fbpx

กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา กับความหวังที่อยากให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้น

ปัญหาการศึกษาไทยยังคงเป็นสิ่งที่นักเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ต้องเผชิญ อีกทั้งยากที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ถึงแม้ว่าหลายคนต้องการที่จะแก้ไขปัญหานี้ และพัฒนาปรับปรุงการศึกษาไทยให้ดีกว่าเดิม แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดอะไรหลายอย่างที่ผูกติดยึดเกาะไว้ทำให้ความพยายามดังกล่าวเป็นไปได้ยากนัก

กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา คือนักเรียนคนหนึ่งที่เคยเจอสารพัดปัญหาในระบบการศึกษาไทย และถูกระบบนั้นกลืนกินเช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่นๆ จนในวันหนึ่งเขามองว่าสิ่งที่เขาเจอมามันไม่ถูกต้อง และไม่ต้องการส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง ด้วยความคิดเช่นนี้ทำให้เขารับหน้าที่เป็นหัวขบวนในการรวมตัวประท้วงต่อต้านความรุนแรงในโรงเรียนเมื่อต้นปี 2564 ณ บุรีรัมย์ บ้านเกิดของตนเอง ก่อนที่จะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาในเวลาต่อมา

จนถึงวันนี้ที่เขาเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาต้องพบเจอกับอะไรมาบ้าง และอนาคตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

คงไม่มีใครให้คำตอบได้นอกจากเขาคนนี้

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

โตมากับอะไร

ผมโตมากับการปลูกฝังของผู้ปกครองว่า โตมาต้องตั้งใจเรียนนะ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่นะ อะไรอย่างงี้ ทำให้บางครั้งตัวตนของเรามันลดทอนลงไป ก็คือเราไม่มีพื้นที่ในการที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเรา คือบางอย่างเราแสดงความเป็นตัวตนของเรา หรือการโต้เถียงกับเขา เขาก็หาว่าก้าวร้าว หัวรุนแรงอะไรประมาณนี้ ก็จะโตมากับคำนิยามอะไรแบบนี้ครับ

ตัวตนในโรงเรียน และการถูกระบบกลืนกิน

ถ้าเป็นก่อนมาทำกิจกรรมทางการเมืองเนี่ยก็จะเป็นเด็กที่สนใจแต่เรื่องเกรด ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นคนเทพ เรียบร้อยมาก เป็นคนที่เขาบอกอะไรทำตามทุกอย่าง จนคิดว่าตัวเองเนี่ยยังมีตัวตนเป็นของตัวเองอยู่จริงๆ หรือว่าเป็นตัวตนที่ถูกปลูกฝังมาเท่านั้น 

ผมคิดว่าผมถูกกลืนกินกับระบบการศึกษาในเรื่องเกรด คือในที่ผ่านมาผมมีความคิดหลายๆ อย่างกับระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใส่ชุดนักเรียน กฎระเบียบอะไรต่างๆ นานา ห้ามใช้พื้นที่แสดงออกทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการนำเสนอแนะปัญหาอะไรอย่างนี้ เราเป็นนักเรียนเราแทบจะทำไม่ได้ ก็จะเป็นในส่วนของผู้มีอำนาจในการศึกษาที่จะผูกขาดแล้วก็ทำเองทั้งหมด จนเราเป็นเหมือนเครื่องมือของเขาเท่านั้น 

ส่วนเรื่องเกรด คือเกรดมันเป็นสิ่งที่ซีเรียสในระบบการศึกษาไทยมาก มันเป็นตัววัด ทั้งๆ ที่เรามีความคิดว่าเกรดเนี่ยมันไม่ควรวัดคุณค่าของความเป็นคน หรือศักยภาพของคน มันเป็นตัวที่วัดความตั้งใจ คือเราอยู่ในระบบการศึกษาอย่างนี้ แล้วโอกาสมันมีน้อยมากในบุรีรัมย์ และในประเทศด้วยซ้ำไป คือการที่เราจะแสวงหาโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยหรือการเข้าไปทำงานต่อเนี่ย มันผูกขาดด้วยคะแนนเกรดหรืออะไรที่วัดคุณค่าของอะไรงี้มากเกินไป ทั้งที่คนเราถนัดไม่เหมือนกัน

