fbpx

กรุณา บัวคำศรี: ในวันที่ข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ส่องสื่อ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563


ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลายคนอาจจะสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกโทรทัศน์จากการนำเสนอข่าวไปมากพอสมควร แต่รู้หรือไม่ว่าในยุคแอนะล็อกที่ทุกคนคิดถึงกัน การนำเสนอข่าวเป็นแบบไหนบ้าง? แล้วปัจจุบันสื่อยังขาดตรงไหนไปไหม? ทำไมสื่อไม่เล่าเนื้อหาในทวิตเตอร์ล่ะ? รวมไปถึงเลนส์มุมมองต่อข่าวต่างประเทศในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

วันนี้ The Modernist จึงชิงตัว “คุณกรุณา บัวคำศรี” ผู้ดำเนินรายการ รอบโลก Daily ทาง PPTV HD ช่อง 36 มาร่วมถกถามถึงประเด็นต่างๆ ในวงการโทรทัศน์ที่ไม่เชื่อมต่อกับโลกของทวิตเตอร์ว่าเกิดอะไรขึ้น? แล้วบทบาทของสื่อในยุคนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป? รวมไปถึงว่าทำไมคนไทยถึงต้องให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศล่ะ?

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ทำงานบนหน้าจอทีวีครั้งแรกตอนไหน

ตอนนั้นไอทีวีมันเกิดช่วงปี 1995 (พ.ศ. 2538) แล้วก็ตอนนั้นหลังจากที่จบ พี่ทำงาน Bangkok Post อยู่ 2 ปี แล้วก็ได้ถึงไปเรียนอังกฤษ แล้วพอกลับมาก็มาทำไอทีวี ตอนที่อยู่ Bangkok Post ก็ไม่ได้ออกทีวี เพราะมันเป็นหนังสือพิมพ์ แล้วก็พอกลับมาจากอังกฤษก็มาเริ่มทำงานไอทีวี ครั้งแรกที่ออกทีวีก็คืออยู่ไอทีวี ปี 1997 หรือว่าเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ซึ่งก็ตื่นเต้นมาก เพราะว่าทีวีตอนนั้นมันเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ข่าวสาร แต่ว่าตอนนั้นรัฐบาลเป็นส่วนที่มีบทบาทมากกว่าทีวี เพราะตอนนั้นทีวีก็จะจะถูกคุมเยอะนะคะ เพราะอยู่ในช่วงของการที่เรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

แต่ว่าช่วงที่เริ่มทำไอทีวี เป็นช่วงที่ต้องบอกว่าประชาธิปไตยเบ่งบานมาก สื่อของไอทีวีเกิดได้เพราะหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แล้วพี่ก็เป็นนักศึกษาและก็เป็น Activist ช่วงพฤษภาทมิฬด้วย เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราต่อสู้มาในทางการเมืองเรื่องความคิดช่วงพฤษภาทมิฬ มันคือผลผลิตอันนึงของการเกิดขึ้นของไอทีวีก็เลยอยากทำที่นั่น ช่วงที่ทำไอทีวีตอนออกทีวีครั้งแรกเนี่ยเป็นช่วงรุ่งเรือง เขาบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงรุ่งเรืองของอาชีพคนทำข่าว เพราะว่าอินเตอร์เน็ตยังไม่มี หรือถ้ามีก็ยังช้ามาก เพราะฉะนั้นคนทำทีวีจะเป็นที่พึ่งของผู้ชม

ประชาธิปไตยในยุคทีวีอนาล็อก กับ ทีวีดิจิทัล ต่างกันไหม

ช่วงที่พี่เริ่มทำข่าวเป็นช่วงที่มีช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี แต่ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ที่แตกต่างจากโทรทัศน์อีก 5 ช่อง เกือบจะโดยสิ้นเชิง เพราะแต่ก่อนสื่อทีวีจะเป็นสื่อที่จะทำตามโปรโตคอล ถ้าสมมติแต่ก่อนใครทันดูข่าวสมัยนั้น เวลาข่าวขึ้นมาก็จะต้องเป็นข่าวนายกรัฐมนตรีก่อน เสร็จแล้วก็จะเป็นข่าว ผบ.ทบ. แล้วก็จะเป็นข่าวของรัฐมนตรีมหาดไทย จะเรียงลำดับความสำคัญของบรรดาคนที่เราเรียกว่าบุคคลสำคัญในประเทศมาเรื่อย ๆ มันจะไม่มีข่าวชาวบ้าน ข่าวเศรษฐกิจ หรือข่าวอาชญากรรม

พอตอนไอทีวีมันเริ่มขึ้น ไอทีวีสร้างความต่าง เนื่องจากไอทีวีเกิดมาเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 แล้วส่วนหนึ่งที่เกิดมาได้เพราะช่วงนั้น คุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงหลังเหตุการณ์ท่านก็เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการนองเลือดช่วงพฤษภาทมิฬ เนื่องจากประชาชนถูกปิดหูปิดตาในการรับรู้ข่าวสาร คือพี่เป็นนักศึกษาอยู่ ช่วงนั้นก็เป็นระดับแกนนำนักศึกษา คนที่ออกมาชุมนุมจำนวนมากรู้สึกว่าอยากจะออกมาร่วม เพราะว่าเขาไม่สามารถหาความจริงจากสื่อมวลชนได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นคนออกมาตามถนนเพื่อออกมาหาข้อมูลข่าวสารเอง แล้วมันก็นำมาสู่การปราบปรามประชาชน และก็เสียชีวิตหลายร้อยคน ช่วงนั้นคุณอานันท์ก็เลยคิดว่า ถ้าเกิดเรามีสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่มันมีความเป็นอิสระ ที่สามารถรายงานสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดแบบนี้ได้ในอนาคต ไอทีวีก็เลยเกิดขึ้นมา

