ในโลกของงานสร้างสรรค์ การทำอาร์ตทอย หรือตุ๊กตาคาแรกเตอร์สักชิ้นไม่ได้มีปัจจัยของวัฒนธรรม หรือความร่วมสมัยเพียงอย่างเดียว
ความรักเป็นเชื้อเพลิงสำคัญอีกอย่างที่ทำให้สรรค์สร้างงานได้อย่างต่อเนื่อง
หากรู้จักวงการงานอาร์ต ชื่อของ Pop Mart คงเป็นชื่อหนึ่งที่ต้องผ่านหูผ่านตามาบ้าง เนื่องจากเป็นตัวแทนจำหน่ายอาร์ตทอยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยรวบรวมผลงานของศิลปินที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลกไว้ และน่าสนใจว่ามีศิลปินไทยหลายคนได้ก้าวเข้าไปในตลาดแห่งนี้ด้วย และเรื่องที่เซอร์ไพรส์เราสุด ๆ คือ Pop Mart กำลังจะมาเปิดสาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่เท่านั้นยังไม่พอ อีเวนต์ทางศิลปะมากมายที่เกี่ยวกับอาร์ตทอยก็ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นทำให้เราพอจะเห็นแล้วว่าวงการนี้เข้าสู่ยุคแบ่งบานอย่างงดงาม
และในหลายครั้ง เราอาจเห็นตุ๊กตาหน้าตาวินเทจโทนสีสดปรากฏตามงานต่าง ๆ ที่พร้อมสวมเสื้อตามความทรงจำและความต้องการของลูกค้าเป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรักในการบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำของ “หนอ-กรณ์ นียะพันธ์” ผู้ผลิต Korn Doll ที่มีอาชีพหลักเป็นนักออกแบบเพนต์กำแพงฝีมือเยี่ยม ซึ่งอีกบทบาทหนึ่ง เขาได้เปลี่ยนพื้นที่ระบายความทรงจำจากแคนวาสเป็นตัวตุ๊กตาตั้งแต่เมื่อปี 2009
แต่เหนือสิ่งอื่นใด มีสิ่งที่เขาอยากจะบอกอยู่สองอย่าง
หนึ่ง – เขาบอกตัวเองเสมอว่าเขาเป็นผู้ออกแบบคาแรกเตอร์ ไม่ใช่ผู้ผลิตอาร์ตทอย
และ สอง – เขาไม่เคยตั้งชื่อตุ๊กตาตัวเองว่า Korn Doll
“ด้วยความที่เราชอบวินเทจใช่มั้ย กล่องแพคเกจจิ้งเราก็อยากให้ล้อเลียนของวินเทจ ก็เลยทำให้กล่องมีสติกเกอร์แปะแบบนี้ เหมือนกับพัสดุ เพราะผมรู้สึกว่ากล่องพัสดุมันสวย แล้วพอเราลอกเลียนมาจากความวินเทจเนี่ย โลโก้ที่เราแปะจะมีรูปตรงกลางแบบโลโก้ห้างขายยาอย่างงี้ ที่จะมีรูปอยู่ตรงกลาง แล้วมีชื่ออยู่ข้างบน ก็เป็นรูปตุ๊กตานี้อยู่ตรงกลาง ข้างบนก็เขียน Korn ข้างล่างเขียนว่า hand-made resin doll made in Thailand”
“จนปี 2017 ทำไวนิล ที่บอกว่าสั่งที่จีนทำ เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่บอกว่าเป็น hand-made resin doll ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันทำจากโรงงาน มันไม่ hand-made แล้วมันเป็นไวนิล ก็เลยตัดสินใจตัด hand-made กับ resin ออกไปจากฉลาก พอเหลือ Korn Doll ทุกคนก็เรียก Korn Doll มาตลอด มันก็คือการตัดคำอีกสองคำออกไป ซึ่งทุกครั้งที่เรียกก็ยังเขินอยู่เลย แต่ถ้าจะตั้งชื่ออื่นที่ไม่ใช่ชื่อนี้ก็ (นิ่งคิด) นึกยากมาก นึกไม่ออกเลย Korn Doll นั่นแหละ ดีแล้วล่ะ ทำให้เรายอมรับชื่อนี้โดยดุษณี แล้วไอ้เราก็ชื่อกรณ์ด้วย แล้วก็ทำตุ๊กตาด้วย”


ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปสำรวจความชอบของกรณ์ไปด้วยกัน
ไม่แน่ว่าจะทำให้คุณคิดถึงวัยเยาว์ของคุณก็ได้
“เก็บ” จนทำ “กิน”
ก่อนที่เขาจะลงมือสร้างตุ๊กตาด้วยตัวเอง เขานิยามตัวว่าเป็นคน “ช่างเก็บ” สิ่งของต่าง ๆ ในวัยเยาว์จนกลายเป็น “สะสม” ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาสังกะสี เซลลูลอยด์ หรือซอฟต์ด๊องหัวโต ซึ่งความผิดสัดส่วนกลายเป็น “เสน่ห์” จากยุคสมัย คงเหมือนเวลาที่เรามีตุ๊กตาหรือของเล่นบางชิ้นที่เป็นที่รักของเรามาตลอด
“มันเกิดจากว่า ในความที่ตัวเองสะสมตุ๊กตา สะสมของเล่นสังกะสี ตุ๊กตาเซลลูลอยด์ สมัยเด็ก ๆ ก็ไม่ได้มีเงินเยอะที่จะซื้อของคุณภาพ เลยต้องซื้อของตามกำลังที่เรามี ถ้าเป็นตุ๊กตาเซลลูลอยด์เราก็ไม่สามารถซื้อของที่เป็นเกรดงานแพง ๆ ผมก็ซื้อพวกตุ๊กตาเซลลูลอยด์ไทย”
“ต้องบอกก่อนว่าตุ๊กตาเซลลูลอยด์ วัสดุที่ทำเป็นแบบเดียวกับลูกปิงปองหรือแผ่นใส มีอยู่วันหนึ่ง เก็บตุ๊กตาไว้ในตู้ทิ้งไว้หลายปี พอหยิบออกมาปุ๊บแล้วมันก็แหลกคามือเลย คือมันกรอบ ก็เลยคิดว่า ถ้าเราทำเองได้ก็ดีนะ”
จากการเห็นตุ๊กตาในวัยเยาว์สลายเป็นผง กรณ์ก็เริ่มค้นหาวิธีทำตุ๊กตาแบบต่าง ๆ ด้วยสารพัดวิธี จนกระทั่งได้รู้จักกับการทำตุ๊กตาด้วยเรซิ่น ซึ่งคุณสมบัติพิเศษคือสามารถขึ้นรูปได้ดี สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และประหยัดต้นทุน ประกอบกับ pain point ของตุ๊กตาวินเทจที่ตัวเล็ก ตั้งโชว์แล้วอาจไม่สะดุดตา รวมถึงหน้าตาที่เหมือนจริงจนน่ากลัว ผลลัพธ์ที่ได้คือตุ๊กตาหัวโต ตาโต สีสดใสสไตล์วินเทจ
“ตุ๊กตาตัวแรกที่ทำเมื่อปี 2009 มันจะหน้าตาไม่เหมือนตัวปัจจุบัน จะรู้สึกว่าเหมือนตุ๊กตาไม้มากกว่า เหมือนตอนแรกเรายังไม่มีประสบการณ์ ก็ทดลองทำออกมา แล้วค่อยพัฒนารูปลักษณ์ของมันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งตุ๊กตาของผมมีคอนเซ็ปต์ร่วมกันคือ “ไดอะรี่” เวลาผมไปเจออะไรมา เจอช่วงไหนของชีวิตมา แทนที่ผมจะมานั่งจด ผมเป็นคนวาดรูปเราก็เอามาเพนต์ แต่แทนที่จะเพนต์ลงบนผืนผ้าใบ ก็มาเพนต์ลงบนตุ๊กตาว่าช่วงไหนเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วเราเป็นคนเพนต์ผนัง เวลาเราทำตุ๊กตาเราจะทำให้เพนต์ง่าย ตัวตุ๊กตาของเราจะเนียนทั้งตัวเพื่อที่ว่าจะเพนต์อะไรก็ได้ เหมือนกับว่าเราใช้ตุ๊กตาแทนผืนผ้าใบ ก็เหมือนกับว่า ยังแทนไดอะรี่ได้ด้วย