การตรวจทรงผม

ผมคือ 1 ในผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ทรงผมเนี่ยมันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่คนเราจะมีความคิดแบบว่าอันไหนมันเหมาะกับเรา แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาให้คือคิดแทนเรา อะไรแทนเรา ทำให้เด็กเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เขาใช้บังคับกดขี่ หรือจะทำอะไรก็ได้ให้อยู่ภายใต้กรอบของเขาเท่านั้น

ส่วนในสภาพจิตใจผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่โอเค มันก็เหมือนการที่เรามีของรักของหวง ก็อย่างเช่นผมน่ะนะ ใครจะเอาไปหรือใครจะเอาไปทำอะไรกับเรา มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา Fail มากๆ

ผมคิดว่ามันคือการประจานเด็กมากกว่า คือเขาตั้งใจที่จะไถผมเด็กให้มันแหว่งและให้กลับบ้านไป แล้วให้คนมองอะไรอย่างนี้ เขาพยายามจะตีตราว่าคนนี้เป็นคนที่ไม่ถูกระเบียบนะ อีกคนนึงที่ตัดผมมาเรียบร้อยถูกระเบียบนะ เขาพยายามจะแบ่งแยกระหว่างเด็กอะไรอย่างนี้ในความคิดของผมนะ แล้วก็คิดว่าโกรธนะ ผมมันเป็นเหมือนอวัยวะอย่างนึงในร่างกาย

ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผมถูกเข้าค่ายที่จัดโดย กอรมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ก็เหมือนเป็นการบังคับเด็กที่มีพฤติการณ์คะแนนบวกคะแนนลบไม่ตรงกับเกณฑ์ของโรงเรียน อย่างเช่นไม่ตัดผมสัก 5 ครั้งติดลบอะไรประมาณนี้ แล้วทีนี้ก็จะมีวิธีการแก้ไขที่เราไม่มีสิทธิ์เลือกด้วยซ้ำไป ก็คือการเข้าค่ายถ้าเราไม่เข้าก็ไม่ผ่าน ในค่ายก็จะเต็มไปด้วยความรุนแรง การเหยีดเพศ การที่ต้องถูกปลูกฝังให้รักในอำนาจนิยม ต้องถูกการวิ่ง การฟ้องการอะไรในช่วงที่ผมยังอยู่ ม.ต้น นะ 

เราคิดว่ามันเหมือนกับเราไปเกณฑ์ทหาร ฝึกหนักๆ แล้วเราไม่ได้ยินยอมนะ แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าเราก็ไม่ผ่าน เราก็ต้องย้าย เราก็ต้องออก มันก็ทำให้เด็กคนหนึ่งเสียอนาคตไป ก็คือในการเรียนปัจจุบันผมคิดว่าเรามาซีเรียสเรื่องกฎระเบียบ เรื่องอะไรแบบนี้มากกว่าเนื้อหาวิชาเรียน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

สิ่งที่พบเจอนำไปสู่การตั้งคำถาม

ผมคิดว่าผมดูมา ผมเจอสิ่งอะไรต่างๆ นานาที่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วทีนี้เราพยายามจะบอกเขาว่าอย่างงี้มันไม่ถูกต้องนะ เขาจะบอกว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อนอะไรอย่างนี้ การที่เธอมาพูดอย่างนี้ถือว่าก้าวร้าวนะอะไรอย่างนี้ จนทำให้เรามาตั้งคำถามอะไรหลายๆ อย่าง 

คือมันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ยังไง ในเมื่อเรามีความคิดแบบนี้แต่ทำไมความคิดของเราเนี่ยเขาไม่รับฟังเราเลย

