เด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ใช้ ChatGPT เขียนเรซูเม่ยังไงให้ได้งาน?

ฤดูกาลหางานของเหล่าบัณฑิตได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว! 

ในทุกๆ กลางปีเป็นช่วงเวลาที่เด็กจบใหม่เริ่มมองหางานที่สนใจอย่างจริงจัง เพื่อก้าวเข้าสู่การทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เป็นการเติบโตขึ้นในอีกขั้นของชีวิต ทว่าเส้นทางการเติบโตอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป การหางานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ทำให้เด็กจบใหม่หลายคนมีความกังวลใจว่าจะตกงาน เนื่องจากส่งเรซูเม่สมัครงานไปหลายบริษัทแต่ไม่มีที่ไหนตอบกลับ ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นเพราะเรซูเม่ที่มีปัญหา เช่น ทักษะไม่ตรงกับรายละเอียดงาน เลือกเทมเพลตไม่เหมาะสม ใช้คำผิดหรือตกหล่น ภาษาไม่ถูกหลักไวยากรณ์ ฯลฯ

ดังนั้นการเขียนเรซูเม่ให้โดนใจฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างเป็นความท้าทายสำคัญของผู้สมัครงานทุกคน และหากเป็นเด็กจบใหม่ที่มีประสบการณ์อันน้อยนิด อาจจะรู้สึกไอเดียตัน คิดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มเขียนเรซูเม่อย่างไรดี ยิ่งไปกว่านั้น ในตลาดงานทุกวันนี้ หลายบริษัทมีการใช้ระบบติดตามผู้สมัคร หรือ Applicant Tracking System (ATS) เป็นซอฟต์แวร์คัดกรองเรซูเม่สมัครงานจากคีย์เวิร์ดสำคัญของรายละเอียดงาน หรือ Job Description เพื่อหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ และลดขั้นตอนการอ่านเรซูเม่ของ HR ในบริษัทที่มีอัตราการสมัครจำนวนมากในแต่ละวัน 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักศึกษาและผู้สมัครงานจากทั่วโลก เริ่มมองหาแนวทางในการเขียนเรซูเม่ที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น จนกระทั่ง ChatGPT โมเดลภาษาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว กลายเป็นสิ่งที่คนพูดถึงกันทั่วโลก และด้วยประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูงของระบบ ทำให้ ChatGPT เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้คนในหลายสายงานนำมาเป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งการเขียนเรซูเม่ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

Harvard Business Review ระบุว่า อิทธิพลอันทรงพลังของอัลกอริทึม ทำให้ ChatGPT มีชุดคำศัพท์และภาษาเป็นจำนวนมาก โดยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้จริง ฉะนั้น การให้ ChatGPT ช่วยเขียนเรซูเม่จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย เพียงแค่ป้อน “Prompt” คำถามหรือคำสั่งที่ต้องการ ChatGPT ก็สามารถช่วยระบุคีย์เวิร์ดตามรายละเอียดงานของตำแหน่งที่สมัครได้ในทันที เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครงาน 

นอกจากนั้น ChatGPT ยังสามารถเขียนเนื้อหาที่น่าสนใจได้ในเชิงลึก เกี่ยวกับประสบการณ์ทำงาน ประวัติการศึกษา และทักษะที่เหมาะสม ด้วยรูปประโยคการเขียนที่มีความเฉพาะเจาะจง ช่วยให้เรซูเม่มีความโดดเด่นจากผู้สมัครท่านอื่นและสร้างคุณสมบัติเฉพาะบุคคลได้

สำหรับเด็กจบใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเขียนเรซูเม่อย่างไรดี วันนี้ The Modernist มาแจก Prompt เพื่อเป็นแนวทางตั้งคำถามและสร้างคำสั่งให้กับ ChatGPT ในการช่วยเขียนเรซูเม่ จะมีอะไรบ้างมาดูไปพร้อมกันเลย รับรองว่างานนี้เขียนเรซูเม่โดนใจฝ่ายบุคคลแน่นอน