ช่วงที่พี่เข้าไปทำไอทีวี บรรยากาศของการทำงาน หรือวิธีการทำงานของเรามันจะแตกต่างจากโทรทัศน์ช่องอื่นค่อนข้างจะสิ้นเชิง ข้อดีของมันก็คือไอทีวีมันทำแล้วมันได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ มันเกิดการดึงช่องอื่นให้เริ่มทำตามแบบที่ไอทีวีทำ แล้วก็ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นหลังพฤษภาทมิฬเนี่ย บรรยากาศประชาธิปไตยมันเปิดมาก เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าตรวจสอบรัฐบาลได้มากกว่าช่วงอื่น ๆ ก่อนพฤษภาทมิฬ การรายงานข่าวทำได้ยากกว่า ตอนนั้นเป็นนักข่าวอยู่ Bangkok Post เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้อิสระขนาดนั้น แต่ว่าพฤษภาทมิฬมันเป็นช่วงเปลี่ยน มันไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะ Landscape ทางการเมือง แต่เปลี่ยนเรื่องของความมีเสรีมากขึ้นของนักข่าวที่จะทำงานด้วย เพราะฉะนั้นช่วงที่มี 6 ช่องตอนนั้น ถ้าใครอยู่ไอทีวีช่วงนั้นจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกว่า เราสามารถทำได้แทบทุกเรื่อง ถามว่ามีคนห่วงไหม? สมมติว่าเราไปทำเรื่องส่วยตำรวจ มันมีอยู่แล้ว คนก็อาจจะรู้สึกว่าอย่าไปยุ่งกับเขาเลย แต่ว่าถ้าเกิดเราทำแล้วประชาชนเห็นว่าเราทำงาน ประชาชนจะปกป้องเราเอง

คนที่ทำข่าวตอนนั้นจะรู้สึกว่า ถ้าเราทำข่าวเรื่องการตรวจสอบแล้วประชาชนอยู่ข้างเรา เราไม่กลัว ในขณะที่ตอนนี้เราจะรู้สึกบรรยากาศตอนนั้นมันไม่ค่อยมีเท่าไหร่ พี่มองว่านอกเหนือจากเรื่องบรรยากาศทางการเมืองแล้ว มันยังเกิดขึ้นกับเรื่องของบรรยากาศ และก็ Landscape ของสื่อที่มันเปลี่ยนไปเยอะมากด้วย เพราะว่าตอนนี้เรามีทั้งสื่อที่เราคุยกันอยู่ ที่อาจจะไม่เป็นสื่อทางเลือก เรามีสื่อกระแสหลักอย่างทีวี 20 ช่อง และมีหนังสือพิมพ์ มีเพจ มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย คนจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อหลักก็ได้ สื่อหลักจะรู้สึกว่าเริ่มสูญเสียน้ำหนักในการที่ประชาชนจะพึ่งพาได้ แล้วมันอยู่ในช่วงการแข่งขัน ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะหาที่ยืนให้ตัวเอง โดยบางที่อาจจะข้ามเส้น แต่ว่าหน้าที่เดิมที่มันเคยทำ มันก็ทำได้น้อยลงด้วย ก็คือการตรวจสอบเข้มข้น ตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ตั้งแต่เรื่องการเมืองจนถึงเรื่องของการทุจริต หรือว่าแม้แต่เรื่องของคดีฆาตกรรม หรืออะไรก็ตาม

มองอย่างไรกับการนำเสนอข่าวเชิงเรียลลิตี้ที่เกิดขึ้น

พี่มองว่ามันต้องแยก 2 อัน เวลาเราบอกว่าการเสนอข่าวเชิง Realty ตัวพี่ไม่ค่อยติดเรื่องของลีลาการนำเสนอ จะเป็นเรื่องข่าวหรือจะเป็นอะไรก็ตาม พี่รู้สึกว่ายุคสมัยนี้มันเป็นเรื่องที่แบบ คุณไม่ต้องมานั่งอ่านข่าวตัวแข็งทื่ออีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นคุณสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ คิดอะไรก็ตามที่มันเป็นเทคนิคในการถ่ายทอดได้

แต่ที่พี่จะไม่ทำเลย แล้วรู้สึกว่าบางทีดูแล้วอาจจะรับไม่ได้ ก็คือเรื่องของ Content เราต้องแยกระหว่างลีลากับ Content คนบางคนอาจจะมี Content ที่น่าเบื่อ เป็นเรื่องแบบว่าวิชาการจังเลยแต่ว่าเขามีลีลาวิธีการในการอธิบายที่สนุกสนาน อันนั้นพี่รู้สึกว่าพี่รับได้ ถ้า Content มันอยู่ในกรอบที่มันยึดอยู่ในหลักการของการทำหน้าที่สื่อมวลชนก็คือ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ของคนที่ตกเป็นข่าว, ไม่ปรุงแต่งเรื่องที่มันเป็นเหตุการณ์ เพราะเราคือสื่อมวลชน เรารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ถึงแม้ว่าเราจะต้องมีการวิเคราะห์อะไรก็ตาม แต่ว่าสิ่งที่ไม่ทำก็คือการไปเสริม ไปปั้น ไปแต่งมัน และเรื่องที่มันไม่เกี่ยวกับเรื่องของเหตุการณ์ หรือความเป็นข่าว เช่น เรื่องไสยศาสตร์ พี่รู้สึกว่าอันนั้นมันไม่เคยอยู่ในตำรา หรือว่าในทฤษฎีไหนเลยของสื่อสารมวลชน

ถ้าแยกเป็นสองเรื่อง ถามว่ารับได้ไหมกับเรียลลิตี้ข่าว พี่รับได้ถ้าเรียลลิตี้ข่าวมันเป็น Based on สามหัวข้อที่ว่ามา ก็คือคุณยืนบน Base ของเหตุการณ์ความเป็นจริง คุณไม่ได้ไปเสริมแต่ง หรือละเมิดแหล่งข่าว กับคุณไม่ได้หลุดออกจากกรอบของการทำงานในแง่ข้อมูล คือไปเป็นเรื่องความเชื่อ ผีสางปีศาจ อันนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

