fbpx

เขียนไขและวานิช: เพลงของจอมขโมยความรู้สึก และการเรียนรู้ตัวเองที่เติบโตจากข้างใน

โจ้-สาโรจน์ ยอดยิ่ง พูดในพื้นที่สื่ออยู่บ่อยครั้งว่าเขาไม่ใช่ “ศิลปิน”

ชายหนุ่มผู้ประกอบอาชีพ “รับจ้างร้องเพลง-เล่นดนตรี” ที่ใช้นามปากกาเขียนไขและวานิช ผู้ใช้เสียงกีตาร์และคำร้องธรรมดาๆ ที่ไม่มีลีลาภาษาอะไรมากมาย แต่เมื่อสองสิ่งผสานกัน กลับกลายเป็นเพลงที่ทำให้ผู้คนหลงรักในความเรียบง่ายของมัน พิสูจน์ได้จากงานทัวร์ที่เคยแน่นเอี๊ยดแทบทุกวัน หรือการออกสตูดิโออัลบั้มมาแล้ว 2 ชุดในหลายรูปแบบ ทั้งซีดี คาสเซ็ตเทป ไวนิล หรือสตรีมมิ่ง

บอกอีกที-ไม่ต้องถามถึงเสียงตอบรับ เพราะถ้าอยากพิสูจน์ว่าเพลงของเขา “ดัง” แค่ไหนผู้ติดตามกว่า 690,000 คน รวมถึงคลิปโคฟเวอร์เพลงของเขาจากหลายศิลปินตั้งแต่คนในวงการอินดี้ด้วยกันยันซุปตาร์ระดับประเทศ จรดซิงเกิลที่ร่วมงานกับคนดนตรีมากมาย น่าจะแทนคำตอบได้ดีที่สุด

หรืออย่างน้อยคุณต้องเคยฮัมเพลงหรือฟังงานของเขา ไม่ก็ได้ยินในโฆษณาโทรทัศน์บ้างล่ะ

บ่ายวันฝนตกที่ร้านกาแฟหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรานัดพบโจ้เพื่อเล่าเส้นทางชีวิตที่ทั้งโลดโผนโจนทะยานและสุดโต่งในความเป็นศิลปิน แต่ก็มีความเรียบง่ายด้วยวิธีคิด วิธีปรับตัว และการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตตั้งแต่ครั้งเป็นศิลปินด้านงานศิลปะ จนถึงศิลปินด้านดนตรี ชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามา

รวมถึงความเรียบง่ายในชีวิตที่หายไป

และการเรียนรู้ในโมงยามโรคระบาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ภาพฝันในจักรวาล
– อัลบั้ม เขียนไขและวานิช

ย้อนกลับไปสมัยที่โจ้ยังใส่ชุดนักเรียน เขาก็เหมือนนักเรียนทั่วๆ ไปที่ยังเรียนหนังสือในระบบการศึกษาสายสามัญปกติ แต่วันหนึ่งชีวิตของโจ้ก็เปลี่ยนไป เพียงเพราะเพื่อนพาข้ามกำแพงโรงเรียนออกสู่โลกภายนอกเพื่อออกไปสมัครวิทยาลัยเทคนิค 

“มันมีอะไรบางอย่างที่อยู่ดีๆ เพื่อนก็พากระโดดจากกำแพงโรงเรียน ตอนนั้นเรียนสายวิทย์-คณิตอยู่เลย เพื่อนพาโดดกำแพงมาสมัครเรียนอิเล็กทรอนิกส์ฯ​ ที่เทคนิค (วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่) ก่อน แล้วก็ไปสอบสัมภาษณ์ก็โดนด่าเรื่องตาบอดสีว่ามึงมองสีเพี้ยน (หัวเราะ)

“สอบสัมภาษณ์ผมไม่ผ่าน ก็เลยไปสอบอาชีวะ ก็เลยเอาอะไรดีวะ คหกรรมกับวิจิตรศิลป์ ก็เลยลง 2 อย่างนี้ไป แล้วก็ได้เรียนวิจิตรศิลป์” โจ้เล่า

โจ้เข้าเรียนสาขาวิชาวิจิตรศิลป์แบบงกๆ เงิ่นๆ และมีความฝันปลายทางง่ายๆ ว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่เอาเข้าจริงแล้วการเรียนศิลปะนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น จนทำให้โจ้เริ่มออกเส้นทางและใช้ชีวิตนอกรั้วสถาบันที่ไม่มีการปิดประตูระหว่างเวลาเรียน

“ไอ้คำว่าวิจิตรฯ ของผมตอนแรก ก็คิดแค่ ‘กูจบมากูก็เขียนการ์ตูนดีกว่าว่ะ’ พอไปถึงห้องเรียนจริงๆ ไอ้เหี้ย เริ่มมีหุ่นนิ่ง เริ่มเขียนลูกบาศก์ เริ่มมีแสงเงา เริ่มหนักแล้ว เริ่มไม่ใช่แล้ว ทำไมมันยากวะ ก็เลยปูพื้นฐานตั้งแต่นั้นจนมาถึงเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นไม่รู้ตัว ก็เถลไถล หาบกระดาน เที่ยว กินเหล้า ไปนู่นไปนี่ ขับมอเตอร์ไซค์ ยิ่งออกจากโรงเรียนที่มันปิด มาเจอโรงเรียนเปิดที่มันแบบประตูออกไปไหนก็ได้ ชีวิตนักเรียนในยุคนั้นก็คือว่าถ้าคุณเถลไถล ไม่เอางาน คุณก็ไปไม่รอดเลยนะ สำหรับผมก็ฝึกตัวเองเหมือนกันนะที่ได้มาอยู่ในสังคมและโลกแบบนั้น บางคนก็ไม่รอดเลย” โจ้ขยายความ

