fbpx

ในวันที่ซีรีส์เกาหลีมีอิทธิพลต่อชีวิต – รู้จัก Korseries ให้มากขึ้น

ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คำว่า “Soft Power” ถูกนำมาพูดกันอย่างแพร่หลายจากกรณีที่ซีรีส์เกาหลีเรื่องดังอย่าง “Squid Game” และการปล่อยเพลงเดี่ยวครั้งแรกของลิซ่า Blackpink ที่ทำให้โด่งดังเป็นพลุแตก จนทำให้รัฐบาลเคยคิดจะเชิญตัวมา แต่สุดท้ายทางค่ายต้นสังกัดก็ปฏิเสธไปด้วยคิวที่ยาวมากๆ ของลิซ่าเอง แต่ทว่าการทำ Soft Power ในเกาหลีใต้ไม่ได้ทำมาแค่เล่นๆ แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ร่วมสิบปี จนถึงวันนี้ที่วัฒนธรรมเกาหลีไปไกลในระดับโลก

วันนี้ The Modernist นัดคุยกับซอฟแวร์-กรกมล ลีลาวัชรกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง “Korseries” สื่อออนไลน์ที่เจาะลึกวงการบันเทิงเกาหลี บนบรรทัดฐานของความถูกต้องตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่เธอเรียนมา ใช่ครับ เธอเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งด้วยความสนิทของเราทั้งสองคน จึงเลือกที่จะคุยหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ความชื่นชอบซีรีส์เกาหลี การศึกษาและการหาตัวตน ตลอดจนถึงอนาคตของสื่อออนไลน์หัวนี้กันครับ

และจากวันแรกที่เธอตามซีรีส์เกาหลีจากช่องไอทีวี มาจนถึงวันที่เธอได้แนะนำซีรีส์บนกระดานในห้องเรียนตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 และมาจนถึงการแนะนำบนทวิตเตอร์ จนเปิดเป็น Facebook Page มาจนถึงการเปิดเว็บไซต์ และพัฒนาเป็นสื่อออนไลน์เต็มรูปแบบ เธอบอกกับเราในทุกๆ ครั้งเสมอว่า “ซีรีส์เกาหลีมีอิทธิพลต่อสังคมและตัวเธอมาก”


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
ในวันที่การศึกษาไทยไม่ทำให้เด็กเจอความฝัน


ก่อนหน้านี้เรียนคณะอะไรมาก่อน

ตอนเข้าครั้งแรกเลือกคณะสหเวชศาสตร์เทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือตอนม.ปลายที่เราเลือกคณะนี้ เราไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ เราก็ถามเพื่อนทุกคนก็พบว่าเพื่อนทุกคนความฝันเป็นของตัวเองหมดแล้ว แต่เรากลับคิดอะไรไม่ออก เรารู้แค่ว่าสำหรับสายวิทย์ในสายตาของคนอื่นที่มองมา จุดสูงสุดของสายวิทย์มันก็คือคณะแพทยศาสตร์ แล้วครั้งแรกก็คือสอบติดเทคนิคการแพทย์ แต่ก็ไม่ติดหมอนะ อาจจะเพราะเราดูซีรีส์เยอะ (เสียงหัวเราะ) เราเหมือนไม่ได้เรียนรู้มาก่อนเลยว่าเทคนิคการแพทย์เรียนอะไรเราเพิ่งมารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาทำแลป ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ ซึ่งเรามารู้ตอนที่เข้ามาเรียนแล้ว ซึ่งเราก็เริ่มคิดถึงอนาคตว่าถ้าเกิดเราต้องมาทำอะไรแบบนี้เราจะโอเคไหม สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าเราก็น่าจะสู้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งถามว่าเรียนได้ไหม เราเรียนได้อยู่แล้ว แต่แค่น่าจะไปได้มากกว่านี้ ตอนนั้นตอนในหัวคิดว่าเราน่าจะเป็นหมอ ต้องได้ชื่อว่าหมอแค่นั้น

จริงๆ แล้วเราเคยมีนิเทศศาสตร์อยู่ในหัวตั้งแต่แรกแล้ว แต่เหมือนที่บ้านก็ให้คิดดีๆ เหมือนเขาก็ยังไม่ได้ห้าม เราก็คิดดีแล้วว่านิเทศศาสตร์อาจจะไม่ใช่ทางเราหรอก ก็เลยสอบใหม่ เลยติดสัตวแพทย์ที่จุฬา หลังจากที่เข้าไปเรียนจนกระทั่งตอนปี 2 เทอม 2 ซึ่งมันไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนจะซิ่วเลย เพราะว่าถ้าคนจะซิ่วเข้ามาปีแรกเทอมแรกออกไปแล้ว แต่ปรากฏว่า Korseries มันก็เริ่มโตขึ้นด้วย และทำให้เราเริ่มที่จะต้องหยุดเรียนเยอะขึ้น จนกระทั่งตอนหนึ่งเราได้เจออาจารย์ขณะกำลังเรียนเรื่องร่างกายสัตว์อยู่ อาจารย์ก็พูดว่าปีหน้าจะลาหยุดได้ยากแล้วนะ ซึ่งเขาพูดด้วยความเป็นห่วง สายการแพทย์ก็รู้ว่ามันหนักมาก เราก็เริ่มแบบประมวลผลตามที่เขาพูดมา เพราะก่อนหน้านี้เราก็ตามน้ำมาตลอด ประกอบกับเราไม่ได้จินตนาการว่าจะเป็นสัตวแพทย์ยังไงมาก่อน

