fbpx

KRUBB Bangkok Social Club สร้างมิตรภาพ-คอมมูนใหม่ๆ และพื้นที่ปลอดภัยของชาวเรา

ตั้งแต่ก้าวแรกที่กองบรรณาธิการของเราเดินทางไปยัง KRUBB Bangkok ซาวน่าที่หลบซ่อนอยู่ในย่านสุขุมวิท ที่กว่าจะเดินเท้าเข้าถึงอาคารได้ก็ตาลายไม่ใช่เล่น กวาดสายตามองดูอาคารข้างเคียงก็เป็นตึกแถวเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีก็แต่ตึกของสถานที่เป้าหมายที่แค่ดูภายนอกก็รู้เลยว่า “แตกต่าง”

เมื่อเข้าไปด้านใน ชั้นแรกที่สุดแสนธรรมดา มีโต๊ะ เก้าอี้ และบาร์เล็กๆ อยู่กลางอาคาร พาให้เราซึมซับบรรยากาศของความเรียบง่ายตรงหน้า แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาร์ม-อัครเษรต เชวงชินวงศ์ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งของที่นี่ก็อาสาพาเราเดินชมชั้นถัดๆ ไป

และนั่นแหละคือของจริง

ตั้งแต่บรรยากาศของบันไดทางขึ้นไปยังชั้นถัดๆ ไป ลูกกรงสีดำขลับถูกเคลือบฉาบด้วยไฟสีสด ที่ย้อมสีและบรรยากาศตรงนั้นไว้อยู่หมัด นำพาผู้ที่ผ่านทางมาให้ไปเจอกับบรรยากาศของ Facilities ใหม่ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละชั้น ตั้งแต่ชั้นล็อกเกอร์สีเทาที่เงียบสงบ ชั้นของยิม และชั้น Adult Playground ที่ถูกออกแบบด้วยบรรยากาศแบบที่ชาวกอง บ.ก. ของเราบางคนก็ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ไปจนถึงชั้นบนสุดที่มีออนเซ็น, ซาวน่า, สปา เสมือนเป็น Clubhouse เล็กๆ บนบรรยากาศเปิดโล่ง

คุณอาร์มพาชาวกอง บ.ก. ลงมายังด้านล่างอีกครั้ง เพื่อล้อมวงพูดคุยกันถึงสิ่งที่ KRUBB Bangkok ทำ สิ่งที่ KRUBB Bangkok เป็น

ซึ่งมีอะไรน่าสนใจนอกเหนือจากความแตกต่างที่เรามองเห็นได้ตามรายทางที่เดินชมมา

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

คิดยังไงถึงตัดสินใจอยากเปิดซาวน่าเป็นของตัวเอง

ต้องเรียกว่ามันเป็นโอกาส จริงๆ เราเคยคิดในใจเล่นๆ มานานแล้วว่าอยากทำ เพราะว่าแต่ก่อนเราเคยชอบ Obelisk ครับ มันเป็นซาวน่าที่หนึ่งที่เป็นตำนาน อยู่ตรงสุขุมวิท 51 ก่อนถึงทองหล่อ แล้วเราก็มาคิดต่อว่า ประเทศไทยเราไม่ได้มีการลงทุนใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจนี้มานานมากแล้ว ทั้งๆ ที่เมืองไทยเป็น Gay Destination ไม่ใช่แค่ระดับเอเชีย มันเป็น World Class มันจะต้องมีที่อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็น Subculture ของเกย์ทั่วโลกอยู่แล้วที่จะต้องไปเที่ยวซาวน่า ประกอบกับมีหุ้นส่วนที่รู้จักกัน ที่มาชวนให้ลองมาเปิดเองด้วย เลยเกิดเป็นที่นี่ขึ้นมา

มองเห็นจุดอ่อนอะไรของซาวน่าอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมบ้าง

เราเห็นว่าเรื่องของธุรกิจซาวน่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ Evolve มานานมากแล้ว ตั้งแต่เราเด็กๆ  อายุ 20 กว่าเข้าซาวน่า ก็จ่ายราคาประมาณ 160-180 บาท นั่นคือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้ขึ้นมาเป็น 200 บาท คือมันไม่ได้ขึ้นตามอัตราใดๆ ทั้งสิ้นนะ แล้วขณะที่ซาวน่าเมืองนอกอย่างที่ยุโรป 16 ยูโรต่อ 6 ชั่วโมงอย่างเงี้ย แต่ละที่เขามีความสามารถในการแข่งขันกันได้ แต่ทำไมเมืองไทยถึงราคามันเป็นแบบนี้ อันนี้มันก็เลยเป็น Challenge ของเราที่ เฮ้ยเรามาทำอะไรที่มันแหกกฎกันหน่อยดีกว่า

