fbpx

เมืองเดินได้ในฝันของ ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยสส. พรรคก้าวไกล

จากสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้คนสนใจการเมืองมากขึ้น และหลาย ๆ พรรคการเมืองก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพได้อาสาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการการเมือง เช่นเดียวกับคุง-ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ วัย 27 ปี อดีตนักผังเมือง และผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล

ฉันรู้จักเขาผ่านการไถหน้าฟีดเฟซบุ๊กแล้วเจอโพสต์แนะนำตัวของเขาที่เด้งขึ้นมาตรงหัวข้อ ‘Suggest for You’ เมื่อฉันได้อ่านประวัติของเขาแล้วพบว่ามีความโดดเด่นและน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยเห็นนักผังเมืองลงมาร่วมงานกับพรรคการเมืองมาก่อน และปัญหาเมืองก็เป็นปัญหาที่สำคัญและซุกไว้ใต้พรมมาอย่างยาวนาน ฉันอยากเห็นนักผังเมืองหรือคนที่มีความรู้ด้านนี้เข้าไปแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังสักที

ฉันจึงได้ชวนเขาเปิด Conference Room พูดคุยกันแบบสบาย ๆ เพื่อทำความรู้จักตัวตนและอุดมการณ์ในเชิงลึกให้มากยิ่งขึ้น

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ความฝันในวัยเด็กของคุณคืออะไร นักการเมือง-นายกเคยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยหรือเปล่า

อาชีพที่อยากเป็นก็เปลี่ยนไปตามวัย ตอนประถมต้นผมรู้จักไม่กี่อาชีพ อย่าง หมอ ครู ทหาร ตำรวจ ผมก็อยากเป็นทหาร ตำรวจ ตามสไตล์ของเด็กผู้ชาย พอตอนประถมปลายด้วยความที่เป็นคนชอบดูฟุตบอล เป็นแฟนบอลเลยทำให้อยากเป็นนักฟุตบอล พอช่วงมัธยมอยากเป็นนักเขียนหรือนักวิชาการ สอดคล้องกับตอนเรียนอยู่ม.ปลายผมเป็นบล็อกเกอร์เขียนรีวิวเกี่ยวกับท่องเที่ยว เพราะอยากถ่ายทอดความประทับใจเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เมืองของเขาไม่เหมือนกับของเรา มีขนส่งสาธารณะที่เดินทางสะดวก เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมประเทศของเราไม่มีแบบนี้บ้าง ที่อื่นเขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว จากการที่ผมทำรีวิวตรงนี้ก็เป็นฐานเอามาต่อยอดในการสื่อสารในเฟซบุ๊กแฟนเพจและทวิตเตอร์ตอนมาทำงานการเมือง ส่วนอาชีพนักการเมืองเคยแวบเข้ามาในหัวช่วงมหาลัย เพราะการเป็นนักวิชาการมันสามารถต่อยอดเป็นนักการเมืองได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่มีพรรคการเมืองที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เลย ทำให้ความฝันในอาชีพนักการเมืองมันดูไกลตัวจากเราและความคิดนี้ก็จางลงไป

วัยเรียนของคุณเป็นสายไหน สายเด็กเนิร์ด สายกิจกรรม หรือเด็กหลังห้อง

ไม่ใช่สายกิจกรรม ไม่ชอบทำกิจกรรมเท่าไหร่ เคยเป็นตัวแทนห้องตอบคำถามวิชาการแข่งขันภายในโรงเรียนอยู่ ผมจะเข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ถ้าไม่สนใจจะไม่เข้าร่วมเอาเวลาไปเล่นเกมดีกว่า (หัวเราะ)

ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาสถาปัตยเอกผังเมือง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนแรกอยากเข้าคณะแนววารสารศาสตร์ / อักษรศาสตร์ เพราะจากการที่ผมเป็นบล็อกเกอร์ จริง ๆ เคยสอบตรงติดคณะสายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย แต่คิดว่าอาจไม่เหมาะกับเรา พอมารอบแอดมิชชันเราไปอ่านเล่มรวมลิสต์รายชื่อคณะต่าง ๆ แล้วไปเจอคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการผังเมือง และอ่านรีวิวรุ่นพี่ใน dek-d.com ว่าเรียนอะไรบ้าง แล้วรู้สึกว่ามันตรงกับความสนใจของตัวเองที่เราเป็นนักเขียนเรื่องเมือง อินเรื่องเมือง ประเทศไทยยังขาดคนที่มีความรู้ในด้านนี้ เลยอยากเจาะลึกในประเด็นนี้ นอกจากนี้ยังมีฟิลด์ทริปไปต่างประเทศด้วยซึ่งมันดีมาก ๆ เลย ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนในสาขานี้ ส่วนคำถามว่าทำไมต้องธรรมศาสตร์ เพราะเราอินการเมืองตั้งแต่เด็ก รวมทั้งมหาวิทยาลัยนี้มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองมายาวนาน และอยู่ในเหตุการณ์การเมืองครั้งสำคัญอย่าง 6 ตุลา และ 14 ตุลา

สถาปัตยเอกผังเมืองเรียนอะไรบ้าง

หลายคนพอได้ยินสถาปัตยกรรมจะต้องเน้นวาดเขียนออกแบบแน่ ๆ แต่สาขานี้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานวาดรูป เพราะเนื้อหาการวาดรูปออกแบบต่าง ๆ จะน้อยมาก แค่วาดรูปพอไปวัดไปวาเท่านั้น สาขานี้จะเน้นเรียนทฤษฎี เช่น เมืองคืออะไร องค์ประกอบของเมืองมีอะไรบ้าง ส่วนตอนปี 2 เริ่มมีการลงพื้นที่จริงไปเก็บข้อมูลศึกษาในปัญหาพื้นที่ ในระดับเทศบาล และได้ไปฟิลด์ทริปที่ญี่ปุ่นเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเมืองของต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้องค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดโบราณสถาน และการจัดการภัยพิบัติด้วย ส่วนปี 3 เริ่มเรียนในสเกลที่กว้างขึ้นโดยเรียนพื้นที่เขตนึงของกทม.ว่าจะวางผังเมืองอย่างไร คาดการณ์อนาคต 20 ปี จะมีประชากรเท่าไหร่ แล้วเราจะจัดสรรประชากรกับเมืองยังไงให้รองรับได้ และปี 4 ปีสุดท้าย ได้เรียนเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นปัญหาหรือทิศทางในการพัฒนา เช่น ชุมชนแออัด บ้านมั่นคง บ้านจัดสรร เป็นต้น

เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ ในสมัยเรียนมัธยม-มหาลัยเคยทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมืองบ้างไหม

เริ่มติดตามการเมืองครั้งแรกตอนนั้นตรงกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จำได้เลยคือในปี 2551 เป็นปีที่มีนายก 3 คนในปีเดียว คือ สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วผมก็ติดตามการเมืองเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พอมาตอนม.ปลายผมก็ติดตามการเมืองเชิงลึกมากยิ่งขึ้น และในโรงเรียนก็มีเพื่อนและคุณครูคอการเมืองคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยหลัก ๆ ผมจะติดตามข่าวสารการเมืองจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการรับ SMS ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองเพื่อให้รู้ข่าวสารแบบทันเหตุการณ์ เช่น ข่าวศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนผมก็รู้จาก SMS ส่วนตอนมหาวิทยาลัยก็จะเข้าร่วมกิจกรรมแนวเสวนาวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมีอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และอาจารย์วรเจนต์ ภาคีรัตน์ เป็นแกนนำกลุ่ม และเคยซิทอินในคลาสอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยรุ่นของผมเป็นรุ่นสุดท้ายที่อาจารย์มาสอนที่ธรรมศาสตร์ เข้าไปในคลาสเราก็ได้ฟังอาจารย์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคต่าง ๆ เช่น ยุคคอมมิวนิสต์ และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

รู้จักพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ครั้งแรกเมื่อไหร่จากอะไร

