fbpx

คุยเฟื่องเรื่องอักษรสระกับครูปู-ถนิมรักษ์ ครูผู้หลงรักภาษาไทยแห่งบางขุนเทียน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

In Partnership with TEDxBangkhuntian

ครูปู-ถนิมรักษ์ อัญชันบุตร คือครูภาษาไทยผู้อยากให้การเรียนภาษาไทยเป็นเรื่องสนุก

เรียนภาษาไทย จบเอกภาษาไทย เรียนปริญญาโทภาษาไทย มาเป็นครูภาษาไทย ได้รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น

ดีกรีขนาดนี้ ถ้าไม่เกี่ยวอะไรกับภาษาไทยก็ให้รู้ไปสิ

จากการเติบโตที่มีภาษาไทยเป็นฉากหลัง สู่การเป็นครูภาษาไทยที่หาลีลาในการสอนที่ไม่ใช่แค่อ่านตามแบบเรียน แต่สรรหาวิธีการสนุกๆ มาให้นักเรียน เพื่อเปลี่ยนการเรียนรู้จากหนังสือเล่มหนาๆ สู่การเรียนมีชีวิตชีวามากขึ้น

ตั้งแต่ให้เล่นละครจากวรรณคดีให้เป็นเรื่องเป็นราว เล่นเกมจากบทเรียน จัดคอนเสิร์ตเพื่อสอนภาษาท้องถิ่น หรือให้นักเรียนแต่งตัวตามตัวละครแบบที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทั้งหมดนี้แหละคือการแก้ไขชุดความคิดสำคัญคือ “ภาษาไทยเป็นเรื่องน่าเบื่อ” เพื่อให้มรดกทางภาษาสำหรับเยาวชนในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แต่ยังมีความน่าค้นหา น่าศึกษา จนนำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตในมิติต่างๆ ของเยาวชน

TEDxBangkhuntian จัดสรรให้เราได้เจอกับครูภาษาไทยคนนี้ ในฐานะ Speaker ที่เธอจะขึ้นเล่าเรื่องของเธอในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราจึงใช้โอกาสนี้ฟังเรื่องราวความพยายามของครูภาษาไทยคนหนึ่ง ที่ใช้ความรู้และใจที่รักษาในภาษาไทย ทำให้ภาษาไทยย่อยง่าย เข้าใจสนุก

อย่างที่เธอยึดถือเป็นสโลแกนประจำตัวว่า “เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ กับครูถนิมรักษ์”

ขอเริ่มด้วยคำถามแบบตรงไปตรงมาเลย ทำไมเราต้องเรียนภาษาไทย

ในมุมมองของครู ครูคิดว่าภาษาไทยมันเป็นสมบัติของชาติ เพราะว่าถ้าเด็กไทยไม่ต้องเรียนในหลักสูตรของวิชาภาษาไทย ไม่มีวิชาภาาษาไทยบรรจุไว้ ความงามต่างๆ ศิลปะคำประพันธ์ โวหารภาพพจน์ หรือแม้แต่ทำนองเสนาะ หรือการใช้คำต่างๆ มันก็จะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะว่าเราไม่ได้เรียนหรือผ่านหูผ่านตา แม้กระทั่งทุกวันนี้ขนาดเราเรียนท่องทำนองเสนาะกันทุกเทอมๆ มันยังจะหายไปจากแผ่นดินไทยเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เรียนเลย มันจะหายแน่นอน เพราะฉะนั้นการเรียนวิชาภาษาไทยก็เหมือนเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา พออายุ 20 ปีก็ต้องบวช เหมือนกันเลย เด็กก็ต้องเรียนภาษาไทยเพื่อเป็นการสืบทอด-สืบสานภาษาไทยให้คงอยู่ วันนี้ครูก็ให้เด็กเค้าเขียนว่า ในทัศนคติของหนู หนูมีมุมมองต่อภาษาไทยอย่างไร โดยที่ไม่ต้องเขียนชื่อ แล้วก็เขียนทั้งห้องเลย แล้วก็บอกเค้าว่า ครูอยากฟังความรู้สึกจริงๆ ก็มีเด็กที่เค้าเขียนว่า “ทำไมเราต้องเรียนภาษาไทย ทั้งๆ ที่เราก็ใช้การฟัง พูด อ่าน เขียน กันในทุกวันนี้อยู่แล้ว” ก็คิดว่าเดี๋ยวคาบหน้าจะไปอธิบายความสำคัญให้เค้าฟังค่ะ 