ก่อนจะเริ่มเปิด ได้ศึกษาค้นคว้า หรือหาข้อมูลอะไรเพิ่มเติมบ้างไหม

มันต้องดูโดยรวมด้วยนะ จริงๆ พี่โชคดีที่ก่อนหน้านี้พี่ทำอยู่ที่อีกที่หนึ่งมาก่อน การมาทำซาวน่ามันเป็นพรหมลิขิตของพี่เหมือนกัน เพราะว่าช่วงก่อนหน้าจะมาทำซาวน่าที่แรกก่อนจะมาทำที่นี่ พี่ทำงานโรงแรม งานอีเวนต์ ทำงานออฟฟิศทั่วไปนี่แหละ ช่วงนั้นเราใช้สารเสพติด แล้วชีวิตมันมีจุดเปลี่ยน ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มีวันหนึ่งเราไปเที่ยวซาวน่า แล้วไปรู้จักเจ้าของ ซึ่งก็เป็นช่วงธุรกิจของเขาไม่ได้ดี ขาดคนช่วยงาน เลยได้โอกาสไปทำ เราก็เลยมี Background เกี่ยวกับเรื่องซาวน่าราวๆ 2 ปี

พอได้ทำเป็นของตัวเอง เลยพอจะรู้ว่าธุรกิจนี้มันจับทางยังไง Location ตรงไหนดี ตรงไหนน่าจะมีโอกาส อีกอย่างคือการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งหลายเนี่ย ซาวน่าที่เปิดใหม่ล่าสุดก่อนหน้า KRUBB ก็ 7-8 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่สังคม, วัฒนธรรม, Lifestyle ของคนมันเปลี่ยนไปตลอด เลยต้องมาวิเคราะห์ว่า lifestyle ของคนที่อยู่สุขุมวิทเป็นแบบไหน จะมีบริการอะไรให้เขา Service มันจะเป็นแบบนี้นะ ราคาจะเป็นระดับนี้นะ การสื่อสารจะเป็นแบบนี้นะ มันก็ Reflect มาแบบนั้น

ซึ่งพอมองพฤติกรรมของเกย์ที่มาใช้ซาวน่า จริงๆ มันก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เราแยกความต้องการไม่ออกจนกว่าเขาจะบอกว่าเขาต้องการสิ่งนี้นะ บางทีก็ไม่รู้หรอกว่าเขาต้องการ แต่เราก็มีให้ มี Community นี้ให้ ที่อื่นอาจจะมี แต่เขาไม่ได้ชูว่าเป็นจุดเด่น ของเราชูว่า KRUBB Bangkok เป็น Social Club & Sauna เราใช้คำว่า Social Club เพราะว่า 6 โมงเย็น เราก็มี Talk (ในวันที่เราไปสัมภาษณ์มีสิ่งที่เรียกว่า Sunday Talk เป็นงานสัมมนาเล็กๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกย์เสียเป็นส่วนใหญ่ตามเจตนารมณ์ของสถานที่ – ผู้เขียน) ซึ่งไม่มีที่ไหน มีการรักษายาเสพติดในนี้ ที่ได้รับการรับรองจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ไม่มีที่ไหนเลย เราอยากให้ภาพมันเป็น Club ที่มา Naughty กันได้

จากภาพของ KRUBB BANGKOK ที่ผู้คนสามารถเข้ามาทำอะไรในพื้นที่นี้ได้มากมาย ทั้ง Meet & Greet ดารา AV จากญี่ปุ่น, บำบัดยาเสพติด, คุยเรื่องเพศศึกษากันได้ เลยอยากถามว่าทำไมเราต้องให้บริการอะไรมากมายขนาดนี้

สันดานพี่มั้ง (หัวเราะ) เนื่องด้วยเราเป็นคนทำอีเวนต์เก่าด้วย เวลาเราทำอีเวนต์อะไรขึ้นมาสักอย่าง มันก็จะมีเหตุผลของมัน อย่างของเรียว (Ryo Kanzaki นักแสดง AV ชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ทาง KRUBB เชิญมาจัดงาน Fan meeting ที่นี่โดยเฉพาะ – ผู้เขียน) เราทำขึ้นเพื่อที่เราจะเป็น Springboard และตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็น Social club มากขึ้น This is Social club คนก็จะเริ่มเก็ตล่ะว่า KRUBB มันเป็นแบบไหน แต่ Core ของมันอย่างซาวน่าก็ยังอยู่ครบนะ เรามีทั้ง 2 Elements อยู่ในนี้