การนำเสนอข่าวในทุกวันนี้ ให้อะไรกับสังคม

อันนี้ตอบยากมาก เอาในฐานะของคนที่ทำข่าวก่อน “ข่าวให้อะไรกับสังคม” พี่อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า “ข่าวควรให้อะไรกับสังคม” ถ้าเกิดข่าวให้อะไรกับสังคม เราจะต้องตอบกว้างมาก เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนให้ แต่ถ้าบอกว่าข่าวควรให้อะไรกับสังคม มันจะแบ่งได้ 2-3 เรื่อง อันที่ 1 ก็คือเราต้องเป็นตัวกรองข้อมูล พี่ว่าทุกวันนี้คนมีข้อมูลเยอะมาก แต่ปัญหาคืออันไหนมันจริง อันไหนมันโม้ อันไหนว่าเขาลือ อันไหนมันเป็นเรื่องหลอกลวง หรืออะไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของนักข่าว นอกเหนือจากการที่จะหาข้อมูลแล้ว มันมีหน้าที่ในการกรองกลั่นข้อมูลด้วย ต้องยอมรับว่าอาชีพของนักข่าว คือคนที่ถูกจ้างมาเพื่ออยู่กับข้อมูลตลอดเวลา ถ้าเราไปถามแม่ค้าขายห่อหมกที่ตลาด ถามว่าเขามีข้อมูลไหม เขามี แต่ว่าหน้าที่เขาไม่ได้ทำมาหากินกับเรื่องของข้อมูล เขาจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลที่มันเกิดขึ้นมันเกิดจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหน้าที่ของนักข่าว นอกเหนือจากหาข้อมูลก็คือ ต้องกลั่นกรองข้อมูล ทีนี้ข้อมูลมันเยอะมาก เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะเสพข้อมูล พี่เข้าใจ และพี่รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของนักข่าว ก็คือการบอกว่ามันสำคัญกับเขายังไง

ในวันที่ข้อมูลมันท่วมท้นไปหมด คนที่เป็นนักข่าวก็มีหน้าที่ในการหาแก่นของข้อมูล สมมติว่าวันนี้เราเปิด Facebook มา ข้อมูลเยอะแยะไปหมด ถ้าเราเป็นนักข่าว เราจะเลือกสัก 5 ข่าวให้คนดู เราจะเลือกอะไรบ้าง นั่นแหละคือหน้าที่นักข่าว และมันต้องเป็นข่าวที่ในที่สุดมันให้ประโยชน์กับคนดู เพราะฉะนั้น สิ่งที่สื่อจะทำให้คนรับรู้ มันจะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ หาข้อมูล, กรองข้อมูลที่เป็นแก่น หาทางวิเคราะห์มันออกมา และมันต้องเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์

ถามว่าวันนี้ข่าวให้อะไรกับคน ถ้าเกิดพูดในฐานะของคนที่ให้ข้อมูลของคนที่เป็นนักข่าว นี่คือสิ่งที่พี่อยากจะให้ แต่ว่าถ้าเกิดไปถามคนตอนนี้ มันก็ตอบลำบากว่าคนอยากได้อะไร คนบางคนอาจจะได้อย่างที่พี่บอก แต่คนบางคนอาจจะรู้สึกว่าเขาอยากดูเพื่อผ่อนคลายเพื่อบันเทิง หรือเพื่ออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น Landscape ของสื่อมันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ คนดูก็มีความคาดหวังต่อการดูรายการทีวีอื่น ๆ เนี่ย แตกต่างจากคนเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก

ถึงกระนั้น ถ้าเราจะเอาให้แคบลงมา พี่ว่าส่วนใหญ่มันเป็นเพราะว่าสื่อทำให้ประชาชนสับสนด้วย ถ้าเรายึดเรื่องของหน้าที่สื่อ คือคนที่ให้ข้อมูล กรองข้อมูล กลั่นข้อมูล แล้วเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ถ้าเรายึดตรงนั้นไม่ได้ คนดูเขาก็จะไม่รู้สึกว่าเขาเรียกร้องอะไรมากกว่านี้ ถ้าเกิดเขาอยากจะดูรายการที่มันทำให้เขายิ้ม หัวเราะ สนุกสนาน มันอยู่ในข่าวได้ แต่ว่าหลักๆ มันก็ควรจะถูกจัดอยู่ในอีกกลุ่มหนึ่ง

เพราะฉะนั้นถ้าเกิดถามย้อนกลับมาว่า ข่าวควรให้อะไรกับคนดู อย่างที่บอกถ้าไปถามคนดูตอนนี้ พี่ไม่รู้ว่าคนคิดยังไง แต่พี่อนุมานเอาว่าคนดูก็น่าจะต้องการสิ่งที่ถูกกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว แล้วเป็นการกลั่นกรองที่ผ่านการวิเคราะห์ การสังเคราะห์อย่างดี ผ่านการลงพื้นที่ ผ่านการพูดคุยกับคน ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้เจอ แล้วมันเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ประโยชน์ที่พี่พูดอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ที่มันพลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน หรือว่าเปลี่ยนอะไรก็ตาม มันอาจจะเป็นประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ มันอาจจะเป็นเรื่องที่รู้สึกว่าเราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน อาจจะเป็นเรื่องที่ดูแล้วมันเปลี่ยนทัศนคติ หรือเปลี่ยนชีวิตเขาได้ คำว่ามีประโยชน์มันก็มีหลากหลาย อาจจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นอะไรเนี่ย มันต้องขึ้นอยู่ที่ Base สำคัญก็คือ ข่าวมันต้องเป็นข่าว แต่ทุกวันนี้ข่าวมันไม่เป็นข่าว มันเป็นอะไรก็ไม่รู้

