Juvenile Justice : เพราะอาชญากรเด็กเป็นความรับผิดชอบของคนทั้งสังคม

เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญอีกครั้งของสังคมไทย และที่เลวร้ายกว่านั้น คือผู้ก่อเหตุเป็นเด็กชายวัยเพียง 14 ปี ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสลดใจเท่านั้น แต่ยังโหมกระพือความโกรธของคนในสังคม นำไปสู่เสียงก่นด่าประณามการกระทำที่รุนแรงครั้งนี้  โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

จากเหตุการณ์ดังกล่าว หลายคนหยิบยกคำพูดของผู้พิพากษาชิมอึนซอก จากซีรีส์เกาหลี “Juvenile Justice” ที่ว่า “ฉันรังเกียจเด็กที่กระทำความผิด” มาประกอบการวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้มีการกำหนดโทษเยาวชนที่ก่ออาชญากรรม แทนที่จะตัดสินให้เยาวชนไม่ต้องรับโทษ อย่างไรก็ตาม คำพูดนี้ของชิมอึนซอก เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสารที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อ และการหยิบยกเพียงประโยคเดียวมาสนับสนุนการเรียกร้องให้เพิ่มโทษเยาวชน อาจจะกลายเป็นทางแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดนัก

เพราะการโยนความรับผิดชอบให้รัฐเป็นผู้ออกกฎหมายเอาผิดอย่างเดียว ในขณะที่ทั้งสังคมยังไม่ยื่นมือมาร่วมรับผิดชอบ กฎหมายมากมายแค่ไหนก็แก้ปัญหาอาชญากรรมโดยเยาวชนไม่ได้

เรื่องที่มากกว่าการรักษาศีลธรรม

แม้ซีรีส์ “Juvenile Justice” จะนำเสนอภาพของผู้พิพากษาหญิงผู้ตัดสินลงโทษอาชญากรเด็กได้อย่างเด็ดขาด ไร้การประนีประนอมต่อทุกความผิด ทั้งยังตอกย้ำความเด็ดขาดด้วยทัศนคติที่ “รังเกียจ” เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเรื่อง เรากลับพบว่า นี่ไม่ใช่ซีรีส์เฟมินิสต์ หรือผู้พิทักษ์ศีลธรรมอันดีงามแต่อย่างใด แต่เป็นซีรีส์ที่ตีแผ่ให้เห็นองคาพยพในสังคม ที่ผลักให้เด็กและเยาวชนก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ท่ามกลางบรรยากาศการเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ยกเลิก พ.ร.บ. ศาลเยาวชน ที่ให้เยาวชนที่อายุไม่ถึง 14 ปี รับโทษสูงสุดเพียง 2 ปี และเรียกร้องให้เพิ่มโทษเยาวชนที่กระทำความผิด

แต่ในขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐใช้ “ยาแรง” ในการป้องปรามอาชญากรรม “Juvenile Justice” กลับพาเราก้าวสู่โลกของ “เด็กมีปัญหา” และเผยให้เราเห็นว่า เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นอาชญากรได้ ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วเป็นได้เอง แต่องคาพยพในสังคมมากมายต่างหากที่สร้างอาชญากรเด็กขึ้นมา

อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้

องค์ประกอบสำคัญที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร คือ “ครอบครัว” โดยซีรีส์เรื่องนี้ได้เผยให้เห็นความรุนแรงในครอบครัว ที่เป็นผลมาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ ทั้งเรื่องของวัยรุ่นหญิงที่ถูกพ่อทำร้ายร่างกายเพื่อรีดไถเงิน โดยมีย่าที่คอยบอกให้เธออดทน เพียงเพราะเขาเป็นพ่อ และเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของย่า จนในที่สุดเธอก็หมดเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้หรือร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ

แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่บอกเล่าในซีรีส์เรื่องนี้ ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะกับครอบครัวชนชั้นแรงงานเท่านั้น แม้แต่ครอบครัวที่มีฐานะอย่างครอบครัวของผู้พิพากษาคังวอนจุง ก็ยังมีความรุนแรงปรากฏอยู่เช่นกัน ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้ มาจากแรงกดดันของพ่อแม่ ที่สุดท้ายก็ผลักให้ลูกกระทำการละเมิดกฎ และทำร้ายตัวเองในที่สุด

ปัจจัยต่อมาคือ “เพื่อน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของวัยรุ่น การร่วมกันก่ออาชญากรรมของเยาวชนในเรื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการการยอมรับ และความคึกคะนองในกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้ การบูลลี่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้เยาวชนคนหนึ่งตัดสินใจละเมิดกฎหมาย โดยหวังเพื่อจะหยุดการบูลลี่ แต่ในที่สุดก็ทำให้เขาก่ออาชญากรรม และขณะเดียวกันก็กลายเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมอีกด้วย