อีกหนึ่งข้อที่เจอหลังจากที่เรียนก็คือเราไม่กลัวสัตว์ที่ตายแล้ว แต่กลัวตัวเป็นๆ ซึ่งชีวิตเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัตว์เลยไง และก็ไม่ได้เป็นคนรักสัตว์ แต่ก็คิดว่าเรียนสัตวแพทย์ก็ดี ก็มีความย้อนแย้งในตัวเอง ซึ่งกว่าจะตัดสินใจครั้งที่สองได้ มันเป็นครั้งที่ยากที่สุดในชีวิต เพราะว่าเราเจอหลายความเห็นมาก บางคนก็บอกว่ามันปี 2 เทอม 2 แล้วทนอีกหน่อยไหม แล้วถ้าต่อไปมันหนักมากจนเราทำสื่อไม่ได้มันจะคุ้มไหม เราจะต้องทิ้งสื่อของเราทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นก็ยอดไลก์เพจเป็นแสน ก็ทำให้เราคิดยากว่าควรจะชั่งน้ำหนักอันไหน ปรากฏว่าช่วงที่ตัดสินใจอยู่นั้น นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มีประกาศออกมาว่ามีภาคการเรียนใหม่ขึ้นมาก็ คือเป็นวารสารสนเทศและสื่อใหม่ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะใช่ทางเรา เพราะว่ามันน่าจะเอื้อกับการทำงาน เราได้ก็เลยคุยกับที่บ้านว่าขอให้โอกาสตัวเองอีกสักรอบได้ไหม คำตอบของที่บ้านก็บอกมาว่าเขาก็รู้อยู่แล้วว่าสัตวแพทย์ไม่ได้เหมาะกับเรา ก็แบบแล้วทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก

เราก็เลยโกรธกับที่บ้านนิดนึงว่าทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก แต่เขาก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะไปได้หรือเปล่า เขาไม่ได้อยากปิดกั้นเรา แล้วพอเราขอซิ่วที่บ้านก็ไม่ได้ว่า เราก็คิดว่าได้เหรอ ตอนแรกก็เลยขอดรอปไว้ แล้วสอบนิเทศจุฬาฯ แล้วพอสอบติดก็เลยลาออก คือเราคิดไว้ว่าถ้าเราไม่ติดก็กลับไปเรียนสัตวแพทย์ แต่สุดท้ายก็ได้มาเรียนที่นิเทศจุฬาฯ หลังจากนั้นเราก็รู้สึกอิสระขึ้นแล้ว ไม่ได้รู้สึกฝืนตัวเองเท่าไหร่แล้ว

แสดงว่าที่ผ่านมาสังคมก็มีส่วนช่วยในการถูกปลูกฝังว่าจะต้องเรียนเฉพาะคณะที่เป็นบรรทัดฐานสังคม

ใช่ ซึ่งอย่างที่บอกคือว่า ก็เป็นการต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะประมาณหนึ่ง แบบคนปกติเขาซิ่วกันแค่ปีเดียว แต่เราซิ่วมา 3 คณะในจุฬาฯ จริงๆ ก็เหมือนกับการทัวร์มหาวิทยาลัยมากๆ มันยากมากกับการที่คนภายนอกเขามองเข้ามา เพราะเราเจอคนมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน เป็นคนโลเล ทำไมแบบดูเหลวแหลกขนาดนี้ เราเจอสายตาความรู้สึกที่มองเข้ามาแบบนั้น

แล้วจัดการปัญหาพวกนี้อย่างไรบ้าง

เราจัดการกับคนอื่นไม่ได้อยู่แล้ว เราก็ต้องจัดการกับตัวเองว่าเราต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเรา เราเลือกแล้วที่จะมาตรงนี้ เรารู้สึกว่าทุกการตัดสินใจของเรา ณ จุดที่เราตัดสินใจนั้นมันคือดีที่สุดในเวลานั้นแล้ว คนอื่นไม่มารู้ข้อจำกัดของเรา เขาไม่รู้ว่าเราผ่านอะไรมา เราคงห้ามความคิดคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาจะมองว่าเราเหลวไหล ไม่เอาไหน เราเลือกและตัดสินใจแล้ว เราพร้อมจะลุยทางที่เราเลือกให้เต็มที่ที่สุด ฉะนั้นพอเราตัดสินใจแล้ว เราก็ลุย Korseries ให้เต็มที่เลย เพราะว่าตอนที่อยู่สัตวแพทย์ ตอนนั้นยังไม่เปิดเว็บไซต์ พอเราออกจากสัตวแพทย์แล้ว สิ่งแรกที่เราทำก็คือเปิดเว็บไซต์ Korseries.com ขึ้นมาเลย ซึ่งพอหลังที่เราเปิดและลุยเรื่องเว็บไซต์ เราก็ได้รับความไว้วางใจมากขึ้น และมีความเป็นทางการ การที่ได้ไปสัมภาษณ์นักแสดงที่เกาหลี การที่ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นในสายงาน มันคือจุดเปลี่ยนจริงๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าก็คุ้มแล้ว และเราก็พอใจกับการตัดสินใจในครั้งนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ต้องเดินทางมาอ้อมโลก

เหนื่อยไหมกับการเดินทางอ้อมโลกมาจนถึงจุดนี้

เหนื่อยมาก เพราะว่าระบบการศึกษาไม่เอื้อเราเลย เราท้อแท้มากกับการที่เราเข้าจุฬาฯ มา 3 ครั้ง แต่เราต้องเรียนวิชารวมที่บังคับ ซึ่งทุกครั้งที่เราเปลี่ยนคณะ เราไม่สามารถที่จะโอนหน่วยกิตมาได้เลย เราก็ต้องเรียนใหม่ในทุกๆ ครั้ง ซึ่งมันเสียเวลามากๆ มันเป็นระบบที่ไม่ค่อยเอื้อให้เด็กเลย อันนี้เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่มีระบบที่เอื้อสำหรับเด็กที่สอบใหม่เข้ามาเลย เราว่าปัจจุบันมีเด็กจุฬาฯ หลายคนที่ซิ่วข้ามคณะ แล้วก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน เราว่าปัญหานี้มันควรที่จะถูกยกประเด็นขึ้นมาว่ามันควรจะออกแบบให้เอื้อหน่อย

