fbpx

กำเนิด Jurassic Park ภาพยนตร์ไดโนเสาร์ที่พลิกโฉมฮอลลีวูดไปตลอดกาล

ภาพยนตร์ Blockbuster มีที่มาเป็นอย่างไร? หากเราจะหาคำตอบในคำถามนี้ เราคงต้องนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปที่ยุค 70 ที่มีหนังที่ได้ชื่อว่ามันได้ทำหน้าที่เบิกโรงหรือริเริ่มแนวทางปฏิบัติของหนัง Blockbuster เอาไว้ ซึ่งก็คือหนังฉลามบุกอย่าง Jaws (1975) ของผู้กำกับหนุ่ม (ในเวลานั้น) อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก 

ความกล้าในการย้ายช่วงเวลาเข้าฉายมาอยู่ช่วงซัมเมอร์ (อันเป็นช่วงเวลาของหนังห่วยหรือหนังเกรดรองในยุคนั้น) หรือจะเป็นการฉายแบบปูพรมทั่วประเทศ (ในอดีต ค่ายหนังมักจะเลือกให้หนังชูโรง เข้าฉายตามหัวเมืองใหญ่ก่อน) ซึ่งเมื่อมันประสบความสำเร็จระดับต้องจารึกเป็นปรากฏการณ์ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน 

หากแต่มีภาพยนตร์อีกเรื่องที่มันยิ่งตอกย้ำและส่งเสริมสถานภาพของหนัง Blockbuster ให้ไปไกลทั่วโลก ที่ส่งให้ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ ฮอลลีวูด กลายเป็นชื่อที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกอย่างเป็นทางการ และมรดกตกทอดจากหนังเรื่องนี้ ส่งต่อมาถึงภาพยนตร์รุ่นหลังชนิดที่ไม่อาจจินตนาการได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ Jurassic Park ของสตีเวน สปีลเบิร์กเจ้าเก่า 

ภาพยนตร์เรื่องเดียว พลิกโฉมหน้าฮอลลีวูดไปตลอดกาลได้อย่างไรกัน? 

ไดโนเสาร์ มรดกทางประวัติศาสตร์ของคนทั้งโลก

ใครบ้างไม่ชอบไดโนเสาร์? สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกก่อนที่มนุษย์จะครองความยิ่งใหญ่จนปัจจุบัน เพราะอุกกาบาตชนโลก ส่งผลให้บรรดาเจ้าโลกทั้งหลายต้องสูญพันธ์ุ

เรื่องราวของไดโนเสาร์ คือประวัติศาสตร์ คือเรื่องเล่า คือตำนานที่มนุษย์ได้แต่นึกจินตนาการมาตลอดตั้งแต่เราค้นพบฟอสซิลของพวกเขา ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีรูปลักษณ์และหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง แต่ละสปีชีส์หรือพันธุ์ไดโนเสาร์ มีหน้าตาและพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างไร เราทำได้แค่จินตนาการเท่านั้น เพราะไม่เคยมีใครเห็นไดโนเสาร์จริง ๆ 

ซึ่งหากว่ามันมีหนังสักเรื่องที่ตัวเนื้อหาของมันกล่าวถึงไดโนเสาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำให้ไดโนเสาร์กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างเต็มสองตา มันก็ย่อมจะเป็นหนังที่ไปสู่วงกว้างระดับทั่วโลกทันทีในแบบที่คาดเดาไม่ยาก หรือกล่าวอีกแง่หนึ่ง หนังเรื่องนี้ไม่มีกำแพงที่เป็นความแตกต่างเรื่อง ชาติ วัฒนธรรม หรือเรื่องราวอะไรมากั้นความสนใจได้ทั้งนั้น เพราะไดโนเสาร์คือมรดกทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

นอกจากนั้น กลยุทธ์การฉายของทางสตูดิโอยูนิเวอร์แซลก็อาจพูดได้ว่ามันช่างบ้าดีเดือดไม่น้อย เพราะทางสตูดิโอตัดสินใจฉาย Jurassic Park แบบปูพรมพร้อมกันทั่วโลก! อาจพูดได้ว่าทางยูนิเวอร์แซลคงมั่นใจในตัวหนังอย่างมากว่ามันจะต้องทำเงินถล่มทลาย แล้วก็เป็นดังนั้นจริงอย่างที่คาด

