็นเพียงแสงไฟ
ใกล้ริบหรี่ อยู่ในแสงเทียน…”

“เพลงสุดท้าย” เปิดตัวด้วยเนื้อเพลงที่สะท้อนมุมมองของผู้หญิงข้ามเพศที่มีต่อตนเอง โดยเปรียบเทียบว่าตัวเองเป็นเพียงแสงไฟ ไม่ใช่แสงจากธรรมชาติที่น่าชื่นชมอย่างแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ และแสงดาว ก่อนตอกย้ำตัวเองอีกครั้งว่าเธอเป็น “ของปลอม” ที่ไร้ค่า แม้จะมีใจที่พร้อมรักคนอื่น แต่ไม่มีใครคิดจะรักพวกเธออย่างจริงใจ และโทษตัวเองแทนที่จะโทษผู้ชายที่ทำให้เธอเจ็บช้ำน้ำใจ ในท่อนที่ว่า

“จริงซิฉันมันเป็นสิ่งปลอม ใครจะยอมจริงใจ
จะโทษเขาไปทำไม ทำไมไม่โทษตัวเอง
แม้ว่ากายฉันมันจะปลอม แต่ฉันไม่ยอมปลอมใจ
ชีวิตฉันก็จะให้
สิ่งสุดท้าย ที่เหลือไว้ เหลือไว้ เหลือไว้ เหลือไว้ทำไม…”

แม้สุดท้าย การตัดสินใจจบชีวิตในฉากการแสดงอันอลังการของสมหญิงจะไม่ได้นำไปสู่การตระหนักถึงคุณค่าของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคนั้น แต่ท่อนฮุคที่ได้สะท้อนความเจ็บปวด และตั้งคำถามถึงความผิดที่เธอไม่ได้เป็นผู้ก่อ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใด “มนุษย์” ล้วนเจ็บปวดและเสียใจกับความรักได้ทุกคน

ฟัง “เพลงสุดท้าย” ได้ที่นี่

ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง – เจินเจิน บุญสูงเนิน (2533)

“ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง” อีกหนึ่งเพลงที่ยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงข้ามเพศ ขับร้องโดยเจินเจิน บุญสูงเนิน นักร้องหญิงข้ามเพศ ผู้มีเสียงกังวานเป็นเอกลักษณ์ พ่วงด้วยรางวัลนักร้องดีเด่นจากการประกวดร้องเพลง KPN Awards ประจำปี 2527

“…ต่างกันแค่เพียงร่างกายแต่ใจเราก็เหมือนเหมือนกัน
ฉันก็เป็น ผู้หญิงคนหนึ่ง
ฉันมีชีวิตจิตใจ ทำไมไม่เข้าใจกันบ้าง
มีทุกข์มีสุขผิดหวัง ไม่ต่างอะไรกับคนอื่น
ถึงฉันจะเป็นอย่างนี้ ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน
ฉันสู้ ฉันทนดิ้นรน ไม่ขอใครกิน”

เพลงนี้พยายามเน้นย้ำความเป็นผู้หญิงที่มีอยู่ในผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งแตกต่างจากเพศหญิงแค่เพียงร่างกายเท่านั้น ขณะเดียวกัน ในท่อนฮุคก็ยังยืนยันว่า ผู้หญิงข้ามเพศนั้นก็มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ และต่อสู้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากมนุษย์เพศอื่นๆ

ฟัง “ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง” ได้ที่นี่

เกลียดตุ๊ด – ซีเปีย (2537)

เพลงชายแท้สุดขั้ว ที่ถ้ามาเล่นในสมัยนี้ เจ้าของเพลงอาจจะโดนแขวนโดยเฟมทวิต แค่ฟังดนตรีที่ดุดัน กับเสียงร้องเพลงที่เต็มไปด้วยคำหยาบคาย ด่ากราด ไปจนถึงขู่ทำร้าย LGBTQ+ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเกลียดคนรักเพศเดียวกันอย่างชัดเจน ก็อดคิดไม่ได้ว่า คนแต่งเพลงนี้โกรธแค้นอะไรกับ LGBTQ+ นักหนา

“ขาวสวยนมโต เธอชอบเต้นโชว์ โอ้โหเธอสวยบาดใจ
เดินบนถนน พบเห็นทั่วไป แต่รู้มั้ยว่าเธอเป็นตุ๊ด
เธอแพร่เชื้อเอดส์ ทุเรศสังคม เสพสมกับเพศเดียวกัน
บางคนลงทุนตัดพวงสวรรค์ เสริมยางซิลิโคน
เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด
เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด เกลียดตุ๊ด…”

มากกว่าความหยาบคายและอารมณ์รุนแรง “เกลียดตุ๊ด” เปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับโรคเอดส์ และมักจะมีการตีตราว่า LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่แพร่เชื้อ โดยหลังจากที่เพลงนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็โดนโจมตีอย่างรุนแรงจากเนื้อหาที่ล่อแหลม รวมทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลที่ตีตรา LGBTQ+ อีกด้วย