รวมไปถึงการเรียนด้วยเช่นกัน ระบบการศึกษาไทยเป็นอะไรที่แบบคุณต้องเรียน คุณต้องอยู่ตรงนี้ สนใจแค่เรื่องการเรียน เรื่องงานวิจัย เรื่องอะไรอย่างนี้ แต่เด็กที่แบบทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ก็คือคุณจะต้องสู้ จะต้องฟาดฟันด้วยตัวเอง มันก็เป็นอะไรที่เราก็ท้อแท้กับการต้องเจออะไรแบบนี้ ในเมื่อเราทำอะไรกับระบบการศึกษาไม่ได้ เราก็ต้องสู้ด้วยตัวเอง ต้องจัดการด้วยตัวเอง

จัดการเวลาอย่างไรบ้าง

คือถ้าช่วงใกล้สอบ ก็ต้องมาสนใจและต้องเอาตรงนี้ให้รอด ถ้าช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาเรียน ถ้าอันไหนที่มีความจำเป็นที่จะต้องสนใจเรื่องงานก็ต้องให้เรื่องงานก่อน แต่ว่าเรื่องงานการบ้านก็พยายามที่จะส่งให้ตรงตามเวลา แต่ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นคนที่เรียนแย่ตั้งแต่แรก คือเราเป็นคนตั้งใจเรียน แต่พอมันมีเรื่องงานเข้ามา แน่นอนว่าความสนใจมันเปลี่ยนไป แต่พอเราเลือกที่จะเรียน เราก็รับผิดชอบให้มันจบ

ตีกันบ่อยไหมว่าจะเรียนต่อหรือจะลาออกไปทำงานดี

ตีกันบ่อย คือเราก็ยังเป็นคนที่ค่อนข้างคำนึงถึงกระแสสังคม คำนึงถึงคนภายนอกที่มองเข้ามาด้วย ซึ่งก็มีคนเชียร์ให้ลาออกเยอะมาก ไม่เห็นต้องเรียนแล้ว ทำงานหาเงินได้แล้ว แต่เราเคยเห็นในช่วงที่เราซิ่วออกจากสัตวแพทย์ แล้วมันมีงานเลี้ยงรวมของญาติ ตอนนั้นเหมือนมีญาติเดินมาหาพ่อ แล้วบอกว่าปล่อยให้ลูกเป็นแบบนี้ได้ยังไง พอได้ยินอย่างงั้นเราเลยรู้สึกว่า ทำไมเขาถึงมองเราแบบนี้ เราก็เลยเรียนไว้กันกระแสสังคมที่มองมาไม่ดี ซึ่งจริงๆ สังคมไทยเขามองเด็กที่เรียนไม่จบว่าเป็นเด็กเหลวแหลก และเราเป็นคนคำนึงถึงความเห็นของคนในครอบครัวด้วย จึงตัดสินใจเรียนต่อไป

เราแบกรับกับชื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แล้วรู้สึกเหนื่อยไหม

สารภาพว่าก่อนหน้านี้มีความคิดที่โง่เขลา คือเราเป็นคนที่ค่อนข้างติดชื่อสถาบัน เหมือนเป็นคนที่ชอบห่วงภาพลักษณ์ตัวเอง คิดว่าฉันออกจากสหเวชก็ติดที่จุฬาพอย้ายไปนิเทศ จริง ๆ ก็มีคนเสนอทุนการศึกษามาให้ แต่เราก็ปฏิเสธเขาไป เราก็ยังติดกับความเป็นจุฬาฯ เราก็ยอมรับเลยว่าตอนแรกเราคิดแค่ชื่อสถาบัน แต่เรารู้สึกว่ายุคมันเปลี่ยนแล้ว มันคือยุคที่เด็กได้รับสิ่งต่าง ๆ จากการเรียนมากกว่า และทำให้เด็กได้มีพื้นที่การแสดงออก ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่นำไปใช้กับการทำงานได้จริงมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าหลาย ๆ ส่วนที่เรียนไปนั้นเป็นความรู้ที่ดีมากๆ แต่มันคือรู้ไว้ก็ดี กลับกันมันกลับไม่ได้นำมาใช้อยู่แล้วกับการทำงาน


2
จากความชอบซีรีส์เกาหลี สู่วันทำสื่อออนไลน์


จุดเริ่มต้นของ Korseries

จริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ชอบดูซีรีส์เกาหลีมาตั้งแต่เด็ก ดูจากทางทีวี พอเราเริ่มติดก็เลยดูเยอะขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งตอนนั้นก็คือเป็นช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย มันก็เป็นช่วงที่ตัวเองต้องการบางสิ่งบางอย่างที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะว่าช่วงม.ปลาย ซึ่งกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยจริงจัง ก็เกิดอาการเครียดมาก เราอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่กำลังเรียนกวดวิชากันอย่างเนืองแน่น ฉันก็เลยคิดว่าหนทางที่น่าจะทำให้ตัวเองผ่อนคลายขึ้นก็น่าจะเป็นการเปิดทวิตเตอร์ เพื่อที่จะระบายความรู้สึกที่ตัวเองชอบดูซีรีส์เกาหลี

ซึ่งก่อนหน้าที่จะเปิดทวิตเตอร์นั้น ตอนแรกเราเน้นเขียนรีวิวบนกระดานในห้องเรียนก่อน ก็มีเพื่อนมาดูว่าแนะนำเรื่องอะไร แล้วเราก็เลยเป็นกูรูด้านนี้ เวลาที่คนจะนึกถึงว่าซีรีส์เกาหลีเรื่องไหนน่าดูบ้างก็จะมาถามเราเสมอ แต่ว่าหลังจากนั้นก็มีเพื่อนบอกว่าลองทำอะไรที่มันเป็นจริงเป็นจังหน่อยไหม ก็เลยเปิดทวิตเตอร์ ซึ่งในตอนนั้นก็คือ ม.6 แล้ว หลังจากนั้นเราก็เริ่มเปิด Facebook ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งใจเปิด ที่เราตัดสินใจเปิดเพราะว่าในตอนนั้นเริ่มมีคนมาบอกเราว่ามีคนคัดลอกเนื้อหาเราเอาไปลง Facebook