อย่างตอนนั้นน่าจะเป็นปี 1992 ผมได้ดูหนังอยู่เรื่องนึง Wayne’s World ก็เช่าวิดีโอมาดู ในหนังจะมีเพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen ซึ่งผมไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อน เฮ้ย เพลงมันสนุกจังเลย ซึ่งถ้าอยากจะรู้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงของใครก็ต้องมาดูเครดิตท้ายเรื่อง ก็เลยไปเดินหาเทปวง Queen พอไปเดินดูก็เลยได้รู้ว่า Freddie Mercury นักร้องนำเขาตายไปเมื่อปีที่แล้วนี่นา แล้วเพลงที่ฟังก็ไม่ใช่เพลงยุค 90 ด้วย เป็นยุค 70-80 ก็เป็นความทรงจำที่มีเรื่องราว เราจะเก็บมันไว้ในใจแบบเป็นคนไม่ค่อยทิ้งอะไร มันก็ต้องหาที่เอาออกมา เราก็เลยทำตุ๊กตา Freddie Mercury พอเราทำปุ๊บเราก็เอาออกจากสมอง แล้วมาเก็บเป็นตุ๊กตา หรือเพลงที่ชอบ พี่บุ-บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ ก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งของผมเหมือนกัน เราเป็นแฟนคลับ พอเขาออกซิงเกิลใหม่ เราก็ทำตุ๊กตาชุดซิงเกิลเขา ซึ่งเราขออนุญาตพี่บุทำเก็บไว้เองตัวหนึ่ง แล้วก็เอาไปให้พี่เขาตัวหนึ่ง เขาเซ็นให้ด้วย”
หรืออย่างตุ๊กตาเล็ก ๆ ที่สะสมมา หาที่เก็บไม่ได้ กรณ์จึงใช้วิธีนำตุ๊กตาเหล่านั้นใส่โหลแล้วทำตุ๊กตาที่ใช้โหลดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ
จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม จำนวนตุ๊กตาที่กรณ์ผลิตค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ แต่ความเงียบนั้นก็ส่งเสียงเรียกหาคนที่รักมันจริง ๆ จนกระทั่งได้รู้จักวัสดุอื่น ๆ เช่น ไวนิล ซึ่งต้องสั่งโรงงานผลิตจากต่างประเทศ แข็งแรงทนทาน แต่ต้นทุนสูง จำเป็นต้องผลิตจำนวนมาก รวมถึงวัสดุทดลองอื่น ๆ เช่น การปรินต์ 3D หรือการหล่อด้วยโลหะบรอนซ์ เป็นต้น รวมถึงทดลองรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย
แต่กว่าจะทดลองสารพัดรูปแบบได้ ก้าวแรกสู่การขายก็เป็นก้าวที่ลำบาก
“พอเราทำแล้วก็ลองให้เพื่อนตีราคา ผลที่ได้คือไม่คุ้มทุนด้วยซ้ำ เราก็ทำเก็บเอง จนเริ่มมีคนมาเห็น และด้วยสายงานของเราเป็นสายงานอาร์ตด้วย ก็มีการแนะนำต่อ ๆ กันมา อย่างสมมติเพื่อนต้องการพร็อบ ก็เริ่มได้รายได้จากการเช่าพร็อบ พอเช่า ๆ ไปผู้เช่าก็เริ่มขอให้ทำให้หน่อย ก็ขายได้ มันเริ่มจากเพื่อนใกล้ ๆ ตัวก่อน ก็มีพี่ชายคนหนึ่ง เขาทำร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อร้าน Hawaii Five-O เขาก็เป็นคนชอบของวินเทจ คุย ๆ กันก็เลยทำตุ๊กตาให้เขา ใส่ชุดที่มีโลโก้ของร้าน เขาเลยติดต่อว่าให้มาทำขายร้านผมสิ ก็ลองทำไป 7-8 ตัวไปฝากขายที่ร้าน ตั้งไว้สักพักพี่เขาก็บอกว่า เอามาเพิ่มหน่อย ขายหมดแล้ว คือลูกค้าจากฮ่องกงมาเหมาไปเลย ก็เลยได้ไปตั้งที่ร้านเขา แล้วก็มีแบรนด์อื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนกันกับแบรนด์นี้ติดต่อมา อย่างร้าน Season ที่เอกมัย ซึ่งร้านนี้จะลงคอลเลกชันใหม่ทางนิตยสาร ก็พลอยได้ลงกับเขาไปด้วย”


Doll Makers, Do favors