แล้วอย่างการสร้าง Space สำหรับการบำบัดยาเสพติดโดยเฉพาะที่นี่ เกิดขึ้นมาได้ยังไง

เกิดจากตัวพี่เองที่เป็นคนติดการใช้ยาไอซ์มาร่วมๆ 12 ปี ช่วงแรกเราใช้เพื่อ Sex เพราะเวลาใช้แล้วมันจะไปส่งผลต่อสารความสุขในสมอง อย่างปกติเวลาเรามี Sex ทั่วไป สารเหล่านี้มันก็จะหลั่งประมาณหนึ่ง แต่พอใช้สารเสพติดกระตุ้นปั๊บ เราจะรู้สึกว่ามันเพิ่มเป็น 1250 เท่าเลย รวมถึงยาเหล่านี้มีฤทธิ์ที่กระตุ้นความต้องการทางเพศให้สูงขึ้นได้ ใช้ครั้งหนึ่งก็จะออกฤทธิ์ยาวนานประมาณวันหนึ่งสองวันอะไรแบบนี้

ซึ่งสุดท้ายพอพี่ใช้มันจากแค่เรื่อง Sex กลายเป็นมันเข้ามากลืนในชีวิตของเราทุกแง่มุมเลย เหมือนกินกาแฟ เหมือนสูบบุหรี่ ฉีดยาเข้าร่างกายครั้งหนึ่งก็เหมือนสูบบุหรี่มวนหนึ่ง พี่ถึงขนาดใช้ฉีดเพื่อคงสภาพร่างกายตอนไปทำงาน ใช้ตั้งแต่ไม่ได้รู้สึกอะไรกับยาเหล่านั้น ทำงานได้ปกติ จนวันหนึ่งมันทำลายทุกอย่างในชีวิตพี่ไปเลย งานของพี่เสียหาย ต้องถูกเชิญให้ออกจากงาน พอออกปุ๊บ ก็ยังดื้อนะ มันยังไม่ถึง timing ของเรา มันยังสนุกอ่ะ ก็เลยมาเลิกจริงๆได้ตอนทำฉกรรจ์ไปได้แล้วปีหนึ่ง

พอเรามีไอเดียจากการเป็นผู้ใช้ Chemsex มาก่อน พอเราเปิด KRUBB CARE สถานที่รับบำบัดยาเสพติด ได้รับใบอนุญาตจากกรุงเทพฯ ขั้นตอนการดีลมันยากหรือง่ายยังไงบ้าง

ต้องบอกว่ามันเป็นโชค เป็นเรื่องความบังเอิญ ตอนนั้นที่พี่เลิกยาสำเร็จ พี่ก็มี Twitter อยู่ คนตามเยอะ น้องดิน (เชาว์พิชาญ เตโช นักจิตวิทยาบำบัดการเสพติด จากศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย ของกรุงเทพมหานคร) ก็เป็นหนึ่งในผู้ติดตามพี่ พอเราพูดเรื่องของการใช้สารเสพติดขึ้นมา แล้วนางก็ทำงานเรื่องนี้พอดี นางก็มาหาพี่เลย นับตั้งแต่นั้นก็ทำงานด้วยกันตลอด แล้วดินก็ทำงานในส่วนของกรุงเทพมหานครโดยตรงด้วย เขาก็เลยผลักดันให้ตรงนี้เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจริงๆ ในโรงงานก็จะมีนะ ในสถานประกอบการใหญ่ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็จะมี แต่ว่าสถานประกอบการแบบสถานบันเทิงแบบนี้ไม่มี ที่เราเป็นที่แรก

เท่าที่คุยกับผู้เข้ารับการบำบัด เขารู้สึกอย่างไรกับกระบวนการบำบัดของที่นี่บ้าง

เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา เพราะถ้าเกิดเขาไปโรงพยาบาล เขาก็จะรู้สึกว่าหมอ-พยาบาล ที่ไม่เคยผ่านการเสพยาเสพติดมาอย่างเขา จะมาบอกหรือสอนเขาได้ยังไง ซึ่งก็มีกลุ่มนึงที่รู้สึกแบบนั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างติดขัด คือเรื่องของ Timing ที่เราให้บริการแค่สัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งมีผู้ให้บริการก็คือดิน ซึ่งถ้าดินไม่อยู่ก็เป็นพี่ก็ต้องเป็นคนให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งต่อให้ดิน ซึ่งทางดินและกรุงเทพฯ เขาก็มีการฝึกอบรม Counselor หรือที่ปรึกษาเรื่องการบำบัดการใช้ยาเสพติดให้เป็นกลุ่มเล็กแล้วก็สกรีนก่อนที่จะส่งต่อให้กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ ตัวนี้มันยังค่อนข้างเป็นโครงการนำร่องอยู่ หลังจากนั้นก็จะมีการ Follow up ผู้ที่มาเข้ารับการบำบัดกันไปเรื่อยๆ แต่บางทีผู้เข้ารับการบำบัดก็มีการหายกันไปบ้าง อย่างเราตอนไปเลิกยาที่สถาบันธัญญารักษ์ ก็ไป 4 ครั้ง คนละปี คนละช่วงเวลา