ผมรู้จักพรรคอนาคตใหม่ก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ ผมรู้จักคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ในคลิปสัมภาษณ์ของ BBC ต่อมาอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) มาเข้าร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความที่ชอบนิติราษฎร์อยู่แล้วก็เข้าทางเลย ทำให้ผมชอบพรรคอนาคตใหม่และมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีให้กับสังคม

ผมเคยเจอคุณธนาธรตัวเป็น ๆ ครั้งแรกตอนมาฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหัวข้อ Future of Thailand in 3Ds ตอนนั้นคุณธนาธรพูดเรื่องการจัดการงบประมาณ โดยได้โชว์รายรับรายจ่ายของประเทศไทย โดยรายจ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่เงินเดือนของข้าราชการกว่าร้อยละ 75 ในขณะที่รายได้มาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่งบประมาณกลับมาลงหนักที่กรุงเทพฯ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจคือสิ่งที่ควรจะเป็นและต้องเริ่มต้นมาจากพื้นที่ก่อน เวลาจะทำโครงการรัฐต่าง ๆ ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการจัดการตัวเอง ไม่ใช่คิดมาจากส่วนกลาง เพราะแต่ละที่มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องตรงกับความคิดของผมมาก นอกจากนี้มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาของต่างประเทศมาประกอบการบรรยายด้วย ผมรู้สึกชื่นชมคุณธนาธรด้านอุดมการณ์ รวมถึงมีความจริงใจกับประชาชน และต้องการคนแบบนี้มาบริหารประเทศ

ทำไมถึงตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคก้าวไกล มีใครชักชวนมาที่พรรคหรือเปล่า มีแรงบันดาลใจจากอะไร

เพื่อนสนิทแนะนำให้ลองมาสมัครดู จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกลเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้เข้ามาทำงานการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องรวย มีนามสกุลอะไร จากเดิมที่ผมคิดว่าการเป็นส.ส.มันดูไกลตัว พอมีพรรคนี้มันดูใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ประกอบกับผมมีอุดมการณ์ตรงกันกับพรรค ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะลองมีส่วนร่วมในการทำงานตรงนี้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม และพรรคนี้ก็ให้โอกาสเรา ผมรู้สึกตัดสินใจไม่ผิดที่มาทำงานตรงนี้และจะทำงานให้เต็มที่ที่สุด

คุณเป็นคนมีประเด็นสนใจเฉพาะด้าน ทำไมถึงเลือกลงสมัคร ส.ส. เขต ทำไมไม่ลงแบบบัญชีรายชื่อ

จริง ๆ เจอคำถามนี้ตอนสัมภาษณ์ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าประสบการณ์ของผมยังน้อย ประกอบกับผมอยากฝึกประสบการณ์ผ่านการลงพื้นที่จริงเจอปัญหาหน้างานก่อน และนำความรู้ที่มีไปช่วยประชาชนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ตอนที่ตัดสินใจลงสมัครได้ปรึกษาใครบ้างไหม

ไม่ได้ปรึกษาใครเลย ผมตัดสินใจลงสมัครเลย เพราะคิดว่าลองดูก็ไม่เสียหายอะไร คนในครอบครัวก็เคารพการตัดสินใจของผม พร้อมซัพพอร์ต ช่วยลงพื้นที่ และช่วยโพรโมตการทำงานของผม ก็มีคำถามจากคนรอบข้างอยู่บ้างว่าถ้าลงแบบนี้มันจะเสี่ยงไหม จะดีเหรอ แต่ผมก็สู้ไม่ถอยและตั้งใจเข้ามาทำงานตรงนี้อย่างเต็มที่ แต่เวลาทำงาน ผมจะปรึกษาเพื่อนสนิทที่ทำงานที่พรรคอยู่บ้างเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของพรรคในส่วนที่ผมไม่เคยทำมาก่อน

นิยามนักการเมืองที่ดีของคุณคืออะไร

สั้นง่าย ๆ เลย คือ นักการเมืองที่ดีจะต้องมีความจริงใจ ทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ มีอุดมการณ์ชัดเจน และตั้งใจเสียสละทุ่มเทกับการทำงานตรงนี้จริง ๆ