คือไม่แปลกค่ะที่เค้าคิดอย่างงี้ เพราะพอเราลืมตาตื่นขึ้นมาเราก็พูดภาษาไทยได้จากธรรมชาติของเรา เพียงแต่อันที่เราใช้มันจะถูกหรือผิด เพราะบางทีเพียงแค่สลับคำมันก็ทำให้ความหมายเปลี่ยน เหมือนอย่างวันนี้ที่สอนเด็กอ่ะค่ะ ก็บอกเค้าว่า การเรียนกับครูเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ “โต้ตอบ” พอตอนที่เราทบทวนเค้าก็บอกว่า การเรียนกับครูเน้นแบบการ “ตอบโต้” (หัวเราะ) ก็เลยบอกเค้าว่า การ “ตอบโต้” มันคือเน้นแรงมาแรงกลับ มันก็จะคนละความหมายกัน เพราะงั้นมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องใช้คำให้ถูกต้อง

แล้วคุณเริ่มรักภาษาไทยได้ยังไง

ถามว่าเริ่มรักภาษาไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันน่าจะเป็นการซึมมาตั้งแต่เด็กน่ะค่ะ เพราะว่าครอบครัวก็เป็นครอบครัวภาษาไทย คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคุณครูภาษาไทยกันหมดเลย ตั้งแต่เด็กๆ ในชีวิตประจำวันก็มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องภาษาไทยตั้งแต่จำความได้ ในวงสนทนา ในการกินข้าว หรือในชีวิตประจำวัน คือบทสนาที่เกี่ยวกับภาษาไทย เหมือนเป็นชีวิตปกติของเรามากค่ะ

แล้วพอมันมากลายเป็นวิชาภาษาไทย มันต่างกับภาษาไทยในชีวิตประจำวันยังไงบ้าง

ถ้าเป็นวิชาภาษาไทยที่สอน มันก็จะเป็นไปตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ แต่ถ้าภาษาไทยในชีวิตประจำวันมันคือสิ่งที่อยู่ในทุกช่วงชีวิต อย่างตอนที่แฟนจีบ ก็จีบด้วยบทกลอนผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมันเป็นบทกลอนที่อยู่ในวรรรคดีไทย ตอนนั้นเป็นบทที่อยู่ในลิลิตตะเลงพ่ายค่ะ บท “สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย” มันคือบทที่พูดถึงนางอันเป็นที่รัก ลาจากนางอันเป็นที่รักมาแล้วก็คิดถึง แล้วเค้าก็ลยคร่ำครวญว่า เนี่ยดอกสายหยุดมันก็หยุดส่งกลิ่นในตอนสายๆ แต่ว่าความรักความคิดถึงที่พี่มีต่อน้อง สั่งให้หยุดรักหยุดคิดถึงมันก็หยุดไม่ได้ 

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด

แล้วก็พอมาคุยกับแฟนอ่ะค่ะ แฟนก็เป็นครูภาษาไทยเหมือนกัน แล้วมันก็ยิ่งทำให้คุยกันเข้าใจ แล้วก็บางครั้งเวลาที่เราเครียดจากการทำงาน เราก็เอาเรื่องภาษาไทยนี่แหละมาคุยเพื่อเป็นการผ่อนคลาย หรืออย่างเมื่อวานนี้พอประชุมกรณีพิเศษแล้วทำให้เราหมดแรง มัน 5-6 โมงเย็นแล้ว วิธีการที่จะเรียกและดึงให้เรากลับมามีแรงอีกครั้งนึง ก็คือไปหาครูในโรงเรียนที่เป็นครูภาษาไทย แล้วก็คุยกันเรื่องภาษาไทย แล้วมันก็ทำให้เรามีแรงขึ้นมา มันก็แปลกอ่ะค่ะ ถ้าปกติถ้าเราคุยกันเรื่องภาษาไทย แทนที่มันจะเครียดหรือแบบไม่อยากคุยแล้ว แต่มันกลับเป็นสิ่งที่เติมพลังให้กับเรา

อยากให้ยกตัวอย่างประสบการณ์ในวัยเรียนของคุณที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยให้ฟังหน่อย