คุ้มแล้วหรือยัง
– อัลบั้ม เดินทางไกล

เหมือนการที่โจ้ได้เรียนศิลปะและใช้ชีวิตนอกรั้วสถาบันจะเป็นการ ‘เรียนๆ เล่นๆ’ ก็จบการศึกษาได้ แต่หลังจากจบจากสถาบันอาชีวะศึกษาและเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา โจ้ย้ายเขตคามและคณะอยู่หลายต่อหลายครั้ง

“จากนั้นก็เข้าราชภัฏ (มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่) ดันไปติดสถาปัตย์ฯ ก็ไอ้ตอนดราฟท์ ไอ้ตอนเขียนแปลนมันลักไก่ได้ไง เรื่อง Drawing เรื่องลากเส้น สบายกูดิ (หัวเราะ) แต่มาตายตรงคำนวณตอนปี 2 ก็โดนรีไทร์”

เพราะโจ้ตกม้าตายจากวิชาคำนวนจนถูกให้ออกจากคณะ โจ้เลยต้องย้ายมาทำงานเป็นมือเขียนรูปอยู่ที่ศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย ซึ่งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรอเพื่อนสนิทออกจากค่ายทหาร ก่อนจะไปสอบที่โรงเรียนเทคนิคฯ อีกครั้ง แต่เหมือนโชคไม่ค่อยดีที่การสอบเข้าในปีนั้น สถาบันฯ ปรับระบบการสอบให้นักเรียนในระบบการศึกษาสายสามัญเข้าสอบได้โดยไม่ต้องสอบปฏิบัติ โจ้ที่ติดเอกเซรามิคซึ่งพอเข้าไปเรียนได้สักพัก ก็ย้ายมาเรียนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่ก็ถูกรีไทร์ จนแล้วจนรอดก็สอบเข้าเอกภาพพิมพ์ได้อีกครั้ง

โจ้จึงได้รู้จักกับเทคนิคที่ใช้ทำงานส่งอาจารย์ และกลายเป็นนามปากของเขา

“เขียนไขและวานิช”

“ผมเข้าเรียนภาพพิมพ์อีกรอบก็คือเป็นไอ้ลุงไปแล้ว (หัวเราะ) เรียนจนถึงปี 3 โดนไทร์ จบเรียนเอกภาพพิมพ์ เรียนภาพพิมพ์ กำลังทำเทคนิคเขียนไขและวานิชนั่นแหละ คือเทคนิคภาพพิมพ์สกรีน เป็นเทคนิคที่เราเสนองานอาจารย์อยู่ แล้วเราก็ชอบคำของมัน

“สักพักเราก็มาจับกีต้าร์ ไม่เอา ไม่ไปเรียนเลยตอนนั้น ก็เลยเดินทาง เดินทางอย่างเดียว”

บันทึก
EP.Windfolk

แต่การเดินทางในความหมายของโจ้ไม่ใช่แค่การเดินทางเพื่อไปเที่ยวอย่างเดียว เพราะระหว่างทางหลังจากโจ้ออกจากระบบการศึกษา โจ้กลับไปทำงานด้านภาพพิมพ์และ Re-Product งานของศิลปินเพื่อนำไปใช้ในสถานที่ต่างๆ 

ถึงแม้ว่างานเหล่านี้จะทำเงินได้พอสมควร แต่การแข่งขันมันก็สูงมากเหมือนกัน

“งานศิลปะตอนนี้มันไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อนแล้วนะครับ งานมันขายได้น้อย แล้วพื้นที่ในการแสดงของมันก็แคบลง แล้วก็ด้วยความเป็นเชียงใหม่ด้วย ศิลปะ-ศิลปินเยอะมาก เราแข่งขันกันไม่ได้ เราวางตรงนี้ปุ๊บ เราโดนก๊อปแล้ว ใครมีไอเดียดีๆ ปุ๊บ เดี๋ยวก๊อปเรียงกันต่อเลย แล้ววงการศิลปะในเชียงใหม่เป็นอะไรที่ทำเงินได้น้อย ต้องแข่งขันกัน ต้องประกวด ผมก็ประกวดทุกอย่างเลยที่เป็นศิลปะตอนนั้น” โจ้อธิบายวงการศิลปะในเชียงใหม่ และความพยายามในการต่อสู้เพื่อปากท้องในตอนนั้น

เรื่องการประกวดแข่งขันเพื่อหาเงินมารองรับกับรายได้ที่ไม่มากมายนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งที่โจ้ทำเพื่อเลี้ยงจิตวิญญาณก็คือการเดินทางไปพบเจอเพื่อนฝูง

และการนั่งดื่มเหล้า (​ฮา)