พอได้ทำงานการเมือง มีอะไรที่ต้องปรับตัวบ้างไหม เจออะไรที่เป็น Culture Shock บ้างไหม

พอมาทำงานการเมือง มีงานยุ่งมากกกก เวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิม และผมต้องปรับตัวเรื่องการเข้าหาคนอื่น การเข้าหาผู้ใหญ่ และพูดคุยกับคนอื่น ๆ รวมถึงฝึกความเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องการลงพื้นที่ผมคุ้นเคยเพราะลงพื้นที่ ลงชุมชนบ่อยในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังเจอเรื่อที่ประหลาดใจอยู่บ้างในรูปแบบว่าในกรุงเทพฯ ยังมีแบบนี้อยู่เหรอ เช่น บางที่ยังมีถนนเข้าไม่ถึง มีการทำเกษตรกรรมในพื้นที่

ทำงานรู้สึกเหนื่อยท้อบ้างไหมและมีวิธีฮีลใจตัวเองอย่างไร

ตอนนี้ยังใหม่ ไฟแรง ยังไหว แต่จะมีช่วงเหนื่อย คือ ช่วงที่ลงพื้นที่ถี่ ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักรที่ผ่านมา ได้หยุดแค่วันสองวัน เวลาที่ผมเหนื่อยก็จะพยายามฟื้นฟูตัวเอง โดยการนั่งเงียบๆ คนเดียวทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สำคัญคือถึงแม้ผมจะทำงานหนัก แต่ก็ยังมีเวลาให้กับคนในครอบครัวอยู่เสมอ

มีใครเป็นไอดอลในการทำงานการเมือง ประทับใจการทำงานของ สส. ก้าวไกลคนไหนเป็นพิเศษไหม

จริง ๆ ไม่มีใครเป็นไอดอล แต่ก่อนหน้านี้ชอบคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นนักการเมืองคนเดือนตุลาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ต่อสู้ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 สำหรับพรรคก้าวไกล ชื่นชมในการทำงานของทุกคน แต่ที่ประทับใจในการทำงาน เช่น คุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ผมชอบแนวทางการอภิปราย พูดเข้าใจง่าย มีจังหวะการพูดและลีลาการอภิปรายที่ดีมาก โดยเฉพาะจากอภิปรายครั้งแรก เรื่องกระดุมห้าเม็ด ไม่มีคนประท้วงเลย ส่วนที่ชอบที่สุดคือการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร ฟาดมากกก

จากการที่ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยส.ส. คุณได้เรียนรู้การทำงานการเมืองหรือในสภาอย่างไรบ้าง

ผมได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของอาจารย์สุรเชษฐ์ (ประวีณวงศ์วุฒิ) และชื่นชมที่มีความเป็นอาจารย์จริง ๆ เป็นคนที่ช่วยสร้างบุคลากร จะสอน Know-How และให้ลงมือทำจริง โดยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เกิดการพัฒนา เช่น ตอนไปหาเสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร อาจารย์จะสอนว่าลงพื้นที่ต้องทำยังไงบ้าง และผมได้อยู่บนรถหาเสียงอาจารย์ก็ยื่นไมค์ให้ผมได้ลองปราศรัย แล้วอาจารย์ก็คอยให้คำแนะนำว่าควรปราศรัยแบบไหน จากการทำงานกับอาจารย์ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงพื้นที่ กระบวนการในสภาว่ามีการเตรียมอภิปรายยังไง รวมถึงการเข้าไปช่วยทำงานในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

เวลาว่างนอกจากทำงานในสภา ลงพื้นที่ ชอบทำอะไร

ปกติถ้าไม่มีโควิดจะชอบเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ระหว่างวันใช้ชีวิตโดยการอยู่กับตัวเองโดยอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ อ่านบทความต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ก และเล่นเกมทั้งในรูปแบบเกมฟุตบอล, เกม Cities Skylines ซึ่งเป็นเกมที่นำความรู้เกี่ยวกับผังเมืองที่ตัวเองเรียนมามาใช้ เกมนี้เป็นเกมที่สนุกมากแต่ใช้เวลาเล่นนาน ช่วงนี้เลยไม่ค่อยได้เล่น หันมาเล่นเกมที่สั้น ๆ ใช้เวลาไม่นานแทน