การที่คนมากมายมาบำบัดยาเสพติดจาก Chemsex หรือมาตรวจ HIV กับเรา มันสามารถมองได้หรือเปล่าว่าภาครัฐไม่ได้ Support ตรงนี้มากเพียงพอ ในเรื่องนี้มีมุมคิดอะไรที่น่าสนใจบ้าง

เรื่อง HIV เนี่ยแต่ก่อนพี่ก็ไม่เข้าใจการทำงาน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาครัฐบ้านเราทำงาน HIV หนักมากนะ หนักมากจริงๆ ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านการทำงานเรื่อง HIV แต่ในบางครั้งเราไม่รู้ข้อมูลกันเอง ส่วนหนึ่งเลยคือการที่ภาครัฐทำของภาครัฐเอง ส่วน NGO ก็ทำของเขาเอง ซึ่งก็ได้เงินจากองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ

ส่วนเรื่อง Chemsex สำหรับภาครัฐมันเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ภาครัฐบางคนยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า Chemsex คืออะไร เพราะว่าเขาต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในอีกแบบหนึ่ง จริงๆ กลุ่มเกย์เรารู้สึกว่าเราเจอกันประจำมันก็เลยรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย แต่ในกลุ่มที่ไม่ใช่เกย์เขาก็จะมองว่าเราเข้าถึงยากไม่สามารถเจาะกลุ่มพวกนี้ ไม่รู้จะเข้าทางไหน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นจุดแข็งข้อหนึ่งของ KRUBB ที่เวลาลูกค้ามาเราให้บริการเรื่องนี้ไปจะรู้สึกอยากมา เพราะว่าเขาคงไม่อยากจะเดินทางไปโรงพยาบาล ไปมีประวัติไว้ที่โรงพยาบาล ว่าเคยตรวจหรือมีปัญหาเรื่องยาเสพติด

กลับมาที่เรื่องของซาวน่าบ้าง เราสังเกตเห็นว่าออนเซ็นเพิ่งมาอิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซาวน่าหลายๆ ที่ก็เพิ่มออนเซ็นเข้าไป ทำไมในเมืองไทยถึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาในซาวน่า

เป็นเพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่น ง่ายๆ เลย มันจะมีก่อนเกาหลี ที่ไปเที่ยวเยอะๆ ช่วงนั้นญี่ปุ่นมันกำลังบูม เขาก็ไปเอาออนเซ็นมาจากญี่ปุ่น ซึ่งมันก็สอดคล้องกับธุรกิจซาวน่าพอดีว่ามันเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน เป็น Element ที่สามารถมาเพิ่มเติมได้ในร้านได้ ในธุรกิจได้ เขาจึงทำกัน

ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าชอบอะไรที่สุดใน KRUBB BANGKOK

น่าจะเป็น Staff เพราะ Staff ของเราไม่เหมือนซาวน่าที่อื่น น้องๆ พนักงานทั้งหมดของเราเป็นคนไทยหมดเลย เงินที่เราต้องจ่ายก็สูงขึ้น แต่เชื่อมั่นในมาตรฐานของการให้บริการได้เลย อย่างน้อยน้องๆ ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ต้องสื่อสาร และ Behave ในสิ่งที่คนไทยและลูกค้าเราเข้าใจและต้องการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลายๆ กลุ่มที่เข้ามาใช้บริการ

ทราบมาว่าช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา และการเปิดตัว KRUBB BANGKOK ปะทะกับ COVID-19 Wave แรกๆ เลย ช่วงนั้นการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ไม่รู้ไง (หัวเราะ) เมื่อก่อนนี้อาคารนี้เป็นตึกโล่งๆ เราก็ตัดสินใจทุบก่อนรีโนเวตใหม่ วันที่ทุบเป็นวันแรกที่จีนประกาศวันแรกว่าเจอ COVID-19 พอดีเป๊ะ

ส่วนเรื่องการทำงานในช่วงนั้น ต้องบอกว่าเราเป็นซาวน่าใหม่ ทุกอย่างใหม่หมดเลย การดีไซน์แสง ดีไซน์ทุกอย่างใหม่ ลูกค้าบางคน หรือหลายคนไม่เก็ตว่าเราต้องการนำเสนออะไรตั้งแต่แรก เพราะเขาตัดสินเราตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาเห็นเรา เราไม่มีโอกาสที่จะอธิบายว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างนี้นะ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ก็เลยปล่อยให้เวลาพิสูจน์ตัวมันเอง

ช่วง COVID ทำให้เราได้เทสรันธุรกิจเรายาวกว่าปกติหน่อย เพื่อจะรู้ว่าเราเนี่ยตอนนี้เปิดจริงล่ะ เราผ่านอะไรมาบ้างล่ะ อะไรดี อะไรไม่ดีจะได้ปรับปรุง ตอนนี้เราเปิดเต็มตัว ก็ทำงานกันเต็มที่มากขึ้น