จากจุดนี้เอง ทำให้ Korn Doll เป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น พร้อม ๆ กับยังคงเป็นสิ่งของแทนมิตรภาพด้วยการทำตุ๊กตาส่งไปให้เพื่อนร่วมวงการไปเรื่อย ๆ มาจนถึงยุคแรกของการรวมพลคนสร้างตุ๊กตาคาแรกเตอร์
“จนประมาณปี 2015 มีงานตุ๊กตาใต้ดินที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ทางผู้จัดงานเขาก็ชวนว่าไปออกงานนี้ด้วย เราก็ดีใจมาก ก็เปิดโลกเราว่ามีคนทำตุ๊กตาแบบอื่น ๆ ด้วย คนมาเห็นตุ๊กตาเราเขาก็ถามว่า พี่ทำตุ๊กตาไวนิลด้วยเหรอ ไม่ใช่ ผมทำตุ๊กตาเรซิน แล้วทำไมแขนขาขยับได้ ข้างในผมเป็น elastic ขาร้อยถึงขา แขนร้อยถึงแขน อันนี้คือกลไกของตุ๊กตาเซลลูลอยด์ ซึ่งคนที่ไม่ได้เก็บตุ๊กตาเซลลูลอยด์ก็จะไม่รู้”
“มันได้เห็นคนทำงานศาสตร์อื่น ๆ แบบตุ๊กตากันพลา ตุ๊กตาเรซินแบบวินเทจ ตุ๊กตาสายน่ารัก หรือตุ๊กตุ่น วันนั้นเราได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ แล้วเราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถ้าถามผมว่าอาร์ตทอยเริ่มมาจากไหน ผมว่ามันเริ่มจากตรงนี้ ซึ่งต่างคนต่างก็ทำในเซฟโซนของตัวเอง แต่พอรวมตัวกันปุ๊บก็เลยเกิดการแลกเปลี่ยนเทคนิคกัน
มันเกิดเป็นสังคมขึ้นว่าคนนี้ทำสิ่งนั้น คนนั้นทำสิ่งนี้ แล้วมันก็เกิดกลุ่มขึ้นมา ซึ่งผมว่าวงการนี้เริ่มมีคำว่า ‘อาร์ตทอย’ ในช่วงปีสองปีนี้จากกลุ่มเล็ก ๆ เนี่ยแหละ คือกลุ่มพวกนี้เริ่มในยุคทองของโซเชียลมีเดีย พอถึงยุคนั้นเริ่มมีงานอะไรต่ออะไรเนี่ย ก็เริ่มลง facebook เริ่มลง instagram คนก็เห็นเยอะ ก็เริ่มแมสขึ้น คนอยากทำมากขึ้น มันก็เริ่มขยาย ๆ เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ก็อยากทำตัวนู้นตัวนี้”
จากคอมมูนิตี้เล็ก ๆ สู่การขยายตัวของกลุ่มผู้ทำอาร์ตทอยและตุ๊กตาคาแรกเตอร์ จากแสดงงาน 20 คน สู่ 50 และ 200 คนตามลำดับ จนวันนี้ผู้เล่นในสนามอาร์ตทอยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากผู้เล่นขึ้นไปอีก
“แต่ว่าต้องบอกว่าความบูมมันก็มากับกระแส มีน้องหลายคนที่รู้จักแล้วทำ ก็ทำสวยมาก แล้วพอผ่านไปนาน ๆ เราถามว่าเป็นยังไง เขาตอบ โห ไม่ทำละพี่ คือ ตอนนั้นมันบูมก็เลยทำ ที่เขาทำสวยมากเพราะเขาต้องพิถีพิถันและกระบวนการยุ่งยาก ซึ่งถ้าไม่ได้ชอบจริง ๆ ก็จะเบื่อ”
นอกเหนือจากการรวมตัวของผู้ผลิตตุ๊กตาและ Character Designer แล้ว ลูกค้าของกรณ์และผู้ผลิตเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