อยู่ในสนามข่าวมานาน เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม

ก็เห็นเยอะนะ ถ้าแยกออกเป็น 2 อย่างก็คือ เรื่องของเหตุการณ์ กับเรื่องของ Content จริง ๆ แล้วมันก็มีเรื่องที่มันเปลี่ยนไปเยอะ แต่ก็มีบางเรื่องที่มันไม่ได้เปลี่ยนไป เมื่อ 20 ปีที่แล้วพี่เคยทำข่าวการเมือง ทุกวันนี้เหมือนการเมืองก็ไม่ได้ค่อยได้ไปไหนเท่าไหร่ มันวนกลับมาที่เดิม แต่บางเรื่องมันก็ไปไกลนะ บางประเด็น เช่น เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของการพัฒนา เรื่องของการทำธุรกิจ เศรษฐกิจ มันไปเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องของ Content มันก็มีการเรียกว่ามี Dynamic เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

แต่ว่าสิ่งที่มันเปลี่ยนไปเยอะมากเลยก็คือ แต่พี่ไม่แน่ใจเปลี่ยนไปทางที่ดีหรือเปล่า เท่าที่พี่จำได้สมัยที่ทำข่าวใหม่ๆ พี่รู้สึกว่ามันสนุกมากกว่านี้ ถ้าจะเล่าแบบไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน แต่ก่อนเวลาเราทำข่าว เรารู้สึกว่าต้องไปทำเรื่องนี้ให้ได้ เพราะว่าถ้าเรื่องมันออกไป คนอยากจะบอกว่า มันต้องอย่างนี้สิ มันเปลี่ยนได้ มันทำได้ มันทำให้ฉันแบบว่า โรงงานนี้เลิกปล่อยน้ำเสีย อะไรพวกนี้คือมันเหมือนกับว่าเรามี Purpose ในการทำงาน

Purpose ในการทำงานของนักข่าวคือไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว เรื่องเงินด้วยเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ว่า Purpose ของนักข่าวเนี่ยคือมันรู้สึกว่า เรื่องที่ตัวเองทำ มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตอนนี้พี่มีความรู้สึกว่า มันก็น่าสงสารนะ สำหรับคนที่ทำสื่อ พอมันเยอะมาก คนที่ทำสื่อก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยขนาดไหน มันเหมือนกับพอโลกมันหมุนไปเร็ว ข้อมูลไปเร็ว คนมีความรู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่ได้อยู่นาน พอทำข่าวไปมันเหมือน ทำไปแล้วหาย พอไม่มี Feedback หรือไม่มีสิ่งที่เราเห็นว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกเกิดขึ้น คนที่ทำมันก็ท้อ

ถ้าเราจะไปโทษว่าสื่อทำอะไรก็ไม่รู้วันนี้ พี่ว่าส่วนหนึ่งมันก็เกิดขึ้นจากที่คนบางคนที่ตั้งใจทำงาน บางทีรู้สึกว่าทำไปแล้วคนมันไม่เห็นอะไร เพราะฉะนั้นถามว่า 20 ปีที่ทำข่าวมา มันเปลี่ยนไปขนาดไหน มันมีทั้งเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และก็เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง แต่ก่อนเรามีเวลาทำงานมากกว่าวันนี้ ในการที่จะทำ หรือบ่มเพาะตัวเองกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเขาบอกให้พี่ไปทำเรื่องส่วย เรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องอะไรก็ได้ เราจะไม่รู้สึกว่ามันมีการแข่งขัน แบบเอาเป็นเอาตาย ในแง่ของจำนวนผู้เล่นมากขนาดนี้ ฉะนั้นเราจะมีเวลามากขึ้นในการที่จะหาข้อมูลในการที่จะคิด พอเราไม่ได้ไปยื้อแย่ง  เราจะรู้สึกว่าแหล่งข่าวได้รับการ Respect แหล่งข่าวก็ Respect กับนักข่าว เพราะว่าการที่มีคนทำไม่เยอะมาก มันทำให้เรามีเวลาเยอะขึ้นในการทำงาน ไม่ต้องไปแข่งขันโดยที่ไม่คิดอะไร

แต่สมัยนี้ Luxury แบบนี้มันหาได้น้อยมาก คือทุกคนถูกผลักเข้าไปอยู่ในสนาม ซึ่งมันเต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ พี่ว่าหลายๆครั้ง พี่ว่ามันน้อยลงกว่า 10 – 20 ปีที่ผ่านมามาก ในแง่ของคุณภาพของข่าว แต่โชคดีที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ถามว่ามันเปลี่ยนไปเยอะไหม ขึ้นอยู่กับว่าเรามองในแง่ไหน แต่พี่รู้สึกว่าแต่ก่อนทำข่าวสนุกมากกว่า ในแง่ที่เรารู้สึกว่าพอทำแล้วมีการเปลี่ยนแปลง คนอยู่ข้างหลังเรามาก คน support คนให้เกียรตินักข่าวในการทำงานมากกว่าสมัยนี้