ถ้าให้มองซาวน่าในเมืองไทยทั้งหมด เรารู้สึกมั้ยว่าเรามาช้ากว่าคนอื่นในตลาดนี้

มันก็ถูกในแง่หนึ่งว่าเรามาช้ากว่า เพราะแบบนั้นเราจึงต้องทำการบ้าน เพื่อฉีกตัวเองให้ไม่เหมือนใคร และเราต้องเป็น Game Changer จริงๆ ซึ่งในตอนนี้พอเราทำที่อื่นก็ทำหมดเลย แม้กระทั่งที่ที่เขาเปิดมาแล้วเป็นสิบปี เขาก็ปรับตัวตามเรา เรามองว่าจริงๆ แล้ว KRUBB Bangkok แค่มาสร้างแนวทางใหม่ให้กับธุรกิจนี้ เพราะว่าถถ้ามองกลับไปเรื่องของการค้นคว้าข้อมูลของเราก่อนที่จะมาเปิด เราก็อ่าน Journal ของต่างประเทศว่าธุรกิจซาวน่าเกย์ในต่างประเทศเป็นยังไงบ้างไรงี้ เกือบ 90% เขียนเหมือนกันหมดว่าในยุโรปมันกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การมีแอพพลิเคชันทดแทนในการเจอกันอะไรรแบบนี้ เราก็เลยเอา Pain point พวกนี้ที่เราอ่านมาคิดต่อว่าจะทำยังไงให้เราไม่เกิด Pain point ตรงนี้ และเป็นประโยชน์แก่เราด้วย อย่างเรื่องนี้เราก็ไป Co-ordinate กับ Jack’D ด้วย ซึ่งเขาก็มี Vision แบบนั้นอยู่แล้ว

จากการที่ KRUBB มาทีหลังแต่กลายเป็นผู้นำ และ KRUBB มีภาพลักษณ์เชิงบวกค่อนข้างสูงในตลาด มีลูกค้าเข้ามาตลอด เรื่องนี้กำลังบอกอะไรกับเราบ้าง

บอกว่าสิ่งที่เราทำค่อนข้างจะมาถูกทางแล้วล่ะ ในการที่เราเป็นผู้นำและก็มีภาพลักษณ์ที่ดี เรามี Motto หลักก็คือ It’s feel good คือเข้ามาที่นี่อยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของทุกคน เป็น Third Place หรือบ้านหลังที่สาม ซึ่งอันนี้เป็น Concept ตั้งแต่แรกเลยว่า เรามีบ้านหลังที่หนึ่งคือหลังที่นอน บ้านหลังที่สองคือที่ทำงานหรือที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่บ้านหลังที่สามของคนไทยก็คือสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้าสักที่ หรือจะเป็น Co-working space ซึ่งอย่างเราก็พยายามปรับตัว KRUBB ให้มันหลากหลาย ครอบคลุมคำว่า Co-working space ด้วย ที่ทำให้พี่รอดอยู่ด้วยในช่วงนั้น

ในภาพกว้างของซาวน่า ดูเป็นสถานที่อโคจร มีแต่เรื่อง Sex หรือเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด และแหล่งแพร่เชื้อ HIV ด้วย สำหรับ KRUBB Bangkok เราทำงานเพื่อทลายภาพลักษณ์เหล่านี้ยังไงบ้าง

เราพิจารณาดูแลกันอยู่ตลอด แล้วเราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มันเป็นประโยชน์ได้นะ มันสามารถเป็นประโยชน์กับเมืองของเรา เป็นประโยชน์กับชุมชนที่เราอยู่ได้นะ ยิ่งเขามองว่าที่นี้เป็นที่อโคจร เป็นที่ไม่ดีก็ต้องยิ่งพิสูจน์ให้เขาเห็น ไม่ต้องไปพูดแค่บอกว่า เนี่ย ฉันทำมัน

อีกอย่างคือเรามาในช่วงถูกทาง ถูกเวลาอย่างหนึ่งที่ว่า มันมีสังคมใน Twitter มันมีการยอมรับทางเรื่องเพศที่เปิดกว้างมากขึ้น คนกล้าแก้ผ้ามากขึ้น คนไม่อายที่จะเปิดเผยเนื้อหนังตัวของตัวเอง อย่าง KRUBB เราก็บอกว่าเราสร้างมาเพื่อเป็นสถานที่ให้คนเปิดเผยเนื้อหนังอย่างถูกต้องนะ คุณไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรแบบนั้นในพื้นที่สาธารณะก็ได้ เช่น สวนรถไฟ ห้องน้ำสวนลุมฯ เพราะที่ KRUBB เรามี Option แบบนั้นให้คุณ