เจษฎา สุขทรามร หรือ “โอ๋ ซีเปีย” นักร้องและผู้แต่งเพลงนี้ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The People ถึงที่มาของเพลงเกลียดตุ๊ดว่า มาจากความโกรธที่ตนเองถูกกลุ่มนักแสดง LGBTQ+ แซงคิวขึ้นโชว์ในงานของมหาวิทยาลัย จนทำให้วงของเขาได้เล่นคอนเสิร์ตตอนตีสอง ประกอบกับก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ เจษฎาเคยมีปัญหากับอาจารย์และรุ่นพี่ที่เป็น LGBTQ+ มาก่อน ทำให้ยิ่งเกิดอารมณ์โกรธ และเขาก็แต่งเพลงนี้ขึ้นมา ก่อนที่เพลงนี้จะไปอยู่ในมือใครต่อใครหลายคน และถูกเผยแพร่ในคลื่นวิทยุในที่สุด

ในการให้สัมภาษณ์กับ The People เจษฎาในวัยราว 50 ปี รู้สึกผิดกับเหตุการณ์นี้ และคิดว่าที่จริงแล้วควรโกรธคนที่จัดคิวขึ้นโชว์มากกว่า รวมทั้งมองตัวเองว่าอาจจะดีไม่พอที่จะขึ้นโชว์ในงานก็ได้ อย่างไรก็ตาม เขาเล่าว่า หลังจากปล่อยเพลงออกไป เพื่อนสนิทของเขาที่เป็น LGBTQ+ นั้นไม่ได้โกรธเคืองใดๆ และทุกวันนี้พวกเขาก็ยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ และเขาก็ได้ร่วมงานกับ LGBTQ+ ที่นิสัยดีอยู่เสมอเช่นกัน

ฟัง “เกลียดตุ๊ด” ได้ที่นี่

ประเทือง – ไท ธนาวุฒิ (2541)

อีกหนึ่งเพลงชายแท้ ที่ไม่เพียงแต่สร้างภาพจำผิดๆ ให้กับ LGBTQ+ แต่เพลงนี้ยังฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง และกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ล้อเลียน LGBTQ+ ราวกับเป็นตัวประหลาด

“…เธอเอียงอายแต่ทำตาหวาน
เป็นสะพานให้เดินข้ามไป
ทางมันโรยด้วยกลีบดอกไม้
อดใจไม่ไหว ปล่อยไปเสียเหลี่ยม…”

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งจากเนื้อเพลง ที่สะท้อนภาพเหมารวมว่า LGBTQ+ ต้องมีลักษณะยั่วยวนทางเพศ ไม่เป็นกุลสตรี และผู้ชายสามารถฉวยโอกาสจากท่าทีนี้ได้ โดยมองว่าเป็นการเชิญชวน และที่พีคยิ่งกว่านั้น คือท่อนฮุคที่คนพร้อมใจกันตะโกนว่า 

“ว้าย! ว้าย! ว้าย นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า…”

เมื่อปีที่แล้ว “ประเทือง” ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อหาที่มีการเหยียดเพศ ทำให้ชาวเน็ตหลายคนออกมาแชร์ประสบการณ์การถูกล้อเลียนด้วยเพลงนี้มากมาย เพราะทันทีที่ท่อนฮุคขึ้นต้นด้วย “ว้าย!” ทุกคนก็พร้อมจะชี้ไปที่ LGBTQ+ สักคน ซึ่งแม้จะเป็นความจริง แต่การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร้มารยาทนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ถูกล้อเลียนอัตลักษณ์ ขณะเดียวกัน คนที่มีชื่อว่าประเทือง ก็จะถูกยัดเยียดความเป็น LGBTQ+ ให้ สร้างความอึดอัดและรำคาญใจเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของเพลงประเทืองว่า ในช่วงแรก ท่อนฮุคของเพลงนี้เริ่มจากเสียงว้าย ซึ่งคล้ายกับเสียงวี้ดว้ายของกลุ่ม LGBTQ+ และต้องการใช้คำว่า “กะเทย” แต่เนื่องจากอาจกลายเป็นการเหยียดเพศ ผู้แต่งเพลงจึงใช้คำว่า “ประเทือง” ซึ่งเป็นชื่อชายคนหนึ่งที่แปลงเพศ และทำให้เพื่อนที่เป็นผู้ชายเข้าใจผิด และตกใจเมื่อรู้ความจริง 

แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะใช้คำใด ดูเหมือนว่าเพลงนี้ก็หนีไม่พ้นข้อครหาเรื่องการเหยียดเพศอยู่ดี

ฟัง “ประเทือง” ได้ที่นี่

กระเทยประท้วง – ปอยฝ้าย มาลัยพร (2547)

“ฉันภูมิใจ พอใจล่ะที่เป็นกะเทย
ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน
เริ่ดซะอย่างสวยแบบอดทน บ่เคยสนคำคนนินทา
ไผสิเว้าฮื้อไผสิว่า กะส่างดอกค่าฉันบ่สนใจ
เป็นกะเทยล่ะมันผิดหม่องได๋
เป็นกะเทยล่ะมันผิดหม่องได๋
ไผรับบ่ได้ กะตายโลดเด้อสู…”

