fbpx

“Interactive Gameshow” มิติใหม่แห่งเกมโชว์ที่ร้างลาจากประเทศไทย

รายการเกมโชว์ถือว่าเป็นหนึ่งในประเภทรายการที่มีการผสมผสานที่หลากหลายและสามารถเปลี่ยนแปลงพลิกผันตัวเองได้ตลอด อย่างเช่นว่าหากรายการนั้นเต็มด้วยการถามคำถามมันก็จะกลายเป็น “ควิซโชว์”, หากรายการนั้นมีการผสมผสานความบันเทิงโดยที่เอาตัวเกมเป็นรองมันก็จะผันตัวเองเป็น “วาไรตี้เกมโชว์” และยิ่งมันมีการผสมผสานการแข่งขันที่ต้องใช้พละกำลังกายใช้บุคคลเป็นตัวเกมของเกม นั่นจะกลายเป็น “แอคชั่นเกมโชว์” แต่แนวที่เราจะพานำมาเป็นบทความในวันนี้คือรายการเกมโชว์ในรูปแบบของ “อินเตอร์แอคทีฟเกมโชว์”

ทำความรู้จักกับรายการแนวนี้สักนิด

อินเตอร์แอคทีฟเกมโชว์ (อังกฤษ : Interactive Game Show) คือรูปแบบรายการที่ผู้ชมรายการบนหน้าจอจากทางบ้าน มีสิทธิร่วมสนุกและกลายเป็นผู้เข้าแข่งขันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม ควบคุมเกม หรืออื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรายการนี้จะออกอากาศสดเสียมาก

จุดกำเนิดรายการเกมโชว์แบบโต้ตอบได้

รายการแรกที่มีการระบุไว้ในไทยและเข้าเค้ารายการอินเตอร์แอคทีฟเกมโชว์ คงหนีไม่พ้น ฮิวโก้เกม จากค่ายกันตนา ที่เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากประเทศเดนมาร์ก โดยมีพิธีกรสองท่านที่คอยสลับสับเปลี่ยนมาดำเนินรายการให้ไหลลื่นอย่าง แอนดริว เกร้กสัน และ โม้นา – ราโมนา ซาโนลารี่ ที่ปัจจุบันยุติบทบาทในวงการบันเทิงเรียบร้อยแล้ว [1]

โดยที่รายการนี้เป็นรายการที่ให้ผู้ชมที่นั่งดูรายการโทรทัศน์อยู่บนจอแก้ว เข้ามาเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการโดยที่ไม่ต้องลุกออกจากบ้าน ลากตัวเข้ามาเมืองกรุง และนั่งรอทีมงานอยู่ในสตูดิโอ มาเล่นเกมโดยการควบคุมตัวละครที่มีชื่อว่า “ฮิวโก้” ฝ่าด่านผจญภัยต่าง ๆ โดยใช้โทรศัพท์บ้านที่ต่อสายเน็ตในปัจจุบันนี่แหละครับ มาเป็นตัวควบคุมเกม โดยที่แจกของรางวัลที่เรียกได้ว่าจับต้องได้ยากในยุคสมัยนั้นอย่าง คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์พกพา (ที่เราการันตีได้ว่าหากร่วงลงใส่หัวเมื่อไหร่เนี่ย ถ้าไม่จองห้องโรงพยาบาล ก็เตรียมจองศาลาในวัดได้เลย)

มานิดเดียว เดี๋ยวก็ซา

หลังจากที่รายการฮิวโก้เกมเริ่มออกอากาศตอนแรกไป ก็มีคนสนใจร่วมเล่นรายการเป็นจำนวนมากแต่ปัญหามันก็มีครับ เพราะในยุคสมัยนั้นยังมีหลาย ๆ บ้านที่ยังใช้โทรศัพท์บ้านแบบหมุนเพื่อกดเลขกันอยู่ ทำให้ผู้เล่นส่วนหนึ่งที่สนใจจะโทรเข้ามาเล่นต้องสละสิทธิ์ไปด้วยปัญหาของอุปกรณ์ที่ใช้เล่นรายการ เผลอ ๆ ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ชุมสายโทรศัพท์บ้านล่มอีก ถึงขั้นที่เคยมีเรื่องเล่ากันมาปากต่อปากว่าทางกันตนาต้องมาช่วยออกค่าเสียหายจากการที่ “ชุมสายโทรศัพท์ล่ม” มาแล้ว