การเรียกร้องความยุติธรรมในโรงเรียนครั้งแรก

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 กุมภาปีที่แล้ว ก็คือผมเป็นคนที่พานักเรียน 2,000 กว่าคนประท้วงเรียกร้องต่อต้านความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดจากบุคลากรทางการศึกษาท่านหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงต่อนักเรียนมาเป็นระยะเวลาหลายปี แล้วในสายตาผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง คือถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเขาก็จะทำร้ายเราไปเรื่อยๆ มันจะดีกว่าไหมถ้าเกิดว่าเราลุกขึ้นมาสู้สักตั้งให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง ทุกคนมีสิทธิส่วนบุคคล มีสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับการคุ้มครอง แล้วก็ครูทำผิดกฎกระทรวงมานานมากแล้วนะฮะ ที่จริงกฎว่าด้วยการลงโทษนักเรียนไม่มีมาตั้งแต่ 2548 แล้ว แต่ว่ามันไม่ถูกบังคับใช้จริงจังในระบบการศึกษาจริงๆ ซักที จนกระทั่งเด็กหลายคนเข้าใจสิทธิมนุษยชน และยอมไม่ได้อีกต่อไปที่จะส่งต่ออนาคตอย่างนี้ให้กับคนรุ่นหลัง

ที่จริงเป็นการต่อยหัว แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อย แต่มันก็มีหลักฐานเป็นภาพหัวโนเลยฮะ ก็ไม่รู้จะปฏิเสธไปทำไม ก็คือการต่อยหัวนักเรียน แล้วก็มาชี้แจงทีหลังว่าเป็นการเขกหัวเฉยๆ มันก็เป็น concept ของบุคลากรทางการศึกษาที่จะใช้วิธีอย่างนี้มาทำเหมือนทุกที เหมือนกับเคสหลายๆ เคส ยกตัวอย่างเช่น เพราะครูหวังดีนะจึงทำอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง มันก็แค่ข้ออ้างเฉยๆ

ผมมีความคิดอยู่อย่างนึงว่าถ้าเกิดว่าเรากล้าเปิด คนอื่นก็กล้าตาม บางทีเด็กในระบบเขาถูกกดขี่ข่มเหงมามากว่าแบบกลัวจะถูกไล่ออกนะ กลัวจะโดนประพฤติ กลัวจะเสียอนาคตอะไรอย่างนี้ จนถูกกดทับไม่ให้กล้าออกมาเรียกร้อง ออกมาต่อสู้ แต่ว่าผมเป็นคนนึงที่ตาสว่างจากความอยุติธรรม แล้วก็ไม่อาจที่ยอมเห็นให้เรื่องพวกนี้มันส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลังได้

ไม่ได้คาดหวัง แต่เกินกว่าที่หวัง

ผมคิดว่าวันนั้นผมก็คงจะถูกสั่งให้เขียนใบลาออกเหมือนกัน วันนั้นผมเตรียมใจไว้ตั้งนานแล้วครับว่าคงไม่มีใครมาร่วมหรอก อาจจะมีผมหรืออะไรมาแสดงสัญลักษณ์เล็กๆ น้อยๆ คนก็คงจะไม่สนใจหรอก ถ้าในความคิดผมตอนนั้นนะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ นักเรียนให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เขาคงถูกกดทับมานานทำให้ไม่กล้าพูด ทั้งที่เขามีเรื่องในใจมากมายที่ถูกกระทำจากระบบการศึกษา 