หรืออย่างภาพของ Social Club เวลาเราทำกิจกรรมหลายๆ อย่างของ KRUBB ก็มีบ้างที่เหนื่อยนะ แต่มันสนุกเพราะว่าเสียงตอบรับมันโอเค แต่ถ้ามันไม่ตอบรับมันก็เหนื่อย แต่ด้วยความที่ทีมเราดี พี่ไม่ได้ทำคนเดียว เราก็มีหุ้นส่วนหลายคน ที่แต่ละคนก็มีหน้าที่แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน แต่ก็ช่วยเหลือกันให้งานมันออกมาดี

การประกอบธุรกิจซาวน่าที่ชัดเจนว่าเป็น Gay Community มันแตกต่างจากเวลาที่ Straight ตั้ง Gym แมนๆ ยิมหนึ่งยังไง เจออุปสรรคที่แตกต่างกันยังไงบ้าง

ตัวอรรถประโยชน์ของสถานที่มันไม่เหมือนกัน อย่างยิมก็เป็นที่ออกกำลังกายโดยเฉพาะเลย ซึ่งมันก็ยังคงความเป็น Social Club อยู่บ้าง อย่างหลังจากออกกำลังกายก็ไป Hang out กันนู่นนั่นนี่ แต่ของเราเนี่ยต้องศึกษาเลยว่า Gay Sauna มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีอิทธิพลต่อพวกเรายังไง

คร่าวๆ ก็คือ แต่ก่อนการอาบน้ำในตะวันตกต้องไปอาบที่ Public bar house ซึ่งมีอยู่ช่วง Great depression ของอเมริกาเป็นช่วงที่ธุรกิจมันพัง แต่ว่ามันมีคนกลุ่มนึงก็คือ เกย์นี่แหละไป Work out กันใน Bar house ซึ่งเจ้าของบางคนก็หัวใสก็เลยเปลี่ยนมาให้เกย์ใช้สิ จึงเป็นที่มาที่ไปของ Gay Sauna ที่มันเข้ามาในวัฒนธรรมของเกย์ทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่ที่ไทย

ทำไมวัฒนธรรมการเข้าซาวน่าถึงไม่นิยมในหมู่ Straight

คนไทยขี้อายด้วยมั้ง อายการเปิดเผยเนื้อหนัง บางคนไปทะเลยังใส่ชุดเต็มอยู่เลยในสมัยก่อนนะ แต่ตอนนี้น่าจะดีขึ้น เพราะว่ามันไม่น่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนไทยอย่างการอาบน้ำรวมกัน พี่ยังนึกไม่ออกเลยนะการอาบน้ำรวมกันของชายหญิงหรือแบ่งเพศก็ตามมันมีที่แพร่หลายที่ไหนบ้าง ในเมืองไทยนอกจากบางแสนนะ มันไม่เป็น Culture ที่เราจะไปอาบน้ำร่วมกัน

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการออกแบบพื้นที่ทุกชั้นของที่นี่ ที่ทั้งแตกต่างจากซาวน่าทั่วๆ ไป และในขณะเดียวกันตัวตึกก็แตกต่างจากตึกข้างๆ ที่มีอยู่ อะไรคือแนวทางการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดเหล่านี้

(หมายเหตุ: เนื่องจากระหว่างสัมภาษณ์ คุณวาว-วริศ กมลาศน์ ณ อยุธยา สถาปนิกผู้ออกแบบตัวอาคารทั้งหมดอยู่ด้วยพอดี เขาจึงมาร่วมตอบคำถามกับเรา ในข้อนี้ และข้อถัดไป)

คุณวาว: เหมือนที่พี่อาร์มบอกครับว่า อยากให้ลูกค้าที่มาใช้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทุกครั้งที่มา ในซาวน่าหลายๆ ที่ ที่เราไปเที่ยวครั้งเดียวแล้วกลับเลย มันน่าเบื่อครับ เลยพยายามสร้างให้ทุกชั้นมี Character ที่ต่างกันครับ และมีการปรับเปลี่ยนเสมอครับ

ประสบการณ์การออกแบบพื้นที่ตอนแรกที่ถูกคิดมา จากที่ได้เดินสำรวจกัน เราต้องคิดเป็นอันดับแรกเลยว่าคนที่มาใช้งานพื้นที่จริงๆ เขาไม่ใส่เสื้อผ้า เราเลยต้องออกแบบ Space ให้คนที่ไม่ใส่เสื้อผ้าเดินมันต้องเป็นยังไงว่ะ มันต้องหนาวมั้ย แอร์ต้องถูกปรับยังไง และเรื่องแสงมันต้องมืดนะเพราะทุกคนไม่มีเสื้อผ้านะ มันจะสว่างไม่ได้ เลยเล่นเรื่องความมืดนิดหนึ่ง พอมืดก็เลยต้องดีไซน์เรื่อง lighting แล้ว lighting แต่ละชั้นนะครับมันจะมีโจทย์ของมันอยู่ ชั้นที่ยิมมันก็จะ Warm, Bright light, Energetic ใช่ป่ะครับ พอชั้นที่เป็น Adult playground ก็ให้มันดูลึกลับขึ้นครับ ส่วนชั้นบนสุดก็ออกแบบนะครับแต่ใช้เป็นแสงธรรมชาติ