เพราะวงเหล้าคือพื้นที่ผ่อนคลาย และการนั่งเล่นดนตรี-เกากีตาร์-ร้องเพลง กลายเป็นพื้นที่รองจากผืนผ้าใบที่โจ้นั่งวาดภาพ การแต่งเพลงก็เหมือนพื้นที่ปลอดภัยอีกแห่งที่โจ้ได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนๆ ในการ “ปรับทุกข์” ผ่านการเขียนเพลงและเอามันมาประชันขันแข่งกัน ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโจ้ยังเรียนอยู่ในระบบการศึกษา

และทั้งหมดเป็นเรื่องสนุกที่ทำให้โจ้พัฒนาตัวเอง และได้มุมมองใหม่ๆ ในการเขียนเพลงมากขึ้น

“ตอนนั้นมันเป็นยุคของการฟังเพลงที่วัยรุ่นยุคนี้อาจจะเสพเหมือนพวกเราอยู่ก็ได้ เฮ้ยมึง เคยฟังเพลง กูไม่ฟังเพลงตลาด ยุคนั้นจะเป็นยุคที่หาเพลงแปลกๆ มาแข่งกัน ตามรื้อเพลงวงเก่าๆ แล้วก็มาหาแนวทาง มาดูภาษาของเขาที่มันไม่เหมือนสมัยนี้ ไปฟังกลิ่นของศิลปินแต่ละคนในยุคนั้น แล้วก็ลองเอามาแต่ง แล้วก็แข่งกันโดยที่ใช้เนื้อหาขององค์ประกอบศิลปะ ก็เอาจุดเด่นจุดรอง ทัศนะในการมองมาเปรียบเทียบ เอามาทำเป็นเพลงแล้วแข่งกัน เพราะตอนนั้นก็บ้าเรื่องนำเสนองานกับอาจารย์มากกว่า เราถูกด่าในเรื่องของการนำเสนอผลงานเพราะเราคุยไม่เก่ง ก็เอาพวกนี้ สิ่งที่โดนพวกนี้มาทำเป็นเพลง มันก็กลายเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เป็นผลงานเพลงออกมา มากกว่าการเขียนรูป” โจ้อธิบาย

โจ้บอกฉันอีกว่า อารักษ์ อาภากาศ, เฉลียง, ธีร์ ไชยเดช, Wild Seed คือหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขา

มัวแต่คิด
– อัลบั้ม เขียนไขและวานิช

“คุณหยิบอะไรมาเขียนและเล่าเป็นเพลงบ้าง” ฉันถาม

“สิ่งรอบตัวมันเล่าได้หมดนะ ความงาม คนสวยงามก็ใช้ได้ แต่จะทำยังไงให้มันไม่เจาะจงว่าพูดถึงผู้หญิงคนนั้น ก็แต่งเป็นบทความขึ้นมาว่า อะไรก็ได้ที่มันอ้อมค้อม ไม่เจาะจงหรือว่าไม่เป็นภาษาที่มันลงตัวในการทำงานดนตรีที่มันแบบดูแล้วรู้สึกว่า คนฟังสามารถคิดไปเองได้แล้วคุณตีความแบบไหนก็ได้ อาจจะตีความไม่เหมือนกับตัวศิลปินที่สื่อออกมา นั่นแปลว่ามันทำงานแล้ว 

“คือไม่ใช่ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ฉันชอบเธอมาก สวย จบ อย่างนั้นมันก็ดูมีคุณค่าแค่นั้น เราเลยอยากจะเขียนในสิ่งที่มันเล่าว่า ผู้หญิงคนนี้สวยนะ แล้วใช้อย่างอื่นมาเปรียบเทียบแทน ใช้นามธรรมอื่นๆ วัตถุอย่างอื่นมาเปรียบเทียบกับตัวผู้หญิงคนนี้อะไรอย่างนี้ แล้วก็จะมีความสนุกมากขึ้นในการเขียนเพลง” โจ้เล่าถึงการแต่งเพลงในแบบเขียนไขและวานิช

ซึ่งนอกจากเรื่องรอบตัวทั่วไปแล้ว โจ้เน้นย้ำกับเรามากๆ ว่าสิ่งที่ทำให้เพลงในแบบเขียนไขและวานิชกลมกล่อมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ การใช้องค์ประกอบทางศิลปะมาประกอบในงานกวีมีทำนองของเขา ที่ทำให้เวลาเขาขึ้นโครงเพลงใหม่ มันจึงเป็นวิธีการแบบ “อัตโนมัติ” ที่เขาทำทุกครั้งในการแต่งเพลง

“องค์ประกอบก็คือสิ่งสำคัญของศิลปะ มันเป็นสากลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นดนตรีจะเล่นยังไงก็ได้ มันไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะมันใช้สื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึกของคนอยู่แล้ว แม้แต่การเคลื่อนไหวของคนก็คือศิลปะหมด มันก็เลยตอบง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรที่ตายตัวไปอีกต่อไปอะไร

“แต่ผมก็ไม่ค่อยเก่งเรื่องทฤษฎีดนตรีอยู่แล้ว เพราะผมก็งูๆ ปลาๆ มาตั้งแต่แรก ให้ไปเล่นแข่งโซโล่อะไรผมก็ไม่มีพื้นฐานอะไรพวกนี้ ผมใช้พื้นฐานศิลปะมาทำงาน แล้วก็มันพาเดินทางได้ก็ถือว่าโอเคแล้ว”