คนไทยพร้อมเสพและพร้อมสนับสนุน Quality Journalist อย่างแท้จริงเหรอ

คือจริง ๆ ยกตัวอย่าง New York Times กับ The Guardian เป็นตัวอย่างที่ดีมาก แต่เราก็เหมือนลืมว่า วิธีการเสพข่าวของเรา มันต่างจากการเสพข่าวในต่างประเทศพอสมควร ยกตัวอย่าง แฟนพี่เป็นคนเยอรมัน เขามักจะบอกว่า พี่นั่งดูข่าวของเยอรมันหรือของที่อื่นเนี่ย หรือแม้กระทั่งข่าวใน New York Times หรือ The Guardian มันเป็น Quality Journalism แล้วมันได้เวลา มันได้ resource ในการทำงาน แล้วคนพร้อมจ่าย ถ้าเราพูดถึงตรงนั้น คนที่พยายามทำเรื่องนี้ในประเทศไทย อาจจะเริ่มมีบ้าง แต่พี่ไม่แน่ใจว่าจะไปถึงจุดนั้นได้หรือเปล่า เพราะว่าอันที่หนึ่ง เรารู้สึกว่าเราถูกบอกตลอดว่า Information หรือข่าว มันคือของฟรี หนังสือพิมพ์ไม่ต้องพูดถึง เราต้องซื้อ แต่คนทำทีวี คุณเปิดมาดู ค่าใช้จ่ายในการดูมันคือการดูโฆษณา อันนี้มันเป็นการทำให้คนรู้สึกว่าทำไมฉันต้องจ่ายเงินเพื่อข้อมูลข่าวสาร

ในเมื่อมันเป็นของฟรีหรือเปล่า

ใช่ ยกเว้นหนังสือพิมพ์ที่เราต้องซื้อ เราเข้าไปในเว็บไซต์หรือเพจต่าง ๆ คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเลย แต่จริง ๆ แล้วมันมีค่าใช้จ่ายแฝง นั่นคือคุณดูโฆษณา แต่คนไม่รู้สึกเขาจะต้องควักเงินในกระเป๋าจ่าย เราไม่เคยมีแนวปฏิบัติแบบนี้ คือการจ่ายเงินเพื่อจะดูโทรทัศน์ เราไม่ต้องจ่าย อย่างในอังกฤษ คุณดู BBC ไม่ได้ฟรีนะ มันมีค่า license จำไม่ได้ว่าเดือนหนึ่งปอนด์เท่าไหร่ แต่ประเทศไทยมันไม่เคยมีข้อปฏิวัติว่าเราดูอะไรต้องเสียเงิน มากไปกว่านั้นคนทำทีวีจะรู้ เราทำเราต้องคิดถึงคนดูมากเลยว่า คุณอยากดูอะไรป้อนให้หมดเลย แล้วคนดูก็จะรู้สึกว่ามันก็มีค่าใช้จ่าย ก็คือเขาดูโฆษณา แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เขาไม่รู้สึกว่าเขาต้องควักเงินในกระเป๋ามาจ่าย

พี่เลยไม่แน่ใจว่าถ้าจะสร้าง Quality Journalism แล้วเก็บเงินแบบที่ New York Times หรือ The Guardian ทำ มันเป็นไปได้แค่ไหน จริง ๆ มันมีนะ อย่างเว็บไซต์ประชาไท พยายามทำ Investigative พยายาม Need Journalism มันก็จะมี donation แต่มันไม่ได้เป็นกระแสหลักเท่าไหร่ กระแสหลักของสื่อไทยคือคนรู้สึกว่าข่าวสารเป็นเรื่องที่เสพได้ฟรี

ผู้สื่อข่าวมีน้อยกว่าพิธีกรข่าว คิดว่ามีผลกระทบกับคุณภาพข่าวในปัจจุบันไหม

มีมาก เพราะตอนนี้พี่สงสารนักข่าวมากนะ รู้ไหมว่าแต่ก่อนนักข่าว สิ่งที่เขาจะได้ทำคือการบ่มเพาะตัวเอง ได้สร้างงานของตนเอง ภาษาหนังสือพิมพ์เขาเรียกว่าได้ byline พี่ทำหนังสือพิมพ์ พี่ออกไปทำข่าว พอพี่ได้ byline เขียนชื่อกรุณา บัวคำศรี พี่รู้สึกภูมิใจมากที่เราออกไปเสี่ยงตายแล้วกลับมานั่งเขียนแล้วเขียนชื่อกรุณา พี่จำได้ พี่ทำบางกอกโพสต์ พี่เขียนงานแล้วข้างล่างเขียน by กรุณา บัวคำศรี พี่เอาหนังสือพิมพ์ตรงนั้นไปตัดกรอบเก็บไว้เลยนะ

เพราะฉะนั้นมันมีความหมายกับเวลาคนที่ทำงานในพื้นที่มากเวลาเราได้ byline มันได้เครดิต ตอนที่เราทำงานทีวีใหม่ ๆ พี่ลองทำข่าวแผ่นดินไหว ไปต่างประเทศ รู้ไหมว่า moment ที่มันทำให้ชื่นใจที่สุดคือ ดิฉัน กรุณา บัวคำศรี รายงานจากที่นู่นที่นี่ นักข่าวแต่ก่อนมันมีตัวตน เพราะว่าเราเห็น เราใช้สมองน้อย ๆ ของเราในการประมวลวิเคราะห์ข้อมูล เรียบเรียงออกมา แล้วรายงานออกมา แล้วบอกว่า ดิฉัน กรุณา บัวคำศรี รายงานจากที่นู่นที่นี่

แต่ตอนนี้นักข่าวน่าสงสารมาก เพราะมีหน้าที่แค่ไปนั่งรอที่ทำเนียบรัฐบาล ที่รัฐสภา อะไรก็ตาม แล้วก็ส่งภาพส่งอะไรมา แล้วผู้ประกาศซึ่งบางคนไม่เคยออกภาคสนามเลย มานั่งคุยเป็นวรรคเป็นเวรเลย ในขณะที่นักข่าวบางคน พี่นั่งคุยด้วยบอกว่า นี่พูดอะไรกันวะ แล้วสิ่งที่มันทำให้เป็นอย่างนั้นก็คือ ความรู้สึกของคนที่ทำทีวีรู้สึกว่าทุกอย่างจะต้องทำให้เป็นการคุยกัน คุยข่าวกัน คนจะได้ย่อยง่าย ๆ ซึ่งพอวิธีนี้เป็นกระแสหลักในสื่อทีวี มันก็เลยทำให้คนที่วิ่งตากแดดตากฝนหาข่าวมันไม่มีตัวตนอีกต่อไป ซึ่งในความเห็นพี่ พี่รู้สึกว่าเสน่ห์มันหายไป อันนี้อันที่หนึ่ง

