fbpx

คุยกับเกม In font of เพจเล่าเรื่องฟอนต์ที่สนุก หลากหลายเพื่อชวนเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์และการออกแบบ

“องค์ประกอบของกราฟฟิกมี 3 อย่าง สี, ฟอนต์, และการจัดวาง แต่ที่ผมชอบเรื่องฟอนต์ เพราะความเป็นศิลปะในการออกแบบของมัน”

นี่คือประโยคที่เกม-ศุภณัฐ เลิศรักษ์กุล ผู้ก่อตั้งเพจ In font of พูดถึงความน่าสนใจของ ฟอนต์ งานออกแบบชนิดหนึ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความหลากหลาย และลึกซึ้งกว่าที่เราคิด และเป็นสิ่งที่เกม ต้องการนำเสนอผ่านเพจ In font of ให้พวกเรารู้ว่าศิลปะของฟอนต์นั้นอยู่กับเรามาโดยตลอด

หากเราเคยออกแบบงานนำเสนอหรืองานทั่วไป เราก็จะเห็นรูปแบบตัวหนังสือหรือฟอนต์ให้เราได้เลือกใช้ แต่เราก็จะเลือกใช้เพียงไม่กี่รูปแบบเช่น TH Sarabun และ Angsana New แต่จริงๆ แล้วรูปแบบของฟอนต์มียังอีกมากมาย และคำว่าฟอนต์ ยังมีอะไรมากกว่าที่เราคิด นอกจากจะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งแล้ว การเลือกใช้ฟอนต์ยังสามารถบ่งบอกภาพลักษณ์ของผู้ใช้ ความเป็นองค์กร และรสนิยมได้อีกด้วย

The Modernist จะพาคุณไปรู้จักกันนักศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ ที่มีความหลงไหลในศิลปะของฟอนต์ถึงความสำคัญของ “แบบอักษร” และศิลปะของฟอนต์ที่ทั้งลึกซึ้งและสำคัญกว่าตาเห็น

เด็กที่คลั่งไคล้ในรายการเกมโชว์

เกมเป็นคนที่ชื่นชอบเกมโชว์มากตั้งแต่เด็กเพราะว่ามันสนุก เหมือนแม่บ้านชอบดูละคร และมาเม้าท์กัน 

แม่ของเกมบอกกับเขาว่า “ที่เกมอ่านหนังสือได้เพราะดูอาต๋อย ไตรภพ (ลิมปพัทธ์) อ่านคำถามในรายการเกมเศรษฐี” 

ในวัยเด็กเกมชื่นชอบเกมโชว์มากถึงขนาดเอากล่องมาทำแผ่นป้ายตอบคำถามในเกมโชว์ และนำมาเล่นกับเพื่อนๆ น้องๆ ซึ่งทำให้เกมมีความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่เด็กจากการดูรายการเกมโชว์ และด้วยความสนใจในรายการทีวี จึงได้นำพาเกมเข้าไปสู่การเรียนสายนิเทศศาสตร์ 

หลงไหลในฟอนต์โดยไม่รู้ตัว

ในช่วงที่เกมเรียนอยู่มัธยมปลาย เกมได้เริ่มเรียนรู้การออกแบบจากการทดลองทำด้วยตัวเอง เช่นออกแบบเสื้อรุ่น จนได้รับการจ้างงานจากเพื่อนๆ บ้าง และก็ได้ลองออกแบบอักษรประดิษฐ์ และนั้นคือจุดเริ่มต้นในความสนใจเรื่องฟอนต์ 

“ความเป็นศิลปะในการออกแบบ มันจะทำให้เป็นทางการก็ได้ ทำแบบเล่นๆ ก็ได้ ทำฟรีก็ได้ ซื้อขายก็ได้ แสดงความเป็นองค์กรก็ได้ แสดงถึงลายเซ็นต์เฉพาะของคนทำก็ได้ เหมือนกับงานศิลปะที่ศิลปินมีลายเส้นที่เขาถนัด คนทำฟอนต์ก็จะมีลายเซนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ว่าฟอนต์นี้ ออกแบบโดยนักออกแบบคนนี้