เราเคยเรียนภาษาไทยที่ครูให้ถอดคำประพันธ์ ซึ่งคือพื้นฐานปกติธรรมดา แต่มันมีอยู่วันนึงที่คุณครูท่านนี้ลาป่วยแล้วก็มีคุณครูท่านอื่นมาสอนแทน ซึ่งมันคือเนื้อหาเดียวกัน ตอนนั้นจำได้เลยค่ะว่ามันเป็นเรื่องสมเด็จเจ้าแตงโม แล้วคุณครูเค้าก็สอนใช้ท่าทางที่มันมีความรู้สึกร่วม แล้วก็สอนจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แล้วก็มีการใช้ท่าทางประกอบ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า ครูภาษาไทยเค้าเป็นแบบนี้ได้ด้วยหรอ เค้ามีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนครูคนนั้น แล้วมันก็ทำให้ 1 ชั้วโมงนั้นเปลี่ยนเลยว่า ถ้าฉันเป็นครู ฉันจะเป็นครูแบบนี้ 

แล้วพอมาเป็นครูมาเป็นครู ปัจจุบันก็เป็นครูแบบที่เราเห็นที่สอนในหนึ่งคาบที่มันเป็นจุดเปลี่ยนอ่ะค่ะ แล้วก็ในตอนวันเด็กก็มีโอกาสอยู่ชุมนุมเหมือนกันคค่ะ มันเป็นชุมนุมเรื่องการพูด แต่มันเป็นชุมนุมที่ทำให้เราได้แสดงศักยภาพของเรา เช่น การเป็นพิธีกร การจัดรายการเสียงตามสาย การคิดสคริปต์ คิดบท การจัดคิว พอเราไปแสดงบนเวทีที่โรงอาหารค่ะ เราก็เก็บชั่วโมงบินไปใช่มั้ยคะ มันก็ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วภาษาไทยเนี่ย ในการพูด ในการสื่อสารทุกอย่างเนี่ย ถ้าเราใช้เสียงให้มีเสน่ห์ ใช้คำพูด ใช้ภาษาให้มันสละสลวย มันก็สามารถดีงใจให้ผู้ฟังเค้าเปิดใจในสิ่งที่เราอยากให้เค้าทำได้ อย่างเช่น อยากจะรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่ ก็ใช้การสัมภาษณ์ เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น ซึ่งพฤติกรรมที่ครูเป็นในวัยเด็กตอนนั้น

แล้วสำหรับคุณเอง เสน่ห์ของภาษาไทยคืออะไร

บางทีการใช้คำ มันไม่ต้องอ่าน คือบางที่เราต้องการกำลังใจ หรือว่าข้อคิดดีๆ แทนที่เราจะต้องไปนั่งอ่านหรือนั่งฟังคนพูดบ่อยๆ เพียงแค่ประโยคที่แต่งกลอนมาไม่กี่คำ มันก็ทำให้ใจเราดึงขึ้นมาได้ด้วยความรวดเร็ว อย่างเช่นการใช้สำนวนก็เหมือนกัน ตอนที่เราจะหมดกำลังใจอ่ะค่ะ อาจจะท้อเรื่องงาน เค้าก็บอกว่า “พี่จะเป็นลมใต้ปีกสำหรับหนูเสมอ” คือมันไม่ต้องใช้คำพูดเยอะ แต่ว่ามันใช้ภาษาไทยนี่แหละค่ะสื่อความออกมา ใช้การตีความ ใช้สำนวน แล้วก็ใช้การเปรียบเทียบ แค่นี้ใจเรามันก็ฟู ก็มีพลังแล้วค่ะ ไม่ต้องหาความหมาย