ตอนนั้นเหมือนเราไปคุยกับครูดีๆ ก่อนว่าคุณจะรับผิดชอบยังไง ตอนนั้นไม่ได้เตรียมอะไรเลยด้วยซ้ำ มีแค่โบขาวกับป้ายใบนึง กับผู้ถูกกระทำในวันนั้น ก็คือไปพูดต่อหน้าก่อนแล้วเราก็ขึ้น แต่พอเราหันหลังมาอีกที คน 2,000 กว่าคนยืนดูเรากับครูอยู่ มันเป็นแบบ เชี่ย เขาไม่ได้ปล่อยให้เราอยู่คนเดียว เขาไม่ได้ปล่อยให้เราโดดเดี่ยวนะ เราแบบว่าเอาก็เอาวะ อย่างน้อยเราต้องพูดให้ได้รับรู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง เรากะว่าจะอยู่สัก 1 ชั่วโมง ก็เรียกร้องให้เขาออกมาขอโทษ แล้วก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาต่อนักเรียนว่าจะไม่กระทำอะไรอย่างนี้อีก ซึ่งภายหลังมาก็เริ่มลดน้อยลงแล้วก็เงียบไปเลย

ก็ทำให้คนในโรงเรียน บุคลากรการศึกษา หรือระบบการศึกษาเนี่ยตระหนักว่าเรื่องนี้ควรจริงจังสักที ให้ตระหนักว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง ในสิ่งที่นักเรียนต่อต้านมันส่งผลตามมาทีหลัง ตามสเต็ปของมัน วันนั้นก็จะมีการปิดท้ายกิจกรรมด้วยการผูกโบขาวหน้าเสาธงโรงเรียน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าโรงเรียนนี้จะต่อต้านความรุนแรง

สิ่งที่เห็นจากนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

เห็นความกล้าครับ แล้วก็เห็นในสิ่งที่เขาพูด เห็นในสิ่งที่เขาสื่อออกมาว่าสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นสังคมที่ไม่ถูกต้อง เป็นสังคมที่มืดมน ไม่มีแสงสว่าง มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า จะดีกว่ามั้ยถ้าเราลุกขึ้นมาสู้เคียงข้างกับเขา สู้เพื่อความหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศนี้ต้องเปลี่ยนไปให้ได้

เริ่มจากการไปนั่งฟังเขาปราศรัยก่อน ไปดู ไปเปิดใจว่าเนื้อหาของเขาเป็นยังไงน้า จริงๆ ผมเป็นคนนึงที่เคยเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมาก่อน ในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนที่อยู่ในระบบที่ถูกระบบการศึกษาล้างสมองมาในช่วงเวลานั้น แต่พอเราเปิดใจเข้ามาฟัง เราถึงได้รู้ว่าเหตุผลที่มาที่ไปมันเป็นอย่างนี้นะ

เวทีปราศรัยครั้งแรก

จำได้ฮะ จำได้ๆ เวทีที่บุรีรัมย์ฮะ นั่นคือการขึ้นไปปราศรัยครั้งแรกแบบเปิดตัวจริงๆ ว่าเราต่อสู้เปิดหน้าเปิดอะไรจริงๆ ตอนนั้นพูดเรื่องอานนท์ (นำภา) กับไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ที่ถูกจับจากคดีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เราพูดว่าสิ่งที่เขาสื่อออกมานี่มันเป็นเรื่องที่เขาหวังดี เรื่องที่เขาต้องการสื่อถึงความบกพร่องในสังคม สื่อถึงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สื่อถึงความเหลื่อมล้ำ สื่อถึงอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งสังคมควรจะให้โอกาสเขาในการพูดและนำเสนอ แต่ว่ารัฐคุกคาม นั่นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมพูดในส่วนของตำรวจที่ไม่ทำหน้าที่บกพร่องประชาชน

ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีคนมา ไม่มีคนฟัง (หัวเราะ) ก็คิดว่าเราคงจะทำไม่ดีพอนะ ซึ่งน้ำหนักที่มีต่อเราในวันนั้นก็ค่อนข้างที่จะ active กับเราในการปราศรัยในวันนั้นค่อนข้างจะเยอะ แต่สำหรับเราก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ในการฝึก ในการหาประสบการณ์ หรือการหาข้อมูลให้มันแน่นกว่านี้ 