“แล้วเพลงของเขียนไขและวานิชเป็นแบบไหน ช่วยนิยามหน่อยได้มั้ย” ฉันถามต่อ

“น่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การบ่น การพูดถึงมุมมองของหลายๆ อย่างจากหลายๆ คน ผมอยากจะออกไปดูคนอื่น ไปดูสิ่งที่มันเคลื่อนไหวของโลกใบนี้ แล้วก็เขียนเป็นเพลงได้ อย่างน้อยการมองการเคลื่อนไหวของแต่ละคน ดูโลกดูความเป็นไป ก็คิดเป็นบทความขึ้นมาได้ เขายังดิ้นรนอยู่ของเขานะ ก็ทำเป็นเพลง อยู่เฉยๆ ก็จด มีอะไรก็จดบันทึกไว้ หลังๆ อยากเริ่มเขียนหนังสือเล่นไปเรื่อย ก็ออกไปดูการเคลื่อนไหวของคน ก็เลยทำให้ มีอะไรก็จดก็เขียน แล้วก็เอามาทำเป็นเพลงได้ พอมาจับพลัดจับผลูเรื่องราวความรักของคนๆ หนึ่งแล้วรู้สึก เฮ้ย คนนี้แม่ง เนื้อหาอย่างนี้ เรื่องราวของเขาไปเจออย่างนี้มา ก็ทำเป็นเพลงได้ ก็คือใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่อยู่รอบตัว เขียนไขและวานิชจะเป็นจอมขโมย หัวขโมยความรู้สึกของคนอื่นมาทำงานก็ได้ครับ” โจ้ตอบคำถามของฉัน

แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร
– อัลบั้ม เขียนไขและวานิช

อย่างที่เรารู้กันว่าแก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร คือเพลงที่ดังที่สุดและแจ้งเกิดเขียนไขและวานิชให้มีตัวตนในวงการดนตรีได้อย่างสวยงาม

แต่โจ้กลับพูดถึงเพลงนี้ในพื้นที่สื่ออยู่บ่อยครั้งว่า นั่นคือเพลงที่เขาไม่ชอบที่สุดตั้งแต่แต่งเพลงมา

“มันเริ่มจากการแอบชอบเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนสถาปัตย์ฯ ด้วยกัน แล้วเราก็เลยไปน่าน ไปได้กลิ่นไอและบรรยากาศแห่งความสุขจากตรงนั้น แล้วก็กลับมาถึงห้อง เคยมีความรู้สึก ‘อารมณ์ค้าง’ ไหม เวลาที่ไปผูกพันหรือไปเที่ยวที่ไหนมา แล้วเวลากลับมามันยังตกตะกอนอยู่ มันต้องใช้เวลาสองวันถึงจะหายไป ก็เวลาจากกันน่ะ มันไม่ชอบเลย มันชอบมีอะไรตกค้างอยู่ หมองๆ วันนั้นน่ะ วันที่ร่ำลาอะไรอย่างนี้ 

“ก็เลยเขียน ฝากดวงใจพี่ลอยล่องไปบนนภา สุดขอบฟ้าหัวใจพี่จะไปถึง มันก็รันไปของมันเองเว้ย มันหยุดไม่ได้ ถ้ายิ่งเราหยุดมันกลับมาทำแล้วมันจะไม่เหมือนเดิมแล้วอ่ะ มันต้องจบในตอนนั้นเลย ก็เลยเขียนๆๆ ทิ้งไว้ แล้วกลับมาอ่าน แม่งโคตรเสี่ยว (หัวเราะ) 

“ก็ทิ้งไว้ประมาณ 7-8 ปี แล้วก็ไปเจอพี่ต่าย อภิรมย์ (ประกาศิต แสนปากดี) บนดอย ก็เล่นรอบกองไฟ รับแขกกัน เช้ามาพี่ต่ายก็กินกาแฟแล้วก็หยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นเป็นเพลง แอบฟังเพลงรักๆ ใคร่ๆ ก็คิดว่า ‘อภิรมย์มีเพลงแบบนี้ด้วยหรอวะ’ พี่ต่ายก็บอกว่า เป็นเพลงที่สมัยแต่งสมัยมัธยม แต่งจีบสาว เสี่ยวสัตว์ๆ (หัวเราะ) แล้วเราก็แบบ ‘เฮ้ย ผมมี’ ก็เลยหยิบแก้มน้องนางฯขึ้นมา ‘พี่ฟังเพลงนี้ แม่งโคตรเสี่ยว’

“ร้องเสร็จแล้วพี่ต่ายก็บอก ไอ้เหี้ย แล้วก็เรียกพี่ริท (เรืองฤทธิ์ บุญรอด) มา พี่ต่ายบอกให้เอาไปอัดให้ดีๆ เลย แล้วหลังจากนั้นมันก็เดินทางเลยเพลงนี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเพลงที่ตัดทิ้งออกไปจากอัลบั้ม เพราะว่ามันเป็นเพลงที่เสี่ยวที่สุด แล้วก็เนื้อหาของมันไม่เข้ากับเพลงอื่นๆ แม้แต่เพลงเดียวเลย แก้มน้องนางฯ นี่ก็เลยเป็นเพลงที่ถูกตัดออกไป” โจ้เล่า

