fbpx

“รัฐไม่เคยฟังเราเลย” คุยกับ HRDF องค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ถูกรัฐมองข้าม

ในช่วงโควิด-19 แรงงานในไทยต่างก็ได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า แต่หากใครเป็นแรงงานที่จ่ายเงินประกันตนอยู่เสมอ ก็ย่อมได้รับการเยียวยาจากทางภาครัฐ ผ่านโครงการ ม.33 เรารักกัน แต่ว่าก็มีแรงงานอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับการเยียวยาทั้งๆ ที่ก็เป็นผู้จ่ายเงินประกันตนเช่นกัน นั่นคือ แรงงานข้ามชาติ

ด้วยเหตุผลที่ภาครัฐแจ้งว่า “ต้องเอาคนไทยให้รอดก่อน”

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา หรือ HRDF ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในไทยมาอย่างยาวนานกว่า 22 ปี ได้คลุกคลีและขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของแรงงานข้ามชาติมาตลอดสองสามปีนี้ และเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พวกได้ไปยื่นฟ้องต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน ที่ศาลปกครองกลางแจ้งวัฒนะ ด้วยความหวังว่าจะสามารถทวงคืนสิทธิที่หายไปของแรงงานข้ามชาติกลับมาได้

เราจึงได้เดินทางไปคุยกับกิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่ของ HRDF ว่าด้วยเบื้องหลังความเคลื่อนไหวในครั้งนี้

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ทำไม HRDF ถึงได้ลงมาเคลื่อนไหวในประเด็น ม.33

ในช่วงโควิด-19 การได้รับเงินเยียวยามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ทุกคนก็ได้รับผลกระทบหมด เราก็เห็นว่าในโครงการนี้ แรงงานเขาก็จ่ายเงินประกันสังคมเข้าไปเหมือนกัน แต่ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นพวกเขากลับไม่ได้รับการเยียวยาจากเงินที่เขาส่งเข้าไป จุดนี้เรามองว่ามันไม่มีความเป็นธรรมอย่างรุนแรง เราก็เลยตัดสินใจมาทำงานในประเด็นนี้

โดยงานที่ HRDF ถนัดจะเป็นงานด้านกฎหมาย เรามีนักกฎหมายค่อนข้างเยอะ เรามองเห็นแล้วว่ามันสามารถใช้กระบวนการทางศาลได้ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถทำให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิได้

อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายของปัญหาสิทธิแรงงานข้ามชาติ

อย่างแรกเลยคือ รัฐไม่เคยฟังเราเลย ตอนแรกสุดเลยที่โครงการ ม.33 ออกมา เราก็ทำหนังสือไปแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือ สำนักงานประกันสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงแรงงาน เขาก็บอกเราว่ามันเป็นเงินกู้ เขาจ่ายให้ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราไปดูที่ตัวกฎหมาย พรบ.เงินกู้ บอกไว้เลยว่า รัฐสามารถกู้เงินมาจ่ายให้กับภาคประชาชน ซึ่งคำว่าภาคประชาชน ถ้าคนทั่วๆ ไปพูดถึง มันก็ไม่ได้หมายถึงแค่คนไทยอยู่แล้ว คำว่า ‘ประชาชน’ มันก็หมายถึง ‘คน’ นัยยะของมันก็คือคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ 

พอเขาตอบมาว่าไม่สามารถจ่ายให้ได้ เราก็เลยคิดว่าต้องไปต่อ เราก็เลยเลือกที่จะไปหา ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยไว้แบบนี้มันขัดกับรัฐธรรมนูญหรือขัดกับหลักการระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเคยไปรับมารึเปล่า ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่า สิ่งนี้มันสามารถทำได้นะ มันไม่ใช่การเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติแบบที่ HRDF บอก คือเขาพูดเป็นนัยๆ ว่า ถ้าเป็นคนสัญชาติอื่น ก็สามารถปฏิบัติแบบอื่นได้ ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับคนไทย ซึ่งเรามองว่ามันไม่เป็นธรรม กฎหมายไม่ได้ตีความแบบนั้น 

เราก็เลยนำข้อมูลตรงนี้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่านี่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องนโยบายของรัฐ มันจะอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลนึง ก็คือ ศาลปกครอง ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องไปศาลปกครองต่อเพื่อที่จะยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อุปสรรคต่อมาก็คือ ตัวแทนแรงงานเอง การที่พวกเขามาที่ประเทศไทยเขาก็อยากที่จะทำงาน อยากจะมีชีวิตที่ดี แต่การที่พวกเขาจะต้องไปฟ้องมันก็ไม่ง่ายต่อชีวิตเขา มันก็สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตเขาหลายอย่าง เช่น อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม อาจเกิดปัญหากับนายจ้าง อาจเกิดความยุ่งยาก ซึ่งเราก็รู้กันดีว่าในประเทศเรากระบวนการพวกนี้มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ มันเลยยากสำหรับเราที่จะหาตัวแทนแรงงานที่ก็ต้องเข้าใจในประเด็นด้วย ก็ต้องทำการบ้านหนักมาก