บรรยากาศที่สัมผัสได้จากม็อบ 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่กรุงเทพฯ

เราสัมผัสถึงความรู้สึกของมวลชนที่จะไม่ยอมให้สังคมอย่างนี้ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลัง เราสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของเขาที่ถูกกดทับ ถูกกระทำมาเป็นระยะเวลายาวนาน เราสัมผัสได้ถึงคราบน้ำตาของพี่น้องคนเสื้อแดงที่โดนความสูญเสียเมื่อครั้งอดีต เราเจอกับร่องรอยประวัติศาสตร์หลายๆ อย่างในวันนั้น มันทำให้เรารู้ไปถึงอดีตว่ามีประชาชนถูกกดขี่กดทับมาเป็นระยะเวลายาวนานน่ะนะ เป็นระยะเวลาจนมาถึงรุ่นของเราที่จะต้องเผชิญหน้า แต่ในความหวังก็คือเราไม่อยากให้สังคมอย่างนี้ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลังไปเรื่อยๆ 

โดนหมายจับครั้งแรก 

โดนหมายเท่าไหร่จำไม่ได้แล้วเนี่ย (หัวเราะ) แต่ว่าตอบได้อยู่ว่าโดนหมายครั้งแรกตอนไหน ก็คือโดนคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินครับ จากคาร์ม็อบโคราช

วันนั้นผมแค่ไปนั่งอยู่ท้ายรถเฉยๆ ด้วยซ้ำ เรามีเพียงแค่ป้ายสัญลักษณ์กับข้อความในป้ายแค่นั้น เราไม่ได้มีรถถัง ไม่ได้มีอาวุธ เราไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่ว่าสิ่งที่เขากระทำกับเราเนี่ยทำเหมือนเราไม่ใช่นักเรียน ไม่ใช่เยาวชนอนาคตของชาติ

ก็ตามสเต็ปเดิมอะ พอเริ่มสนใจหน่อยมาที่บ้าน มาคุยกับผู้ปกครอง พอไปทำกิจกรรมทางการเมืองก็ต้องโยนคดีมาให้ แล้วก็ส่งผลไปทางโรงเรียน ไปทางอะไรอย่างนี้เยอะแยะตามสเต็ปเต็มไปหมด

แรกๆ ก็กลัว กลัวที่จะเดินออกจากบ้านในตอนนั้น ก็เคยออกจากบ้านครั้งนึงในช่วงที่โดนตามหนักๆ แต่ว่ามันก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับครอบครัวในสิ่งที่เราทำอะไรงี้ ถึงแม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ก็จะพยายามสื่อประเด็นให้เขาได้รับรู้มากที่สุด เพราะถึงวันนึงเมื่อชัยชนะเป็นของประชาชนแล้ว ผมคิดว่าวันนั้นน่ะเขาจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำไปทั้งหมดเราต้องการทำเพื่ออะไร

บทบาทหน้าที่ในกลุ่ม RSE – ปฏิวัติการศึกษาไทย

ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา พิทักษ์สิทธิ์ของนักเรียนนี่แหละฮะ ก็ช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกคุกคาม แล้วก็นำเสนอประเด็นปัญหาการศึกษา การผลักดัน การปรับปรุงระบบการศึกษาให้มันดีกว่านี้ เราจะทำในส่วนที่เราช่วยได้ เราจะทำในการสื่อออกไปว่ามีผู้ถูกกระทำอะไรอย่างนี้มากมายน่ะครับ แล้วนำเสนอปัญหาต่อกระทรวง ต่ออะไรเป็นลำดับต่อไป

กลุ่มก่อตั้งได้ประมาณสักเกือบๆ ปีแล้ว คือผมมาทำการศึกษาตอนเกือบๆ ปีแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านั้นก็ทำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเมือง เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอะไรงี้ ก็ทำในส่วนนั้น แต่ว่าจริงจังที่สุดก็ช่วงการศึกษานี่แหละ เพราะเป็นสิ่งที่พึงตระหนักมากที่สุดในตอนนี้