  1. แนะนำตัวสั้นๆ แต่ปังนะ

ขั้นแรกของการเรซูเม่ควรเริ่มจากจุดสำคัญที่สุดก่อน นั่นคือ การแนะนำตัวเองแบบสั้นๆ เพื่อให้ฝ่ายบุคคลได้รู้ว่าเราเป็นใคร มีแพชชั่นในการทำงานแบบไหน ทำไมถึงมาสมัครงานตำแหน่งนี้ ทั้งนี้ในการที่จะให้ ChatGPT ช่วยเขียนข้อมูลการแนะนำตัวนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าจะสมัครงานในตำแหน่งอะไร ลักษณะงานที่ต้องรับผิดชอบเป็นแบบไหน และทักษะที่สำคัญมีอะไรบ้าง

ตัวอย่าง

  • Hi there! This is a new job I’m applying for [ตำแหน่งงาน]. Can you help me extract the top 5 to 10 key skills from this position?
  • You are an expert resume writer with fresh graduates without experience with job seekers trying to land a role in [ตำแหน่งงาน]. Highlight the 3 most important responsibilities in this job description [ความรับผิดชอบในตำแหน่งงาน]

ภาพข้างต้นคือตัวอย่างคำตอบที่ ChatGPT ได้อธิบายถึงทักษะสำคัญในตำแหน่งงาน Graphic Designer จะเห็นได้ว่ามีการบอกรายละเอียดทักษะสำคัญๆ ซึ่งเราสามารถหยิบทักษะเหล่านี้มาประกอบการแนะนำตัวแบบย่อบนส่วนหัวกระดาษของเรซูเม่ได้

  1. ไม่ว่าเรียนอะไรมา ขอจงอย่าเป็นกังวล

ขั้นตอนถัดมา ประวัติการศึกษาต้องพร้อม ซึ่งการเขียนข้อมูลส่วนนี้อาจไม่จำเป็นต้องเขียนละเอียดว่าเราเรียนอะไรมาบ้างตั้งแต่มัธยม แต่ควรโฟกัสผลงานที่เคยทำในช่วงเรียนมหาลัยเป็นหลัก และลองดูว่ามีวิชาไหนบ้างที่ได้ทำโปรเจ็กต์ตรงกับตำแหน่งงานนั้นๆ ทั้งนี้สามารถให้ ChatGPT ตรวจเช็กคำผิด และสรุปเป็นหัวข้อย่อยเพื่อประกอบในเรซูเม่ได้เช่นกัน

ตัวอย่าง

  • I graduated with a Bachelor’s degree in [สาขาที่เรียน] from [มหาวิทยาลัย] a year ago and have been unemployed since then. I need your help to create a new resume that highlights my skills and experience in the field of [ตำแหน่งงาน]. During my college career, I completed coursework in [วิชาเรียนที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน] and earned a [เกรดเฉลี่ย] GPA.
  • I just graduated from [มหาวิทยาลัย] with a degree in [สาขาที่เรียน] and I’m looking for a job in the field. During my time in college, I was a member of the [ชื่อชมรม] and volunteered with a local non-profit [ลักษณะกิจกรรม]. I have attached a job description for a [ตำแหน่งงาน] position that I’m interested in, and I would like my resume to be tailored to that job description. Can you create a resume for me that is tailored to the job description, and showcases my unique experiences and qualifications? This is the job description of the role I am applying for: [รายละเอียดงานที่สมัคร].

ภาพนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในคำตอบของ ChatGPT ที่สรุปประวัติการศึกษาให้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน Graphic Designer จะเห็นได้ว่า ChatGPT มีการบอกรายละเอียดทักษะการทำงาน พร้อมทั้งยกตัวอย่างโปรเจ็กต์สำหรับนักศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานนี้

  1. ปั้นประสบการณ์ทำงานอย่างมืออาชีพ

ขั้นตอนถัดมา คือการตามหาประสบการณ์ทำงานที่มี โดยในที่นี้เราจะเน้นประสบการณ์จากการฝึกงานเป็นหลัก แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นส่วนสำคัญของการเขียนเรซูเม่ที่ขาดไม่ได้

ตัวอย่าง

  • Can craft a compelling resume summary that highlights my completed an internship at [บริษัทที่เคยฝึกงาน] field? Mention my notable accomplishment of [บริษัทที่เคยฝึกงาน]. Conclude my emphasizing my expertise is [ลักษณะงานที่เคยทำ]