อันที่สองคือ เอาเข้าจริง ความรู้สึกอินกับเหตุการณ์ ความเข้าใจเรื่องอะไรก็ตาม จากพื้นที่ จากตัวนักข่าวมีความหมายมากกว่า แต่พอกระแสการคุยข่าว การเอาผู้ประกาศสองคนมานั่งคุยกัน แล้วเอาภาพอะไรมาโดยที่ไม่รู้ว่าใครถ่ายใครไปทำแล้วมานั่งคุยกันสองคนสามคนกลายเป็นกระแสหลัก มันทำให้คนที่ออกไปข้างนอกมันไม่มีพื้นที่ต่อไป แล้วที่น่าเป้นห่วงคือต่อไปมันจะไม่มีใครอยากไปทำงานแบบนั้น หรือถ้ามีมันอาจจะไม่ใช่คนที่ qualified พอ จะใช้เด็กไปหรือใช้ใครก็ได้ เพราะแค่ไปนั่งรอแล้วเอาไมค์ไปจ่อ แล้วเอาภาพมาให้ผู้ประกาศนั่งคุยกัน เพราะฉะนั้นพี่ว่ามันเป็น trend ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พี่ไม่ได้ว่าการเล่าข่าวไม่ดี

แต่พี่รู้สึกว่าจริง ๆ มันควรเริ่มแบบที่พี่สรยุทธเริ่ม เพราะว่ามันเป็นตัวเขา พี่ยุทธเขาเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้มันกลายเป็นมากกว่ามาตรฐานไปแล้ว ทั้งที่มันไม่ได้เป็นตัวเขา แต่เราก็ไม่ได้ไปแตะตัวเขา เราแค่มองภาพรวมที่เป็นไปอย่างนั้น มันทำให้คนที่ลงไปเห็นด้วยตาว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ หรือไปจับกล้องไปรู้สึกว่าคนนั้นเศร้า คนนั้นร้องไห้ คนนั้นดีใจ มันจะไม่มีพื้นที่อีกต่อไปในสื่อ พี่เลยรู้สึกไม่แน่ใจว่า message ที่มาจากที่เกิดเหตุจนมาถึงหน้าจอมันจะเหลือแค่ไหนในแง่ของแก่นของเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องข้อมูล แต่มีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก อะไรต่าง ๆ ที่เห็นมันคือนักข่าว พอมาถึงผู้ประกาศแล้วมานั่งคุยกัน พี่รู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์จริงหรือเปล่าในพื้นที่ คนที่มานั่งอ่านนั่งคุยไม่ได้เห็นด้วยตัวเองไง

ทำไมสื่อในปัจจุบันไม่ยินยอมพร้อมใจนำเสนอที่เปิดปัญญาผู้ชม

อันนี้ตอบยากเหมือนไก่กับไข่ ถ้าเราจำกันได้ อย่างกรณียิงโคราช เราจะรู้สึกว่ามีสื่อบางสำนักที่คนออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่าเกินเส้น เกินกว่าเหตุ แล้วจะมีสื่ออีกกลุ่มหนึ่งที่คนบอกว่าอยู่ในเส้นจริยธรรม รายงานแต่พอดี ไม่เกินไป ข้อมูลครบถ้วน แต่พอเรตติ้งออกมา กลุ่มแรกพุ่งสูงมาก ก็ต้องกลับมาดูว่า แล้วคนที่ทำสื่ออยู่ในกรอบ แต่การวัดเรตติ้งไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 เลย ซึ่งมีผลต่อรายได้กับโฆษณา คนจะเริ่มถามว่าถ้าอย่างนั้นฉันไม่ทำแบบนั้นดีกว่าเหรอ ส่วนหนึ่งเข้าใจว่ามาจากตัวเลขที่โชว์ด้วย ก็คือตัวเรตติ้ง ตัวเลขของเงินที่เข้ามา เพราะการทำทีวี การทำสื่อ มันคือการทำธุรกิจ คือการใช้เงิน อาจจะเข้าใจได้ว่า เขาก็ต้องดูว่าอันไหนมันขายได้

ทีนี้ไม่แน่ใจว่าเคยมีคนไปทำวิจัยหรือเคยทำสำรวจหรือเปล่า ทำไมทุกครั้งที่สื่อรายงานเรื่องลักษณะนี้ที่เราตั้งคำถามว่ามันล้ำเส้น ไร้สาระบ้าง แต่เรตติ้งดี มันสวนทางกับสิ่งที่คนบ่น อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สื่อจำนวนมากหรือส่วนหนึ่งไปโฟกัสกับเรื่องพวกนั้น เพราะตัวเรตติ้งมันโชว์ ซึ่งไม่มีใครอธิบายได้ว่าเพราะอะไร เราอาจจะอนุมานได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ชอบดูกัน แต่คำถามคือ เราไปโทษคนดูไม่ได้หรอก เราต้องโทษตัวเอง

แต่ก่อนถ้าเราดูข่าวที่เรตติ้งดีในสมัยที่ยังไม่ออกนอกลู่นอกทางกันมากเนี่ย มันก็เป็นข่าวประเภท Investigative แม้กระทั่งช่อง 7 ที่อาจจะไม่ได้ Investigative แต่เรตติ้งก็ดี เพราะฉะนั้นที่พูดถึงเรื่องของคนดูไปดูเรื่องพวกนั้นแล้วเรตติ้งดี ในที่สุดก็ต้องกลับมาถามคนที่ทำสื่อ คนทำสื่อก็ไม่ควรไปทำเรื่องแบบนั้นตั้งแต่ทีแรก เพราะมันเกินขอบเขตของการเป็นสื่อมวลชน