ฉันแอบถามถึงเพลงที่โจ้ชอบจริงๆ คือแสงแรกและสายลม ซึ่งอาจหาฟังยากหน่อยเพราะไม่มีในบริการสตรีมมิ่ง

แต่เชื่อฉันเถอะ คุณต้องลองฟังเพลงนี้สักครั้ง แล้วจะเข้าใจว่าทำไมโจ้ถึงรักเพลงนี้มากๆ 

ปีกแห่งความฝันหรือปีกแห่งความจริง
– อัลบั้ม เดินทางไกล

โจ้อัดทุกเพลงที่เขาแต่งและเล่นกีตาร์ง่ายๆ และอัพโหลดขึ้นไว้บนหน้า Soundcloud ส่วนตัวของเขา ซึ่งเขาไม่ได้คาดหวังเลยว่าเพลงของเขาจะดังเป็นพลุแตก และทำให้เขากลายเป็นคนในวงการดนตรีที่มีงานจ้างและแฟนเพลงมหาศาล

แต่วันหนึ่งที่เขากำลังรับจ้างทำงานศิลปะ กลับมีสายโทรศัพท์สายหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

มันคือสายโทรศัพท์ที่โทรมาจ้างให้เล่นดนตรี

“ตอนนั้นผมยังนั่งปั้นปูนอยู่สวนนงนุชอยู่เลย แล้วมันก็มีโทรศัพท์โทรมาจ้างเป็นงานแรกเลยครับ เล่นเปิดให้วงอภิรมย์ที่ Play Yard ลาดพร้าวซอย 8 (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) หลังจากนั้นก็ไปทัวร์อีสานเขียว หลังจากนั้นก็ไม่รู้ตัวเลย เขาให้ไปก็ไป ก็เริ่มตั้งวง หาทีมงาน ดึงเพื่อนดึงอะไรเข้ามาทำไปด้วยกัน” โจ้เล่าถึงวันนั้น

จากนั้นโจ้ต้องปรับตัวและเรียนรู้ในการรับงานจ้าง ตั้งแต่การหาทีมงาน ผู้จัดการส่วนตัวที่ต้องดูแลทั้งเรื่องคิวและค่าตัว เพราะโจ้เคยบอกว่าเขาไม่เคยตั้งเรตราคาของตัวเองเลยด้วยซ้ำ! จนนำไปสู่การเล่นสดบนเวที เราเลยลองชวนโจ้ทบทวนตัวเองให้ฟังถึงครั้งแรกๆ ที่เขาเล่นดนตรีสดต่อหน้าคนดู

“ตอนแรกรู้สึกตื่นสนามมาก เวลาทัวร์ครั้งแรกก็คือไม่เคยเจอเวทีใหญ่ๆ แต่หลังๆ เริ่มชินแล้ว เพราะหลับตาร้องก็ไม่เห็นใครแล้ว (หัวเราะ) นิสัยผมจะเป็นอย่างนี้ เวลาร้องเพลงผมจะหลับตาเพราะผมไม่กล้ามอง ถ้าผมมองแฟนคลับหรือว่ามองแขกในงานอย่างนี้มันจะหลุด ฟีลมันจะหายไป ซึ่งวงก็พูดน้อย ไม่ค่อยได้พูดกัน ไม่มีใคร Entertain ใครเลย คนก็จะต้องเข้าใจอยู่แล้วว่าแบบถ้าจะมาดูโชว์ เราไม่มีทอล์คนะ ก็คือเล่นไปเรื่อยๆ จนหมดเพลงสุดท้ายแล้วก็ขอบคุณครับ สวัสดีครับ (หัวเราะ)”

ถึงตรงนี้มันเหมือนจะเป็นความฝันของคนดนตรีจำนวนมากที่อยากมีตัวตนในวงการ และยิ่งดีเข้าไปอีกเพราะมันคือการเอาสิ่งที่ชอบมาเป็นอาชีพ แต่เพราะสิ่งเหล่านั้นจะมีชื่อเสียง การถูกจับตามอง และการมีตัวตนที่จะมีแฟนๆ ที่รักในผลงานตามมาด้วย

โจ้เล่าให้ฉันฟังว่า ก่อนที่เขาจะมีผู้จัดการส่วนตัว เขามีแชทหลังบ้านที่ต้องดูแลเองซึ่งเด้งมาทีละ 2-300 ข้อความ ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะขอให้เขาทำคลิปอวยพรวันเกิดให้ หรือเขาเคยรับโทรศัพท์จากแฟนคลับที่ “เมา” ซึ่งจ้างเขามาเล่นดนตรีตอนตีสี่ด้วย! และอีกสิ่งหนึ่งที่เขาจะเจออยู่เสมอๆ คือ การขอคำปรึกษาจากแฟนเพลงที่ส่วนหนึ่งมักจะเป็นปัญหาความรัก 