แล้วหลังจากที่เราเปิด 2 ช่องทาง และมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็มักจะเจอคนทักมาผ่านหลังบ้านว่าอยากให้ติดตามเรื่องต่างๆ ที่เขาต้องการหน่อย เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีช่องทางอะไรสักอย่างที่ทำให้คนมาติดตามค้นหาข้อมูล ก็เลยทำให้เกิดเป็นเว็บไซต์ Korseries ขึ้นมา

ซีรีส์เรื่องแรกในชีวิตที่ติดตามดู

เราดูซีรีส์เกาหลีตามหลายๆ คน ซึ่งเราตามตั้งแต่สมัยที่ต้องดูตามช่องไอทีวี มันคือช่วงยุคแรกเริ่ม ถามว่าเรื่องไหนเป็นจุดเปลี่ยนเรา เราตอบไม่ได้ว่าเรื่องไหนมันเป็นจุดเปลี่ยนขนาดนั้น แต่มีซีรีส์เรื่องหนึ่งที่ตราตรึงใจกับเรามากๆ ก็คือเรื่อง Scent of a Woman (ชื่อไทย: พลิกชีวิต ลิขิตรัก) จริงๆ เนื้อเรื่องมันก็ค่อนข้างเป็นยุคเก่านิดนึง คือในเรื่องเล่าเรื่องของนางเอกที่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและตัดสินใจลาออกจากงานไปแบบไปใช้ชีวิตแบบหรูหรา ใช้เงินก้อนสุดท้ายของตัวเองไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วก็ไปเจอพระเอกซึ่งเหมือนเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ตัวเองอยู่ คือตอนนั้นเราก็ชื่นชอบพฤติกรรมของตัวนางเอกที่เขาจะเขียนสิ่งที่อยากทำ 20 ข้อก่อนตาย ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากทำตาม และเราได้อะไรบางอย่างจากการดูซีรีส์ ซึ่งจริงๆ แล้วซีรีส์เกาหลีมันไม่ได้มีแค่เรื่องราวของความรัก แต่เราก็ได้อะไรบางอย่างกลับมาจากการที่เราดูและทำให้เราคิดตามเช่นกัน

ทำไปสักพักมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม

คงเป็นความกลัว คือเรารู้สึกว่าในการลงคอนเทนต์แต่ละครั้ง ด้วยความที่เราเริ่มมีคนติดตามเยอะมาก เราก็เริ่มรู้สึกถึงการแบกรับภาระบางอย่างที่มองไม่เห็นซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้ ว่ามีคนรออยู่มีคนจับจ้องอยู่ การที่เราจะลงคอนเทนต์ไปเราต้องคิดเยอะมาก บางครั้งเราต้องอ่านเป็น 10 รอบและบางทีก็ยังไม่กล้ากดโพสต์เลย เพราะเรากลัวว่ามันจะมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนที่กลัวความเห็นของคนอื่นที่เป็นในแง่ลบ ซึ่งมันก็เหมือนมีความดราม่าอยู่พอสมควร เราก็ต้องทำตั้งแต่ต้นทางว่าต้องตรวจสอบให้ดี ให้แน่ใจก่อนทุกครั้งที่จะลง

มันกลายเป็นข้อดีของเราด้วยหรือเปล่า

ใช่ เราก็พยายามปรับจุดที่ทำให้เรารู้สึกกลัวตรงนั้นเป็นจุดผลักดันให้ต้องทำงานของเราให้ดี เป็นแง่ของคุณภาพ ทั้งเนื้อหา ทั้งการใช้ภาษา เนื่องจากวงการเกาหลีจะมีทั้งแฟนคลับทั้งของศิลปินและตัวบุคคลที่เราพูดถึง ซึ่งล้วนมีแฟนคลับที่อยู่ในประเทศไทย เราก็ต้องระวังว่าแบบคำพูดนี้มันจะไปกระทบกระเทือนจิตใจหรือเปล่า ตรงนี้เป็นจุดที่เราระมัดระวังที่สุดแล้ว แต่ว่าในแง่ความถูกต้องเราต้องคงไว้เป็นอันดับแรก

ซึ่งจากสิ่งที่เราเรียนรู้ในการทำงาน ก็เรียนรู้ว่าเมื่อก่อนเราเป็นคนที่รีบมาก ว่าจะต้องรีบลงให้เร็ว ทำให้ Korseries จะต้องเป็นที่แรก พอเราโตขึ้นมาเรื่อย ๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นที่แรกที่ลงก็ได้ แต่เป็นที่ที่คนนึกถึงที่แรกดีกว่า คนอื่นจะลงเมื่อไรก็แล้วแต่ แต่เราลงแล้วคุณภาพของเราดี ตรงนี้เราว่าเป็นจุดที่สำคัญมากกว่า

รู้สึกเติบโตอะไรจากการเปิดและก็ทำมาร่วม 7 ปีบ้างไหม

แรงบันดาลใจแรกที่เราเจอจากการทำ Korseries คือความรักความชอบด้วยการดูซีรีส์เกาหลี แต่พอเริ่มทำแล้ว เราก็ชอบกับการที่ได้รับความไว้วางใจจากคนอื่น ได้นำเสนอเรื่องเกาหลีและทำให้คนมีความสนใจหรือไปพูดต่อ อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เราชอบและค้นเจอ อีกอย่างหนึ่งก็คงเป็นการได้โอกาสที่ไม่เคยได้มาก่อน ถ้าทุกวันนี้เราไม่ได้มาทำ Korseries สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นกับเราแน่ ๆ เช่น การได้เป็นตัวแทนสื่อมวลชนประเทศไทยไปสัมภาษณ์นักแสดงที่เกาหลีซึ่งมันเป็นสิ่งทีไกลตัวมาก เราต้องขอบคุณตัวเองที่พาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ แต่ถ้าเราเลิกทำไปสิ่งนี้มันก็คงไม่ได้เกิดขึ้น