สิ่งที่ได้จากการเป็นนักเคลื่อนไหว

มันทำให้เราเข้าใจผู้อื่นเยอะขึ้น มันมีปัญหาหลายอย่างที่เราไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรับรู้มาก่อน เราไม่เคยรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน อะไรหลายๆ อย่างที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำไปในช่วงนั้น เรื่องของการละเมิดสิทธิอะไรเงี้ย เพราะเราถูกแนวคิดของการกดทับ แนวคิดของไทยโบราณอะไรประมาณนี้ ทำให้เราคิดว่าเมื่อเรามาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วเนี่ย แนวคิดพวกนี้มันต้องเปลี่ยนเพราะมันคือแนวคิดของการล้าหลัง การเคารพซึ่งกันและกันโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้โดยรับฟังเสียงของทุกคน นั่นคือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการที่เรากำลังเผชิญกับผู้มีอำนาจในขณะนี้อยู่

ก้าวต่อไปหลังจากนี้

คิดว่าจะทำเรื่องการศึกษาไปเรื่อยๆ นี่แหละ จนกว่าเราจะทำสำเร็จ ก็คือผมมีความฝันว่าถ้าวันไหนที่ระบบการศึกษายังไม่ถูกแก้ไขหรือพัฒนาให้มันดีกว่าเดิม เราจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด เราจะไม่ยอมส่งต่ออนาคตที่มืดมนที่ยังเจออยู่ทุกวันนี้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไปได้

บางทีก็มีความฝันนะ ผมเป็นคนที่ชอบทำงานสังคมหรือการเข้าใจผู้อื่น บางทีก็เคยรับเคสให้คำปรึกษาอะไรงี้มาเยอะ แล้วเราก็ชอบทำงานที่เกี่ยวกับกฎหมายอะไรงี้ ก็คือผมอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมเนี่ยผมว่ามันควรจะมีการเน้นเรื่องสังคมสงเคราะห์มากกว่านี้ บางทีผมว่าการที่ผมต้องเข้าใจคำว่าเยาวชน หรือแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนอะไรหลายๆ อย่าง ต้องเผชิญกับข้อกฎหมายของไทยในตอนนี้ที่ยังละเมิดสิทธิแบบว่าไม่คำนึงถึงหลักปฏิญญาสากล

ปัญหาในระบบการศึกษาที่แย่ลงกว่าเดิม

ตั้งแต่ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาเนี่ย มันทำให้แผลที่ระบบการศึกษามีมันยิ่งเน่าไปว่าเดิม มันทำให้ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม ยิ่งถูกมองข้ามไปกว่าเดิม

มันถูกกดทับด้วยค่านิยมของเผด็จการในช่วงนั้นด้วย ทำให้ครูมีสิทธิ์ที่ตัวเองพึงทะนงว่าจะทำอะไรกับเด็กก็ได้ในช่วงนั้น มันยิ่งทำให้ปัญหาในระบบการศึกษาแย่ไปกว่าเดิมอีกอะ ตั้งแต่ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามา

การศึกษาจะดีขึ้นต่อเมื่อ…

เมื่อมีกฏหมายที่รองรับ และคุ้มครองทุกคนให้พ้นจากการกดขี่กดทับ ซึ่งในปัจจุบันไม่มี ในปัจจุบันมีแต่กฎหมายที่ส่งเสริมการกดขี่กดทับให้กับนักเรียน เช่น กฎระเบียบทรงผมอะไรนี่แหละ กฎระเบียบค่านิยมที่ต้องปลูกฝังกันอะไรอย่างนี้ มีแต่การส่งเสริมให้คุกคามเด็กเนี่ยทุกวันนี้

ก็คือการศึกษาจะดีได้ต่อเมื่อที่นักเรียนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก และสะท้อนถึงปัญหานั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า