เราไม่ได้อยากให้คนที่มา มาเพื่อ Sex อย่างเดียว เราอยากให้เขามาใช้ Facilities ที่เป็นจุดขายด้วย แบบบอกต่อกันว่ามาที่นี่ดิ บ่อออนเซ็นดี ห้องสตรีมดี ซาวน่าดี อาหารดี มีเกมส์ให้เล่น สุดท้ายแล้วคุณเสร็จภารกิจแล้วจะไปทำอะไรก็เรื่องของคุณ

อย่างพี่เวลามา เช็คอินในโซเชียลว่ามา KRUBB Bangkok ว่ามากินข้าวจ๊ะ เพราะอาหารอร่อยมาก ก็ได้ มันจะมีคนที่มากินข้าวเพราะข้าวอร่อยมาก มาวันนี้เพราะมาเล่นเกมส์ มาวันนี้เพราะมาฟังทอล์ก มันเลยทำให้ที่นี่ไม่ใช่ซาวน่าที่แบบเราไม่ต้องหลบซ่อน ทุกคนมาเพื่อทำกิจกรรมที่มัน Fulfill ตัวเอง

ในฐานะที่เป็น Public space ที่ต้องการปู Concept ว่าเราเป็นบ้านสำหรับทุกคน เราทำงานกับ Staff หรือมีวิธีคิดในการออกแบบ Experience ของผู้ใช้งานที่จะได้รับไปยังไงบ้าง

คุณวาว: เราออกแบบในทางกายภาพ คือต้องฟังการทำงานของทางร้านว่าเขามีการดำเนินธุรกิจ บริการธุรกิจยังไง เช่น ถ้าเขาต้องการให้ลูกค้าเช็คอินแล้วขึ้นไปเลย เราก็ต้องออกแบบ Space ให้เหมาะสมว่าเช็คอินแล้วขึ้นไปเลย ไปเจอล็อคเกอร์ เปลี่ยนชุดก่อนเลยเป็นอันดับแรกที่ชั้น 2 ซึ่งจริงๆ แล้วการเปลี่ยนชุดไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนะครับ การเอาโทรศัพท์ไปเก็บในล็อคเกอร์ต่างหากที่เป็นประเด็นหลักของร้านนี้ ซึ่งข้างบนไม่ให้เอาโทรศัพท์มาใช้แล้วนะ เอาไปเก็บให้เรียบร้อยก่อน แล้วล็อคไว้ให้เรียบร้อยและห้ามหยิบอีกเลยจากนั้น แต่การที่ไม่มีเสื้อผ้าจริงๆ แล้วเหตุผลสำคัญคือไม่อยากให้พกอุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์ถ่ายภาพ เพื่ือให้ผู้ที่มาใช้งานโฟกัสกับการสัมผัสประสบการณ์ในสถานที่แห่งนี้มากที่สุด ซึ่งวิธีคิดมันมาพร้อมกับการออกแบบ Criteria คิดพร้อมกับการออกแบบบริการ

แน่นอนว่าพอเป็นซาวน่าที่มีวิธีคิดในการจัดการใหม่ ผู้ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนต้องเกิด Culture Shock แน่นอน อยากรู้ว่า KRUBB จัดการกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เรามีการเทรน Staff ในการให้บริการกับลูกค้าที่รู้สึกเก้ๆ กังๆ ถ้าลูกค้ามีอาการแบบนั้นเราให้ชาร์จเลย ให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้นโดยเฉพาะคนต่างชาติ เพราะคนต่างชาติที่เขาตัดสินใจมาที่นี้ส่วนใหญ่เขาก็เปิดใจของเขามาระดับหนึ่งอยู่แล้ว แล้วก็ช่องทางการสื่อสารแบบนี้มันง่าย การรีวิวต่างๆ ของลูกค้าก็ช่วยได้เยอะ เป็นประโยชน์ต่อร้านเราเวลาลูกค้าถามร้านนี้เป็นยังไง เราก็ส่งรีวิวให้เขาดูมันก็จะสร้าง Expectation แรกก่อนที่เขาจะมาหาเราที่ร้านได้ ซึ่งมันก็เป็น Journey ของลูกค้าได้ตั้งแต่เริ่มรู้จักเรา เริ่มมาหาเรา แล้วก็ออกจากร้านเราไป และเราก็ต้องบริการให้ลูกค้ากลับมาหาเราอีกครั้งให้ได้

