fbpx

International Women’s day : วันสตรีสากล ความหวัง ความฝัน แด่หญิงสาวทั้งโลก

แม้วันสตรีสากลจะล่วงเลยผ่านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ผู้คนทั่วทั้งโลกยังคงตื่นตัว ร่วมรณรงค์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสตรีอย่างกว้างขวางและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลกกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ท่ามกลางวันสำคัญอันเป็นสากลที่หญิงสาวทุกที่ควรได้เฉลิมฉลอง ยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอม เมื่อพวกเธอต้องต่อสู้เพื่อลูก ครอบครัว และตัวเองในยามที่ความไม่สงบมาถึงพื้นที่ซึ่งเคยปลอดภัย

แต่เราเชื่ออย่างยิ่งตามโควทสำคัญของนักกวีชาวอเมริกันอย่าง Ntozake Shange ว่า ‘ที่ใดมีอิสตรี ที่นั่นย่อมมีเวทมนตร์’ เพราะไม่ว่าสถานการณ์จากเลวร้ายแค่ไหน เพื่อนหญิงพลังหญิงเหล่านี้ จะช่วยกันนำพาพวกเธอก้าวไปสู่ความแข็งแกร่งและความสำเร็จเสมอ

และเพราะความเชื่อเช่นนั้น Modernist จะขอพาทุกคนย้อนไปถึงต้นกำเนิดของวันสตรีสากล เพื่อทำความเข้าใจว่าวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเพื่อใคร วันนี้เกิดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองหรือการประท้วง เรื่อยไปจนถึงทำไมต้องเป็นวันที่ 8 มีนาคม

จุดเริ่มต้น

วันสตรีสากล (International Women’s Day) หรือที่ต่างชาติเรียกกันสั้นๆว่า IWD นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อสหภาพแรงงานเรียกร้องสิทธิ์ในการทำงานที่มีมาตรฐานและดีขึ้น โดยการเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี จนกระทั่ง UN ให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้ในที่สุด 

เมล็ดพันธ์ุแห่งเสรีภาพเริ่มหว่านครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) เมื่อสตรีมากกว่า 15,000 คน เดินขบวนเรียกร้องให้รัฐปรับความเท่าเทียมในสิทธิ์และสวัสดิการระหว่างเพศหญิงและชาย โดยมีข้อเรียกร้องคือ ลดชั่วโมงการทำงานให้สั้นลง ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น และได้รับสิทธิ์ในการออกเสียงทางการเมือง ซึ่งภายหลังการเรียกร้องดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี  พรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกา (Socialist Party of America) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเรียกร้องครั้งนี้ และได้จัดตั้งวันสตรีสากลขึ้นมาในที่สุด โดยมีแกนนำความคิดหลักคือ Clara Zetkin นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ซึ่งเธอได้นำเสนอความคิดนี้ในงานประชุม International Conference of Working Women จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) โดยความคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้หญิงทั้ง 100 คน จากประเทศมหาอำนาจ 17 ประเทศทั่วโลก

หลังจากการประชุมเห็นชอบ ณ กรุงโคเปนเฮเกน วันสตรีสากลจึงได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) โดยมีประเทศที่ประกาศใช้วันดังกล่าวคือ สาธารณะรัฐออสเตรีย, ประเทศเดนมาร์ก, ประเทศเยอรมนี และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะขยับมาเป็นวันสำคัญของโลกในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) จากการเฉลิมฉลองในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเฉลิมฉลองด้วยการตั้งมั่นบนจุดมุ่งหมายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ว่า ‘ร่วมเฉลิมฉลองวันวาน, เพื่อก้าวสู่อนาคต’ (Celebrating the Past, Planning for the Future) 

จึงอาจสรุปได้ว่า วันสตรีสากลนั้นเป็นทั้งเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองให้ผู้หญิงทั่วโลก ที่ได้รับโอกาสและมีส่วนร่วมสร้างบทบาทในสังคมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ โดยมีรากฐานความคิดมาจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเท่าเทียมในการทำงาน 

