คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ…? ความเหลื่อมล้ำที่ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงเพลง

      เชื่อว่าหลายคนที่ใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงจะเคยเห็นคลิปที่เป็นการแสดงดนตรีในยุคเก่า ที่มีนักร้องสาวในชุดสายเดี่ยวกระโปรงสีแดง กำลังถ่ายทอดบทเพลงให้ผู้ชมด้านล่างเวทีได้สนุกสนานกัน พร้อมเนื้อเพลงที่ว่า 

      “คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มีxีนะคะ แต่มี….นะคะ”

      ด้วยความที่เนื้อเพลงติดหู ร้องตามง่าย และที่สำคัญคือค่อนข้างจะหยาบโลน โจ่งแจ้ง จึงส่งผลให้คลิปนี้เป็นไวรัลที่โดนใจผู้คนไปเต็ม ๆ

      แต่ภายใต้เนื้อเพลงอันโจ่งแจ้งและเรียกเสียงฮานั้น ถ้าหากลองพิจารณาดี ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้คือการตัดพ้อในความยากจนของหญิงสาวคนหนึ่ง กับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างเนื้อร้องที่ว่า ตนไม่มีใบปริญญา แต่มีเพียงร่ายกาย จะมีงานให้ทำหรือไม่ ซึ่งในสังคมไทยเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว ใบปริญญาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะการันตีความรู้ความสามารถ เช่นเดียวกับในสมัยนี้ ที่คนที่ไม่ได้จบการศึกษาจากสถานศึกษาชั้นนำ มักจะไม่ได้รับการยอมรับ และไม่ได้รับโอกาสในการทำงานที่ดี เท่ากับคนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแถวหน้าของประเทศ

      และยังไม่นับรวมไปถึงต้นฉบับของเพลงนี้ อย่าง “สมองจนจน” ของ มืด ไข่มุก วงพลอย ที่ถูกเผยแพร่ใน พ.ศ. 2531 บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนจน ที่ขาดทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจที่หมายถึงตัวเงิน และต้นทุนทางสังคมในเรื่องของการมี Connection กับผู้คนมากหน้าหลายตา ที่เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำงาน ซึ่งเมื่อขาดทั้งสองสิ่งนั้นไป ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถมากเพียงใด ความสำเร็จก็อาจจะมาไม่ถึง หรืออาจจะต้องใช้ความพยายามขวนขวายมากกว่าคนที่มีความพร้อมในสองสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น

      “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ คนจนมีเสียงไหมครับ มีอะไรให้ทำไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ ไม่ใช่คนคุยโว ใช่ว่าดีแต่โม้ พุงมันอาจจะโร แต่ไม่โง่นะครับ”

      “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ คนจนมีเสียงไหมครับ มีอะไรให้ทำไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ เส้นไม่ใหญ่ไม่โต โล่ห์ไม่มีจะโชว์ แต่งตัวก็ไม่โก้ แต่ไม่โป๊นะครับ”

      ผู้เขียนเชื่อว่า จุดร่วมของทั้ง 2 เวอร์ชั่นที่ถูกนำเสนอออกมานั้น คือการพยายามส่งเสียงสะท้อนให้สังคมได้รู้ว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และการศึกษา ส่งผลให้เกิดช่องว่างของรายได้ขนาดมหึมา หรือที่คุ้นหูกันว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” นั่นเอง แม้จะดูเหมือนว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาเหล่านั้นกลับยังไม่หายไปไหน มีเพียงความพยายามอย่างโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่สิทธิที่ให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า เพราะคนรายได้น้อยจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนที่ธนาคาร และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงขั้นตอนเหล่านี้ได้ ต้องถูกผลักออกจากการได้รับสิทธิที่ตนเองควรจะได้ไปโดยปริยาย

      เพลงนี้จึงไม่ใช่เพลงที่มีแต่ความตลกหรือลามกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพลงที่สะท้อนเสียงของผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยใช้นโยบายที่สามารถเพิ่มรายได้ในภาคครัวเรือนให้มากขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมถึงขยายโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ไม่ใช่การแจกเงินที่ได้แค่จำนวนหนึ่งและไม่ยั่งยืน เพื่อที่ในอนาคต ความเหลื่อมล้ำนั้นจะบรรเทาเบาบางลง หรือหายไป และบทเพลงนี้จะกลายเป็นเพียงหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่บันทึกเรื่องราวในยุคที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงโอกาสเพียงเท่านั้น

Content Creator