fbpx

สื่อ-ข่าว : แค่ไหนถึงจะเรียกว่า “พอดี”

ปัจจุบันรายการเล่าข่าวหรือการสนทนาเกี่ยวกับข่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายการมักเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัย หรือผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในการเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ผู้ชมจะได้รับรู้มุมมองความคิดของทั้งสองฝ่าย ในปัจจุบันมีรายการประเภทนี้มากมายเช่น โหนกระแส มาเถอะจะคุย หรือไกด์ไลน์

เมื่อเกิดรายการสนทนาข่าวขึ้นมา ผู้ดำเนินรายการหรือพิธีกรจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนทนาในรายการ การตั้งประเด็น พูดคุยสอบถาม สรุปเนื้อหา รวมไปถึงการเจาะลึกในเรื่องราวที่เป็นที่สนใจในสังคมวงกว้าง จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ดำเนินรายการเป็นหลัก แต่ทั้งนี้แล้วการทำงานของผู้ดำเนินรายการจึงต้องอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ปราศจากความลำเอียงหรืออคติที่เป็นเหตุให้ข่าวบิดเบือน ที่อาจนำไปสู่ความเสียหายแก่บุคคลในข่าว และความเข้าใจผิดในสังคม

รูปแบบรายการสนทนาข่าวมีรูปแบบที่ตัวผู้ดำเนินรายการเป็นศูนย์กลางของการสนทนา และในบางครั้งผู้ดำเนินรายการกลายเป็นภาพตัวแทนของรายการมากกว่ารูปแบบของรายการด้วยซ้ำ เมื่อรายการและผู้ดำเนินรายการผสมกันจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว ผู้ชมจึงมักจะจำภาพของผู้ดำเนินรายการมากกว่ารูปแบบรายการไปโดยปริยาย

จากหัวข้อข่าวมติชนออนไลน์ “มิติใหม่! โหนกระแส ตร.รอรวบ คุณนายดาว หน้าสตูฯ ปมหลอกเหยื่อ 20 ล้าน” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ ในรายการโหนกระแส โดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้สัมภาษณ์ นุ่น, รัตน์, แตงโม ผู้เสียหาย มาพร้อม คุณนายดาว หรือชื่อจริงว่า น.ส.อาญาภา อิสริยาฐากูร อายุ 28 ปี คู่กรณี และ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ โดยคุณนายดาวแอบอ้างตนเองเป็นคุณนายร่ำรวย เป็นภรรยานักการเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช รู้จักนักการเมือง ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ธรรมนัส พรหมเผ่า, ธนกร วังบุญคงชนะ ในท้ายที่สุดคือการหลอกเหยื่อเสียหายกว่า 20 ล้าน หลังจากสิ้นสุดรายการผู้ดำเนินรายการ ได้นำ “หมายจับ” ของตำรวจมาเปิดเผยในรายการ และระบุในช่วงท้ายของรายการว่า “ตอนนี้ตำรวจได้มารออยู่หน้าสตูดิโอแล้ว”

ข้อมูลจาก เว็ปไซต์ อมรินทร์ทีวี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ได้ลงรายละเอียดภาพของ น.ส.อาญาภา อิสริยาฐากูร หรือคุณนายดาว ได้ถูกหมายจับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2563 ข้อหาฉ้อโกง โดยมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่เมื่อคุณนายดาวได้เดินทางมาออกรายการโหนกระแสก็ถูกควบคุมตัว ตำรวจพาตัวคุณนายดาว ไปที่สน.ทองหล่อ เพื่อตรวจสอบฐานข้อมูล ยืนยันตัวบุคคล ก่อนที่จะขึ้นรถเพื่อพากลับ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นเจ้าของคดี ข้อมูลจาก PPTV

เกิดข้อถกเถียงมากมายในโลกออนไลน์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการโหนกระแสในครั้งนี้ บางกลุ่มเห็นด้วยกับการกระทำของหนุ่ม กรรชัย ในครั้งนี้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรายการเกินกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมรายการหรือไม่?

ย้อนดูจริยธรรมสื่อ โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูน ได้กล่าวถึงสิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) ว่าเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายและจริยธรรม โดยหลักจริยธรรมบุคคลยังได้รับความคุ้มครองในการใช้ชีวิตส่วนตัว ดังนั้นนักข่าวต้องแยกให้ออกระหว่างขอบเขตสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิในการรับรู้ของประชาชน โดยนักข่าวต้องยึดถือหลักการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบทางจริยธรรม คือ มีความยุติธรรมต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว

ในส่วนสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ได้กล่าวเกี่ยวกับ ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ในหมวด 3 หลักกระบวนการทำงาน การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว ข้อ 21 สื่อมวลชนต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มา พึงระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวอย่างเปิดเผย เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าว และต้องเป็นประโยชน์ต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน และข้อ ๒๒ สื่อมวลชนต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับเมื่อได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ และต้องปกปิดชื่อจริงของผู้ใช้นามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้นไว้เป็นความลับ

ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 หมวด 2 จริยธรรมของวิทยุและโทรทัศน์ ข้อ 6 วิทยุและโทรทัศน์ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ และไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และ ข้อ 7 วิทยุและโทรทัศน์มีหน้าที่ปฏิบัติตนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ข้อย่อย 8 ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

เมื่อพิจารณาเรื่องราวที่เกิดขึ้นและนำมาเทียบเคียงกับข้อมูลจริยธรรมสื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้  การกระทำของหนุ่ม กรรชัย ในรายการโหนกระแสครั้งนี้ไม่ได้ขัดโดยตรงกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็มีความคาบเกี่ยวกับข้อจริยธรรมเช่นกัน เมื่อมองว่าคุณนายดาวเป็นแหล่งข่าวที่ต้องให้สิทธิในการปกปิดข้อมูล และไม่สร้างความเสียหายแก่แหล่งข่าว โดยปราศจากสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าว

สุดท้ายแล้วกรณีนี้อาจกลายเป็นข้อถกเถียงในวงการวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยคำนึงถึงสิทธิของมนุษยชนเป็นขั้นแรก แม้ว่าแหล่งข่าวจะมีความผิดอย่างไรก็ตาม แต่สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ในการกักขังหรือจับกุมผู้กระทำผิด แต่สื่อมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามแนวทางของจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนที่เหมาะสมเพียงพอ

ที่มา

[1] http://www.thaiall.com/ethics/ethics_reporter.htm
[2] https://www.presscouncil.or.th/rule/6126
[3] http://www.newsbroadcastingcouncil.or.th/?page_id=142
[4] https://www.tja.or.th/view/media-law/10938

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า