คุณใช้กระบวนการใดบ้างที่จะทำให้การเรียนภาษาไทยสนุกขึ้น

ถ้าสำหรับตัวครูปูอ่ะค่ะ ครูมีสโลแกนว่า “เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ กับครูถนิมรักษ์” คือ  เรียนให้สนุกแล้วก็เล่นกิจกรรม เล่นยังไงก็ได้ที่มันได้ความรู้ เพราะฉะนั้นก็จะจัดกิจกรรมในรูปแบบของเกมคือ เด็ก ม.5 เราก็ยังจับเล่นเกมนะคะ เพราะครูคิดว่า ไม่ว่าคนเราจะโตมากแค่ไหนก็ตาม ก็จะมุมเด็กที่อยู่ในตัวเองแล้วก็ย่อมที่จะชอบความสนุกสนาน ความไม่เครียด เพราะฉะนั้นครูก็จะหาวิธีการทำยังไงก็ได้ที่ไม่ให้เด็กเดาทางได้ว่าคาบนี้จะมาสอนอะไร อย่างเช่น มีอุปกรณ์มา เค้าก็จะถามเราว่า “วันนี้ครูจะเล่นอะไรครับ” ครูก็จะไม่บอกใช่มั้ย แต่ก็จะบอกว่า “เดี๋ยวมาดูกัน” ซึ่งแต่ละวันก็จะมีอุปกรณ์แตกต่างกันไป (หัวเราะ) แล้วแต่ว่าเราจะเอาอะไรมาเล่นกับเค้า จนวันนึงถือแค่หนังสือมาเล่มเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วครูไม่ได้จะกิจกรรมอะไรมากมาย แต่เค้ากับตื่นเต้นมากกว่าว่าทำไมวันนี้มีหนังสือมาเล่มเดียว มันมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) มันเลยกลายเป็นเรื่องตื่นเต้น หรืออย่างการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตเพลงภาษาถิ่น ซึ่งถ้าเป็นปกติอาจจะให้ไปเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาบทเพลงใช่มั้ยคะ แต่นี้เราก็เอามาจัด แทนที่จะเป็นคอนเสิร์ตเพลงสตริง อันนี้ก็เป็นคอนเสิร์ตเพลงภาษาถิ่นกันเลย โดยการที่แบบว่า ให้เด็กแต่งตัวยังไงก็ได้ให้อลังการงานสร้าง แต่ว่าห้ามเสียตังค์เลยสักบาทนึง เพราะงั้นนักเรียนก็เอาผ้าถุงแม่มา เอาอุปกรณ์มา ร่ม จักรยานภารโรง ก็เอามา แล้วก็ไปแสดงบนเวที โดยที่นักร้องก็ห้ามใช้คาราโอเกะ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ขวด แล้วก็ร้องเพลงเช่น จี่หอย (พี สะเดิด) สาวเชียงใหม่ (สุนทรี เวชานนท์) แล้วแต่เค้าจะนำเสนอทางไหน บางกลุ่มเค้าอาจจะเป็นรวมมิตรหลายภาษาก็ได้ ก็แล้วแต่เค้า คือให้อิสระในความคิดของเค้า แต่ยังอยู่ในกรอบ ในขอบเขตกว้างๆ ก็ยังอยู่ในคอนเซปต์ของเพลงภาษาถิ่น แล้วก็มีความสนุกที่มันตีโจทย์เป็นคอนเสิร์ต 

หรืออย่างการแสดงวรรณคดีค่ะ คือบางทีเราเรียนวรรณคดีจบเรื่องแล้วใช่มั้ยคะ บางทีมันไม่เห็นภาพ หรือบางทีมันอาจจะเห็นภาพจากในยูทูปแต่ว่ามันก็แค่การผ่านตา แต่ถ้าเมื่อเราสรุปในลักษณะของการแสดงห้องอย่างลิลิตตะเลงพ่าย การทำศึกยุทธหัตถีบนหลังช้างต่อสู้กัน ก็อาจจะให้เด็กเลือกว่าห้องนี้จะไปแสดงที่ไหน เช่น สนามโรงเรียน ใต้อาคาร 3 บนเวที หอประชุม ก็แล้วแต่เค้าจะนำเสนอ เค้าก็จะมีอิสระทางความคิดแต่เนื้อหายังต้องถูกต้องและไม่เละเทะ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นการทบทวน แล้วก็ต้องการให้เนื้อหาในวรรณคดีนั้นเข้ามาสู่ภาพความทรงจำที่ผ่านการกระทำของเด็กมากกว่า มันก็จะเกิดความเข้าใจที่คงทน แล้วเค้าก็จะเห็นความสำคัญ แม้กระทั่งตอนนี้เด็กที่เรียนจบไปแล้ว เค้าก็จะ “หนูจำได้เลยค่ะ ที่ครูให้หนูออกไปแสดงเรื่องมัทนพาทาบนเวที” แล้วมันก็ทำให้เค้ารู้สึกว่า เค้ามีคุณค่า เพราะเค้าอาจจะเป็นเด็กนอกสายตาในบางมุมของโรงเรียน แต่พอเค้าได้รับโอกาสนั้นแล้วเค้าทำมันให้ดี ทุกวันนี้เค้ายังพูดถึงอยู่เลย