ในจุดนี้ต้องยกเครดิตให้กับหัวสมองของ ไบรอัน ไครช์ตัน นักเขียนผู้ที่ตั้งคำถามถึงการเล่นบทพระเจ้าของมนุษย์ในยุคที่พันธุวิศวกรรมถึงยุคที่หากเลยขอบเขตจะสร้างความอันตรายโดยไม่รู้ตัว มันจึงกลายเป็นเรื่องราวของ Jurassic Park ที่เล่าถึงมหาเศรษฐีคนหนึ่งที่เริ่มการเพาะพันธ์ุไดโนเสาร์ด้วยวิศวพันธุกรรมจากเลือดของยุง จนริเริ่มสร้างสวนสนุกไดโนเสาร์ในเกาะห่างไกล แต่แล้วเรื่องราวความวุ่นวายก็เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ที่ริอาจสวมบทบาทพระเจ้า ไม่อาจควบคุมสิ่งมีชีวิตนี้ได้ 

เนื้อหาแบบนี้มันคือไอเดียชั้นยอดที่บรรดาสตูดิโอยักษ์ใหญ่จ้องตาเป็นมันและอยากได้ลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นหนัง แต่แล้วยูนิเวอร์แซลก็เป็นฝ่ายได้ไป และไครช์ตันก็ไม่ลังเลเลยที่จะเลือกสปีลเบิร์กที่สนใจไดโนเสาร์อยู่แล้วมากำกับ โดยที่สปีลเบิร์กเข้ามาในโปรเจกต์นี้ด้วยแนวคิดที่ว่า เขาต้องทำให้ไดโนเสาร์กลับมามีชีวิตอีกครั้งในหนังเรื่องนี้

‘มันทำให้ผมรู้สึกสูญพันธุ์ไปเลย’ 

‘เราต้องสร้างตัวละครตามที่ชื่อเรื่องสื่อถึง ไดโนเสาร์พวกนี้แหละที่เป็นตัวเอก และถ้ามันไม่เวิร์กกันตั้งแต่ไดโนเสาร์ หนังทั้งเรื่องก็คงไม่รอด มีแต่เรื่องเครียดนะ เพราะหมายความว่าผมกำลังนำเงินของยูนิเวอร์แซลมาทำหนังไดโนเสาร์แบบลองผิดลองถูก’ 

คำพูดของสปีลเบิร์กชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่าไดโนเสาร์คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของหนัง ดังนั้นหากตัวไดโนเสาร์ออกมาไม่สมจริงหรือดูไม่ดี มันก็พาลจะทำให้หนังไปไม่รอด นั่นเป็นเหตุผลที่สปีลเบิร์กได้รวบรวมหัวกะทิด้านงาน Special Effects ในยุคนั้นมารวมพลังกัน ไม่ว่าจะเป็น สแตน วินสตัน สุดยอดตำนานงานเมคอัพและประดิษฐ์ชุดสัตว์ประหลาด, ฟิล ทิปเปตต์ ที่สุดของรุ่นในงานภาพ Stop Motion และ เดนนิส มิวเรน ผู้เชี่ยวชาญงาน CGI เพื่อหาวิธีการที่จะทำให้งานเทคนิคด้านภาพออกมาสมจริงที่สุด

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในยุคสมัยเกือบ 30 ปีที่แล้ว ยังเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์ยังถือเป็นสิ่งใหม่ และเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกยังไม่ได้สามารถสร้างโลกทั้งโลกแบบที่ทำได้ในปัจจุบัน ยุคสมัยนั้นงานด้าน Stop Motion จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่องานเทคนิคพิเศษด้านภาพ ดังที่เราในหนังดังในช่วง 80 อย่าง The Empire Strikes Back (1980) ในฉากหุ่นยนต์ AT-AT หรือฉากหุ่น T-800 ในช่วงท้ายของ The Terminator (1984) หรือย้อนไปไกลกว่านั้น ก็คือการสร้างตัวคิงคองในหนังอย่าง King Kong (1933) โน่นเลย 