8 มีนาคม 

แม้ว่าคลาร่าจะเป็นผู้เสนอความคิดให้จัดตั้งวันสตรีสากลขึ้น แต่แท้จริงวันดังกล่าวไม่ได้มีการระบุวันที่อย่างแน่ชัดเอาไว้ ดังนั้นตลอดระยะเวลาหลายปี ยังคงมีข้อถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมสำหรับวันที่เพื่อการจัดตั้งวันสตรีสากลเรื่อยมา จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) เมื่อสตรีชาวรัสเซียเรียกร้องทั้ง ‘ขนมปังและสันติภาพ’ (bread and peace) สี่วันหลังสงครามเริ่มปะทุมากขึ้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ และสั่งให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อให้สิทธิ์ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับสตรีทั้งหมดในช่วงนั้น ซึ่งสงครามและเหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มปะทุขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากลจึงเลือกจัดตั้งในวันดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

‘สีม่วง’ สีประจำวันสตรีสากล

ล้างความเชื่อเก่าเมื่อพูดถึงสีม่วงแล้วแทนสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ เมื่อแท้จริงสีม่วงคือสีเสื้อผ้าที่นิยมสวมใส่ในวันสตรีสากล ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงสีเดียว แต่ประกอบไปด้วยสีทั้งหมด 3 สี คือสีม่วง, สีเขียว, และสีขาว (ยึดตามข้อมูลจากเว็บไซต์ออฟฟิเชียล) 

โดยแต่ละสีมีความหมายที่ดีและชัดเจน เช่นสีม่วงที่แสดงถึงความยุติธรรมและศักดิ์ศรี สีเขียวแสดงถึงความหวัง และสีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์ แม้ว่าแนวคิดเรื่องสีดังกล่าวจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และมีผู้คนมากมายคัดค้าน แต่สีเหล่านี้มีต้นแบบมาจากสหภาพสังคมและการเมืองเพื่อสตรี  (Women’s Social and Political Union – WSPU) ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีค.ศ. 1908 (พ.ศ.2451) 

มีวันสตรีสากลแล้ว มีวันบุรุษสากลมั้ย

หลายคนอาจไม่รู้ แต่วันบุรุษสากลคือวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี

แต่เพราะมันเพิ่งถูกตั้งขึ้นมาในปีค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) และยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก UN แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้เข้าร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวมากกว่า 80 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นยังรวมไปถึงสหราชอาณาจักรอีกด้วย ซึ่งจุดมุ่งหมายในการเฉลิมฉลองคือ ‘การระลึกถึงผลเลิศที่บุรุษร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนโลก, ครอบครัว และสังคม’ (the positive value men bring to the world, their families and communities) นอกจากร่วมนึกถึงจุดดีที่ขับเคลื่อนโลกแล้ว วันบุรุษสากลยังถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับความเข้าใจในเรื่องเพศ และความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยในปี 2021 ถูกกำหนดภายใต้หัวข้อ ‘ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุรุษและสตรี’ (Better relations between men and women.) เพื่อเน้นย้ำถึงจุดมุ่งหมายแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศให้ชัดขึ้นอีก 

จุดมุ่งหมายในปี 2022 

UN ได้ทำการประกาศจุดมุ่งหมายประจำปี 2022 เนื่องในวันสตรีสากล โดยดำเนินการภายใต้หัวข้อ ‘ความเท่าเทียมทางเพศในวันนี้ สู่ความยั่งยืนในวันหน้า’ (Gender equality today for a sustainable tomorrow) ซึ่งจุดเด่นของงานในปีนี้ นอกจากจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และจัดงานเฉลิมฉลองดังเช่นในปีที่ผ่านๆมาแล้ว IWD ยังตั้งหัวข้อสนทนาเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่กำลังมาถึงตัว อย่างภาวะโลกร้านอีกด้วย 

ในส่วนของเว็บไซต์ สำหรับปี 2022 ทาง IWD ยังได้คิดคอนเซปต์ในการสร้างพื้นที่และแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นสเปซเพื่อการเปลี่ยนแปลงในด้านบวกให้กับผู้หญิงทุกคน พร้อมใช้ #BreakTheBias เพื่อตั้งคำถามให้ทุกคนตระหนักและนึกถึงโลกที่ปราศจากอคติ, การแบ่งแยกทางความคิด และการให้ร้าย

มุ่งไปข้างหน้า เพื่อความหวัง และความฝัน 

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีถดถอยลงในหลายประเทศ ตั้งแต่ความรุนแรงหลังกลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถาน ส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กมากมาย เหมือนถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต ถูกตัดโอกาสทางการศึกษา แม้แต่รัฐมนตรีทั้งหมดในรัฐบาลที่เป็นผู้หญิง ก็ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งสิ้น 