จนเมื่อรายการจบไป บริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตรายการคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเล็งเห็นปัญหาของรายการรูปแบบนี้ จึงลดจากการโต้ตอบแบบสด ๆ เป็นให้ผู้ชมโทรเข้ามาร่วมสนุกในรายการเพื่อลุ้นรับเงินรางวัลและของรางวัลที่รายการนั้นแจก เช่น 07 โชว์, เกมฮอทเพลงฮิต, กดล่าคว้าเงิน เป็นต้น

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผัน เทคโนโลยีจึงพัฒนาตามยุค

และแล้วยุคสมัยก็เปลี่ยนไปจากการโทรเข้า กลายเป็นการส่ง SMS และ MMS เพื่อร่วมสนุกกับรายการ โดยมีการกำหนดโค้ดหรือชุดอักษรเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายของรายการและให้ทีมงานรายการตรวจสอบได้ อย่างรายการแฟนพันธุ์แท้ เมื่อสมัยการแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2004 ก็ได้มีการให้ผู้ชมร่วมโหวตทายผล “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2004”, “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้มหาชน” โดยที่ผู้โหวตมีสิทธิ์ได้ลุ้นรับโทรศัพท์มือถือและเงินรางวัลที่มาในรูปแบบเงินฝาก และยังมีรายการอีกหลายรายการที่ใช้ระบบ SMS ให้ทางบ้านได้ร่วมสนุกกัน

เวลาเปลี่ยนเทคโนโลยีพัฒนาไม่หยุดหย่อน คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ หลายรายการก็มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง อีเมลเข้ามามีบทบาทในการส่งข้อมูล ทำให้รายการเกมโชว์ก็ต้องมีการใส่เว็บไซต์ ใส่อีเมลให้ทางบ้านติดต่อเข้ามาหากรายการมีการเปิดให้ร่วมสนุก เช่นเดียวกันกับรายการแฟนพันธุ์แท้ที่ ในช่วงของการแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2005 ก็ได้เปิดให้ทางบ้านโหวตผู้ที่น่าจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2005 ผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ตั้งกระทู้ถามอย่าง พันทิป แต่น่าเสียดายที่ว่าในการโหวตครั้งนั้น ทางรายการไม่ได้แจกรางวัลอะไรเลย

การกลับมาที่ยิ่งใหญ่ (แค่สั้น ๆ) ของอินเตอร์แอคทีฟเกมโชว์ในยุคทีวีดิจิทัล

อินเตอร์แอคทีฟเกมโชว์กลับมาอีกครั้งในวงการเกมโชว์ ในช่วงที่มีการเกิดขึ้นของดิจิทัลทีวี โดยการปล่อยแอพลิเคชั่นที่ใช้คู่กับรายการอย่างเช่น รายการเกมโชว์โซเชียล ของค่าย Show No Limit ที่ได้ “หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” มารับหน้าที่พิธีกร ออกอากาศทางช่องไทยรัฐทีวี โดยมีสโลแกนที่ติดสอยห้อยตามว่า “เกมโชว์หน้าอวาตาร์ล่าแต้ม” โดยให้ผู้ชมทางบ้านโหลดแอพพลิเคชั่น ลงทะเบียนอะไรให้เสร็จสรรพ ที่เหลือก็เพียงแค่รอให้ถึงเวลาที่รายการออกอากาศ สแกน QR Code บนหน้าจอโทรทัศน์ และตอบคำถาม โดยที่ระบบคือ หากมีอวาตาร์ของผู้เล่นอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ ผู้เล่นท่านนั้นจะได้แต้มที่สูงขึ้นเมื่อตอบถูก ต่างจากการตอบแบบปกติ และสามารถนำแต้มนั้นไปแลกของรางวัลที่รายการจัดสรรไว้ให้

