fbpx

ไกร ศรีดี ศิลปินหัวขบถผู้รันเชียงใหม่ไปข้างหน้าและสู้กับระบอบเผด็จการไปพร้อมกัน

ล้วน-ไกร ศรีดี คือนักศึกษาจบใหม่จากคณะศิลปะของรั้วม่วงในนครพิงค์

จริงๆ ชีวิตของเขาไม่น่าจะมีอะไรไปกว่านั้น แต่ถ้าคุณลองเอาชื่อของเขาไปเสิร์ชกูเกิ้ล หรือลองอ่านข่าวการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ในรอบปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าล้วนอยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวในวาระต่างๆ

จากพื้นฐานชีวิตที่อยู่ในกรอบสังคมแห่งอำนาจนิยม การถูกลิดรอนสิทธิตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยมหาวิทยาลัย ที่ถึงเขาจะสมาทานในระบอบเหล่านั้น แต่เมื่อเขาได้รู้ถึงกลไกของระบบ และผลกระทบของมันที่ทำลายทั้งผู้คนและสังคม เขาจึงลุกขึ้นสู้ด้วยวิธีการทางศิลปะ จนวีรกรรมเหล่านั้นเริ่มเป็นที่ถูกพูดถึง และนำไปสู่เสียงสะท้อนที่มีทั้งดอกไม้ ก้อนหิน และหอกดาบ 

ถึงตรงนี้คงมีคนกลุ่มหนึ่งคงแปะป้ายแล้วว่าเขาคือ “ขบถ”

แต่ในทางกลับกัน ล้วนก็คืออีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่อาสาเป็นแรงหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมผ่านงานสร้างสรรค์และโครงการต่างๆ ที่ทำร่วมกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ อาจารย์มหาวิทยาลัย และจิตอาสาที่ร่วมกัน “รัน” เมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น

มันคือความย้อนแย้งนั่นแหละ แต่คนหนึ่งคนสามารถทำหลายสิ่งเพื่อจุดยืนเดียวกันได้

เราสนทนากับล้วนหลังจากที่ Save Point Exhibition นิทรรศการศิลปะเล็กๆ ที่เขาได้มีส่วนร่วมในการนำงานศิลปะไปจัดแสดงเพิ่งสิ้นสุดลง และหลังจากบรรทัดนี้คือบทเรียนที่เขาได้รับ จากการต่อสู้กับอำนาจนิยม การไม่สยบยอมต่อขั้ววัฒนธรรมเดิมๆ

และการเปลี่ยนเมืองด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทำให้เขาเข้าใจในวิถีทางของการต่อสู้มากขึ้น

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ช่วงหลังมานี้การเคลื่อนไหวของคุณไปในทิศทางไหนบ้าง หรือมันเข้มข้นมากขึ้นและแผ่วลงบ้างรึเปล่า

Movement ทางการเมืองมันก็ดรอปลง เพราะเพื่อนๆ หลายคนก็จัดการหลายทีม มันก็เหนื่อย แล้วก็บางทีก็มีปัญหาภายในกันบ้าง หรือว่าจัดการไม่ลงตัวกันระหว่างคนทำงานด้วยกันเอง แต่ว่าตอนนี้เหมือนว่า Movement การเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทั้งหลายมันขยับมาเป็นเหมือนแบบ ขยับมาเป็นการทำงานเชิงหลังบ้านแล้วก็ทำงานเชิงแคมเปญที่ทำงานแบบจุลภาคมากกว่า ทำสหภาพทำอะไรประมาณนั้นที่เข้าถึงคน ช่วงปีที่แล้วเป็นช่วงออกโรง ปีนี้ก็กลับมา Study ตัวเองแล้วค่อยๆ แทรกซึมไปกับชุมชน มันก็จะมีหลายกลุ่มโผล่ขึ้นมาเหมือนกันแบบ Food Not Bombs ที่ทำงานกับคนในตลาดจริงๆ หรือกลุ่มนักเคลื่อนไหวก็พยายามจัดตั้งสหภาพนักศึกษาขึ้นมาให้ได้ ก็จะไม่ค่อยมีงานออกหน้าเท่าไหร่ แต่ฝั่งศิลปวัฒนธรรมนี่ก็จะทำกันตลอดอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว หมายความว่าตั้งแต่เชียงใหม่จัดวางสังคม มันดูเหมือนเป็นความหวังใหม่ของศิลปะไทยที่แบบว่าเราทำอะไรก้าวหน้าตลอด แล้วเราก็จะ Public มันออกตลอด ในแง่ของเรื่องการเมืองด้วย ในแง่ของตัวศิลปะเองด้วยว่าเรา

ขยายความคำว่าเป็นอย่างนี้ให้ฟังหน่อย เป็นอย่างนี้คือเป็นอย่างไหน

พูดภาษาศิลปะมันก็คือ Avant-Guard มันต่อต้านกันเองอยู่แล้วภายในด้วย หมายถึงมันจะมีการวิจารณ์กันเองอยู่ภายในตัววงการศิลปะในเชียงใหม่นี่แหละ แล้วก็มีการวิจารณ์สถาบันที่ตัวเองจบมาด้วย หรือแม้แต่อาจารย์เองที่สอนเรามากับมือ เราก็จะวิจารณ์กันอยู่เรื่อยๆ ในวงประชุม ว่าสุดท้ายผลผลิตเหล่านี้มันก็จะถูกทำให้เห็นออกมาว่าศิลปะที่นี่แก่เร็วแล้วก็โตไว หมายความว่า ใครที่เคยก้าวหน้า ถ้าเกิดคุณโดนผลักทิ้งลงไปคุณก็ต้องสู้มันกลับมาให้ได้ คุณต้องสู้เด็กให้ได้ แล้วคณะศิลปะที่ผมเรียนอยู่ในยุคแรกๆ เนี่ย มันก็จะมีความก้าวหน้าแต่คนก็จะแก่ไปแล้ว ก็จะตายไปแล้ว

แก่กับตายในที่นี้คือหมายถึงอายุขัย หรือในเชิงความคิด

ในเชิงความคิดครับ บางคนก็จะถดถอยตัวเองลงไปแล้วก็บอกว่าเป็น Backup ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าเราก็พยายามค้นหาว่าอะไรที่เคยทำ หรือว่าอะไรที่เราจะไปต่อได้ในแง่ของศิลปะวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ มันมีความเซ็ทตัว มีความแข็งของกรอบของวัฒนธรรม แล้วก็มีเรื่องของเงินทุนที่มันสูง แต่ว่าในเชียงใหม่ มันมีความไหลลื่นมากกว่า มีความไหลลื่น เราก็เลยสามารถเดินไปได้โดยที่ไม่ต้องติด Condition อะไรเลย ไม่ได้มีการเมืองภายในเยอะขนาดนั้น เราก็เลยสามารถออกมาเสพ ออกมาด่ากันได้อย่างเต็มที่ 

จริงๆ คุณเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วการย้ายมาอยู่เชียงใหม่เกิดจากจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตของคุณ

โห อันนี้ย้อนอดีตเลย คือผมเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยคิดภาพว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ยังไง จริงๆ บ้านผมอยู่รังสิต เป็นคนปทุมธานี แต่ว่าผมอยู่โรงเรียนประจำในกรุงเทพฯ ที่เรียกง่ายๆ ว่าใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาเยอะกว่า แล้วผมก็คิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตมันสูงมาก แล้วผมเองก็ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยขนาดนั้น ก็คิดว่าเราจะดิ้นรนยังไงล่ะ จนเราจะเข้าออกแบบฯ ศิลปากร เราก็สอบไม่ติด แล้วเราก็รู้สึกว่าหรือไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเราเปลี่ยนที่อยู่เลยไหม เพราะว่าเราไม่เคยเห็นว่าตัวเองขับรถในกรุงเทพฯ ไปเรียนหรือว่านั่งรถไปเรียนยังไงได้ เพราะว่ามันกินพลังเรามากๆ มันทำให้เราไม่มีสมาธิ บวกกับว่าเรามีเพื่อนที่เชียงใหม่พอสมควรเพราะว่าเราเล่นรักบี้ เรามาเชียงใหม่หลายรอบแล้วรู้สึกมันเป็นเมืองที่น่าอยู่ ลงตัว โดยที่เราไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับคณะเลยว่ามันมีอะไรแต่เรารู้ว่ามันมีคณะวิจิตรศิลป์ที่นี่

ซึ่งตอนนั้นคุณเห็นภาพจากวัฒนธรรมป๊อปว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแบบไหน

ใช่ เรามาจากกรุงเทพฯ เรายังรู้สึกว่าแบบเชียงใหม่เงียบจัง เชียงใหม่สบายจัง เราเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบต้นไม้ ชอบอะไรพวกนี้อยู่แล้ว เราก็คิดว่าโอเค เรามาเชียงใหม่ก็น่าจะทำให้เราสบายขึ้น สะดวกขึ้น คือเราก็อยู่กับที่แล้วเราก็ไม่คิดว่าเชียงใหม่ไกลขนาดนั้น หรือมันอยู่ยากขนาดนั้น ก็อยู่สบาย เราเป็นคนชิว ก็เลยไม่ได้คิดอะไรมาก 

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าคุณสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ แสดงว่าคุณอยากเรียนศิลปะใช่มั้ย

ใช่ อันนี้เห็นตัวเองตั้งแต่เด็ก ก็ตั้งแต่เด็กแล้วล่ะ คือเด็กมากๆเลยนะ ผมเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์และชีวะมากๆ ผมจะศึกษานก ศึกษาไดโนเสาร์ ศึกษาสัตว์และพืชเยอะมาก ผมก็เคยบอกกับแม่ตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ จนวันหนึ่งตอนผมอยู่ ป.2 ผมเห็นนก แล้วผมก็วาดมันเป็น หมายความว่าวาดมันไม่ใช่นกแล้ว เราไม่ได้วาดนกแค่ปีก เราวาดขนนก เราเห็นรายละเอียด เราเริ่มรู้จักดีเทลมากขึ้น เราก็เลยลองวาด ก็รู้สึกว่ามันทำได้แล้วมันก็เพลิน พอเข้าไปโฟกัสในรายละเอียดในรูปภาพแล้วเรารู้สึกว่ามันทำได้นี่หว่า แล้วเราก็เห็นดีเทลมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็เลยคิดว่าอยากไปถึงจุดเล็กที่สุดของดีเทลเหล่านี้ ของทุกสิ่งเลยนะ ของทุกสรรพสิ่ง แต่ว่านั่นแหละครับ นั่นคือจุดเปลี่ยนเล็กๆ แต่สุดท้ายแล้วเหมือนพี่สาวเราเรียนสถาปัตย์ฯ แล้วพี่สาวเราห่างกัน 2 ปีเอง ซึ่งพี่สาวเราเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบดูหนัง จะเป็นคนพาเราไปฟังเพลงอินดี้ ไปงาน Fat Festival ไปดูหนังแปลกๆ แล้วก็วาดรูป เราก็เลยสนิทกับพี่สาวมาก ก็เลยคิดแบบ ‘เชี่ย น่าสนุกว่ะ’ ก็ ลองทำ ก็เริ่มรู้จักคำว่าดีไซน์ จนมาถึงประมาณ ม.3 เราต้องเลือกสายเพื่อเรียนขึ้น ม.4 พอดีโรงเรียนเรามันมีสายศิลป์ออกแบบ ซึ่งเราไม่ลังเลเลย ทุกคนก็บอกว่า ‘ล้วน จะดีหรอวะ’ ห้องศิลป์มันดูไม่มีอนาคตมากเลยนะ แต่ว่าคราวนี้พอผมได้เรียนแล้ว กลายเป็นว่าศิลป์คำนวณกะเฬวกะรากมากกว่า ศิลป์ภาษากะเฬวกะรากมากกว่า เพราะว่าศิลป์ออกแบบคือคนที่ตั้งใจเรียนศิลปะจริงๆ ซึ่งแม่งเรียนแค่ 5 คน ทั้งห้องมี 5 คน

ใจนึงมันรู้สึกว่าเราไม่อยากจะเหมือนใครด้วย แล้วเราก็อยากคิดให้ต่าง เพราะว่าเมื่อเราคิดต่างปุ๊บ เราได้มองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นแล้วมันได้ถูกยอมรับ คือมันก็เด็กๆ นะครับ เราก็เป็นคนที่อยากได้รับการยอมรับบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าพอเรียนสิ่งนี้ มันก็เหนื่อย แต่ว่ามันตอบโจทย์เรามากที่เราได้เข้าใจมุมมองของตัวเอง เราได้ทำโปสเตอร์ เราได้ทำกิจกรรม เราได้เล่นดนตรีตั้งแต่อยู่โรงเรียน ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันตอบโจทย์ เราชอบทำศิลปะ เราชอบออกแบบ เรารู้สึกว่าเราสามารถเข้าถึงความสวยนั้นได้หรือว่าสามารถจัดการมันได้อย่างลงตัว คือตอนนั้นมันก็ยังไม่ได้ลงตัวหรอกแต่ว่าเราก็ฝึกฝนเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเราทำได้มากกว่า

พอเล่าได้มั้ยว่าระบบที่คุณเจอในโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง

เราเรียนโรงเรียนประจำที่ 2 อาทิตย์จะออกโรงเรียน 1 ที เพราะฉะนั้นเวลาของการอยู่โรงเรียนมันเยอะมาก แล้วรุ่นพี่ก็มีสิทธิ์ในร่างกายตั้งแต่ 7:00 น. ถึง 7:00 น. ของอีกวันนึง ก็คือ 24 ชั่วโมงที่เขาสามารถปลุกมาทำอะไรก็ได้ เราก็เจอ แล้วเรื่องเหล่านั้นก็ถูกยอมรับโดยอาจารย์ด้วยนะ เพราะว่าอาจารย์บอกว่ามันเป็นระบบ แล้วมันก็จะมีคำหนึ่งที่เขาบอกว่าถ้าอยู่ไม่ได้ก็ออกไป แต่เราท้าทายคำนั้นเราบอกว่าเราอยู่ได้ 