ทำให้ในตอนแรก สปีลเบิร์กและทีมงานต่างก็ทุ่มความสนใจไปที่งาน Stop Motion เพราะคิดว่าคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนั้นในการสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมา แม้ว่าในตอนนั้นงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจะเริ่มพัฒนาและสร้างภาพอันน่าตื่นตาสู่ชาวโลกได้เห็นบ้างแล้ว โดยมีหนังอย่าง The Abyss (1988) ของ เจมส์ แคเมรอน กับการปั้นน้ำเป็นตัวได้สำเร็จในฉากไคล์แมกช์ของหนัง หรือจะเป็นงานของแคเมรอนอีกชิ้นอย่าง Terminator 2: Judgment Day (1991) กับการสร้างหุ่นโลหะเหลวอย่าง T-1000 อันน่าหวาดกลัว ที่กลายเป็นวายร้ายในตำนานโลกภาพยนตร์ไปแล้วได้สำเร็จ 

แต่การสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาทั้งตัว มันเป็นอีกเรื่อง เพราะมันคือการยกระดับความยากไปอีกเท่าตัว ซึ่งในตอนนั้น ไม่มีใครคิดว่าคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจะสามารถสร้างไดโนเสาร์ทั้งตัวขึ้นมาได้ ไม่มีใครเลย ยกเว้น สตีฟ วิลเลียมส์ และ มาร์ค ดิปเป นักสร้างภาพเคลื่อนไหวตัวแสบของบริษัท Industrial Light & Magic หรือ ILM บริษัทผลิตงานวิชวลเอฟเฟกต์ของ จอร์จ ลูคัส บิดาแห่ง Star Wars นั่นเอง

งานคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจากหนังทั้งสองเรื่องของแคเมรอน ทำให้ทั้งสองคนเชื่อว่าพวกเขาสามารถสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาได้ แต่ไม่ใช่กับเดนิส มิวเรน ซึ่งเป็นหัวหน้าของพวกเขา 

‘คุณไม่ต้องพยายามสร้างทีเร็กซ์หรอก ฟิล ทิปเปตต์กำลังทำมัน คุณกำลังฆ่าตัวตายเปล่า ๆ’ 

คำพูดประกาศิตของมิวเรนสื่อความหมายชัดเจนถึงความคิดของเขาว่าการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกสร้างไดโนเสาร์ในตอนนี้มันเป็นไปไม่ได้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแสบของบริษัทอยู่แล้ว มีหรือที่สตีฟจะฟัง แม้ต่อหน้าจะตอบปากรับคำไป แต่ลับหลังสตีฟก็แอบสร้างงานลับ ๆ กับมาร์ค เริ่มตั้งแต่การสร้างโครงกระดูกไดโนเสาร์เคลื่อนไหวที่เป็นภาพสามมิติ โดยใช้เวลาถึง 4 เดือน ในการศึกษาวิธีการเดินของไดโนเสาร์และสร้างออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งในระหว่างนั้น ฟิล ทิปเปตต์ก็เริ่มงานของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งการปั้นหุ่นไดโนเสาร์ รวมถึงการเรียกทีมงานจากทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อสร้างงาน Stop Motion สำหรับเรื่องนี้

สตีฟและมาร์ค ตัดสินใจแอบซุ่มวางแผนให้งานลับ ๆ ของพวกเขาไปถึงทีมโปรดิวเซอร์ของหนังให้ได้ เพราะรู้ตัวดีว่าถึงเอาไปเสนอมิวเรน ก็มีแต่จะถูกตีกลับมาหนำซ้ำก็อาจถูกด่าเละที่แอบทำงานโดยพลการ โดยที่ไดโนเสาร์ของพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้อวดโฉมให้ใครดูทั้งนั้น ทั้งคู่จึงอาศัยจังหวะที่ แคธลีน เคนเนดี้ โปรดิวเซอร์ของหนัง จะต้องมาตรวจงานที่ ILM ในวันหนึ่งพอดี พวกเขาจึงแอบตั้งจอในมุมที่แคธลีนเดินผ่านจะต้องเห็น ภาพในจอคือภาพเคลื่อนไหวของโครงกระดูกทีเร็กซ์ที่กำลังเดินอยู่ ซึ่งทันทีที่แคธลีนเดินมากับผู้ติดตาม เธอก็ได้เห็นทีเร็กซ์ตัวนั้น และเอ่ยถามทันทีว่า ‘นั่นอะไรน่ะ’ มิวเรนที่เดินตามมา ได้แต่นิ่งและบอกว่า นี่คือสิ่งทำพวกเขากำลังทำ แคธลีนตบไหล่ของสตีฟและพูดว่า ‘คุณมีอนาคตที่สดใสมาก’ และแน่นอนว่าโครงกระดูกทีเร็กซ์ตัวนี้ก็ไปถึงหูสปีลเบิร์กจนได้