ปัจจุบันในสังคมไทยก็มีการตื่นตัวและรับรู้ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ในมิติของแรงงานข้ามชาตินั้น ถูกรับรู้และใส่ใจมากแค่ไหน

ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย คนก็ตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น แต่ว่าในประเด็นแรงงานคนก็อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกล อาจไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนปกติ ซึ่งคิดว่าก็ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะสิทธิมนุษยชนมันหมายถึงในทุกแง่มุม และการที่รัฐการันตีว่าดูแลคนต่างชาติดี ก็เท่ากับว่ารัฐก็ต้องดูแลคนในชาติดีเหมือนกัน รัฐถึงจะสามารถให้สิทธิที่เหมือนกันกับคนไทย 

จริงๆ การที่แรงงานเขาเข้ามาทำงานในประเทศไทย เขาก็มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และก็มาช่วยส่งเสริมงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยจะต้องมองเห็นและตระหนักตรงจุดนี้ 

ทำไมแรงงานข้ามชาติมันถูกลืม หรือถูกมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่แรงงานข้ามชาติก็อยู่ในแทบทุกมิติชีวิตของคนไทย

อุปสรรคด้านภาษาก็มีผลมาก แรงงานที่เข้ามาก็จะไม่สามารถพูดไทยได้ เขาใช้ภาษาบ้านตัวเอง และแรงงานข้ามชาติในไทยก็มีความหลากหลายทางภาษามาก มากจนในบางครั้งทำให้ประเด็นที่เขาอยากสื่อออกไปมันเข้าถึงคนได้น้อย 

HRDF ได้นำเสนอประเด็น ‘Xenophobia’ หรือ ‘การเกลียดกลัวคนต่างชาติ’ ที่มีอยู่ในสังคมไทยว่ามีส่วนสำคัญต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติอย่างมาก แต่ก็จะสังเกตได้ว่า การเกลียดคนต่างชาติของคนไทย มันก็มีเฉพาะกับคนบางชาติรึเปล่า?

ตรงจุดนี้เราเห็นด้วย อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นฝรั่ง หัวทอง คนขาว นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า คนไทยก็ไม่ได้เกลียดกลัว แต่พอเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านเรากลับเกลียดกลัว เรารู้สึกว่ามันมีมิติของความเป็นชาตินิยมที่ใช้สร้างประเทศไทยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสิ่งนี้มันฝังหัวเรามานานมาก ตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ มีคนพม่าที่พูดกับเราว่า “พม่าไม่ได้เผากรุง แต่พม่าสร้างกรุงเทพฯ” ซึ่งแนวคิดชาตินิยม มันก็ทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดได้ในหลายๆ เรื่อง

แล้วก่อนที่แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำงานที่ไทย พวกเขารับรู้ถึงทัศนคติเช่นนี้ของคนไทยไหม

จากประสบการณ์ที่เจอมา แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานที่บ้านเรา เขามาเพราะหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาไม่รู้ว่าเขาจะมาถูกเหยียด ถูกรังเกียจอะไรแบบนี้ แล้วเขาก็ค่อนข้างมีมุมมองที่ดีต่อประเทศเรา ตอนอยู่ที่ประเทศเขา หลายคนก็ดูรายการโทรทัศน์ของบ้านเรา ช่องสาม ห้า เจ็ด เก้าเนี่ย เขาดูเหมือนเราเลย เขาจึงจะมีความเข้าใจว่าเขาก็เหมือนคนในสังคมไทยเหมือนกัน ค่อนข้างชื่นชมประเทศเรามากด้วยซ้ำ เอาจริง ๆ ก็ Culture Shock เหมือนกัน พวกเขาก็ไม่คิดว่าตัวเองจะไม่เจออะไรแบบนี้

ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เราจะทำยังไงให้คนไทยใส่ใจประเด็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

จริงๆ เรื่องนี้มันก็ค่อนข้างยากนะ พอมันไม่มีการสื่อสารกันออกมา แล้วจริงๆ ปัญหาที่พวกเขาพบเจอมันก็ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่เรารู้สึกว่า ถ้าคุณสนใจเรื่องสิทธิอยู่แล้ว ก็อยากให้หันมาสนใจในประเด็นแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น