“บางทีผมก็เลือกๆ ตอบบ้าง เพราะคำพูดของเราอาจจะพาเขาไปในทางที่ผิดได้เลยนะ บางเรื่องเราสอนเองไม่ได้หรอก เพราะว่าคนตัดสินกันไม่ได้ จะมาถามกันแบบนี้ก็ไม่ได้หรอก ต้องไปเจอกับตัวเองดีกว่า ก็ถ้ามัวแต่ถามแล้วไม่ปฏิบัติมันก็จะไม่รู้สักที สมมติเรื่องความรัก ถ้ามึงชอบของมึงก็พูดเลย มึงจะได้รู้ว่าเขาชอบไม่ชอบมึง ก็จบแล้วใช่ไหม มาถามกู ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยถ้ามึงไม่ไปจัดการเอง 

“หลังๆ ผมก็จะแบบคุยในเชิงไม่เอาตัวเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขาด้วย แล้วก็ไม่ไปบังคับหรือว่าไปสอนใคร ผมไม่กล้าทำขนาดนั้น เดี๋ยวมันจะพาเราซวยทีหลังอีก ก็เลยไม่ขอพูดดีกว่า บอกว่าไปลองทำดูเถอะ อย่าถามเลยไม่อยากสอน”

หนีห่าง
– อัลบั้ม เขียนไขและวานิช

ศิลปินก็คือคนในแสงไฟที่เหมือนกับหลายคนนิยาม-เข้ามากอบโกยอะไรไปให้ได้มากที่สุดก่อนจะจากไปแบบเงียบๆ

แต่โจ้ไม่ได้คิดอย่างนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีตัวเลือกในการทำงานมากมายจากการเสนอของผู้คนหลากหลาย เขาแทบไม่รับงานเหล่านั้นเลยเพราะเขาเชื่ออยู่แค่สองอย่าง

ดนตรี-สิ่งที่เขารัก และความรู้สึกของตัวเองที่ยึดเหนี่ยวให้เขารักดนตรีและศิลปะ

โจ้บอกฉันว่าเขาไม่ได้รับมือกับความมีชื่อเสียง แต่ส่วนหนึ่งเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันตามประสาที่คนในวงการดนตรีคนหนึ่งพึงจะเจอ และเขาเชื่อในการซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง 

และการทำในสิ่งที่เขารัก แต่ยังมีความสุขกับมัน

“ตอนแรกเรามาทำเพราะว่าความสุขไง แต่หลังๆ มันเริ่มไม่ใช่ ตอนเราทำเพลงครั้งแรกเรามีความสุขฉิบหายเลย แต่หลังๆ เราต้องแต่งเพลงเพื่อคนอื่น เพื่ออะไร มันไม่มีความสุขแล้ว มันไม่ใช่ดนตรีของเราแล้ว มันเป็นดนตรีเพื่อสากล เพื่ออาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ไปแล้ว

“ไม่ได้โลกสวย แล้วก็เป็นสิ่งที่แบบว่าก็ถ้ามึงทำแล้วไม่มีความสุขมึงจะทำไปทำไม แต่มันได้ตังค์นะเว้ย แล้วก็บอกตัวเองอีก มันจริงอ่ะ โห ผมจะเป็นบ้าแล้วเนี่ย ถามตอบๆ ถามแล้วก็ตอบตัวเองด้วยนะ อย่างงานบางไม่รู้จะทำไปทำไม มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ได้เลือกนะ ผมไม่ได้เป็นคนเลือกด้วย บางทีมันไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนั้น บางทีผมก็รู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องไปอยู่ตรงนั้นก็ได้ การไปอยู่ตรงนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ตอนนี้ เริ่มมาคิดแล้ว”

“มันเกี่ยวกับที่คุณเคยต้องออกทัวร์ถี่ๆ และเจอผู้คนเยอะๆ เหมือนกับช่วงก่อนโควิดระบาดมั้ย” ฉันถามต่อ

“ใช่ มันมาจากแรงกดดันอีก มันน่าคิดนะว่า มันจะหาความคิดในด้านบวกให้ตัวเองไปตลอดก็ไม่ได้ ทุกคนแม่งเจ็บหมด บางคนเป็นโรคป่วย พูดให้มันเป็นหน้าเป็นตาก็ได้ แต่ผมไม่ไหวว่ะ อะไรที่มันไม่โอเคผมก็ไม่เอา เช่นมีคนมาติดต่อเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณายางรถยนต์ เครื่องดื่มชูกำลัง แล้วเราผอม ขอบตาดำ ให้แสนนึงนะไม่เอาหรอ แสนนึงเหี้ยอะไร ติดกูไปตลอดชีวิตนะ” โจ้ตอบคำถามของฉันก่อนเราจะระเบิดหัวเราะออกมา

“ถ้าใครอยากจะติดต่อผม น่าจะต้องผ่านบลู (ผู้จัดการส่วนตัวของโจ้) คนเดียว ในมือถือผมเห็นชื่อใครเด้งขึ้นมาแล้วผมก็ดู ถ้าสะดวกคุยผมก็จะคุย ถ้าไม่อยากคุย แม้กระทั่งเพื่อนผมก็ทำ บางทีผมก็ ถ้าผมรู้สึกว่ามันไม่โอเคกับตัวเอง ผมจะเฟดเลย มนุษย์มันเป็นกันหมดแหละ ไม่ได้หยิ่งอะไรนะ แต่มันเหนื่อย มันเหนื่อยตัวเองแล้วมันก็รู้สึกไม่อยากคุยกับใครเลยอะไรประมาณนี้ หลังๆ จะเป็นบ่อยมาก หลังๆ เริ่มจะไปหาจิตแพทย์แล้ว เพราะว่าระบบจัดการของตัวเองมันจัดการไม่ได้เลย ก็มีอยู่เป็นบางครั้งที่เข้ามาในหัวของผม มันเป็นมนุษย์มันก็เหมือนกัน 

