fbpx

‘คลองแสนแสบ’ ภาพจำลองของกรุงเทพฯ ที่กำลังตายลงไปทุกที

เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ผู้เขียนได้มีโอกาสลงไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรถเมล์ บนรถเมล์ ถนนในซอยเล็กๆ กระทั่งถนนใหญ่ และอีกหนึ่งพื้นที่ที่สร้างความประหลาดใจกับผู้เขียนได้เสมอก็คือ คลองแสนแสบ!

ผู้เขียนและทีมทำการสำรวจพื้นที่บริเวณคลองแสนแสบ โดยการเดินเลียบคลองจากท่าเรือหลังเดอะมอลล์บางกะปิ ไปยังท่าเรือวัดกลาง ซึ่งกินระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นระยะทางที่มากพอจะสรุปความได้อย่างครบถ้วน แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ไม่คิดว่าด้วยระยะทางเพียงเท่านี้ จะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้มากมายและน่าเศร้าเสียเหลือเกิน

มาพูดกันถึง ‘โป๊ะ’ หรือท่าเรือที่เหมือนเป็นจุดสตาร์ทของผู้โดยสารทางเรือทุกคน นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่เรือจะมาเทียบแล้ว ยังเป็นจุดที่ผู้โดยสารจะต้องยืนรอเรืออีกด้วย ปัญหาแรกที่โดดเด่นเกินหน้าเกินตาชาวบ้านเหลือเกินคือ ‘ความปลอดภัย’ อย่างที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่า ‘โป๊ะ’ เป็นจุดที่ผู้โดยสารจะต้องยืนรอเรือ และทั้งที่เป็นพื้นที่ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะต้องใช้ แต่ความปลอดภัยกลับสวนทาง อย่างเช่น โป๊ะไม่มีราวกั้นที่ดูจะใช้งานได้และปลอดภัย หรือกระทั่งห่วงยางนิรภัยที่มีอยู่แค่ไม่กี่อันที่แขวนอยู่ในโป๊ะ ทั้งตัวโครงสร้างของโป๊ะที่โคลงเคลงเหลือเกินเมื่อเรือเทียบท่า จริงอยู่เมื่อโป๊ะลอยตัวอยู่บนน้ำการโคลงเคลงจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เพราะมันเป็นเรื่องปกติ ถึงควรมีการจัดการพื้นที่ที่ ดีและปลอดภัยกว่านี้สิ

ขณะเดียวกัน ‘เรือโดยสาร’ ก็มีปัญหาที่ไม่ต่างกันกับรถเมล์ นอกเหนือไปจากการออกแบบที่ไม่ Universal และสร้างภาระอย่างมากให้กับผู้โดยสาร (โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ) ก็ยังมีเรื่องของ ‘มลภาวะที่เกิดจากของเสียของเครื่องยนต์’

รถเมล์ปล่อยขึ้นบนอากาศ เรือด่วนก็ปล่อยลงน้ำเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าทั้งขึ้นและล่อง เรียนตามตรงผู้เขียนก็ไม่มั่นใจเลยว่าจะต้องแก้จากการเปลี่ยนเรือ บำบัดน้ำคลอง หรือปรับวิถีชีวิตของผู้ที่อยู่บริเวณริมคลอง แต่อย่างไรก็ดี ภาวะน้ำคลองเน่านี้ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ผู้เขียนได้แต่หวังว่าการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ในครั้งนี้จะนำพากลยุทธ์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตมาสู่ประชาชน หรืองบกว่า 5,000 ล้านบาทที่คลองช่องนนทรีจะไหลมาสู่คลองอื่นๆ ในกรุงเทพฯได้บ้าง

และนอกจากการสัญจรทางน้ำ ‘ทางเท้าบริเวณริมคลอง’ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง

ในบางเส้นทางมีการปูทางใหม่ที่สะอาดเอี่ยม มีราวกั้นทางเดินเป็นล่ำเป็นสัน บางเส้นเป็นเส้นทางจักรยานผ่านได้ แต่อย่างไรก็ดี มันก็บางเส้นทางเท่านั้นที่มีการปรับและพัฒนา บางที่ยังเก่าและทรุดโทรม (มีเส้นทางที่ผู้เขียนนั่งเรือผ่าน เส้นทางนั้นโครงสร้างข้างล่างพังทลายหมดแล้วและเป็นตลาดที่คนเดินเยอะมาก จนผู้เขียนกลัวว่ามันพังลงมา) หรือเส้นทางจักรยานที่แม้จะดูดี แต่ช่องทางที่จะขึ้นถนนใหญ่ มันก็ยังเป็นทางแคบๆ ที่เอาจักรยานผ่านได้แค่ล้อเท่านั้น และที่สำคัญคือมันไม่ ‘สาธารณะ’ ถ้าลองใช้เส้นทางจะเห็นได้เลยว่ามันไม่เหมาะกับผู้ที่มีความพิการอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะดำรงใช้ชีวิตในสังคมอย่างแท้จริง ผู้ที่มีความพิการจะต้องถูกนับรวมในการออกแบบพื้นที่ด้วย

นี่เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยและกรุงเทพฯ

แม้ความกระตือรือร้นของคนบางกลุ่มจะยังทำให้เรามีความหวังที่อยากให้กรุงเทพฯ ดีอยู่บ้าง แต่ความทับซัอนของปัญหาที่ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าสายไฟบนเสาไฟฟ้า ภาพจำและความเคยชินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังคงอยู่และริบความหวังไปทุกที การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่จะถึงนี้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะจุดประกายความหวังของประชาชนให้สว่างขึ้น และนำพา ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ กลับสู่สาธารณะชน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า