การนำเสนอข่าวควรให้เครดิตคนอยู่เบื้องหลังบ้างไหม

ใช่ คือคนทำงานเบื้องหลังน่าสงสารมาก แล้วคุณจะไม่มีทางทำงานได้ถ้าไม่มีคนข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพอะไรก็ตาม แต่ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ต้องการเครดิตหรอก เพราะว่าพอเราออกหน้าจอ อย่างพี่ณาอ่านข่าว คนก็จะเห็นแต่พี่ณา คนข้างหลังเขาไม่ได้ต้องการหรอก บอกเป็นนู่นเป็นนี่เป็นอะไร ในระหว่างทีมมันคือการให้เกียรติกัน แต่ที่พี่อยากจะพูดมากกว่า เรื่องของเบื้องหลัง คนทำงานเบื้องหน้ากับเบื้องหลังมันต้องทำงาน มันไม่ใช่เรื่องของคนดูจะต้องรู้จักเบื้องหลัง มันอาจจะไม่จำเป็นขนาดนั้น ถ้าเราจะเอาเฉพาะเบื้องหน้า ตอนนี้นักข่าวก็ไม่มีที่ยืนอยู่ละ

เครดิตคนทำงานเบื้องหลัง พูดเฉพาะทีวีนะ การที่จะออกมาหน้าจอ จริง ๆ ไม่ใช่งานของคน ๆ เดียว มันคืองานของทีมเวิร์ค การให้เครดิตคือการที่คนอยู่หน้าจอพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้มันออกมาดี แล้วมันก็คือผลงานของคนทั้งทีม การให้คนเครดิตคนทำงานเบื้องหลังมันเป็นเรื่องของคนทำงานหน้าจอกับคนทำงาน backup ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนะ พี่เชื่อว่าทุกคนก็ให้เกียรติกับคนทำงานเบื้องหลังนะ พี่ไม่เคยได้ยินประเด็นที่มันมีเท่าไหร่ แต่ที่อยากจะพูดมากกว่าคือคนทำงานหน้าจอนี่แหละ โดยเฉพาะนักข่าวที่มันลดความสำคัญลงไป การลดความสำคัญไม่ได้เป็นแค่ว่ามันจะทำให้ความเป็นข่าว ความเป็น accuracy ของข้อมูล หรือเสน่ห์ของทีวีมันหักไปแล้วเนี่ย เพียงแต่ว่ามันเป็นการไม่ให้เครดิตคนทำงานด้วย แม้กระทั่งคนทำงานหน้าจอด้วย การที่เด็กสมัยนี้ที่เป็นนักข่าวไม่มีโอกาสแม้พูดชื่อตัวเองว่าตัวเองไปทำมามันแย่มากนะ

ทำไมคนไทยต้องดูข่าวต่างประเทศ

ตัวพี่ไม่เคยคิดเลยว่าประเด็นเรื่องต่างประเทศในประเทศ พี่ไม่ได้แบ่งแบบนั้นว่าเป็นข่าวในประเทศหรือต่างประเทศ หลัง ๆ พี่จะมองข่าวเป็นประเด็น ต่อให้มันเกิดในกัมพูชา ในเวียดนาม เป็นประเด็นการเมือง เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน ประเด็นอะไรคือมันไม่ได้มีเส้นแบ่ง เส้นแบ่งคือปัญหา มันเป็นประเด็นความหวังร่วมกัน เป็นปัญหาร่วมกัน คือสิ่งที่คนอยากได้ร่วมกัน พี่รู้สึกไม่ได้มีปัญหากับการที่จะต้องไปรับรู้เรื่องคนที่อยากจะเรียน Coding ในแอฟริกา คือพี่ไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นต่างประเทศ พี่มองว่าเป็นประเด็นของคนที่อยากเรียน Coding เราก็อยากเรียนเหมือนกัน คือข่าวมันควรจะมองเป็น issue ไม่ใช่มองว่ามาจากประเทศไหน ถ้าเรามองแบบนี้เราจะไม่รู้สึกว่าข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องต่างประเทศ อย่างพี่สนใจเรื่อง Coding เราก็สนใจว่าเด็กฮ่องกงเรียนแบบนี้ หลักสูตรเป็นยังไง เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องคนฮ่องกงละ มันเป็นเรื่องของคนที่อยากเรียน Coding เหมือนกัน

คือการมีข้อมูล มีความรู้มันดีเสมอ โดยเฉพาะข้อมูลที่เปิดโลกทัศน์เรา เพราะฉะนั้นการดูข่าวต่างประเทศมันคือการดูข้อมูล รับรู้ข้อมูลในต่างประเทศ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการดูข่าว เสพข่าวในประเทศไทยอย่างที่พี่บอก พี่ไม่เคยมองว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกัมพูชา เกิดขึ้นในซูดาน พี่มองเป็น issue arrested ไม่ได้มองเป็น country arrested แล้วเราก็รู้สึกเศร้าได้ ดีใจได้ เวลาเห็นคนที่นู่นทำได้ ทำไม่ได้ เราอาจจะเดินทางจนรู้สึกว่าเราไม่ได้มีพรมแดนสำหรับเราที่อยากจะไปสนใจเรื่องแบบนี้ที่อื่นถึงแม้มันจะอยู่ไกลก็ตาม

คือจริง ๆ แล้ว ประเทศที่มีความสนใจกับเรื่องของคนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่ไม่ใช่บ้านเรา พี่มองว่าสังคมแบบนั้นเป็นสังคมแบบ outward looking มันมีความ tolerance ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้ดี พี่ว่าในแง่หนึ่งการที่เราได้ดูข่าวต่างประเทศ เรื่องของคนข้างนอก มันทำให้เรา shape บุคลิก หรือความคิดของเราบางอย่าง ซึ่งเราอธิบายยากว่ามันคืออะไร แต่เราจะรู้สึกว่าเราเป็นที่ tolerance ต่อความต่าง นอกเหนือจากเรื่องข้อมูลที่เราได้