ได้เอาวิชาในคณะนิเทศศาสตร์มาปรับใช้ในการทำงานด้วยไหม

พอเราเข้ามาอยู่ในนิเทศศาสตร์ มันมีความเป็นนักเรียนสื่อว่าฉันจะต้องนึกถึงจรรยาบรรณให้มากกว่านี้ เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้จริงจังเท่า แต่พอมาเรียนนิเทศแล้วเราได้ชื่อว่าเป็นเด็กนิเทศ เราจะทำอะไรที่ไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณไม่ได้ เช่น ที่เกาหลีใต้มีข่าวออกมาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เราก็พยายามที่จะรอให้หลายสื่อมีการพูดถึง รอให้รับการยืนยันอย่างชัดเจนก่อน จะไม่ได้แบบตีหัวเข้าบ้านว่าเขาบอกแบบนี้โดยที่ไม่ได้รับการยืนยันก่อน คนอื่นจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราพยายามที่จะคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลักเลย ซึ่งการเรียนนิเทศศาสตร์สอนให้เราใจเย็นและละเอียดกับข่าวมากขึ้นด้วย แต่ในแง่ของเชิงเทคนิคสื่อใหม่เอง เราก็พยายามทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ให้คนอื่นได้ความรู้ต่าง ๆ ด้วย

พอกลายมาเป็นธุรกิจหลัก รู้สึกอย่างไรบ้าง

เราก็คิดเยอะเหมือนกันว่าจะต้องวางตัวยังไง เพราะตอนนี้ทุกคนสามารถที่จะตั้งเพจขึ้นมาได้ มีเพจใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เพจซีรีส์ตอนนี้เต็มเลย แม้กระทั่งสื่อใหญ่ ๆ เองที่เป็นสื่อหัวหลักเขาก็ลงมาทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเยอะขึ้น เราเองก็อยู่มาประมาณหนึ่งแล้ว ทุกคนก็พอจะรู้จักชื่อ Korseries แล้ว แต่ถามว่าทิศทางที่เราทำมาเป็นธุรกิจแบบนี้ ก็คิดว่าจะทำยังไงให้คนยังจดจำเราได้ ให้เรายังมีที่ยืน ก็เลยสร้างแนวทางที่จะแตกต่าง การลงคอนเทนต์อะไรต่างๆ ก็ต้องลงโดยคำนึงถึงความถูกต้อง ไม่ได้ลงโดยที่แบบเรียกยอด เรารู้สึกว่าเรียกยอดมันก็ได้แค่ช่วงหนึ่ง แต่เรามองในเชิงระยะยาวมากกว่า

รวมไปถึงตอนนี้เราพยายามสร้างความแตกต่างในแง่ที่เรารู้สึกว่าซีรีส์เกาหลีมีนัยยะที่แอบแฝง พวกเกร็ดความรู้ต่างๆ เราสามารถนำตรงนั้นมาถ่ายทอดให้คนได้คิดมากขึ้น บางคนอาจจะดูจบแล้วผ่านไป แต่เราอยากหยิบสิ่งที่น่าสนใจในนั้นออกมาให้คนได้นึกขึ้นได้ว่ามันมีแบบนี้ด้วยนะ เราพยายามทำให้ Korseries เป็นในเชิง Edutainment คือได้ความรู้คู่ความบันเทิงด้วย ฉะนั้นในสิ่งที่เราพยายามเน้นในช่วงหลัง ในคอลัมน์ FOCUS เองเราจะหยิบยกซีรีส์ที่น่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับในซีรีส์หยิบยกขึ้นมา เพื่อให้สิ่งที่ทุกคนได้มันดีกว่าแค่สิ่งที่อยู่ในตัวเรื่อง


3
Soft Power ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ลมปาก
แต่ต้องช่วยกันผลักดัน


อุตสาหกรรมเกาหลีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเติบโตมากแค่ไหน

ถ้าพูดถึงซีรีส์เกาหลีทุกวันนี้ใครก็รู้จัก เพราะว่ามันโด่งดังและกลายเป็นระดับโลกไปแล้ว เรารู้สึกว่าวงการบันเทิงเกาหลีเขาให้การสนับสนุนตั้งแต่รากฐาน คือถ้าคุณไปเกาหลีใต้คุณจะเห็นเลยว่าเขาให้ความสำคัญเรื่องศิลปะมาก ซึ่งคนเกาหลีเหมือนได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าการชื่นชมศิลปะมันเป็นสิ่งที่ดี พอเขาให้การสนับสนุนเรื่องศิลปะ คนก็จะชอบศิลปะ รักงานศิลปะ เพราะเขามีพื้นที่ให้คนแสดงออกทั้งในแง่ของศิลปะการละคร และงานศิลป์เองด้วย เขาให้คุณค่ากับงานศิลป์ ทำให้มีโรงเรียนศิลปะเกิดขึ้นเยอะมาก และทำให้บุคลากรเขาได้รับการบ่มเพาะความสามารถ ประกอบกับรัฐบาลเขาเองก็ให้การสนับสนุนตั้งแต่รากฐานของอุตสาหกรรมซีรีส์ จนกระทั่งคนรู้สึกว่าพอได้รับการสนับสนุนมากพอ งานต่าง ๆ มันเลยออกดอกออกผล

รู้สึกว่าการที่ซีรีส์เกาหลีเติบโตเหมือนทุกวันนี้ มันไม่ใช่ใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน มันเป็นการสั่งสมมาเป็นระยะเวลานานหลายปี และในแง่ของตัวคอนเทนต์มันก็เติบโตขึ้นมากๆ เพราะว่า วงการเขามีบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งในแง่ของการเขียนบท ในแง่ของนักแสดง ซึ่งแต่ละบทบาทหรืองานแสดงมันมีคุณภาพมาก นักแสดงเขาผ่านการฝึกฝนกันมาอย่างดี ไม่ใช่แบบหน้าตาดีแล้วมาแสดงเฉยๆ หรือว่างานเขียนบทก็ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลกันมาอย่างโชกโชนกว่าจะออกมาเป็นผลงานเขาใช้เวลากันเป็นปีๆ เอาคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นๆ มาเป็นที่ปรึกษา คือเขาใส่ใจในขั้นตอนการทำงาน