“ผมพูดได้เต็มปากเลยนะ ผมก็มีอารมณ์หงุดหงิดเหมือนกัน เหมือนทุกคนเหมือนกันหมดแหละ เพราะว่ามันมีด้านดีด้านร้าย ด้านลบกันหมดแล้วไง ผมไม่ได้พูดให้มันหรูหราอะไรเลย ผมก็แค่ขี้เกียจพูดขี้เกียจคุย ถ้าไม่ไหวจริงผมเฟดเลยนะ ผมไม่เอาอะไรสักอย่างเลย” โจ้อธิบาย

คิดถึง
– อัลบั้ม เขียนไขและวานิช

ไม่ว่าจะสายงานอะไร สายอาชีพไหน ถึงจุดหนึ่ง ทุกคนต้องกลับบ้าน

จากสถานการณ์โรคระบาดทำให้โจ้ได้กลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่การกลับมาตั้งหลักจากความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเล่นดนตรีทุกวัน

แต่มันคือการกลับบ้านมาเจอครอบครัวที่รัก และบ้านหลังเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย

“ความสุขของผมเหรอ แน่นอนคือครอบครัวและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเนี่ยแหละ มันกลับมาก็รู้แล้วว่ามีใครรอเราอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็จะพูดแบบนี้แหละ สุดท้ายบ้านก็คือหนทางเดียวของคนที่หมดหวัง ถนนที่เดิม ต้นไม้เดิมๆ เส้นทางเดิมๆ มันอาจจะดูแคบลงไป เพราะเมื่อก่อนเรากางแขนวิ่งได้ แต่หลังๆ มันแทบจะหนักไปทั้งตัวเพราะมีอะไร ภาระ มันกลับไปอยู่บ้าน กลับไปมองชีวิตของคนในบ้านเรา ดูแลซึ่งกันและกันก็ดีแล้ว ช่วงที่ยังพอได้มีเวลาดูแลมันก็ดี ยิ่งโตยิ่งเวลาเหลือน้อย แล้วก็เสียเวลากับอะไรไม่รู้ ที่เราคิดว่ามันถูกหรือเปล่าวะ เราตัดสินใจถูกหรือเปล่า ก็คือกลับไปใช้เวลากับตัวเอง”

โจ้เล่าให้ฉันฟังต่อว่า การทบทวนตัวเองในช่วงโรคระบาดคือความท้าทายและความสับสนในอารมณ์ที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมันมีทั้งความอยาก “พัก” หรือ “หยุด” เล่นดนตรี แต่ในขณะเดียวกันมันกลับมีความกระหายที่อยากเล่นดนตรี ความอยากได้ยินเสียงไมค์ อยากเจอเพื่อนๆ ในวงการดนตรีด้วยกัน

หรือภาษาแบบสนุกๆ ที่เรียกว่า ร่างกายต้องการปะทะ

“หลังๆ ก็มีน้องแท็กโพสต์หาผมมาบอกว่า ‘คิดถึงมากเลยพี่ สองปีที่แล้วขึ้นเตือนว่าผมยังอยู่คอนเสิร์ตพี่อยู่เลย’ ผมก็แบบ ไอ้เหี้ยเอ้ย อยากไปว่ะ คอนเสิร์ตหายหมดเลย กลิ่นมันไม่เหลือแล้ว จางหายมากเลยตอนนี้ หลายๆ คนก็พร้อมจะลงสนาม เชื่อเลยศิลปินทุกคนตอนนี้ ใจจะขาดอยู่แล้ว ผมว่า กีต้าร์ต้องเปลี่ยนสายแล้ว ต้องเช็ดแล้ว ต้องตั้งสาย มันขึ้นสนิมแล้วต้องเอาสนิมออก เคาะสนิมในหัวใจตัวเองแล้ว ในหัวตัวเองหมดแล้ว พร้อม ลุย”

“วันที่ 27 พฤศจิกายนจะเริ่มทัวร์ใหม่ ผมต้องเซตทีมใหม่หมดเลยแล้วก็ต้องซ้อม มันคงไม่มีกลิ่นของสิงห์สนามแล้ว ก็คือน่าจะไปเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดเลย เพราะผมได้หยุดพักนานจนลืมเนื้อร้องเพลงตัวเองกับคอร์ดแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็เซ็ตทีมใหม่ แต่การไปครั้งใหม่นี้ จะเป็นการไปแบบที่รู้อะไรเยอะแล้ว น่าจะเข้าใจตัวเองแล้วแหละ ไม่ได้อยากเหยาะแหยะ เป็นเด็กขี้งอแงอีกแล้ว เพราะว่าทำการบ้านมา ช่วงพักทำการบ้านมาเยอะแล้ว แล้วก็พร้อมที่จะออกทัวร์แล้ว ออกทัวร์แบบเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แล้วก็ใช้ชีวิตให้มันดีมากขึ้น ก็ต้องมีอะไรที่ต้องไปต่อ ก็ยังหยุดไม่ได้ ถึงแม้ใจจะอยากหยุดก็จริง” โจ้เล่า