“สำหรับงานลูกค้า ผมจะมีข้อแม้หนึ่งเสมอ คือ ผมขออนุญาตทำ หรือเพนต์ในสไตล์ของผมนะ เพราะตุ๊กตาของผมได้แรงบันดาลใจจากตุ๊กตาวินเทจ วิธีเพนต์ของมันคือการลงสีทึบ ๆ แล้วตัดเส้น ล้อเลียนตุ๊กตาสังกะสี ซึ่งมันจะเหมือนกับงานพิมพ์ ซึ่งพอเรามีข้อแม้นี้แล้วก็ทำให้เราทำงานค่อนข้างง่ายขึ้น ลูกค้าที่เราอาจจะลำบากด้วยหน่อยคือลูกค้าต่างชาติ ที่เราต้องสื่อสารกันข้ามภาษาแล้วอาจจะเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นมา สุดท้ายก็แก้ให้ทุกอย่างจนเสร็จ ลูกค้าพอใจ ลูกค้าอีกแบบหนึ่งคือลูกค้าที่เก็บตุ๊กตาตามเหตุการณ์ พอทำแล้วรู้สึกชอบก็เลยทำเก็บไว้ หลังจากนั้นเราเลยมีไอเดียว่า เราไม่ต้องทำตุ๊กตาที่มันหวือหวาเลย เราทำจากเนื้อหาเหตุการณ์ก็ได้
ตอนทำตุ๊กตาเรซิ่นผมจะไปส่งเองทุกตัว เลยได้มีโอกาสคุยกับลูกค้าว่าทำไมพี่ชอบงานผม นู่นนี่นั่น ก็คือส่วนใหญ่ก็คือลูกค้าจะเก็บของคล้าย ๆ เรา เติบโตมากับของคล้าย ๆ เรา เลยคุยกันเป็นชั่วโมงทุกทีเลย เพราะว่ามักจะชอบเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง ถ้าลูกค้าบอกว่าโตมากับของแบบเดียวกับเรา นั่นแปลว่าลูกค้าต้องอายุไม่ต่ำกว่าเรา ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะโตมากับของแบบนี้”
แน่นอนว่าความใส่ใจคือกุญแจสำคัญที่ทำให้นำไปสู่ลูกค้าที่ดี และลูกค้าที่ดี คือลูกค้าที่ชอบงานของเขา
“แค่คนชอบงานเรา เราก็ดีใจมาก ๆ แล้ว คือเห็นแล้วเขาบอก โห พี่ ชอบมากเลย หลายครั้งมาก ๆ ที่ผมไม่ขายสินค้า เนื่องจากคนที่มาสั่งทำกับเราจะเป็น made to order ส่วนใหญ่ เวลาออกงาน ใครอยากได้ก็มาสั่ง จะทำให้ แต่จะแพ้ลูกค้าประเภทที่เห็นแล้วชอบ แล้วอยากได้ สุดท้ายก็ขายให้เขาทุกที พอเห็นเขาชอบแล้วเราก็ดีใจครับ”
ส่วนคำวิจารณ์ที่ตามมาจากคนรอบข้าง เขาเชื่อว่ามันไม่ได้มาเพื่อบั่นทอนกำลังใจ กลับกัน มันทำให้เขารู้ และเชื่อว่า งานของเขาจะตามหาคนที่ชอบมันจนเจอ
“ก่อนจะมีคอมมูนิตี้กลุ่มคนทำอาร์ตทอย ก่อนหน้านั้นเรามีแต่เพื่อนรอบตัว ก็เอาไปให้เพื่อนเหล่านี้ดู ซึ่งพอเราเอาคนที่ไม่ได้ชอบของเล่นดู ก็ไม่เก็ท มันก็เลยได้คำวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าเราจะทำสวย ไม่สวย จะเพนต์แบบไหน ผมว่าเราต้องอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลามากกว่า เพราะถ้าเรามั่นใจว่างานเราโคตรสวยเลย แต่เราไปอยู่กับคนที่เขาชอบอีกแบบ งานเราจะเป็นของไม่สวยไปในทันที การที่เพื่อน ๆ วิจารณ์ทำให้เรารู้ว่า เฮ้ย อย่าเพิ่งท้อ เขาแค่ไม่ได้ชอบงานเรา เราแค่ต้องไปหาคนที่ชอบงานเรา ซึ่งมันมี ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่ามันมีนานแล้ว แล้วก็ตุ๊กตาของแต่ละคนที่ทำออกมาก็ไม่แมสนะ แต่เขาก็มีกลุ่มของเขา คนชอบคนเสพงานเขา”


Be subculture, be culture
ในวันที่อาร์ตทอยบูมแสนบูมขนาดนี้ เราก็ยังคงจัดว่า อาร์ตทอยเป็น subculture หรือวัฒนธรรมกระแสรอง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบย่อยลงไปอีก