การฆาตกรรม Sarah Everard คดีดังในสหราชอาณาจักร ซึ่งผู้ต้องหาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจซะเอง เป็นเหมือนชนวนเชื้อเพลิงอย่างดี ที่ทำให้ผู้หญิงมากมายตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการฝากชีวิตไว้กับเจ้าหน้าที่ 

เรื่อยมาถึงเหตุการณ์สงครามที่กำลังปะทุระหว่างยูเครนและรัสเซีย เมื่อหญิงสาวชาวยูเครนต้องกลายเป็นผู้นำครอบครัวและผู้ตัดสินใจแก้ปัญหา เมื่อสามีของพวกเธอต้องออกไปทำหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศ ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ลี้ภัยกว่า 2 ล้านคน ซึ่งภายในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กถึง 1 ล้านคน สงครามครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากครั้งหนึ่งสำหรับผู้หญิงชาวยูเครน ถึงขนาดที่ James Elder โฆษกจาก UNICEF ถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘หนึ่งในเหตุการณ์ดำมืดทางประวัติศาสตร์’ ไม่ใช่แค่กับผู้หญิงแต่ยังหมายถึงผู้คนมากมายไม่แบ่งเพศและอายุอีกด้วย

นอกจากนั้นเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในทั่วทุกมุมโลก ยังทำให้สิทธิของผู้หญิงมากมายถูกทำลายลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีงานวิจัยจาก UN Women ในปี 2021 ว่าด้วยผลการศึกษาจากผู้หญิงใน 13 ประเทศ พบว่า 1 ใน 2 จากกลุ่มตัวอย่างกำลังเผชิญกับการทำร้ายร่างกาย และการใช้ความรุนแรงในช่วงที่กักตัว ตั้งแต่การถูกทารุณ ไปจนถึงการกักขังเพื่อให้ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากสังคมภายนอกได้   แม้เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นจะคุกรุ่นและรุนแรง แต่ภายใต้เหตุการณ์ที่เลวร้าย มักมีความหวังเกิดขึ้นเสมอ เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลให้ผู้นำและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีทั่วโลกออกมาเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น ทั้งยังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง Kamala Harris ผู้หญิงผิวสีลูกครึ่งอเมริกัน – เอเชีย คนแรกขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ หรือการผ่านร่างกฎหมายในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเยียวยาผู้หญิงซึ่งสูญเสียสามี หรือลูก เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้

อีกทั้งในโลกโซเชียลยังมีการตั้ง #Metoo เพื่อเป็นพื้นที่ให้หญิงสาวมากมายได้ร่วมแชร์และบอกเล่าประสบการณ์ การถูกทารุณ คุกคาม และล่วงละเมิด เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจมากขึ้น ระหว่างเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม ซึ่งแท็กดังกล่าวยังส่งผลมาถึงประเทศไทย ที่กลายเป็นแท็กเปิดกว้างเพื่อให้ผู้คนมากมายได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นและบอกเล่าประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ถูกกระทำ แต่ยังรวมไปถึงผู้ชาย และกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งล้วนต่างมีจุดร่วมในเหตุการณ์คล้ายๆกัน มาร่วมเล่าประสบการณ์และวิธีรับมือ เพื่อซัพพอร์ตและส่งเสริมแท็กดังกล่าวอีกด้วย 

จากวันแรกจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 100 ปีที่มีการจัดตั้งวันสตรีสากลขึ้นมา นอกจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพให้กับผู้หญิงทั่วโลกแล้ว วันดังกล่าวยังเป็นวันที่พิสูจน์ว่า เรายังสามารถหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคโดยคนหมู่มากได้เสมอ แม้อาจใช้เวลาเดินทางหลายทศวรรษหรือไปจนถึงศตวรรษ แต่หากเรามีความเชื่อ ความหวัง และความเข้าใจโดยปราศจากอคติ โลกจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น ไม่ต่างจากจุดมุ่งหมายของปี 2022 พัฒนาสู่วันที่ทุกเพศจะอยู่ด้วยกันได้ ทุกคนที่เห็นต่างจะอยู่อย่างเข้าใจ เคารพและไม่ทำร้ายกัน

Gender equality today for a sustainable tomorrow 

ที่มา

https://www.bbc.com/news/world-60610678
https://abcnews.go.com/International/wireStory/kind-terrible-dream-ukrainian-women-refugees
https://internationalmensday.com/
https://www.internationalwomensday.com/
https://firstclasse.com.my/history-of-international-womens-day/

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า