และอีกรายการที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กับเกมโชว์โซเชียลนั้นก็คือ The Big Picture Thailand ที่ออกอากาศทางช่องทรูโฟร์ยู ซึ่งได้พิธีกรเจ้าของฉายา “นายฝรั่ง” ที่เรา ๆ คุ้นเคยกันดีอย่าง “วิลลี่ – เริงฤทธิ์ แมคอินทอช” โดยที่ทางรายการให้ทางบ้านโหลดแอพลิเคชั่นเพื่อตอบคำถามไปพร้อม ๆ กับตัวรายการ และมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งกับทางรายการโดยการเข้ามาเป็น “Partner” เข้ามาช่วยเหลือผู้เข้าแข่งขันในห้องส่งและฮุบเงินรางวัลที่ผู้เข้าแข่งขันทำไว้ได้ 25% มาเป็นของตนเอง

รายการไลฟ์บนหน้าจอสมาร์ทโฟน แบบไม่ต้องพึ่งจอแก้ว

ในปี พ.ศ. 2561 ก็ได้มีการกำเนิด Interactive Gameshow ในมือถือแบบเต็มรูปแบบรายการแรกของเมืองไทยอย่าง MQ หรือชื่อเต็มๆ คือ Millionaire Quiz เกมส์ล่าเงินล้าน ที่ได้ตัวพิธีกรสายเฮฮาจากช่องวันอย่าง “เกลือ – กิตติ เชี่ยววงศ์กุล” มาเป็นพิธีกร ตามมาด้วย Quiz Hunter ของ tutu Live แต่ทั้งสองก็ถือเป็นแต่ส่วนหนึ่งของแอพ

ต่อมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ก็ได้มีการกำเนิด Interactive Gameshow แบบแยกแอพที่ใช้ชื่อว่า “Panya” ที่ผลิตโดย บริษัท ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดขึ้นในไทย ในก่อนหน้านี้ก็มี “HQ Trivia” ที่พัฒนาโดย Intermedia Labs ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเราแต่ได้คิดว่านี่คือต้นแบบ Interactive Gameshow ในยุคสมาร์ทโฟน

โดยที่ตัวเกม Panya สามารถเรียกกระแสด้วยรูปแบบใหม่ที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน โดยการตอบคำถาม 12 ข้อ 3 ตัวเลือก มีหัวใจช่วยแก้ปัญหาการตอบผิดได้สูงสุด 3 ดวง และเงินรางวัลที่ต้องแชร์กันหากมีการตอบถูกมากกว่า 1 คน แต่ถ้าหากเหลือรอดเพียงคนเดียวก็ถือว่าสูงใช่เล่น แถมยังมีเวลาให้ได้เล่นกันถึง 2 รอบคือ 12.30 น. และ 20.00 น. สร้างความฮือฮาต่อผู้ใช้ออนไลน์ มีผู้เล่นต่อรอบเป็นหลักหมื่น

และด้วยความที่ Panya นั้นก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทำให้มีเจ้าของแพลตฟอร์มอื่น ๆ เริ่มทำรายการในลักษณะนี้ตาม ๆ กัน เช่น “ANNA” ของ Ookbee, “Millionaire Winner” ของ Bigo Live, “Champoko” ของ Chillido, “10?10” ของ Line Thailand, “Confetti” ของ Facebook Live เป็นต้น ซึ่งแต่ละรายการก็มีจุดยืนและของรางวัลที่แตกต่างกัน บางเจ้าก็แจกเงินตรง ๆ บางเจ้าก็แจกไอเทมที่ใช้ในแอพนั้น ๆ