ภาพนี้เราให้ข้อมูล ChatGPT เกี่ยวกับประสบการณ์ฝึกงาน Graphic Designer โดยบอกรายละเอียดลักษณะงานที่เคยทำ ทั้งนี้ ChatGPT ได้มีการสรุปเนื้อหาให้ความน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยผลลัพธ์ที่สามารถวัดผลเป็นตัวเลขและมีการปรับเปลี่ยนภาษาให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้อาจไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง ฉะนั้น อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลอีกทีด้วย

การทำเรซูเม่ส่วนใหญ่มักจะเน้นคีย์เวิร์ดในลักษณะงานที่มีความเฉพาะเจาะจง หากสรุปเป็นหัวข้อก็จะทำให้เรซูเม่อ่านง่ายมากขึ้น เราจึงป้อนคำสั่งให้ ChatGPT ช่วยตัดประโยคให้สั้นลง กระชับ และจับใจความมากขึ้น ด้วยคำสั่งที่ว่า “Can you shorten this to 3-5 bullet points, including only what’s relevant to the job position?”

  1. หาทักษะที่ชอบให้ตรงกับงานที่ใช่

ขั้นตอนสุดท้ายคือการหาทักษะที่ตรงกับลักษณะของตำแหน่งงาน เพื่อให้มีคุณสมบัติโดดเด่นในการสมัครงานทั้งทักษะทางเทคนิค (Technical Skills) และทักษะระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills)

ตัวอย่าง

  • Can you show me an example of a technical skills section on a resume for a [ตำแหน่งงาน]?
  • Can you show me an example of a interpersonal skills section on a resume for a [ตำแหน่งงาน]?

ChatGPT ได้แสดงผลในเรื่องทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน Graphic Designer ในขั้นตอนนี้สามารถเลือกทักษะที่ตรงกับตัวเองและนำไปประกอบในการเขียนเรซูเม่ได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ คือการให้ ChatGPT ช่วยเขียนเรซูเม่สมัครงาน เป็นหนึ่งแนวทางในการหาไอเดียให้กับเด็กจบใหม่ สำหรับใครที่ลองเขียนเรซูเม่แล้วอยากเช็กความถูกต้องและต้องการปรับภาษาให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น สามารถใช้คำสั่งต่อไปนี้ในการให้ ChatGPT ตรวจสอบได้เช่นกัน

ตัวอย่าง

  • Can you add more detail to my work experience section about my responsibilities as a project manager at my previous company, specifically regarding my experience managing budgets and timelines?
  • Please revise the project section of my resume into a concise and impactful format, utilizing bullet points. Please include three bullet points for each project, with a focus on incorporating quantifiable metrics to highlight project successes and achievements.
  • Can you suggest any additional sections I could add to my resume to highlight my skills and experience, such as relevant certifications, professional development courses, or volunteer experience?
  • Can you add industry-specific jargon or keywords to my resume to ensure that it is optimized for ATS (Applicant Tracking Systems)?
  • Can you tailor my resume to a specific job posting for a Marketing Manager role, specifically by suggesting relevant skills and experience highlights and tweaking the language to match the job description?

สุดท้ายนี้ แม้ว่า ChatGPT จะสามารถเป็นเครื่องมือจุดประกายไอเดียในการเขียนเรซูเม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานที่สมัครด้วยเช่นกัน หากทำงานในวงการนักเขียน นักข่าว ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้ ChatGPT ในการเขียนเรซูเม่ เพราะอาจทำให้ไม่ได้แสดงทักษะการเขียนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังทำให้ฝ่ายบุคคลหรือบริษัทตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในการเขียนเรซูเม่ทั้งหมด ไม่สามารถใช้ ChatGPT อย่างเดียวได้ ข้อมูลต่างๆ ควรถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับตัวเองเพื่อแสดงทักษะและคุณสมบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นหากใครกำลังมองหางานที่ใช่ ก็จงใช้ความพยายามในการเขียนเรซูเม่ที่ถูกต้องและเป็นตัวเองมากที่สุด

ที่มา: Youtube / linkedin / brunel

Content Creator