fbpx

กะเทยประท้วง ปากเสียงกะเทยปีสองพันผ่านภาษาอีสานสุดนัว

ฉันภูมิใจ พอใจล่ะที่เป็นกะเทย
ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย
กะส่างเถาะเว้ยปากคน
เริ่ดซะอย่างสวยแบบอดทน
ซัง ซังคน ซังคนดูถูกกะเทย

เนื้อเพลงสื่อสารชัด ตรงไปตรงมาถึงความภาคภูมิใจในตัวตนของ “ชาวเรา” ด้วยภาษาอีสานที่ร้องแล้วถึงใจสุดๆ แต่ก็สะท้อนภาพการถูกกดขี่ กดทับของอัตลักษณ์ “กะเทย” ได้ชัดเจนในเนื้อร้องแค่ Verse เดียว “กะเทยประท้วง” จึงเป็นแทร็กหนึ่งของปอยฝ้าย มาลัยพร ที่เราขอซูฮกในความคมคายของการฉายฉากทัศน์เพศหลากหลายในยุคปี 2000 ได้ชัดมากๆ

หนึ่งในเพลงโปรโมทจากอัลบั้ม “วอนฟ้า” ที่วางแผงเมื่อปี 2547 ที่เล่าถึงเนื้อหาชีวิตของกะเทยในสังคมไทย ที่ตอกย้ำว่าเพศหลากหลายเริ่มได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งในเชิงการถูกสร้าง Stereotype ในสังคมที่ถูกนำเสนออย่างการที่กะเทยเป็น “ครูสอนเต้น” หรือคนกลุ่มหนึ่งที่เต้นสนุกสนานหน้าเวทีหมอลำหรือหน่าฮ่านผ่านเนื้อที่บอกว่า “โลกนี้ต้องขาดสีสัน ถ้าบ่มีหมู่ฉันล่ะกะลองเบิ่งดู บ้านได๋บ่มีกะเทย ถือว่าเช้ยเชย บ่ทันหมู่”

แม้กระทั่งอาชีพการงานในบางสาย ที่หลายคนยังหลับหูหลับตาไม่ยอมรับคนอัตลักษณ์นี้เข้าสู่วงการ แต่ก็มีคนเพศหลากหลายอยู่ในวงสังคมอาชีพเหล่านั้นจำนวนมาก อย่างเช่นวงการการศึกษาที่เนื้อเพลงเล่าว่า “เดี๋ยวนี้ก็ยอมรับเหมิ๊ดแล้ว ด๊อกเตอร์ด๊อกแต๋วกะออกหน้าออกตา”

แต่ใจความสำคัญที่มิวสิกวิดีโอเล่าออกมาสอดคล้องกับเนื้อเพลงได้เป็นอย่างดีคือการกดทับเพศหลากหลาย ทั้งการสร้างค่านิยม “บ้าผู้ชาย” ในเนื้อร้อง “ซื้อเหล้าขาวเลี้ยงผู้บ่าว ยามหมอลำหย่าวกะออกท่าลีลา” หรือ “ขั่นสิเอาฉันต้องเอาผัว เอาผัวเอาผัว เอาผัวกะยังว่า” โดยมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ก็มีเนื้อเรื่องที่ปอยฝ้าย ซึ่งรับบทเป็นกะเทยถูกแฟนหนุ่มตีและโดนไล่ออกจากบ้าน จึงนำไปสู่การ “ประท้วง” ของกะเทยตามเนื้อเพลง

ที่ชัดที่สุดคือ การตีแผ่การต่อสู้ของ “กะเทย” เพื่อการยอมรับในสังคม ซึ่งในยุคนั้นการให้คนเพศหลากหลายต้องกลับไปเป็นคนในกรอบเพศยังเป็นสิ่งหลักที่ใช้แก้ปัญหาอยู่ อย่างเช่นเนื้อร้อง “คั่นสิให้ฉันเป็นผู้ชาย ฉันขอยอมตาย ล่ะยอมตายดีกว่า”

ถ้ามองในแง่ของการสะท้อนสังคม “กะเทยประท้วง” ถือว่าสื่อสารได้อย่างครบถ้วนในมิติการถูกกดทับ การตีแผ่วัฒนธรรมป๊อปของสังคมและเพศวิถี และถ้าหาหยิบเพลงนี้มาพูดถึงในเชิง Political Correctness มากขึ้น เราคงเห็นบาดแผลของมันเยอะพอสมควร

แต่ถ้าพูดถึง “กะเทยประท้วง” ที่เป็นบทบันทึกความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย เราว่ามันทำงานได้ดี และยังคงสะท้อนตัวตนของ “ชาวเรา” ได้จนถึงวันนี้

IMAGE: TOPLINE DIAMOND

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า