ท้าทายด้วยอะไร ด้วยการสยบยอมต่ออำนาจเหล่านั้น

ใช่ครับ

แต่ก็ไม่ได้ลุกขึ้นสู้อะไร 

 ไม่ๆ

แต่ตอนนั้นมีคำถามในใจอะไรไหม

ทุกคนมีคำถาม เพื่อนผมทุกคนมีคำถาม แต่จะถูกตอบด้วยคำว่ามันเป็นระบบ เพราะโรงเรียนนี้มันเป็นโรงเรียนแห่งความแบบลักลั่นเพราะมีคนคอยซัพพอร์ทค่าเทอมให้จำนวนหนึ่ง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราคุ้มค่าที่ได้มีพริวิลเลจที่ได้เรียนในโรงเรียนนี้ ซึ่งผมไม่ได้มีเส้นเข้าอะไรนะ ผมก็สอบเข้า แล้วก็สอบเข้ายากมาก แล้วมันก็เกิดคำถามข้างในว่า ‘ทำทำไมวะ’ หรือว่า ‘เกิดอะไรขึ้นวะ’ เราก็จะตอบตัวเองว่า ‘ก็มาแล้ว ก็ทำให้มันจบเถอะ’ มันก็ยากลำบากแหละ แต่ว่าเขาจะสอนด้วยความ Make Sense เรื่อง ความสามัคคี ความเป็นกลุ่ม สอนด้วยค่านิยมแบบนั้น ซึ่งตอนนั้นมันดู Make Sense เพราะว่าเรายังเด็ก ก็คือเราถูกปลูกฝังอย่างนั้นตั้งแต่ ป.4 แล้วที่ผมบอกว่ามันลักลั่นเพราะมันเอาเรื่องความศรัทธามาบวกกับระเบียบ ซึ่งเราตั้งคำถาม แล้วมันก็จะถูกกลบด้วยความศรัทธาทั้งหมด

จนสุดท้ายคุณก็รู้สึกชินชากับมัน

ใช่ เพราะผมชินชากับการรับน้องแบบนี้มากจากโรงเรียนที่ผมเคยเรียน ผมก็เลยรู้สึกว่าแม่งเป็นวิธีกระบวนการสอนศิลปะที่แบบศตวรรษที่ 17 มากเลย คือต้องทำให้ทุกคนเป็น Academic ก่อน คือแม่งเทียบเคียงกับการฝึกทหารได้เลย ทุกคนต้อง Drawing ให้ได้เป๊ะที่สุด เหมือนยืนให้ได้ตรงที่สุด แม่งเป็นระบบเดียวกันเลย ตอนนั้นผมก็คิดว่าก็ Make Sense นี่ เพราะว่าการสร้างสรรค์แม่งต้องมีระเบียบ ต้องมีพื้นฐานที่แน่นก่อน ก่อนที่เราจะทะลุการสร้างสรรค์นั้นไป เหมือนตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.1 ถึง ม.4 ผมจะเป็นเด็กดีมาก หมายถึงว่าเป็นเด็กดีกับรุ่นพี่นะ ไม่ใช่เด็กดีกับอาจารย์ กับรุ่นพี่ก็คือผมพูดเก่ง ผมตีสนิทได้ แล้วผมก็จริงใจ ทำอะไรก็รับผิดชอบ แล้วพอ ม.5 ม.6 ก็กลายเป็นขบถของโรงเรียน ก็ไม่ได้ขบถขนาดนั้นหรอก แบบผมก็ทำอะไรที่เขาไม่ค่อยทำกัน 

เช่น

ผมยกโทษเด็กง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องทำโทษ ผมพยายามทำกิจกรรมที่มันเป็นสันทนาการอย่างเช่น ดูหนัง เดินเที่ยวในโรงเรียน หรือเอาจักรยานมาปั่นในโรงเรียน ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องยากมากในโรงเรียนเพราะว่าเด็กในโรงเรียนทุกคนต้องไม่สันทนาการ หรือสันทนาการให้น้อยที่สุด ผมพยายามเข้าชมรมหนังเพื่อเอาหนังแปลกๆ มาให้เด็กดู ผมพยายามเข้าชมรมโต้วาทีแล้วยกประเด็นแปลกๆ มาเถียงกัน อาจารย์ก็จะมองเห็นว่า ‘ล้วนแม่งดื้อเนอะ’ แต่ผมก็ทำกิจกรรมเชิดหน้าชูตาโรงเรียนตลอดซึ่งเขาก็เถียงไม่ได้

คุณบอกเองว่าคุณเป็นขบถในโรงเรียน ถึงตรงนี้รู้สึกว่าเป็นอะไรเอ่ยไม่เข้าพวก บ้างมั้ย

ความโชคดีคือไม่ครับ เพราะเพื่อนน่ะคิดเหมือนกันแต่เพื่อนไม่ทำ แล้วพอผมเปิด เพื่อนก็ไม่ได้ทำตามขนาดนั้น แต่ว่าเขาจะเดินมาข้างหลังแล้วก็ตบไหล่แล้วก็บอกว่า ‘ล้วน ดีละ’ ‘ดีแล้วที่พูด เพราะว่ากูพูดไม่ได้’ เพื่อนผมอีก 8 คนที่เป็นหัวหน้าบ้านในโรงเรียนแล้วผมสนิทกับมันมาก เพราะฉะนั้นผมจะพูดในสิ่งที่หัวหน้าพูดไม่ได้

แล้วเมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่ในมหาวิทยาลัย การรับน้องในสถาบันการศึกษาเป็นยังไงบ้าง

เหมือนกันเลยครับ เหมือนกันเลย แต่ว่าความตลกของมันคือมันเป็นละครมาก แล้วผมก็รู้ได้ว่ามันโคตรละครเลย คือมันโคตรไม่เนียน มันก็จะรู้ว่าฉากนี้มันละคร แต่ว่าพ่ออยู่ในโรงเรียนมันควบคุมเรา 24 ชั่วโมง แต่พออยู่ในมหาลัยเรารู้ว่าเราสามารถเดินออกรั้วมหาลัยแล้วกลับไปนอนที่หอได้ แล้วที่หอใครจะมาควบคุมเรา มันเลยรู้สึกแปลกๆ มากตอนที่เรียนในมหาลัยแล้วเขาใช้คำว่ารับน้องสร้างสรรค์ตลอดนะ แต่ว่าก็ไม่เห็นว่าอะไรที่มันจะสร้างสรรค์ อะไรที่ผมสามารถค้านขึ้นมาได้ หรือเพื่อนพูดขึ้นมาก็โดนตีกลบไป ผมก็คิดว่าทำไมจะต้องทำให้เหมือนโรงเรียนด้วยวะ แล้วความสร้างสรรค์มันอยู่ตรงไหนวะ ในขณะที่เราตั้งคำถามไม่ได้ ก็เลยรู้สึกแปลกๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว พอขึ้นปี 2 เราก็โดนเรียกไปเป็นพี่ว๊าก แต่ก็จะมีอาจารย์ที่รู้จักตั้งแต่ปี 1 แกก็จะคอยบอกว่า ‘ล้วน ลองดูดีๆว่ามัน Make Sense หรือเปล่า’ ศิษย์เก่าหรืออาจารย์แทบทุกคนก็จะบอกว่า ‘รับน้องอะไรไม่ Make Sense ก็เอาออกไปเถอะ’ แต่ก็จะมีศิษย์เก่าบ้าบางคนแบบเอา ดี ชอบ สนุก

คิดว่าทำไมถึงมีคนกลุ่มหนึ่งมองว่ามันเป็นเรื่องสนุก

เพราะเขาได้กลับมาเชื่อมต่อครับ เขาได้กลับมาเห็นเด็กโดนตี เขาได้กลับมานั่งที่คณะแล้วคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ก็จะมีรุ่นพี่ประเภทนั้น

นอกจากตัวระบบรับน้องที่ขัดเกลาคน มันน่าแปลกที่ว่าคณะซึ่งสอนด้านความคิดสร้างสรรค์ ก็ต้องถูกขัดเกลาให้เป็นวิชาการจ๋าๆ เหมือนกันใช่มั้ย