มันมากกว่าการท่องจำไปแล้ว

ใช่ค่ะ แล้วเค้าจะก็รู้สึกว่ามันคือโอกาสของเค้า แล้วมันก็ทำให้ครูภูมิใจด้วยว่า จากการที่เราให้โอกาสเค้าในด้านภาษาไทย มันอาจเป็นจุดเปลี่ยนของเด็กได้ หรือถ้าอย่างในห้อง ถ้าไม่ใช่คอนเสิร์ต เพลงภาษาถิ่น ก็จะมีการแต่งตัวตัวตามตัวละครในวรรณคดีไทยด้วย เช่น อาจจะให้เด็กขานชื่อ ก็ให้พูดเป็นตัวละครใช่มั้ยคะ แล้วก็ใครพูดตัวไหน คาบหน้าก็ให้แต่งตัวมาเป็นตัวนั้น โดยที่เด็กไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องเป็นตัวนั้น บางคนเค้าก็พูดคำว่า “ชีเปลือย” เพราะงั้นเค้าก็ต้องคิดแล้วว่าเค้าต้องทำยังไง หรือผีเสื้อสมุทร บางคนก็ถือสมุดมาด้วย แล้วก็แต่งตัวเป็นนางยักษ์ ทั้งๆ ที่ตัวเค้าเป็นผู้ชาย มันก็เกิดความสนุกสนานด้วย แล้วก็ให้ออกมาแนะนำตัวละคร หรือเล่นกิจกรรมภาษาไทยผ่านเกม แล้วพอเด็กเค้ารู้สึกว่า ถ้าเราไปมุ่งเน้นที่การแพ้ชนะ เด็กเค้าก็จะเครียด แต่ถ้าเรามุ่งเน้นไปให้เค้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วก็สรุปบทเรียนกัน มันก็จะทำให้เค้ารู้สึกว่า เอ้อ ภาษาไทยก็สนุกดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเอาเกมมาเล่นกับพวกหลักภาษาก็ได้ด้วย หรือเล่นฐานกิจกรรมทั้งๆ ที่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งครูจะเป็นครูที่ไม่ชอบบรรยกาศห้องที่มันเงียบๆ แล้วก็ในขณะเดียวกันก็ชอบให้เด็กเค้ามีกิจกรรม มันก็จะทำให้เค้ารู้สึกว่าภาษาไทยไม่ได้ง่วงนอน ภาษาไทยไม่ได้แบบ น่าเบื่อ กลายเป็นความตื่นเต้นแทน

เคยเบื่อภาษาไทยบ้างมั้ย

ไม่เคยเลย เพราะว่ามันเป็นสัญชาญาณที่มันเซฟข้อมูลเข้าหัวเราอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามในการจำอ่ะค่ะ คือด้วยความที่เซลล์สมองของครูมันทำงานแค่วิชาเดียว วิชาอื่นก็ตามสภาพค่ะ (หัวเราะ) แล้วก็พอเรียนตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมก็จะมีความสุขเวลาที่ได้เรียนวิชาภาษาไทย แล้วพอเมื่อก่อนพอผู้ใหญ่เข้าคุยเรื่องภาษาไทย เราก็ได้แต่ฟังใช่มั้ยคะ แต่พอวันนึงเราโตขึ้นแล้วเราได้กลับาคุยภาษาไทยกลับคุณพ่อคุณแม่ มันก็ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกันมากขึ้น แล้วแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคุยกับสามีเรื่องภาษาไทย ทุกวันด้วยนะ ไม่มีเบื่อ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักเขียน วันนี้เราอาจจะพูดถึงนักเขียนคนนี้ หรือบทกวีบทนี้ หรือว่าเรื่องสั้นก็มีค่ะ บางทีก็ปรึกษากันเรื่องของการสอนภาษาไทยค่ะว่าจะใช้เทคนิคยังไงดี

ในยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีตลอดเวลา เราสามารถเอาองค์ความรู้ในเรื่องภาษาไทย มาประยุกต์ใช้ยังไงได้บ้าง