แอบบลิน เอนเตอร์เทนเมนต์ บริษัทของสปีลเบิร์ก จึงได้แอบให้ทุนพัฒนางานนี้ของสตีฟและมาร์คอย่างลับ ๆ เพื่อให้พวกเขาพัฒนาทีเร็กซ์ตัวนั้นต่อจนเสร็จ เวลาผ่านไปราวห้าเดือน ทีเร็กซ์ที่สมบูรณ์ของพวกเขาก็พร้อมอวดโฉม วันหนึ่ง มิวเรนได้หอบเอาวิดีโอทีเร็กซ์ตัวนี้ไปที่ยูนิเวอร์แซล โดยมีทั้งสปีลเบิร์ก, สแตน วินสตัน, จอร์จ ลูคัส, แฟรงค์ มาร์แชลล์ และแคธลีน เคนเนดี้ที่รอชมอยู่ 

ไม่น่าเชื่อว่าช็อตคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่มีทีเร็กซ์เดินอยู่กลางทุ่งความยาวเพียง 5 วินาที จะสร้างความปั่นป่วนและตื่นเต้นให้ห้องประชุมทันที สแตน วินสตันวิ่งออกนอกห้องประชุมไปโทรศัพท์ด้วยเสียงโวยวาย โดยเฉพาะสปีลเบิร์กที่ตื่นเต้นระเบิดอารมณ์จนควบคุมตัวเองไม่อยู่ ขณะที่บางแหล่งข่าวบอกว่าจอร์จ ลูคัสถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความตื่นเต้น

หลังจากนั้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปทันที สปีลเบิร์กเอ่ยปากว่า ‘นั่นคืออนาคต จากนี้ไปมันจะเป็นแบบนั้น’ และไม่ลังเลเลยว่าที่จะเลือกใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกในหนังของเขา แต่นั่นหมายถึงข่าวร้ายของ ฟิล ทิปเปตต์ที่กำลังง่วนกับการเตรียมงาน Stop Motion โดยต้องได้ยอมรับความจริงที่ว่างานของเขาไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้ว จากปากของสปีลเบิร์กเอง ซึ่งหลังจากที่ทิปเปตต์ได้เห็นภาพทีเร็กซ์ช็อตนั้น สปีลเบิร์กได้ถามว่าทิปเปตต์รู้สึกอย่างไร ซึ่งทิปเปตต์ได้ตอบกลับสปีลเบิร์กไปว่า ‘มันทำให้ผมรู้สึกสูญพันธุ์ไปเลย’ แต่สปีลเบิร์กกลับตอบกลับว่า ‘นั่นเป็นคำพูดที่ดีมาก ผมจะเอาไปใส่ในหนัง’ 

และสปีลเบิร์กก็นำคำพูดนี้ของทิปเปตต์ไปใส่ในหนังจริง ๆ และมันคือประโยคที่น่าจดจำของหนังอีกด้วย

การร่ายมนต์ของสปีลเบิร์ก

คงไม่แฟร์นักหากจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเพราะไดโนเสาร์อย่างเดียว แน่นอนว่ามันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไดโนเสาร์คือสิ่งสำคัญของหนัง และทีม Special Effects ก็ควรได้รับคำชมในเรื่องนี้ไป แต่หากหนังเรื่องนี้มีแต่ไดโนเสาร์อย่างเดียว ผู้กำกับอย่างสปีลเบิร์กก็คงไม่จำเป็น เพราะใครจะมากำกับก็คงไม่ต่างกัน สิ่งที่แตกต่างและทำให้หนังประสบความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ คือหนังเรื่องนี้มีทั้งไดโนเสาร์และสปีลเบิร์กอยู่ด้วยกันต่างหาก 