ใช่ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจที่นี่ก็คือ วิชา Drawing คาบแรก ผมนึกภาพอาจารย์จะให้วาดหุ่นอะไรให้เป๊ะที่สุดใช่ไหม อาจารย์เข้ามาน่าจะเป็นคลาสที่สอง อาจารย์ให้หลับตา Drawing ผมแม่งช็อคเลย แล้วผมคิดเลยว่าที่นี่แหละที่กูจะอยู่ 

คลาส Drawing คือคลาสพื้นฐานที่ต้องเรียนรวมทุกสาขาเลย แล้วผมก็เตรียมเหลาดินสอมาอย่างดีเลย ผมเรียนติวมาแล้วผมก็รู้วิธี Drawing เบสิคทั่วไป เรียลลิสติกมาเลย อาจารย์เข้ามาสอนแล้วก็บอกว่าเปิดเพลงหลับตาแล้ว Drawing ซะ ผมแม่งไปไม่เป็นเลย คืองงมาก ความรู้ที่เรียนมาเหล่านั้นผมถอดทิ้งหมดเลย แล้วรูปที่ออกมาผมก็พอใจด้วยนะ คือมันก็เป็นรูป Abstract แหละ ดูไม่รู้เรื่อง แต่แบบ เชี่ย นี่แหละ ผมก็เลยค่อยๆ ถูกแทรกซึม 

คราวนี้มันก็จะมีอาจารย์สองคนที่จะสอนกันคนละแบบ คนนึงก็ Academic จ๋า คนหนึ่งก็สายแบบหลุดจ๋า ผมรู้สึกว่าบางวิชามันก็มีความ Academic ผมก็ยังยอมรับได้แต่ว่า Academic ของที่นี่แม่งหลุดมาก ผมก็เลยเริ่มงงแล้วว่ามันต้องยังไงวะ กูต้องจัดที่จัดทางยังไง เราก็ได้เริ่มปลดปล่อยตัวเองไปกับการเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมชอบมากๆ ตอนปี 1 ปี 2  เราเรียนเหมือนไม่ได้เรียน เราเรียนแบบปลดปล่อยตัวเองค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งมันสนุกมาก อำนาจนิยมเหล่านั้นผมไม่เห็นในการเรียนเท่าไหร่ ยกเว้นบางวิชาที่มีความ Academic สูงจัด ขาก็จะมีอาจารย์ที่เป็นรุ่นเก่าแก่มาสอนอยู่ ซึ่งผมก็สามารถทำได้อยู่แล้ว มันเลยไม่ยากเกินไปสำหรับผม แต่ไอ้การที่ทำอะไรที่มันไม่รู้เรื่องเนี่ยยาก ยากมาก

เริ่มเห็นเค้าลางอํานาจนิยมที่ไม่ใช่การรับน้องในสถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่เมื่อไหร่

รัฐประหารครับ คือจริงๆ มันมีเรื่องทับซ้อนก็คือ ถนนเส้นข้างโรงเรียนนั่นแหละเป็นถนนที่เขาเอารถถังมาจอดกันตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 แล้วทหารก็เข้ามากินข้าวในโรงเรียนผม ซึ่งผมก็เห็น  แต่ผมยังไร้เดียงสาเกินไปเนาะ พอปี 2553 (การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง) ก็เห็น แต่คิดว่ามันรุนแรงมากอยู่แล้ว แล้วก็คิดว่ามันต้องฆ่ากันเลยหรอ ก็เลยเริ่มรู้สึกตกใจ บวกกับแม่ผมเป็นเสื้อแดงด้วย ตอนนั้นแม่กดดันมากเพราะไม่สามารถพูดกับผู้ปกครองคนอื่นได้เลย เพราะว่าเขาเป็นเสื้อแดง แต่ผมก็ยังไม่ได้อินการเมืองมาก พอเห็นรัฐประหารปุ๊บ ผมเห็นทุกอย่างเลย พอมีรัฐประหารเกิดขึ้นใหม่ผมก็ยังงงๆ ว่าเมื่อไหร่ประเทศมันจะสงบสักทีวะ เพราะผมก็ไร้เดียงสาทางการเมืองมาก แต่ผ่านไปไม่ถึงปี มันเริ่มมีกฎหมาย เริ่มจับคนที่พูดไม่ได้ ผมรู้แล้วว่าไม่ Make Sense แล้วแม่งเหี้ยมาก

หลังจากนั้น 1 ปีคือชัดเจนเลย คือพอปี 2558 ผมเข้ามหาลัยปุ๊บ ก็มีเรียกปรับทัศนคติบ่อยๆ ผมไม่เชื่อว่าระบบในโรงเรียนผมกับสังคมข้างนอกแม่งเหมือนกัน ไม่เคยเชื่อตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว เพราะว่าผมเชื่อว่าการฝึกในโรงเรียนผมมันเป็นแค่การฝึกเฉพาะในโรงเรียนผม ซึ่งจะทำให้ผมไปเจอรสชาติของข้างนอกแล้วผมตัดสินใจเอง ซึ่งผมไม่เคยเชื่อมต่อเรื่องอำนาจนิยมรับน้องกับสังคมข้างนอกเลย จนผมเห็นรัฐประหาร ผมก็คิดว่าคสช. ตอนนั้นเหมือนพยายามทำให้ทั้งประเทศเป็นโรงเรียน ผมแบบ บ้า ทำไม่ได้ ยังไงก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครที่จะทนอึดอัดขนาดนั้นได้หรอก แล้วกรอบของความสร้างสรรค์หรือความกว้างในประเทศมันไม่มีวันที่จะสามารถรวมอุดมการณ์หนึ่งเดียวแล้วทำให้มันเป็นเหมือนในโรงเรียนได้ ทำไม่ได้ ทุกคนมีความแตกต่างกัน ก็เห็นชัดเจน และก็คิดว่ามัน Make Sense 

แล้วตอนนั้นคุณเรียนรู้กลไกทางการเมืองจากอะไร หรือเริ่มหาเพื่อนทางความคิดด้วยวิธีการไหน

ตอนรัฐประหารใหม่ๆ ผมก็จะบ่นกับเพื่อนตลอด แล้วเพื่อนๆ พี่ๆ ที่คณะฯ ก็จะมีปัญหากับตำรวจอยู่แล้ว แล้วการเรียนการสอนเองก็จะพูดอยู่เสมอว่า ทฤษฎีทางเสรีนิยมมันไม่ได้ Serve หมายความว่าในไทยมันไม่ได้มี ณ ตอนนั้น แล้วผมได้เข้าเรียนตอนรัฐประหารพอดี ซึ่งอาจารย์หลายคนก็จะพูดเข้ามาว่า ‘ทหารมันก็พูดแค่กรอบการเมืองกรอบเดียว’ ซึ่งผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าโลกตะวันตกหรือประเทศที่เจริญแล้ว เค้าก็มีวิธีคิดที่มันแตกต่าง แล้วมีรัฐบาลที่มันแตกต่าง ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ รู้จักการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เช่น ตอนไป Work & Travel ที่อเมริกาแบบนี้ เราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมค่าเงินเขาสูงวะ ทำไมเราสามารถนั่งรถเมล์ได้ไปในที่ที่กันดารชิบหาย ผมจำได้ว่าความทรมาณตอนที่ขึ้นรถเมล์ที่กรุงเทพฯ แม่งหนักมาก แต่รถเมล์ที่ฮาวายคือสบายมาก 