ในความเห็นของคุณ การเมืองกับผังเมืองสัมพันธ์กันยังไง

การเมืองเป็นอย่างไร เมืองก็จะออกมาเป็นแบบนั้น อยู่ที่การมองของรัฐ ถ้าการเมือง ณ ตอนนั้นให้ความสำคัญกับประชาชนมาก ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มี Public Space เยอะก็จะส่งผลให้เมืองดีตามไปด้วย ถ้ามองในแง่รัฐราชการรวมศูนย์ในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นเมืองโตเดี่ยวแบบกรุงเทพฯ แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในความคิดของพรรคก้าวไกล เราสนับสนุนการกระจายอำนาจ เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ต้องมีการ กระจายงบประมาณที่เป็นธรรม เมืองจะดีขึ้นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ในต่างจังหวัดหลาย ๆ ที่ยังไม่มีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือบุคลากรที่เพียงพอต่อประชากร ปัญหาตอนนี้คือรัฐไม่ยอมกระจายอำนาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา

นิยามเมืองที่ดีของคุณคืออะไร

เมืองที่ดีในความคิดของผมคือ เมืองที่ประชาชนมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ประปา สถานศึกษา โรงพยาบาลเพียงพอต่อจำนวนประชากร

อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่าเมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่เดินได้ ไม่ใช่ทางเท้ากว้าง ๆ อย่างเดียว ยังรวมถึงการมีระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมเพียงพอ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ เป็นมิตรต่อคนเดิน มีร้านค้าตามทางให้คนจับจ่ายระหว่างเดินได้ ดึงดูดให้คนไม่ขับรถ ถ้ารถยังติดชัดเจนว่าเมืองไม่ดี เมืองที่ดีต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วคนอยากออกไปใช้ชีวิต

ในฐานะเป็นนักวิชาการด้านผังเมือง รู้สึกอย่างไรที่ประเด็นเรื่องผังเมือง เรื่องเมืองตอนนี้เป็นประเด็นที่ผู้คน รวมถึงเยาวชนให้ความสนใจมากขึ้น

ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เมืองคือชีวิตของคน ยิ่งเราให้ความสำคัญ จับจ้องสิ่งที่เป็นปัญหาจะทำให้รัฐพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชนมากยิ่งขึ้น ทำให้เราทุกคนอยู่ได้ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนทุกคน

คุณคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับผังเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งภาครัฐและความเป็นธรรมต่อผู้อยู่อาศัยอย่างไรหรือไม่

ผมได้ยินคนบ่นมาตลอด บางโครงการคนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้รับฟังปัญหาจริง ๆ เวลาจัดงานรับฟังปัญหาจากประชาชนในโครงการต่าง ๆ ตามท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการเข้าร่วม ประชาชนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เวลาประกาศการใช้ผังเมืองประชาชนอาจไม่พอใจ ผมว่าเราต้องให้สิทธิชุมชนมีส่วนร่วมในการวางผัง กำหนดผังว่าบ้านที่อยู่ควรหน้าตาแบบไหน เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อพื้นที่มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ตอบโจทย์จากคนข้าง บนอย่างเดียว

ตอนนี้ผังเมืองมีอำนาจน้อย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร เหมือนกระดาษ การวางผังเมืองที่ถูกหลักวิชาการคือต้องวางผังเมืองก่อน แต่ของเราผังเมืองมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล นำถนนของหน่วยงานต่าง ๆ มารวมในแผนผัง แล้วปัญหาตอนนี้คือผังเมืองมีถนนเสนอแนะว่าควรสร้างใหม่ตรงไหน แต่เราแทบไม่ได้สร้างจริงเลย ทำให้ถนนในกรุงเทพฯน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็น Super Block ปัญหารถติดจึงแก้ไม่ได้ ดังนั้น เราจึงควรเพิ่มอำนาจของผังเมือง

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า