‘ผมไม่อายที่จะบอกว่ากับ Jurassic Park ผมแค่พยายามจะทำภาคต่อที่ดีของ Jaws บนบก’ 

คำพูดสปีลเบิร์กที่กล่าวแบบนี้ มันคือการบอกว่ากลวิธีอันเฉพาะตัวอันเป็นเสน่ห์ของสปีลเบิร์กกำลังจะถูกใช้งานอย่างเต็มที่ในหนังไดโนเสาร์เรื่องนี้ เพราะว่ากันตามตรง ไดโนเสาร์หลายตัวในหนังไม่ต่างจากฉลามยักษ์ในหนังแจ้งเกิดของสปีลเบิร์กเรื่องนั้นสักเท่าไหร่ เราเคยเห็นวิธีการที่เรียบง่ายทว่าทรงประสิทธิภาพในการสร้างความตื่นเต้นกับคนดูในหนังฉลามเรื่องนั้น เช่นมุมกล้องแทนสายตาฉลามที่กำลังว่ายไปหาเหยื่อพร้อมดนตรีประกอบในตำนานของ จอห์น วิลเลียมส์ หรือการใช้เรื่องราวผ่านคำพูดของตัวละครในการสร้างความหวาดกลัวก่อนเปิดตัวร้ายที่ทำให้คนดูต้องระทึกจนลืมหายใจ 

หากพิจารณาดี ๆ องค์ประกอบของ Jurassic Park ล้วนเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนที่สปีลเบิร์กค่อย ๆ หยอดไว้ทีละเล็กน้อยตั้งแต่แรก ฉากเปิดอันครึกโครมและวุ่นวายของสิ่งมีชีวิตบางอย่าง ที่เราก็รู้ว่าหากเราคุมมันไม่ได้มันจะเกิดความหายนะเพียงใด?, เรื่องเล่าของตัวละคร อลัน แกรนท์ ที่เอ่ยเรื่องเล่าชวนหวาดผวาของไดโนเสาร์พันธุ์เวโลซีแร็พเตอร์ ถึงความดุร้าย ฉลาดและเจ้าเล่ห์เพทุบายของมันเพื่อปูพื้นฐานให้คนดู และว่ากันตามตรง สถานะของแร็พเตอร์คงเปรียบเหมือนกับฉลามใน Jaws ที่ถูกเก็บงำ ซ่อนเร้น เพื่อรอเวลาที่สุกงอมก่อนจะเปิดออกมาในช่วงไคล์แมกซ์และได้รับรู้กับตาตัวเองว่าเรื่องเล่าอันชวนหวาดผวาในช่วงแรกของหนังนั้นไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อย

หรือจะเป็นช็อตภาพที่เรียบง่ายอย่างน้ำในแก้วที่มีน้ำกระเพื่อมเป็นจังหวะ เพื่อเป็นการบอกถึงอะไรบางอย่างที่มีขนาดมหึมากำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ อันเป็นช็อตในภาพจำของหนังที่เรียบง่ายมาก แต่ทว่าส่งผลอย่างสูงสุดต่อความตื่นเต้นของคนดู รวมถึงจังหวะการปรากฏตัวอันคาดไม่ถึงที่ทำให้คนดูสะดุ้งโหยงในแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ Jaws ที่สปีลเบิร์กก็ใช้สถานการณ์ที่ดูธรรมดาไม่น่ามีอะไร เปิดตัววายร้ายหลักให้คนดูเห็นอย่างไม่ตั้งตัว นี่ยังไม่รวมถึงการขมวดสถานการณ์จนมุมที่หนีไปไหนไม่ได้ของตัวละคร (เกิดพายุเข้า, เกาะห่างไกล, ไฟฟ้าใช้การไม่ได้, ตัวละครอยู่กันคนละที่ และไดโนเสาร์ที่หลุดออกมาโดยที่ยังไม่รู้ว่ามันจะเจอเราตอนไหน) ที่ทำให้คนดูต้องเอาใจช่วยและหายใจไม่ทั่วท้องอีก 