ถ้าจะเลือกเพลงไทยมาเป็นเพลงชาติใน Pride Month เชื่อว่า “กระเทยประท้วง” ต้องติดโผอย่างแน่นอน เพราะจั่วหัวมาเลยว่า “ภูมิใจที่เป็นกะเทย” พร้อมคุณสมบัติที่รักในความบันเทิง และดนตรีหมอลำจอยๆ และหากใครจะรับไม่ได้ที่ LGBTQ+ เป็นตัวของตัวเอง ก็ไม่น่าใช่ปัญหาของ LGBTQ+ แต่เป็นปัญหาของคนที่รับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่กรี๊ดออกมาอย่างที่คุณสรยุทธ์แนะนำ ปอยฝ้ายแนะนำให้ “กะตายโลดเด้อสู”

“ไปเที่ยวบ้านนั้นบ้านนี้
ฟ้อนหน้าเวทีกะหมู่ฉันนี้ล่ะค๊า
ซื้อเหล้าขาวเลี้ยงผู้บ่าว
ยามหมอลำหย่าวกะออกท่าลีลา
ชีวิตจิตใจกะเทย
ม่วนไปเลยๆล่ะบ่มีปัญหา
คั่นสิให้ฉันเป็นผู้ชาย
ฉันขอยอมตาย ล่ะยอมตายดีกว่า”

แม้ว่าบางจุดของเพลงและมิวสิกวิดีโอจะสร้างภาพจำอย่างการที่ LGBTQ+ ต้องหาเงินเลี้ยงผู้ชาย คล้ายกับใช้เงินซื้อความรัก ไม่สามารถมีความรักที่แท้จริงได้ แต่ใจความที่ “กระเทยประท้วง” ยืนยันอย่างหนักแน่นก็คือ “ถ้าให้เป็นผู้ชาย กะเทยยอมตายดีกว่า” ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่เสริมพลังให้กับชาวสีรุ้งได้ดีมากทีเดียว

ฟัง “กระเทยประท้วง” ได้ที่นี่

นางสาวแนนซี่ – แมงปอ ชลธิชา (2547)

“แนนๆๆ แนนซี่ เป็นชายที่มีหัวใจอ้อนแอ้น
เดิมชื่อ ว่านายบุญแม้น
ชอบทำเสียงแจ๋นมาก่อนตัวทุกที
กร๊าดกรี๊ดวี้ดว้ายเหวกโหวก สนุกหลุดโลกพกแต่อารมณ์ดี
เฮไหนเฮกันเต็มที่ เหมือนเพื่อนสตรีคนหนึ่งมาแต่ไหน
แนนๆๆ แนนซี่ เปลี่ยนเป็นชื่อนี้ แล้วที่อำเภอ
ในบัตร ประชาชนเธอ นั้นยังต้องเจอ กับคำว่านาย
ชื่อกิ๊บ เก๋เท่ห์เข้าท่า แต่คำนำหน้าเธอว่าบาดใจ
บุญแม้นเปลี่ยนเป็นแนนซี่ได้ ไม่อาจเปลี่ยนนาย ให้เป็นนางสาว”

เพลงเพื่อนหญิงพลังหญิง จากปากคำของนักร้องหญิง ที่เล่าถึงเพื่อนข้ามเพศคนหนึ่งที่ลงทุนแปลงเพศและเปลี่ยนชื่อจาก “บุญแม้น” มาเป็น “แนนซี่” กลายเป็นเพื่อนสาวที่แสนดี ร่าเริง ไปไหนไปกัน และเป็นที่รักของเพื่อนๆ 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้แนนซี่จะมีทุกอย่างที่เหมือนผู้หญิง แต่สิ่งเดียวที่แนนซี่ไม่มีทางมีได้ คือคำนำหน้านามว่า “นางสาว” เพราะฉะนั้น ในบัตรประชาชนของแนนซี่ จึงเป็น “นายแนนซี่”

“แนนๆๆ แนนซี่ หมอช่วยให้มีเหมือนสตรีทุกอย่าง
เหลือแต่สิ่งที่ใจหมาง ทางการยังเรียกนายแนนซี่ทุกคราว
ทางการหัวใจฉันนี่ ขอบอกแนนซี่เธอคือพวกเรา
จึงมากู่ก้องร้องป่าว ว่าเพื่อนรักเรา ชื่อนางสาวแนนซี่”

จากท่อนนี้ เพลง “นางสาวแนนซี่” จึงไม่ได้มีไว้เพื่อซัพพอร์ตเพื่อนอย่างเดียว แต่ยังสื่อสารไปถึงรัฐในประเด็นเปลี่ยนคำนำหน้านามของ LGBTQ+ ด้วย เพราะโลกทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่สองเพศ แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องการนิยามเพศของตัวเองอย่างถูกต้อง และตรงกับอัตลักษณ์ของตัวเองจริงๆ

Sources: catdumb

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า