“พอรู้ตัวอีกที ฟอนต์มันก็เขามาในชีวิตแล้ว” เกมเล่า

จากงานส่งอาจารย์สู่เพจฟอนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย Passion 

เกมบอกสาเหตุที่เลือกเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาว่า เจ่ชอบอาจารย์ท่านหนึ่งที่แกทำเกี่ยวกับฟอนต์ และอยากเจอเขา 

“ขนาดเลือกมหาวิทยาลัยยังมีเรื่องฟอนต์มาเกี่ยวข้องเลย” เขาว่า

และในรายวิชาหนึ่ง อาจารย์ได้สั่งงานให้ทำเพจอะไรก็ได้ที่อยากทำ 1 เพจตั้งแต่ต้นเทอมถึงปลายเทอม มาถึงตรงนี้เกมเลยเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตนเองหลงไหลนั้นก็คือ ฟอนต์ จึงได้ทำเพจที่เล่าเรื่องเราเกี่ยวกับฟอนต์ชื่อว่า In font of เพราะอาจารย์บอกกับเกมว่า ให้ทำเรื่องที่สามารถอยู่กับมันได้ โดยไม่เบื่อภายใน 1 เทอม 

“คอนเทนต์ช่วงแรกเป็นพวกสกู๊ปที่นึกอยากจะเล่าอะไรก็เล่า กับการนำเสนอเรื่องราวของฟอนต์ ซึ่งมาจากข่าวในช่วงนั้น และจากความสงสัย เช่นฟอนต์สารบรรณมีกี่รูปแบบกันแน่ หรือพรรคอนาคตใหม่ กับการใช้ฟอนต์ในการประชาสัมพันธ์ของพรรค” เกมบอกเรา

จริงๆ แล้วในโลกคนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับฟอนต์ สูตรสำเร็จคอนเทนต์เกี่ยวกับฟอนต์ คือการแจกฟอนต์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เกมและ In font of จะต้องแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับฟอนต์ฟรี

แต่เขาบอกว่านั่นจะไม่ใช่เรื่องทั้งหมดที่ In font of จะเล่า

“เมื่อเราลงคอนเทนต์แจกฟอนต์ฟรีเชิงพาณิชย์ คนจะยิ่งสนใจมากขึ้น เพราะคนสนใจเรื่องลิขสิทธ์กันมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามันง่ายเกินไปในมุมมองของคนทำเพจเกี่ยวกับฟอนต์ เพราะยังมีเรื่องอื่นที่น่าสนใจกว่าการแจกฟอนต์ฟรี เช่น การออกแบบฟอนต์ ซึ่งเป็นศิลปะที่คนไม่มองมันในแง่ความเป็นศิลปะ และยังก็ไม่มีใครทำคอนเทนต์นี้แบบจริงๆ จังๆ เลยคิดว่าต่อให้เป็นสูตรสำเร็จที่ดึงยอดคนได้ แต่ผมจะไม่ทำคอนเทนต์นั้นอย่างเดียว ผมจะเอามุมอื่นๆ ของฟอนต์มาเล่าด้วย” 

เกมยกตัวอย่างคอนเทนต์ที่ใช้แง่มุมสนุกๆ ของฟอนต์มาเล่า เช่น Gossip ในวงการฟอนต์ ซึ่งเล่าเรื่องอัพเดทในวงการฟอนต์ว่าใครทำฟอนต์อะไรบ้าง ซึ่งนั่นเป็นการบอกเล่าความเป็นไปในวงการฟอนต์ให้คนทั่วไปได้เห็นด้วย

ฟอนต์ยังเป็นที่ต้องการอยู่

“หลายๆ คน สนใจฟอนต์ โดยไม่รู้ตัวว่าสนใจ” 

เกมตั้งขอสังเกตสังเกตจากการที่เพจที่เกี่ยวข้องกับโปรโมชั่นเอาคอนเทนต์เกี่ยวกับฟอนต์มาลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับคอนเทนต์หลักของเพจ แต่คนยังก็แห่แชร์ แห่ไลก์ และให้ความสนใจอย่างมาก