ผมกลับมาที่ไทยผมก็เริ่มรู้สึกมันไม่ Make Sense ขึ้นเรื่อยๆ จนก็ได้เริ่มทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองแรกๆ ก็คือทำการเมืองเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติก็คือบิลลี่ พอละจี ซึ่งกอล์ฟ ลานยิ้ม (นลธวัช มะชัย) เป็นคนชวนไป พอผมเข้าไปก็ทำ Painting นั่นแหละเกี่ยวกับเรื่องฆ่าบิลลี่ทำไม บิลลี่หายไปไหน แต่วันเปิดงานนอกเครื่องแบบมาดูเต็มเลย เป็นบรรยากาศทางการเมืองครั้งแรกที่ผมคิดว่า เชี่ย อะไรวะ กู Painting แบบเพ้นท์ธรรมดาเลย แล้วแมสเซจไม่ได้แรงอะไรขนาดนั้น บวกกับเรื่องบิลลี่ พอละจี บวกไปถึงเรื่องปู่คออี้ (ชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งกระจาน) ผมก็นั่งอ่านแล้วผมก็รู้สึกว่า เชี่ย รัฐแม่งพยายามแบบจัดการผู้คนที่ยืนหยัดด้วยตัวเองทำไม อันนี้เป็นจุดที่ผมรู้สึกว่าโคตรไม่ Make Sense เลย ทำไมเขาถึงเอาผลประโยชน์นำหน้าความเป็นคนวะ 

หลังจากการทำงานการเมืองอันนั้นก็คือครั้งแรก แล้วเราก็ค่อยๆ เห็นมาเรื่อยๆ แล้วช่วงนั้นรัฐบาลก็เหี้ยมากแล้วนะ จะ 4 ปี จะ 5 ปี แล้วที่อยู่ เราเรียนรู้ได้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ผมยอมรับว่าผมอ่านจากสื่อโซเชียลมีเดีย แล้วผมก็อ่านความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งมันก็ชัดเจนกับผมในแง่ของครอบครัว ฐานะทางการเงินที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่รัฐประหารปุ๊ป ที่ทางการหากินของครอบครัวก็เริ่มต่ำลง บ้านก็ต้องประหยัดขึ้น จากที่ผมเข้ามาแล้วผมคิดว่าจะหาเงินเรียนเอง ก็ไม่มีใครจ้าง ช่วงปี 4 ผมก็จะบอกเพื่อนตลอดว่า ‘ไปประท้วงกันมึง’ ก็ไปไล่บอกเพื่อนว่า ‘ลงถนนกันๆ’ ตอนนั้นมันก็เป็นการพูดแบบกึ่งเล่นกึ่งจริง แต่ผมคิดว่ามันต้องทำแล้วล่ะ คือตอนนั้นก็มีเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) ออกมาเคลื่อนไหว หรือว่าใครที่ออกไปยืนตรงหน้าหอศิลป์แล้วโดนจับ ผมก็เลยคิดว่า นี่แหละ คนที่คิดเห็นอย่างผมแล้วคุกกรุ่นอยู่ภายใน คือกำลังของเขา แต่เขาไม่กล้าออก แล้วผมเป็นคนไม่มีเพื่อนเลย ผมทำงานการเมืองในคณะแล้วก็เคยโดนตีกลับมาว่า ‘ไปศึกษาดีๆ ก่อน ว่าฟากฝ่ายทางการเมืองผมเป็นยังไง’ มันอึดอัดอยู่ภายในอยู่แล้ว เพราะตอนนี้มันไม่ Make Sense คื

ผมไม่ได้มองการเมืองระดับโลก มองประวัติศาสตร์การเมืองหรอก แต่ตอนนี้ที่เป็นอยู่ในประเทศไทยมันไม่ Make Sense แล้วผมจะทำมันไม่ได้เหรอ เคยเขียนธงชาติไทยแล้วอาจารย์ก็บอกว่าระวังโดนพ.ร.บ. (พระราชบัญญัติธง พ.ศ.2552) ก็มีความลักลั่นระหว่างความเป็นนักศึกษาศิลปะที่กำลังจะเป็นศิลปิน ว่าเรามีอิสระในการทำงานขนาดไหน ถ้าเป็นนักศึกษาศิลปะ ทำได้ แต่ถ้าเป็นศิลปิน ทำไม่ได้ แต่นักศึกษาศิลปะไม่ควรจะทำได้มากกว่าศิลปินด้วยซ้ำ ศิลปินควรจะอิสระกว่าหรือเปล่า

ถ้าไม่นับเรื่องวิธีการสร้างสรรค์ เวลาคิด Message หรือวิธีการเล่าเรื่อง ความยากในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองหรือสังคมด้วยงานศิลปะคืออะไร

ความยากคือทำให้ง่ายครับ ความยากคือการทำยังไงก็ได้ให้สิ่งที่ซับซ้อนมันง่ายขึ้น แล้วง่ายในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า อ๋อ ความยากอีกหนึ่งขั้นก็คือ ต้องทำให้ง่ายและปลอดภัย คืออาจารย์ผมสอนเสมอว่า ‘ล้วน ถ้าโดนจับ ล้วนเกมนะ’ ‘มันไม่ได้ประสบความสำเร็จหรอก ล้วนเกมเพราะว่าถ้าล้วนถูกมัดมือแล้ว ล้วนจะทำอะไรต่อได้’ ผมก็เลยมองว่ามันคือความยาก แต่พอกระโดดเข้ามาทำจริงๆ ความยากที่สุดเลยก็คือชนะความกลัว ชนะโครงสร้างอำนาจที่มันยึดถือเราตั้งแต่นิ้วจนถึงใจ แม่งยากมากๆ ที่เราจะกระโดดมาจากเซฟโซนตัวเองแล้วก็บอกว่า ‘เชี่ย กูต่อต้านมึงนะเว้ย’ ในขณะที่เขามีอำนาจพร้อมที่จะฆ่าเราตลอด ความยากที่สุดที่ผมคิดหนักมากตอนที่เริ่มกระโดดเข้ามา ใช่ คนเห็นด้วยมันเยอะ องคาพยพไปด้วยกัน แต่ว่าในท้ายแล้วในจิตใจมันต้องถามตัวเองก่อน ปฏิเสธตัวเองให้ได้ก่อนว่ากูจะไม่ยอมรับมันอีกแล้ว เราต้องเถียงกับตัวเองให้จบว่านั่นคือความยากที่สุดแล้ว ผมก็พูดกับหลายๆ คนว่า ศิลปะลงถนนน่ะมันทำง่าย คือเทคนิคน่ะมันทำง่าย ผมก็ทำทิชชู ผมก็ปั๊ม ก็ฟอร์ม ผมก็ลงไปอะไรอย่างนี้ คือการปรากฏตัวในที่สาธารณะมันง่าย แต่ว่า สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือความรับผิดชอบหรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น นั่นแหละคือความยาก

