fbpx

นั่งรถไฟไปแก่งคอย ดื่มด่ำประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2

หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าแก่งคอยนั้นเป็นเพียงแค่ทางผ่านสำหรับถนนมิตรภาพไปสู่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ และคงคิดว่าจังหวัดสระบุรีนั้นไม่มีแหล่งท่องเที่ยวให้แวะข้างทางได้ ดีมากที่สุดก็คงแวะไปเข้าห้องน้ำหรือซื้อของฝาก ไม่ก็แวะกินข้าวเติมพลังก่อนเดินทางต่อ ผมก็เคยเป็นหนึ่งคนที่คิดแบบนั้นครับ สมัยเด็กๆ เราก็แวะไปท่องเที่ยวที่ลพบุรี เราก็มักจะแวะสระบุรีเพื่อฉิ่งฉ่อง (เข้าห้องน้ำนั่นแหละ) แล้วก็ผ่านไป บ้างก็กรนหลับเลยจังหวัดนี้

แต่จู่ ๆ วันหนึ่งพี่ตัวดีของผม ก็ส่งข้อความมาทักทาย พร้อมกับถามคำถามว่า “มีทริปไปแก่งคอย ไปไหม?” เราก็เลยถามกลับไปว่า “มันมีอะไรน่าเที่ยวขนาดนั้นเลยเหรอ?” แล้วแกก็หายไปสักพัก กลับมาพร้อมกับคำว่า “มาเถอะ ไปบ่ายเย็นกลับ จองแล้ว เจอกันนะ” การตัดประโยคครั้งนั้นนำมาสู่การที่เราต้องไปแบบงงๆ โดยที่ไม่รู้อะไรเลยว่าเราไปทำไม

บทความนี้จะพาคุณไปสู่คำตอบนี้ด้วยกันครับ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

14:00 น.

เวลาบ่ายสองโมงของวันที่ 2 เมษายน 2565 ผมและน้องช่างภาพเดินทางมาถึงบริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือชื่อสั้นๆ คือหัวลำโพง เรามารับบัตรโดยสารรถไฟ พร้อมกับเจอพี่ตัวดีอย่าง “วันวิสข์ เนียมปาน” ผู้ที่ชักชวนเราให้กลับมาเดินทางด้วยรถไฟอีกครั้ง หลังจากที่ผมไม่ได้เดินทางโดยรถไฟมากว่า 2 ปี

เขาเริ่มเล่าว่า โดยปกติแล้วในทุกๆ ปี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีเขาจะมีกิจกรรมรำลึกถึงการวางระเบิดเมืองแก่งคอยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะจัดในวันที่ 1-2 เมษายน แล้วก็ในวันที่ 2 เมษายน จะตรงกับวันที่แก่งคอยโดนทิ้งระเบิดตกลงมาพอดี ชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนจึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ และสืบสานเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละครเวที และการออกร้านต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยมีธีมการแต่งกายย้อนไปยังสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (ในหลวงรัชกาลที่ 8)

วันวิสข์ เนียมปาน

ซึ่งปี 2565 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดขบวนการท่องเที่ยว เพื่อเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่แก่งคอย โดยจัดทริปในรูปแบบไปบ่ายค่ำกลับ โดยเป็นการจัดรถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ และมีบริการอาหารบนรถตลอดทาง จนจะร้องขอว่า “หยุดเถอะ ชั้นจะจุกตายแล้วค่ะ” และยังมีของแจกตอนกลับอีกด้วย โดยในปีนี้มาตรการควบคุมโควิด-19 ก็ยังคงคุมเข้ม โดยมีการตรวจผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมงอีกด้วย ได้ข่าวว่าวันที่เราไปคนเกือบเต็มขบวนด้วยนะ และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวพาลูกหลานมาเที่ยวกัน เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อีกด้วย

16:30 น.

รถไฟออกเดินทาง จากสถานีรถไฟกรุงเทพ เราผ่านหลักสี่ ดอนเมือง รังสิต ภาชี ไปยังอยุธยา และมาเรื่อย ๆ จนถึงแก่งคอย ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เยอะขึ้นตามรายทาง รถไฟมาจอดเทียบท่าที่โรงรถจักรแก่งคอย เราเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ที่เคยถูกสะเก็ดระเบิดจากการถูกทิ้งระเบิด โดยโรงรถจักรแก่งคอยในช่วงเวลาที่เพิ่งสร้างเสร็จ (พ.ศ. 2485) เป็นช่วงที่ตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี กองทัพญี่ปุ่นใช้แก่งคอยมาเป็นทางผ่านไปยังพื้นที่อื่นๆ และใช้โรงรถจักรแห่งนี้เป็นที่เก็บยุทโธปกรณ์ต่างๆ จนกระทั่งโดนทิ้งระเบิด แต่กลับโดนบริเวณข้างโรงรถจักร ตัวโรงจึงโดนสะเก็ดระเบิดเล็กน้อย ซึ่งด้วยโครงสร้างของโรงรถจักรแก่งคอยเป็นโครงสร้างที่ใช้ไม้เนื้อแข็ง และออกแบบรับกับทิศทางของแสงแดด รวมถึงทิศทางลมตั้งแต่แรก นี่จึงเป็นแรร์ไอเท็มที่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบันโรงรถจักรแก่งคอย เป็นโรงรถจักรที่เน้นการซ่อมแซมรถไฟที่ใช้สำหรับขนส่งเป็นหลัก และโดยปกติแล้วไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม เนื่องจากเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางการรถไฟ

18:00 น.