“ไอ้คำว่า ‘อาร์ตทอย’ มันเกิดจากความหลากหลายตรงนี้แหละ คือ คนสะสมอาร์ตทอยยังมี subculture ย่อยลงไปอีก อย่างคนสะสมตุ๊กตาสายน่ารัก อย่างผมก็จะมองว่าก็น่ารักดี แต่คนที่เขาคลั่งไคล้ก็จะบอกว่า คนนี้ทำงานน่ารักกุ๊กกิ๊ก เอาไปถ่ายรูปตอนกินข้าว อย่างของผมคนก็นิยามให้ว่าเป็นสายวินเทจ หรือคนที่ทำ custom ก็คือมีหลากหลายสายฮะ”
“ผมมองว่ามันวงการอาร์ตทอยขยายตัวค่อนข้างมากเพราะการติดต่อสื่อสาร จริง ๆ ไอ้วงการนี้ ส่วนตัวผมคิดว่ามันมีมานานมาก ๆ นานสุด ๆ แล้วล่ะ แต่ว่ามันอยู่ในที่แคบ ๆ ต้องเป็นคนรักจริง ๆ ถึงจะเข้าไปติดตามมัน ปัจจุบันไม่ต้องตามหา อยู่ในโซเชียลก็เห็นเต็มไปหมด พอมันขยายตัวมาก ๆ เข้าคนก็รู้จักมากขึ้น คนรู้จักมากขึ้น ผู้ซื้อก็มากขึ้น ผู้ซื้อมากขึ้น คนที่อยากเข้ามาขายก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ผมว่ามันกำลังอยู่ในช่วงขยายตัวเลย แต่มันก็จะต้องมีการพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น หรือพวกเทคโนโลยีนอกจากโซเชียลทำให้วงการขยายตัวแล้วเนี่ย มันทำให้คนที่อยู่ในวงนี้อยู่แล้วรู้จักอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย ตอนนี้กำลังสนุกเลย”

“แล้วเมื่อโซเชียลมันขยายตัว คนสนใจมากขึ้น คนที่มีพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรี ไม่ว่าจะร้านค้าหรืออะไรก็เปิดใจให้งานพวกนี้มากขึ้น คือเมื่อก่อนเขาก็มองเป็นแค่ของเล่น พอปัจจุบันมันมีราคา ก็จะเริ่มมองมันมีคุณค่ามากขึ้นตามไปด้วย สถานที่จัดงานอาร์ตทอยก็จะหลากหลายมากขึ้น อย่างพฤศจิกายนนี้มีงานที่ฟอร์จูนทาวน์ด้วย ถ้าสนใจ อันนี้เป็นงานประจำปีที่ไม่ได้งานใหญ่เลย แต่คนทำมาอยู่ที่นี่กันเยอะ นั่งคุยกัน เฮ้ยกล่องนี้มันเป็นยังไง เป็นงานสนุก ๆ ถ้าว่าง ๆ เชิญมานะครับ”
ส่วนอนาคตของอาร์ตทอยจะเป็นอย่างไร เขามองว่า มันคือพลวัต และความชอบของคน
ในขณะเดียวกัน เวลาอาจจะทำให้บางสิ่งบางอย่างที่ดูไม่มีคุณค่าในยุคนี้ มีความหมายขึ้นมาก็ได้
“ถามว่ายุคนี้อาร์ตทอยเจริญเติบโตได้ยังไง เพราะว่าผู้ใหญ่รุ่นนี้เติบโตมากับการ์ตูน โตมากับคาแรกเตอร์ที่ชอบ พอโตขึ้นมาปุ๊บ เขาก็เลยอินกับของพวกนี้ มีกำลังทรัพย์แล้วก็พร้อมจะจ่ายกับของที่ทำให้เขาระลึกถึงความทรงจำ ระลึกถึงความชอบของเขาในวัยเด็กได้ แต่ถ้าถามว่าอนาคตเป็นยังไง หนึ่งก็คือ ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามเจเนอเรชัน
และสอง ทุกอย่างเปลี่ยนไปตาม subculture ด้วย คนอายุ 21-22 อาจจะอินของเล่นวินเทจก็ได้ ในความคิดเห็นผมนะครับ”