เราเองก็สงสัยว่าทำไม

“เพราะฟอนต์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการออกแบบ ในปัจจุบันก็มีตลาดของฟอนต์ เช่น ฟอนต์ลายมือ และองค์กรก็เริ่มทำฟอนต์อัตลักษณ์กันมากขึ้น หรือการที่ทุกคอนเทนต์ต้องการฟอนต์ที่สมัยใหม่เพื่อให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น มันแสดงให้เห็นว่า ฟอนต์ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่”

จากการทำคอนเทนต์เรื่องฟอนต์ เกมขยายความให้ฟังว่าฟอนต์ที่ดีจะต้องคำนึงถึง 2 อย่างด้วยกันคือ หนึ่ง-ศิลปะ การออกแบบจะต้องคำนึงถึงช่องไฟและการจัดวาง และสอง-ประสิทธิภาพของการใช้งาน นอกจากที่เราจะออกแบบฟอนต์แล้ว ยังต้องเขียนระบบให้มันด้วย

“อย่างเช่น ไม้โท ในคำว่า “นี้” และ “น้อง” ต้องเขียนระบบไม้โทให้คำว่า “นี้” มีไม้โทอยู่บล็อกที่ 2 เหนือสระอี ส่วนคำว่า “น้อง ให้ไม้โทอยู่ตำแหน่งเดียวกับสระอี ในคำว่า “นี้” แสดงว่าต้องเขียนระบบไม้โท 2 ตัว และยังต้องออกแบบวิธีการหลบหาง “ป” ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ทำให้ฟอนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สมัยนี้คนทำฟอนต์ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าทุกฟอนต์จะมีประสิทธิภาพ ทำฟอนต์ง่ายขึ้นหมายถึงมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น เหมือนกับ Canva ที่ทำให้ออกแบบได้ง่าย และสะดวกมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเทียบกับ Photoshop กับ Illustrator ได้ เพราะฟอนต์สมัยก่อนจะมีประสิทธิภาพเพราะคนทำฟอนต์สมัยก่อนมีการศึกษาการทำฟอนต์ แต่เมื่อมีการเข้ามาของ font.com ฟอนต์จะมีความสมัครเล่นมากขึ้น กล่าวคือมีอุปกรณ์อำนวยในการออกแบบฟอนต์มากขึ้น แต่ยังต้องพึ่งพาการ Coding เพื่อปรับระบบฟอนต์ให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเวลาแสดงผล

“ส่วนที่บอกว่าฟอนต์ต้องมีประสิทธิภาพ เพราะสมัยนี้มีแอพที่สามารถสร้างฟอนต์ได้ด้วยปากกา Ipad แต่ถ้าเกิดไม่ได้แก้ coding ก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น สระซ้อนกัน วรรณยุกต์ไม่แสดงผล เป็นต้น ผมเลยคิดว่า “อุตสาหกรรมคนทำฟอนต์เยอะขึ้น แต่คนที่พิถีพิถันกับตัวระบบอาจมีไม่เยอะเท่าไหร่” 

ความสำคัญของฟอนต์ถูกลิขสิทธิ์

“ความสำคัญของฟอนต์ถูกลิขสิทธิ์ ก็คือลิขสิทธิ์” เกมย้ำคำนี้กับเราอยู่หลายครั้ง เพราะทุกวงการที่เรื่องใดๆ ก็ตามมีลิขสิทธ์มาเกี่ยวข้อง คนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น

เกมยกตัวอย่างเคสฟอนต์ในอดีตคือ การใช้ฟอนต์ PSL ของร้านรับพิมพ์ป้ายโดยไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จนนำมาสู่การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้กลุ่มคนทำป้ายรวมตัวทำฟอนต์ใช้เองเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับการแจกฟอนต์ฟรีเชิงพานิชย์ที่ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างมาก