ตั้งแต่ฉากแรกถึงฉากสุดท้ายสปีลเบิร์ก เปรียบเหมือนคอนดักเตอร์ที่กำลังกำกับวงออเคสตร้าได้อย่างช่ำชองและคนดูไม่อาจละสายตาหรือเสียสมาธิไปกับอย่างอื่น หรือกล่าวได้อีกอย่างคือเหมือนถูกร่ายมนต์สะกด นอกจากนั้น แม้ว่าจุดขายของหนังจะเป็นไดโนเสาร์ แต่คนที่ดูแล้วจะรู้ดีว่าสปีลเบิร์กไม่ได้สักแต่ว่าจะเอาไดโนเสาร์ออกมาโชว์ให้มากที่สุดทุกสิบนาที ตรงกันข้าม การปรากฏตัวของไดโนเสาร์ในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ยเสียด้วยซ้ำ แต่ทว่าทุกครั้งของการปรากฏตัวมันผ่านการคิดและวางจังหวะของภาพยนตร์มาอย่างดีแล้วว่ามันจะไม่มากเกินจนล้นหรือไม่น้อยเกินจนผิดหวัง ซึ่งทั้งหมดนี้จากการกำกับอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสปีลเบิร์กนั่นเอง

Jurassic Park จึงกลายเป็นหนังตลาดเพื่อความบันเทิงที่มีสถานภาพเพียบพร้อมในการเป็นหนังชั้นดีที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น และมีวิธีการเล่าเรื่องที่หลักแหลม มีชั้นเชิงด้วยกลวิธีทางภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่ใส่มาได้ผลต่ออารมณ์คนดู หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่ามันไม่ได้เป็นหนังตลาดที่สุกเอาเผากินเหมือนหนังตลาดหลาย ๆ เรื่องในปัจจุบัน และเพราะเหตุนี้เองที่มันกลายเป็นตำนาน

ปรากฏการณ์และการส่งต่อคนรุ่นหลัง

หลังเสร็จสิ้นภารกิจการถ่ายทำ Jurassic Park สปีลเบิร์กก็มุ่งตรงสู่โปแลนด์เพื่อถ่ายทำหนังเรื่องต่อไปทันที ซึ่งแฟน ๆ จะรู้กันดีว่าเรื่องนั้นคือ Schindler’s List (1993) หนังดราม่าขาวดำที่เล่าเรื่องชีวิตชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเอาเข้าจริงนี่คือโปรเจกต์ส่วนตัวที่สปีลเบิร์กอยากทำก่อน Jurassic Park เสียอีก แต่ก็ต้องยอมทำหนังไดโนเสาร์ก่อนเนื่องจากการตกลงข้อแลกเปลี่ยนของสตูดิโอยูนิเวอร์แซลว่าหากเขายอมทำหนังไดโนเสาร์ จะอนุมัติโปรเจกต์ Schindler’s List และให้อิสระอย่างเต็มที่ 

นั่นหมายถึงการทำงานหามรุ่งหามค่ำซึ่งสปีลเบิร์กจะต้องคอยตรวจงานโพสต์โปรดักชั่นของ Jurassic Park (โดยเฉพาะงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก) ในช่วงกลางคืน ส่วนเช้าถึงเย็นก็ง่วนกับการถ่ายทำ Schindler’s List ฟังดูงานหนักเกินไป แต่ยังดีที่การทำงานหนักแบบนี้ ก็ลงท้ายด้วยความสำเร็จที่คุ้มค่า

เพราะกระแสความนิยมของหนังเริ่มตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย มีผู้คนเอาเก้าอี้และหนังสือนิยายไปอ่านหน้าโรงหนังข้ามคืนเพื่อซื้อตั๋วเข้าชมวันแรกในหลายโรงทั่วประเทศ และรายได้เปิดตัวในอเมริกาของหนังก็ครึกโครมตามกระแสของมันด้วยรายได้ถึง 47 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะทะยานไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้งจนจบที่ 357 ล้านเหรียญ ซึ่งรวมรายได้ทั่วโลกแล้วมันไปไกลถึง 912 ล้านเหรียญ 