อะไรทำให้คุณตัดสินใจอย่างหนักแน่นที่จะต่อสู้ด้วยประเด็นและวิธีการเหล่านี้

ผมเชื่อว่าศิลปะมันฆ่าใครไม่ได้ แล้วคำพูดมันตรงกว่า ผมไม่เคยบอกว่าศิลปะนำการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ว่ามันเป็น Soft Power ที่คอยสนับสนุนคนข้างล่างที่ไม่เข้าใจขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งผมโชคดีที่ผมเรียนศิลปะมา ผมรู้วิธีการจัดแจงคำพูดให้มันลักลั่น ก้ำกึ่งระหว่างความเข้าใจและไม่เข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้แหละทำงาน มันเป็นการโยนคำถามเข้าไปมากกว่า ซึ่งผมเชื่อว่าคำถามแค่นี้ไม่ทำให้ผมโดนจับ จริงๆ ผมเข้าใจว่าผมทำงานในระดับจุลภาคมากนะ แต่ว่าพอคนเห็นด้วยกับศิลปะมันเลยกลายเป็นมหภาคไปเลย ซึ่งผมไม่ได้ตั้งใจ แต่คิดว่าการพูดเล็กๆ น้อยๆ มันไม่มีวันเท่าคนอื่น แต่ว่ามันเป็นวิธีการ เหมือนพอเวลาผมคิดงานแล้วผมก็จะบอกว่า ‘โอเค รอบคอบแล้ว’ ผมคิดจบแล้วว่ามันโดนได้มากสุดแค่นี้ ถ้าเกิดมากกว่านี้ แม่งไม่ Make Sense แล้ว มันก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งผมก็เลยคิดว่า ผมอาจจะไม่ได้กล้าเท่าคนอื่น แต่ผมมีวิธีพูดของผมที่ผมก็คิดว่าผมสามารถจัดการได้เท่านี้ มันเลยทำให้ผมคิดว่า ใช่ นี่คือความกล้ารูปแบบหนึ่ง ผลดีของมันก็เป็นคนละแบบกับผลดีของการพูดตรงๆด้วย ซึ่ง ใช่ครับ มันเป็นอีกรสชาติหนึ่งในการพูด ซึ่งเราไม่ต้องกักขฬะ

แล้วในความคาดหวังตอนแรกที่เราคิดแค่ว่ามันคือการแสดงออกระดับจุลภาค เมื่อมันกลายเป็นมหภาค เรื่องนี้บอกอะไร

พอมันกลายเป็นเรื่องระดับมหภาคแล้ว มันบอกผมว่าจริงๆ แล้ว คนไทยไม่ได้โง่ คนเสพศิลปะไม่ได้โง่ แล้วความเข้าใจร่วมของมวลชนมันสูงมากแล้วตอนนี้ ทุกคนรู้แล้วว่าปัญหาใหญ่มันคืออะไร เพราะฉะนั้นมันเหมือนการเช็คว่าน้ำลึกแค่ไหน ตอนนี้มันลึกมากแล้ว มันไปสุดมากๆ แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่าคนรอบข้างเขารออยู่เท่านั้นเอง เขารอการพูด แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือความหมายมันถูกขยับจาก Message ที่ผมอยากพูด ซึ่งผมไม่กักขฬะ ผมปล่อยให้มันไหลตามมวลชนเรา แล้วนี่แหละครับคือสิ่งที่ศิลปะทำได้ มันเลยยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำถึงแม้ว่ามันจะเป็นจุลภาคก็เถอะ แต่ว่าความหมายมันจะสามารถขยายออกไปเป็นมหภาคได้เพราะว่ามวลชนนั่นแหละ 

เราจำได้ว่าคุณเคยจัดงานประมูลงานศิลปะที่สถานีตำรวจ คุณจงใจทำแบบนี้เพราะอะไร

เราได้ไอเดียจากเท็น (ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์-สมาชิกกลุ่ม artn’t) เราได้ไอเดียว่าเราล้อเลียนโครงการจัดงานศิลปะเพื่อประเด็นทางสังคมหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วมันมีการประมูลงาน ซึ่งงานแต่ละคนคือรุ่นใหญ่มาก แบบผมก็ไปดูรายละเอียดแล้วก็ โห ประมูลกันเป็นแบบ ผมไม่เคยเห็นงานประมูลในไทยแบนี้มาก่อนเลย ซึ่งตัวการประมูลได้สองล้านหา มีบริจาคอีกสองล้านห้า ซึ่งมันได้ 5 ล้าน ผมก็แบบ ‘โห มันยิ่งใหญ่จังวะ’ แล้วพอกระโดดมาทำงานอาร์ต ผมก็เลยรู้ว่าสิ่งนี้คือการปลอบประโลม เป็นการบอกว่าศิลปินแต่ละคนยิ่งใหญ่ขนาดไหนที่เขากระโดดเข้ามาทำสิ่งนี้ได้ โดยตัดเรื่องการเมืองทิ้งไปโดยสาร ผมก็เลยคิดว่า ใช่ ผมล้อเลียนมันที่ว่าเอาการประมูลที่มันควรจะอยู่ในห้องประมูลมาอยู่หน้าถนน มาอยู่หน้าสน. ซึ่งมันเป็นอีเวนต์ที่เราเองก็โดนแจ้งจับจากงานศิลปะ 

จริงๆ Message ของอันนั้นคือการส่งสารไปให้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศิลปะทั้งหลายว่า เฮ้ย เรากำลังเรียกร้องต่อสิ่งที่ใหญ่มากๆ ในประเทศ แล้วคุณไม่เห็นจะโผล่หน้ามาเลย ใครที่โผล่หน้ามาผมก็ยินดีด้วย แต่ว่าใครที่ไม่โผล่หน้ามาก็คือผมก็อยากรู้ว่าทำไม ไม่ว่างเหรอ หรือไม่ตอบรับเหรอ มันก็มีคนหลังไมค์เหมือนกันว่า ไม่ตอบรับ หรือ ‘ยินดีด้วยนะ อยากไปประมูลแต่ว่าไม่ว่าง’ ก็โอเค ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าคนที่ไม่โผล่หน้ามาเลยทำอะไรอยู่ แล้วก็คิดอะไรอยู่ มันเป็นการแบบกระตุ้นให้เขาเห็นว่า ใช่ คุณประมูลได้ ผมก็ประมูลได้ แล้วงานของผมก็มีคนซื้อด้วย ซึ่งมันเทียบเคียงไปกับอีเวนต์ว่า เราทำศิลปะ คุณขายได้ แต่เราโดนจับ ลองเทียบเคียงกันดูว่าใครแข็งแรงกว่ากัน 

มันเป็นตลกร้ายหรือว่ามันเป็นการสะท้อนภาพอะไรในวงการศิลปะหรือวงการทัศนศิลป์ไทย

สะท้อนภาพแน่นอนครับ ก็คือศิลปินไทยมัวแต่อยู่ในกรอบ แล้วก็พยายามจะดันตัวเองเข้าไปในวงการเพื่อขายมัน แล้วความตั้งใจแรกของการทำงาน Message มันหายไปไหนหรอ เราอยากจะถามว่าเขาทำอะไรอยู่ ไม่คิดบ้างหรอว่าเราจะต้องขยับออกมาข้างนอกหรือว่ากระโดดเข้าไปหาที่ที่เราไม่เคยรู้จักเลย เรามัวแต่อยู่ในที่ที่รู้จัก เปิดงานก็เจอแต่คนเดิมๆ ผมโดนสอนเสมอตอนเพิ่งเรียนจบว่า ออกไปอย่าทำงานให้คนกันเองดูนะ แล้วความตลกก็คื อเวลาผมไปดูงานของอาจารย์ ผมแบบเจอแต่คนกันเอง ซึ่งมันตลกมาก ผมก็เลยแซวอาจารย์ว่า โอ้ย อาจารย์ งานอาจารย์มีแต่คนกันเองนะครับ อาจารย์ก็บอกว่า ‘ใช่ นั่นแหละ’ แกก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาพูดว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไงให้คนนอกวงการมาดู ซึ่งสิ่งนี้ผมอยากเอาชนะ ว่าทำไมทำงานศิลปะแล้วแม่งก็ต้องดูกันเอง ซื้อกันเอง เพื่ออะไร แล้วผมอ่ะมีเพื่อนหลายสาย ผมก็อยากให้คนเหล่านั้นมาดูบ้าง โดยที่เขาไม่รู้สึกอึดอัดแล้วซึมซับมันได้ ไม่ต้องเข้าใจแต่ว่าซึมซับมันได้ ผมก็เลยรู้สึกว่าผมไม่อยากทำงานให้คนกันเองดู คือคนกันเองมาดูไม่ว่า แต่ว่าเปิดพื้นที่ให้คนอื่นด้วย มันเลยเป็นหลักที่ผมต่อต้านกับวงการศิลปะว่าเนี่ย อยู่ที่ถนนแล้ว ไม่มีแกลอรี่ ไม่ต้องมีเปิดงาน ไม่ต้องมีอะไรทั้งนั้น ป้าที่มาหาของเก่าก็จะเห็น คนเก็บขยะก็จะเห็น ทำไมทำไม่ได้ ทำไมทำแล้วมันจะถูกต่อต้านหรอ ในเมื่อการประมูลแม่งเหมือนออกมาขายของมือสอง เหมือนกันเลย