เพราะพฤติกรรมของผู้เล่น สังคมเลยเน่าใน

หากคุณคือคนที่หลงใหลในเกมโชว์จนอยากไปโผล่บนหน้าจอโทรทัศน์ในฐานะผู้เข้าแข่งขัน และหากคุณคือบุคคลที่มี Passion พอจนสามารถนั่งรถโดยสารจากที่ใดที่หนึ่งจนถึงสตูดิโอถ่ายทำเพื่อมาสมัครเป็นผู้เข้าแข่งขันได้ คุณก็คงจะต้องเคยได้ยินคำว่า “Casting” หรือการ “คัดเลือกผู้เล่นทางบ้าน” กันมาบ้าง

การ “Casting” คือสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในวงการสื่อไทย เพราะโปรดิวเซอร์ไม่รู้ว่าคนทางบ้านที่ทางทีมงานรับเข้ามานั้นมีพฤติกรรมอย่างไร มีคาแรกเตอร์ที่เด่นชัดมากน้อยขนาดไหน ลักษณะนิสัยจะเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ทางรายการวางไว้หรือไม่ ผู้ผลิตจึง “จำเป็น” ที่จะต้องทำการ Casting กับผู้สมัครจากทางบ้าน หากถามว่าทำไม จู่ๆ ก็พูดเรื่อง Casting ขึ้นมา ใช่ครับ เราจะเอาสิ่งที่พูดต่อไปนี้สะท้อนให้เห็นว่า “หากคุณไม่คัดเลือกผู้เล่นจากทางบ้าน เรื่องพวกนี้ก็จะเกิดขึ้น”

พฤติกรรมของผู้เล่น Panya และแอพอื่น ๆ ที่เราสามารถเห็นได้ชัดในขณะนั้นก็คือ “ผู้เล่นบางคนจะโกรธหากตัวพิธีกรไม่ยอมบอกใบ้หรือช่วยตัวผู้เล่น”, “ทำงานกันเป็นทีม”, “พยายามขัดขวางผู้เล่นคนอื่นด้วยการสแปมคำคอบที่ผิดในไลฟ์แชทเพื่อลดจำนวนผู้เล่น”, “ระรานตัวพิธีกรถึงในช่องทางโซเชียลมีเดีย” และอื่น ๆ ซึ่งพฤติกรรมแรกถือเป็นพฤติกรรมที่หนักพอจนสามารถที่จะด่าทอในรูปแบบเล่นพ่อล่อแม่และสาปแช่งตัวพิธีกรจนถึงขั้นที่ว่ามีพิธีกรของรายการประเภทนี้ขอถอนตัวจากรายการมาแล้ว

เงินหมุนไม่ทัน เราจบกันเลยดีกว่า

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ทางแอพปัญญาได้ประกาศถึงการออกอากาศครั้งสุดท้ายผ่านทางหน้าเพจของแอพเอง โดยที่ทางแอพยอมรับว่าตัวผู้ผลิตมีปัญหาในเรื่องเงินรางวัล และจะรับผิดชอบต่อการจ่ายเงินรางวัลที่ค้างคาให้แล้วเสร็จ แล้วจึงจะกลับมาดำเนินรายการต่อ [2] แต่นานวันเข้าผู้เล่นก็เริ่มที่จะรู้สึกแล้วว่า “รอนานๆ มันอาจจะบั่นทอนหัวใจ” แถมทางแอพยังไม่ประกาศเพิ่มเติมอีก ซ้ำยังมีคนหันไปเห็นว่ามีการรับสมัครงานในเพจ Panya Studio ซึ่งเป็นเพจที่เกี่ยวกับงานในแอพ Panya

กลุ่มผู้เล่นกลุ่มหนึ่งเลยตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งทาง สคบ. ก็รับเรื่องไว้ แต่ด้วยความที่เรื่องมันก็นิ่งเกินไป (นั่นแหละครับ ตามสเต็ปงานราชการไทย) เลยมีคนไปโวยวายและเรียกร้องต่อ สคบ. เพื่อให้ดำเนินการต่อ แต่ว่าเหมือนจะล้อฟรีไปไกล เรื่องมันเลยเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล

ภาพเปรียบเทียบ UI ของ Panya กับ Geddit

ในปีต่อมาก็ได้มีการพิจารณาคดีของ Panya ตามลำดับขั้นตอนการทำงาน แน่นอนว่าจะต้องมีการเรียกตัวจำเลยในเรื่องนั่นก็คือ Geir Z. Windsvoll ซีอีโอแห่ง ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) เข้ามาให้ปากคำ แต่ทว่า… ก็ไม่มีเลขหมายจากบุคคลที่ท่านเรียก ทำให้การพิจารณาคดีนี้ใช้เวลาไปถึง 1 ปีเต็ม ๆ

จนในท้ายที่สุด ทางศาลตัดสินให้ ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) และแอพ Panya มีความผิด และจะต้องชดใช้เงินรางวัลให้กับกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกที่ยื่นฟ้อง เคราะห์ก็ซ้ำกรรมก็ดันมาซัดอีกรอบ ก็เกิดเหตุการณ์ “ซีอีโอหายตัว” เหมือนใช้คาถานินจาอะไรซักบทหนึ่ง ล่องหนหายไป ทำให้คนกลุ่มแรกที่ “ควรจะได้รับเงิน” ก็กลับไม่ได้เงิน

แต่ ๆ มีคนในวงการผู้เล่น Interactive Gameshow ดันไปเห็นบริษัทหนึ่งที่งอกมาโดยใช้ชื่อว่า “Geddit” โดยพัฒนาแอพที่ชื่อว่า “Geddit Live” ซึ่งมี UI ที่เหมือนกับ Panya และมีความคล้ายกันเป็นอย่างมาก ทำให้คนในวงการนี้เกิดอาการปรอทแตกกันอีกรอบ โดยที่ตัวแอพเปิดตัวใน 2 ประเทศ นั่นก็คือนอร์เวย์และเมียนมาร์ และยังสิ่งมีสิ่งหนึ่งที่ Panya ทำไม่ได้ นั่นก็คือตัวแอพ Geddit นั้นจ่ายเงินให้กับผู้เล่นครบ

แต่ใช่ว่าจะมีแค่ Panya เจ้าเดียวนะครับที่ทำตัวเชิดเงินหาย มันก็ยังมีอีกเจ้าหนึ่งซึ่งนั่นก็คือ “Quiz Hunter” แต่ไอเจ้านี่มันแสบกว่าหลายเท่า ตรงที่ว่า ระบบแอพของ tutu Live มันไม่มีการแจ้งประวัติการถอนเงินแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้หลักฐานที่ส่งดำเนินคดีที่สคบ. ก็ไม่สามารถไปต่อได้ และตัวแอพก็ปิดตัวหนีไปแล้วด้วย

รากฐานสลาย วงการก็จางหายไปด้วย

2 แอพที่เรากล่าวมาเบื้องต้นถือว่าหนักแล้วนะครับ มีหนักกว่านั้นอีกครับ อย่าง 10?10 (เท็นเท็น) ของทาง Line ก็ดัน…มาเคาะฐานให้มันพังเหมือนหยิบบล็อกที่พลาดของ Jenga ออกมา

เพราะจากที่จะให้แลกของรางวัลด้วยแต้ม กลายมาเป็นว่าให้คนที่มีแต้มแลกของรางวัลที่มีเพียงแค่ 20 ชิ้นเท่านั้น โดยลงทะเบียนผ่าน Google Form แต่อีกจุดหนึ่งที่สะกิดให้เกิดสะเก็ตไฟนั่นก็คือ เท็นเท็นประกาศปิดซีซั่นแบบฉับพลัน และหากผู้เล่นท่านใดมีเงินรางวัลไม่ถึง 1,000 บาท จะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ และมันก็ทำให้มีคนที่เงินรางวัล 999 บาท กลายเป็น “เงินทิพย์” ไปเลย (แต่เขาก็จ่ายเงินครบนะครับ)