แล้วเรื่องราวของเกาหลีมันมีความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนศิลปะ คนก็มีความกว้างไกล เราคิดว่าตรงนี้มันก็มีส่วนนะ พอมันสร้างสรรค์มันก็เลยมีซีรีส์ที่หลากหลายแนวเกิดขึ้นมาก ตอนนี้ซีรีส์เกาหลีมันถูกโยงเข้ากันกับสังคมด้วย หลายเรื่องที่มันดังๆ มันเป็นเรื่องที่แบบเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราจริงๆ เมื่อก่อนซีรีส์เกาหลีจะเป็นแบบพระเอกรวย นางเอกจน อันนั้นคือเป็นภาพจำเก่าที่คนมองซีรีส์เกาหลีเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เขาทำซีรีส์ให้เข้ามาสู่ชีวิตของคนจริงๆ ซึ่งหลายประเด็นมันเป็นอะไรที่สื่อสารแก่นเรื่องในประเด็นสากลมากๆ แล้วมันก็เลยกลายเป็นว่าต่อให้เขานำเสนอเป็นภาษาเกาหลี แต่ทั่วโลกสามารถเข้าถึงประเด็นที่จะสื่อได้ เราว่าตรงนี้มันเป็นจุดชูโรงของซีรีส์เกาหลีทุกวันนี้เลย หลายๆ เรื่องทำให้คนเกิดการตั้งคำถาม เกิดการถกกัน ทำให้กลายเป็นสิ่งที่คนพูดถึงกันเยอะ ส่วนนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์เกาหลีมันไปไกลมากๆ ก็เป็นอะไรที่น่าจับตามองในอนาคต

คิดว่าเมืองไทยจะไปไกลเท่าเกาหลีใต้ไหม

จริงๆ เป็นคำถามที่หลายคนถามตลอด มันไปไกลได้อยู่แล้ว เรามีบุคลากรไทยดีๆ ตั้งมากมาย เขาสามารถไปได้ แต่ไปได้ด้วยตัวเอง อันนี้มันก็เป็นเรื่องน่าเศร้าเหมือนกันที่ทำไมเขาจะต้องสู้สุดๆ คือมันไปได้แต่แค่ไม่กี่คน มันเป็นสิ่งที่ต้องกลับมาตั้งคำถามแล้วว่ามันเป็นที่อะไร เพราะใคร คนไทยก็มีฝีมือดีมากๆ เราเองก็เรียนนิเทศศาสตร์ เราก็เห็นว่าเด็กสาขาภาพยนตร์เก่งๆ ทั้งนั้นเลย แต่ละคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาไม่ได้รับการสนับสนุน เหมือนไม่ได้ถูกมองว่าควรให้การสนับสนุนเลย ก็คงต้องให้ใครที่เป็นคนดูแลตรงนี้ เขาจะต้องคิดได้แล้วว่าเกาหลีใต้เขาก็สามารถที่ก้าวมาจากประเทศที่คนไม่รู้จัก แต่เขาสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมของเขาแฝงผ่าน Soft Power ได้ เราว่าไทยก็ทำได้ แต่แค่ไม่ได้รับการสนับสนุน

ถ้าไทยผลักดัน Soft Power เป็นนโยบายพรรคการเมือง คิดว่ายังไง

ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ จริงๆ แล้วก็รู้สึกดีที่มีนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ หยิบยกขึ้นมาพูดถึง จริงๆ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ควรหยิบยกมาพูดถึงตั้งนานแล้ว พูดตอนนี้กว่าจะลงมือทำอย่างจริงจัง และกว่าจะออกดอกออกผลมันก็คงใช้เวลาอีกหลายปี มาพูดตอนนี้มันไม่ได้สายเกินไปหรอก แต่คือมีคนที่เห็นความสำคัญของ Creative Economy ว่ามันไปได้นะ อย่างซีรีส์วายของไทย หรือภาพยนตร์เรื่องร่างทรง หรืออย่าง LISA Blackpink ที่เขาไปได้ไกล เขาก็ไปด้วยตัวเอง แต่จะดีกว่านี้ถ้าเกิดได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง อย่างคนที่เขาไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้มันยังมีอีกเยอะ เพชรที่ยังไม่ถูกเจียรนัยยังมีอีกเยอะ เราคิดว่ามันควรที่จะให้พื้นที่คนเหล่านั้นได้เฉิดฉายบ้าง

Soft Power จริงๆ แล้วควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ฉาบฉวยใช่ไหม

ใช่ มันไม่ใช่แค่ข้ามวันข้ามคืน และเราคิดว่าถ้ามันมีหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนก็คงดี เพราะว่า Soft Power มันไปได้ครอบคลุมมากๆ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ถ้ามีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาสนับสนุน หรือเรื่องอาหาร เรื่องวัฒนธรรม เราคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาดคือการออกจากกรอบทางความคิด คืออย่างเกาหลีใต้เอง เขาสามารถนำเสนอเรื่องราวที่เสียดสีอาชีพใดก็ได้ แต่ว่าพอไทยแตะอะไรก็ดูเปราะบางไปหมด มันก็เลยทำให้ความคิดของคนทำมันตันตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่กรอบความคิดที่มันโดนปิดกั้นมากๆ มันควรที่จะมีการจัดการที่ถูกต้อง อย่างน้อยคนละครึ่งทางไหม มันจะทำให้คนที่เป็นนักสร้างสรรค์ที่สร้างซีรีส์เขาได้ทลายกรอบตรงนี้ เราว่าการทลายกรอบตรงนี้น่าจะเป็นจุดแรกด้วยซ้ำที่จะทำให้อุตสาหกรรมเราไปต่อได้มากขึ้น เพราะไม่งั้นเราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย

ซีรีส์เกาหลีถูกโยงกับชีวิตคนยังไงบ้าง?

มันถูกโยงกระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เวลาเราดูซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งไม่ใช่ว่าเราเห็นแค่เรื่องราวในนั้น แต่เราเห็นรายละเอียดหลายอย่าง ตัวนักแสดงนำไม่ใช่แค่พระเอก-นางเอก แต่ทุกคนสามารถที่จะเป็นตัวเอกในบริบทนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ตระกูล Reply ตัวซีรีส์ตระกูลนี้ไม่ได้เป็นซีรีส์ที่ทุนสร้างเยอะขนาดนั้น แต่ว่าเขาเอาตัวเรื่องราวเป็นตัวชูโรง ไม่ได้ใช้นักแสดงนำชื่อดังเลย แต่เขาเอาตัวเรื่องที่ทำให้เรื่องราวธรรมดากลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาได้ แค่เรื่องราวมิตรภาพระหว่างกัน แต่เขานำเสนอออกมาอย่างสวยงาม ถ้าดูซีรีส์ Reply 1988 แค่ต้นเรื่องเราก็ประทับใจแล้วว่าแต่ละครอบครัวก็เอาข้าวไปแบ่งปันกัน

คือจริงๆ เราอยากให้กำลังใจแล้วกันว่าเราเรียนรู้จากเกาหลีใต้มาแล้ว ขนาดเรื่องราวธรรมดาของเกาหลีเขาก็ทำให้มันไม่ธรรมดาได้ ทุนสร้างไม่ต้องเยอะก็ได้ แต่เรื่องราวมันต้องดี มันก็จะสร้างกระแสตอบรับที่ดีได้ อันนี้ก็อยากจะให้กำลังใจคนที่เป็นนักสร้างสรรค์ว่าในช่วงเวลาตอนนี้ให้คุณก็โฟกัสที่ตัวเรื่องให้ดี เพราะตัวเรื่องดีเราว่าคนดูก็ให้การสนับสนุน


4
อนาคตบนเส้นทางการทำคอนเทนต์
และการเรียนจบในวัย 26 ปี


เห็นผลงานของตัวเองที่ปล่อยออกมาแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

ก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองนะ เพราะว่าเราก็แลกโอกาสหลายอย่างในชีวิตมาเหมือนกัน เราก็ตัดสินใจแลกสิ่งต่างๆ มาก็เพื่อให้ Korseries ได้ไปต่อ ฉะนั้นก็ขอบคุณตัวเองที่ทำได้ และขอบคุณคนอื่นๆ ที่เข้ามา เพราะว่าพอเราทำ Korseries เราก็ได้เจอคนที่มีความรัก ความชอบในซีรีส์เกาหลีเหมือนกัน และมันก็เป็นแหล่งรวมตัวของคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน มีนักเขียนหลายคนก็มาช่วยทำให้เราได้ไปต่อ เราก็เลยไม่ได้มองว่าสิ่งนี้มันเป็นธุรกิจเพียงอย่างเดียว ในแง่ของสื่อเราก็ต้องเติบโตและต้องทำเงินจากมันได้ ไม่อย่างงั้นเราจะเอาทุนที่ไหนมาพัฒนา ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งได้ การทำสื่อมันเปลี่ยนไปตลอด เราเองก็ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเหมือนกัน

รู้สึกอย่างไรกับการเรียนจบในวัย 26 ปี

ในแง่ของเราถ้าพูดว่าการเรียนจบในวัย 26 ปี เรารู้สึกว่าเราทำงานควบคู่กับการเรียนมาโดยตลอด คิดว่าชีวิตคนเรามันไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนเสมอไป แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เช่น ดอกไม้มีหลากหลายสายพันธุ์ เติบโตไม่เท่ากัน บานกันคนละช่วงเวลา ทำไมเราจะต้องบานเหมือนคนอื่น เรามีช่วงเวลาของเราเอง เราก็พยายามจะให้กำลังใจตัวเองแบบนั้น แล้วเราก็อยากจะให้เรื่องราวของเราเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคนเหมือนกัน เพราะเราคิดว่ามันก็มีคนที่รู้สึกท้อกับการที่ตัวเองเรียนจบช้า แต่เราก็พยายามเหมือนกันว่าการที่เราเรียนจบช้ามันเป็นเพราะว่าเงื่อนไขงานของเรามันไม่เอื้อ สำคัญกว่าคือเราไม่เคยหยุดที่จะทำงาน เราไม่ใช่แบบเราเรียนจบมาตอนอายุ 26 ปีแล้วเรายังไม่มีอะไรเลย เรามาพร้อมกับการที่มีสื่ออย่าง Korseries ที่แข็งแกร่งและเติบโตต่อไปได้ เราก็คุ้มแล้ว มันไม่ใช่ว่าเรียนจบตอนอายุเท่าไหร่ เราว่าเรียนจบตอนอายุ 30 ปีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร มันอยู่ที่อคติของสังคมมากกว่าที่จะกำหนดว่าคุณต้องเรียนจบตอนอายุเท่าไร เราว่าเรื่องอายุมันควรเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องก้าวข้ามไปได้แล้ว

อีก 5 ปีมองอนาคตตัวเองว่าอย่างไร

ก็มองว่าจะยังมีชื่อ Korseries อยู่ แต่เราก็ไม่ได้โฟกัสกับการจะต้องเติบโตขนาดนั้น แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคตหรอกว่ามันจะเป็นยังไง แต่ ณ ตอนนี้ก็ยังคงมีความรัก ความชอบในซีรีส์เกาหลีอยู่ และเราก็ยังอยากที่จะถ่ายทอดความชอบของเราให้ไปถึงผู้ที่ติดตามเราอยู่เหมือนกัน อีก 5 ปีข้างหน้าต่อให้ Korseries มันจะเป็นในรูปแบบไหน อาจจะเท่าเดิมหรืออาจจะไม่ได้มีคนช่วยทำต่อแล้ว แต่เราก็ไม่ได้เสียใจ จริงๆ เราแค่ยังอยากจะคงความชอบของเราอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ มากกว่า