“ยุคสมัยมันทำให้บางอย่างดีขึ้น บางอย่างแย่ลง บางอย่างเกิดขึ้นใหม่ บางอย่างหายไป ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นใหม่มันก็จะสร้างอะไรใหม่ ๆ เสมอ อย่างสมัยผมเรียนช่างศิลป์ ร้านเขียนป้ายมีอยู่ทุกถนนเลย ก็จะมีคุณลุงแก่ ๆ ยืนสูบบุหรี่กับพู่กันแบน จุ่มสีน้ำมัน เขียนลายมือสวย ๆ ฟอนต์ไทย ๆ จนยุคสมัยเปลี่ยนไป การเข้ามาของป้ายไวนิล ทำให้ลุง ๆ พวกนี้ตกงาน ร้านป้ายก็น้อยลง ทุกคนก็หันไปทำปรินต์กัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอคนรุ่นนี้ล้มหายตายจากไป คนเขียนป้ายพวกนี้แทบจะไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้งานเพนต์ผนังนี่หายาก มันกลายเป็นงานคราฟต์ ก็กลายเป็นว่าเราได้อาชีพจากการมาของไวนิล แล้วก็ได้ราคาด้วย แล้วพวกงานป้ายที่หายไป ปัจจุบันกลายเป็น Calligraphy เมื่อก่อนจ้างลุงในราคาพันนึงได้ป้ายอันเบ้อเริ่มเลย เดี๋ยวนี้งาน Calligraphy คอร์สนึงประมาณ 3000 ได้กระดาษเอสี่ หรือเอสามแผ่นนึง กับพู่กันสองอัน ก็เลยคิดว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป มันไม่มีอะไรดีหรือแย่หรอก มันก็แค่เปลี่ยนไป เราก็แค่ปรับตัวตามมัน”

บทส่งท้าย
สิ่งที่อยากจะบอกกับผู้คนเกี่ยวกับ “อาร์ตทอย”
ในฐานะคนทำ
“อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ก็คือ สิ่งแรกที่เข้ามาคือ ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองก่อนว่าเป้าหมายเราคืออะไร ถ้าเป้าหมายเราคือขาย เราก็ต้องดูด้วยว่าเราจะขายใครแล้วก็พุ่งเป้าไปทำสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเรา แต่ถ้าเป้าหมายของคุณคือความรัก คุณก็แค่เลือกดูในจิตใจตัวเองว่าคุณชอบอะไร แล้วคุณก็ทำมันออกมา ถ้าหากว่าเราทำสิ่งที่ตัวเองรัก ผมเชื่อว่ายังไงเราก็อยู่ได้นาน เพราะว่าแม้เราจะขายไม่ได้เราก็ยังคงอยากจะทำมันต่อไป”
ในฐานะคนสะสม
“ถ้าคุณจะเสพแปลว่าตัดไอ้เรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจออกไปเลย ชอบอะไรซื้ออย่างนั้นฮะ คือ ถ้ามีกำลังทรัพย์พอนะฮะ ชอบอะไรซื้ออย่างนั้น อันนี้จบเลย แต่ถ้าเห็นอะไรก็ชอบไปหมดแล้วมันเกินกำลัง ก็แค่ลองเลือกดูครับ มันก็ทำให้เราแบ่งไลน์การสะสมให้มากขึ้น ไม่งั้นก็จะเปะปะไปหมด ก็จะมีใช้วิธีเก็บ ๆๆๆ แล้วใจฟู แล้วขาย ๆๆๆๆ แล้วก็เก็บอีกชนิดหนึ่ง ความสนุกมันอยู่ที่ตอนหา มันทำให้สร้างมิชชันขึ้นมา พอได้เสร็จขายยกล็อต ประมาณนี้แหละฮะ”
ในฐานะมือใหม่
“คำถามยากเหมือนกันนะ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องสนุก เพราะถ้าคุณไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ลองหา
กลุ่มในโซเชียลต่าง ๆ แล้วเข้าไป อยากรู้อะไรก็ถามเลย เพราะมีเรื่องใหม่ ๆ ให้รู้เสมอ ๆ ยิ่งไม่รู้อะไรเลยผมว่ายิ่งสนุก เพราะว่าอย่างเราทำตรงนี้มานานแล้วเรายังได้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเลย ถือซะว่าเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ส่วนจะได้อะไร ผมว่าแล้วแต่คนว่าคน ๆ นั้นกำลังมองหาอะไรมากกว่า”

ภาพประกอบ: Korn Neeyabhan