และยังมี Champoko ที่ไม่มีการประกาศล่วงหน้า และปิดซีซั่นไปเลย ซึ่งมันก็มีคนที่มีเงิน 300-400 บาทอยู่ในแอพ ก็ต้องมาเห็นเงินที่หายไปกับตา มิหนำซ้ำก็ยังมีเกม 12 ปริศนาท้ารวย ของ samyan ที่ประกาศปิดซีซั่นแบบรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ Interactive Gameshow แถมยังมีคำถามที่ “ยาก” จนเกินไปและ “กำกวม” จนเกินไป

แต่ที่น่าสงสารที่สุดก็คงจะเป็น ANNA ที่ต้องมารับมือจากความโกรธแค้นของแอพอื่น ๆ ที่ทิ้งไว้ แถมยังมีผู้เล่น Toxic เข้ามาป่วนและยังต้องมารับคำขอร้องจากผู้เล่น (ที่บางครั้งก็ไม่เข้าเรื่อง) จนต้องปิดตัวไป แต่หากพิจารณากันดูแล้ว ANNA นั้นอาจจะถือได้ว่าเป็นแอพแนว Interactive Game Show ที่ดีที่สุดแอพหนึ่งก็ว่าได้ ด้วยระบบการจ่ายเงินที่ตรงเวลาแบบเป๊ะ ๆ

ถ้ามีคนถามว่า ANNA รับแรงกระแทกจากผู้เล่นสาย Toxic จากที่ไหน คำตอบก็คือ Shopee Quiz ครับ ด้วยการดำเนินรายการของตัวพิธีกรที่ออกจะใจอ่อนมากจนเกินไป ยอมบอกคำตอบผู้เล่น จนทำให้ความ Toxic เพิ่มขึ้นจนตัวเกมต้องปิดตัวไปเช่นเดียวกัน

ส่วนของ Confetti ที่ ณ ตอนนั้นถือว่าเป็นความหวังของวงการก็กลับหายไป แต่นั่นไม่ใช่เพราะความ Toxic หรือพฤติกรรมอื่นใด แต่ Fremantle เจ้าของลิขสิทธิ์ของ Confetti นั้นประกาศยกเลิกรายการนี้ทั่วโลกเอง

ปลายยุคเกมแนวตอบโต้ ที่หวนคืนจอโทรทัศน์

ในยุคนี้ที่มีโผล่ให้เราเห็นก็จะมี The Eyes จากค่าย อะ-มะ-เตะ-ระ-สุ ที่มีระบบให้ผู้เล่นสะสมแต้ม, แหวนห้าท้าแสน 5 Golden Rings ของค่าย Zense ที่เปิดแอพพลิเคชั่นให้ผู้เล่นทางบ้านสามารถสะสมเงินในช่วงแรก ๆ ที่รายการออกอากาศ เมื่อผู้เล่นมีเงินสะสมครบ 500 บาทเมื่อไหร่สามารถถอนได้ทันที, เลขระทึกโลก (The Best of All) ของ Search Entertainment ที่เปิดสองรูปแบบให้ผู้เล่นสะสมแต้มแลกของรางวัล และเปิดรอบเที่ยงให้ผู้ที่ทำคะแนนมากที่สุดรับของรางวัลของรอบนั้นไป

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ Interactive Gameshow ในเมืองไทยที่ฝ่าเรื่องราวต่าง ๆ มาเยอะหากเทียบเป็นบุคคลก็ถือได้ว่าตอนนี้แอดมิทอยู่ห้อง ICU คงต้องตั้งตาดูกันต่อไปครับว่าจะมีบริษัทไหนหรือใครที่จะกล้านำรายการประเภทนี้กลับมาเรียกศรัทธาวงการเกมโชว์ในรูปแบบนี้ได้อีก


[1] แฟนเพจเฟสบุ๊ค, ชีวิตในยุค 90
[2] เว็บไซต์ blognone, Panya แอปเกมตอบคำถาม ประกาศยุติรายการชั่วคราว ยอมรับมีปัญหาเรื่องเงินรางวัล

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า