หลังจากเราเยี่ยมชมได้สักพักแล้ว ทีมการรถไฟแห่งประเทศไทยก็พาเดินทางต่อมาที่สถานีชุมทางแก่งคอย และพอเราลงจากรถ เราก็ค้นพบว่าเราเจอพพนักงานการรถไฟของชุมทางแก่งคอยแต่งชุดย้อนยุคในสมัยรัชกาลที่ 8 มาต้อนรับเรา เราก็ตกใจและโบกมือแบบนางงามไปเลย พร้อมกับยกมือไหว้สวัสดีเหล่าพี่ๆ ทั้งหลายที่มาต้อนรับ

หลังจากนั้นเราก็เห็นตัวสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอยยังคงสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ถึงแม้ว่ามันจะทรุดโทรมไปบ้าง แต่เราก็เห็นความสวยงามของสถานที่ที่ออกแบบมากะทัดรัด พี่ตัวดีของเราก็เล่าต่อว่า ที่มาของชื่อแก่งคอยจริงๆ ก็คือมาจากการเป็นชุมทางที่คอยรับ-ส่งสินค้าจากพื้นที่ต่างๆ บ้างก็มาจากการที่ช่วงภัยแล้ง น้ำแห้งจนเป็นชื่อนี้ แต่ถ้าเอาสาระจริงๆ ก็มาจากการเป็นพื้นที่ที่ขนส่งสินค้าจากรอบๆ ข้างมา เชื่อมต่อด้วยระบบรางเป็นหลักเพื่อส่งสินค้าต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเกิดก่อนที่จะมีถนนมิตรภาพ (ที่ช่วงเทศกาลเขาจะไม่มิตรภาพกับเราเท่าไหร่นัก) เสียอีก

จริงๆ แล้วสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย ที่ใช้คำว่า “ชุมทาง” ก็เป็นเหตุผลมาจากการวางโครงสร้างการเดินทาง โดยสถานีชุมทางเป็นสถานีที่ออกแบบมาเพื่อแยกสายการเดินทางไปยังสายอื่นๆ ได้ เช่น ชุมทางแก่งคอยที่เป็นจุดแยกไปฉะเชิงเทรา และไปหนองคายได้ จุดนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านคมนาคมแบบรางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้

ที่สำคัญก็คือ การก่อสร้างเส้นทางสายรถไฟมาที่แก่งคอย นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งแล้ว ยังส่งผลทำให้ตัวเมืองแก่งคอยจากเดิมที่รกร้าง กลายเป็นพื้นที่ที่เติบโตขึ้น เฉกเช่นกับเมืองอื่นๆ ที่มีรถไฟเป็นตัวสร้างความเจริญเติบโตนั่นเอง และยังทำให้เป็นเมืองและรถไฟเติบโตเป็นเนื้อเดียวกันนั่นเอง

เราออกจากสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย แล้วก็พบกับตลาดนัดชุมชนจำนวนมาก ซึ่งของกินเยอะมากๆ ยาวไปจนถึงบริเวณภายในวัดแก่งคอย ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการจัดงานในครั้งนี้ โดยมีแท่นระเบิดที่ด้านไปแล้ววางให้คนระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้อีกด้วย

19:00 น.

พอถึงเวลา 1 ทุ่มตรง เราก็ถูกเชิญให้มาดูการแสดงแบบละครเวที เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นหลักๆ ในพื้นที่แก่งคอย โดยในการจัดงานครั้งนี้ใช้ทีมงานในพื้นที่ทั้งหมด แต่ให้คุณภาพเหนือระดับมาก บางครั้งเราก็ตกใจกับ Effect ระเบิดบ้าง พลุบ้าง บางครั้งก็หลุดคำอุทานออกมา (ซึ่งก็น่าจะรู้เลยว่าใครกะเทย – ผมนี่แหละ)

เรื่องราวเริ่มต้นจากการย้อนประวัติศาสตร์และเล่าเรื่องที่มาที่ไปของการก่อสร้างเมืองแก่งคอย จากป่ารกร้างสู่พื้นที่คมนาคมและการขนส่งในยุคนั้น จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นมาตั้งรกราก เนื้อเรื่องไม่ได้เล่าถึงว่าใครผิดหรือใครถูก แต่เล่าให้ทุกคนได้เห็นประวัติศาสตร์อีกแง่มุมที่คนในพื้นที่จดจำได้ ผ่านการแสดงแบบ Musical ซึ่งเขาก็มีข้อแนะนำว่าควรงดใช้แฟลชในการถ่ายภาพ และเด็ก ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลในการชมการแสดงด้วย

จบทริปด้วยการได้เยี่ยมชม ทำบุญ และรับของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากการท่องเที่ยวครั้งนี้ไป ซึ่งเป็นทริปที่ประทับใจเป็นอย่างมาก ทำให้มีความสุขและอิ่มเอมเป็นที่สุด

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของอีกหนึ่งสถานที่ที่เราไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วทุกพื้นที่ก็มีอะไรให้น่าเที่ยวอยู่เสมอๆ เพียงแค่รู้จักที่จะออกมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และสำหรับใครที่อยากชมทริปพิเศษๆ ของแก่งคอยก็คงต้องรอในช่วงวันที่ 1-2 เมษายน ของทุกปี เขาจะมีกิจกรรมแบบนี้มาเรื่อย ๆ ลองมาเที่ยวกันสักครั้ง แล้วคุณจะหลงรักเมืองแก่งคอย ที่ไม่ต้องคอย แต่เที่ยวได้เลย…

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า