“คนที่ใช้ผิดลิขสิทธิ์ก็ยอมเสียเงินเพื่อได้ใช้ของถูกลิขสิทธ์ ส่วนคนถือลิขสิทธิ์บางคนก็ยอมที่จะลดราคาเพื่อให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ในทางหนึ่งคนทำฟอนต์ก็อยากให้คนมาใช้ของถูกลิขสิทธิ์กันมากขึ้นเช่นกัน”

Branding CI คือสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ

Branding CI (Corporate Identity) หรือ “อัตลักษณ์แบรนด์” เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นองค์กรผ่านการออกแบบซึ่งสามารถเหมือนหรือต่างกันได้ เช่น การออกแบบโลโก้ที่บังเอิญไปเหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นได้ทั้ง 2 ทางคือตั้งใจหรือบังเอิญ ตั้งใจคือการนำโลโก้มาเป็น Reference ในการออกแบบ หรือความบังเอิญแสดงให้เห็นว่า คนบนโลกนี้มีความคิดคล้ายๆ กัน

เกมบอกเราเพิ่มว่า องค์กรควรให้ความสนใจฟอนต์ เพราะฟอนต์มีความเฉพาะตัว ซึ่งเป็นความเฉพาะตัวของทีมออกแบบ 

“เช่นฟอนต์ของคัดสรรดีมาก ที่แสดงลายเซ็น และความตั้งใจในการทำฟอนต์ของพวกเขา ถึงแม้องค์กรจะไม่ได้เป็นคนทำฟอนต์ แต่องค์กรสามารถแสดงภาพลักษณ์ผ่านการออกแบบตัวอักษรได้ มันเป็นการแสดงสิ่งที่เป็นนามธรรม กลายเป็นรูปธรรมในรูปแบบของฟอนต์ ซึ่งพี่ๆ ในทีมคัดสรรดีมาก พยายามรณรงค์ให้องค์กรเห็นความสำคัญของฟอนต์มากขึ้น เพราะคนเราไม่เหมือนกัน หาก 10 องค์กรที่ต่างกันใช้ฟอนต์แบบเดียวกัน อาจทำให้ไม่สามารถแยกแยะตัวตนของแต่ละองค์กรได้”

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนอะไรกับเราบ้าง

ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนอะไรหลายๆ อย่างให้กับเกม 

“การเป็นคนชื่นชอบเกมโชว์สอนให้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเกมโชว์เป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้คนดู ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่คนละมุมมอง และนำมาปรับใช้ในการคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ส่วนประสบการณ์ออกแบบสอนให้เกมให้ผมเรียนรู้ความเหมาะสมในการทำบางสิ่ง เช่นการนำฟอนต์แนวผีมาใช้ในงานประชาสัมพันธ์ ทำให้เราคิดมากขึ้นว่าเราจะใช้ฟอนต์รูปแบบไหน สีไหน วางไว้ตรงไหน

“ประสบการณ์เรียนนิเทศศาสตร์ ในฐานะคนทำสื่อสอนให้ทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น แม้ว่าผมจะทำเพจคนเดียว แต่ในเพจอื่นๆ มีการทำงานเป็นทีม และยังเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสื่อว่า จากที่แค่ชอบสื่อที่ว่าเป็นสื่อที่ดึงดูดความสนใจ ให้ตระหนักรู้ในมุมมองของคนทำสื่อมากขึ้น”

“แล้วอยากเห็นตัวเองและเพจเป็นยังไงในอนาคต” เราถามเกม

“ผมอยากเป็น Content Creator ที่จะพัฒนาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้แข็งแรงมากขึ้น เพราะผมคิดว่าคอนเทนต์เล็กๆ ถ้ามันโดนก็สามารถเป็นที่รู้จักได้ และยังต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย ส่วนเรื่องเพจ ก็ยังมีไฟทำต่อไปเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่คอนเทนต์เป็นสกูปข่าวเยอะ แต่ในปัจจุบันคนทำฟอนต์อาจจะไม่อัพเดททุกวันแล้ว เลยต้องหาคอนเทนต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับฟอนต์ เลยจะเห็นว่าเพจตอนนี้มีอะไรหลากหลายมากขึ้น” เกมบอกเรา

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า