เดินทางมีปลายทาง
– อัลบั้ม เดินทางไกล

จากเพลงที่เขาเขียนกว่า 23 เพลง มีงานบางส่วนที่เขารักแต่ยังไม่ถูกใช้งาน หรือเอาออกมาให้ทุกคนได้ฟังและทำความรู้จัก โจ้จึงทำโปรเจคต์ Side B ที่เอาเพลงที่เขียนและไม่ถูกนำมาโปรโมทหรือเผยแพร่มาก่อนมาเรียบเรียงใหม่ให้เราได้ฟังกัน และหลังจากนั้นโจ้มีแพลนจะออกสตูดิโออัลบั้มที่ 3 ที่เขาบอกว่างานใหม่คราวนี้ จะไม่เล่าเรื่องความรักและเรื่องเศร้า

“ผมอยากออกจากกรอบมานานแล้ว ไม่อยากดาร์กแล้ว บางทีเสพมากเกินไป ตัวเจ้าของมันก็จะจม แล้วมันก็จะต้องการแต่อารมณ์แบบนั้นไปตลอด แล้วมันไม่ไปไหนมันไม่ก้าวหน้าด้วย มันจะทำให้สมองแม่งมีแต่เรื่องนี้ ทุกคนก็ไม่อยากให้บลูส์แล้ว ฟีลบลูส์มันเจ็บปวดอะไรอย่างนี้ อยากให้มีฟีลสร้างสรรค์ในเชิงบวก ให้แบบว่ามีแรงฮึด ‘เนี่ย พี่โจ้เขียนเพลงนี้นะ’ ทำไมเราต้อง เราต้องไปต่อในชีวิตดิ เราท้ออะ ทำไมเพลง เพลงพาคนอื่นดิ่งแล้ว อยากจะเป็นเพลงที่ช่วยคนอื่น ถ้าเพลงที่ช่วยตัวเองบ้าง คือบอกถึงตัวเองว่าความฝันมันมาถึงจุดนี้เพราะอะไร ลองเขียนเพลงที่เกี่ยวกับตัวเอง ความฝันตัวเองดู ก็ลองคิดเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความฝัน ที่มันพาคนอื่นไปได้บ้าง มันถึงจะ ชีวิตมันถึงจะได้มีอะไรขึ้นมา มีสีสันขึ้นหน่อย” โจ้อธิบายถึงคอนเซปต์อัลบั้มใหม่ที่เราน่าจะได้ฟังกันในไม่ช้า

เราถามความหมายสุดท้ายถึงนิยามความหมายของดนตรีและตัวเขา

เขาบอกว่า มันคือสมุดบันทึกที่เล่าเรื่องราวและความทรงจำ

ที่ไม่ว่าเมื่อไหร่เราเปิดอ่านมัน เราจะยิ้มให้มันเสมอ

“แต่ละเพลงมีเรื่องราวของมันไม่เหมือนกัน มันเป็นเหมือนสมุดบันทึกที่กลับมาเปิดอ่านแล้วก็จะยิ้ม แบบ ไอ้สัตว์ กูแต่งไปได้ยังไงวะเนี่ย (หัวเราะ) ก็จะเป็นเรื่องราวของหลายๆ คนหลายๆ อย่าง ในวิถีชีวิตของเรา 

“เช่นตอนนั้นเราไปทำอะไรแล้วถึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมา ตอนนั้นไปบูเดอช่ามา แปลว่าใกล้ชิดดวงดาว เพลงนี้ก็เลยชื่อบูเดอช่า หรือมีครั้งหนึ่งนั่งล้อมวงกับเพื่อนๆ คุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบกัน มีบทกลอนอยู่ในเพลงนี้ เขียนว่า หลับตาถอนหายใจ ชีวิตราคาแพง จงยิ้มเพื่อเรี่ยวแรง เดินต่อ เฮ้ย ตอนนั้นกูคิดประโยคนี้ได้ไงวะ ก็ได้บูเดอช่ามาหนึ่งเพลง 

“เพลงเป็นเหมือนหนังสือเรื่องราวของการเดินทางของชีวิต ก็มันเป็นเรื่องเล่าของผม อาจจะตายไปแล้วแต่มันก็ยังอยู่ เพลงมันเป็นอย่างนี้แหละ แม้ตัวตนผมจะไม่อยู่แล้วแต่เพลงมันยังอยู่ แล้วมันก็จะอยู่ตลอดไป มันก็ถือว่ามีความสุขนะที่ได้ทำผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา แล้วตัวเองรู้สึกว่าโอเคแล้ว หรือว่าคนอื่นอาจจะไม่โอเคก็ตาม แต่เราก็พอใจในสิ่งที่เราทำแค่นี้ วันไหนเราหายไป เราก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไรเลยนะ เราโอเคแล้ว ก็ฝากให้มันอยู่ไปกับทุกคนนะ ถึงแม้ว่าจะไม่มีเราอยู่ในวันนี้ก็ตาม” โจ้ส่งท้าย

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า