ได้นะคะ อย่างเช่นครูเล่นเฟซบุ๊ก แต่เล่นทวิตเตอร์ไม่เป็น บางคนเค้าจะใช้การโพสต์รูปแล้วก็มีหัวเรื่องก็คือแคปชั่นใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นถ้าจะเขียนข้อความประกอบรูปก็ต้องคิดภาษาไทยว่า ฉันจะใช้คำพูดอะไรประกอบรูปภาพดี ซึ่งถ้าใช้ภาษาที่มันเป็นคำคมก็ได้เหมือนกัน สั้นๆ กระทัดรัด หรือบางทีอาจจะเขียนบรรยายว่า วันนี้ฉันไปทำอะไรมา ก็บรรยายไป นั่นก็คือการใช้ภาษาไทยผ่านเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเรา หรือในไลน์ การติดต่อสื่อสารกับผู้ที่โตกว่า หรือการประสานงานกัน บางครั้งการใช้คำพูดก็สำคัญที่จะให้คนนั้นร่วมมือกับเรา หรือให้ความช่วยเหลือเรามั้ย เพราะฉะนั้นก็ต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้ภาษาใช่มั้ยคะ ถ้าใช้ภาษาไทยถูกต้อง เหมาะสม แล้วก็รู้จักวิธีใช้ มันจะเป็นภาษาที่ทรงพลังมาก ที่ทำให้ทุกคนมาช่วยเหลือเรา หรือให้ความร่วมมือกับเราในสิ่งที่เราต้องการ

รู้สึกยังไงบ้างที่ได้เป็นส่วนหนึ่งใน TEDxBangkuntian

รู้สึกเป็นเกียรติมากเลยค่ะ เพราะได้รับโอกาสทองในชีวิต ซึ่งบอกตามตรง ตอนแรกไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แล้วพอทางทีงานติดต่อไปใช่มั้ยคะ ก็เลยรู้สึกว่า “มันคืออะไรอ่ะ” แล้วพอไปเสิร์ชหาข้อมูลก็เลยทำให้ได้รู้ว่ามันเป็นการพูดระดับโลกที่นำมาสู่การพูดในชุมชุน ซึ่งเป็นการให้แนวคิดดีๆ สำหรับคนที่จะมาฟังเรา เปรียบเสมือนเราเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เค้าได้ฟัง ได้แนวคิดจากเราไป โดยที่เค้าก็เอาไปปรับใช้ได้ โดยที่เค้าไม่ต้องนั่งลงมือในการอ่าน แล้วก็รู้สึกว่าไม่รุ้ว่าในอนาคต ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้เข้ามาสู่ตัวครูปูอีกหรือเปล่า ก็เลยพยายามหาข้อมูลโดยการซื้อหนังสือ แล้วก็อ่านแล้วก็เอามาปรับใช้ในการพูดครั้งนี้ แล้วก็จะทำมันให้ดีที่สุดค่ะ รู้สึกเป็นเกียรติมากค่ะ

แล้ว TEDxBangkuntian ครั้งนี้ จะได้เห็นมุมมองอะไรของภาษาไทย

จะได้เห็นถึงมุมมองความหลงรักภาษาไทยของครูปูที่มีมาตั้งแต่เด็กเลย แล้วก็มันเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของครูปูได้อย่างไร ทั้งในเรื่องของความรัก ครอบครัว แล้วก็มีลูกก็ตั้งชื่อว่า “มานี” กับ “ปิติ” ด้วย ที่เป็นตัวละครในหนังสือแบบเรียนตอนเด็กๆ เพราะฉะนั้นภาษาไทยก็จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันที่ตั้งชื่อลูกเป็นตัวละครก็เพราะว่า ไม่อยากให้หนังสือที่มันหายไปตามกาลเวลา มันหายไป เพราะงั้นเราก็เลยดึงตัวละครในนั้น มาอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน เพื่อที่ว่าจะได้เรียกเค้าในทุกๆ วัน ก็เป็นความสุขที่จับต้องได้


TEDxBangKhunThain 2022 เวทีทอล์กระดับโลกที่จะพาคุณเข้าสู่กระบวนการ Re-cover, Re-invent และ Re-Think กระบวนการที่จะทำให้ ตัวคุณเอง คนรอบข้าง และสังคม ได้เกิดใหม่ด้วยไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่จาก Speakers ทั้ง 13 ท่าน ในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2022 นี้ On-site ณ สถาบันอาศรมศิลป์
สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ ที่ https://www.tedxbangkhunthian.com/

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า