คิดว่ายังมีส่วนไหนของพื้นที่นี้ที่ยังขาดอยู่บ้าง

ยังขาดอยู่เยอะครับ จริงๆ ก็ยังอยากได้พื้นที่มากกว่านี้สักหน่อยหนึ่ง เช่น เราอยากมีที่จอดรถเป็นของเราเอง เพราะยังไงลูกค้าคนไทยเขาขับรถมาอยู่แล้ว แม้มันจะใกล้ BTS ก็ตาม, เราอยากทำในเรื่องของคลินิกต่าง ๆ ให้มันเป็นรูปธรรม จับต้องได้มากขึ้น ในเรื่องของยาเสพติดก็ทำให้มันจับต้องได้มากขึ้น

ยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ ตอนแรกเราคิดว่าพอทำตรงนี้ครั้งแรกแล้วคิดว่ามันจะเพียงพอ แต่พอทำไปนานขึ้นเราก็รู้สึกเติบโตไปพร้อมกับมัน เพราะธุรกิจมันไม่มีวันหยุดนิ่งเพราะถ้าหยุดนิ่งมันก็ตาย มันก็จะโตไปเรื่อย ๆ เราก็อยากทำให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตด้วย

การทำ KRUBB มันจะส่งผลต่อการที่ทำให้สังคมเข้าใจความหลากหลายและยอมรับ LGBTQ+ และเกย์ได้ยังไง

เริ่มต้นเลยที่จะสร้างที่นี่ให้มันเป็นจุดที่กระจายความรู้สึกดี  ความปรารถนาดี ไม่ต้องให้สังคมรอบข้างก็ได้ แต่ให้คนที่เป็นลูกค้ารู้สึกดีที่มาที่นี่ แล้วเอาความรู้สึกดีตรงนี้ไปส่งต่อให้ได้ ความรู้สึกดีนั้นอาจจะมาจากการที่ฉันได้ get laid กับผู้ชายหล่อคนนี้ หรือแค่มาเจอเพื่อน ซึ่งพอรู้สึกดีแล้วปัญหาต่างๆในชีวิตก็จะน้อยลง ก็จะคลี่คลายได้ มันก็น่าจะไปต่อยอดอะไรบ้างอย่างได้ให้เขา ถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆอ่ะครับ แต่พี่ว่าจุดเล็กๆนี่แหละที่มันสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

Community เกย์ไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มี KRUBB Bangkok

ถ้าตอบในวันนี้ก็จะตอบว่ามันก็เป็นแบบนั้นแหละ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แต่ถ้ามีเรา เราก็จะทำให้ดีที่สุด เราก็จะ keep ความเป็น KRUBB Bangkok สร้างตัวตนแบบนี้เอาไว้ พอลูกค้านึกถึงวันที่เขาอยาก Feel good เขาก็จะมา

มองอนาคตของ KRUBB Bangkok หลังจากนี้ไว้ยังไงบ้าง

มันมี Business’s opportunity ที่เราก็ไม่คิดว่ามันจะมีมาตั้งแต่เปิด เพราะว่าในการทำ KRUBB มันก็เหมือนหน้าร้านที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักเรา รู้จักทีมงานของเรา และหลังจากนี้มันก็จะมีโอกาสอื่น ๆ ที่เราก็ไม่รู้ว่าเห้ยมันมีแบบนี้ด้วยเว้ย อย่างเรียวอ่ะ (Ryo Kanzaki นักแสดง AV ชื่อดังชาวญี่ปุ่น) เราก็ไม่ได้เป็นคนติดต่อเขาไปนะ เขาเป็นคนที่มีคนติดต่อมาให้ว่าต้องจัดที่พัก อะไรแบบนี้เหมือนมีคนตะโกนไปว่าฉันอยู่นี่ แล้วคนก็ได้ยิน

เรียนรู้อะไรจากการทำ KRUBB Bangkok บ้าง

เราโตจากเขานะ แต่ก่อนพี่ก็เป็นพนักงานเงินเดือน ถึงแม้จะเป็นผู้บริหารแต่ก็อยู่ในส่วนของลูกจ้าง เราไม่ได้อยู่ในหมวกหรือรองเท้าของเจ้าของ แต่การทำงานกับหุ้นส่วนอีก 3 คน ที่ทุกคนเป็นเจ้าของหมดเลย เขาก็จะเข้าใจว่าในวันที่เป็นลูกจ้างทำไมเราถึงคิดแบบนี้ และในวันที่เราเป็นเจ้าของแล้วทำไมเราถึงคิดแบบนี้ ในขณะที่อีก 2 คนที่เขาเป็นเจ้าของ เป็น Start up มาตลอดเนี่ย เขาก็จะไม่มีมุมมองการเป็นลูกน้อง ก็เติบโตในเรื่องของการบริการธุรกิจ งกมากขึ้นเพราะเมื่อก่อนเราก็ไม่ได้คิดเรื่องเงินอะไรมากมายเนอะ เพราะว่าเงินมันก็คือการอยู่รอดของธุรกิจ และเราก็ดีใจเพราะว่าเราประคองมันมาได้จนถึงตอนนี้

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า