ซีรีส์เกาหลีมีอิทธิพลต่อตัวเราอย่างไรบ้าง

เราก็ได้แง่คิดหลาย ๆ อย่างจากการดูซีรีส์เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าในเรื่องของทำลิสต์สิ่งที่อยากทำ 20 ข้อก่อนตายเป็นเรื่องที่ติดใจเรามาก ๆ เพราะว่าเราไม่เคยมีเป้าหมายในชีวิตมาก่อน เราก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ของเราจนกระทั่งเราดูซีรีส์เกาหลี ตัวละครทำบางสิ่งบางอย่างและเราก็รู้สึกอยากจะทำตาม มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เป้าหมายบางอย่างการทำลิสต์ 20 ข้อที่อยากทำก่อนตาย เราก็ทำตามนางเอก เราก็รู้สึกว่าตัวเองมีสิ่งที่อยากจะทำหลาย ๆ ข้อ เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น มันก็ทำให้รู้สึกว่ามีความหวังมากขึ้น คือหลาย ๆ เรื่องที่เราดูมันก็มีหลายแนว เราก็รู้สึกชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ของเขา แต่ในแง่ของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ในหลาย ๆ เรื่องเราก็รู้สึกว่าซีรีส์มันเยียวยาจิตใจเราได้ เราดูแล้วเรารู้สึกว่าในวันที่แย่ขอแค่มีซีรีส์ที่เราดู แล้วเราก็รู้สึกแบบอยากก้าวเดินต่อไป บางคนต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจริง ๆ เราคิดว่าซีรีส์เกาหลีสามารถเป็นจุดที่ยึดเหนี่ยวชีวิตของหลาย ๆ คนได้ น่าจะเป็นจุดที่มีอิทธิพลกับชีวิตเรามากกว่า

คิดไหมว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อง่ายมากๆ

เรามองว่ายากมาก มันอาจจะเป็นความคิดของเราคนเดียวก็ได้ แต่ที่เรามองว่ายาก เพราะมันเยอะ มันมีอยู่ทั่วไป เราอาจจะทำแบบขำขำรีวิวก็ได้ แต่นอกเหนือจากการทำแล้ว สิ่งที่ยากคือเราจะแตกต่างกับคนอื่นอย่างไร เราจะทำให้เราเป็นที่สนใจจากเพจที่มันมีอยู่มากมายได้ยังไง ซึ่งการที่ตั้งคำถามตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ตลอดว่าเราจะพัฒนาตัวเองในรูปแบบไหนบ้าง ก็คงให้รอติดตามว่าจะมีอะไรหลังจากนี้ ที่แน่ ๆ คือเราไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง

การทำคอนเทนต์มีราคาที่ต้องจ่ายไหม

มี คือหลายคนอาจจะมองว่าทำคอนเทนต์มันง่ายมากเลย แต่บางคนไม่รู้ว่ามันผ่านการคิดมาเยอะมาก ประเด็นต่างๆ ที่เราจะหยิบยกมานำเสนอ เราก็คิดมาเป็นวันๆ เขียนก็ใช้เวลาเขียนเป็นวันๆ เป็นชั่วโมง ไม่นับการตรวจคอนเทนต์อีก มันมีกระบวนการเยอะมาก มันไม่ใช่แค่ว่าฉันอยากจะเขียนเรื่องนี้ก็เขียนขึ้นมา มันต้องมีการคิดทบทวนตั้งแต่ก่อนเขียน และพอเขียนไปแล้วก็ต้องมาตรวจตราให้รอบคอบอีกว่าจะมีอะไรที่มันล่อแหลมไหม มีอะไรที่ละเอียดอ่อนไหม มันคิดทุกกระบวนการ แต่ว่าหลายคนก็อาจจะไม่รู้ตรงนี้ว่าเราก็หนักมากเหมือนกันกว่าที่คอนเทนต์จะออกมา เราเคยเจอบางเจ้าที่ร่วมงานบางคนมองว่า Korseries นำเสนอข่าวสารเฉยๆ ไม่ได้สร้างสรรค์คอนเทนต์อะไรเลย นี่คือสิ่งที่เราก็รู้สึกแย่ที่คนมองอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็แล้วแต่คนที่จะมองยังไง แต่สิ่งที่ตั้งใจจะบอกคือทุกๆ คอนเทนต์มันผ่านการคิดมาเยอะมาก เบื้องหน้าที่เห็นมันไม่ได้เป็นแบบที่ทุกคนเห็น เราว่าหลายๆ เพจก็คงเป็นแบบนั้นเหมือนกัน มันเหนื่อยมาก เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าผลตอบรับมันจะออกมาดี แต่เราก็ยังคาดหวังกับตัวเองว่าเราจะคงคุณภาพอย่างนี้ต่อไป วันหนึ่งมันอาจจะมีคนเห็นคุณค่าของมันก็ได้

ระหว่างความฉาบฉวยกับความยั่งยืนจะเลือกอะไร

เราเลือกความยั่งยืน เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่เคยต้องการกระแสที่เกิดขึ้นมาและดับไป มันเป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ทุกคนก็ต้องการอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้สนใจจุดนั้นจนเกินไป บางสื่ออาจจะท้อแท้กับการที่ยอด Engagement ตัวเองไม่ได้ไปถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่อยากให้คนที่ทำคอนเทนต์น้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมฉันไม่ปังบ้างเลย เราคิดว่าถ้าคงความมีคุณภาพและความเป็นตัวเอง แล้ววันหนึ่งมันจะมีคนที่เห็นเอง แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือเราจะแตกต่างอย่างไรให้ออกมาในทางที่ดี

มาถึงตรงนี้ซอฟก็ขอฝาก Korseries เราพยายามอยู่เสมอให้ทุกคนได้ทั้งติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกาหลีให้ทัน รวมถึงมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกาหลี แล้วก็พยายามจะนำเสนอมุมมองใหม่ให้ทุกคนได้อะไรกลับไปอยู่เสมอ ก็ฝากติดตามให้กำลังใจกันต่อไปนะคะ ซอฟแวร์กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เราจะร่ำลากันไป

แน่นอนว่าบทสนทนานี้เป็นการสนทนาที่ผมคิดว่าเต็มอิ่มมาก และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับทุกคนที่อยากทำคอนเทนต์ หรือรู้สึกท้อแท้กับการเรียนให้สามารถลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง ยังไงก็เป็นกำลังใจให้เสมอครับ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า