นอกจากงานศิลปะแล้ว คุณเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตู้ปันยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

มันเป็นโปรเจคของ Chiang Mai City Lab ซึ่งจริงๆ มันมาจากรุ่นน้องผมที่ทำงานด้วยกันนี่แหละ แล้วเขาก็บอกว่า เขาเห็นคนไร้บ้านเยอะมากเลย แล้วเห็นการบริจาคข้าวเยอะแล้วบางทีมันดูเป็นการให้ทานมากเลย คือผมเคยได้ไปบริจาคข้าวครั้งหนึ่งแล้วเห็นคนยืนรอต่อแถว เห็นแววตาแล้วผมก็ไม่ไหว เชี่ย Trigger จัดๆ เลย เราไม่อยากไปแล้ว ก็เลยคิดว่าจะบริจาคอะไรต่อดีวะ เราก็เลยมาดูว่าจะทำยังไงให้มันเป็นการบริจาค แต่ว่าไม่ใช่การบริจาค แปลว่ามันเข้ากับกับการใช้ชีวิตของเขา ก็แงะดูจากปัจจัย 4 ว่ามีอะไรบ้าง มีที่อยู่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม มียา ผมสงใจในวงการยาอยู่แล้ว อยากกระโดดเข้าไปลองทำงานกับสิ่งนี้ดู แต่ว่าทั้ตัวตู้ที่ออกมามันไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือกระบวนการ พอเรากระโดดเข้าไปทำงาน เราพยายามสรรยาฟรีจากที่ไหนก็ได้มา ก็คือคณะแพทย์ฯ หรือว่าที่ไหนก็ตาม คือองค์กรยามันจะมียาใกล้หมดอายุ ใกล้หมดอายุในที่นี้ไม่ใช่ 2-3 วันแต่เป็น 1 เดือน แล้วพอเราไปขอยาเหล่านั้นเขาบอกว่า มันจะไม่ถูกนับครบสต๊อกหรือเหตุผลอื่นๆ ซึ่งเราแบบ ‘เฮ้ย เชี่ย ทำไมวะเนี่ย’ เราอุตส่าห์เปิดช่องทางฉุกเฉินเพื่อให้คนเข้ามาขอยาได้ฟรี แต่ว่าเราก็เอายาที่คุณกำลังจะทิ้งจะมาแจกให้ เขาก็บอกว่าไม่ได้เพราะด้วยเงื่อนไขอะไรต่างๆ 

จริงๆ ตู้ปันยามันก็เลยต้องการผลักดันวงการยา เทศบาล และรัฐบาลว่าคุณต้องสามารถสร้างสวัสดิการนี้ให้ได้ แล้วช่องทางมันมีอยู่เยอะมากแต่ว่าคุณไม่ทำ แล้วเราเข้าไปทำคุณก็ไม่ให้ ทำไม คือตัวตู้ปันยามันเป็นนวัตกรรมที่มันง่ายมาก ก็คือแค่เอาตู้ Vending Machine มาจัดการใส่ทำกราฟิกนิดหน่อย ความสำคัญมันอยู่ที่ประเด็นกับกระบวนการมากกว่า เพราะในสุดท้ายแล้วยาก็หมดตู้ตลอด แล้วทำไมยาหมดตลอด มันเห็นได้ว่าความต้องการของคนแม่งเอาไปทำอะไรกันต่อได้ คนต้องการยาขนาดไหน หรือว่าคนเอายาไปขายต่อ จะอะไรก็ตามนั่นแหละ แต่ว่าพอมันไม่มีการจัดการที่มาจากรัฐแล้ว เรางต้องควักเนื้อต้องควักอะไรตัวเองหมดเลยจริงๆ แล้วเราก็พยายามทำให้มันไม่เป็นการให้ทาน เพราะว่ายาเหล่านี้ทุกคนควรได้ เพราะมันเป็นภาษีทั้งหมด แล้วมันไม่ได้ถูกกระจายอย่างสมเหตุสมผล เพราะการเข้าถึงโรงพยาบาลหรือการเข้าถึงการรักษาเป็นเรื่องของพริวิลเลจทั้งนั้นเลย คือพูดง่ายๆ การใช้ชีวิต การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องของพริวิลเลจทั้งนั้นเลย แค่เอารักษาสุขภาพให้รอด คนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือคนไร้บ้านเองงเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการเจ็บป่วย แต่ว่าเขามีสิทธิ์น้อยที่สุดในการเข้าไปรับการรักษา เพราะฉะนั้นโรคไม่เลือกคน แต่ว่าการรักษาเลือกคน ผมว่าผมรับไม่ได้กับเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วตัวตู้ปันยามันก็ไม่ได้สำเร็จขนาดนั้น มันจะสำเร็จเป็นงานวิจัย แล้วตัวกระบวนการมันจะออกมาอีกทีนึง ซึ่งตอนนี้มันกำลังอยู่ในกระบวนการที่ดำเนินอยู่ กำลังตั้งตู้อยู่ก็เลย ตัวต่อตัวเองแม่งเป็นแค่ Innovation เพื่อทดลอง แต่ประเด็นของมันจริงๆ คือการหวงแหนอะไรก็ตามของการนำเข้ายา หรือการผลิตยาซึ่งไม่สามารถกระจายไปสู่ประชาชนได้ ทั้งที่ประชาชนร้องขอ ถึงแม้ว่าพาราเซตามอลจะแผงละ 20 บาทก็เถอะ ถูกมาก แต่ก็คือว่า สุดท้ายแล้วถ้าเขาไม่มีตังค์เลยหรือว่าแบบ ถ้าเขายังไม่มีตังค์สักบาท เราจะทำยังไงได้

อะไรยากที่สุดในกระบวนการของโครงการนี้

เราจะพูดรวมๆ ก็คือ การติดต่อกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการขอไฟ การขอพื้นที่ ขอยา แล้วก็การแสดงตัวตนว่าเราคือใคร ทำไมเราจะต้องเข้ามาจัดการเรื่องยา ซึ่งแม่งทำให้เรามีปัญหา ทำให้เรามีปัญหากับกระบวนการตรงนี้มากคือ เราตั้งใจจะหายาฟรี แต่ล็อตแรกเราต้องซื้อ แล้วมันกัดกินตัวเรามาก เพราะสุดท้ายแล้วเราทำตัวเหมือนคนให้ทาน ซึ่งทำให้เห็นเลยว่าวงการอันนี้มีกรอบอำนาจนิยมที่เราไม่สามารถเข้าไปแตะมันได้ด้วยซ้ำ สุดท้ายแล้วเขาก็จะใช้ความสำเร็จสมผลทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ของเขาโยนกลับมาหาเรา ถ้าเราไม่แข็งแรงพอ เราก็ไปไม่เป็น