ที่มันเป็นแบบนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเกิดจากการซื้อตั๋วเข้ามาดูซ้ำกันมาก โดยเฉพาะในแง่ความสนุกและความบันเทิงเต็มรูปแบบของหนัง และที่สำคัญที่สุดคือการได้เห็นไดโนเสาร์กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างสมจริง ภาพไดโนเสาร์ตัวแรกอย่างแบรคิโอซอรัสขนาดมหึมากำลังกินพืชของต้นไม้ใหญ่ที่ฉากหลังคือทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่สปีลเบิร์กเปิดให้ผู้ชมเห็นเต็มตา มันช่างเป็นภาพที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อความรู้สึกตื่นตา น่าทึ่ง และลืมไม่ลง

หากว่านั่นคือความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของสปีลเบิร์กแล้ว ก็ต้องบอกว่ามันยังเดินมาแค่ครึ่งทางเท่านั้น หนังไดโนเสาร์เข้าฉายในเดือนมิถุนายนและสร้างกระแสความนิยมไปตลอดปีที่เหลือ และทันทีที่เข้าสู่เดือนธันวาคม หนังเรื่องต่อไปของเขาอย่าง Schindler’s List ก็พร้อมแล้วที่จะอวดสายตาผู้ชมแบบไม่ต้องให้รอนาน

หนังดราม่าขาว-ดำความยาว 3 ชั่วโมงเรื่องนี้ก็เดินหน้าตามเส้นทางของตัวเองอย่างแข็งขันไม่แพ้หนังไดโนเสาร์ แน่นอนว่ามันไม่ได้ทำเงินถล่มทลายอะไรขนาดนั้นด้วยหน้าหนังของมัน หากแต่มันเดินทางกวาดรางวัลจากเวทีต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง จนไปถึงเวทีออสการ์ด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 12 สาขา แล้วก็กลายเป็นพระเอกของงานปีนั้นตามคาดด้วยการชนะไปถึง 7 สาขา แน่นอนว่ามันรวมถึงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย

สตีเวน สปีลเบิร์กจึงกลายเป็นสุดยอดผู้กำกับของโลกทันที จากการที่ภายในปีเดียวหนังของเขาทั้งสองเรื่องซึ่งมีรูปแบบต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่างประสบความสำเร็จจนสุดทางได้ทั้งสองเรื่อง หนังไดโนเสาร์เพื่อความบันเทิงก็ทำรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลกแถมได้รับคำชมจากทั่วสารทิศ ส่วนหนังดราม่าลุยเวทีรางวัลอีกเรื่องก็เดินทางจนไปจบที่รางวัลใหญ่ของออสการ์ได้ และสปีลเบิร์กก็สมหวังกับรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกจากเรื่องนี้เสียที

สมญานาม ‘พ่อมดฮอลลีวูด’ ของสปีลเบิร์กจึงได้เริ่มต้นจากความสำเร็จของหนังทั้งสองเรื่องนั้น นั่นเอง

และจากความสำเร็จอย่างยิ่งของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกในการสร้างไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ได้ส่งต่อความสั่นสะเทือนไปทั่วฮอลลีวูดถึงการให้คุณค่าและงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เดินต่อไปอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ โดยภายหลังมีภาพยนตร์มากมายที่ได้รับมรดกจากปรากฏการณ์นี้ ที่พัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Titanic (1997), ไตรภาค The Lord of the Rings (2001-2003) หรือแม้แต่ภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติ ที่มี Toy Story (1995) เป็นหนังเปิดตลาด ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตจากการพัฒนาของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเช่นกัน

จากการสร้างไดโนเสาร์ตัวเดียวก็แทบรากเลือด ปัจจุบันคอมพิวเตอร์กราฟฟิกก็พัฒนาสู่การสร้างโลกได้ทั้งใบ และการสร้างมาตรฐานหนัง Blockbuster กลวิธีการลงทุนกับการโปรโมตและการฉายแบบปูพรมทั่วโลกให้บรรดาสตูดิโอต้องเดินตามจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการสถาปนาฮอลลีวูดให้กลายเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เริ่มต้นจากหนังไดโนเสาร์เรื่องนี้


อ้างอิง
  • ซีรีส์สารคดี The Movies That Made Us ซีซั่น 2 ตอน Jurassic Park 
  • บทความ Jurassic Park โดย ประวิทย์ แต่งอักษร จากหนังสือ Starpics Special – Steven Spielberg: The Wizard of Hollywood
  • หนังสือ Back To The 90s โดย Vintage Motion
  • www.imdb.com

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า