ทำไมสื่อถึงไม่ค่อยให้ความสนใจประเด็นทางสังคมบนทวิตเตอร์

พี่จะบอกว่าโลกในทีวีกับโลกในทวิตเตอร์ต่างกันมากเลยนะ แล้วพี่ดีใจมากที่เห็นการเคลื่อนไหว คือบางทีแปลกใจ เข้าไปในทวิตเตอร์ ตัวเองไม่ทวิตอะไร ชอบตามอ่าน แล้วเรารู้สึก impress กับความตื่นตัวของเด็กรุ่นใหม่ในการมองปัญหา คนบางคนมี argument มีข้อถกเถียง บางทีไม่น่าเชื่อว่ามันเป็นบรรยากาศที่มันเป็นประชาธิปไตยมากบนทวิตเตอร์ ถึงแม้ว่าจะมีการจิกกัดกัน แต่ว่ามันคือ platform การแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่มันน่าสนใจมาก

เพียงแต่ว่าพอเข้าไปในทีวี อารมณ์มันจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง พี่พูดว่าเด็กสมัยนี้ไม่ดูทีวี เขาจะใช้ทวิตเตอร์ หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางอื่น แต่คนที่ดูทีวียังเป็นคนรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่เรา วิธีคิดหรือการมองโลก ทัศนะต่อเรื่องต่าง ๆ มันคนละโลกกันจริง ๆ นะ เรื่องที่เราคุยมันคือไก่หรือไข่เกิดขึ้นก่อนกัน มันก็มีคนที่พยายามทำเรื่องแบบนี้ แต่ตัวเลขมันก็โชว์ว่าไม่มีคนดู แล้วคนจะถามว่าทำทำไมในเมื่อไม่มีคนดู เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องจะอยู่เฉพาะในโลกของทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ค แต่มันจะไม่เคยปรากฏบนทีวีเลย เพราะทวิตเตอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข่าวสารได้ โดยที่คุณไม่ต้องกังวลว่าเจ้าของสถานีต้องจ่าย license TV กับ กสทช. หรือเปล่า?

เรื่องของรูปแบบ business ของทีวีที่ต้องถูกตีกรอบด้วยการลงทุนด้วยเงิน กับโลกของทวิตเตอร์ซึ่งไม่มีข้อจำกัดเรื่องพวกนี้ คนก็ออกความเห็นได้ทุกเรื่อง ถึงแม้คนจะดู ไม่ดู หรือไม่คุยกันก็ตาม คุณก็ไม่เสียอะไร แต่ในทีวีถ้าคุณทำแล้วไม่มีคนดู เขาก็เสียตังค์ เพราะฉะนั้นการถกเถียงในทีวีกับในทวิตเตอร์หรือในโซเชียลมีเดีย มันจะเป็นการถกเถียงที่คนละ perspective เลย รวมถึงการรายงานข่าว การเขียน อย่างเราเขียนลงในเฟซบุ๊ค เราเขียนอะไรก็ได้ คนไม่ดูพี่ พี่ก็ไม่ได้เสียอะไร ออกความเห็นเรื่อง CPTPP บนเฟซบุ๊คได้ แต่เราไปพูดบนทีวี 10 นาที เขาเสียค่า license หมื่นหนึ่ง มันก็ต้องมีเงินเข้ามา ก็ต้องไปพูดเรื่องที่คนสนใจหรือคนดู ตราบใดคนส่วนใหญ่ไม่ได้ดูข่าวพวกนี้ สถานีโทรทัศน์ก็จะบอกว่าจะทำทำไมเมื่อมันไม่มีเงินเข้า คือทั้งสองทาง เหมือนกับที่เราบอกว่าประเทศไทยจะยอมจ่ายเงินเพื่อดูข่าวคุณภาพหรือเปล่า ถ้าเราโยนตรงนี้ไปแล้วมีคนยอม พี่ว่าข่าวนี้มันจะเกิดขึ้น

อยากพัฒนาสื่อไทยตรงไหนไหม

มันคงอาจจะใหญ่โตเกินไปสำหรับพี่ พัฒนาสื่อไทย เพราะว่าเอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้สึกว่าตัวเราดีสักเท่าไหร่ คือถ้าอยากให้พัฒนาตัวเองอาจจะเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงได้มากกว่า พัฒนาสื่อไทยเราก็อาจจะแค่รู้สึกว่า คือยุคนี้เป็นยุคที่ใครจะคิดอะไรได้หมดอย่างที่พี่บอก แต่ว่าถ้าในแง่ของมารยาท จริยธรรม มันก็มีขอบเขตของมันอยู่แล้ว เราก็แค่อย่าออกไปแค่นั้นเอง คือพี่เป็นคนไม่ติดกรอบ จะตีลังกาอ่าน ใส่เสื้อกล้าม เพียงแต่ว่ากรอบของจริยธรรมซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เรื่องของการไม่ละเมิดคนอื่น เรื่องของการเคารพคนอื่น เรื่องของการไม่โกหก มันต้องไม่มีแค่นั้นเอง ส่วนเรื่องจะเตรียมการอ่าน I don’t mind. I don’t care. ถ้ามันทำให้คนมาดูข่าวมากขึ้น จะไปตะโกนโหวกเหวกโวยวาย จะไป reality อะไรไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่ามันต้องมี minimum จริยธรรมขั้นต่ำ ที่มันไม่ควรข้ามไป เพราะหลุดจากนั้นก็ไม่ควรจะเป็นสื่อแล้ว

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า