นอกจากปัจจัยที่ใกล้ตัวอย่างครอบครัวและเพื่อน “สถานศึกษา” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด โดยในซีรีส์เรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนที่ปล่อยข้อสอบรั่วเพื่อเป็นทางลัดให้มีนักเรียนสอบติดมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนดูมีคุณภาพ ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ และส่งลูกหลานมาเรียนเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นค่านิยมของสังคม ที่พ่อแม่เร่งให้ลูกเรียนเพื่อสอบแข่งขันกับคนอื่นๆ เปิดช่องทางให้โรงเรียน “เอาใจ” ผู้ปกครอง โดยไม่สนวิธีการ และทำให้เด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่กดดันเรื่องเรียนกระโจนเข้าสู่วังวนของการทุจริต

ท่ามกลางปัจจัยทางสังคมมากมายที่ผลักให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อสาร ก็หนีไม่พ้น “กระบวนการยุติธรรม” ที่ยังคงมีช่องโหว่ จากบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้การดูแลเด็กและเยาวชนไม่ทั่วถึง รวมทั้งจุดอ่อนของศาล ที่ต้องเร่งตัดสินคดี เนื่องจากมีคดีที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดความรอบคอบในการตัดสินคดี และนำไปสู่การก่อเหตุซ้ำ 

ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดหนึ่งของตัวละครในเรื่อง ที่ว่า “กฎหมายตัดสินตามหลักฐาน แต่ไม่ได้คุ้มครองเหยื่อทุกคน” ก็สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ศาลเองก็ยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสืบหาความจริงอย่างละเอียดรอบคอบ ทว่าระยะเวลาและบุคลากรที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานตามที่ควรจะเป็นได้ ส่งผลให้อาชญากรเด็กหลายคนหลุดรอดจากกระบวนการ และก่อเหตุซ้ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยถูกแก้

อย่างไรก็ตาม “Juvenile Justice” ก็ได้ใช้ผู้พิพากษาชิมอึนซอก เป็นผู้ตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบ” ของพ่อแม่ โรงเรียน และกระบวนการยุติธรรม ที่สร้างและปล่อยให้อาชญากรเด็กเติบโตโดยไร้ซึ่งการปรับปรุงตัว และไม่มีแม้กระทั่งความรู้สึกผิด นำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงไม่ควรมีเพียงเยาวชนผู้ก่อเหตุเท่านั้น แต่ผู้คนรอบข้าง และสถาบันทางสังคม ควรมีส่วนในการรับผิดชอบด้วย

It takes a village to raise a child.

“ถ้าจะเลี้ยงเด็กสักคน ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกัน
ถ้าทั้งหมู่บ้านไม่เอาใจใส่ ก็อาจทำลายชีวิตเด็กคนหนึ่งได้”

คำพูดที่น่าสนใจอีกคำพูดหนึ่งของชิมอึนซอก ที่ไม่เคยมีใครหยิบยกขึ้นมาเตือนใจตัวเอง แต่สามารถสรุปใจความสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วน เพราะเรื่องราวทั้งหมด 10 ตอน ของ “Juvenile Justice” ได้เผยให้เห็นชะตากรรมของเด็กและเยาวชน ทั้งที่เป็นเหยื่อและเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งล้วนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมทั้งสิ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการสื่อสารแค่กับคนทั่วไปในสังคมเท่านั้น แต่ยังใช้ผู้พิพากษา ที่เป็น “สัญลักษณ์” ของอำนาจรัฐ ในการย้ำเตือนถึงพันธกิจสำคัญ นั่นคือการปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นจะเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ถูกกระทำก็ตาม

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุว่า “รัฐบาลมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กๆ ทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันตามอนุสัญญาฯ…” ซึ่งสิทธิเด็กประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม และตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง

เพราะฉะนั้น หากจะใช้คำพูดของชิมอึนซอก ที่ว่า “ฉันรังเกียจเด็กที่กระทำความผิด” ควรยกคำพูดของผู้พิพากษาจอมโหดผู้นี้มาให้ครบถ้วน เพื่อที่จะสื่อสารกับรัฐ และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดอย่างแท้จริง นั่นคือ

“ฉันรังเกียจเด็กที่กระทำความผิด 
แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียด แต่เพื่อเยาวชนแล้ว ฉันจะทำให้สุดความสามารถ
แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียด ฉันก็จะตัดสินอย่างเป็นกลาง
แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียด ฉันก็จะไม่มีอคติใดๆ ต่อเยาวชน”

Content Creator