จริงๆ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมๆ กับคนรุ่นใหม่แล้ว อย่างในงานเสวนาที่เราพึ่งจัดไป ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาฟังมากขึ้น เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นความหวัง ถ้าพวกเขาหันมาสนใจประเด็นนี้ โดยเฉพาะช่วงที่มันมีการ Globalization (โลกาภิวัฒน์) คนมันมีการเคลื่อนย้าย คนไทยเองก็อยากไปทำงานต่างประเทศ ก็ลองคิดมุมกลับดูว่าถ้าเราไปทำงานที่อื่น คุณอยากให้รัฐที่เราไปทำงานให้ ปฏิบัติกับเราแบบไหน ดังนั้นก็อยากให้คนไทยปฏิบัติกับคนต่างชาติแบบนั้นเหมือนกัน

การเมืองภาคประชาชน และการเมืองระดับชาติส่งผลต่อการทำงานของเราแค่ไหน

การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างส่งผลมากต่องานของเรา อย่างตอนนี้แคมเปญของเราก็มีการให้ลงชื่อ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างคล่องแคล่ว ก็ช่วยๆ ลงชื่อกันมา มันส่งผลพอสมควร 

ส่วนการเมืองระดับชาติก็ส่งผลมากเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายที่ส่งผลต่อเราโดยตรง เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องไปยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการ ทำไมเราถึงยื่นหนังสือถึง ครม. และเราก็ฟ้อง ครม. ด้วย เพราะเรื่องการกำหนดนโยบายมันเกี่ยวพันโดยตรงต่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ถ้าตัวรัฐมีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อสิทธิของเขา

จุดแข็งและจุดอ่อนของภาคประชาสังคมในไทยที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคืออะไร

จุดแข็งคือ ภาคประชาสังคมไทยมีความเข้มแข็งในด้านประเด็นค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะประเด็นไหนๆ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อมเราก็เชี่ยวชาญมาก เรารู้ลึก รู้จริง ในประเด็นปัญหาต่างๆ

แต่สิ่งนี้มันก็เป็นจุดอ่อนไปในตัว คือพอมีความเข้มแข็งในประเด็นปัญหา ทุกคนก็จะโฟกัสเฉพาะประเด็นที่ตัวเองสนใจหรือถนัด  ทำให้ความเคลื่อนไหวมันค่อนข้างเล็ก แต่เราคิดว่าการที่หาจุดตรงการร่วมกัน การร่วมมือกันระหว่างประเด็นต่างๆ เพราะประเด็นสิทธิมันเชื่อมโยงกันหมด ถ้าเราสามารถหาจุดตรงนี้ได้ เราก็อาจเห็นความเคลื่อนไหวที่มันใหญ่ขึ้นได้ เหมือนที่ผ่านมา แคมเปญต่างๆ HRDF พยายามที่จะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำด้านสิ่งแวดล้อม หรือ กฎหมายอย่าง iLaw เพื่อให้มันเกิดแนวร่วมในการทำงานร่วมกัน 

จุดแข็งและจุดอ่อนของภาคประชาสังคมในไทยมันจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเหรียญคนละด้าน ดังนั้นต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปเรียนรู้ประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากงานของตัวเองด้วย เข้าใจนะว่ามีงานต้องทำ แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องสิทธิ เราก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ก็อยากให้เปิดใจโอบรับประเด็นอื่นๆ เข้าไปด้วย

สมมติว่าถ้าการเคลื่อนไหวในเรื่อง ม.33 ผ่านไปด้วยดี แรงงานข้ามชาติได้รับเงินเยียวยาตามสิทธิที่เขาควรจะได้ ประเด็นต่อไปที่ HRDF จะเคลื่อนไหวคือประเด็นอะไร

จริงๆ มันก็มีอีกหลายประเด็นนะ จริงๆ เราก็อยากขับเคลื่อนเรื่องแรงงานต่อไป ประเด็นต่อไปก็น่าจะเป็นการทำยังไงให้เขาใช้ชีวิตในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น 

ถ้าเปรียบการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของ HRDF เป็นการวิ่ง คิดว่ามันเป็นการวิ่งสปรินท์หรือเป็นวิ่งมาราธอน

จริงๆ ในการต่อสู้เราก็อยากชนะ แต่มันก็อาจจะยาก ดังนั้นเราพูดได้เลยว่ามันเป็นการวิ่งมาราธอน เราต้องทำงานระยะยาว จริงๆ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ เราก็เห็นความก้าวหน้ามากขึ้น แต่เราก็อาจต้องรอคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ด้วย 

เพราะงั้นการทำงานของเรามันคือการทำงานระยะยาวเลย เหมือนกับวิ่งมาราธอน

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า