จากที่คุณเคลื่อนไหวในหลายวาระ หลายวงการ ถ้าให้สรุปการเคลื่อนไหวเป็นภาพรวม คุณเห็นความผิดปกติอะไรในสังคมและการเมืองบ้าง

รัฐเห็นเราเป็นสัตว์ รัฐเห็นเราเป็นสินค้า โดยผนวกไปกับทุนนิยมและวัฒนธรรม เขาแค่คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้เราขายหรือรันเศรษฐกิจไปให้ได้ แล้วเงินทองจะไปตกอยู่กับพวกเขา ซึ่งพอเมื่อเราประกาศเสรีภาพของตัวตนเราเองขึ้นมา เขาไม่คุ้นชินแล้วเขาก็กลัว เพราะว่าในวันหนึ่งแล้วสิ่งที่เขาควบคุมได้กลับควบคุมไม่ได้ขึ้นมา เขาจะทำยังไงกับมัน ผมก็เลยรู้สึกว่าไอ้การที่ทำมาทั้งหมดเนี่ย มันประกาศง่ายๆ เลยว่ามึงก็คนกูก็คน เท่านั้นเลย แล้วเราเองก็มีศักยภาพ คุณเองนั่นแหละที่ไม่ได้ถืออำนาจ เราจ่ายเงินเพื่อให้คุณทำงานให้เรา มันกลับตาลปัตรไปหมดเลย ความผิดปกติมันคือกลับหัวกลับหางไปหมด ทั้งด้านความเข้าใจของเขาเอง แล้วก็การปฏิบัติตัวของเขาด้วย ซึ่งกว่าจะพลิกมันกลับมาได้มันยาก เพราะว่าตอนนี้มันสูงส่งมากแล้ว ความผิดปกติเหล่านั้นมันกลายเป็นเรื่องปกติของเขาไปแล้ว แต่เมื่อเรามองเห็นเขาก็จะมองว่าเราผิดปกติ ซึ่งมันเป็นมาตลอดในระดับเล็กที่สุดก็คือครอบครัว ถ้าเกิดเราชี้หน้าด่าพ่อแม่ขึ้นมา ชี้หน้าเถียงพ่อแม่ขึ้นมา แม่ก็จะบอกว่าเราเกเรและผิดปกติ ในขณะที่บางเรื่องอาจจะไม่ Make Sense ก็ได้  มันเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด มันเกิดขึ้นในระดับครอบครัว ระดับโรงเรียน ระดับมหาลัยจนไปถึงองค์กรรัฐทั้งหมด ซึ่งมันทำให้เห็นเลยว่าความผิดปกติเหล่านี้มันทำให้คนบางคนหรือคนที่ถูกกลืนกินรู้สึกว่าตัวเองน่ะ Make Sense แล้ว แม้กระทั่งในคนรุ่นราวคราวเดียวกันด้วยนะ เด็กกว่าก็มีที่แบบรู้สึกว่า พวกคุณมันเป็นแค่คนที่เราต้องดูแล มันเป็นแค่คนที่เราต้องทรีทคุณ หมายความว่าประชาชนอย่างพวกเราต้องค่อยๆ ถูกทรีต ต้องค่อยๆ ยื่นมือขอไปหาเขา แล้วเราเห็นความผิดปกติทุกเรื่องตั้งแต่วัฒนธรรม มารยาท ศิลปะ การเมือง วิธีคิด ทุกอนูมีความผิดปกติหมด ทุกวงการ เห็นได้เลยว่าแค่การยกมือไหว้ของไทยก็ผิดปกติแล้ว

คุณเห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงยังไงจากการเคลื่อนไหวในในรอบปี 2 ปีที่ผ่านมาบ้าง

เปลี่ยนแปลงมากครับ หนึ่งคือ-กล้าขึ้น กล้าขึ้นมากๆ เรามีคำถามกับทุกเรื่องที่มันละเอียดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็กล้าตั้งคำถาม เมื่อก่อนคำถามมันเกิดขึ้นในใจแล้วเราก็จะปล่อยให้มันหายไป แต่ว่าตอนนี้เราก็หาคำตอบเราก็ถามกับคนที่เขาควรถูกจะถาม แต่ข้อเสียคือเราเร็วมากเกินไป แล้วเราก็ทำให้เราผลัดอะไรทิ้งเร็วเกินไปโดยที่ไม่ทันได้ตรวจสอบมัน เราปล่อยปละละเลยคนรอบตัวมากไป จนคิดว่าปีนี้เราต้องช้าลงเพื่อที่จะพัฒนาคนทุกคนไปด้วยกัน เพราะว่าเราทำงานเกี่ยวกับคน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกว่าเราจะไม่อยากทำให้สลิ่มกลับใจ เพราะมันก็คือเป้าหมายนึงเลยด้วยซ้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผมคือ ผมรู้สึกว่ามันทำให้เราเองลืมสิ่งที่เราเคยฝันแล้วก็ฝันใหม่ แล้วก็รู้สึกว่าฝันนี้มันใกล้เคียงกับเราจริงๆ ก็คือการดึงศิลปะให้มันเข้าหาชุมชนเองจริงๆ การตั้งงานศิลปะใหม่จริงๆ การได้ทำงานสร้างสรรค์หรือว่าการได้มีรัฐที่ Make Sense คือเราลืมกรอบแบบเก่าทิ้งไปเลย แล้วเราก็จัดการมันใหม่ทั้งหมด ดีไซน์มันใหม่ทั้งหมดเลย ไม่ได้ดีไซน์ด้วยตัวเอง ก็คือดีไซน์กับมวลชนนั่นแหละ ทำไปเรื่อยๆ เราก็รู้จักกัน แตกหัก รู้จักการยอมรับ แล้วก็รู้จักการอภัย มันทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองที่ดีมันจะสอนจิตสำนึกคนให้มันดีได้ แล้วเราก็ค่อยๆ ทำ มันไม่ได้เปลี่ยนในปี 2 ปีแน่นอน ก่อนที่จะเปลี่ยนการเมืองก็คือ ต้องเปลี่ยนคนรอบข้าง ง่ายๆ เลย

เราทราบว่าเราไม่ควรถามคำถามนี้ แต่ถ้าถามในมุมของคุณจริงๆ คุณคิดว่าทำไมตอนนี้คนถึงต้องสนใจเรื่องการเมือง

ผมจะพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราไม่สนใจการเมืองหรือไม่จัดการกับมัน การเมืองจะจัดการเราเอง แค่นั้นเลย ถ้าเราเลือกที่จะปล่อยมัน เราก็จะไม่ทันมีสิทธิ์มีเสียงพอที่จะพูดอะไรออกมา แล้วคราวนี้การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการของคน ซึ่งคนก็คือเรา แล้วถ้าเราไม่ประกาศว่าเราอยากจะถูกจัดการยังไง เราก็จะไม่มีวันได้สิ่งที่เราอยากจะเป็น แม่งควบคุมเราแม้กระทั่งความฝัน แม้กระทั่งความจริง หรือแม้กระทั่งความหวัง ถ้าเราหวังกับตัวเองว่าเราจะเป็นยังไงโดยที่ไม่สนใจการเมือง เราก็จะไม่มีวันได้เป็นหรอก เราก็จะได้เป็นอะไรก็ตามที่เขาโยนความหวังมาให้เรา เพราะฉะนั้นเราจะมีชีวิตอยู่ทำไม ก็ตายๆ ไป

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า